อย่าบอกว่าฉันไม่เป็นอะไร…ฉันเป็น

harvey

เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี

1.

สิ่งที่กลุ่มลิเบอรัล เฟมินิสต์ หรือแอคทิวิสต์ที่ออกมาเคลื่อนไหวในอัตลักษณ์เรื่องเพศมักโดนโจมตี แซะ และมักได้แฮชแท็ก #มองบน อยู่เสมอ คือข้อโต้เถียงที่บอกว่า

“ขอโทษนะคะ พวกเรา/ดิฉัน/ผม นี่มองข้ามเรื่องเพศไปแล้ว เราไม่แปะป้ายเรื่องเพศให้ใคร เรามองทุกคนเป็นคนเท่ากันหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกคุณเรียกร้อง มันคือการยกตนข่มท่าน จริงๆ แล้วคนที่เห็นคนไม่เท่ากันคือพวกคุณต่างหาก ที่ออกมาเรียกร้องให้เราต้องปฏิบัติกับพวกคุณในอีกระดับหนึ่ง ในอีกฐานะหนึ่ง พวกคุณเรียกร้องเกินไปแล้ว สำหรับพวกเรา LGBT = HUMAN ต่างหาก”

และพอพูดว่า LGBT = HUMAN ทุกอย่างก็จบ ปัญหาในอัตลักษณ์เรื่องเพศบนโลกนี้ก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป มีแต่พวกเฟมินิสต์เอาแต่ใจตัวเท่านั้นที่ชอบเรียกร้องและทำให้ปัญหาที่ไม่มีใครมองเห็น กลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตโดยใช่เหตุไป

แต่หนังสารคดีเรื่อง The Times of Harvey Milk กำลังบอกเราอย่างซื่อๆ ว่า นี่ไง เพราะฉันเป็นเกย์ และเป็นเกย์ในบริบทสังคมอเมริกันยุค 70 ฉันจึงได้รับการปฏิบัติและถูกกดดันในฐานะที่ฉันเป็นเกย์ ฉันถูกยิงตายโดยอเมริกันชนชั้นกลางผิวขาว และเขาผู้นั้นก็ได้รับการตัดสินโทษ จากผู้ปกครองเพศปกติผิวขาว ด้วยมาตรฐานของคนขาวชั้นกลางเช่นกัน

สำหรับฉัน ‘ฮาร์วีย์ มิลค์’ ตบหน้าเราอย่างแรงด้วยรอยยิ้ม ทั้งตะโกนใส่หน้าเราว่า “เพียงเพราะคุณไม่เคยเห็น ไม่เคยอยู่ ไม่เคยสัมผัส ก็จงอย่าปฏิเสธว่ามันไม่มีอยู่จริง”

2.

The Times of Harvey Milk หนังสารคดีที่เล่าชีวิตของ ฮาร์วีย์ มิลค์ นักการเมืองเกย์เปิดเผยคนแรกของสหรัฐ ในสังคมอเมริกันยุค 70 ยุคใหม่ของเสรีภาพ ยุคบุปผาชน-ฮิปปี้ ยุคสงครามเวียดนาม ยุคที่ย่านแคสโตร (Castro) เฟื่องฟูและถูกบันทึกว่าคือชุมชน คือ community ของชาวเกย์

หนังเปิดเรื่องด้วยภาพบรรยากาศผู้คนในย่านแคสโตร ชาวเกย์จำนวนหนึ่งไม่สวมเสื้อ ใส่ยีนส์ขาบาน ผมหยิกดัดฟู พวกเขาเดินไปบนท้องถนนราวกับกำลังเต้นรำ

ตัดภาพกลับมาที่มุมเล็กๆ บนถนน มิลค์เดินแจกใบปลิว เขาแทบจะเต้นไปแจกใบปลิวไป เสียงสัมภาษณ์ที่เล่าทับฉากคือการบอกว่า มิลค์เป็นเจ้าของร้านวิดีโอในย่านแคสโตร และถึงแม้ว่าย่านนั้นจะรวบรวมไว้ซึ่งผู้คนที่เป็นเกย์ แต่มิลค์ก็ต้องใช้ความพยายามในการลงสมัครเลือกตั้งถึง 4 ครั้ง เพื่อให้ความมั่นใจกับพี่น้องของเขาว่า พวกเขาเป็นคน จงออกไปจากย่านแคสโตร ออกไปใช้ชีวิต เกย์ต้องได้รับการประกันในสิทธิ อยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก ไม่จำเป็นต้องเป็นที่แคสโตร

จงซื่อสัตย์กับตัวเองในการ ‘come out’ ออกไปบอกกับตัวเองและคนที่เขารักได้แล้วว่าพวกเขาเป็นใคร…เพียงแค่ออกมา

‘come out’ เป็นนโยบายหลักของมิลค์ แต่ทันทีที่เขาได้รับเลือกเข้าไปเป็นกรรมการเทศบาลนครซานฟรานซิสโก มิลค์ไม่ได้เดินดุ่มไปแก้กฎหมาย หรือปลดปล่อยความกดดันทางสังคมของพี่น้องชาวเกย์ กลับกัน เขากลับชูนโยบายตีไปที่สิทธิของคนกลุ่มน้อย คนผิวสี คนจน คนชรา คนพิการ ทั้งหมดนี้ทำให้มิลค์เริ่มกลับมาเป็นที่จับตาของพลเมืองชาวซานฟรานซิสโกมากขึ้นเรื่อยๆ

หนังผลักให้เห็นมุมมองทางอุดมการณ์ของมิลค์ ผลักให้เห็นการต่อสู้ระหว่างความคิดความเชื่อของคริสตจักรกับแนวคิดเรื่องเสรีภาพที่กำลังเบ่งบานอยู่ในขณะนั้น

ผลักให้เห็นความย้อนแย้ง แม้ในยุคที่คำว่า ‘เกย์’ ถูกนิยามว่ามีความหมาย ถึงขนาดที่พวกเขามีย่านชุมชนเป็นของตัวเอง – สำหรับฉัน มันกลับเป็นเพียงย่านที่ถูกสร้างขึ้นจากความกลัว เพื่อที่พวกเขาจะได้ไปใช้ชีวิตร่วมกัน แล้วไม่ต้องออกไปไหนอีก เป็นย่านที่พวกเขาจะรู้สึกปลอดภัย ไม่แปลกประหลาด และรับรู้ว่าคนที่เดินอยู่บนถนนข้างๆ จะประสบเหตุการณ์ในชีวิตคล้ายกันกับตัวเอง

3.

มิลค์ถูกยิงตาย พร้อมกับนายกเทศมนตรีซานฟรานซิสโก วิกเตอร์ การ์เบอร์ โดย แดน ไวท์ นักการเมืองชนชั้นกลาง ผิวขาว นับถือศาสนาคริสต์ มูลเหตุคือความกดดัน หวาดกลัว ว่าจะสูญเสียตำแหน่งและความเชื่อถือให้กับมิลค์ ให้กับข้อเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงสิทธิทางกฎหมายของเขา

1978 ไวท์ถูกนำตัวขึ้นศาล และถูกตัดสินว่าฆ่าคนโดยไม่ได้เจตนาหรือไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลรับฟังข้อแก้ต่างจากจิตแพทย์ว่า ไวท์มีอาการซึมเศร้าหนัก เนื่องจากชอบกินโค้กและขนมทวิงกี้ และเขาอยู่ในภาวะวิกลจริตชั่วขณะ อันเนื่องมาจากความซึมเศร้า

ไวท์ถูกตัดสินจำคุก 7 ปี

หนังตัดกลับไปที่คำสัมภาษณ์ของเกย์ผิวดำคนหนึ่ง “ลองเป็นผม เป็นคนดำ เป็นภารโรง ที่ทำเรื่องอย่างนี้ ที่ฆ่าคนตาย ผมยังจะได้รับการตัดสินอย่างนี้ไหม”

4.

คำพูดของชายผิวดำคนนั้นอธิบายทุกอย่าง และไม่ใช่เฉพาะสิทธิ์ของ LGBT แต่มันควบรวมแทรกซึมอยู่ในทุกสถานะตัวตนของมนุษย์ทั้งหมด จริงอยู่ ธงของขบวนการต่อสู้เรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ คือการปลดปล่อยมนุษย์ทุกคน เพื่อนำไปสู่ความเป็นคนที่เท่ากัน

แต่เพราะเราเป็นเกย์ เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย เป็นคนดำ เป็นคนชายขอบ เป็นลูกคนกลาง เป็นแม่ เป็นเมียน้อย เป็นเมียหลวง ฯลฯ เราย่อมมีปัญหาในแบบของตัวเอง และมันสำคัญ เราได้รับความกดดันและคาดหวังจากสังคม มีความกลัว มีประสบการณ์ ได้รับการเหยียดหยามในฐานะที่เราเป็น ‘ใครคนใดคนหนึ่ง’ อยู่เสมอ

ฉะนั้น การบอกว่า LGBT = HUMAN จึงเท่ากับการปฏิเสธ และเลือนปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน กระทั่งความคิดดังกล่าวยังกลับไปกล่อมเกลาพวกเขาเอง ว่าเขาสมควรแล้วที่จะได้รับมัน เพราะปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว ปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่มันไม่มีจริง

ฉันไม่ได้บอกว่าเราต้องคอยสอบถามว่าเขาอยู่ในสถานะอะไร เจออะไรมาในชีวิต และต้องการได้รับการปฏิบัติแบบไหน

แต่กำลังบอกว่า อย่าลดทอนปัญหาของคนอื่น โดยการอ้างคำพูดเชิงอุดมการณ์รวมหมู่เลย เพราะนอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังกลับไปกดทับ และบอกว่าปัญหาเหล่านั้นได้รับการแก้ไขแล้ว ปัญหาแบบนั้นไม่มีจริง

ทั้งที่จริงๆ แล้วมันมี

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า