นับจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 8 ปีมาแล้วที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
คณะรัฐประหารให้คำมั่นว่าจะลดความตึงเครียดทางการเมืองและกวาดล้างการฉ้อราษฎร์บังหลวง เนื่องจากในขณะนั้น มีคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยอ้างการทุจริตในโครงการจำนำข้าว และการผลักดันร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม แต่แม้จะมีการยุบสภาฯ และประกาศให้เลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เหล่า ‘มวลมหาประชาชน’ กลับไม่ยอม และขัดขวางด้วยการเคลื่อนขบวนไปปิดล้อมคูหา โดยอ้างว่าต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จนเกิดการปะทะกับกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลและผู้ที่ต้องการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก เป็นเหตุให้กองทัพตบเท้าเข้ามายุ่งกับการเมืองโดยอ้างว่า เพื่อยุติความขัดแย้งแบบหล่อๆ
หลังรัฐประหารไม่นานนัก ในวันที่ 2 มิถุนายน 2557 มีทหารเดินแจกใบปลิวแก่ประชาชนที่เดินผ่านไปมารอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในหัวข้อ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คืนความสุขให้ประชาชน” เพื่อเป็นการชี้แจงสาเหตุที่ คสช. ต้องยึดอำนาจ ดังนี้
1. มีความขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองรุนแรง ตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงในครอบครัว
2. การใช้อำนาจปกครองแบบเดิม (ของรัฐบาลชุดเก่า-ผู้เขียน) ไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้ง ความแตกแยก และการกระทำผิดของกลุ่มคนต่างๆ ได้
3. มีการต่อต้านการเลือกตั้งในรูปแบบเดิมอย่างกว้างขวาง หากปล่อยให้มีการเลือกตั้งในสถานการณ์เช่นนี้ อาจเกิดความวุ่นวายไม่รู้จบรู้สิ้น
4. การชุมนุมทางการเมืองในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนทุกหมู่เหล่า ทำให้ประชาชนแตกความสามัคคี จนไม่อาจปรองดองกันได้
5. ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน
6. การบังคับกฎหมายปกติต่อปัญหาข้างต้น บังคับใช้ไม่ได้ทุกกลุ่ม ทำให้เกิดความระแวง เกลียดชังกันในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง นำไปสู่การยุยงปลุกปลั่นแนวร่วมของตนให้ใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้าม
7. การบริหารราชการแผ่นดินไม่อาจดำเนินไปได้ตามปกติ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติ และก่อความทุกข์ให้ประชาชน
8. มีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ทั้งทางลับและเปิดเผย สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนโดยรวมที่จงรักภักดี
9. มีการปลุกระดมมวลชนเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์คนส่วนใหญ่
10. มีการจัดตั้งและใช้กองกำลังติดอาวุธ เพื่อใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้าม โดยไม่คำนึงถึงชีวิตผู้บริสุทธิ์ ซึ่งกองทัพจะยอมให้เกิดขึ้นในประเทศชาติไม่ได้โดยเด็ดขาด
ทางคณะรัฐประหารจึงวอนให้ประชาชนไทยเข้าใจความจำเป็นในการยึดอำนาจ เพื่อจัดระเบียบและปฏิรูปการเมืองอย่างเร่งด่วน รวมทั้งขอความร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคม โดยพลเอกประยุทธ์ ยืนยันว่า ตนไม่อยากก่อรัฐประหารแต่อย่างใด
“โดยส่วนตัวแล้วไม่อยากได้อำนาจมาด้วยวิธีการนี้ ไม่เคยคิดว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ประเทศชาติกำลังระส่ำระสายและตนไม่สามารถปล่อยผ่านได้”
อย่างไรก็ดี ผ่านมา 8 ปีแล้วที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องตั้งแต่ยึดอำนาจกระทั่งผ่านการเลือกตั้งปี 2562 กลับดูเหมือนว่า คำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้เสียดิบดีในเวลานั้นแทบไม่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม ประเทศชาติยังเกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน มีปัญหาเศรษฐกิจ ความทุกข์ยากของประชาชน การจับกุมนักกิจกรรมทางการเมือง ตลอดจนการแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างและตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของรัฐบาล
อนึ่ง หลังก่อรัฐประหารประมาณ 3 เดือน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยกล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 ว่า
“การบริหารราชการของ คสช. หลายคนบอกว่าเป็นทหารจะรู้หรือ การบริหารบ้านเมืองเป็นเรื่องใหญ่ ผมเรียนท่านแล้วทุกวันนี้เราทำตามกลไกของรัฐปกติ ในเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน ผมไม่เห็นจะยากตรงไหน”
ที่มา: