อุดมคติกับสังคมไทยในยุคอลหม่าน

 

เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล
ภาพประกอบ: Shhhh

 

ต่อให้ไม่อินนักกับคำว่า ‘อุดมคติ’ หรือกับคำกล่าวในทำนองว่า อุดมคติน่ะแค่ความฝัน ข้าวปลา (และอาจจะรวมถึงงบประมาณประเทศ) สิของจริง

กระนั้น แม้ไม่ใช่นักอุดมติ ไม่ใช่ผู้ทำงานด้านประชาสังคม แต่ปฏิเสธไม่ได้แน่นอนว่าเราๆ ท่านๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ว่าอย่างไรย่อมหลีกไม่พ้นทุกความเปลี่ยนแปลง ทุกกระแสที่เคลื่อนไหว กระทั่งหยุดนิ่ง

เครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ (คศน.) จึงร่วมกันเสวนาในหัวข้อ ‘อุดมคติกับสังคมไทยในโลกยุคอลหม่าน’ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา โดยได้เชิญวิทยากร 3 คน ประกอบไปด้วย อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร WAY ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เจ้าของสำนักพิมพ์ openbooks และ สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ และนักเขียน/นักแปล ร่วมแลกเปลี่ยนสนทนาในประเด็นที่ว่า เราจะจัดการเช่นไรกับอุดมคติในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และในโลกที่ถดถอยย้อนกลับไปกว่าสี่สิบปีเช่นนี้

ความรู้และการแสวงหาความรู้

ประสาน อิงคนันท์ ผู้นำ คศน. รุ่นที่ 4 ทำหน้าที่ดำเนินการเสวนา ตั้งคำถามแรกว่า ความรู้อะไรบ้างที่เราจำเป็นจะต้องรู้ และมีความจำเป็นในอนาคตสำหรับพื้นที่ที่เรายืนอยู่

ในมุมมองของสฤณี มองว่าปัญหาทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องของความรู้ แต่เป็นเรื่องของการแยกแยะข้อมูล โดยเฉพาะในยุคที่อินเทอร์เน็ตทำให้เกิดเส้นที่พร่าเลือนระหว่างคำว่า ข้อมูล กับข้อมูลที่ให้ความรู้และปัญญา

สฤณียกตัวอย่างคำถามของนักศึกษาในชั้นเรียนที่เคยถามเธอว่า จบการศึกษามาได้อย่างไรโดยที่ไม่มี Google

“ในโลกทุกวันนี้ อินเทอร์เน็ตทำให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารรวดเร็ว มีข้อมูลเยอะแยะไปหมด แต่ปัญหาคือ อะไรคือข้อมูลที่สำคัญ และอะไรคือความรู้กันแน่ ไม่ใช่ว่าทั้งหมดจะเป็นข้อเท็จจริง”

ปัญหาของข้อมูลที่หลากหลายและเป็นอิสระในตัวมันเองอย่างที่เรียกว่า ‘Alternative Facts’ ทำให้เกิดสภาวะสับสนของปริมาณความรู้ที่สังคมไม่อาจแยกแยะได้ว่า ข้อมูลอะไรจริง ข้อมูลอะไรไม่จริง ความจริงคืออะไร ใครพูดความจริง ข้อเท็จจริงคืออะไร ดังนั้น จึงนำไปสู่ชุดความคิดที่อันตรายในมุมมองของสฤณี คือ การทำให้คนเข้าถึงแหล่งข้อมูลเพียงหนึ่งเดียวที่จะเข้าไปค้นคว้าหาข้อมูลได้ ยกตัวอย่าง Wikipedia ซึ่งสฤณีเปรียบเทียบให้เห็นภาพจากในชั้นเรียนว่า ท้ายสุดนักศึกษาก็ต้องไปค้นข้อมูลจาก Google และ Wikipedia อยู่นั่นเอง

“เราให้นักศึกษาไปหากรณีศึกษาของคนที่ต้องรับมือกับประเด็นทางสังคม ว่าเขาจะต้องปรับตัวอย่างไร เสร็จแล้วก็มีเด็กคนหนึ่งทำสไลด์มาสวยงามมากเลย เปิดมาปุ๊บ เขาพูดจาฉะฉานมาก เขาพูดเกี่ยวกับธนาคาร ประเด็นก็คือ มีข้อมูลที่ผิดอยู่นิดหน่อย คือเรื่องของกองทุนที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติเศรษฐกิจ เขาก็พูดๆ ไป พอพรีเซนท์จบสิบนาที เขาก็ถามว่าอาจารย์มีคำถามไหมคะ? เราก็ถามกลับไปว่า ถ้าสมมุติสถานการณ์ไม่ได้เป็นแบบนั้น สมมุติว่าวันนั้นธนาคารรัฐไม่เข้ามาอุ้ม แล้วจะเป็นอย่างไร คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น ปรากฏว่าเขาตอบไม่ได้เลย เพราะอะไร หนึ่ง ไม่ได้เตรียมมา สอง ถ้าจะตอบก็ต้องวิ่งไปค้น Google อีก แล้วก็ใช่ว่าจะได้คำตอบที่สำเร็จรูป”

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่า ทักษะของการวิเคราะห์และการเชื่อมโยงข้อมูล กับคนที่พึ่งพิงชุดข้อมูลสำเร็จรูปเพียงแหล่งเดียว คือ Google และ Wikipedia ที่สะท้อนความมักง่ายบนความตายใจ ว่าทุกอย่างมีอยู่ในนั้นแล้ว โดยไม่ค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งอื่นที่เป็นความรู้ที่สำคัญและมีประโยชน์ในการขับเคลื่อนประเด็นที่อย่างน้อยทำให้คนมาถกเถียงกัน ซึ่งส่วนมากแล้วข้อมูลความรู้เหล่านี้มักไม่อยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต

“เพราะฉะนั้น หมายความว่า ข้อมูลกับความรู้ไม่ใช่เรื่องเดียวกันที่จะช่วยให้เกิดการถกประเด็น ที่จะช่วยในการขับเคลื่อน ที่จะช่วยดึงคนเข้ามาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อจะบอกว่านี่เป็นข้อเท็จจริงที่น่าจะมีจุดร่วม หรืออะไรต่างๆ ฉะนั้น ทักษะที่สำคัญ อาจจะเรียกว่าทักษะโบราณก็ได้ คือ ทักษะการกลั่นกรองสิ่งที่เราได้ฟัง สิ่งที่เราเห็น ทักษะในการวิเคราะห์ เปรียบเทียบว่าอะไรเป็นอะไร ทักษะในการเปิดใจว่า ทำอย่างไรเราจึงจะไม่ตกอยู่ในตรรกะว่าเราคิดแบบนี้ถูกต้องแล้ว แต่เรามองเห็นความเป็นไปอื่นด้วย ว่าอาจจะคิดแบบอื่นได้”

‘สังคมแช่แข็ง’ กับข้อตกลง 3 ประการ

ในขณะที่สฤณีมองว่า เราอาจจำเป็นต้องหวนกลับไปใช้ทักษะของการกลั่นกรอง ใคร่ครวญ ต่อปริมาณข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาล ในฐานะผู้คลุกคลีกับงานด้านสื่อมาอย่างยาวนาน สำหรับอธิคมมองว่า หากหยิบยืมจากคำของผู้ดำเนินการเสวนาที่เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของสังคมที่เหมือนกับว่า จู่ๆ ก็หลับไปแล้วลืมตาตื่นขึ้นมา แล้วพบว่าโลกไม่เหมือนเดิม

“ปัญหาอย่างเดียวก็คือ เราดันมาหายใจอยู่ในประเทศที่มันแปลกประหลาด ผมพบว่าเมื่อตื่นขึ้นมา ทำไมเหมือนผมย้อนกลับไปอยู่ในยุค 2520 คือมันกลับไปเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว โจทย์ของเรายังคุยเรื่องเดิม ไม่ได้เคลื่อนไปไหน เรามีซากศพ มีคนบาดเจ็บล้มตาย สังเวยไปกับข้อถกเถียงเหล่านี้ แต่เราไม่ได้สะสมความรู้ที่จะเคลื่อนไปจากหล่มเดิม ผมคิดว่าข้อขัดแย้งที่สำคัญคือ ในขณะที่โลกหมุนอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่สังคมไทยกลับหนืดนิ่ง ตรงนี้เองที่ผมคิดว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง”

เมื่อเราอยู่ในสภาพสังคมยุคโบราณที่จู่ๆ ก็มีคนเอารถถัง เอากองกำลังมาข่มขู่ประชาชน แล้วปกครองด้วยชุดความคิดที่ขุดขึ้นมาจากโลกอดีต สภาวะที่อาจเรียกได้ว่า ‘ถอยหลัง’ เช่นนี้ อาจทำให้อุดมคติต่อการทำงานของภาคประชาสังคม ในโลกที่ทั้งสับสนอลหม่านและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สวนทางกับสภาวการณ์ที่เป็นจริงในสังคมไทย

อธิคมมองว่า แนวคิดเรื่องอุดมคตินั้นถูกทำให้มีขนาดที่เล็กลงเรื่อยๆ เราจะจัดสมดุลอย่างไรกับข้อถกเถียงทั้งในเรื่องชุมชนท้องถิ่นนิยมกับโลกาภิวัตน์ ข้อถกเถียงทั้งในเรื่องเขตการค้าเสรีว่าจะทำร้ายผู้คนที่ไม่สามารถแข่งขัน และเรายังคงถกเถียงกันถึงเรื่องการเข้าถึงและการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียม

“ผมคิดว่าประเด็นเหล่านี้ในช่วงที่ผมเริ่มทำงานเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วมันสนุก และท้าทายให้เราไปหาความรู้ใหม่ๆ มาแก้ แต่ตอนนี้อุดมคติของเราเหลือแค่ขอให้เราได้พูดบ้าง ขอให้เรามีเสรีภาพเวลาพูดเสร็จจะไม่โดนจับ ขอให้เรามองเห็นกันอย่างเสมอหน้า ทั้งหมดนี้ย้อนกลับไปสู่โจทย์ที่ รุสโซ ล็อค ฮอบส์ เคยพูดไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17-18 และในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ถามว่าคนทำงานภาคสังคมจะเอาอย่างไรกันดี”

เพื่อจะตอบคำถามของนายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ในฐานะผู้จัดตั้งเครือข่ายผู้นำ คศน. ที่เชื้อเชิญให้มาร่วมเสนอความเห็นต่อประเด็นเสวนา อธิคมกล่าวว่า “การที่สังคมไทยยังอยู่ภายใต้บรรยากาศความขัดแย้ง ตกอยู่ในสุญญากาศ อยู่ในแคปซูลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชาวโลกเท่าไหร่นัก เราควรหาคนที่จะแตะมือกันได้ เพื่อจะบอกกล่าวกันว่าเป็นพรรคพวกเพื่อนฝูงที่สามารถทำอะไรบางอย่างร่วมกันได้ เพื่อที่จะผลักดันเนื้องานให้กว้างใหญ่ขึ้น ฝันได้ใหญ่ขึ้น หากแต่ก่อนจะตอบคำถามเรื่องนี้ ควรมาดูกันก่อนว่าสังคมไทยขาดอะไร”

คำตอบของอธิคม คือ ในโลกสมัยใหม่นั้นมีข้อตกลงร่วมกัน 3 ข้อ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ข้อตกลงแรกคือ การยอมรับในข้อมูล (information) ความรู้ (Knowledge) และปัญญา (wisdom) แต่เมื่อหันกลับมามองสังคมไทย เรากลับไม่เคารพในข้อมูลและชุดความรู้ทางปัญญาซึ่งไม่ควรจะนำมาเป็นข้อถกเถียงกันแล้ว

“ข้อตกลงของโลกสมัยใหม่ อันดับแรกที่เราควรจะไปถึงให้ได้ก่อนคือ เราน่าจะสร้างวัฒนธรรมของการเคารพความรู้ ซึ่งจะนำมาสู่ข้อตกลงร่วมกัน โดยที่เราไม่ต้องกลับไปเถียงในประเด็นที่โลกได้ตกผลึกแล้ว การเคารพในความรู้ ไม่ได้หมายความว่าความรู้นั้นจะถูกสงสัยหรือเคลื่อนเปลี่ยนไม่ได้ แต่หากจะเถียงกันก็ควรเริ่มจากความเข้าใจความรู้เดิมก่อน แล้วค่อยหาเหตุผลหรือหลักฐานใหม่มาคัดง้าง”

ข้อตกลงที่สอง อธิคมมองว่า ภายใต้ความอลหม่าน ภายใต้ความคิดที่แตกต่าง หลักสำคัญ 3 ข้อ ที่เราต้องช่วยค้ำยันเอาไว้ก็คือ หลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค เรื่องสิทธิที่ไม่ใช่เพียงแค่การรู้สิทธิของตัวเองฝ่ายเดียว แต่ยังรวมถึงการเคารพในสิทธิผู้อื่น ส่วนการมีเสรีภาพ คือที่มาของความคิดสร้างสรรค์

“ทุกวันนี้ ‘เสรีภาพ’ เป็นคำที่แสลงหูในชั่วโมงนี้ ทั้งที่จริงโดยหลักการไม่ใช่อะไรอื่นเลย แต่มันคือพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์ทั้งปวง เราฝันถึงศักยภาพในการแข่งขัน หวังให้เกิดการสร้างนวัตกรรม แต่ในสังคมที่ไม่มีเสรีภาพทำไม่ได้หรอก และความเสมอภาคจะเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องมาจากสองหลักการแรก ถ้าคิดว่าคำนี้ฟังดูน่ากลัว ก็ให้ลองนึกถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาท สปิริตของระบบนี้ก็มีที่มาจากหลักคิดว่าด้วยความเสมอภาค”

ข้อตกลงประการสุดท้าย คือ การสร้างวัฒนธรรม accountability ซึ่งไม่มีคำไทยที่แปลได้ตรงความหมายนัก แต่เท่าที่อธิคมมองว่าพอจะใกล้เคียงที่สุดก็คือ วัฒนธรรมของการรับผิดรับชอบ

“เหตุที่วัฒนธรรมนี้สำคัญและผมมักจะพูดถึงบ่อย เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการความขัดแย้ง ในสังคมที่ความบาดหมางเกิดขึ้นและดำรงอยู่ ทุกคนมีโอกาสทำผิดพลาดทั้งนั้น แต่ผิดแล้วควรยืดอกยอมรับ และรู้จักขอโทษ กลไกการให้อภัยจึงตามมา คนอื่นจะได้รู้วิธีจัดวางท่าทีและหาทางอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันได้”

กลับมาตอบยังคำถามในประเด็นเรื่องการทำงานเพื่อสร้างเครือข่าย อธิคมมองว่า

“คำแนะนำในการสร้างเครือข่ายของผมคือ หากพบเห็นผู้ใดมีคุณสมบัติครบสามข้อ ให้รีบอ้อนวอนขอมิตรภาพ หากเห็นใครมีคุณสมบัติสองข้อ ให้รีบส่งยิ้มหยิบยื่นความช่วยเหลือ หรือหากใครมีคุณสมบัติแค่ข้อเดียว ก็อย่าด่วนทำร้ายน้ำใจหรือหมิ่นแคลนกัน ส่วนใครที่ไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้เลย โลกก็ไม่ได้อนุญาตให้เราจับพวกเขาไปรมแก๊สหรือทำนารวม สิ่งที่เราพอทำได้คือเมตตา โดยหวังว่ามนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากยังดื้อดึงสมาทานอวิชชา ระบบนิเวศในโลกสมัยใหม่ก็จะทำหน้าที่คัดกรองสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ออกไปเอง อย่างน้อยก็ในวงจรชีวิตและความสัมพันธ์ของเรา”

ว่าด้วย ‘หมู’ กับประเด็นเจรจาการค้าโลก

ออกตัวอย่างสัพยอกว่า ถ้าสมมุติเราต่างอยู่ในโลกที่กำลังหลับใหล ภิญโญ กล่าวว่าตนเพิ่งตื่นและไม่ได้ฟังสิ่งที่อธิคมพูด ก่อนจะลุกขึ้นยืนเพื่อบอกเล่าเหตุการณ์ที่นำไปสู่เวทีเสวนาหนึ่งที่มียอดวิวร่วมล้านคนไว้ว่า “คุณภิญโญช่วยหน่อยสิ รัฐบาลไทยกำลังจะไปเจรจากับรัฐบาลอเมริกา เพื่อขออนุญาตให้นำเข้าหมูเข้ามาในเมืองไทย อเมริกากินหมูไม่เหมือนเมืองไทย อเมริกากินเนื้อ เอาไปทำแฮม ทำอะไรนิดหน่อย เครื่องในอเมริกาไม่กิน หัวหมูอเมริกาไม่ไหว้เจ้า กีบเท้าอเมริกาไม่กิน ในขณะที่คนจีนคนไทยกินหมดทุกอย่าง คากิก็กิน คนไทยไม่กินอย่างเดียวคือขนหมู ที่เหลือเรากินทุกส่วน ตือฮวน เครื่องใน เราใช้ประโยชน์คุ้มมาก ทีนี้อเมริกาก็คิดว่า เครื่องในเป็นของเหลือ ของเหลือต้องเอาไปทำอาหารสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสัตว์ก็เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นไปบีบรัฐบาลไทยให้ส่งเครื่องในที่อเมริกาไม่กินมาขายที่เมืองไทย ต้นทุนบวกค่าขนส่งก็น่าจะถูกกว่า แล้วถ้าดัมพ์เครื่องในเข้ามาเมืองไทยและอย่างอื่นเข้ามาด้วย ตลาดหมูเมืองไทยพังหมดแน่”

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่เนื้อหมูไทยไม่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง ขณะที่เนื้อหมูในอเมริกาอนุญาตให้ใช้ได้ในปริมาณที่เหมาะสมได้ ซึ่งจากผลการวิจัยระบุว่า หากคนรับประทานเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงจะส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ โรคภูมิแพ้ และโรคอื่นที่ตามมา ซึ่งโดยปกติการประชุมของผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทยจะจัดกันที่ราชบุรี มีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 50 คน แต่ในการประชุมที่เพิ่งผ่านพ้นไป มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,000 คน เนื่องจากประเด็นตลาดคนเลี้ยงหมูล่มสลายนั้นกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ไม่เพียงแต่พ่อค้าผู้เลี้ยงหมูเท่านั้น

“ถามว่าหมูกินอะไร หมูกินข้าวโพด กินมันสำปะหลัง กินรำข้าว กินน้ำมันถั่วเหลือง กินยา กินเวชภัณฑ์ และกินหลายต่อหลายอย่าง ถ้าตลาดหมูเจ๊ง มันสำปะหลังเจ๊ง ข้าวโพดเจ๊ง ข้าวเจ๊ง ฉะนั้น จึงไม่ได้มีแค่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย แต่ยังมีสมาคมชาวนา สมาคมมันสำปะหลัง สมาคมข้าวโพด และสมาคมอื่นๆ ประมาณ 12 สมาคม ในที่ประชุมรวมประมาณ 1,000 คน”

ภิญโญเสนอให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ จัดงานที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม แต่เปลี่ยนจากที่เคยจัดประชุมกันเอง ไปให้สื่อมวลชนเป็นคนจัดแทน โดยจัดขึ้นที่เมืองทองธานี มีผู้มาเข้าร่วมล้นหลาม รวมทั้งบริษัทผู้จำหน่ายสินค้าเกษตรกรรมรายใหญ่ของไทยที่จำเป็นต้องปิดบังชื่อไว้ไม่ออกหน้า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกำลังมีปัญหาฟ้องร้องการใช้แรงงานทาสในการผลิตกุ้งอยู่ ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า นี่ขนาดเป็นเจ้าใหญ่ที่สุดในประเทศ ทำไมถึงไม่ปกป้องผู้ซื้อเนื้อหมูในประเทศตัวเอง

“เป็นไปได้หรือไม่ที่เขาจะยอมเอาหมูแลกกุ้ง หมายความว่าให้หมูแพ้ไป แล้วเก็บกุ้งไว้ เขาอาจจะทิ้งผู้เลี้ยงหมูในเมืองไทย แล้วเอาไปเลี้ยงที่อื่น หรือเอาเข้าไปเลี้ยงในอเมริกาเลย แล้วส่งกลับมาขายเมืองไทย เพราะความใหญ่ของทุนสามารถเคลื่อนฐานการผลิตไปที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องอยู่ที่เดิม แต่คนที่ตายคือ ผู้ค้ารายย่อย ผู้เลี้ยงหมู เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นซัพพลายเชนจ์ทั้งหมดของกระบวนการผลิต รอบแรกก็เลยเชิญมาหมดทั้งวงการ นักวิชาการก็มา แต่ไม่มีข้าราชการและนักการเมืองกล้าเสนอหน้ามาแม้แต่คนเดียว

“ปกติการประชุมแบบนี้นักการเมืองต้องมาหาเสียง คนมาตั้งเป็นพัน มาจากทั่วประเทศ ทุกสมาคม ผู้เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่ายี่สิบล้านคน แต่ไม่มีนักการเมือง ไม่มีข้าราชการไทยคนไหนกล้ามาแม้แต่เดียว บังเอิญผมเดินไปกอดไว้ได้หนึ่งคน เป็นรองอธิบดี ท่านกล้าหาญมาก ถามว่าทำไมท่านกล้ามาครับ ท่านบอกพรุ่งนี้ผมเกษียณแล้ว โอ้โห ท่านเป็นผู้กล้าจริงๆ ขอเสียงปรบมือด้วยครับ พรุ่งนี้ท่านเกษียณแล้ว ที่เหลือไม่มีใครกล้ามาเลยแม้แต่คนเดียว”

ภิญโญยังบอกเล่าเบื้องหลังการประชุมที่จัดขึ้นก่อนนายกฯ จะเดินทางไปเจรจาเรื่องนี้กับอเมริกา 1 วัน มีการพยายามล็อบบี้ไม่ให้มีการจัดประชุม เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดของฝ่ายทางการสหรัฐที่อาจมองว่าเรื่องนี้รัฐบาลมีส่วนร่วมด้วยหรือไม่ ภิญโญบอกเล่าว่า

“ถ้านี่เป็นการเมืองประชาธิปไตย นี่ก็คืออำนาจต่อรองของรัฐบาล คุณก็ต้องไปพูดกับอเมริกาสิ ว่ามีคนเป็นพันมาประชุม และคนเกี่ยวข้องอีกยี่สิบล้านที่เขาไม่ยอม แล้วอั๊วจะเซ็นกับลื้อได้ยังไง”

มาตรา 44 กับข้อเสียของการเจรจา

“ข้อเสียของมาตรา 44 คือ ไม่ว่าใครจะต่อรองยังไง เขาก็เซ็นได้ เรื่องซื้อขายหมูก็เซ็นได้ อำนาจต่อรองมันจึงไม่เหลือ ในโลกสมัยใหม่ เขารู้อยู่แล้วว่าคุณมีอำนาจเผด็จการอยู่ในมือ ฉะนั้น ถามว่าคนตัวเล็กตัวน้อยทำอะไรได้บ้าง มาเลยครับ ซัดกันบนเวที เฟซบุ๊คไลฟ์ผ่านข่าวสด มติชน มียอดผู้ชมการถ่ายทอดสดประมาณ 16 ล้านคน มีข่าวตีพิมพ์ในเครือมติชนทั้งหมด แล้วยังมีการยื่นจดหมายไปยังสถานทูตอเมริกา จากเดิมจัดประชุมโต๊ะจีนที่ราชบุรี 50 คน แต่พอมาจัดแบบนี้เห็นความเปลี่ยนแปลงทันที คสช. ถึงกับส่งทหารมานั่งมอนิเตอร์ รัฐมนตรีโทรมา รองนายกฯ โทรมา นายกฯ ดูแน่นอน เพราะมีการพูดคำว่านายกรัฐมนตรีไม่ต่ำกว่า 50 ครั้งบนเวที

“จากเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง กลายเป็นเรื่องขึ้นมา อำนาจต่อรองสูงขึ้นมา จากการเมืองโต๊ะจีนที่ราชบุรี ไปสู่การเมืองระหว่างประเทศ ไปสู่สถานทูตอเมริกา คุณโทรนัดรอยเตอร์ คุณโทรนัดซีเอ็นเอ็น คุณโทรนัดบีบีซี ประเด็นจากโต๊ะจีนราชบุรีไปสู่การเมืองระหว่างประเทศทันที”

ภิญโญทิ้งท้ายว่า ในสภาวการณ์ปัจจุบัน เราจำเป็นต้องอ่านสถานการณ์ทางการเมืองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้ออก ต้องรู้ว่าใครกำลังทำอะไร กำลังเล่นอะไร มีการคัดง้างกันภายในคณะรัฐมนตรีหรือไม่ โลกโซเชียลมีเดียเป็นเช่นไร

กล่าวให้ชัดกว่านั้น มีเพลย์เมคเกอร์ตัวไหนบ้างที่คุณต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อคุณจะได้จัดวางท่าทีระหว่างอุดมคติและสังคมไทยที่ขับเคลื่อนไปอย่างอลหม่านได้อย่างแข็งแรง

 

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า