ลอยนวลพ้นผิด: สำรวจ ‘วัฒนธรรมเฉพาะ’ เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล

10 ธันวาคมของทุกปี นอกจากจะถูกกำหนดให้เป็นวันรัฐธรรมนูญของไทย ในทางสากลสหประชาชาติยังกำหนดให้วันนี้เป็นวันสิทธิมนุษยชน เพื่อย้ำเตือนให้ทุกคนตระหนักและเล็งเห็นถึงสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วยกัน

วาระนี้จึงเหมาะสมกับการกลับมาใคร่ครวญสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของบ้านเราเอง ซึ่งตลอดปี 2562 เจ้าหน้าที่รัฐยังคงมีการดำเนินคดีกับประชาชนที่เห็นต่าง รวมถึงมีการทำร้ายนักเคลื่อนไหวหลายต่อหลายครั้ง ตอกย้ำให้เห็นอีกครั้งว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไทยยังคงแขวนอยู่บนเส้นด้ายไม่ต่างไปจากการปกครองในยุคสมัยรัฐบาลคณะรัฐประหาร คสช.

คำถามที่น่าค้นหาคำตอบคือ อะไรอนุญาตให้ผู้มีอำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งๆ หน้าได้ งานศึกษาความรุนแรงบางชิ้นเสนอว่า “คนไทยที่เกิดหลังปี 2475 เป็นต้นมา จะต้องมีชีวิตผ่านปรากฏการณ์ความรุนแรงทางการเมืองอย่างน้อยถึง 14 รูปแบบ” ในแง่นี้จึงไม่น่าแปลกใจหากคนไทยจะคุ้นชินกับความรุนแรงและเห็นมันตั้งแต่ยามค่ำจนยันกลางวันแสกๆ

ไทเรล ฮาเบอร์คอน (Tyrell Haberkorn) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา เคยตอบปริศนาเรื่องนี้ไว้ในหนังสือที่ชื่อ In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand ตีพิมพ์เมื่อปี 2018 ว่า ลักษณะของรัฐไทยมีลักษณะเป็นรัฐลอยนวลพ้นผิด (impunity state) ความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐเกิดขึ้นซ้ำซากมากเสียจนกลายเป็นโครงสร้างกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองในประเทศไทย

นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นกรณีเผาทั้งหมู่บ้าน การซ้อมทรมานชาวบ้าน การจับคนเผาถังแดง การสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 การถูกบังคับให้สูญหาย และการใช้กำลังอาวุธสลายการชุมนุมประท้วง จะมีวิธีการหนึ่งที่ทำให้การลอยนวลพ้นผิดเกิดขึ้นเรื่อยมาคือ การนิรโทษกรรมให้กับความรุนแรงพบว่ามีถึง 22 ฉบับ (ยังไม่รวมการนิรโทษกรรมให้แก่ตนเองของคณะรัฐประหาร คสช.)

กรณีนี้แบ่งเป็น พ.ร.ก. 4 ฉบับ พ.ร.บ. 17 ฉบับ และ รธน. 1 ฉบับ สาระสำคัญของกฎหมายนิรโทษกรรมทั้ง 22 ฉบับ คือ การนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำการเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองพ้นจากความผิดหรือไม่ก็นิรโทษกรรมเพื่อยุติการพิสูจน์ความจริงที่อาจจะสาวถึงผู้บงการได้ โดยแบ่งออกเป็น ความผิดฐานเปลี่ยนแปลงการปกครอง 1 ฉบับ, ความผิดฐานก่อกบฏ 6 ฉบับ, ความผิดจากการก่อรัฐประหาร 10 ฉบับ, ความผิดจากการต่อต้านสงครามของญี่ปุ่น 1 ฉบับ, ความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง 3 ฉบับ, ความผิดจากการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 1 ฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับมีรายละเอียดที่แตกต่าง แต่จะไม่กล่าวถึงในที่นี้

การทำให้การลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบเช่นนี้พบว่า ระยะครึ่งหลังของทศวรรษ 2520 เป็นการทำให้ลอยนวลพ้นผิดผ่านการตีความตัวบทกฎหมายของศาล ไทเรลได้ชี้ให้เห็นว่าวิธีการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยสืบสานอำนาจรัฐแต่ยังสร้างรัฐ เป็นหัวใจสำคัญของการดำรงอยู่ของรัฐไทยอีกด้วย

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือการที่ผู้เขียนได้เข้าไปสำรวจเรื่องเล่าหลังม่าน (hidden transcript) ของผู้มีอำนาจรัฐ ผู้กดขี่ ผู้ใช้ความรุนแรงที่มีส่วนในการนิรโทษกรรม ด้วยการสืบค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอกสารบันทึกของรัฐ คำให้การ รายงานการถกเถียงกันในสภา จดหมายโต้ตอบของกระทรวงต่างประเทศ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนิรโทษกรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือเรียกว่า “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519”

จากการค้นคว้าของไทเรล พบว่าในเหตุการณ์เดียวกันมีกฎหมายนิรโทษกรรม 2 ฉบับ ซึ่งฉบับแรกเกิดขึ้นตั้งแต่เลือดของ ‘คนเดือนตุลา’ ยังไม่ทันแห้งดี นั่นคือในวันที่ 24 ธันวาคม 2519 เมื่อรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่มาตรา 3 ซึ่งระบุว่า

 

บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว ซึ่งได้กระทำไปด้วยความมุ่งหมายที่จะให้บังเกิดความมั่นคงของราชอาณาจักร ของราชบัลลังก์และเพื่อความสงบสุขของประชาชนก็ดี และการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอันได้กระทำไปเพื่อการที่กล่าวนั้นรวมถึงการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่นก็ดี การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่ากระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

 

กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นการนิรโทษกรรมคณะผู้ยึดอำนาจหลังการสังหารหมู่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ไม่นิรโทษกรรมให้กับนักศึกษา ประชาชนที่รอดชีวิตจากการการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รวมถึง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 ซึ่งนำมาสู่การยุติการฟ้องร้องแกนนำนักศึกษาทั้ง 18 คน 11 ข้อหา หลังจากถูกจองจำเป็นเวลา 2 ปีกว่า

อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ได้พูดถึงผู้ใช้ความรุนแรงหรือผู้เกี่ยวข้องในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยอาศัยกลวิธีทางกฎหมายในการหลบเลี่ยงการเปิดเผยผู้อยู่เบื้องหลัง รวมถึงการใช้โวหารที่แสดงให้เห็นว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ ซึ่งการไม่กล่าวถึงผู้กระทำความผิดไม่เพียงเกิดขึ้นในการตีความของศาลเท่านั้น แต่ยังเป็นรหัสพื้นฐานที่รับรู้ร่วมกันโดยเฉพาะในสื่อมวลชนสาธารณะอีกด้วย

ข้อคิดจาก ‘การลอยนวลพ้นผิด’ ช่วยทำให้เห็นได้ว่าในเวลาต่อมา ได้มีผลทางกฎหมายที่เอื้อต่อการตัดสิทธิเหยื่อของความรุนแรงโดยรัฐที่ประสงค์จะเรียกร้องการชดเชยเยียวยาความเสียหายจากการใช้กำลังปราบปรามของรัฐ รวมถึงเป็นวิธีการหลบเลี่ยงของผู้มีส่วนในการใช้ความรุนแรงกับประชาชนจวบจนถึงปัจจุบัน

 

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า