ประวัติศาสตร์ไม่ได้เดินย้อนหลัง แต่ว่ายวนไม่รู้จบ

เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล

ประวัติศาสตร์ไม่ได้เดินย้อนหลัง แต่ว่ายวนไม่รู้จบ

ประวัติศาสตร์นั้นมีที่ทางอย่างไรในปัจจุบัน นั่นอยู่ที่ว่าเราหวนมองย้อนกลับไปเพื่อทบทวนให้ประวัติศาสตร์ได้คลี่คลายเพื่อเดินต่อมากน้อยแค่ไหน กระนั้น บางประวัติศาสตร์ ไม่เพียงไม่ถูกทบทวน ซ้ำยังถูกห้าม ถูกสั่งให้ลืม ด้วยวลีอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งว่า “เพื่อความมั่นคงของประเทศ” และ “เพื่อความปรองดองของคนในชาติ” โดยทั้งแกล้งและแสร้งทำเป็นลืมไปว่าภายใต้ความมั่นคงแห่งการปรองดอง มีผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต ที่ไม่เคยได้รับความยุติธรรม

เพื่อจะทวงถามต่อสังคมว่า ยังมีกลุ่มคนที่ยังไม่ลืม พรรคใต้เตียง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ หรือ คปอ. ได้ร่วมกันจัดงานเสวนาว่าด้วยการ ‘มองย้อน 3 เหตุการณ์เดือนพฤษภา มองไปข้างหน้าอนาคตสังคมไทย’ ผ่านสายตาของคนสามรุ่น ในสามเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ประกอบไปด้วย นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ ประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย อนุธีร์ เดชเทวพร อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) พ.ศ. 2552-2553 และ รัฐพล ศุภโสภณ อดีตสมาชิกกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)

ก่อนเข้าสู่วงเสวนา เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี ผู้ดำเนินรายการ ได้กล่าวเชิญชวนผู้เข้าร่วมให้ลุกขึ้นยืนไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมทั้งในส่วนของปี 2535 และ 2553 จากนั้นนำเข้าสู่งานเสวนาด้วยคำถามแรกต่อผู้เข้าร่วม เมื่อย้อนกลับไปยังเดือนพฤษภาคม ในห้วงปีทั้งสาม คือ 2535, 2553 และ 2557 ที่ทางของคุณอยู่ตรงไหน ในเหตุการณ์เหล่านั้น

 

ที่ทางในประวัติศาสตร์

นพ.สันต์ ตัวแทนจากเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ปี 2535 เล่าว่า ในห้วงเวลานั้น ตนกำลังสอนอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ และอยู่ในชมรมของคณาแพทย์ที่มีความสนใจในเรื่องประชาธิปไตยด้วยกัน ก่อนจะเข้าร่วมกับกลุ่มต่างๆ เพื่อประท้วงการสืบทอดอำนาจของ คณะ รสช. ภายใต้การนำของทั้ง พลเอกสุจินดา คราประยูร และ พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ซึ่งออกมายืนยันเพื่อกลบกระแส[1] ทว่าภายหลังการเลือกตั้งที่พรรคสามัคคีธรรม ภายใต้การนำของ ณรงค์ วงศ์วรรณ ได้คะแนนมากที่สุด หากแต่ถูกรัฐบาลสหรัฐขึ้นบัญชีบุคคลที่ไม่ต้องการตัว ในฐานะมีสายสัมพันธ์กับขบวนการยาเสพติดนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ ของ พลเอกสุจินดา คราประยูร จากเหตุการณ์นี้ นพ.สันต์ ได้เข้าร่วมกับสมาพันธ์เพื่อประชาธิปไตย โดยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ประกอบด้วย พลตรีจำลอง ศรีเมือง นพ.เหวง โตจิราการ, ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เลขาธิการ สนนท. ในสมัยนั้น ร่วมชุมนุมกับประชาชนที่มีความไม่พอใจคณะรัฐบาลของพลเอกสุจินดา รวมถึงการอดอาหารของ ร้อยตรีฉลาด วรฉัตร

“เมื่อเขาตระบัดสัตย์ก็เลยมีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 17 พฤษภาคม แล้วก็มีการสร้างสถานการณ์ด้วยการเผาสถานีตำรวจนางเลิ้ง เผารถดับเพลิง เผารถยนต์ ที่อยู่นอกสถานที่ชุมนุมนะครับ อยู่นอกถนนราชดำเนิน แล้วก็ถือเอาเหตุการณ์เหล่านั้นประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อนำทหารเข้าสลายการชุมนุม”

เหตุการณ์ที่เริ่มต้นจากวันที่ 17 พฤษภาคม นำไปสู่ความรุนแรงในบ่ายวันที่ 18 พฤษภาคมต่อเนื่องจนถึงคืนวันที่ 19 พฤษภาคม ก่อน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จะนำพลเอกสุจินดาและพลตรีจำลองเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จนนำไปสู่การยุติการเข่นฆ่าประชาชน ก่อน พลเอกสุจินดา คราประยูร จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตนเองและคณะรัฐบาล ในค่ำวันที่ 23 พฤษภาคม

“แล้ววันที่ 24 พฤษภาคม พลเอกสุจินดาก็ลาออกไป เรื่องราวก็จบลงไป ผู้ที่สั่งการเข่นฆ่าก็ไม่เป็นที่เปิดเผย และไม่ได้รับการลงโทษมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้”

บทบาทของ นพ.สันต์ และคณะกรรมการสมาพันธ์ประชาธิปไตยภายหลัง พลตรีจำลอง ศรีเมือง ถูกจับ จนถึงคืนวันประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา ยังคงปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับคณะกรรมการคนอื่นๆ ที่ยังเหลืออยู่ ในการเรียกร้องหาผู้กระทำผิดในการสั่งปราบปรามประชาชน รวมถึงการเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในปี 2540

ขยับเคลื่อนมาข้างหน้า เหมือนประวัติศาสตร์ได้หยุดลง เมื่อความรุนแรงในอดีตไม่เคยนำมาซึ่งบทเรียนใดๆ อนุธีร์ ในฐานะตัวแทนจากเหตุการณ์ล้อมปราบในปี 2553 บอกเล่าย้อนกลับไปเมื่อเจ็ดปีก่อนว่า สมัยนั้นตนยังเป็นเลขาธิการของ สนนท. ทำกิจกรรมทางการเมือง โดยที่ยังไม่ได้เข้าร่วมกับเสื้อแดงอย่างเต็มตัว จนกระทั่งเกิดการชุมนุมที่ผ่านฟ้า ต่อเนื่องมาจนถึงราชประสงค์ ทั้งตัวอนุธีร์ และรุ่นพี่ใน สนนท. เองก็มีข้อสรุปที่ตรงกันว่าจะเข้าร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดง โดยทำกิจกรรมร่วมกับประชาชนในพื้นที่การชุมนุม

อนุธีร์เสริมว่า บทบาทของสมาชิกใน สนนท. ตั้งแต่ยุคเริ่มก่อตั้งจนมาถึงปัจจุบันนั้น ไม่เคยมีความสามัคคีอย่างชนิดที่เรียกว่ากลมเกลียวโดยสมบูรณ์ มีทั้งความแตกต่าง และความขัดแย้งที่แทบจะเป็นเรื่องปกติมากใน สนนท.

“มันมีแบ็คกราวด์พื้นฐานไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ในแต่ละมหาวิทยาลัย ในแต่ละพื้นที่ มันก็เป็นเรื่องปกติที่มีความไม่ลงรอยกัน”

ความขัดแย้ง ความไม่ลงรอยนี่เอง ที่อนุธีร์เล่าว่า เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ สนนท. ไม่ได้เข้าร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งแต่แรกๆ เนื่องจากชุดความคิดที่มองว่าประชาชนเสื้อแดงนั้นถูกจัดตั้งจากนักธุรกิจการเมือง แม้ในแง่หนึ่ง อนุธีร์เองจะยอมรับว่ามีบางส่วนเป็นเช่นนั้น แต่ในอีกบางส่วน ประชาชนคนเสื้อแดงคือกลุ่มคนที่ตื่นตัวขึ้นมาทางการเมือง และเรียกร้องให้ได้ประชาธิปไตยเฉกเช่นที่คนเมืองในกรุงเทพฯ เรียกร้องในปี 2535

“เราไม่เคยเห็นการตื่นตัวทางการเมืองของคนรากหญ้าขนาดนี้มาก่อน ณ จุดนั้นเราก็คุยกันว่า เราต้องเข้าร่วมการชุมนุม เพื่อจะผลักดันประชาธิปไตยไปข้างหน้า”

โง่ จน เจ็บ

กระแสความคิดหนึ่งในห้วงปี 2553 คือวลีที่มีต่อคนเสื้อแดงด้วยคำพูด ‘โง่ จน เจ็บ’ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ล้วนเดินทางมาจากภาคอีสานและภาคเหนือ เป็นกลุ่มคนเกษตรกรที่เคยถูกตีตราจากคนเมืองในกรุงเทพฯ ว่า เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้น้อย จึงไปสู่ความยากจน นำไปสู่ความเจ็บปวดของชีวิต ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยิ่งซ้ำหนักด้วยการเป็นเครื่องมือของคนที่คุณก็รู้ว่าใครผ่านการซื้อเสียง ผ่านการจ้างเงินให้มาร่วมชุมนุม ต่อประเด็นนี้ อนุธีร์กล่าวว่า วาทกรรมนี้ได้มีการลงไปสำรวจ และทำการวิจัยจนได้ข้อสรุปหักล้างในประเด็นทั้งหมดนั้นล้วนไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

“คือมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในการตอบโต้วาทกรรมอะไรบางอย่างเหล่านี้ ยิ่งเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลางที่ไม่เคยลงไปสัมผัสชาวบ้าน”

ชุดความคิดที่ต่อเนื่องกันนี้ อนุธีร์พูดไปถึงเคมเปญภายหลังเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่มีทั้งบิ๊กคลีนนิ่ง มีทั้งการจัดร้าน ขายของ โดยอดีตเลขาธิการ สนนท. กล่าวว่า ในวันนั้น คนที่มาทำความสะอาด มาขัดล้างพื้นถนนบริเวณราชประสงค์จะเห็นรอยเลือดไหม เพราะมันต้องมีแน่ๆ เมื่อเห็นแล้วเขาคิดเช่นไร ว่าตรงนี้เคยมีคนตาย

“จิตใจของคนที่กำลังล้างคราบเลือดตรงนั้น เขากำลังคิดอะไรอยู่ เขาจะมีความคิดไหมว่า เหี้ย…นี่ชีวิตคนที่ตายนะ”

ต่อเนื่องมาถึงปี 2557 ที่ทางของ รัฐพล ในห้วงเวลานั้น บอกเล่าว่าตนกำลังศึกษาอยู่ที่ธรรมศาสตร์ ปี 3 โดยในวันที่ 22 พฤษภาคม รัฐพลกำลังอยู่ในคอนโดของรุ่นพี่ เพื่ออ่านหนังสือเตรียมสอบ เพราะในวันรุ่งขึ้นมีการสอบภาคฤดูร้อน ก่อนจะหลับพักผ่อนไปช่วงสอบแล้วตื่นขึ้นอีกครั้ง เพื่อพบว่าได้เกิดการรัฐประหารแล้ว

“จำได้ว่าเป็นวันที่รถติดมาก กลับ ม. ยังลำบาก พอกลับไปถึงประมาณทุ่มสองทุ่มก็ประชุมกับเพื่อนว่า เฮ้ย เราจะเอายังไงดี เราก็ประชุมกันจนได้ข้อสรุปว่า เราจะจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารกัน ซึ่งก็จัดกันที่นี่ ที่ธรรมศาสตร์ แล้วก็เดินวนรอบสนามหลวง ต่อไปถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระหว่างเดิน ก็มีมวลชนที่มาเข้าร่วมอย่างสงบจริงๆ กับมวลชนอีกกลุ่มที่เราสังเกตและคิดกันว่าน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่มากกว่า เข้ามาแทรก เข้ามาคอยตะโกนด่า เข้าใจว่านั่นเป็นกิจกรรมแรกที่จัดเพื่อต่อต้านรัฐประหาร กิจกรรมแรกจริงๆ”

ก่อนทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร รัฐพลบอกเล่าว่า ก่อนหน้านั้นตนก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ร่วมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่หน้าพรรคเพื่อไทย จนถูกด่าว่าเป็น ‘ควายเหลือง’ ก่อนจะหัวเราะอย่างขันขื่นเพื่อบอกว่า ทั้งชีวิตเป็นมาแล้วทั้งสองสี รัฐพลยังบอกกล่าวเมื่อมองย้อนกลับไป ทั้งสองฝ่ายสีเสื้อต่างมีด้านดีในกลุ่มของตัวเองทั้งสองฝ่าย เพราะมองว่านักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ หากนักศึกษาออกมาร่วมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะสามารถเคลมได้ว่า พลังนักศึกษาอยู่ข้างเดียวกัน แต่หากเลือกอีกฝั่งแล้วจะกลับกลายเป็นพลังสกปรก พลังที่ไม่บริสุทธิ์โดยทันที

เจตุจำนงของการต่อต้าน

รัฐพลเล่าต่ออีกว่า แรกเริ่มเดิมที กลุ่ม LLDT ของตนนั้น สมาชิกส่วนมากเริ่มต้นจากการสวมเสื้อสีเหลืองมาก่อน มีน้อยถึงน้อยมากที่จะเริ่มต้นด้วยเสื้อสีแดงเหมือนตน ซึ่งสายตาของคนภายนอกที่มองเข้ามายังนักศึกษาธรรมศาสตร์ มักจะเป็นไปในแง่ที่ว่าสถาบันนี้สั่งสอนให้นักศึกษาหัวรุนแรง ไม่เชื่อฟัง ทั้งที่ความจริงแล้ว พื้นที่ในธรรมศาสตร์ได้แสดงให้เห็นถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางความคิด และยังเปิดให้เห็นมุมมองที่ไม่คับแคบเพียงมุมมองใดมุมมองหนึ่ง

“การทบทวนตัวเองเป็นสิ่งที่เราเป็นมาตลอดอย่างแน่นอน ตั้งแต่ในปี 57 ลงไปถึง 53, 52 การทบทวนตัวเองเป็นสิ่งที่เรายึดถือมาตลอด ขณะที่ประชาธิปไตยก็เป็นสิ่งที่เรายึดถือ แน่นอนว่าเรามีความไม่เท่าเทียมในด้านเศรษฐกิจ แต่หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเราต้องเท่ากัน ไม่ใช่เสียงหนึ่งไม่มีคุณภาพ นี่ชัดเจนมาก คุณจะบอกว่าหนึ่งคนรวยเท่ากับอีก 10 เสียง มันได้ยังไงล่ะ”

จริงๆ แล้วประเทศไทยไม่ได้เดินถอยหลัง รัฐพลกล่าว ก่อนขยายความว่าประเทศไทยเหมือนว่ายวนอยู่ในอ่าง เพราะเราโตมากับความเชื่อว่าจะไม่มีรัฐประหารแล้ว นับตั้งแต่ปี 49 หรือก่อนหน้านั้นในปี 35 แต่มันก็ยังเกิดขึ้น และยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดขึ้นอีกไหม

ขณะที่ นพ.สันต์ได้ตอบต่อประเด็นในส่วนของเหตุผลการเข้าร่วมเพื่อต่อต้านอำนาจทหารไว้ว่า ห้วงเวลานั้น (2535) ประชาชนไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มาเป็นระยะเวลานาน จนมาถึงปี 2532 ในสมัย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งใจเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า เศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่เรียกว่าเฟื่องฟูอย่างมาก ก่อนการรัฐประหารในปี 2534 จะทำให้เศรษฐกิจฟุบลง ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อประชาชน

“รัฐประหารทุกครั้ง ทำให้เศรษฐกิจฟุบลง และก็ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เหมือนปัจจุบันนี่แหละ”

ยุคสมัยไม่ได้เปลี่ยนแปลง

ต่อประเด็นความเปลี่ยนแปลงภายหลังเหตุการณ์ทั้งสามในเดือนพฤษภาคม ทั้งในปี 35, 53 และ 57 นพ.สันต์เชื่อว่า ยุคสมัยในปัจจุบันที่เป็นอยู่นี้จะไม่ดำรงอยู่นาน ทุกอย่างเป็นไปตามสัจธรรม มีขึ้นและลง ทุกวันนี้เราเพียงแต่ต้องลงให้ถึงจุดต่ำสุด

ขณะที่เหตุการณ์ภายหลังวันที่ 24 พฤษภาคม ปี 2535 นพ.สันต์เล่าว่า ทหารไม่กล้าสวมชุดทหารออกมาเดินตลาด หรือท้องถนนด้วยซ้ำ เป็นนัยยะที่หมายความว่า ทหารได้จบสิ้นบทบาททางการเมืองของตนไปแล้ว หากแต่น่าเสียดาย ที่ภายหลังจากนั้น ทั้งกลุ่มการเมือง และสื่อบางสื่อ ได้ดึงเอาทหารกลับลงมาเล่นการเมืองอีกครั้ง ภายใต้วาทกรรม ‘ถวายคืนพระราชอำนาจ’ ซึ่ง นพ.สันต์ได้กล่าวต่อว่า กระนั้น เหตุการณ์หลังพฤษภาทมิฬยังสมควรถูกจดจำในแง่ที่มันไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์กบฏ หรือรัฐประหารยาวนานถึง 14 ปี ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

อนุธีร์กล่าวต่อในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มคนที่เป็นพวกเดียวกันเอง ซึ่งนิยามนี้ อนุธีร์กล่าวอย่างจำเพาะเจาะจงลงไปยังกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีจุดอ่อนอยู่ คือ การนำขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองไปผูกกับชนชั้นนำมากเกินไป โดยไม่ค่อยได้ตั้งคำถาม หรือเห็นแย้งต่อชนชั้นนำของกลุ่มคนเสื้อแดงเท่าไหร่นัก

“สังคมไทย ถ้าตัดเรื่องสีออกไป ไม่ว่าจะเป็นสีเหลือง สีแดง เราจะเห็นว่าสังคมไทย ชนชั้นนำมีบทบาทสูงมาก คุณทักษิณ เขาไม่ใช่ประชาชนธรรมดา แน่นอน เขาเป็นชนชั้นนำคนหนึ่ง คุณเปรม เขาก็เป็นชนชั้นนำ เรามีชนชั้นนำมากมายในสังคมไทย ซึ่งในการต่อสู้ทางการเมืองที่ผ่านมามันเป็นการต่อสู้ของพวกเขา ว่ากันง่ายๆ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา”

เช่นเดียวกัน รัฐพลบอกว่า หากในมุมมองของอีกสีเสื้อแล้ว เสื้อเหลืองใช่จะสลัดการยึดเหนี่ยวต่อชนชั้นนำได้ ไม่แตกต่างจากกลุ่มคนเสื้อแดง และยังเห็นการโต้ตอบในทำนองนี้บนสังคมออนไลน์ที่ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งต่อประเด็นนี้ รัฐพลบอกเล่าด้วยการมองย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อปี 2535 ที่ตนเองเกือบไม่ได้เกิด เพราะแม่เข้าไปด้อมๆ มองๆ ที่การชุมนุม ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2553 ที่กำลังอยู่ชั้นมัธยมปลายปีสุดท้าย และได้มีโอกาสเข้าไปติดตามการเคลื่อนไหวของ สนนท. บ้างแล้ว จนก่อให้เกิดความรู้สึกที่รุนแรง และรู้สึกเจ็บแค้นจนใครพูดถึงเหตุการณ์ปี 53 ในทำนองดูแคลนมวลชนเสื้อแดงไม่ได้

“คือผมก็มีภาพจำเกี่ยวกับปี 53 คือบ้านอยู่ใกล้สามเหลี่ยมดินแดงมาก ก็ได้เห็นคนถูกกระทำ มันทำให้เกิดภาพจำที่ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่เลยว่า หากตั้งคำถามกลับไปยังมวลชนเสื้อแดงในวันนั้นอีกมุมหนึ่ง เราไม่สามารถที่จะทนฟังได้ หรือในอีกข้อเท็จจริงหนึ่ง และความจริงในห้วงเวลานั้นสำหรับเรามันเป็นนิรันดร์กาลไปแล้ว ซึ่งมันค่อนข้างอันตรายในระดับหนึ่ง เพราะในขณะที่เขาบอกให้เราเดินไปข้างหน้าเพื่อประชาธิปไตย แต่เรายังไม่ค่อยจะอดทนกับอารมณ์ของตัวเองด้วยซ้ำ”

ท่าทีที่ชัดเจนอย่างหนึ่งของรัฐพลคือ การทบทวนตัวเองในทุกๆ ย่างก้าวของการเติบโต ซึ่งในการทบทวนนี้ไม่เพียงแต่มีต่อตัวเองเท่านั้น ยังรวมไปถึงกลุ่มก้อนที่ตนสังกัดในแง่มุมของอุดมการณ์การเมืองอีกด้วย โดยประเด็นที่รัฐพลทิ้งท้ายให้วงเสวนา หรือกระทั่งสังคม ได้ขบคิด คือ ในยุคสมัยปัจจุบัน เมื่อต่างฝ่ายต่างยึดกุมความคิดของตนไว้กับอุดมการณ์อย่างเหนียวแน่นแล้ว เราได้ถอยออกมาเพื่อรับฟังอีกเหตุผลหนึ่งมากน้อยเพียงใด ไม่นับประเด็นที่อนุธีร์กล่าวไว้ในเรื่องของการนำเอาตัวเองไปผูกอยู่กับชนชั้นนำทางสังคมมากเกินไป ไม่ว่าคุณจะสวมเสื้อสีใด

คำตอบของอนาคต คงไม่มีใครตอบได้เท่าตัวเราเอง เพราะเราไม่ควรแค่วิพากษ์ตัวเขา แต่ควรวิพากษ์ตัวเราเช่นกัน


[1] คำกล่าวนี้อ้างอิงจากคำพูดของ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่เคยกล่าวว่า “ถ้าสุไม่เอาก็ให้เต้” ซึ่งเต้ หรือ ‘บิ๊กเต้’ คือชื่อเล่นของ พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล จนคำกล่าวนี้ของพลเอกสุนทรนำไปสู่การแถลงข่าวของพลเอกสุจินดาในปลายปี 2534 ใจความว่า “…และที่พูดกันว่า พลเอกสุจินดาจะเป็นนายกฯมั่ง ก็ขอยืนยันว่าทั้งพลเอกสุจินดาและพลอากาศเอกเกษตรนั้น จะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี” – อ้างอิงจากหนังสือ ร่วมกันสู้  โดย พลตรีจำลอง ศรีเมือง

 

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า