9 สิงหาคม วันแห่งการประกาศตัวตนชนเผ่าพื้นเมือง

“มีชนเผ่าพื้นเมืองกว่า 370 ล้านคนทั่วโลกที่ดำรงชีวิตอยู่ใน 90 ประเทศ หากเทียบกับจำนวนประชากรโลกทั้งหมด กลุ่มคนเหล่านี้คิดเป็นน้อยกว่าร้อยละ 5 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ชนเผ่าพื้นเมืองกลับคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 15 ของผู้คนที่ยากจนที่สุด พวกเขาใช้ภาษาที่แตกต่างกันกว่า 7,000 ภาษา และเป็นภาพแทนที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันล้ำค่ากว่า 5,000 วัฒนธรรม” อ้างอิงจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations)

เพื่อเป็นการย้ำเตือนและส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของมนุษย์ที่หลากหลายทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรม ซึ่งในหลายๆ ครั้ง กลุ่มคนเหล่านี้กลับถูกหลงลืมและถูกผลักไสไปอยู่ชายขอบ อีกทั้งยังได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม ถูกกดปราบข่มทับ และถูกกีดกันจากการได้รับสิทธิที่ไม่เท่าเทียมกับคนส่วนใหญ่ในสังคม องค์การสหประชาชาติจึงประกาศให้วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปี เป็น ‘วันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก’ หรือ International Day of the World’s Indigenous People โดยถือเอาวันที่คณะทำงานว่าด้วยประชากรชนเผ่าพื้นเมือง (Working Group on Indigenous Population: WGIP) ได้ประชุมกันครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2525

ประเทศไทยให้ความสำคัญกับวันนี้เช่นเดียวกัน ย้อนไปเมื่อปี 2550 ได้มีการรวมตัวกันของชนเผ่าพื้นเมืองจากทุกภูมิภาคเป็นครั้งแรก และจัดตั้งเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ขึ้น พร้อมกับประกาศให้วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปีเป็น ‘วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย’ อย่างเป็นทางการ และต่อมาในปี 2557 ก็มีการได้จัดตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) ซึ่งทาง คชท. สชพ. และภาคีองค์กรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์และเฉลิมฉลองเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยขึ้นตลอดมา เช่นเดียวกับปีนี้ที่จัดงานภายใต้หัวข้อ ‘สัญญาประชาคมใหม่: คุ้มครองวิถีชีวิต สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง’ (A New Social Contract: Protecting Indigenous Peoples’ Life and Rights) โดยมีศูนย์กลางการจัดงาน ณ สำนักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ 

สถานการณ์โลกปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจถึงนิยามและความแตกต่างของคำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ และ ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ทั้งในระดับสากลและในระดับของรัฐไทย เพื่อค้นหาคำตอบกับข้อถกเถียงที่ว่า “ประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง” จริงหรือ? โดยเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง ได้เชิญ ชูพินิจ เกษมณี นักวิชาการด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และ รองศาสตรจารย์ ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘ชนเผ่าพื้นเมือง 101: ชนเผ่าพื้นเมืองคือใคร? ประเทศไทยไม่มี Indigenous Peoples จริงหรือ?’ เพื่อร่วมกันไขข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าว

มนุษย์ทุกคนย่อมมีสังกัด ‘ชาติพันธุ์’ ของตน

ชูพินิจ เกษมณี นักวิชาการด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง บอกเล่าถึงความเป็นมาของคำว่า ‘ชาติพันธุ์’ (ethnic) โดยกล่าวว่า หากศึกษาจากเอกสารทางมานุษยวิทยา เดิมทีใช้คำว่า ‘primitive peoples’ อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาผ่านไป นักวิชาการบางส่วนได้ตั้งข้อสังเกตและให้ความเห็นว่า คำดังกล่าวมีลักษณะในเชิงดูถูก เหยียดหยาม และมองว่าเป็นกลุ่มคนป่าเถื่อน ด้อยพัฒนา ดังนั้น จึงมีการเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘ethnic people’ หรือ ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ที่มีรากศัพท์จากคำว่า ‘ethnos’ ซึ่งเป็นภาษาละติน 

นิยามกลุ่มชาติพันธุ์ 

  • กลุ่มชาติพันธุ์ หรือความเป็นชาติพันธุ์ เป็นการจำแนกคนที่ระบุถึงกันและกันบนพื้นฐานของความเหมือนกัน อาทิ ลักษณะร่วมทางภาษา บรรพบุรุษ ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ศาสนา เชื้อชาติ หรือการปฏิบัติทางสังคมภายในพื้นที่ที่อยู่อาศัย
  • สมาชิกภาพมักจะนิยามโดยการร่วมทางมรดกวัฒนธรรม บรรพบุรุษ กำเนิด ตำนาน ประวัติศาสตร์ แผ่นดินเกิด ภาษาหรือสำเนียง และระบบสัญลักษณ์ เช่น ศาสนา เทพปกรณัม พิธีกรรม อาหาร การแต่งกาย ศิลปะ ลักษณะทางกายภาพ
  • ในสาขาสังคมวิทยา ความเป็นชาติพันธุ์เป็นมโนภาพที่อ้างอิงถึงวัฒนธรรมร่วมและวิถีชีวิตที่สามารถสะท้อนได้ในภาษา ศาสนา วัฒนธรรมวัตถุ อาทิ เครื่องนุ่งห่มและอาหาร และผลผลิตทางวัฒนธรรม เช่น ดนตรีและศิลปะ ความเป็นชาติพันธุ์มักจะเป็นแหล่งสำคัญของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม พอๆ กับเป็นแหล่งความขัดแย้งทางสังคม 
  • โลกเป็นที่อยู่ของหลายพันกลุ่มชาติพันธุ์ นับจากจีนฮั่น ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไปจนถึงกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่เล็กที่สุด ซึ่งบางกลุ่มมีเพียงไม่กี่สิบคน เกือบทุกกลุ่มเหล่านี้มีประวัติศาสตร์ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมร่วมกัน ทำให้สมาชิกกลุ่มมีอัตลักษณ์ร่วมกัน 

ชูพินิจกล่าวว่า มนุษย์ทุกคนย่อมมีสังกัดชาติพันธุ์ของตน ในทางสังคมศาสตร์ คำว่า ‘ชาติพันธุ์’ จึงถูกใช้ในความหมายทั่วไปว่า ‘กลุ่มมนุษย์ทั้งหมดที่มองตนเอง หรือถูกมองจากคนอื่นว่ามีลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม’ อย่างไรก็ตาม นิยามข้างต้นมิได้บ่งบอกถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ หากแต่แจกแจงลักษณะที่มีร่วมกันเท่านั้น 

ชนเผ่าพื้นเมืองบนเวทีโลก

หากพูดถึงชนเผ่าพื้นเมืองในระดับโลก ปัญหาที่พบคือ ชื่อเรียกและการใช้คำที่หลากหลาย เช่น Aborigines, Natives, First Nations, Tribal People และ Indigenous People โดยขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อเรียกอื่นๆ แตกต่างกันไป ดังนั้น มาร์ติเนซ โคโบ (Martínez Cobo) ผู้รายงานพิเศษ UN จึงเสนอให้ใช้คำว่า ‘indigenous people’ เพื่อลดความสับสน แต่ให้หมายรวมถึงการเป็นคนพื้นถิ่น คนพื้นเมือง และชนเผ่าด้วยเช่นกัน คำว่า Indigenous People จึงเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ เพียงแต่มีลักษณะที่ด้อยกว่าและถูกจัดว่าเป็นคนชายขอบของสังคมมากกว่า โดยมีนิยามดังนี้

“indigenous people หมายถึง ชุมชน ประชาชน และประชาชาติที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง มีความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์กับสังคมก่อนการรุกรานและก่อนอาณานิคมที่เกิดขึ้นในดินแดนของตน พิจารณาตนเองว่ามีความแตกต่างไปจากภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม ที่บัดนี้ยังคงอยู่ในประเทศเหล่านั้นหรือหลักส่วนของประเทศ พวกเขามิได้เป็นกลุ่มครอบงำของสังคม และมีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ พัฒนา และสืบทอดเขตแดนของบรรพบุรุษ และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนสู่คนรุ่นอนาคต ในฐานะที่เป็นรากฐานของการดำรงอยู่ ในฐานะของประชาชน อันเป็นไปตามแบบแผนทางวัฒนธรรม สถาบันสังคม และระบบนิติธรรมของตน”

แผนงานสหประชาชาติ (UNEP) ยอมรับว่าไม่มีนิยามที่เป็นสากล เนื่องจากชนเผ่าพื้นเมืองตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่หลากหลาย หลายกลุ่มมีการอพยพไปมา เมื่อมีการก่อกำเนิดของรัฐชาติ กลับกลายเป็นว่าพวกเขาดำรงชีวิตอยู่ในหลากหลายประเทศ โดย UNEP ให้คำอธิบายดังนี้ 

“ไม่มีนิยามที่เป็นสากล มาตรฐาน โดยมักจะพิจารณาว่าหมายรวมกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ และผู้สืบเชื้อสายผู้มีความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์ หรือเกี่ยวพันกับภูมิภาคหนึ่งหรือบางส่วนของภูมิภาค และเป็นผู้ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ หรือเคยอาศัยอยู่ในภูมิภาคนั้นก่อนเป็นอาณานิคมหรือการผนวกดินแดน หรืออยู่ร่วมกับกลุ่มวัฒนธรรมอื่นๆ ในช่วงการก่อตัวของรัฐชาติ หรือเป็นอิสระออกจากการปกครองที่กล่าวอ้างโดยรัฐชาติ และยิ่งกว่านั้นเป็นผู้คงรักษาบุคลิกลักษณะเฉพาะของภาษา วัฒนธรรม และสังคม หรือองค์กรไว้ได้อย่างน้อยก็เป็นบางส่วน และในการทำเช่นนั้น ยังคงรักษาความแตกต่างบางระดับจากประชากรที่แวดล้อมและวัฒนธรรมที่ครอบงำของรัฐชาติ ทั้งยังรวมถึงประชาชนที่ระบุตนเองว่าเป็น Indigenous และเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับเช่นนั้นโดยคนกลุ่มอื่นๆ”

ชูพินิจกล่าวว่า ในปี 2535 มีการประชุมสุดยอดเรื่องโลกที่เมืองรีโอเดจาเนโร สืบเนื่องจากการประชุมครั้งนั้นทำให้เอกสารใหม่ๆ ที่เป็นสนธิสัญญา กฎหมายระหว่างประเทศ หรือแม้แต่เอกสารของ UNESCO มีการใช้เพียงคำว่า ‘indigenous people’ หรือ ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ทั้งหมด โดยไม่มีการพูดถึง ‘ethnic people’ หรือ ‘กลุ่มชาติพันธ์ุ’ เลย ซึ่งนับว่าเป็นข้อสังเกตที่สำคัญ 

สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

  • ได้รับการคุ้มครองโดยปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (UNDRIP)
  • โอกาสเข้าร่วมในเวทีถาวรแห่งสหประชาชาติว่าด้วยประเด็นชนเผ่าพื้นเมือง (UNPFII)
  • โอกาสในการได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองของสหประชาชาติ 
  • โอกาสเข้าร่วมในเวทีระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง 
  • มีกฎหมายระหว่างประเทศที่ให้การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับที่ดินเขตแดนและทรัพยากรธรรมชาติ 
  • โอกาสได้รับการสนับสนุนทรัพยากรจากแหล่งทุนต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

หากพิจารณาจะเห็นว่ามีสิทธิหลากหลายข้อที่รัฐไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่คำนึงถึง และหากรัฐยืนยันที่จะใช้คำว่า ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ กฎหมายต่างประเทศจึงอาจไม่รองรับ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ การระบุตนเอง (self-identification) ชูพินิจให้ความเห็นว่า รัฐไม่ได้มีอำนาจหน้าที่กำหนดว่าบุคคลกลุ่มใดเป็นหรือไม่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง แต่ขึ้นอยู่กับการนิยามของกลุ่มคนที่ประกาศว่าตนเป็นกะเหรี่ยง ม้ง มอญ ชาวเล ฯลฯ ผนวกกับการที่คนในสังคมยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเป็น

ทุกคนล้วนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด แต่หากมองในแง่ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ กลุ่มชนพื้นเมืองจะมีน้อยกว่า และสิ่งสำคัญของการเป็นชนพื้นเมืองคือ การธำรงรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ 

“ปัจจุบันจะเห็นว่า เราใช้คำว่าชาติพันธุ์เสมือนกับคนกลุ่มน้อย ตามความหมายที่ใช้มาตั้งแต่ดั้งเดิม ทุกคนมีชาติพันธุ์สังกัด ชนเผ่าพื้นเมืองก็เป็นชาติพันธุ์ แต่พวกเขาคือ กลุ่มคนในสังคมที่อยู่ข้างหลัง คล้ายๆ กับอยู่ก้นกระทะของสังคม ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน บ้างก็ไม่ได้รับการเป็นพลเมืองด้วยซ้ำ เช่น ในประเทศไทย ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เกิดในประเทศไทย แต่ว่าอยู่ห่างไกล และขาดความเป็นพลเมือง จึงถือว่าเป็นกลุ่มที่ด้อยกว่าในทางสังคม จึงเรียกว่าไม่ใช่กลุ่มที่ครอบงำทางสังคม” ชูพินิจกล่าวสรุป

‘การเมืองของถ้อยคำ’ การตีความจากหลากมุมมอง

รศ.ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความหมายของคำแต่ละคำเป็นการกำหนดร่วมกันของสังคม (social meaning) ในระดับสากลส่วนใหญ่ใช้คำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ เพราะฉะนั้นจะเห็นคำคำนี้ปรากฏในกติกาต่างๆ ร่วมกันในระดับโลก และครอบคลุมสิทธิหลายประเด็น หากเราพูดถึงชุมชนพื้นเมือง ก็ควรได้รับการคุ้มครองจากปฏิญญาดังกล่าว และไทยเองก็ให้การรับรองปฏิญญานี้ด้วยเช่นกัน แต่โดยปกติเรามักใช้คำว่า ‘ชาติพันธุ์’ ซึ่งต่อมาก็มีความพยายามให้มีการบัญญัติคำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อที่จะได้รับสิทธิตามหลักสากล

นฤมลกล่าวว่า การใช้คำเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการตกลงกันของสังคม คำนิยามที่ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขึ้นพูดในเวทีมรดกโลก เป็นข้อตกลงที่เป็นทางการและเป็นข้อผูกพันในระดับกว้าง อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีข้อตกลงทางสังคมที่กำหนดโดยกลุ่มชนพื้นเมืองและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ซึ่งข้อตกลงทั้งสองอาจให้คำนิยามที่ไม่ตรงกัน ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้บางกลุ่มบอกว่าไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง แต่บางกลุ่มบอกว่ามี แต่สิ่งสำคัญคือรัฐต้องรับฟังเสียงจากกลุ่มชนพื้นเมือง ไม่ใช่เป็นผู้ผูกขาดนิยามแต่เพียงผู้เดียวและบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ และหากเข้าไปดูเอกสารการนำเสนอเรื่องการเป็นมรดกโลก จะพบว่าส่วนใดที่มีคำว่า indigenous people รัฐไทยจะลบออกทั้งหมด แล้วใช้คำว่า ethnic people แทน

“การให้นิยามความหมายหรือการตีความของรัฐไทยนั้น ชนพื้นเมืองจะต้องตั้งถิ่นฐานมาก่อนในบริเวณนี้หรือในยุคก่อนอาณานิคม ซึ่งในกรณีของไทยไม่ใช่เช่นนั้น เพราะเชื่อว่าหลายเผ่าพันธุ์นั้นมาอยู่บริเวณนี้นานมาแล้ว ไม่มีกลุ่มไหนที่มีมาก่อนกลุ่มอื่นๆ ไม่เหมือนที่ออสเตรเลีย หรือที่อเมริกา ซึ่งมีชนเผ่าพื้นเมืองก่อนที่คนขาวจะมา อีกทั้งคำว่ากลุ่มชาติพันธุ์ 62 กลุ่มในไทย ได้รับการยอมรับในเชิงกฎหมายตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ 2540 และฉบับต่อๆ มา จะเห็นว่าเป็นการตีความหมายระดับรัฐ ซึ่งหน่วยงานรัฐทุกหน่วยได้ดำเนินงานตามนี้”

ลักษณะร่วมของ ‘ชุมชนพื้นเมือง’ ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ และ ‘ชุมชนพื้นถิ่น’ 

  1. เป็นกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางภาษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและประเพณีร่วมกัน 
  2. มีวัฒนธรรมที่สร้างสมและพัฒนามาจากการอยู่อาศัยในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมาอย่างยาวนาน มีการทำมาหากินส่วนใหญ่พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่นั้น 
  3. มีสำนึกและความภูมิใจในการสืบทอดแบบแผนทางวัฒนธรรมที่ถือเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญของชาติ 
  4. เป็นกลุ่มคนที่มีประชากรจำนวนน้อยท่ามกลางประชากรหลักในประเทศ ไม่ใช่กลุ่มครอบงำ (dominant) ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเป็นกลุ่มที่รักษาสันติวัฒนธรรม (culture of peace)
  5. เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการสูญหาย/เสียหายทางภาษาและวัฒนธรรม หรือได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนา หรือนโยบายการอนุรักษ์ในพื้นที่

ชนเผ่าพื้นเมืองในฐานะ ‘มวลไม้ที่ธำรงอยู่คู่ผืนป่า’

ชนเผ่าพื้นเมืองมีวิถีชีวิตที่ผูกโยงอยู่กับธรรมชาติ ในทัศนะของนฤมล ความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองเปรียบเหมือนกับต้นไม้ที่มีรากแก้วหยั่งลึก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองต่างภาคภูมิใจ เนื่องจากมีภูมิปัญญา ภาษา และวัฒนธรรมของตน 

“แต่ถ้าเราตัดราก ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มบางกลอย กลุ่มนี้ถือว่าถูกตัดรากเลย เนื่องจากทำไร่หมุนเวียนไม่ได้แล้ว ต้องมารับจ้างทำไร่ วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ไม่ใช่ทำไร่เพื่อการบริโภค แต่เป็นการค้าขายและถูกดึงไปสู่ระบบเงินตรา มันต้องใช้ทักษะ วิธีคิด และมีปรัชญาชีวิตอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นหากพวกเขาไม่คุ้นกับเรื่องเหล่านี้ เขาก็จะไม่เก่ง ไม่คล่อง หรือไปไม่ได้ดีเท่ากลุ่มอื่นๆ

“สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เรามักไม่เห็นราก เห็นแต่ต้นไม้ เราอาจคิดว่าตัดมันนิดหนึ่งแล้วเอาไปปลูกที่อื่น แต่สิ่งที่หยั่งลึกและมองไม่เห็นกลับสูญเสียไป คนมักไม่ค่อยพูดถึง บางกลอยมีประวัติศาสตร์ มีดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม ตำนาน และภาษาที่เชื่อมโยงกับผืนป่าแก่งกระจาน เราคิดว่าเขาเป็นต้นไม้ เราก็ตัดและย้ายไป เขาก็ยังเป็นกะเหรี่ยงอยู่ แต่เวลาชาวบางกลอยร้องเพลง เขาขาดซึ่งจิตวิญญาณ เวลาเขาพูดถึงข้าว มันไม่มีแล้ว มันเป็นข้าวในจินตนาการ ไม่ใช่ข้าวแบบที่เป็นวิถีชีวิต เป็นการลงมือทำ ได้ทำไร่ข้าว ได้กินข้าวที่เขาปลูก มันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณที่สังคมทั่วไปมองไม่เห็นและมองข้ามไป ดังนั้น กลุ่มคนที่ทำงานกับชนพื้นเมืองและกลุ่มคนพื้นเมืองด้วยกันเองที่เห็นคุณค่าในด้านนี้ ก็ยากที่จะอธิบายให้สังคมใหญ่หรือรัฐที่ไม่เห็นคุณค่าของรากได้เข้าใจ แล้วก็มองเห็นในแบบที่เราเห็น” นฤมลกล่าว 

นอกจากนี้ นฤมลยังยกตัวอย่างภาพถ่ายที่สะท้อนให้เห็นการนิยาม การตีความหมาย และการให้คุณค่าว่า “หากพิจารณาภาพถ่ายของชาวบางกลอยที่พยายามขึ้นไปทำข้าวไร่ ณ บางกลอยบน หากตีความว่ามันคือการทำไร่หมุนเวียน เป็นที่ที่เขาเคยทำไร่ มันก็จะได้ความหมายแบบหนึ่ง แต่ถ้าหากเราตีความว่า มันคือการถางป่า ทำลายป่า และเป็นการทำให้ทรัพยากรธรรมชาติหมดไป เราก็ไม่ต้องนึกถึงรากเหง้าอะไรแล้ว เราก็จะต้องการกำจัดคนกลุ่มนี้ให้พ้นไปจากพื้นที่ป่าที่เคยเป็นบ้านของพวกเขา” 

ชวนตั้งคำถามกับคำนิยามที่ผูกขาดโดยรัฐ

นฤมลให้ความเห็นว่า ภาครัฐควรที่จะเปิดพื้นที่และสร้างการมีส่วนร่วม โดยการพูดคุยกับชนเผ่าพื้นเมือง และหารือกันในเรื่องของการกำหนดความหมาย 

“เราควรสร้างการมีส่วนร่วมหรือสร้างความยอมรับร่วมกัน จริงๆ หลายกลุ่มไม่ได้เรียกร้องสิทธิที่จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินด้วยซ้ำ ขอแค่ให้พวกเขาได้อยู่ต่อ โดยไม่สนใจว่าจะมีโฉนดหรือไม่ แต่ก็ขอให้เขาได้อยู่บนผืนแผ่นดินของเขา ไม่จำเป็นจะต้องมีโฉนด หรือมีแผ่นกระดาษยืนยัน ถ้ามันยืนยัน ก็ยืนยันโดยการใช้งานและการสืบทอดต่อไปยังลูกหลานได้ เพราะฉะนั้นวิธีคิดจึงต่างกัน เราถึงควรตั้งคำถามว่า นิยามมันอยู่บนพื้นฐานความคิดแบบไหน แล้ววิธีคิดแบบนั้น มันให้โอกาส ให้ทางเลือก และเห็นคุณค่าของวิถีชีวิตของคนอื่นๆ ในสังคมหรือเปล่า ดังนั้นเรื่องนิยามความหมายจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเราควรที่จะตั้งคำถาม นิยามที่เหมือนว่าตอนนี้ยังผูกขาดอยู่โดยรัฐ ซึ่งรัฐก็คงมีเหตุผลที่ทำให้เกิดนิยามเช่นนี้”

ชูพินิจแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า “การที่รัฐมนตรีพูดว่า ประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง เหมือนเป็นการพูดโดยใช้ common sense หรือสามัญสำนึก บอกว่ามีแต่ชาติพันธุ์ บอกว่าผมเองเป็นชาติพันธ์ุ แน่นอนว่าทุกคนเป็น แต่ว่าคุณไม่ใช่ indegenous people ในความหมายของสหประชาชาติ คุณไม่มีลักษณะด้อยอะไรสักอย่าง เป็นคนรุ่นใหม่แต่อาจจะไม่ได้ใหม่ทางจิตวิญญาณหรือวิธีคิดก็ได้ ต้องดูว่ามันมีที่มายังไง เวลาเราใช้คำว่าชาติพันธุ์แล้วเข้าไปในเวทีสหประชาชาติ หรือเวทีนานาชาติ ล่ามเขาก็ต้องแปลว่า ethnic people ซึ่งไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศใดรับรอง ethnic people เลย 

“ตามกฎหมายต่างประเทศนั้นคุ้มครองการนิยามตนเอง ถึงแม้รัฐบาลไม่รับรอง เขาก็มีสิทธิเข้าไปร่วมในเวทีนานาชาติ เช่น หากมีแหล่งทุนที่สนับสนุนให้กลุ่มคนเหล่านี้ไปร่วมประชุมในระดับนานาชาติ ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นในระดับนานาชาติไม่มีปัญหา มันมีแต่ปัญหาระดับประเทศเท่านั้นที่รัฐไม่ยอมรับ ผมคิดว่ามีหลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชียที่ไม่ค่อยยอมรับ อาจเป็นเพราะกลัวว่าจะต้องปฏิบัติตาม UNDRIP หรือปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนพื้นเมือง ซึ่งครอบคลุมมิติต่างๆ มากมาย รวมทั้งเรื่องที่ดินเขตแดนและทรัพยากร 

“ชาวบางกลอยอยู่กันมาหลายร้อยปีแล้ว เขาตายทับถมกันบนผืนแผ่นดินนั้นมาเท่าไหร่แล้ว อยู่ๆ ไปประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ แล้วไปมีผลย้อนหลังกับเขาได้ยังไง คนอยู่กันมาตั้งหลายร้อยปี อุทยานเพิ่งประกาศเมื่อปี 2524 แล้วไปบังคับให้พวกเขาอพยพลงมาได้ยังไง คนที่อยู่มาก่อนกฎหมาย กฎหมายจะมีผลย้อนหลังได้ยังไง

“เสียดายที่เราไม่มีกฎหมายรับรองเกี่ยวกับสิทธิในพื้นที่บรรพบุรุษ ซึ่งกฎหมายของฟิลิปปินส์มีนะครับ กฎหมายว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้รับรองสิทธิเฉพาะวัฒนธรรมเท่านั้น เขารับรองสิทธิที่ดินและเขตแดนของบรรพบุรุษด้วย จะเห็นว่าในเอเชียอาคเนย์ ฟิลิปปินส์จะก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นๆ ในเรื่องนี้ แต่ถ้าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ ต้องยกให้อินเดีย เรื่องของการยอมรับพี่น้องที่อยู่ในป่า พี่น้องที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง กฎหมายจะรับรอง แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีความลักลั่นระหว่างรัฐ เพราะเขาอาจจะปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตาม แต่ว่าในตัวกฎหมายถือว่าก้าวหน้ากว่าเราเยอะ” ชูพินิจกล่าว 

ไขข้อสงสัย ชาวบ้านใจแผ่นดินเป็น ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ หรือไม่

ชูพินิจแสดงความเห็นว่า หากพิจารณาในแง่ของการธำรงรักษาอัตลักษณ์เฉพาะตนไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาษา วัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงเครื่องแต่งกาย และวิถีชีวิต ชาวบ้านบางกลอยถือว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมือง 

“เขายังคงความเป็นกะเหรี่ยง ปกาเกอะญอ ยังคงภาษาและวัฒนธรรมประเพณี การแต่งกาย ภาษาในที่นี้หมายถึง ภาษาแม่ของเขาเอง (mother tongue) แล้วก็วิถีชีวิต ไร่หมุนเวียนที่เราบอกว่าขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เขาก็ปฏิบัติอยู่ แต่จะเห็นว่าบางหน่วยงานของรัฐกลับไม่เคารพ คือไม่เคารพต่อมรดกของชาติ มันแสดงว่าอะไร ชาวบางกลอยเป็นชนเผ่าพื้นเมือง เพราะเขาไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่ถูกครอบงำทางสังคม”

ในทัศนะของนฤมล ชาวบางกลอยนับเป็นส่วนหนึ่งของชนเผ่าพื้นเมืองเช่นเดียวกัน “ตามที่อธิบายมาก็ถือว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมือง เพียงแต่เวลาเราพูดถึงชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่ชายแดน มันเริ่มมีความซับซ้อนขึ้น ถ้าหน่วยงานรัฐมีประเด็นในเรื่องของความมั่นคง และคนเหล่านี้เป็นชนเผ่าพื้นเมือง คำถามคือ รัฐไหนที่จะต้องดูแล หรือพวกเขาจะสามารถข้ามไปข้ามมาได้หรือไม่ กรณีกะเหรี่ยงบางกลอยก็คล้ายกับมอแกน แต่เดิมไม่มีการให้สัญชาติมอแกน เวลาพูดถึงมอแกนก็จะเรียกว่าคนพม่า แต่พอหลังสึนามิ คนรู้จักและเข้าใจมากขึ้นว่า กลุ่มคนเหล่านี้บางกลุ่มมาตั้งรกรากในเมืองไทย แทบจะไม่ได้กลับไปพม่าแล้ว ก็เป็นประเด็นสำคัญของชุมชนพื้นเมืองที่อยู่ในลักษณะพื้นที่ชายแดน ซึ่งจะมีความอ่อนไหวในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกระดับหนึ่ง หน่วยงานรัฐ ชุมชน และประชาสังคม ต้องพูดคุยกันและให้คำนิยามร่วมกัน” 

ขยับขยายคำนิยาม สู่การสรรค์สร้างพื้นที่แห่งความหลากหลาย

ชูพินิจกล่าวว่า “เหตุที่ใช้คำว่าชาติพันธุ์ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะกฎหมายจะต้องอิงรัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มีคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองเลย เรามีแต่คำว่าชาติพันธุ์ เวลาให้คำนิยามเขาจะก็ให้ครอบคลุมไปถึงชนเผ่าพื้นเมืองด้วย ซึ่งก็ยังดีที่มีความพยายามจะรวมประเด็นนี้ไว้ อย่างที่ผมได้เรียนไปตั้งแต่ข้างต้น การที่เราใช้คำว่าชาติพันธุ์ ไม่ใช่ชนเผ่าพื้นเมือง ก็เพราะว่ามันไม่มีกฎหมายคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง”

นฤมลแสดงความเห็นว่า “การสร้างพื้นที่เล็กๆ ถือเป็นการสร้างพื้นที่ที่ดี ควรจะส่งเสริมคนตัวเล็กๆ ให้มีโอกาสได้แสดงออกว่าเป็นลักษณะสังคมประชาธิปไตยที่ดี การมาพูดคุยกันทำให้ได้เห็นปัญหา เราต้องช่วยกันขับเคลื่อน และแสดงให้เห็นอัตลักษณ์และความสำคัญเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม ใครจะคิดว่าภายใน 10-20 ปี จะเกิดสภาชนเผ่าพื้นเมืองขึ้นมาได้ ในขณะที่แต่เดิมแทบไม่มีการรวมตัวกัน แสดงว่ามีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน และเราจะต้องทำต่อไป” นฤมลกล่าวปิดท้าย

สังคมประชาธิปไตย คือ สังคมที่ทุกคนได้รับสิทธิและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน บนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเคารพซึ่งกันและกัน สังคมที่ให้ความยอมรับ ตลอดจนเห็นคุณค่าของการปะทะสังสรรค์ทางความคิด รวมถึงโอบรับความหลากหลายและความสลับซับซ้อน เป็นสังคมที่เราต่างมุ่งหมายและเฝ้าฝันถึง การที่ผู้มีอำนาจครอบงำ ลดทอน หรือผลักไสให้คนบางกลุ่มประสบกับสภาวะไร้ซึ่งจิตวิญญาณ ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ดังนั้น การจัดกิจกรรมรณรงค์ ส่งเสริม และเฉลิมฉลองวันชนเผ่าพื้นเมืองในวันที่ 9 สิงหาคม จึงเป็นเรื่องที่สังคมควรตระหนักและให้ความสำคัญ เพื่อในยามที่กาลเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน ต้นไม้อันเก่าแก่ ล้ำค่า และทรงคุณค่าในตนเองอย่างสมบูรณ์ ซึ่งอาจถูกกัดกลืนผุกร่อน จะได้หยัดยืนและแผ่กิ่งก้านใบ ขับเน้นลวดลายอันสวยสดงดงามให้แก่มวลมนุษย์และโลกใบนี้สืบต่อไป

อ้างอิง

อวิกา กันยาแสงศรี
เด็กปาก(กา)แจ๋วในทวิตเตอร์ผู้ผันตัวมาเป็นนัก(อยาก)เขียน เฟมินิสต์และแพนเซ็กชวลผู้หลงใหลในบทเพลงและสนับสนุนความเท่าเทียมในทุกรูปแบบ

Photographer

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า