เรื่อง: พชร์ โพธิ์พุ่ม
ภาพประกอบ: Shhhh
‘การนอกใจ’ ฝันร้ายของความสัมพันธ์ฉันคู่รักหรือสามีภรรยา (ตามแบบฉบับนิยม)
จุดเริ่มต้นอาจเป็นเพียงพันธะทางใจที่เกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมงาน ความสัมพันธ์ชั่วข้ามคืนหลังงานปาร์ตี้ หรือเพียงต้องการค้นหารสชาติชีวิตใหม่ๆ ให้พ้นไปจากความสัมพันธ์ที่น่าเบื่อหน่ายนานนับปี
เพื่อหาคำอธิบายให้กับเรื่องนี้ นักจิตวิทยาจำนวนมากได้ศึกษาเหตุผลของ ‘การนอกใจ’ ไว้หลายประเด็น ทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ ความคิดที่แตกต่างของทั้งสองเพศ ที่มาจากปัจจัยทางชีวภาพ เช่น พันธุกรรม การสั่งการของสมองและร่างกายที่กำหนดมาจากยีน
การนอกใจ ถูก ‘ให้ความหมาย’ ว่าเป็นเรื่องผิด ยอมรับกันไม่ได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราพบเห็น ได้ยิน หรือกระทั่งเป็นตัวละครหนึ่งในการนอกใจอยู่แทบทุกวัน ดังนั้นแล้วมันน่าจะมีคำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่านั้น
เราจึงลองค้นหาดูว่า คนในประเทศอื่นและวัฒนธรรมอื่น เขาพูดหรืออธิบายในเรื่องนี้เอาไว้อย่างไรบ้าง เริ่มตั้งแต่ค้นปัญหาว่าทำไมจึงนอกใจ ว่ากันตั้งแต่ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาด้านจิตวิทยา เช่น ความรู้สึกด้อยค่า เรื่องยีนที่ฝังอยู่ในเนื้อตัวและแก้ไม่ได้ กระทั่้งเรื่อง “แฟนมีชู้กับคนต่างเพศและเพศเดียวกัน อะไรจะเฮิร์ทมากกว่ากัน” เรื่อยไปถึง แล้วใครกันเล่า ที่ตกหลุมรักอย่างสามัญ แต่ต้องถูกนิยามให้กลายเป็น ‘ชู้’ ในที่สุด
เริ่มกันที่…
รายได้ที่แตกต่างของคู่รักมีผลทำให้เกิดการนอกใจ
เริ่มที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจกันก่อน มีงานศึกษาที่มีชื่อ ‘Her Support, His Support: Money, Masculinity, and Marital Infidelity’ หรือ การซัพพอร์ตของเธอ การซัพพอร์ตของของเขา เงิน ความเป็นชาย และการนอกใจของคู่สมรส ตีพิมพ์ใน America Sociological Review พบว่า…
ผู้ที่ต้องพึ่งพารายได้จากคู่สมรสหรือแฟน จะมีโอกาสนอกใจมากกว่าคนที่เป็นคนหารายได้หลัก และเปอร์เซ็นต์การนอกใจจะมากขึ้น ถ้าคนหารายได้นั้นหาเงินได้มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวม หรือไม่ก็ เป็นเขาหรือเธอคนเดียวที่หาเงิน
กรณีที่ผู้ชายต้องพึ่งพารายได้ทั้งหมดจากภรรยา จะมีโอกาสนอกใจราว 15 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่หากผู้หญิงต้องพึ่งพาหรือใช้เงินสามี โอกาสนอกใจเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ สังเกตได้ว่ารายได้ที่ไม่เท่าเทียมจะส่งผลให้ผู้หญิงนอกใจเล็กน้อย แต่ผู้ชายจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
จากงานศึกษาชิ้นเดียวกัน ชี้ให้เห็นอีกสถิติสำคัญว่า คู่แต่งงานที่มีรายได้เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน อัตราการนอกใจจะลดลงราว 3.4 เปอร์เซ็นต์
คริสทิน มันช์ (Christin Munsch) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยคอนเนคติคัต (University of Connecticut) หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า “เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเปรียบเทียบตนเองกับคู่สมรส แน่นอนว่าไม่มีใครอยากดูแย่กว่าคู่สมรส โดยเฉพาะผู้ชายในเรื่องสถานะทางการเงิน”
เธอให้เหตุผลต่อว่า “สังคมมักจะคาดหวังให้ผู้ชายหารายได้หลักของบ้าน แต่ถ้าพวกเขาทำไม่ได้และต้องพึ่งพาภรรยา ผู้ชายจะรู้สึกไร้ค่าเพราะไม่สามารถเล่นบทบาทตามค่านิยมของสังคมได้ จึงต้องไปเติมเต็มบทบาทผู้ชายที่นอกบ้าน ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการ ‘นอกใจ’ ”
น่าสนใจว่า… ทำไมสังคมจึงไม่คาดหวังให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายออกไปทำงานนอกบ้าน และยอมรับได้หากเธอจะทำเงินได้มากกว่า และการที่ผู้หญิงรับได้หากผู้ชายจะเป็นคนหาเงินเข้าบ้าน ทำให้เธอไม่เครียด ไม่รู้สึกด้อยค่า จึงไม่ออกไปหาความสัมพันธ์ที่เครียดน้อยกว่านอกบ้าน เช่นนั้นหรือ?
เราจะรู้สึกแตกต่างจากเดิม ถ้าชู้รักของแฟนเราเป็น ‘เพศอื่นๆ’
มาที่งานวิจัยที่เล่นกับหัวใจในระดับลึก เพราะไม่ใช่แค่การนอกใจธรรมดา แต่เป็นการนอกใจไปหาคนเพศเดียวกัน ซึ่งความหลากหลายทางเพศไม่ใช่เรื่องผิด เขาหรือเธอก็ไม่ผิด แต่เพราะเราหรือผู้ถูกนอกใจอาจรู้สึกถูกหักหลัง ด้วยเหตุผลที่เราไม่เคยคิดถึงมาก่อน
งานวิจัยในปี 2015 เรื่องการนอกใจไปหาคบกับคนเพศเดียวกันนี้ ศึกษาเรื่องการแสดงอารมณ์ ความสัมพันธ์ และ การตอบสนอง โดยมหาวิทยาลัยคอนเนคติคัต ด้วยการให้กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นคู่รักต่างเพศผู้หญิงผู้ชาย อ่านสถานการณ์สมมุติที่ว่า ขณะนี้คู่รักของตนกำลังมี ‘กิ๊ก’ สถานการณ์ที่หนึ่งคือ กิ๊กคนนั้นเป็นคนต่างเพศ และสถานการณ์ที่สอง กิ๊กคนนั้นเป็นคนเพศเดียวกัน แล้วจึงตอบคำถามว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร
ผลวิจัยแบ่งได้ดังนี้
1) สถานการณ์ที่คู่รักมีความสัมพันธ์กับ ‘เพศตรงข้าม’ คือ ผู้ชายมีชู้เป็นผู้หญิง/ผู้หญิงมีชู้เป็นผู้ชาย
กรณีที่ผู้หญิงมีชู้ ผู้ชายส่วนใหญ่จะรู้สึกโกรธ และตัดสินใจที่จะจบความสัมพันธ์
กรณีฝ่ายชายเป็นคนมีชู้ ผู้หญิงรู้สึกถึงอารมณ์ในด้านลบ เช่น เศร้า โกธร ผิดหวัง กลัว เป็นต้น
2) สถานการณ์ที่คู่รักไปมีความสัมพันธ์กับ ‘เพศเดียวกัน’ คือ ผู้ชายมีชู้เป็นผู้ชาย และ ผู้หญิงมีชู้เป็นผู้หญิง
ผู้ชายส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าถูกกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ เช่น พวกเขาอาจจะนึกภาพแฟนสาวของตนมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงอีกคน รู้สึกว่าจะเป็นเรื่องแปลกน่าตื่นเต้น ขณะที่ผู้หญิงจะรู้สึกในด้านลบ เช่น เศร้า หดหู่ กลัว และ ตัดสินใจที่จะเลิกทันทีเนื่องจากคิดว่าผู้ชายที่ตนเองคบอยู่เป็น ‘เกย์’
งานวิจัยได้สรุปว่า ผู้ชายจะยอมรับการนอกใจ ก็ต่อเมื่อหญิงคนรักไปมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงด้วยกันมากกว่าการที่ชู้ของเธอเป็นผู้ชาย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้ชายส่วนใหญ่จะตัดสินใจเลิกทันที
ขณะที่ผู้หญิงจะแสดงอารมณ์ในด้านลบถ้าผู้ชายไปมีกิ๊กเป็นผู้หญิง แต่ยังไม่คิดว่าจะเลิก แต่จะเลิกทันทีถ้าผู้ชายที่คบอยู่มีชู้เป็นผู้ชายด้วยกัน
1 ใน 5 ของผู้ชาย คิดว่า ‘การจูบอย่างดูดดื่ม’ ไม่ใช่การนอกใจ
ต่อด้วยเหตุผลเพื่อพิจารณาว่าจะเลิกหรือไม่ สถานการณ์แบบไหนที่คิดว่าวิกฤติสุดๆ ซึ่งจะถูกนำไปพิจารณาว่าจะเลิกหรือไม่ดี
งานศึกษาประจำปี 2016 ของ Relate and Relationships Scotland องค์กรด้านความสัมพันธ์ประเทศสก็อตแลนด์ ผู้ให้คำปรึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของของครอบครัว ทั้งในชีวิตรักของคู่สมรสและปัญหาวัยรุ่น ผลิตงานวิจัยชื่อ The Way We Are Now ศึกษาแรงจูงใจที่ทำให้เกิดการหย่าร้าง
โดยทำการศึกษากับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 5,000 คน ด้วยการตั้งคำถามว่า คิดเห็นเช่นไรหากแฟนของเขามีจูบอย่างดูดดื่มกับคนอื่น (passionate kiss) กับคนอื่น
ผลลัพธ์คือ ผู้ชายกว่า 19 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าการจูบอย่างดูดดื่มไม่ใช่การนอกใจ ขณะที่ผู้หญิงกว่า 9 เปอร์เซ็นต์คิดว่า นี่มันนอกใจชัดๆ
แล้วการรับ ‘สื่อลามกอนาจาร’ ล่ะ เป็นการนอกใจใช่หรือไม่? ผลลัพธ์ชี้ว่าผู้หญิงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์คิดว่าการชมหนังและภาพโป๊นั้นเข้าขั้นนอกใจ ขณะที่ผู้ชายไม่คิดเช่นนั้นเลย
ลดลำดับความร้ายแรงลงมาเหลือที่ ‘การโปรยเสน่ห์’ (flirting) บ้าง ผลวิจัยชี้ กว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหญิงชาย คิดว่าการโปรยเสน่ห์ถือเป็นการนอกใจเช่นกัน และอีก 31 เปอร์เซ็นต์คิดว่าจะยุติความสัมพันธ์ทันทีหากคนรักของตนมีพฤติกรรมดังกล่าว
ยีนส่งผลให้นอกลู่นอกทาง
ริชาร์ด ไฟรด์แมน (Richard Friedman) ผู้เชี่ยวชาญด้านคลินิกจิตเวชแห่งวิทยาลัยแพทย์ ไวลล์ คอร์เนล (Weill Cornell) เขียนบทความเรื่อง ‘การนอกใจที่แฝงฝังอยู่ในพันธุกรรม’ (Infidelity Lurks in Your Genes) ลงใน The New York Times ชี้ว่า
ในกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมนอกใจ จะมีพันธุกรรมที่ควบคุมการรับฮอร์โมนออกซิโทซิน (oxytocin) และ ฮอร์โมนวาโซเพรซิน (vasopressin) มากกว่าคนทั่วไป
ฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมต่อสังคมเรื่องการไว้วางใจ การเอาใจใส่ และความสัมพันธ์ทางเพศ ผลการศึกษาระบุว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิง และ 63 เปอร์เซ็นต์ของผู้ชายที่มีพฤติกรรมนอกใจ จะมียีนตัวดังกล่าวมากกว่าคนที่ไม่ได้นอกใจ
คนทั้งโลกอาจจะนอกใจแต่ไม่ใช่คู่ของเรา
แน่นอนที่สุด เรื่องการนอกใจมันป้องกันได้ ถ้ามั่นคงพอ
งานวิจัยเรื่องความคาดหวังว่าแฟนจะนอกใจ จากมหาวิทยาลัยคัลการีและโรงพยาบาลเด็กแม็คมาสเตอร์ (University of Calgary and McMaster Children’s Hospital) ให้กลุ่มตัวอย่างลองประเมินคนรักของตัวเองว่าซื่อสัตย์แค่ไหน
ผลปรากฏว่า พวกเขามั่นใจ 95 เปอร์เซ็นต์ว่าคนรักไม่มีทางนอกใจแน่นอน
เมื่อถามต่อว่า ให้ลองคิดว่าเปอร์เซ็นต์ที่พวกเขาอาจถูกนอกใจในอนาคตว่าจะเป็นเท่าไร พวกเขาชี้ว่ามีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจอีกประการนั้นสวนทางกับความเป็นจริงอย่างชัดเจน เพราะเมื่อถามกลับไปยังผู้เข้าร่วมวิจัยกลุ่มเดียวกันว่าเคยนอกใจคนรักของตนหรือไม่ ปรากฏว่า 42 เปอร์เซ็นต์จากกลุ่มตัวอย่าง ยอมรับว่าเคยหรือกำลังนอกใจคนรักของตน และมีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่รู้ว่าคนรักของตัวเองกำลังนอกใจ
งานวิจัยสรุปว่า พื้นฐานคนเรามักคิดว่าตัวเองนั้นโชคดีกว่าคนอื่น จึงไม่แปลกที่เรามักจะไม่คาดคิดว่าคนรักจะนอกลู่นอกทาง และนำมาสู่ความรู้สึกชอกช้ำเพราะการ ‘โดนหักหลัง’ อย่างไม่เคยเตรียมใจในที่สุด
ใครบ้างที่จะเป็นชู้
การศึกษาเมื่อปลายปีที่แล้วใน the Journal of Marital and Family Therapy สำรวจทั้งชายและหญิง พบว่าชู้ส่วนใหญ่คือเพื่อนร่วมงาน ด้วยตัวเลขกว่า 36 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ชู้กว่า 17 เปอร์เซ็นต์ คือเขยหรือน้องสะใภ้นั่นเอง สังเกตได้ว่าชู้ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนใกล้ชิดซึ่งมีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกันได้บ่อยๆ
และคำกล่าวที่ว่า “มีครั้งแรก ก็ย่อมมีครั้งที่สอง” ดูจะเป็นความจริง เพราะว่าจากการศึกษาคนที่เคยมีชู้ มีโอกาสกว่า 3.5 เท่าที่จะมีชู้อีกครั้ง
อ้างอิงข้อมูลจาก: |