ภาพ: อารยา คงแป้น / Innocence International Thailand
มีคนเคยกล่าวว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม” มันเที่ยงแท้และต้องยอมรับ แต่กับชายคนหนึ่ง ประโยคข้างต้นอาจถูกต้องในส่วนหนึ่ง แต่กับอีกส่วน ด้วยเนื้องานของเขา ทำให้เราเห็นว่าความยุติธรรมที่มาช้ายังดีกว่าไม่มาเลย
ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง เป็นข้าราชการ เป็นอัยการประจำสำนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำหน้าที่เฉกเช่นอัยการทั่วประเทศ แต่สิ่งที่นอกเหนือไปจากนั้น คือการทำงานช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ที่ต้องกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจนต้องเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม – ที่ไม่ยุติธรรม เข้ามาสู่วังวนที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียอิสรภาพอย่างไม่ได้ตั้งใจ โดยการเข้าไปช่วยเหลือทันทีไม่ว่าคดีนั้นจะอยู่ในขั้นตอนหรือกระบวนการใด
ทั้งคนที่เพิ่งถูกกล่าวหา หรือคนที่ขาหนึ่งข้างกำลังจวนเจียนที่จะก้าวเข้าตาราง
“ผมทำงานอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ผมเห็นว่ามีผู้บริสุทธิ์ต้องถูกกล่าวหาและหลุดเข้ามาเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่เป็นประจำ ซึ่งผมรู้สึกสงสัยว่าทำไมผู้บริสุทธิ์เหล่านี้จะต้องมีภาระและเดือดร้อนในการถูกกล่าวหา ต้องกลายเป็นจำเลย เป็นผู้ต้องหา ต้องประกันตัว ต้องถูกสังคมตีตรา ผมก็เลยพยายามให้ความช่วยเหลือเป็นการส่วนตัวมาตลอด”
Innocence International Thailand คืองานส่วนตัวเพื่อคนส่วนรวมที่อัยการน้ำแท้กำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้
01
อย่างที่บอก น้ำแท้ มีบุญสล้าง ทำงานช่วยเหลือคนบริสุทธิ์ ทำอย่างเงียบๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งนั่นคือก่อนจะเกิด Innocence International Thailand จนกระทั่งเขาได้รับทุนไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ตระหนักว่าที่นั่น – ดินแดนที่เชื่อกันว่ามีเสรีภาพทุกตารางนิ้วก็มีความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกัน และแน่นอน สหรัฐอเมริกามีองค์กรที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ‘แพะ’ ให้พ้นผิดภายใต้ชื่อ Innocence Project
ในสหรัฐอเมริกาคดีส่วนใหญ่จะถูกขุดขึ้นมาทำใหม่ โดยการเข้าไปช่วยคนที่ถูกพิพากษาให้ติดคุกไปแล้ว 20 ปีก็มี 30 ปีก็ยังมี แถม Innocence Project สัญชาติอเมริกัน ยังช่วยจูงมือผู้บริสุทธิ์ออกมาสูดกลิ่นอายของอันหอมหวานของอิสรภาพได้มากพอสมควร อัยการน้ำแท้บอกว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะสหรัฐอเมริกามีระบบการเก็บรักษาพยานหลักฐานไว้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะคดีที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์
“อเมริกาเขาเก็บรักษาหลักฐานไว้ดีมาก แต่สำหรับเมืองไทย ถ้าไปรอรื้อคดีในวันที่เขาติดคุกไปแล้ว ไม่มีทางช่วยได้หรอกครับ มันจะไม่เหลือหลักฐานอะไรเลย อย่าว่าแต่ตอนคดีสิ้นสุดเลย แค่ตอนระหว่างดำเนินคดีหลักฐานยังหายเลยครับ มันยังมีความบกพร่อง แล้วเรายังต้องพัฒนาอีกมากในการเก็บรักษาพยานหลักฐาน”
นอกจากเรื่องการเก็บรักษาพยานหลักฐาน อัยการน้ำแท้บอกว่าในประเทศไทยเหตุผลของการเกิด ‘แพะ’ ยังแตกต่างกับที่อเมริกา เพราะที่นั่นความผิดพลาดส่วนใหญ่จะเกิดจากความไม่ได้ตั้งใจ เกิดจากความบกพร่องบางประการของกฎหมาย หรือพยานชี้ผู้ต้องหาผิดตัว แต่กับเมืองไทยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นเป็นมูลเหตุเพียงเล็กน้อย ส่วนมากจะมาจากการทุจริตคอร์รัปชัน หรือการเรียกรับผลประโยชน์ของผู้บังคับใช้กฎหมาย
ดังเช่น กรณีคดีของ กัลยา คดีที่ทำให้อัยการน้ำแท้เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำ Innocence International Thailand ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม
02
ย้อนกลับไปปีแรกของการทำงาน อัยการน้ำแท้บอกว่ามีคดีหนึ่งซึ่งทำให้เขาเปลี่ยนวิธีคิด เรื่องของเรื่องเริ่มจากกัลยากับน้องชายไปตามหาสามีของกัลยา ซึ่งไปติดพันอยู่กับหญิงสาวที่ทำงานในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ทั้งคู่ไปเฝ้ารอจนห้างใกล้ปิด กัลยากับน้องชายจึงพยายามหาทางออกจากห้าง เรื่องยุ่งเหยิงจึงเริ่มขึ้นที่ตรงนี้ ตรงที่กัลยาเข้าไปถามหาทางออกกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งกำลังขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านมา
“ด้วยความที่กัลยาดื่มเหล้ามาด้วย ผู้เสียหายเขาพยายามอธิบายทาง กัลยาฟังไม่รู้เรื่องก็เลยด่าเขาว่า ‘อธิบายห่…อะไรไม่รู้เรื่องเลย’ อีกฝ่ายก็โมโหก็สวนเลยว่า ‘แล้วถามทำ…อะไร’
“ซึ่งในสำนวนคดีบอกว่ากัลยาตบตีเด็กคนนั้น จับมือไว้ แล้วบอกน้องชายว่า เอามันให้ตาย น้องชายซึ่งเตรียมกรรไกรมาด้วยเพื่อจะเอาไปเสียบยางรถสามีกัลยาไม่ให้หนี ก็เสียบเข้าไปที่คอเด็กคนนั้นเลย แล้วก็มีพยานซึ่งเป็นยามเห็นเหตุการณ์ ตอนนั้นผมก็สั่งฟ้องกัลยาคดีพยายามฆ่า เพราะเด็กไม่ตาย”
อัยการน้ำแท้เล่าต่อว่าพอถึงวันฟ้องคดี กัลยาร้องไห้มาพบเขา พร้อมจูงมือแม่วัยราว 60 ปี กับลูกเล็กๆ อีกสองคนมาด้วย เธอเข้ามาขอความเป็นธรรม เพราะเธอไม่ได้สั่งให้น้องชายเอากรรไกรไปแทง ส่วนเรื่องที่ตบตีเด็กหนุ่มคนนั้น เธอยอมรับว่าทำจริง เธอไม่ยอมจ่ายเงิน 80,000 บาทตามที่ตำรวจเรียก เธอจึงกลายเป็นผู้ต้องหา
“ผมก็บอกเขาว่า ผมไม่รู้จะเชื่อคุณได้ยังไง เพราะว่าในสำนวนคดีคนขับมอเตอร์ไซค์เขาพูดแบบนั้น ผมโทรศัพท์ไปหาเด็กคนนั้นว่าข้อเท็จจริงเป็นยังไง ผมขอให้เขาพูดความจริง ถ้ามันเป็นความจริงอย่างที่เด็กพูดตามสำนวนคดี ผมก็ดำเนินคดีไปตามปกติ
“แต่ถ้ามันไม่ใช่ อีกสามชีวิตใครจะเลี้ยงดูเขา เพราะทั้งสามดำรงชีวิตโดยพึ่งพากัลยาเพียงคนเดียว เด็กคนนั้นคงจะสำนึกผิด ยอมรับว่าความจริงเป็นอย่างที่กัลยาพูด และก็บอกด้วยว่าตำรวจให้เขาให้การไปแบบนั้น เพราะถ้าไม่บอกแบบนั้นจะไม่ได้เงินค่าเสียหาย”
หลังจากนั้นคดีกัลยาจึงจบลงด้วยการที่ศาลยกฟ้อง และอัยการไม่อุทธรณ์ต่อ ส่วนอัยการน้ำแท้ก็ตัดสินใจเดินทางสายอัยการต่อไป แม้ความคิดเดิมของเขาคือการเป็นผู้พิพากษา เพราะอัยการและผู้พิพากษามีคุณสมบัติในการเข้าสู่ตำแหน่งอย่างเดียวกัน แต่ “เป็นอัยการผมช่วยคนได้เยอะกว่า” เขาว่า
“เยอะกว่ายังไง” เราสงสัย
“ก็ถ้าเป็นผู้พิพากษาจะมีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดตามพยานหลักฐานอย่างเดียว แต่เป็นอัยการผมยังมีสิทธิ์ที่จะแสวงหาพยานหลักฐานหรือไม่สั่งฟ้องเขาตั้งแต่เริ่มคดี ถ้าผมเห็นว่าเขาไม่ได้กระทำความผิด” เขาตอบ
03
Innocence International Thailand ถือกำเนิดขึ้นและขับเคลื่อนด้วยคนราว 20 คน จากหลายสาขาอาชีพ ทั้ง นักกฎหมาย ทนายความ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ นักนิติวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชน เพื่อให้งานดำเนินไปได้ในหลายมิติ โดยมีอัยการน้ำแท้เป็นคีย์แมน เพื่อพา ‘แพะรับบาป’ กลับมาสู่เส้นทางของความยุติธรรม โดยไม่คิดค่าตอบแทน
“ผมทำงานโดยใช้ศรัทธานำ เราไม่มีนโยบายขอเงินใครมาทำคดี แต่ถ้าใครจะบริจาคเราก็ไม่ได้ปฏิเสธนะครับ” อัยการน้ำแท้พูดติดตลกด้วยน้ำเสียงจริงใจ
ในส่วนของการทำคดี อัยการน้ำแท้บอกว่า โดยส่วนใหญ่ผู้เสียหายจะเป็นฝ่ายเข้ามาขอให้ Innocence International Thailand ช่วยเหลือเอง โดยตัวอัยการน้ำแท้จะเป็นผู้คัดกรองว่าคดีไหนควรทำ คดีไหนไม่ควรทำเพราะที่ผ่านมามีทั้งแพะจริงและแพะปลอมปะปนกันเข้ามาขอความช่วยเหลือ
“จะรู้ได้ยังไงว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์จริงๆ” เราถาม
“ผมก็ใช้ประสบการณ์ในทางคดีนี่แหละครับ ก็พอจะกรองได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่าง ป้าคนหนึ่งร้องขอความช่วยเหลือมา แกก็บอกว่ามีคนมาขอให้ป้าเอาเงินเข้าบัญชีของป้า แล้วก็ให้กดออกมา โดยให้ค่าผ่านบัญชีครั้งละ 300-500 บาท ซึ่งปรากฏว่าคนที่วานให้ป้าทำเขาเป็นคนค้ายาเสพติด
“ผมก็ถามป้าว่า ป้าทำมานานเท่าไรแล้ว ป้าก็บอกสองสามปี ผมก็รู้เลยว่าแบบนี้มันไม่ใช่แล้ว ป้าจะไปไว้ใจคนข้างบ้านคนหนึ่งจนถึงขนาดให้เอาเงินเข้าออกบัญชีตนเองครั้งละเยอะๆ แล้วป้าได้ค่าจ้างแบบนี้ ป้าจะไม่รู้เลยเหรอว่าเขาทำอะไร มันไม่ใช่ ผมไม่เชื่อป้าแล้วครับ” เขาเล่าให้ฟังพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
04
ด้วยความที่ Innocence International Thailand เข้าไปช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์แบบฟรีๆ มีค่าใช้จ่าย อย่างมากก็เพียงค่าน้ำมันรถหรือค่าเดินทาง การทำงานแบบเป็นเครือข่ายจึงมีส่วนช่วยในการทุ่นค่าใช้จ่ายส่วนนี้ โดยใช้การวิธีติดต่อทนายในพื้นที่ที่มีคดีความให้เข้าไปช่วยเหลือเหยื่อ
อย่างเช่นคดีของ สฤษดิ์ จั่นทอง ซึ่งต้องคดีร่วมกันพยายามข่มขืนนักท่องเที่ยวที่ภูเก็ต ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปภูเก็ตมาก่อนเลยในชีวิต
“อย่างคดีคุณสฤษดิ์เขาเข้ามาขอให้เราช่วย เรามีเครือข่ายทนายอยู่ที่ภูเก็ต ทนายเขาก็ช่วยเราทำคดี”
05
สฤษดิ์ จั่นทอง เป็นชาวนนทบุรี ประกอบอาชีพขายลอตเตอรี่ ปี 2558 หลังจากส่งลูกไปโรงเรียนตามปกติ เขาถูกจับกุมตัวหน้าบ้านของตัวเองตามหมายจับจังหวัดภูเก็ต ในข้อหาร่วมกับพวกพยายามข่มขืนนักท่องเที่ยวสาวชาวแคนาดา โดยคดีความดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2551
หลังจากตกเป็นผู้ต้องหาในคดีที่ไม่ได้ก่อ สฤษดิ์เล่าว่า ตอนนั้นเขางงจนทำอะไรไม่ถูก หลังจากถูกพาตัวไปถึงจังหวัดภูเก็ตเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา เขาบอกว่าตำรวจเจ้าของคดีไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆ เพียงแต่ให้เขารำลึกความทรงจำว่าเคยกระทำการใดๆ อย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่
“ตำรวจเขาก็ลองให้ผมนึกดูว่าเคยทำอะไรที่ไหนบ้าง ซึ่งสิ่งที่ผมนึกได้อย่างเดียวที่เกี่ยวกับภาคใต้คือการขายรถให้ผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งบอกว่าจะเอามาทำเป็นแท็กซี่ป้ายดำที่อำเภอหาดใหญ่”
นั่นเป็นสิ่งเดียวที่เขาจำได้สำหรับคนที่เดินทางเคยมาไกลแค่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์แบบเขา
“หลังจากพี่สาวผมประกันตัวผมออกมา ผมก็ต้องไปหาข้อมูลมายืนยันว่าผมไม่ได้ทำผิด ผมก็มารู้ทีหลังว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเขาได้เลขทะเบียนรถคันที่ผมขายไป ซึ่งเป็นรถคันเดียวกับที่ใช้ในการก่อเหตุมาจากพยานคนหนึ่งในคดีนี้ แล้วเขาก็เอาเลขทะเบียนรถไปเช็คในทะเบียนราษฎ์ ก็ปรากฏว่าเป็นชื่อผม แล้วตำรวจก็เอารูปผมไปให้ผู้เสียหายกับพยานชี้ตัว ซึ่งเขาบอกว่าผมเป็นคนทำ”
ซึ่งในข้อเท็จจริง แม้รถคันดังกล่าวจะถูกโอนลอยจากสฤษดิ์สู่เจ้าของใหม่ และข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบกก็ยืนยันว่ารถคันดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนชื่อเจ้าของ และแผ่นป้ายทะเบียนเดิมถูกส่งกลับคืนให้กรมการขนส่งฯไปแล้วตั้งแต่ปี 2550 แต่นั่นยังไม่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของสฤษดิ์ได้
“แล้วเหตุมันเกิดตอนประมาณตี 2 ซึ่งผมจะหาหลักฐานยืนยันตัวผมได้ยังไง ตอนนั้นผมอยู่กับภรรยาที่บ้าน ซึ่งภรรยานี่ไม่สามารถเป็นพยานให้ได้นะครับ คือใช้ได้แต่น้ำหนักน้อย เพราะเขาถือเป็นคนคนเดียวกัน”
แต่เขายังไม่ยอมแพ้ ในเมื่อพยานบุคคลที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ เขาจึงควานหาพยานวัตถุมายืนยัน เช่นข้อมูลการใช้เงินของบัญชีธนาคารในช่วงวันเกิดเหตุ แต่จนแล้วจนรอดหลักฐานที่เขาหามาได้ก็ยังมีน้ำหนักเบากว่านุ่น อีกทั้งอัยการหลายๆ คนที่เขาไปปรึกษาต่างพูดไปในทิศทางเดียวกันว่าเขาต้องหาพยานบุคคลให้ได้ และยังบอกด้วยว่า ถึงรถจะไม่ใช่ชื่อเขา แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่ได้ทำ
“ผมก็ไม่รู้จะพูดยังไง คิดในใจคือเอาผมไปขังเถอะ ผมคงหมดทางสู้แล้ว”
ปัจจุบันคดีของสฤษดิ์ยังคงอยู่ในขั้นอัยการ สฤษดิ์บอกว่าเขาไม่เคยคิดว่าจะเกิดเรื่องในลักษณะนี้กับตัวเอง ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ทำผิดแต่กลับต้องกลายมาเป็นผู้ต้องหา เพียงเพราะว่าเขาเป็นเจ้าของรถคนแรก รถที่ถูกซื้อไปนานเกือบ 10 ปี
“ทางกระทรวงยุติธรรมที่ผมร้องเรียนขอความเป็นธรรมไป เขาก็ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปที่ภูเก็ต แล้วก็เชิญคนขับแท็กซี่ที่อายุงานเยอะๆ มาให้ข้อมูลว่าเคยเห็นหน้าผมไหม เขาก็บอกไม่เคย”
สฤษดิ์บอกว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยยังคงมีปัญหาในเรื่องความไม่รอบคอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาบอกว่า มันก็เหมือนกับเด็กนักเรียนที่ส่งการบ้านแบบผิดๆ ไปให้ครู ครูส่งต่อให้ครูใหญ่โดยไม่ได้ตรวจตราให้ถ้วนถี่ ผลที่ออกมาจึงก่อให้เกิดความผิดพลาดทั้งระบบ จนต้องเกิดหน่วยงานจากภาคประชาชนขึ้น เพื่อคอยช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์
“มันตลกนะครับ ที่กระบวนการยุติธรรมต้องมีหน่วยงานเข้ามาแก้ไขความผิดของกระบวนการยุติธรรมเอง มาชดเชยให้คนที่คุณตัดสินว่าเขาเป็นคนผิด แค่นี้มันก็ขัดกันเองแล้ว”
สฤษดิ์บอกว่า การที่กระบวนการยุติธรรมทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นคนผิด การล้างความผิดไม่ใช่สิ่งที่ง่ายดายเพียงแค่เดินไปบอกว่าตัวเองนั้นผุดผ่อง เพราะมันมีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งเวลาที่สูญเสียไปกับการสู้คดี และสภาพจิตใจของตัวเขาเองและคนในครอบครัว
หากความยุติธรรมมีอยู่แต่ในตัวบทกฎหมาย แต่ไม่มีอยู่ในหัวใจนักกฎหมาย ก็จะต้องมีผู้บริสุทธิ์ตกเป็นจำเลยอยู่เสมอไม่จบสิ้น เพราะฉะนั้นความยุติธรรมที่มีอยู่ในกฎหมายมันไม่พอ มันต้องอยู่ในหัวใจของนักกฎหมายด้วย
06
นอกเหนือจาก สฤษดิ์ จั่นทอง ที่คดียังคงยืดเยื้อและเขายังคงสู้ต่อไป อัยการน้ำแท้บอกว่ามีอีกคดีที่เพิ่งช่วยเหลือได้สำเร็จแบบจวนเจียนเต็มที เพราะลูกความของเขาปล่อยคดีเดินไปตามยถากรรมเพราะไม่มีเงินจ้างทนาย
เล็ก ชายวัย 56 ปี ถูกตำรวจตั้งข้อกล่าวหาพยายามฆ่าวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่เคยมีเรื่องบาดหมางกัน
“มีคดีที่มีนบุรี ชื่อคุณเล็ก เขาถูกทำร้ายร่างกายเพราะเคยมีเรื่องทะเลาะกับกลุ่มวัยรุ่น วันเกิดเหตุเขาก็อยู่ในบ้าน กำลังอาบน้ำ แล้วมีวัยรุ่นกลุ่มดังกล่าวมาหาเขาที่บ้าน พาพวกมาด้วย วัยรุ่นคนหนึ่งก็เอามีดมาฟันเขา แล้วก็หนีไป แต่ไม่ได้รุมทำร้ายนะ ถ้ารุมก็คงตาย เพราะมากันหกคน พอเด็กพวกนั้นหนีไป คุณเล็กเก็บมีดมาเพื่อจะเอาไปแจ้งความ แต่ฝ่ายเด็กวัยรุ่นชิงแจ้งความก่อนแล้ว ว่าคุณเล็กพยายามฆ่า”
เรื่องกลับตาลปัตร จากถูกทำร้ายกลับกลายเป็นผู้ต้องหา อัยการน้ำแท้เล่าว่าคดีนี้พวกเขาเข้าไปช่วยเหลือได้ในชั้นการถามค้าน กระบวนการคือ เมื่อทนายฝ่ายจำเลยแน่ใจว่าลูกความของตนเป็นผู้บริสุทธิ์ ทนายจะทำหน้าที่ถามค้านฝ่ายโจทย์ เพื่อลดความน่าเชื่อถือของโจทย์
“การจะลงโทษใครก็ตาม เราจะต้องเชื่อว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิดจริง เราก็ทำให้พยานของเขาเผยความเท็จออกมา เขาเรียกว่าการถามค้าน เราก็ถามค้านจนศาลไม่เชื่อพยานฝ่ายโจทก์”
สุดท้ายศาลยกฟ้องฝ่ายเล็ก ส่วนคู่กรณีถูกพิพากษาจำคุกสองปี โดยไม่รอลงอาญาในข้อหาทำร้ายร่างกาย เล็ก รอดพ้นความผิดที่ไม่ได้ก่อมาแบบเฉียดฉิว ซึ่งเราสงสัยว่ากระบวนการยุติธรรมมีราคาแพงขนาดไหน ถึงทำให้คนคนหนึ่งไม่สามารถหาเงินว่าจ้างทนายเพื่อสู้คดีให้ตัวเองได้
“ความยุติธรรมเข้าถึงไม่ยาก แค่เดินเข้ามาก็เจอแล้ว ไม่ต้องเสียเงินสักบาทเลย” อัยการตอบอย่างหนักแน่น
แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ อัยการน้ำแท้บอกว่าต้องปลูกความมีมนุษยธรรมและความยุติธรรมให้ฝังรากลึกในหัวใจของคนในกระบวนการยุติธรรมเสียก่อน
07
อัยการน้ำแท้บอกว่า ทุกวันนี้วิธีการใหม่ๆ ถูกนำมาใช้ในกระบวนการยุติธรรม อย่างเช่น การชี้ตัวผู้ต้องสงสัย โดยยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาที่มีการปรับปรุงการชี้ตัว ประการแรกตำรวจจะแจ้งก่อนกับผู้เสียหายว่าในจำนวนผู้ต้องสงสัยทั้งหมดที่นำมาให้ชี้ตัว อาจจะไม่มีคนผิดเลยแม้แต่คนเดียว
ประการต่อมา ตำรวจจะดำเนินการสืบหาข้อเท็จจริงต่อไป แม้ว่าผู้เสียหายจะไม่ชี้ตัวใครเลยก็ตาม ประการสุดท้าย ผู้เสียหายต้องแสดงว่ามีความมั่นใจเพียงใดว่าชี้ตัวถูกต้อง
“อเมริกาเขาใช้วิธีแบบนี้ ผมเลยเอามาใช้ที่อยุธยา ปรากฏว่าใช้ได้ผล คือมันมีคดีหนึ่งเป็นคดีของสถานีภูธรพระขาว ก็มีเด็กสองคนขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานตอนประมาณ 3 ทุ่ม แล้วมีมอเตอร์ไซค์อีกคันตามหลังมา คันที่ตามมาคนซ้อนท้ายเขาเป็นคนอ้วน คนอ้วนกับเพื่อนก็ขับรถเลยไปแล้วก็จอดข้างหน้า ลงมาจากรถแล้วเอาปืนจี้บอกเด็กให้ลงจากรถ เด็กก็ก้มหน้าก้มตาลงจากรถ คนอ้วนกับเพื่อนก็เอารถเด็กไป”
อัยการน้ำแท้บอกว่า ก่อนหน้านั้นได้มีการชี้ตัวผู้ต้องสงสัยจากรูปถ่ายไปแล้วหนึ่งครั้ง และเด็กทั้งสองคนชี้ตัวชายอ้วนตรงกัน แต่หลังจากนั้นจะต้องมีการชี้ตัวผู้ต้องสงสัยอีกหนึ่งครั้งต่อหน้าอัยการ เขาจึงบอกกับเด็กทั้งสองคนว่า ตำรวจจะตามหารถต่อให้ ถึงจะไม่มีคนผิดอยู่ในกลุ่มผู้ต้องสงสัย
“พอถึงเวลาชี้ตัว เด็กคนแรกก็มองลอดรูเข้าไปในห้องที่ผู้ต้องหาอยู่แล้วก็บอกว่า ไม่มีครับ คนที่สองมาดูก็บอกว่าไม่มีเหมือนกัน คนอ้วนก็เลยรอดไป ไม่อย่างนั้นเขาก็กลายเป็นผู้ต้องหาไปแล้ว”
อัยการบอกว่า ผู้ต้องสงสัยที่ถูกเด็กชี้ตัวจากรูปถ่าย เคยต้องโทษคดีเสพยาเสพติด และตำรวจยังบอกเขาด้วยว่า พ่อของผู้ต้องสงสัยพยายามจะเจรจาเรื่องค่าเสียหายกับแม่ของเด็กทั้งสองคน
“ผมก็เลยถามแม่เด็กว่าตกลงเขามาล็อบบี้เคลียร์ค่าเสียหายจริงไหม แม่เด็กก็บอกไม่มีเลย งั้นที่ตำรวจบอกผมมันแปลว่าอะไร ก็คิดดูเอาแล้วกันครับ”
08
กับความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมจะด้วยความประมาทไม่รอบคอบ หรือความตั้งใจบิดเบือนรูปคดี สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือตาชั่งวัดความถูกผิดของไทยค่อนข้างมีปัญหา ราวกับไม่มีการตรวจค่าความแม่นยำมานานแรมปี
อัยการน้ำแท้บอกว่า ที่เป็นแบบนี้เพราะในเมืองไทย การทำคดีถูกวางไว้บนมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงฝ่ายเดียว ทำให้ไม่มีการคานอำนาจกัน เขายกตัวย่างให้ฟังว่า ในสหรัฐอเมริกา คดีหนึ่งสามารถมีหน่วยงานมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน รวมทั้งอัยการสามารถเข้าไปจัดการได้ หากหน่วยงานใดไม่ให้ความยุติธรรมหรือทำงานบกพร่อง
แต่เหนือสิ่งอื่นใด เหนือไปกว่าการทำงานแบบสนธิกำลัง คือการเดินตามครรลองครองธรรมของกฎหมายอย่างเคร่งครัดของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม
“หากความยุติธรรมมันมีอยู่แต่ในตัวบทกฎหมาย แต่มันไม่มีอยู่ในหัวใจนักกฎหมาย ก็จะต้องมีผู้บริสุทธิ์ตกเป็นจำเลยอยู่เสมอไม่จบสิ้น เพราะฉะนั้นความยุติธรรมที่มันมีอยู่ในกฎหมายมันไม่พอ มันต้องอยู่ในหัวใจของนักกฎหมายด้วย” อัยการน้ำแท้บอกแบบนั้น
09
ทุกวันนี้อัยการน้ำแท้ยังคงทำงานราษฎร์และงานหลวงอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง พร้อมกันนั้นยังขยายเครือข่ายการทำงานออกไปเรื่อยๆ เพื่อให้คนได้เข้าถึงความยุติธรรมในแบบที่ควรจะเป็น เขาบอกว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งที่หยิบยื่นให้กันได้ไม่ยาก แถมไม่ได้มีราคาแพงอย่างที่ใครๆ พูดกัน
“ดูกรณีคุณกัลยาสิครับ ไม่เห็นต้องเสียเงินสักบาท” เขาว่า
อัยการน้ำแท้บอกว่าก้าวต่อไปของ Innocence International Thailand คือการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับ Innocence Project ในระดับนานาชาติ ร่วมกับประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี และประเทศในทวีปเอเชียอย่าง ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เพื่อผลักดันรูปแบบความร่วมมือให้เป็นแบบที่เขาหวังไว้ว่าจะกลายเป็นจริงในสักวัน
“เราจะไปประชุมเครือข่ายวันที่ 6 เมษายนนี้ สิ่งที่ Innocence International Thailand ที่จะเอาไปเสนอก็คือ ถ้าเราเป็นเครือข่ายกันแล้ว ถ้ามีคนญี่ปุ่นมาเมืองไทยแล้วกลายเป็นแพะ เราก็จะช่วยเขาฟรีๆ แต่ในขณะเดียวกันถ้าคนไทยไปเป็นแพะที่ญี่ปุ่น เขาก็ต้องช่วยเราฟรีๆ เหมือนกัน”
ซึ่งอัยการน้ำแท้เชื่อว่าในประเทศที่มีคนไทยเข้าไปทำงานหรืออยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก จะต้องมีเหตุการณ์จับแพะแบบนี้เกิดขึ้น
“คนไทยบางคนเขาก็พูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง ไม่มีพรรคพวก ไม่มีเงินทอง แล้วเขาก็ไม่รู้กฎหมาย แล้วเขาจะไปสู้คดีอย่างไร หรือถ้าจะให้สถานทูตช่วย เขาก็เข้าไม่ถึงสถานทูต ก็ถูกดำเนินคดีไป แต่ถ้ามี Innocence International Thailand อย่างน้อยมันก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยเขาได้โดยใช้นักกฎหมายที่ประเทศนั้น คือจะมีคนที่กลายเป็นแพะเยอะแคไหนไม่รู้ แต่ถ้าผมได้ช่วยปีละคน ประเทศละคน ผมก็ดีใจแล้ว
“แล้วถ้าไม่มีเลยจะดียิ่งกว่า เพราะแปลว่าไม่มีคนบริสุทธิ์ต้องหลุดเข้ามาเป็นแพะในกระบวนการยุติธรรม”.