รักของผู้หญิงต้อยต่ำกับผู้ชายอัลฟา

#วันสตรีสากล 8 มีนาคม คือวันจดจารประวัติศาสตร์ตั้งแต่การต่อสู้เรียกร้องสิทธิของกรรมกรหญิงในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1857 และปี 1907 ที่กรรมกรหญิงได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิจากการถูกกดขี่ 

คลารา เซทคิน (Clara Zetkin) นักการเมืองหญิงชาวเยอรมัน ผู้ศรัทธาในวิถีสังคมนิยมได้ปลุกระดมแรงงานหญิงพร้อมใจกันหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม เพื่อประท้วงเหล่านายทุนผู้เอาเปรียบดึงทึ้งจิตวิญญาณแรงงานหญิงราวกับปีศาจก็ไม่ปาน พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งด้วย หลังจากนั้นมีการเรียกร้องอีกครั้งในปี 1908 และในปี 1910 ตัวแทนสมัชชาสตรี 17 ประเทศ ได้เข้าร่วมประชุม ‘สมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2’ และประกาศให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากล 

ทั้งนี้ ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามพันธสัญญาต่อเวทีโลกที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับบทบาทและสถานภาพสตรี มีการดำเนินการทั้งในแง่กฎหมาย นโยบาย มาตรการความรุนแรง และยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ผู้ใช้แรงงานต้องได้รับการดูแลในด้านสวัสดิการ สุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งผู้หญิงต้องได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติและเท่าเทียม ในฐานะที่ผู้หญิงก็เป็นสมาชิกในสังคม

หากว่ากันตามตรงในเรื่องของกฎหมาย นโยบาย ไปจนถึงมาตรการต่างๆ ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตผู้หญิง ซึ่งมีภาคประชาสังคมในประเทศไทยหลายกลุ่มผลักดันและต่อสู้กันมานานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสตรีทั้งหลาย ซึ่งค่อนข้างเป็นไปได้อย่างยากเย็น และอีกสิ่งหนึ่งที่ดูเป็นไปได้ยากในสังคมที่ถูกตอกเสาเข็มด้วย ‘ระบอบชายเป็นใหญ่’​ คือการปฏิบัติอย่างให้เกียรติและมีทัศนะต่อผู้หญิงอย่างเท่าเทียม

ให้เกียรติตามแบบฉบับหนุ่มอัลฟา

แม้ว่าเราจะมีพันธสัญญาต่อเวทีโลกในเรื่องสิทธิสตรี แต่ปัจจุบันทัศนะต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย สังคมที่ผู้คนเริ่มตระหนักเรื่องสิทธิกันอย่างเข้มข้นมากขึ้น ผู้หญิงรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง แต่ยังมีผู้ชายบางกลุ่ม (AKA ชายแท้) ที่นั่งกระดิกเท้า ปลายนิ้วจรดบนแป้นพิมพ์วัดคุณค่าของผู้หญิง นั่งเทียนเขียนวิเคราะห์ว่าผู้หญิงประเมินคุณค่าตัวเองสูงไปเมื่อได้คุยกับผู้ชายระดับอัลฟา (Alpha) ซึ่งก็ตอบไม่ได้ว่าเขาเป็นใครถึงมานั่งชี้ว่าคนนี้มีคุณค่า คนนั้นไม่มีคุณค่า

อัลฟา เป็นอักษรกรีกตัวที่ 1 และเป็นเลขกรีกที่มีค่าเท่ากับ 1 ซึ่งมีรากมาจากอักษรฟินิเชียและฮีบรูที่เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงผู้นำ ดังนั้นอัลฟาจึงเหมือนเป็นจ่าฝูง และอยู่สูงสุดของการแบ่งประเภทอะไรก็ตาม เช่น ปัจจุบันมีการแบ่งบุคลิกภาพของผู้ชายโดยที่ ‘Alpha Male’ คือจุดสูงสุด มีลักษณะที่มั่นใจในตัวเองสูง ถูกมองว่ามีความเป็นผู้นำ มีสเน่ห์ ผู้ชายประเภทนี้จึงมักอยู่ในตำแหน่งผู้นำ เป็นต้น

ไม่นานมานี้มีการพูดถึง Sexual Market Value ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของศาสดาอัลฟาท่านหนึ่งซึ่งมีผู้ติดตามอยู่เป็นจำนวนมาก นำข้อมูลผลการวิเคราะห์จากแอปหาคู่โดยมีที่มาจาก Redpiller.com มากางและวิเคราะห์ให้ผู้ติดตามได้คิดตาม โพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ชายและถูกแชร์ต่อกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้เล่าถึงธรรมชาติของมนุษย์ (โดยเฉพาะเพศหญิง) ที่มีความปรารถนาขยับขยายไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไขว่คว้าหาเพศชายที่มีสถานะสูง 

ภาพข้างต้นนี้พยายามจะอธิบายว่าผู้หญิงในทุกระดับมุ่งที่จะมีความสัมพันธ์กับผู้ชายระดับ 9/10 และ 10/10 หรือระดับอัลฟา ศาสดาอัลฟายังสรุปอย่างกล้าหาญชาญชัยว่า ผู้หญิงพึงใจที่จะจับคู่กับผู้ชายที่มีรายได้หรือสถานะทางสังคมที่ดีกว่า และพร้อมที่จะเป็นเบอร์ 2-3 ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสถิติในแอปหาคู่ผู้ชายมีเปอร์เซ็นต์ใช้งานมากกว่าผู้หญิง ผู้หญิงจึงมีตัวเลือกมากขึ้น 

ศาสดาอัลฟายังวิเคราะห์เสร็จสรรพอีกว่า พอผู้หญิงที่มีคะแนนระดับล่างถึงกลางได้เข้าหาผู้ชายอัลฟาก็จะรู้สึกว่า ‘ตัวเองมีค่าในตลาดเกินความจริง’ ทั้งที่ในความเป็นจริงการมีตัวเลือกมากจึงมีอำนาจต่อรองมากกว่า ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดทั่วไป และนอกเหนือไปกว่านั้นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคนยังมีสิ่งประกอบสร้างอยู่อีกหลายมิติ 

สุดท้ายศาสดาอัลฟาทิ้งท้ายว่า ผู้ชายต้องดิ้นรนที่จะเขยิบตัวเองขึ้นมาอยู่ในชั้น 8/10 ขึ้นไป เพื่อให้อยู่รอดและเพื่อที่จะปิดปากผู้หญิงระดับล่างถึงกลางที่ไม่เลือกตัวเอง (?)

แน่นอนว่า ในทางหนึ่งการที่ผู้หญิงต้องการเขยิบฐานะทางสังคมด้วยการมองหาคู่ครองที่มีฐานะทางสังคมและการเงินสูงกว่าอาจมีอยู่จริง ในขณะเดียวกันสถานการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ แต่ท้ายที่สุดแล้วความสัมพันธ์เรื่องคู่ครองย่อมขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย โดยไม่ต้องอาศัยคนนอกเข้ามาวิเคราะห์ว่าคนที่มีคะแนนชนชั้นระดับนี้มักจะจับคู่กับคนที่มีคะแนนชนชั้นในระดับใด (ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่เพียงการวิเคราะห์จากสถิติการใช้งานแอปหาคู่ก็ตาม)

การวัดคุณค่าคนในลักษณะนี้อาจดูเป็นเรื่องฉาบฉวยเกินไป แต่ก็น่าสะท้อนใจไปพร้อมๆ กันในยามที่นึกว่า นี่คือสังคมที่กำลังพยายามมีอารยะแต่ติดหล่มเรื่องเพศมาเสมอ แม้ชายไทยจำนวนหนึ่งจะยึดถือคติที่ว่า ‘สุภาพบุรุษต้องให้เกียรติสุภาพสตรี’ หากแต่ลองแง้มภาชนะบางอย่างที่คลุมครอบอยู่จะเห็นว่า สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ การให้เกียรติทุกคนในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอย่างเท่าเทียมกันเท่านั้น ไม่ว่าชายหรือหญิง ถึงเวลานั้นพันธสัญญาต่อเวทีโลกที่ว่าผู้หญิงต้องได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติและเท่าเทียม คงเป็นไปได้ง่ายขึ้น (และหวังว่าจะเป็นเช่นนั้น)

อ้างอิง:

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า