โบว์-ณัฏฐา มหัทธนา: ไม่สามารถหลับตาให้สิ่งที่เชื่อมั่น ไม่สามารถลืมตาบนใบหน้าอื่นที่ตนไม่ได้เป็น

“เหมือนเดินเข้าบ้านผีสิง” – คือเมตาฟอร์ของ โบว์-ณัฏฐา มหัทธนา ที่ใช้อธิบายความรู้สึกเมื่อครั้งถูกดำเนินคดีแรกในการชุมนุมร่วมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 หรือที่รู้จักในชื่อลำลองว่า MBK39

คดีเเรกที่โดนมันหวั่นไหวนะ เพราะเรายังไม่รู้ แต่พอศึกษากระบวนการ ประกอบกับเรามั่นใจในหลักการของเราประกอบกับทำกิจกรรมไปเยี่ยมนักโทษในคุกมาบ้าง มันก็ทำให้มีภูมิคุ้มกัน จินตนาการไม่ได้เตลิด”

หลังจากนั้น โบว์-ณัฏฐา ก็กลายเป็นหนึ่งในแกนนำ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งพร้อมกับจำนวนคดีที่เพิ่มอีก 3 คดี RDN50, ARMY57, UN62 แต่กี่ข้อกล่าวหานั้น เธอจำไม่ได้

รู้สึกอย่างรุนแรงถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดในสังคม” – คืออารมณ์ผลักผู้หญิงคนหนึ่งให้ออกมาทำอะไรสักอย่างด้วยเหตุผลจำเป็น เหตุผลนั้นคือการกอบกู้ศรัทธาในความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่กิจกรรมเล่นดนตรีเปิดหมวกช่วยนักโทษการเมือง กระทั่งรณรงค์เรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เคลื่อนไหวกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ร่วมก่อตั้ง เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรมและมีผลในทางปฏิบัติ (FFFE)’

การกระทำของ โบว์-ณัฏฐา และเพื่อน พิสูจน์ตัวตนของพวกเธอว่า อยู่ไม่เป็นในกาลเวลาที่สังคม อยู่เป็นโดยเฉพาะฝ่ายพรรคการเมือง

โบว์-ณัฏฐา

ราคาถัดไปคือชีวิต” คือการคิดคำนวณถึงรายจ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่เรื่องสิทธิมนุษยชนจนถึงเรื่องการเมือง แต่ถามว่าคุ้มไหมคุ้มสิ สำหรับโบว์-ณัฏฐา

ไม่อย่างนั้นโลกนี้ก็คงไม่เดินมาถึงวันนี้หรอก เรามีความเชื่อเเบบนี้ก็เพราะมันถูกส่งต่อมาจากคนก่อนหน้าเราในประวัติศาสตร์” และเธอคือข้อต่อของการส่งผ่านแรงบันดาลใจไปสู่คนรุ่นถัดไป หากสังคมของพวกเขายังขาดแคลนศรัทธา

ผู้ใหญ่ที่เข้ามาทำร้ายเรา เราถือว่าหัวใจของเขาชำรุดแล้ว” คือถ้อยคำที่น่าจะหยาบคายที่สุดในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ที่หลุดออกจากปากผู้หญิงวัย 39 เป็นแม่ของลูกชายวัย 11 ขวบ เป็นลูกสาวของพ่อแม่ที่พยายามรับมือกับสิ่งที่ลูกสาวต้องเผชิญ – อย่างดีที่สุด เท่าที่พ่อแม่คู่หนึ่งจะทำได้

เหนื่อยที่สุด” คือหนึ่งในสเตตัสเฟซบุ๊คของ โบว์-ณัฏฐา ที่เผยให้เห็นช่วงเวลาอ่อนแอซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่สเตตัสนี้ยังพิงอยู่กับเรื่องการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

“I can’t deny what I believe, I can’t be what I’m not”คือวรรคทองจากเพลง ‘No matter what’ ของวง Boyzone เธอเลือกเพลงนี้หลังจาก WAY กระซิบถามว่า “เวลาจิตตก อ่อนแอ มีเพลงไหนหรือสิ่งใดยึดใจไว้”

แต่อะไรที่ยึดเหนี่ยวจริงๆ ก็ไม่มีหรอก คิดว่าอะไรดีก็ทำๆ ไป เราหาเหตุผลที่บอกว่าเราควรจะหยุดมาตอบตัวเองไม่ได้ แต่เหตุผลที่ต้องเดินต่อมันมีเพียบเลย”

คุณมองเห็นหัวใจในคำตอบของเธอไหม

หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันพุธที่ 23 มกราคม 2562

 

หลังจากมี พ.ร.ฎ. ประกาศออกมาให้ กกต. กำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะประกาศวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม ตามสัญญาณที่ออกมาก่อนหน้า ซึ่งคุณก็ประเมินว่า 24 มีนาคมน่าจะลงตัวที่สุด และแฟร์กับกรอบการทำงานของ กกต. หลังจากนี้รูปแบบการเคลื่อนไหวของ ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ จะเป็นไปในทิศทางไหน

ข้อเรียกร้องของ ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ มีเป็นระยะ การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งครั้งแรกเกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคมปีที่แล้ว เราเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในปีที่แล้ว แต่เมื่อบริบทขยับไปเรื่อยๆ และกำลังของกลุ่มเราก็ไม่เพียงพอที่จะกดดัน ถึงวันนี้เราก็อยากให้มีการเลือกตั้งในเงื่อนไขที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เป็นโมฆะ ที่สุดเเล้วทุกคนอยากเดินเข้าคูหา แต่สิ่งที่เรากังวลคือถ้าเดินเข้าคูหาเเล้วทุกอย่างกลายเป็นโมฆะเนื่องจากประกาศผลไม่ทัน คือกรอบเวลาตามรัฐธรรมนูญมันมีช่องที่ทำให้เสี่ยงเป็นโมฆะได้ เราก็เลยเรียกร้องไปก่อนหน้านี้คือ 10 มีนาคม เพื่อไม่ให้เลือกตั้งเป็นโมฆะ เเละเมื่อ 10 มีนาคมไม่ได้เเล้ว พูดตรงๆ ว่าเหมือนต้องรับสภาพ

ก่อนหน้านี้ ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 10 มีนาคม เพราะเราต้องการป้องกันความเสี่ยงจากการโมฆะ แต่เมื่อ กกต. บอกว่า 24 มีนาคม เป็นกรอบเวลาที่อาจไม่เกิดการโมฆะ สามารถประกาศผลภายใน 45 วัน เราก็ต้องฟัง เพราะเขาก็รับความเสี่ยงเหมือนกัน เขาก็เสี่ยงคุกถ้าเขาทำไม่ได้ ก็ต้องอยู่บนความสมเหตุสมผล

ข้อเรียกร้องล่าสุดของกลุ่มก็คือให้ประกาศ พ.ร.ฎ. ภายในวันพุธนี้ ซึ่งก็คือวันนี้ (23 มกราคม 2562) และถ้าเกิดว่าไม่ประกาศ วันเสาร์ก็จะมีการชุมนุม แต่เมื่อมีการประกาศเเล้ว เงื่อนไขการชุมนุมวันเสาร์ก็หายไป

‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย FFFE (เฟ หรือ เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรมและมีผลในทางปฏิบัติ) เพื่อรณรงค์การเลือกตั้งเสรีเป็นธรรม งานของ FFFE ก็จะกลับมาเริ่มจับตามองการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่วนตัวโบว์เองก็จะไปโฟกัสกับการรณรงค์กับ FFFE ส่วน ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ ก็มีเครือข่ายหลายกลุ่มอยู่ในนั้น มีทั้ง DRG (กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือ Democracy Restoration Group) มีกลุ่ม Start up people Thailand มี จ่านิว-สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ทนายอานนท์ นำภา กลุ่มพลเมืองโต้กลับ

‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ ต้องคุยกันอีกทีหนึ่งว่ายังมีความจำเป็นอะไรเหลืออยู่ไหมในการเป็นกลุ่มเคลื่อนไหว แต่โดยส่วนตัวจะโฟกัสกับเครือข่าย FFFE รณรงค์เรื่องสนามเลือกตั้งที่แฟร์เเละสนามนี้ต้องโอเค ไม่อย่างนั้นคูหาเลือกตั้งก็พังอีก

คุณยืนอยู่ตรงไหนในองค์ประกอบที่หลากหลายของ ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’

ใน ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ เป็นการรวมตัวเฉพาะกิจ เราอยู่ในฐานะเเกนนำ เข้าไปมีส่วนตั้งเเต่หลังจากกิจกรรมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนินวันที่ 10 กุมภาพันธ์ (.. 2561) ซึ่งเราโดนคดีด้วย ตอนแรกยังไม่ได้เป็นแกนนำนะ แต่หลังจากวันที่ 10 กุมภา ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ จัดกิจกรรมเดินไปกองทัพบก (24 มี.ค. 2561) เราก็คิดว่าต้องร่วมกันวางแผนแล้วล่ะ ก็เลยกลายเป็นว่าอยู่ในทีมวางแผน กลายเป็น speaker ที่เรียกว่าแกนนำ แถลงการณ์ 2 ครั้งหลังเราก็เป็นคนร่าง มีส่วนในการระดมทุน ก็เป็นบทบาทของแกนนำ แต่ว่าหลังจากการชุมนุมเมื่อวันเสาร์ที่เเล้ว (19 มกราคม 2562) ก็ต้องยอมรับว่าเราก็ลดบทบาทลงมาซัพพอร์ต เพราะเรามีความเห็นไม่ตรงกับแกนนำคนอื่น

เราประชุมกันในคืนวันพฤหัสและวันศุกร์ ทางกลุ่มยืนยันที่จะจัดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โบว์รู้สึกว่ามันเสี่ยง เรารู้สึกรับไม่ไหวในเเง่ความปลอดภัยของมวลชน ความเสี่ยงเรื่องคดียังพอรับกันไหว เเต่ถ้าเกิดการปะทะ เกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นมา เราคิดไปถึงตรงนั้น ก็เลยขอไม่เข้าร่วมแต่เราก็เคารพมติของกลุ่ม แต่ตอนหลังเมื่อกลุ่มตัดสินใจย้ายมาชุมนุมที่ธรรมศาสตร์เราก็สนับสนุน โดยมารยาทเราก็ไม่ขึ้นเวทีในวันนั้น แต่ซัพพอร์ตอยู่ด้านนอก เอาของไปส่ง เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ฎ. ออกมา เราคิดว่าบทบาทของกลุ่มอาจลดลงโดยปริยาย ส่วนบทบาทของโบว์ในเครือข่าย FFFE ก็เคลื่อนต่อไป ในฐานะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง

 

หลังมีการประกาศวันเลือกตั้ง FFFE จะทำอะไรต่อจากนี้

FFFE มีงานหลัก 3 อย่าง งานแรกคือการรณรงค์เพื่อการเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรมเเละมีผลในทางปฏิบัติ เราก็จะดูว่าบริบท ณ ตอนนี้มีเรื่องต้องไปร้องเรียนอะไรไหม ถ้ามีความจำเป็นต้องไปร้องเรียนหรือยื่นหนังสือเราก็จะไป อย่างเช่นตอนที่เราไป กกต. 2-3 ครั้งที่ผ่านมา มันก็คือสิ่งที่เราต้องทำเมื่อมีเรื่องร้อนๆ ที่ต้องท้วงติง อีกส่วนหนึ่งคืองานเสวนาการเเลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นเสวนาเรื่องสนามเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม หรือเสวนาเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะที่เราอยากจะผลักไปยังพรรคการเมืองให้นำเข้าไปในสภา ส่วนงานที่สามของ FFFE คือ การสร้าง platform หรือสร้างระบบง่ายๆ ขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนมีส่วนในการจับตาการเลือกตั้ง เช่น คนที่ยโสธรอาจจะเจอพฤติกรรมบางอย่างที่ส่อว่าเป็นการโกงเลือกตั้งถึงแม้จะไม่ใช่วันเลือกตั้ง

อย่างเคสน้องผู้ชายชื่อเกียรติบุรุษไปเจอเรื่องบัตรสวัสดิการ เราต้องการให้มีระบบที่ทุกคนสามารถรายงานเรื่องพวกนี้เข้ามาได้โดยง่าย เพื่อประสานไปยังผู้ที่รับผิดชอบต่อไป เพื่อให้สังคมมีส่วนร่วม อาจจะเป็นลักษณะของการติดแฮชเเท็ก หรือมีแอพพลิเคชั่น หรือเป็นลักษณะการรายงานที่สามารถทำได้ง่ายๆ ซึ่งคงจะมีการเปิดตัวเร็วๆ นี้

FFFE ก็มีลักษณะเฉพาะกิจเหมือนกัน แต่ FFFE เป็นเครือข่ายที่รวมองค์กรประมาณ 10 องค์กรที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยเข้าไว้ด้วยกัน มีเครือข่ายวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง กลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็อยู่ในนั้น โบว์เองก็มี ‘พลังมด’ อยู่ในนั้นด้วย พี่น้องที่ร่วมกันซัพพอร์ตการเคลื่อนไหวก็อยู่ใน FFFE ด้วย มีกลุ่มนักศึกษา มีกลุ่มนักกิจกรรมทางภาคใต้

 

‘พลังมด’ เกิดจากอะไร

‘พลังมด’ เป็นกลุ่มที่เกิดโดยธรรมชาติ มันเริ่มต้นจากแฮชเเท็กที่เราใช้ #พลังมด ใช้สื่อสารเรื่องที่เกี่ยวกับการต่อสู้หรือการเคลื่อนไหว #พลังมด มีเพื่อสื่อสารกับทุกคนว่า คนตัวเล็กตัวน้อยสามารถมีส่วนในการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนเเปลงได้ทั้งสิ้น เมื่อติดแฮชแท็กแบบนี้ก็มีกลุ่มคนที่เห็นด้วย เขาก็เข้ามาซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน เวลามีกิจกรรมพวกเขาจะมาอย่างสม่ำเสมอ เขาก็เริ่มเรียกตัวเองว่า “ฉันคือพลังมดนะ” เริ่มมีคนทำหมวกพลังมดขึ้นมาใส่ กลายเป็นกลุ่มพลังมดขึ้นมาแบบหลวมๆ ก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องสมัครสมาชิกหรือว่าอะไร ใครที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเล็กๆ ที่อยากจะเปลี่ยนเเปลง ก็เป็นพลังมดได้หมด คอนเซ็ปต์เป็นแบบนั้น เมื่อมาร่วมงานกันอย่างสม่ำเสมอ ก็มีความเป็นกลุ่มก้อนขึ้นมา ทุกคนก็มาลงเเรงในงาน ช่วยกันติดโปสเตอร์ ช่วยกันดูเเลคนที่มางาน

 

ไม่นานมานี้ คุณเขียนสเตตัสเล่าเรื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้ายึดเครื่องเสียงของ ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ คุณบอกว่านี่คือสิ่งที่น่าเศร้าที่สุดตั้งเเต่เคยถูกกระทำมาในการรณรงค์เคลื่อนไหว ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่เศร้าที่สุด

ทำไมถึงเศร้า เพราะเป็นกิจกรรมที่ไม่มีความผิดเลย เศร้าเพราะเรารู้ว่าเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการชุมนุมตั้งแต่ต้นจนจบ เขาทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา แต่เมื่อถึงจังหวะสุดท้ายที่มีการเข้ามาล้อมยึดเครื่องเสียง เรารู้ว่ามันไม่ปกติ เรารู้ว่ามันมีอำนาจนอกเหนือหน้าที่ของเขาที่กดดันให้เขาทำแบบนั้น มันก็เลยเศร้า เราทุกคนล้วนเป็นเหยื่อหมดเลย แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ปฏิบัติภารกิจในวันนั้น ถ้าเราจะเอาผิด เราก็ต้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ซึ่งเขาไม่ได้มีเจตนา มันก็เลยรู้สึกแย่ ก็เลยเป็นที่มาของการเขียน จดหมายเปิดผนึกถึง ผบ.ตร. เพราะเรารู้สึกว่าเมื่อตำรวจถูกคุกคามโดยทหาร พูดง่ายๆ คนที่จะปกป้องเจ้าหน้าที่เหล่านั้นได้ก็คือหัวหน้าของตำรวจ ซึ่งคือ ผบ.ตร. คุณไม่ควรจะลอยตัวเหนือปัญหา ก็เป็นที่มาของจดหมายเปิดผนึก

 

การเคลื่อนไหวก่อนและหลังจากที่จะมีการปลดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 มีความต่างกันไหม

ไม่ต่าง เพราะก่อนหน้านี้เราไม่ได้สนใจ เพราะเราไม่ถือว่าคำสั่งนี้เท่ากับกฎหมายอยู่แล้ว เพราะเป็นคำสั่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ขัดหลักสิทธิมุนษยชน เป็นอะไรที่รับฟังไม่ได้ เราก็เลยชุมนุมกันมาตลอด ก็เลยไม่ต่าง อาจจะต่างตรงที่จำนวนคนที่เยอะขึ้น เขากล้าขึ้น

 

ดูเหมือนว่าภายใต้มาตรการของเจ้าหน้าที่ที่พยายามกดดันกลุ่มคนที่ออกมาชุมนุมหรือ ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายหยุมหยิมอย่างการใช้พื้นที่สาธารณะ เรื่องขยะ การใช้เสียง มันทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการชุมนุมมากขึ้นไหมครับ เหมือนที่คุณทำ ‘กระซิบเลือกตั้ง’

ก็จริง ซึ่งความคิดสร้างสรรค์มันเกิดขึ้นครั้งแรกหลังจากคดี MBK 39 วันนั้นก็ไปปิดปากอยู่หน้าพารากอน ร้องเพลงชาติแห่งความเงียบ ในเมื่ออยากให้เงียบนักใช่ไหม ส่วน ‘กระซิบเลือกตั้ง’ เกิดขึ้นมาเพราะโดนเรื่องเครื่องขยายเสียง เขากล่าวหาว่าระดับเสียงของเราดังเกินกฎหมายกำหนด ก็เลยกระซิบเลยละกัน เมื่อผลออกมาปรากฏว่าเสียงของเราไม่เกินระดับที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการกลั่นแกล้งชัดๆ

ปกติเป็คนกวนแบบนี้ไหม

จะกวนกับคนที่ deserve คนที่สมควรได้รับการกวนจากเราก็จะได้รับการกวนจากเรา ซึ่งมันน้อยนะ ไม่สุดจริงๆ เราก็ค่อนข้างจะให้เกียรติกัน แต่การกระซิบเลือกตั้งเราถือว่ากวนแบบไม่ค่อยแรงนะ

 

คุณบอกว่าวันนี้รับโทรศัพท์จากนักข่าวทั้งวัน (พ.ร.ฎ. ให้มีการเลือกตั้งออกมาวันนี้) สถานการณ์ในชีวิตประจำวันแบบนี้มันเกิดมานานเท่าไรแล้ว

ด้วยความเป็นแกนนำของ ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ และจากการโดนคดีเยอะเข้า นักข่าวก็จะให้ความสนใจ ก็น่าจะหลังจากโดนคดีเป็นหลัก ก่อนหน้านั้นเราก็สื่อสารทางเดียวมาตลอด ช่วงหลังนักข่าวก็เข้าหาเรามากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งใช้เวลานานกว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น เราเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพตั้งเเต่หลังรัฐประหารเป็นต้นมา ผ่านไป 5 ปีเราจึงได้พื้นที่สื่อจริงๆ จังๆ วันก่อนเราได้ไปให้สัมภาษณ์ BRIGHT TV ซึ่ง BRIGHT TV ก็ไม่ใช่สื่อที่จะมาทางเรา ก็ถือเป็นสเต็ปที่สำคัญ เพราะก่อนหน้านี้เราก็ได้ไปแต่ Voice TV ประชาไท มติชน ซึ่งโบว์คิดว่ามันน่าน้อยใจในแง่หนึ่งที่เราเคลื่อนไหวมาตั้งนาน ต้องรอให้มีเรื่องมีราว ถ้าพูดตรงๆ เขาสนใจเราจากเรื่องคลิป แต่ว่าประเด็นเคลื่อนไหวทางการเมืองถือว่าขายพ่วงไป

 

เคยคิดเล่นๆ ไหมครับว่าการที่คุณโบว์ยืนอยู่แถวหน้า เป็นเพราะว่าคุณก้าวเท้าออกมาข้างหน้าหรือว่าคนอื่นเขาก้าวเท้าถอยหลัง

(หัวเราะ) ก็อาจจะทั้งสองอย่างควบคู่กัน แต่จริงๆ มันเริ่มจากคนถอยนะ เพราะว่าเราเป็นคนที่… ไม่ว่าจะการทำงานหรือชีวิตส่วนตัว ถ้ามีคน take action อยู่แล้วเราจะเงียบ เช่น ถ้าอยู่กันเป็นกลุ่มเพื่อน เพื่อนถามจะไปกินข้าวไหน เราจะไม่ออกความเห็น ถ้ามีคนออกความเห็นเราก็ตาม แต่ถ้าไม่มีคนออกความเห็นเลย ทุกคนงงอยู่ เราก็จะเสนอว่าไปร้านนี้กันเถอะ การทำงานก็เหมือนกัน ถ้ามีคนทำเรื่องนี้เยอะแล้ว เราก็ปล่อย แต่ถ้าไม่มีคน reaction เราก็ทำ

การเคลื่อนไหวก็เหมือนกัน ก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็ตาม เราไม่เคยวิจารณ์ ไม่เคยสนใจ ถือว่าคนวิจารณ์เยอะแล้ว มีคนตรวจสอบเยอะแล้ว มีคนเคลื่อนไหวเยอะแล้ว เราก็นั่งดู แต่พอในยุคนี้มันแทบไม่มี ก็กลายเป็นว่าเราต้องช่วยกันหน่อย พอช่วยกันหน่อยก็กลายเป็นว่าหายไปไหนหมด มันก็เกิดขึ้นโดยธรรมชาติมากๆ และเหมือนกับว่าสถานการณ์จะพาไป ก็หวังว่าเมื่อมีรัฐบาลปกติชีวิตเราจะกลับสู่โหมดเดิม คงไม่จำเป็นต้องมีเรามากเท่าไร

ถ้าถามว่าอะไรที่ผลักเรามาจนถึงการเป็นแกนนำ อาจเพราะอุดมการณ์บวกกับโชคชะตาด้วย เพราะถ้าไม่โดนคดีเเรก ซึ่งเหมือนจะมาด้วยความบังเอิญ ก็คงไม่ได้ต่อเนื่องจนเป็นแกนนำ แต่ว่าอะไรที่ผลักเราเข้าสู่วงการกิจกรรมตั้งแต่แรก ก็คงเป็นความรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมอย่างรุนแรงที่เกิดในสังคม เพราะทุกคนมี value ประจำตัว บางคนให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของครอบครัว เมื่อพ่อแม่พูดอะไรเขาก็จะฟังและพยายามทำตาม เพราะว่ามันสำคัญสำหรับเขา เราให้ความสำคัญกับเรื่องความยุติธรรมสูงสุด เมื่อเห็นความไม่ยุติธรรมอยู่ตรงหน้ามันก็เจ็บจี๊ด มันต้องมี action ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น

 

เคสไหนที่ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างรุนแรง

เคส ไผ่ ดาวดิน (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) เรามีความรู้สึกรุนเเรงมากที่สุดเลย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เรารณรงค์หนักที่สุด จนกระทั่งเกิดเป็นภาพของคนที่เป็นตัวหลักๆ ในเเวดวงกิจกรรม ก็น่าจะมาจากเรื่องนั้น ด้วยความรู้สึกที่รุนเเรงหรือจะเรียกว่า passion ก็ได้ คนมี passion กับช้าง ก็ทำมูลนิธิช้าง สิ่งเหล่านี้มันเกิดจาก passion แต่บังเอิญว่า passion ของเรามันเป็นเรื่องแบบนี้ ก็เลยมาอยู่ตรงนี้

เคยฟัง คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พูดถึงสาเหตุหนึ่งที่ตั้งพรรคการเมืองว่า เขาไม่อยากให้ลูกเติบโตมาในสังคมเเบบนี้ สำหรับคุณ ลูกมีส่วนสำคัญกับการออกมาไหม

สำหรับโบว์ ลูกกับเด็กคนอื่นมีความสำคัญเท่ากันนะ ลูกมีความสำคัญในเเง่ที่เรามีความรับผิดชอบโดยตรง และความผูกพันส่วนตัว

การสร้างสังคมที่ดีไม่ได้เป็นการสร้างให้กับลูกตัวเองเพียงคนเดียว แต่สร้างให้กับเด็กทุกคน

ความคิดก็อาจจะคล้ายกันนะคะ แต่วิธีการอธิบายคงไม่ได้แบบเหมือนกันขนาดนั้น เมื่อพูดไปให้ถึงที่สุดเเล้วสิ่งที่เราทำทุกวันนี้เพราะเราอยากรักษาศรัทธาบางอย่างของมนุษย์เอาไว้ มนุษย์เมื่อเจอเรื่องเลวร้ายมากๆ เขาจะสูญเสียศรัทธา เขาจะรู้สึกว่าสู้ไปก็สู้ไม่ได้หรอก เพราะเผด็จการมีทุกอย่าง ยังไงเราก็ต้องเเพ้ เพราะฉะนั้นเรามา ‘อยู่เป็น’ กันเถอะ นี่คือสังคมที่เสียศรัทธาไปแล้วนะ เราจะทำอะไรดีๆ ไม่ได้เเล้วนะ เราเคลื่อนไหวเพราะอยากพิสูจน์ให้เห็นว่า ถ้าคุณเชื่อในศักยภาพและพลังของประชาชนจริงๆ คุณสู้เผด็จการได้นะ เราอยากทำให้เห็นว่าหลายคนร่วมกันเเล้วทำจนสำเร็จ มันจะเรียกศรัทธากลับคืนมาได้ เราจะเป็นสังคมเป็นประเทศที่ผู้คนมีศรัทธา ประเทศที่ผู้คนมีศรัทธาเท่านั้นแหละจึงจะเจริญก้าวหน้าไปในทางทีดีได้

 

คุณต้องจ่ายอะไรไปบ้างระหว่างทางของการรักษาศรัทธาความเป็นมนุษย์

มันก็เป็นราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สูงขึ้นจนถึงตอนนี้เราคิดว่าเราจ่ายไปหมดเเล้ว ราคาถัดไปคือชีวิต แต่ถามว่าสิ่งที่ทำไปมันยิ่งใหญ่พอไหม มันก็ยิ่งใหญ่พอสำหรับเรา ไม่อย่างนั้นโลกนี้ก็คงไม่เดินมาถึงวันนี้หรอก เรามีความเชื่อเเบบนี้ก็เพราะมันถูกส่งต่อมาจากคนก่อนหน้าเราในประวัติศาสตร์ สำหรับโบว์-คนที่ยิ่งใหญ่อย่าง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เขามีศรัทธาเเละยอมเเลกด้วยชีวิต ทำให้เกิดสิทธิคนผิวสีขึ้นในอเมริกา ทำให้อเมริกามี โอบามา เป็นประธานาธิบดีในอีกหลายสิบปีต่อมา และพวกเขาก็มีที่ยืนในสังคม ถามว่าคุ้มไหม ถึงยังไง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ก็ต้องตาย ถึงจะสู้หรือไม่สู้เขาก็ต้องตาย แต่เมื่อตายด้วยวิธีแบบนั้น มันส่งทอดแรงบัดาลใจต่อเนื่องมาถึงคนแบบเรา คนเล็กๆ แบบเรา คิดยังไงก็คุ้ม ถึงแม้เราจะไม่ยิ่งใหญ่เหมือนเขา

 

ระหว่างทางที่ผ่านมา คุณเจออะไรบ้าง

ติดตาม มาที่บ้าน แต่เวลาเขามาหาเราที่บ้าน จะไม่เหมือนที่เขาไปบ้านคนอื่นนะ ไปบ้านชาวบ้านเขาจะเเสดงตัวใส่ชุดกันเต็มยศแล้วเดินเข้าไปพูดคุย แต่มาบ้านเราเขาไม่มาแบบนั้น เขามาแบบรถกระบะไม่มีทะเบียน ขับรถผ่านแล้วเอากล้องขึ้นมาถ่าย พี่เลี้ยงที่บ้านเห็น ยาม รปภ. ก็เห็น รปภ. เล่าให้ฟังว่าบางวันเราขับรถออกจากบ้าน ก็จะมีรถที่จอดรออยู่หน้าหมู่บ้านขับตาม ก็จะเป็นการตามในลักษณะนี้ เวลาไปงานไปทำกิจกรรมเขาก็มากันอยู่เเล้วทั้งในและทั้งนอกเครื่องแบบ เราก็ชินไม่มีปัญหาอะไร เข้าใจการทำงานของเขา แต่ที่เราโดนหนักสุดก็คือเรื่องคลิปนั่นแหละ ซึ่งมันเกิดจากการสอดเเนมทุกจังหวะชีวิต ที่โดนก็ประมาณนี้

นอกจากนั้นก็คือคดี เรื่องคดีความก็เป็นกลยุทธ์ของเผด็จการในยุคสมัยใหม่ที่เรียกว่า judicial harassment หรือการคุกคามด้วยคดีความ สมัยก่อนคนอาจจะนึกภาพเผด็จการต้องเอาปืนมาที่บ้าน เดียวนี้ก็เปลี่ยนไปใช้วิธีตั้งข้อหาดำเนินคดี ทำลายความชอบธรรมได้ด้วยและก็ปิดปากได้ค่อนข้างสนิท

 

เวลาเราเห็นข่าวคนที่โดนคดีก็จะเป็นคนหน้าเดิมๆ คนใน ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ นั่นแหละ อยากรู้ว่าคุณดำเนินชีวิตอย่างไร กลับบ้านคนเดียวได้ไหม

ไปไหนมาไหนคนเดียวตลอด ก็เป็นคนที่มีความระวังตัวต่ำ ถึงได้โดนอะไรเเล้วไม่ค่อยรู้ตัว อย่างถูกขับรถตามก็มีคนอื่นมาบอก ถ้าไม่มีคนบอกเราก็ไม่รู้ตัว เราขึ้นรถก็ทำโน่นทำนี่ แต่งหน้าไม่เสร็จก็ขับรถไปแต่งไป เราก็จะไม่รู้ว่าใครตาม

ทุกวันนี้ก็ยังมีระดับความดูเเลตัวเองต่ำ?

ก็ต่ำอยู่ เพราะเหมือนไม่มีอะไรจะเสียเเล้ว รู้อยู่เเล้วว่าโดนตาม ก็จะไปป้องกันอย่างไรใช่ไหม โทรศัพท์ก็รู้อยู่เเล้วว่าถูกฟัง รู้ถึงขั้นไลน์เขาก็แฮ็คได้ เมสเซนเจอร์ก็แฮ็คได้อยู่แล้ว บางทีเราเจอข้อความที่ยังไม่ได้เปิดอ่านเเต่มันขึ้นว่า ‘อ่านเเล้ว’ เราก็คอยเปลี่ยนพาสเวิร์ด เราเคยไปเยี่ยม 1 ในผู้ต้องหาคดี 8 แอดมิน เขาก็เตือนว่าเสเซนเจอร์เฟบุ๊คไม่ปลอดภัยนะ เพราะเขาโดน ตอนนั้นเราเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เเต่ด้วยความที่เราไม่มีความลับ สิ่งที่เราพูดคุยในเมสเซนเจอร์หรือในไลน์หรืออะไรก็ตามมันไม่มีความลับ รู้ก็รู้ไป การเคลื่อนไหวก็มีเท่าที่เห็น เลยเป็นส่วนหนึ่งที่เราไม่ค่อยระวังด้วย

 

ความเป็นผู้หญิงกับการออกมาเคลื่อนไหว ต่างกับผู้ชายไหม

มีความต่างมากอยู่เหมือนกัน และก็มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี ความต่างในส่วนที่ดีคือผู้หญิงที่ออกมามีน้อย เมื่อออกมาก็ได้รับความสนใจ การได้รับความสนใจมันมีประโยชน์ เพราะเสียงที่เราพูดมีคนฟังมีคนได้ยินมากขึ้น ส่วนข้อเสียอาจจะเป็นเพราะสังคมไทยก็ยังเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ ก่อนหน้านี้เราไม่ได้รู้สึกแบบนี้ ก่อนหน้านี้เรารู้สึกแค่เราก็ทำทุกอย่างได้เหมือนผู้ชาย แต่มารู้สึกจริงๆ เมื่ออยู่ในจุดที่เด่นและเป็นเป้าโจมตี คนก็จะโจมตีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงถูกหมั่นไส้เยอะกว่าโดยไม่รู้เหตุผล หรือแม้แต่เรื่องอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับเรา คนที่โดนโจมตีกลายเป็นเรา ข้อกล่าวหา การใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ นานา ฝ่ายผู้ชายไม่โดนเลยนะ กลายเป็นผู้หญิงนี่แหละโดน

เราโดนอะไรบ้าง ทำเพราะเงิน จับผู้ชาย อยากมีตำแหน่งทางการเมือง ทั้งที่ประกาศมาโดยตลอดว่าเราไม่อยากเป็นนักการเมือง เคลื่อนไหวเพราะเงิน มีผลประโยชน์แอบแฝง ซึ่งถ้าไล่ดูในเหตุและผลการเคลื่อนไหวของเราไม่ได้เอื้อประโยชน์กับภาคการเมือง หรือแม้แต่การ cyberbullying ด้วยถ้อยคำหยาบคายลามก สิ่งเหล่านี้เราโดนคนเดียว ก็เลยทำให้เห็นภาพสังคมชายเป็นใหญ่มันเป็นแบบนี้นี่เอง ทั้งที่ตัวเองไม่ใช่เฟมินิสต์ เลยกลายเป็นว่าเข้าใจเฟมินิสต์ขึ้นมา

 

เคยอ่านเจอว่า 2-3 วันแรกที่คุณเจอกับอาชญากรรม น้ำหนักลด 2 กิโลกรัมเลยเหรอครับ

ทุกวันนี้ก็ยังไม่กลับขึ้นมาเท่าไร ขึ้นมานิดหน่อยแต่ก็กินได้อย่างจำกัด เพราะการคุกคามยังไม่หยุด เรายังเคลื่อนไหวอยู่ แต่คนจะไม่รู้หรอกว่าทุกวันเราประสบกับการคุกคามอยู่ตลอดเวลา อย่างในเฟบุคจะมีฟังก์ชั่น photo tag เพราะฉะนั้นใครที่ไม่ได้อยู่ในเฟรนด์ลิสต์แต่เมื่อโพสต์อะไรเกี่ยวกับเราหรือเอารูปเราไปตัดต่อ เราจะเห็นทุกวันนะ แล้วมันก็หนักมากนะ ถ้าเป็นคดีตอนนี้โบว์ฟ้องคนได้เป็นหมื่นเลย เพราะฉะนั้นต้องมีความมั่นคงทางจิตใจในระดับหนึ่ง เราเข้าใจว่ากลไกในสังคมมันเป็นอย่างไร

แต่ความรู้สึก depressed ความรู้สึกหดหู่ มันเกิดจากกลไกทางสังคม สังคมเรามันขนาดนี้เลยหรอ เราอาจจะเคยคิดว่าสังคมเรามีดีมีแย่ แต่เราไม่เคยจินตนาการว่ามันขนาดนี้เลยนะ คนที่เป็นเหยื่ออาชญากรรมถูกกระทำซ้ำขนาดนี้ แม้แต่คนในวงการที่เราคิดว่าเขาจะไม่ทำก็ยังมีการป้ายสี

 

นอกจากน้ำหนักที่บอกว่ายังไม่กลับมา สิ่งอื่นๆ ล่ะ

จิตใจน่าจะเหมือนกับคนที่ประสบกับความเครียดต่อเนื่อง แต่ก็ถือว่าโอเค ถ้าพูดตรงๆ เราคิดว่าโชคดีที่เรื่องนี้เกิดกับตัวเรา เพราะองค์ประกอบในตัวเราทำให้รับมือกับสิ่งนี้ได้ หนึ่ง-คือวัย ถ้าเราอายุ 20 อาจตายได้นะ ประสบการณ์และวิธีคิดอาจยังไม่เป็นผู้ใหญ่เท่านี้ สอง-คือความเป็นแม่ ไม่ว่าจะเจอสิ่งหนักหนาในชีวิต แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อเพราะมีคนที่ต้องดูแล เคยได้ยินไหมที่เขาบอกว่า แม่ป่วยไม่ได้ ตายไม่ได้ มันก็เป็นแบบนั้นแหละ ลูกเราอายุ 11 แล้ว เราอยู่กับความเป็นแม่มา 11 ปี ก็มีคุณสมบัติของการป่วยไม่ได้ตายไม่ได้แบบนี้อยู่ สาม-คือความเป็นนักเคลื่อนไหว นักเคลื่อนไหวอยู่กับความอยุติธรมและแรงปะทะอยู่แล้ว เหมือนถูกฝึกมาระดับหนึ่ง แต่ถามว่าถูกฝึกมาในระดับที่รับกับเรื่องนี้ได้ชิลๆ ไหม โบว์ว่าไม่มีใครถูกฝึกมาให้รับกับสิ่งเหล่านี้ได้ ส่วนใหญ่คนไม่รู้หรอกว่าเราเจอกับอะไรบ้าง

แต่เท่าที่ดูจากข่าว ดูจากท่าที สีหน้า เราจะรู้สึกและมีคำถามว่า หัวใจของคุณทำด้วยอะไร

ด้วยธรรมชาติเป็นคนนิ่งๆ ที่คนเขาอาจจะเรียกว่าใจเย็น เหมือนกับมีสติมีสมาธิ แต่ก็ไม่ได้ใจเย็นขนาดนั้นหรอก ใจเย็นมากๆ มาเป็นนักเคลื่อนไหวไม่ได้หรอก มันต้องมีความรู้สึกรุ่มร้อนพอสมควร แต่มีเป้าหมายอยู่ว่าเราต้องการอะไร เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้เรามีเป้าหมายอย่างหนึ่งคือต้องการเปลี่ยน mindset ของสังคม เปลี่ยน mindset ต่อเหยื่อด้วย ไม่ว่าคุณจะเคยเป็นเหยื่อในวันนี้หรือเป็นเหยื่อในอนาคต คุณต้องได้เห็นตัวอย่างนี้นะว่าเมื่อเป็นเหยื่อคุณอย่าทำร้ายตัวเอง คุณต้องเข้าใจว่าคุณไม่ได้ทำอะไรผิดและยืนหยัดในหลักการเพื่อความยุติธรรม

เวลามีข่าวของเราออกไปตามเว็บข่าวต่างๆ เราก็จะเห็นคอมเมนต์ใต้ข่าวนั้น หลายคนก็จะบอกว่า หน้าด้านเนอะ มีเรื่องคลิปแล้วยังออกมาใช้ชีวิตในสังคมอยู่ได้ ยังออกมาเคลื่อนไหวอยู่ได้ นี่คือ mindset ในสังคมที่คิดว่าคนที่เจอเรื่องแบบนี้ควรจะไม่ตายไปเลยก็อยู่เงียบๆ หรือหลบไปเมืองนอก…หลบไป

ถ้าย้อนไปในสมัยที่ แหม่ม-คัทลียา ตั้งท้องแล้วต้องหนีไปคลอดที่อเมริกา เขาไม่ได้ทำอะไรผิดเลยนะ ถ้ามาพูดกันวันนี้ยิ่งตลกไปใหญ่ แต่ในความตลกของวันนี้กับชีวิตในวันนั้น เขาเจอหนักมากนะ เขาเป็นดาราด้วย แต่ถ้าเรื่องนั้นเกิดในวันนี้เขาคงไม่เจอหนักเท่านั้นมั้ง แต่ทำไมเราไม่ทำให้สิ่งนี้มันหายไปเลย ต่อไปนี้ใครท้องไม่ต้องหนีไปเมืองนอกแล้ว คุณไม่ได้ทำผิดต่อใคร เรื่องนี้ก็เป็นส่วนที่พยายามจะทำ เพราะฉะนั้นเราไม่ได้อยากให้คนลบความทรงจำกับเรื่องที่เกิดขึ้นกับเรา แต่อยากให้จำว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วเราดีลกับมันอย่างไร แล้วสังคมเดินหน้าไปกับมันยังไง

 

ซึ่งถ้าดูจากเสียงในสังคมก็ถือว่าสังคมเคลื่อนผ่านเรื่องนี้ไปพอสมควรแล้ว

สังคมรับมือได้ดีกว่าที่เราคิดไว้นะ อาจจะมีคลื่นใต้น้ำอยู่บ้าง แต่ลักษณะการโจมตีมันก็มีที่มาจากปฏิบัติการของ IO ด้วย และจากสังคมจริงๆ ส่วนหนึ่งด้วย แม้แต่เราไปทำกิจกรรมเเล้วมีการโปรยใบปลิว สิ่งเหล่านี้เป็นความพยายามที่เป็นกลไกพอสมควร เราไปดูโปรไฟล์ของคนที่เข้ามาด่าทอ เขาจะมีบางอย่างที่เหมือนๆ กัน ถูกจัดตั้งขึ้นมาเหมือนๆ กัน

 

ทราบมาว่ามีคนส่งข้อความเข้ามาหาคุณในแต่ละวันเยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นข้อความแบบไหน กำลังใจหรือโจมตี

ก็ไม่ได้เยอะมาก แต่ส่วนใหญ่ก็ให้กำลังใจ เราได้รับมากกว่าที่เราคิดว่าจะได้ ระดับของกำลังใจและความลึกซึ้งของข้อความที่เขาตั้งใจส่งมา มันเยอะเกินกว่าที่เราจินตนาการไว้มาก ถึงได้บอกว่าสังคมมีวุฒิภาวะ ส่วนหนึ่งเราคิดว่าต้นทุนของสิ่งที่เราทำมาก็อาจจะช่วยเราด้วยหรือเปล่า เพราะคนเห็นเราเคลื่อนไหว ค่อนข้างจะมีประวัติศาสตร์ของมัน การเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ของเราไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองด้วย อย่างเรื่องของ ไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) เรื่องของ แหวน (ณัฏฐธิดา มีวังปลา) ซึ่งไม่มีภาคการเมืองอยากจะเข้ามายุ่งหรือแม้แต่เรื่องรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญในตอนนั้น ซึ่งก็เห็นกันอยู่ว่าพวกพรรคการเมือง ‘อยู่เป็น’ กันขนาดไหน

 

เมื่อครู่บอกว่าไล่อ่านคอมเมนต์ ทำไมคุณเลือกที่จะอ่านแทนการปล่อยผ่านมันไป

อ่าน เป็นคนไม่หนี ต้องอยู่กับความจริงตลอดเวลา อ่านจนชิน ความชินถูกสร้างให้มนุษย์มีชีวิตรอด คนที่อยู่ในคุก 3-4 วันแรกส่วนใหญ่มักอยากฆ่าตัวตาย แต่พออยู่ไป 2 ปี 3 ปีเริ่มมีเพื่อนเยอะขึ้น กลายเป็นความชิน ต้องไปถามคนที่อยู่คุกนานๆ เขาจะมีโมเมนต์แบบนั้น อย่าง พี่สมยศ (พฤกษาเกษมสุข) ก็มีโมเมนต์จะเอาผ้าขาวม้ามาผูกคอตาย แต่แกก็อยู่จนกลายเป็นคนที่แกร่งที่สุดในคุก เป็นคนคอยให้คำปรึกษาคนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ แต่ว่าความชินมันไม่ได้หมายความว่าความเจ็บปวดจะหายไป เพียงแต่เราสามารถดีลกับมันได้

 

เวลาที่จิตใจมันดิ่งมากๆ มีใครไหมครับที่คุณสามารถพูดคุยได้

ก็ไม่นะ คิดด้วยเหตุและผลของเราไป ด้วยความที่เราไม่สงสัยในเป้าหมายของการยืนตรงนี้เลย อย่างเช่นเป้าหมายที่เราบอกว่าอยากให้คนที่จะเป็นเหยื่อต่อไปได้มีกำลังใจ เป้าหมายอย่างนี้มันเป็น drive เป็นแรงผลักดันที่ใช้คำว่าบริสุทธิ์ก็ได้ บริสุทธิ์ในแง่ที่ว่าเราไม่มีคำถามว่า ฉันควรทำไหม มันจบในตัวของมัน ว่าคุณต้องทำ ถ้าคุณไม่ทำแล้วคนอื่นที่ต้องเจอล่ะ เด็กอายุ 14 คนอื่นอีกเป็นร้อยเลยต้องเจอสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ เด็กไทยมีการ cyberbullying สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่หากพ้นประเด็นการเลือกตั้งไปแล้วเราจะขับเคลื่อนมันต่อ ประเด็น cyberbullying เป็นสิ่งที่พูดไว้ตอนปีใหม่ เรื่องของเรามันเกิดขึ้นก่อนช่วงคริสต์มาส สเตตัสวันปีใหม่ของเราพูดเรื่อง cyberbullying เราบอกว่าปีหน้าจะพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้เพื่อเปลี่ยนสังคม

เพราะต่อให้เราฟ้องทุกคนที่มา bully เราในโซเชียลมีเดีย ฟ้องให้หมดมันก็ไม่หายไป เพราะวัฒนธรรมไม่เปลี่ยน แต่ถ้าเรารณรงค์ตั้งแต่วัยเด็กก่อนที่เขาจะมีแอคเคาท์เฟบุ๊ค คุณต้องรู้ว่าผู้คนปฏิสัมพันธ์กันอย่างไรในโลกใบนั้น อะไรบ้างที่เรียกว่า cyberbullying อะไรบ้างที่เราไม่ควรทำ มันเป็นเรื่องที่เราเคยพูดถึงนะ แต่อาจจะไม่จริงจังกับมันเท่าวันนี้ เพราะวันนี้เราได้เจอกับตัวเองถึงรู้ว่าเวลามันหนัก มันหนักหนามากนะ เคสของเรามันอาจจะเอ็กซ์ตรีมมากๆ เป็นระดับชาติ แต่ปัญหาของมดก็คือปัญหาของมด ปัญหาของช้างก็คือปัญหาของช้าง เราอาจจะเจอปัญหาของช้าง เราอาจจะมองตัวเองเป็นช้าง เรารับมือกับมันได้ใช่ไหมคะ แต่เด็กวัยรุ่นอาจจะเจอเพื่อนในโรงเรียนแอนตี้ เราอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่มันอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เขาฆ่าตัวตายได้เลยนะ ก็เลยคิดว่าควรจะทำตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่มันชำรุดไปแล้ว ผู้ใหญ่ที่เข้ามาทำร้ายเราเราถือว่าเขาชำรุดแล้ว…แก้ยาก แต่กับเด็กเราสร้างได้ แต่จะไปซ่อมผู้ใหญ่ที่ชำรุด สู้เอาพลังงานไปสร้างเด็กที่มีคุณภาพจะได้ประโยชน์กว่า

 

อ่านสเตตัสหนึ่งของคุณพบว่ามันมีความเป็นนามธรรมที่น่าสนใจ ขออนุญาตอ่าน “โลกนี้มีคนเลวร้ายมากมายจนเราไม่เเคร์แล้วนะว่าจะอยู่หรือตาย สิ่งนั้นเป็นอิสระจากเวลาที่เหลืออยู่ เราเรียกสิ่งนั้นว่าความแข็งแกร่ง” อยากรู้ว่ามันคืออะไร

ถ้าอ่านระหว่างบรรทัดก็จะรู้ว่านั่นเป็นสเตตัสที่ down ที่สุดตั้งเเต่เกิดเรื่อง ตอนนั้นจิตตกและน่าจะเป็นสเตตัสเดียวที่โพสต์ในช่วงจิตตก ต้องการที่จะบอกว่าคนมันเลวร้ายจนกระทั่งถ้าตายเราก็ไม่เสียใจ คนส่วนใหญ่ไม่เก็ตหรอกนะ เวลาเราโพสต์อะไรที่มีนัยยะซ่อน สิ่งที่จะบอกก็คือเมื่อเราไม่แคร์ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ต่อไหมกลับกลายเป็นข้อดี คือเราก็กลายเป็นอิสระ พูดง่ายๆ เหมือนคนไม่กลัวตาย ไม่กลัวตายเพราะที่นี่มันเเย่ และการตายจากไปทำให้เราไม่ต้องอยู่ที่นี่อีกเเล้ว แต่เมื่อไม่กลัวก็เลยกลายเป็นว่าอิสระขึ้นมา จะทำอะไรก็ทำได้ คนที่มองเข้ามาก็เลยมองว่าผู้หญิงคนนี้เเข็งเเกร่งจังเลย ทั้งที่มันเป็นผลจากความเจ็บปวดระดับหนึ่ง แต่ผลที่ออกมาคือดี คนก็จะรู้สึกว่าใจถึงพึ่งได้ (หัวเราะ)

 

“ทำไมผู้หญิงคนนี้แข็งเเกร่งจัง สงบสง่าและเยือกเย็น” เวลาได้ยินคำพวกนี้คุณรู้สึกอย่างไร

ในเเง่หนึ่งมันก็ใช่ เพียงเเต่เขาไม่ได้รู้กระบวนการว่าก่อนจะมาถึงตรงนี้มันต้องผ่านอะไรบ้าง มันไม่ใช่เรื่องที่คนคนหนึ่งเเสดงออกว่าฉันเเข็งเเกร่งเเล้วมันจะเเข็งเเกร่ง มันต้องสอดคล้องระหว่างสิ่งที่เเสดงออกกับทัศนคติ ถ้าสอดคล้องกันก็คือความจริง เเต่ทัศนคติที่ช่วยเราไว้ก็คือทัศนคติที่ตั้งเป้าหมายว่าเราอยากจะสร้างสิ่งดีให้เกิดในสังคม อยากสร้าง mindset แบบนี้นะ เมื่อชัดเจนกับตัวเองว่าอยากสร้างสิ่งนี้ ระหว่างทางเดินก็ไม่ยากเท่าไหร่ เพราะเป้าหมายเราชัดเจน ถ้าเป้าหมายไม่ชัดเจน ระหว่างทางโดนหินปาใส่เราก็จะหันไปเจ็บปวด

สเตตัสสุดท้ายก่อนที่เราจะมาพูดคุยกันในวันนี้ คุณเขียนว่า “24 มีนา ถือปากกาฆ่าเผด็จการ”

โบว์คิดว่าเราได้จับปากกาเเน่ ก่อนหน้านี้เราเขียน “14 กุมภา จับปากกาฆ่าเผด็จการ” คราวนี้ 24 มีนาคม แม้วันเดิมมันหลุดลอยไป แต่เมื่อได้วันใหม่มาเราก็ชวนให้คนรู้สึกว่าพลังของคุณคือปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้นะ ทุกวันนี้คนค่อนข้างรู้สึก down รู้สึกว่าสู้เขาไม่ได้หรอก เพราะเดี๋ยวมันก็ล้มเลือกตั้งอีก เดี๋ยวมันก็ทำให้เป็นโมฆะอีก เดี๋ยวมันก็สร้างความวุ่นวายอีก เดี๋ยวมันก็ปาระเบิดอีก มันอาจจะทำนู่นนี่นั่นเพื่อล้มเลือกตั้งอีก คนก็จะคิดถึงเเต่ปัจจัยที่มาจากฝั่งนั้นทั้งสิ้นเลย ลืมว่าตัวเองก็เป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องนี้นะ เเล้วเป็นปัจจัยใหญ่ด้วย ก็คือพลังของประชาชน

เราพยายามกระตุ้นว่าคุณมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงนะ ภาพที่คุณมองคือภาพที่คุณไม่เห็นตัวเองอยู่ในนั้นเลย คุณมองตัวเองเป็นเหยื่อฝ่ายเดียวเลย มองว่ารัฐบาลมีอำนาจ คสช. มีอำนาจ กกต. ก็จะช่วยรัฐบาล คุณไม่เห็นตัวเองอยู่ในนั้นเลย แต่เมื่อไหร่คุณเห็นตัวเองอยู่ในนั้น มาร่วมรณรงค์กับ FFFE สิ เวลาเราไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่ไหน มาเเสดงพลังกับเราสิ จับตาการเลือกตั้งนะ เราสร้าง platform คุณรายงานเข้ามานะ คุณก็จะเริ่มเห็นว่าคุณเป็นปัจจัยสำคัญ เราเปลี่ยนมันได้ เมื่อถึงวันนั้นทุกคนจะไปกากบาท เราพยายามจะสร้างพลังมด

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Author

ชนม์นิภา เชื้อดวงผุย
นักศึกษาฝึกงานสายเลือดอีสานผู้แบกสังขารไปเรียนไกลถึงเมืองเหนือ เรียนเอกหนังสือพิมพ์ โทการต่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ สนใจสิ่งแวดล้อม มีเพื่อนสนิทเป็นหมอนและที่นอนนุ่มๆ

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า