พ้นสมัยการเมืองของคนรุ่นเก่า มาเลเซียเตรียมลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็น 18 ปี

“การเมืองแบบ ‘ฉันรู้ทุกสิ่งอย่าง’ จบลงแล้ว นี่คือการเมืองของการทำงานร่วมกัน สร้างการประสานงานและความร่วมมือระหว่างสองแนวร่วมทางการเมือง”

คือคำกล่าวของ เซด ซัดดิค อับดุล ราห์มาน (Syed Saddiq Abdul Rahman) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬามาเลเซีย หนึ่งในตัวตั้งตัวตีผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญลดอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 21 ปีลงมาเป็น 18 ปี

Syed Saddiq Abdul Rahman ภาพโดย World Economic Forum / Sikarin Thanachaiary

อังคารที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา จากการประชุมหลายชั่วโมง ผลคือ 211 จาก 222 เสียงในสภาฯ สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ โดยขั้นตอนต่อไปจะเป็นการพิจารณาในระดับวุฒิสภาก่อนจะประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุมากที่สุดในโลก มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) เองก็ยืนยันในที่ประชุมสภาฯ ว่า คนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวทางการเมืองมากกว่าในอดีต

“ความก้าวหน้าครั้งนี้คือการที่พวกเขาได้รับโอกาส พื้นที่ และเสียง ที่จะออกแบบประชาธิปไตยของประเทศผ่านการเลือกตั้ง”

การแก้ไขนี้จะทำให้ผู้มีอายุถึง 18 ปีได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิโดยอัตโนมัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง จากเดิมผู้มีอายุถึงเกณฑ์ 21 ปีต้องยื่นขอใช้สิทธิเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน ถ้าการผลักดันครั้งนี้ประสบผลสำเร็จในท้ายที่สุด ผู้มีอายุถึงเกณฑ์นี้ก็จะมีสิทธิลงสู่สนามแข่งขันทางการเมืองได้ด้วย

“นี่คือวาระของการให้อำนาจกับคนหลายรุ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬา เซด ซัดดิค วัย 26 ปี สมาชิกสภาที่อายุน้อยที่สุด เดินสายประสานการทำงานระหว่างพรรคและสองแนวร่วมทางการเมืองในรัฐบาลมาเลเซียเพื่อผลักดันการลดอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นอกจากเหตุผลด้านการพัฒนาประชาธิปไตย กลุ่มคนอายุน้อยก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้แนวร่วมแห่งความหวัง (Pakatan Harapan) เบียดเอาชนะแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional) ที่ปกครองประเทศมานานตั้งแต่ปี 1957 ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

คนรุ่นใหม่ไม่ได้จงรักภักดีต่อพรรคใดพรรคหนึ่งแบบไม่ลืมหูลืมตา บางคนบอกว่าคนรุ่นใหม่เป็นพวกโลเล แต่นี่มันไม่ได้เกี่ยวกับความโลเลนะ มันเกี่ยวกับการประเมินสถานการณ์ บนพื้นฐานของประเด็น บนพื้นฐานของผู้สมัคร ไม่ได้ดูแค่ตัวพรรคแล้วเทใจให้พรรคนั้นตลอดไป”

ซัดดิคให้สัมภาษณ์กับ Al Jazeera

เช่นเดียวกับนักวิเคราะห์การเมืองจากมหาวิทยาลัย Universiti Sains Malaysia ศิวะมุรุกัน ปันดิอัน (Sivamurugan Pandian) ที่บอกว่า การเพิ่มจำนวนของคนรุ่นใหม่ไม่ได้หมายความว่าเสียงของผู้สนับสนุนมหาเธร์หรือกลุ่มแนวร่วมพันธมิตรมีมากขึ้น

“ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่จะไม่มีพรรค พวกเขาไม่แสดงว่าสนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่ง” ปันดิอันย้ำคล้ายๆ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬาว่า “รูปแบบการโหวตจะสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาถูกจูงใจด้วยตัวประเด็นปัญหามากกว่า”

ปัจจุบันมาเลเซียมีประชากรประมาณ 32 ล้านคน การเลือกตั้งปี 2018 มีผู้มาใช้สิทธิ 12.3 ล้านคนจากผู้มีสิทธิทั้งหมด 14.9 ล้านคน การลดอายุครั้งนี้จะทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2023 ผู้มีสิทธิจะเพิ่มขึ้นราว 7.8 ล้านคน ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศมีจำนวนรวมเป็น 22.7 ล้านคน

บริดเจ็ต เวลช์ (Bridget Welsh) ผู้เชี่ยวชาญการเมืองมาเลเซียบอกว่า ผลโหวตของคนอายุต่ำกว่า 30 มีส่วนกำหนดหน้าตาอนาคตของประเทศในการเลือกตั้งสามครั้งหลัง รวมถึงการเลือกตั้งปี 2018 ที่ผ่านมา โดยเวลช์เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Malaysiakini ว่า “การที่คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมอย่างที่พวกเขาควรได้รับ เป็นก้าวย่างสำคัญสู่การทำให้รากฐานประชาธิปไตยของประเทศแข็งแรง”

 

การเมืองยุคใหม่ หมดสมัยการฝากอนาคตไว้ในมือคนรุ่นเก่า

ภาพจากเพจ Undi 18

ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยที่สหรัฐ ธาร์มา พิลไล (Tharma Pillai) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Undi18 กลุ่มรณรงค์สิทธิเลือกตั้งที่อายุ 18 ปี ได้มีโอกาสเห็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 ที่คนรุ่นใหม่เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งวิพากษ์วิจารณ์ผู้สมัคร และถกเถียงเรื่องนโยบายของแต่ละพรรค

ธาร์มา พิลไล เริ่มหันมามองประเทศตัวเอง เขาคิดว่าคนรุ่นใหม่ในประเทศมักถูกมองว่า “เด็กเกินไป” ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองตอนอายุ 18 ทั้งที่ในวัยเดียวกัน พวกเขามีสิทธิแต่งงาน ขับรถ และเข้าสู่กองทัพ

“มาเลเซียถูกบริหารโดยรัฐบาลผู้เฒ่าเป็นพื้นฐานเลย ถูกควบคุมโดยพวกคนแก่ๆ” พิลไลวัย 26 ปีให้ความเคารพคนรุ่นก่อน แต่เขาก็เชื่อว่า ถึงเวลาแล้วที่การเมืองมาเลเซียควรถูกบริหารด้วยคนหลายช่วงวัย ไม่ใช่ผูกขาดอำนาจไว้ที่คนรุ่นเก่าเหมือนที่เคยเป็นมา

“นายกรัฐมนตรีของเรามีอายุมากที่สุดในโลก และคนที่จะมาเป็นนายกฯ ต่อก็เป็นคนแก่” เขาอ้างอิงถึง มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีวัย 94 ปี และ อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) วัย 71 ปี

“ถ้าคุณอายุ 40 คุณจะถูกมองว่าเป็นมือใหม่ นั่นมันไร้สาระจริงๆ”

 

สิทธิทางการเมืองที่เคยถูกริบไปจากมือเยาวชน

กฎหมายของมาเลเซียห้ามให้นักเรียนนักศึกษามีส่วนร่วมทางการเมืองตั้งแต่ยุค 1970s หลังเหตุการณ์ประท้วงและชุมนุมใหญ่หลายครั้ง นักศึกษาบางคนต้องหลบหนีออกนอกประเทศ ไม่น้อยถูกจับกุมคุมขัง มีกฎหมาย Universities and University College Act ออกมาในปี 1971 ให้สถาบันการศึกษาห้ามนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองใดๆ

รัฐมนตรีซัดดิคซึ่งมีความตื่นตัวทางการเมืองมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาในวิทยาลัยกองทัพ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องได้รับการปฏิรูปให้นักศึกษามีส่วนร่วมทางการเมือง รวมถึงต้องอนุญาตให้มีสหภาพนักเรียนนักศึกษาได้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
aljazeera.com
channelnewsasia.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า