มาเลเซีย: พระราชามาจากการเลือกตั้ง ส่วนผสมของสหพันธรัฐกับราชาธิปไตย เคล้ากลิ่นอายระบอบศักดินา

  • สถาบันกษัตริย์มาเลเซียมีการเลือกตั้งพระราชาธิบดี โดยการลงมติจากบรรดาเจ้าผู้ปกครองรัฐทั้ง 9 และสามารถถอดถอนลงจากราชบัลลังก์ได้
  • ภายหลังการสละราชบัลลังก์ของพระราชาธิบดีครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นำมาซึ่งการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ภายใต้บริบทการเมืองภายใน และแรงกดดันจากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19
  • กฎหมายป้องกันการปลุกปั่นให้ต่อต้านอำนาจรัฐกินความหมายกว้างขวางและเริ่มถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากขึ้น ท่ามกลางผู้ประท้วงทั้งประชาชนและอีกหลายองค์กรที่แสดงความไม่พอใจไปยังรัฐบาล

จุดเด่นที่สำคัญของประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์มักชูเรื่องความมั่นคงและการสืบเนื่องของราชวงศ์เพื่อเป็นเสาหลักให้กับสังคมเสมอมา แต่ใช่ว่าทุกประเทศที่ประมุขของรัฐผู้เป็นกษัตริย์จะสามารถครองบัลลังก์ได้อย่างถาวรตลอดอายุขัย บางประเทศกลับมีกษัตริย์ที่ขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนจากเจ้าผู้ครองรัฐที่ถือสิทธิในการเลือก ‘ราชาในหมู่ราชัน’ ของตน

มาเลเซีย คือหนึ่งในประเทศที่สถาบันกษัตริย์มีกลไกสืบทอดอำนาจแปลกไปจากสถาบันกษัตริย์ประเทศอื่นด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้สถานะของสถาบันกษัตริย์ที่โดยปกติแล้วจะมีจุดแข็งในการสืบทอดอำนาจได้ยาวนานหลายสิบปี กลายเป็นว่าต้องมีการเลือก ‘พระราชาธิบดี’ ใหม่ในทุกวาระ 5 ปี วิธีคิดและพฤติกรรมของหลายตัวละครทางสังคมที่อยู่รายรอบสถาบันกษัตริย์จึงมีความเป็นตัวของตัวเอง โดยเฉพาะกลุ่มอำนาจเก่าอย่างเหล่า ‘เจ้าผู้ครองรัฐ’ หรือ ‘สุลต่าน’ ที่ยังสามารถดำรงอยู่คู่กับระบอบการปกครองของโลกใหม่อย่างระบอบประชาธิปไตยได้ 

สิ่งเหล่านี้ทำให้มุมมองของผู้คน สังคม และบริบททางการเมืองของกษัตริย์มาเลเซีย หรือที่เรียกว่า ‘ยังดีเปอร์ตวนอากง’ (Yang di-Pertuan Agong) มีความโดดเด่นมากกว่ากษัตริย์ประเทศอื่นที่มีการผูกขาด สืบทอด และครองอำนาจได้อย่างคงทนถาวร รวมไปถึงมิติทางวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสังคมมาเลเซีย ยังมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจไม่เหมือนที่ใดในโลก

ตำแหน่ง ‘ยังดีเปอร์ตวนอากง’ ในความหมายของ ‘ผู้ถูกทำให้กลายเป็นเจ้า’

หากจะสืบสาวไปยังรากฐานของสถาบันกษัตริย์มาเลเซียยุคใหม่ จำเป็นต้องย้อนกลับไปดูการถอนตัวของเจ้าอาณานิคมอังกฤษจากแหลมมลายูในปี ค.ศ. 1957 ซึ่งมีส่วนทำให้มรดกของระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษที่ตกค้างอยู่ได้ผสมเข้ากับแนวคิดเดิมของผู้คนในท้องถิ่นที่ให้ความสำคัญกับการมีเจ้าผู้ปกครองรัฐอิสระ และเมื่อเกิดการรวมตัวกันจนกลายเป็นสาธารณรัฐมลายาในปี ค.ศ. 1946 จนถึงสหพันธรัฐมาเลเซียหลัง ค.ศ. 1965[1] สถาบันกษัตริย์มาเลเซียจึงกลายเป็นลูกผสมของระบบความคิดทางการเมืองจากสองอารยธรรมที่มีความโดดเด่นแตกต่างจากสถาบันกษัตริย์ชาติอื่นทั่วโลก

พระราชาธิบดี อับดุลละฮ์ ชะฮ์

พระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย หรือเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า ‘ยังดีเปอร์ตวนอากง’ ที่หมายถึง ‘ผู้ถูกทำให้กลายเป็นเจ้า’ (He Who is Made Lord) สะท้อนให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ของมาเลเซียมีสถานะ ‘ผู้ถูกกระทำ’ ให้เป็นเจ้า มากกว่าการสถาปนาตนเอง และยังสื่อให้เห็นถึงวัฒนธรรมการเลือกตั้งที่ฝังรากลึกจากยุคสมัยของการล่าอาณานิคม โดยผู้ที่มีสิทธิในการออกเสียงเลือกกษัตริย์คนใหม่ขึ้นมาจากหมู่คณะของพวกเขาเอง คือ เหล่าเจ้าผู้ครองรัฐทั้ง 9 แห่ง ได้แก่ ยะโฮร์, กลันตัน, เนกรีเซมบีลัน, ปะหัง, เประ, ปะลิส, สลังงอร์ และ เตรังกานู โดยเจ้าผู้ครองรัฐเหล่านั้นต่างดำรงตำแหน่ง ‘สุลต่าน’ ยกเว้นรัฐเนกรีเซมบีลัน ที่ใช้ชื่อตำแหน่งว่า ‘ยังดีเปอร์ตวนเบอซาร์’ (Yang di-Pertuan Besar) และรัฐปะลิส ที่ใช้ชื่อตำแหน่งว่า ‘ราจา’ (Raja)[2]

นอกจากจะถูกเลือกให้กลายเป็นกษัตริย์แล้ว พระราชาธิบดียังมีโอกาสที่จะถูกลงมติ ‘ถอดถอน’ ออกจากตำแหน่งโดยสมาชิกสภาเจ้าผู้ครองรัฐทั้ง 9 ได้อีกด้วย[3] ซึ่งแตกต่างไปจากประเทศอื่นอย่างสหราชอาณาจักรที่ไม่อาจถอดถอนกษัตริย์ลงจากบัลลังก์ได้เลย หรือระบอบประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีที่สามารถถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ด้วยหลายช่องทาง

ถึงแม้พระราชาธิบดีจะไม่ได้มีอำนาจในการบริหารปกครองโดยตรง เนื่องจากสังคมมาเลเซียโอบรับแนวคิดประชาธิปไตยแบบอังกฤษ แต่ก็มีอำนาจและเป็นที่ยอมรับในเชิงวัฒนธรรมและศาสนาอย่างสูง โดยพระราชาธิบดีมาเลเซียมีฐานะเป็นเกียรติภูมิของประเทศและสัญลักษณ์ของผู้นำวิถีชีวิตมุสลิม ด้วยการดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำศาสนาของชาติ

ผลผูกพันต่อหน้าที่ของผู้ที่ได้รับเลือกเป็นกษัตริย์มาเลเซียยังสะท้อนให้เห็นได้จากมาตราที่ 33 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า กษัตริย์มาเลเซียจะไม่สามารถออกจากสหพันธรัฐได้เกินกว่า 15 วัน นอกเหนือจากมีเหตุผลอันสมควรหรือจำเป็น[4] ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภาระผูกพันในหน้าที่ของกษัตริย์กับแผ่นดินมาเลเซียมีความสำคัญยิ่ง ดังที่ถูกบันทึกเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรตามรัฐธรรมนูญ 

ท่าทีในการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญของสถาบันกษัตริย์ อย่างการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือผู้ตรวจสอบบัญชีการเงินแห่งชาติ (National Auditor) ยังคงต้องผ่านการปรึกษาหารือกับนายกรัฐมนตรีและสภาเจ้าผู้ครองรัฐทั้ง 9 อีกด้วย[5] ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถทำตามอำเภอใจได้ในการทำกิจกรรมใดๆ ที่จะส่งผลต่อสาธารณะ และอำนาจของสถาบันกษัตริย์ขึ้นอยู่กับการต่อรองและปรึกษาหารือกันระหว่างเครือข่ายเจ้าผู้ครองนครรัฐทั้ง 9 กับกลุ่มอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งอย่างรัฐบาลและพรรคการเมือง

อย่างไรก็ตาม สถาบันกษัตริย์มาเลเซียยังคงไว้ซึ่งอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 40 คน จากทั้งหมด 70 คน[6] โดยเกณฑ์การแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญระบุว่าต้องเป็นตัวแทนที่มาจากแต่ละรัฐและเขตการปกครองย่อยอื่นๆ ซึ่งถึงแม้จะเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของทุกพื้นที่ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสถาบันกษัตริย์สามารถมีอิทธิพลโดยตรงต่อรัฐสภาได้ผ่านอำนาจในการแต่งตั้งดังกล่าว

จากบทบาทและหน้าที่ของสถาบันกษัตริย์ที่ถูกบันทึกไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จึงกล่าวได้ว่าตัวแสดงทางการเมืองอย่างสถาบันกษัตริย์มาเลเซียมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในโครงสร้างการเมือง และเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่จำเป็นสำหรับการใช้อำนาจทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ของสถาบันสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาล และศาล รวมไปถึงตัวแสดงอื่นๆ ที่มีผลทางสังคมการเมืองอย่างสภาอิสลามแห่งชาติ อัยการสูงสุด สภาเจ้าผู้ครองนครรัฐ และอื่นๆ[7]

จากรัฐกลันตันสู่รัฐปะหัง การเปลี่ยนผ่านพระราชาธิบดีในโลกสมัยใหม่

พระราชาธิบดี มูฮัมหมัดที่ 5 และ ออคซานา โวอีโวดินา (Oksana Voevodina) | photo: Rihana Oksana Petra

ในปี 2016 สภาเจ้าผู้ครองนครรัฐได้เลือกสุลต่านมูฮัมหมัดที่ 5 จากรัฐกลันตันขึ้นเป็นเปอร์ตวนอากงพระองค์ที่ 15 และเป็นพระราชาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดด้วยพระชนมายุเพียง 47 พรรษา และยังมีความสนใจในกิจกรรมสมัยใหม่อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการขับรถออฟโรด กีฬายิงปืน มอเตอร์สปอร์ต ฟุตบอล ไปจนถึงการอ่านเขียนและออกงานสังคมเพื่อสนับสนุนการมีสุขภาพดี[8]

พระราชาธิบดีมูฮัมหมัดที่ 5 ถูกจดจำในฐานะพระราชาธิบดีพระองค์แรกที่ครองราชย์โดยไม่มีพระมเหสีอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 พระองค์ได้ออกจากสหพันธรัฐเพื่อเข้ารับการรักษาสุขภาพในต่างประเทศ พร้อมๆ กับการแพร่หลายของพระบรมฉายาลักษณ์จำนวนมากของพระองค์ในพิธีแต่งงานกับอดีตนางงาม Miss Moscow ชาวรัสเซีย ออคซานา โวอีโวดินา (Oksana Voevodina) วัย 25 ปี ในช่วงเวลาที่พระองค์ไม่อยู่ในสหพันธรัฐพอดี[9] ทำให้เกิดข้อครหาเป็นวงกว้างในสังคมอินเทอร์เน็ตของมาเลเซีย และนำมาซึ่งการสละราชบังลังก์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มาเลเซียนับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1957 แม้ว่าทางสำนักพระราชวังจะไม่ได้ออกมาให้การยอมรับหรือปฏิเสธว่าเหตุการณ์นี้เป็นสาเหตุของการสละราชบัลลังก์หรือไม่ก็ตาม

การสละราชบัลลังก์ดังกล่าวทำให้สภาเจ้าผู้ครองรัฐจำเป็นต้องประชุมเร่งด่วนเพื่อเฟ้นหาพระราชาธิบดีองค์ใหม่ และทำให้สุลต่านอับดุลละฮ์ ชะฮ์ แห่งรัฐปะหัง ได้รับเลือกเป็นพระราชาธิบดีองค์ต่อไปของสหพันธรัฐมาเลเซีย 

พระบรมราโชวาทเนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้แสดงถึงความห่วงใยด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ โดยพระองค์ได้ตรัสว่า “ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคมคือเสาหลักหนึ่งของชาติ จงอย่าขุดคุ้ยความเข้าใจผิดด้านเชื้อชาติโดยการนำเรื่องที่จะเป็นอันตรายต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความสมานฉันท์ของชาติ” เนื่องจากมาเลเซียมีกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมมาเลเซียอยู่ถึงร้อยละ 60 จากประชากร 32 ล้านคน ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายจีนและอินเดียรวมกัน คิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด[10] ความขัดแย้งบนสนามการเมืองจึงเป็นภาพสะท้อนความไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่สถาบันกษัตริย์เริ่มหันมาให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองภายในมาเลเซียทวีความรุนแรงขึ้น สถาบันกษัตริย์มาเลเซียก็เริ่มแสดงบทบาทมากกว่าการเป็นเพียงสัญลักษณ์ของชาติหรือการเป็นผู้นำคนสำคัญในพิธีกรรมทางศาสนา เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรี มาฮาดีร์ บิน โมฮาหมัด (Mahathir bin Mohamad) ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในรัฐสภาช่วงปี 2020 สถาบันกษัตริย์มาเลเซียจึงต้องก้าวเข้ามาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในการ ‘แต่งตั้ง’ ผู้ที่พระองค์เชื่อว่าได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจากสภา ซึ่งไม่บ่อยครั้งนักที่สถาบันกษัตริย์จะเข้ามาใช้อำนาจเช่นนี้ เนื่องจากตามปกติแล้วกระบวนการเลือกตั้งจะเป็นตัวตัดสินชี้ขาดในการหาผู้เหมาะสมสำหรับการตั้งรัฐบาล 

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ มุฮ์ยิดดิน ยัซซิน (Muhyiddin Yassin) ถูกเลือกขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคที่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง[11] ซึ่งต่อมาพรรคองค์การมลายูรวมแห่งชาติ (United Malays National Organisation: UMNO) ได้ข่มขู่ว่าจะถอนการสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรียัซซินจนเกิดเป็นความตึงเครียดทางการเมืองขึ้นอีกครั้ง อดีตนายกรัฐมนตรียัซซินจึงได้พยายามขอใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากสถาบันกษัตริย์เพื่อยื้อเวลาทางการเมืองออกไป ทว่าสถาบันกษัตริย์กลับไม่อนุมัติในการออกประกาศดังกล่าว และพระราชาธิบดี อับดุลละฮ์ ชะฮ์ ยังได้ออกมาต่อว่านักการเมืองในรัฐสภาผ่านสำนักพระราชวังอีกด้วยว่า “พระราชาธิบดีต้องการย้ำเตือนเหล่านักการเมืองในรัฐสภาว่า การต่อสู้ทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคลจะเป็นความเสียหายของชาติที่มีประชาชนภายในประเทศเป็นเหยื่อ เนื่องจากประเทศยังคงเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19” ซึ่งพยายามสะท้อนให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์ต้องการให้มีการต่อสู้ทางการเมืองในรัฐสภาน้อยที่สุดเพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดิน ประจำปี 2021 ผ่านการพิจารณาและสามารถนำมาใช้ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 อย่างไม่มีข้อติดขัดทางการเมืองใดๆ[12]

ต่อมาสถาบันกษัตริย์ได้ออกมาตำหนิอดีตนายกรัฐมนตรียัซซินอีกด้วย เนื่องจากมีการยกเลิกข้อกฎหมายบางมาตราในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่ได้รับความยินยอมจากสถาบันกษัตริย์ เหตุการณ์นี้ทำให้คะแนนความนิยมของอดีตนายกรัฐมนตรีตกต่ำลงอย่างมากและนำมาสู่การประกาศลาออก ขณะที่ฝ่ายค้านและขั้วตรงข้ามทางการเมืองอื่นๆ ระบุว่าการกระทำของอดีตนายกรัฐมนตรียัซซินคือ ‘การเป็นกบฏต่อราชบัลลังก์อย่างชัดเจน’[13]

“เราได้รับจดหมายหลายร้อยฉบับที่เต็มไปด้วยความเศร้า และอีกหลายพันฉบับที่เต็มไปด้วยความหวัง ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้พวกเขาได้กลับไปใช้ชีวิตดังเดิม”[14] พระราชาธิบดี อับดุลละฮ์ ชะฮ์ ตรัสในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองในรัฐสภาค่อยๆ ฟื้นฟูขึ้นหลังการลาออกของอดีตนายกรัฐมนตรียัซซินที่ถูกครหาว่าบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ไม่ดีเพียงพอ 

จากพัฒนาการทางอำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่เพิ่มสูงขึ้น และเริ่มขยับเข้ามาเกี่ยวข้องกับบทบาททางการเมืองอย่างเป็นทางการมากขึ้น ถึงแม้จะยังไม่ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างนัก แต่นักกฎหมายรัฐธรรมนูญ นิว ซิน ยิว (New Sin Yew) ได้แสดงความกังวลถึงอนาคตของสถาบันกษัตริย์มาเลเซียเอาไว้ว่า สถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมาเลเซียได้ขยายขอบเขตของอำนาจถึงขีดสุดแล้วในช่วงที่เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และอาจจะกลายเป็นแบบอย่างให้สถาบันกษัตริย์ในอนาคตใช้อำนาจเกินขอบเขตปัจจุบันไปอีกมากได้

กฎหมายปิดปาก มรดกจากยุคศักดินาอาณานิคม

มาเลเซียไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันกษัตริย์โดยตรงจากการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ประมวลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปลุกปั่นหรือปลุกระดมให้แข็งขืนต่ออำนาจรัฐยังมีการบังคับใช้อยู่ ภายใต้ชื่อว่า ‘Sedition Act 1948’ ในมาตราที่ 4 ว่าด้วยการเตรียมการ การกระทำ หรือเผยแพร่ถ้อยคำที่มีความจงใจหรือลักษณะเป็นการปลุกปั่น ต้องโทษปรับไม่เกิน 5,000 ริงกิต หรือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ[15]

ในปี 2019 อดีตนายกรัฐมนตรี มุฮ์ยิดดิน ยัซซิน ในขณะนั้นที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ได้ออกมากล่าวต่อสาธารณะว่ารัฐบาลมาเลเซียไม่มีแนวคิดที่จะบัญญัติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (Lèse Majesté) เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย[16] เนื่องจากกฎหมายป้องกันการปลุกปั่นอย่าง Sedition Act 1948 นั้นเพียงพอต่อการใช้งานแล้ว อย่างไรก็ตาม ตลอด 7 ปีที่ผ่านมามีการสืบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทเจ้าผู้ครองนครรัฐและพระราชาธิบดีมาเลเซียบนโลกอินเทอร์เน็ตอยู่ถึง 97 กรณี โดยมีถึง 11 กรณีที่ถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมาย Sedition Act 1948 กฎหมายอาญา ไปจนถึงกฎหมายด้านการสื่อสารและมัลติมีเดีย ปี 1998 

กฎหมาย Sedition Act 1948 เป็นมรดกจากการอยู่ใต้การอารักขาของเจ้าอาณานิคมอังกฤษที่ใช้สำหรับการปราบปรามกลุ่มคอมมิวนิสต์ในมาเลเซีย ภายหลังได้มีการขยายรายละเอียดนอกจากการคุ้มครองระบอบการปกครอง ผู้ปกครองทั้ง 9 คน และพระราชาธิบดีแล้ว ยังครอบคลุมถึงเรื่องการปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังด้านเชื้อชาติและศาสนาที่มาเลเซียให้ความสำคัญเป็นอย่างมากอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ได้มีการพยายามที่จะปฏิรูปกฎหมายฉบับนี้โดยอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก (Najib Razak) ในปี 2012 เนื่องจากเขาเห็นว่ามันคือสัญลักษณ์ของ ‘ยุคสมัยที่ผ่านพ้นไปนานแล้ว’ ทว่าการปฏิรูปดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงจากปัญหาแตกแยกภายในของพรรคร่วมรัฐบาล[17]

กฎหมายฉบับนี้จึงยังคงถูกใช้ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ต้องหาในคดีที่เกิดขึ้นจากกฎหมายฉบับดังกล่าว ส่วนมากคือนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล นักกิจกรรม สื่อมวลชน ไปจนถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย จนทำให้เกิดการเดินขบวนประท้วงข้อกฎหมายดังกล่าวของกลุ่มนักศึกษาและองค์กรนักกฎหมายมาเลเซียในปี 2014[18] ขณะที่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Civil Society Organisations (CSO) และ The International Federation of Journalists (IFJ) ได้ออกมาร่วมเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบกฎหมาย รวมไปถึงการยกเลิกกฎหมาย Sedition Act 1948 ในเดือนกันยายนปี 2021 ด้วยเช่นกัน[19]

ไม่ใช่แต่เพียงในแง่มุมกฎหมาย แต่การกล่าวร้ายถึงคณะผู้ปกครองไม่ว่าจะเจ้าผู้ปกครองรัฐทั้ง 9 หรือพระราชาธิบดี สำหรับประชาชนทั่วไปก็อาจจะถูกลงโทษทางสังคมได้เช่นกัน โดยในปี 2019 บริษัทสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าอย่าง Tenaga Nasional Berhad (TNB) ได้สั่งพักงานพนักงานผู้หมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ลงบนอินเทอร์เน็ต พร้อมระบุไว้ในแถลงการณ์ของบริษัทว่า “ในฐานะที่เป็นบริษัทที่มีคุณค่าสูงและมีความซื่อสัตย์ เราจะไม่อดทนอดกลั้นหากพนักงานของเรากระทำเช่นนี้”[20] และการลาออกของแพทย์ผู้วิพากษ์วิจารณ์อดีตราชาธิบดีมูฮัมหมัดที่ 5 ภายใต้แถลงการณ์ของสมาคมคลินิก The Mediviron Group of Clinics ที่ออกมาแสดงความเสียใจต่อการแสดงออกของแพทย์คนดังกล่าวที่ทำร้ายความรู้สึกของชาวมาเลเซียทั้งชาติ[21]

สถาบันกษัตริย์ที่เริ่มขยายแขนขา กับกลุ่มต่อต้านที่ยังคงขยายแนวรบ

ทุกวันนี้คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สหพันธรัฐมาเลเซียมีระบอบการปกครองที่โดดเด่นไม่เหมือนประเทศใดในโลก เนื่องจากสามารถนำการปกครองรูปแบบสหพันธรัฐมาผสมเข้ากับราชาธิปไตย ที่ยังคงมีกลิ่นอายของระบอบศักดินาโบราณอย่างบรรดาสายตระกูลของเจ้าผู้ปกครองรัฐทั้ง 9 มารวมกันได้อย่างลงตัว 

ถึงแม้ว่าสถาบันกษัตริย์มาเลเซียจะถูกจำกัดอำนาจในทางนิตินัยไว้ด้วยรัฐธรรมนูญ และในทางพฤตินัยด้วยอำนาจของสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐทั้ง 9 รวมไปถึงการต้องคอยปรึกษาหารือกับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ทว่าอำนาจของสถาบันกษัตริย์กลับเริ่มเป็นตัวชี้ขาดทางการเมืองมากขึ้นเมื่อเกิดสถานการณ์พิเศษอย่างการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ผลการจัดตั้งรัฐบาลไม่ลงตัว อย่างไรก็ตาม การขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบันเริ่มเป็นที่น่ากังวลเมื่อเหตุการณ์กลับสู่สภาวะปกติ เนื่องจากมีข้อกังวลว่าอำนาจที่เคยแผ่กิ่งก้านออกไปเช่นนี้จะสามารถหดกลับมาอยู่ที่เดิมได้หรือไม่

ถึงแม้จะมีสถาบันกษัตริย์ที่มีองค์ประกอบของการเลือกตั้งและให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญเสมือนระบอบการปกครองของบรรดาประเทศประชาธิปไตยตะวันตก แต่การวิพากษ์วิจารณ์เหล่าชนชั้นปกครองก็ยังคงเป็นสิ่งที่กระทำได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากกฎหมายที่เป็นมรดกมาจากยุคศักดินาอาณานิคมยังคงถูกบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อครหาที่ว่ากฎหมายนี้เป็นอาวุธทางการเมืองในการปิดปากและปราบปรามผู้เห็นต่าง

กล่าวได้ว่าสถาบันกษัตริย์มาเลเซียและสภาเจ้าผู้ปกครองรัฐทั้ง 9 กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์อีกครั้งหลังผ่านพ้นวิกฤติ COVID-19 ไปแล้ว การริเริ่มที่จะปฏิรูปกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนจะถูกนำกลับมาพิจารณาตามข้อเรียกร้องหรือไม่ สถาบันกษัตริย์จะแสดงท่าทีอย่างไรต่อไป เส้นทางของเหล่าชนชั้นนำที่เดินคู่ขนานไปกับสังคมประชาธิปไตยเสรียังคงถูกปิดบังด้วยสายหมอกของอนาคตที่ใกล้จะมาถึง

ที่มา

[1] สุมาลี สุขดานนท์. (2554). การครอบครองคาบสมุทรมลายูของมหาอำนาจตะวันตก. สถาบันการขนส่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, จาก http://www.cuti.chula.ac.th/triresearch/malau/malau.html 

[2] Om Marathe. (2019). Explained: Malaysia is the world’s only monarchy of its kind. Here’s why. The Indian Express, From https://indianexpress.com/article/explained/explained-malaysia-is-the-worlds-only-monarchy-of-its-kind-heres-why-5874995/ 

[3] วรรค 3. มาตรา 32. บทที่ 1 ประมุขแห่งรัฐ. ตอนที่ 4 ว่าด้วยสหพันธรัฐ. รัฐธรรมนูญสหพันธรัฐมาเลเซีย, จาก https://www.jac.gov.my/spk/images/stories/10_akta/perlembagaan_persekutuan/federal_constitution.pdf 

[4] มาตรา 33. บทที่ 1 ประมุขแห่งรัฐ. ตอนที่ 4 ว่าด้วยสหพันธรัฐ. รัฐธรรมนูญสหพันธรัฐมาเลเซีย, จาก https://www.jac.gov.my/spk/images/stories/10_akta/perlembagaan_persekutuan/federal_constitution.pdf 

[5] มาตรา 105. บทที่ 1 บททั่วไป. ตอนที่ 7 ว่าด้วยบทบัญญัติทางการเงิน. รัฐธรรมนูญสหพันธรัฐมาเลเซีย. จาก https://www.jac.gov.my/spk/images/stories/10_akta/perlembagaan_persekutuan/federal_constitution.pdf 

[6] Portal Rasmi Parlimen Malaysia. (2021). Statistics of Members of the Senate. State Council Statistics, From https://www.parlimen.gov.my/statistik-dn.html?uweb=dn& 

[7] Dzulkifli, Fatimah Zainab and Mohd Zameri, Nasrul Dadziruddin. (2010). The functions of constitutional monarchy in Malaysian political system: The perceptions of Malay community. In: Proceedings Seminar on Nasional Resilience (SNAR 2010) “Political Managements and Policies in Malaysia”, 13-15 July 2010, Bayview Hotel Langkawi. Institute of Tun Dr. Mahathir Mohamad’s Thoughts, Universiti Utara Malaysia, Sintok, pp. 353-369. ISBN 983-44865-3-2, http://repo.uum.edu.my/3182/ 

[8] Malaysia king: Sultan Muhammad V sworn in. BBC, From https://www.bbc.com/news/world-asia-38298610 

[9] Malaysia king: Sultan Muhammad V abdicates in historic first. (2019). BBC, From https://www.bbc.com/news/world-asia-46775499 

[10] THE ASSOCIATED PRESS. (2019). Malaysia’s new king calls for racial unity at coronation. The Asahi Shimbun, From https://www.asahi.com/ajw/articles/13061034 

[11] Rozanna Latiff. (2021). Monarchy reshaped as Malaysia’s king looks to end political turmoil. Reuters, From https://www.reuters.com/world/asia-pacific/monarchy-reshaped-malaysias-king-looks-end-political-turmoil-2021-08-19/ 

[12] Rozanna Latiff, Joseph Sipalan. (2020). Malaysia’s king urges fractious lawmakers to back budget. Reuters, From https://www.reuters.com/article/us-malaysia-politics-idUSKBN27D0PW 

[13] Joseph Sipalan. (2021). Malaysian premier faces calls to resign after palace rebuke. Reuters, From https://www.reuters.com/world/asia-pacific/malaysian-premier-faces-calls-resign-after-palace-rebuke-2021-07-29/ 

[14] Hazlin Hassan. (2021). Malaysian King tells MPs not to gamble with country’s future amid Covid-19 pandemic. The Straits Times, From https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/malaysian-king-tells-mps-not-to-gamble-with-countrys-future-amid-covid-19-pandemic 

[15] มาตรา 4. การกระทำผิด. Sedition Act 1948 (Revised 1969), จาก http://www.commonlii.org/my/legis/consol_act/sa19481969183/ 

[16] Kenneth Tee. (2019). Putrajaya says ‘no’ to lese majeste laws. Malay mail, From https://www.malaymail.com/news/malaysia/2019/04/01/putrajaya-says-no-to-lese-majeste-laws/1738508 

[17] Jennifer Pak. (2014). What is Malaysia’s sedition law? BBC, From https://www.bbc.com/news/world-asia-29373164 

[18] V. ANBALAGAN. (2014). Bar vows sedition protest march sooner than later. Malaysian Bar, From https://www.malaysianbar.org.my/article/news/legal-and-general-news/legal-news/bar-vows-sedition-protest-march-sooner-than-later 

[19]IFJ Asia – Pacific. (2021). Malaysia: CSOs call for repeal of Sedition Act and stop the persecution of activists. International Federation of Journalists, From https://www.ifj.org/media-centre/news/detail/category/press-releases/article/malaysia-csos-call-for-repeal-of-sedition-act-and-stop-the-persecution-of-activists.html 

[20] Bernama. (2019). TNB suspends employee for insulting the royal institution. Malaysia Kini, From https://www.malaysiakini.com/news/459426

[21] Doctor resigns over insult to former Agong. (2019). Malaysia Kini, From https://www.malaysiakini.com/news/459501 

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า