“ท่านประทานที่เคารพ ดิฉัน จิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด เขต 5 พรรคเพื่อไทย ดิฉันจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในคดีเหมืองทองอัคราฯ ตามข้อกล่าวหา ดังนี้…”
ไม่มีคำสบประมาทใดมีน้ำหนักอีกต่อไป หลังการอภิปรายในรัฐสภาหลายต่อหลายครั้งของ จิราพร สินธุไพร ไม่ว่าจะการอภิปรายวิพากษ์ถึงนโยบายเศรษฐกิจ หรือการชำแหละคดีอันโด่งดังอย่างเหมืองแร่ทองคำอัคราฯ
ผลงานของเธอตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ส.ส. บอกกับเราชัดเจนว่า เธอทำการบ้านอย่างหนักหน่วง ทุกคำพูดของเธอไม่เคยไร้ข้อมูลหลักฐานพิงหลัง ทุกการอภิปรายถูกร้อยเรียงมาอย่างบรรจง เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนจะสามารถรับฟังและเข้าใจได้โดยง่าย โดยเฉพาะคดีมหากาพย์เหมืองทองอัคราฯ ที่มีบริษัท คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อัคราฯ เป็นโจทย์ และมีประเทศไทยเป็นจำเลย จากการใช้มาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ก่อความเสียหายทั้งปวง ในแง่หนึ่งย่อมหมายความว่า ประชาชนทั้งประเทศต้องตกเป็นจำเลยไปด้วย เพราะค่าเสียหายที่แท้จริงมาจากเงินแผ่นดิน
จิราพร สินธุไพร หรือ ‘น้ำ’ คือบุตรสาวของ นิสิต สินธุไพร ผู้อำนวยการโรงเรียน นปช. แดงทั้งแผ่นดิน อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และอดีต ส.ส. ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย
การเมืองคือครอบครัว และครอบครัวของเธอคือการเมืองนับตั้งแต่จำความได้ ดังเช่นประโยคที่พ่อเคยกล่าวต่อเธอและน้องสาวว่า “พ่อเป็นนักการเมืองก็จริง แต่พ่อไม่ได้เป็นแค่คนเดียว คุณแม่ก็เป็นด้วย ลูกๆ ก็เป็นด้วย เพราะทุกคนในครอบครัวจะมีส่วนรับผิดชอบในการทำงานของพ่อ” นั่นทำให้วัยเด็กของจิราพรและน้องสาว (ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย) มีเวทีปราศรัยเป็นสนามเด็กเล่น มีพ่อแม่เป็นครู มีชุมชนและการต่อสู้เป็นห้องเรียน
การเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่พ่อและแม่ง่วนกับงานชุมชนแทบทุกวัน เวลาของครอบครัวถูกใช้ไปกับงานการเมือง อาจทำให้เด็กสาวคนหนึ่ง หากไม่รักงานการเมือง ก็อาจเกลียดการเมืองจนเข้าไส้ จิราพรเป็นอย่างแรก เธอในวันนั้นมองว่า อาชีพนักการเมือง หากทำให้ดีจะสร้างประโยชน์แก่ผู้คนได้มหาศาล
บ่ายวันหนึ่งที่รัฐสภา WAY นัดพบกับจิราพร สินธุไพร ส.ส. ร้อยเอ็ด เขต 5 และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ในวัย 35 ปี เพื่อสนทนากับเธอถึงต้นสายและปลายเหตุทั้งหมดในคดีเหมืองทองอัคราฯ เธอปรากฏตัวด้วยรอยยิ้มเช่นเคย ก่อนเดินนำหน้าพวกเราไปยังห้องกว้างเพื่อสนทนาซึ่งกินเวลาร่วมชั่วโมง
ถัดจากนี้ คือบทสนทนาว่าด้วยมหากาพย์คดีเหมืองทองอัคราฯ และองค์ประกอบความผิดทั้งหมดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงรัฐมนตรีทั้งคณะ
เล่าให้ฟังหน่อยว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเกาะติดประเด็นเหมืองแร่ทองคำอัคราฯ คืออะไร
คนที่เปิดประเด็นเลยคือ ส.ส. สุทิน คลังแสง ปัจจุบันคือประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (ประธานวิปฝ่ายค้าน) อภิปรายในหัวข้อคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตอนนั้น พอเปิดประเด็นนี้ขึ้นมาก็เรียกเสียงฮืออาทั้งประเทศเลยว่า มันมีเรื่องอย่างนี้ด้วยเหรอที่การใช้มาตรา 44 มันนำไปสู่การฟ้องร้อง ทำให้ประเทศไทยต้องตกเป็นจำเลยของบริษัทเอกชนต่างชาติ
ในช่วงที่มีการเตรียมอภิปราย คุณสุทินได้หาข้อมูลจากหลายแหล่ง น้ำเองได้มีโอกาสติดตามท่านไปร่วมรับฟังและทำประเด็นอภิปรายในช่วงนั้น ซึ่งโดยพื้นฐาน เราเคยทำงานที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เราเลยรู้เรื่องความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ หรือเขตการค้าเสรี (FTA) อยู่ระดับหนึ่ง เราสนใจตั้งแต่ช่วงนั้น ถัดมาคือคุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจต่อเนื่องจากคุณสุทินในปี 2563 พอพรรคเพื่อไทยเปิดประเด็น ก็จะมีข้อมูลหลั่งไหลจากหลายภาคส่วน
ตัวน้ำเองมีโอกาสรู้จักกับภาคประชาสังคม ทำให้มีพี่น้องประชาชนติดต่อให้ข้อมูลมาค่อนข้างเยอะ เราเลยทำการบ้านค้นหาข้อมูล ปรากฏว่าได้ข้อมูลเชิงลึกที่น่าเชื่อถือ ครบถ้วน สามารถอภิปรายได้ คุณสุทินเลยไว้วางใจให้ทำงานในประเด็นนี้ต่อค่ะ
ดูจากไทม์ไลน์ของคดีเหมืองทองอัคราฯ ต้องเจอกับข้อมูลมหาศาล คดีนี้ถือว่ายากไหม
(หัวเราะ) ใช่ๆ เป็นมหากาพย์พอสมควร มันยากตรงการรวบรวมข้อมูลซึ่งเยอะมาก จนเราคิดว่าทำอย่างไรจึงจะย่อยข้อมูลเพื่อสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจในระยะเวลาที่จำกัดขณะอภิปราย เพราะฉะนั้นตอนหาข้อมูลว่ายากแล้ว พอได้ข้อมูลมาแล้วต้องเตรียมอภิปรายยิ่งยากกว่า มันต้องทำความเข้าใจตั้งแต่ตอนที่มีการเปิดเหมือง ช่วงที่เริ่มมีการให้สิทธิประโยชน์ BOI (Board of Investment) จนถึงเริ่มจัดตั้งบริษัท และกระทั่งมีการใช้มาตรา 44 หลังการทำรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ เราก็เลยต้องติดตามไทม์ไลน์เป็นระยะๆ หลังจากที่มีจุดเกิดเหตุ มันก็เริ่มมีความเข้มข้นของการดำเนินการมาเรื่อยๆ พอมีการฟ้องร้องแล้ว เรื่องราวยิ่งน่าติดตามว่า มันมีความพยายามที่จะหลุดคดี ก็เลยเกิดการทำงานเป็นทีมของพรรคเพื่อไทย ทั้งน้ำเอง นักวิชาการ และภาคประชาสังคมที่เขาเห็นปัญหาในเรื่องนี้ เราก็เริ่มเข้ามารวมตัวกัน ให้ข้อมูลกัน กลายเป็นการทำงานที่มีองคาพยพใหญ่มาก มีพี่น้องประชาชนช่วยหนุนหลังให้ข้อมูลอยู่ด้วยค่ะ
ถามว่ายากไหม ยากในตอนต้น แต่พอเริ่มหาทางได้ มันก็จะมีเอกสารหลักฐานข้อมูล ทั้งบุคคลและเอกสารเข้ามาเยอะมาก ที่พูดในสภายังไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของข้อมูลที่มีนะคะ ข้อมูลที่เหลือเรารอยื่นในชั้นศาลค่ะ
ปัจจุบันคดีนี้อยู่ในขั้นตอนไหนของกระบวนการแล้ว
พอคดีเข้าสู่ชั้นอนุญาโตตุลาการ มีการไต่สวนเรียบร้อยหมดแล้ว ซึ่งอนุญาโตตุลาการได้มีคำตัดสินออกมาแล้วตั้งแต่ปี 2563 เพราะกระบวนการไต่สวนครั้งล่าสุดคือต้นปี 2563 ที่ประเทศสิงคโปร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่จากข้อมูลตามที่รัฐบาลชี้แจง เขาบอกว่า ทางรัฐบาลไทยกับบริษัท คิงส์เกตฯ ได้ตกลงกันว่า จะขอเลื่อนการอ่านคำชี้ขาดออกไป แล้วระหว่างนี้จะมีการเจรจากัน จึงเป็นที่มาว่ามีการเลื่อนการอ่านคำชี้ขาดออกไปบ่อยครั้งมาก ไม่ต่ำกว่า 4-5 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา
ข้อสังเกตคือ ทุกครั้งที่มีการเลื่อนอ่านคำชี้ขาดออกไป ก็จะมีการให้สิทธิประโยชน์อะไรบางอย่างแก่บริษัท คิงส์เกตฯ อยู่เรื่อยๆ เหมือนที่เราอภิปรายไปว่า รัฐบาลไทยมีความพยายามที่จะเอาผลประโยชน์และทรัพย์สมบัติของประเทศไปหยิบยื่นให้บริษัท คิงส์เกตฯ เพื่อขอให้บริษัทถอนฟ้อง
ก่อนที่จะมีการฟ้องร้องในชั้นอนุญาโตตุลาการ บริษัท คิงส์เกตฯ ได้ขอเจรจาเพื่อหาข้อยุติกับรัฐบาลไทย เหตุใดตอนนั้นการเจรจาจึงไม่เป็นผล
จากข้อมูลตามเอกสารและพยานบุคคล คือตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจใช้มาตรา 44 ปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำ แล้วให้สัมภาษณ์ว่า “หลังปี 2558 จะต้องไม่มีเหมืองแร่ทองคำในประเทศอีกต่อไป” บริษัท คิงส์เกตฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อัคราฯ มองว่า ลักษณะนี้เข้าข่ายการเวนคืนสู่รัฐ ซึ่งผิดตามความตกลงเขตการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement: TAFTA) บริษัท คิงส์เกตฯ ก็เลยขอเจรจาว่า ขอให้เขามีสิทธิ์กลับมาดำเนินกิจการเหมือนเดิมได้หรือไม่ จะให้เขาไปดำเนินการปรับปรุงอะไรก็ให้แจ้งมา
ปรากฏว่าตอนเจรจา ทางคณะเจรจาซึ่งเซ็นแต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ ก็มารายงานว่า บริษัท คิงส์เกตฯ มีข้อเรียกร้องอะไรบ้าง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ตอบรับ เพราะลั่นวาจาไปแล้วว่าจะปิดเหมืองทองโดยถาวร จะไม่ให้มีเหมืองทองในประเทศไทยอีกต่อไป ก็เลยปฏิเสธการเจรจาในตอนนั้นว่าทำให้ไม่ได้
เมื่อการเจรจาไม่เป็นผล จึงนำมาสู่การฟ้องร้อง แต่หลังฟ้องร้องแล้วก็ยังมีการขอเจรจาอีกรอบหนึ่ง ไม่ใช่ว่าบริษัท คิงส์เกตฯ หยุดความพยายามในการประนีประนอมกับประเทศไทยเพื่อไม่ให้ความเสียหายมันมากกว่านี้ ประกอบกับว่า เมื่อมีการฟ้องร้องแล้ว หน่วยงานของประเทศไทย เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ก็ยังไม่ละความพยายามในการบอกกับรัฐบาลว่า ให้ยุติการใช้มาตรา 44 แค่เพียงเท่านี้ เพราะมันจะนำไปสู่ความเสียหายที่บานปลาย เพราะจากการประเมินการใช้มาตรา 44 แล้ว อย่างไรเสียประเทศไทยก็ต้องตกเป็นรองในการต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการ
พอคาดเดาได้ไหมว่า ทำไมในตอนนั้นรัฐบาล คสช. จึงไม่พิจารณาคำทักท้วงทั้งหลาย ทั้งที่พอจะคาดการณ์ผลที่ตามมาได้จากการใช้มาตรา 44
จากการคุยกันหลายภาคส่วน ทุกคนเห็นค่อนข้างตรงกันว่า ที่ใช้คำว่า พล.อ.ประยุทธ์ ลุแก่อำนาจนั้น ไม่น่าจะเกินจริง เพราะการใช้มาตรา 44 เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องเหมืองทองที่สะสมมายาวนาน อาจจะได้คะแนนความนิยมเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้คำนึงว่า เมื่อใช้อำนาจไปแล้วจะกระทบอะไรบ้าง
เบื้องลึกอีกข้อคือ มีข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ตั้งข้อสังเกตว่าช่วงนั้นราคาทองคำขึ้นสูงมาก แล้วหลังการปิดเหมือง มีการพยายามเจรจาเข้าไปถือหุ้นแทน ส.ส. ชลน่าน ศรีแก้ว ก็ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า มันมีกระบวนการพยายามฮุบเหมืองหรือไม่ เพราะตอนนั้นมูลค่าทองคำค่อนข้างสูง แล้วก็มีพยานบุคคลที่ให้ร่องรอยในเรื่องนี้ไว้ เราก็พยายามติดตามอยู่เหมือนกัน แต่ก็เป็นเพียงข้อสังเกตที่เราต้องทำงานเพิ่ม
เหตุผลของการปิดเหมืองนั้น ถ้าฟังตอนแรกก็เหมือนจะดูดี ว่าคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน แต่กลายเป็นว่าตอนนี้ไม่เพียงแค่ให้บริษัทกลับมาดำเนินการได้ ซึ่งเดิมทีบริษัท อัคราฯ ทำเหมืองแร่ทองคำแค่ประมาณ 3,000 กว่าไร่ กลายเป็นว่าพอมีคดีความ แล้วคำพิพากษายังไม่ทันออกเลย รัฐบาลก็ให้เขากลับมาทำเหมืองได้ แถมได้สิทธิ์สำรวจแร่อีก 4 แสนกว่าไร่ แล้วมีอีก 6 แสนกว่าไร่ กำลังรอการอนุมัติอยู่ แถมล่าสุดได้สิทธิ์ BOI ในการยกเว้นภาษี คือได้เกินกว่าสิทธิ์เดิมที่เขาเคยได้ด้วยซ้ำ
สรุปแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าไม่อยากให้มีการทำเหมืองแร่ในประเทศไทยเพราะเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมคืออะไรกันแน่ เพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่เหมืองเดิมกลับมาเปิดได้ แต่เขายังมีสิทธิ์ที่จะขยายเหมืองใหญ่ขึ้นอีกมโหฬาร
การที่ คสช. มีคำสั่งปิดเหมืองโดยที่ผลตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เป็นที่แน่ชัด อีกทั้งยังใช้มาตรา 44 ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของสากล ประเด็นนี้สำคัญและสร้างผลกระทบอย่างไร
การใช้มาตรา 44 โดยตัวเองมันเองก็ไม่ได้รับการยอมรับในประเทศไทย เพราะคนที่ใช้มาตรานี้มาจากการทำรัฐประหาร ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง ไม่ได้ผ่านประชาชน แล้วอำนาจตามมาตรา 44 มันเป็นกฎหมายที่ไม่ได้ผ่านรัฐสภา เป็นอำนาจเถื่อนที่เราพูดกันติดปาก แล้วผู้ที่ใช้ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยลั่นวาจาว่า ผมไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย
มันแสดงให้เห็นว่า กฎหมายตัวนี้ทำให้คนลุแก่อำนาจ ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ผลที่ออกมาก็เลยเป็นลักษณะนี้
ในสายตาโลก เขามองมาตรา 44 อย่างไร
โห เราพยายามขอคำฟ้องของบริษัท คิงส์เกตฯ จากรัฐบาลไทยมาตลอด เรารู้สึกว่ามันเป็นเอกสารที่ประชาชนควรจะได้เห็นว่าเขาฟ้องอะไรประเทศไทยบ้าง เขาไม่ได้ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ฟ้องคณะรัฐมนตรี เขาฟ้องราชอาณาจักรไทย ฟ้องคนไทยทุกคน มันจึงเป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะต้องได้เห็นว่าตัวเองถูกฟ้องอะไรไปบ้างในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ทำ แต่เราก็ไม่เคยได้เอกสารตัวนั้น
แต่บังเอิญมีผู้ที่หวังดี (ยิ้ม) เอาเอกสารฉบับร่างที่บริษัท คิงส์เกตฯ ยื่นมาขอเจรจากับประเทศไทยก่อนมีการฟ้องร้องมาให้เราดู ในเอกสารบอกประมาณว่า มาตรา 44 มันคือกฎหมาย ‘unlawful’ เป็นเหมือนกฎหมายเถื่อน ไม่ได้รับการยอมรับ เอามาใช้กลั่นแกล้งเขา แล้วยิ่งหนังสือของสำนักอัยการสูงสุดที่มีถึง พล.อ.ประยุทธ์ และตัวแทนคณะเจรจาของประเทศไทยก็ระบุชัดเจนว่า กฎหมายตัวนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และเข้าข่ายผิดต่อความตกลงเขตการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ถ้าไม่ระงับยับยั้ง ไม่ยกเลิกมาตรา 44 ณ ตอนนี้ จะทำให้เกิดความเสียหายลุกลามบานปลาย
นั่นหมายความว่า ณ ตอนนั้นที่เขาเตือน มันมีความเสียหายแล้ว ไม่ใช่ไม่มี แต่มันจะลุกลามบานปลายแล้วยากเกินจะเยียวยาแก้ไขถ้าไม่ระงับยับยั้ง แล้วยิ่งตอนนี้ประเทศไทยกำลังเพลี่ยงพล้ำจะแพ้คดีจนมีการเจรจา หากเราไปดูข้อเรียกร้องการเจรจาแต่ละอย่าง โดยเฉพาะข้อที่ว่า ให้ยุติคดีทั้งหลายที่เกี่ยวพันกับบริษัท อัคราฯ ไม่ว่าจะเป็นคดีของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) หรือคดีของ DSI การขอลักษณะนี้เหมือนการตบหน้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เอง เพราะการขอเช่นนี้แปลว่า บริษัท คิงส์เกตฯ เขามองว่ารัฐบาลไทยล้มคดีให้เขาได้ เขาถึงกล้าขอมา มันยิ่งแสดงให้เห็นว่า โอ้ เขามองประเทศไทยป่าเถื่อนขนาดที่ว่ากฎหมายมันไม่เป็นกฎหมาย มีคดีก็ล้มคดีได้
เอาเข้าจริงแล้ว เหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือไม่ อย่างไร
น้ำมีโอกาสได้ลงพื้นที่ในจุดที่มีการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ เราจะเห็นได้เลยว่า ในพื้นที่มีมุมมองที่ขัดแย้งกันค่อนข้างมากต่อการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทย กลุ่มคนเหมืองก็เห็นว่ามีประโยชน์ ทำให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโต ลูกหลานได้เรียนหนังสือ คนมีงานทำ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งมีความกังวลต่อผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทำให้มีความขัดแย้งกันในเรื่องนี้
ต้องเคลียร์ตรงนี้ก่อนว่า การใช้มาตรา 44 ไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ เพราะมันเป็นกฎหมายที่ไม่มีใครยอมรับ แล้วเมื่อ คสช. เข้าไปแก้ปัญหาแบบไม่มีขั้นมีตอน ไม่มีการพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน จึงมีข้อสังเกตเกิดขึ้นว่า การปิดเหมืองนั้น สรุปแล้วเป็นเพราะมันกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจริงหรือไม่ หรือเป็นเพราะมีกระบวนการอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่
จึงเป็นที่มาว่า เมื่อปิดเหมืองด้วยมาตรา 44 ปัญหาก็ยังค้างอยู่ คนที่สนับสนุนเหมืองก็ตกงาน ขณะเดียวกัน คนที่ไม่สนับสนุนเพราะกังวลเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ก็ยังไม่พอใจกับการดำเนินการของรัฐบาล เพราะไม่เห็นเป็นรูปธรรมว่า พอปิดเหมืองไปแล้วมีการดำเนินการอะไรต่อในเรื่องของการรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน มันจึงเป็นปัญหาที่ค้างอยู่ในตอนนี้
ย้อนไปยังปี 2557 มีทีมนักวิชาการลงพื้นที่ไปตรวจเก็บตัวอย่างปัสสาวะ เลือด น้ำและดิน เพื่อนำไปตรวจพิสูจน์ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจากการทำเหมือง ข้อมูลตรงนี้ได้ข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์อย่างไร
ตัวน้ำเอง พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้าน เชื่อว่าทุกคนเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะเข้าไปบริหารจัดการดูแลในเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน เราเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ที่เราไม่เห็นด้วยคือการใช้มาตรา 44 ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง นี่คือสิ่งที่ต้องเคลียร์
ส่วนในเรื่องเหมืองแร่ทองคำอัคราฯ พอมีประเด็นการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนในตอนนั้น รัฐบาล คสช. ก็ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง เอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงต่างๆ เข้าไปตรวจสอบว่าสรุปแล้วมันเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจริงหรือไม่ มีเอกสารราชการออกมาชัดเจนว่า พบผู้ที่มีสารหนู สารโลหะหนัก และสารไซยาไนด์ ในร่างกายจริงๆ แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามาจากเหมืองแร่ทองคำอัคราจริงหรือไม่ นี่คือผลในเอกสาร
จึงเป็นที่มาว่า เมื่อกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศ พอเห็นรายงานฉบับนี้แล้วรู้สึกว่า ไม่ควรใช้มาตรา 44 เพราะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ยังไม่ชัดเจนมากพอในการใช้มาตรา 44 ปิดเหมืองแร่ทองคำ แต่ควรใช้กฎหมายปกติค่อยๆ เข้าไปตรวจสอบเป็นขั้นตอน จนกว่าจะทราบผลและความเชื่อมโยงที่แน่ชัดจึงจะดำเนินการต่อไป
นี่คือช่องโหว่ที่ทำให้บริษัท คิงส์เกตฯ ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อัคราฯ เขาฟ้องร้องประเทศได้ แล้วทำให้เราตกเป็นเบี้ยล่างในตอนนี้ ถามว่าผลกระทบจากการทำเหมืองมีไหม มันต้องมี เพราะทำเหมืองแร่ใหญ่ขนาดนี้ แต่การที่ลัดขั้นตอน ไม่ค่อยๆ ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง มันจึงทำให้เราเพลี่ยงพล้ำและอาจแพ้คดี
ในประเทศไทยตอนนี้มีบริษัททำเหมืองแร่ทองคำแค่บริษัทเดียว คือบริษัท อัคราฯ ส่วนบริษัทอื่นล้มหายตายจากไปหมดแล้ว อย่างที่ทราบ เมื่อก่อนมีบริษัท ทุ่งคำ จังหวัดเลย แต่ว่า ณ วันที่ใช้มาตรา 44 บริษัท ทุ่งคำ ไม่ได้ดำเนินการแล้ว เขาถูกแขวนไว้แล้ว เหลือเพียงบริษัท อัคราฯ บริษัทเดียว นี่ก็เป็นข้อต่อสู้หนึ่งของบริษัท คิงส์เกตฯ นะ ที่เขาบอกว่าการใช้มาตรา 44 นั้น ถึงคุณจะบอกว่า คุณได้ระงับกิจการเหมือแร่ทองคำทั่วประเทศ แต่ทั้งประเทศมันไม่มีบริษัทเหมืองแร่ทองคำแล้ว มันเหลือเพียงบริษัท อัคราฯ เขาจึงรู้สึกว่าเหมือนเป็นการพุ่งเป้ามาที่เขาบริษัทเดียว
ถ้าในตอนนั้นไม่ใช้มาตรา 44 คสช. สามารถใช้วิธีการใด หรือขั้นตอนทางกฎหมายอย่างไร ในการปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
เครื่องมือเรามีตั้งหลายอย่าง ทั้ง พ.ร.บ.แร่ หรือยึดใบประกอบโลหกรรม หรือสามารถสั่งปิดชั่วคราวเพื่อให้เขาแก้ไขจุดบกพร่อง เมื่อตรวจสอบจนผ่านแล้วค่อยให้เปิดทำกิจการต่อ ถ้าไม่ผ่านเราก็สามารถชะลอไว้ได้อยู่ มันมีขั้นตอน มีกฎหมายที่แต่ละรัฐบาลที่ผ่านมาเขาก็ใช้วิธีนี้มาตลอดในการค่อยๆ ดูแลเป็นขั้นเป็นตอนไป เพิ่งมามีปัญหาตอนรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อยู่ดีๆ ก็ใช้มาตรา 44 แบบฟ้าผ่าเปรี้ยง
แล้วคำขอสำรวจแร่ 4 แสนไร่ และอีก 6 แสนไร่ที่กำลังรอการอนุมัตินั้น มันไม่ใช่คำขอที่เพิ่งมี แต่มันเป็นคำขอในอดีตราวๆ ต้นทศวรรษที่ 40 แต่รัฐบาลในอดีตก็เห็นว่ามีประชาชนที่ร้องเรียนเข้ามาอยู่ เขาก็ต้องตรวจสอบและดูแลประชาชน ไม่มีรัฐบาลไหนที่อนุมัติคำขอสำรวจแร่ที่ขอมาเพิ่มเติมนี้เลย ทุกรัฐบาลชะลอการขออนุมัติสำรวจแร่ไว้ทั้งหมดเลย เพราะยังไม่แน่ใจว่า หากอนุมัติไปแล้วมันจะยิ่งสร้างผลกระทบให้ประชาชนหรือไม่ แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลนี้ ที่บอกว่าปิดเหมืองเพื่อดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน ไปอนุมัติคำขอในอดีตที่รอมาเกือบ 20 ปี ให้กับเหมืองทองอัคราฯ มันย้อนแย้งกันนิดหนึ่ง (ยิ้ม)
หากรัฐไทยใช้ขั้นตอนทางกฎหมายปกติในการปิดเหมืองแร่ แล้วหากบริษัท คิงส์เกตฯ ไม่พอใจกระทั่งนำไปสู่การฟ้องร้องในชั้นอนุญาโตตุลาการ ความเป็นไปได้ในการต่อสู้ของรัฐไทยจะเป็นอย่างไร
หากเราทำตามขั้นตอนตามกฎหมายปกติตั้งแต่แรก คิงส์เกตฯ จะไม่มีช่องในการฟ้องร้องประเทศไทยนะคะ เพราะเป็นกฎหมายโดยชอบธรรมในประเทศ แถมเราสามารถไปฟ้องร้องเอาค่าเสียหายจากบริษัท อัคราฯ และบริษัท คิงส์เกตฯ ได้เสียด้วยซ้ำ และอาจนำไปสู่การปิดเหมืองได้ด้วยซ้ำหากสมมุติว่า ท้ายที่สุดแล้วสามารถพิสูจน์ได้ว่า เหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ สร้างผลกระทบให้ประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง เรื่องมันจะเป็นหนังคนละม้วน เราจะไม่ใช่จำเลย บริษัท อัคราฯ ต่างหากที่จะตกเป็นจำเลยของประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยทำตามข้อเรียกร้องของบริษัท คิงส์เกตฯ ไปแล้วกี่ข้อ อะไรบ้าง
สิ่งที่บริษัท คิงส์เกตฯ เรียกร้องมาล่าสุด แล้วเป็นเอกสารที่ปรากฏอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศออสเตรเลีย เขาเรียกร้องมาทั้งหมด 11 ข้อ พอเราไปนั่งดูเทียบเคียงกับข้อเรียกร้องในอดีตตั้งแต่ก่อนมีการฟ้องร้อง ในอดีตเขาเคยขอไว้ 16 ข้อ แต่เราเข้าใจว่า 16 ข้อนี้ถูกยุบข้อเรียกร้องย่อยมารวมกันกลายมาเป็น 11 ข้อ
มีหลายข้อที่น่าสนใจ เช่น การขอให้ทางบริษัท อัคราฯ สามารถกลับมาดำเนินการเหมืองทองชาตรีได้ ซึ่งข้อนี้ได้ไปเรียบร้อยแล้วระหว่างที่มีการเลื่อนคำชี้ขาดออกไปเรื่อยๆ หรือขอให้ได้สิทธิ์สำรวจแร่ ตอนนี้ก็ได้ไปแล้ว 4 แสนไร่ เหลืออีก 6 แสนไร่ที่รอการอนุมัติ หรือข้อที่ขอให้มีการพิจารณาสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับบริษัท คิงส์เกตฯ ปรากฏว่าต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทบทวนเกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกับประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เขาต้องทำตาม พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 (พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่) ที่ระบุกรอบของแผนนโยบายการทำเหมืองแร่ทองคำไว้ว่า การทำเหมืองแร่ทองคำไม่ควรได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว แต่ ครม. ก็บอกว่า ให้พิจารณาเพื่อให้สิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีแก่เขาเถอะ
สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ยังงุนงง เพราะการให้สิทธิประโยชน์ BOI แก่เหมืองแร่ทองคำ มันถูกดึงออกไปตั้งนานแล้ว สิทธิประโยชน์นี้เขาตัดออกไปนานมากแล้ว แต่อยู่ดีๆ ครม. ก็กลับมาทบทวนให้ใหม่หลังมีการฟ้องร้องกัน
ในประเด็นนี้ สภาพัฒน์ฯ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เคยมีการทำรายงานช่วงปี 2552 เกี่ยวกับความเห็นในการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทย แล้วสภาพัฒน์ฯ ให้ความเห็นว่า การทำเหมืองแร่ในประเทศไทยให้ผลทางบวกในเชิงเศรษฐกิจก็จริง แต่ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่ามันคุ้มค่ากับผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนหรือไม่ สภาพัฒน์ฯ จึงมองว่า กิจกรรมเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยไม่ควรจะได้รับการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ BOI อีกต่อไป เพราะดูแล้วอาจจะไม่คุ้มค่า
ปัจจุบัน เหมืองแร่ที่ถูกปิดก็กลับมาเปิดใหม่ แล้วดูเหมือนจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยเป็นข้อสังเกตว่า มันย้อนแย้งกับอดีตหรือไม่ จากที่เราเคยเอากิจการเหมืองแร่ทองคำออกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษี BOI ไปแล้ว แล้วพอเกิดคดี รัฐบาลไทยก็ให้สิทธิ์นี้แก่บริษัท คิงส์เกตฯ ส่วนข้อที่น่ากลัวสุดคือ การขอให้ล้มคดี เพราะหากสุดท้ายแล้วเรายอมทำให้เขาจริงๆ มันก็เป็นการทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมของประเทศ
นี่คือการยอมแลกโดยการปัดสวะให้พ้นตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่
ใช่ค่ะ (ยิ้ม)
ตอนที่เราอภิปราย เราไม่ได้อภิปรายปากเปล่า เรามีข้อมูล มีเอกสารหลักฐานที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสำนักอัยการสูงสุด ที่ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า หากมีคำตัดสินชี้ขาดออกมา สุ่มเสี่ยงที่จะแพ้คดีสูงมาก แถมทนายของประเทศไทยที่รัฐบาลว่าจ้างมาสู้คดี ก็ยังให้ความเห็นในลักษณะเดียวกัน ว่าเราต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับบริษัท คิงส์เกตฯ ในกรณีที่มีคำชี้ขาดออกมา ฉะนั้น มันจะไปในทิศทางเดียวกันว่า ไทยน่าจะต้องแพ้คดี จึงเป็นที่มาว่า หลังจากนั้นก็เกิดความผิดปกติหลายอย่าง ที่พอมีการตั้งคณะเจรจาระหว่างไทยกับคิงส์เกตฯ และทุกครั้งที่มีการเลื่อนอ่านคำชี้ขาดออกไป รัฐบาลไทยมักมอบสิทธิพิเศษให้เขาระหว่างทางเสมอ แล้วมันดันไปตรงกับข้อเรียกร้องของบริษัท คิงส์เกตฯ 11 ข้อที่ขอมา
ถึงแม้ตอนนี้จะยังดำเนินการไม่หมด แต่ข้อเรียกร้องที่เป็นใจความสำคัญๆ เขาได้ไปเกือบหมดแล้ว ก้อนใหญ่ๆ เราให้ไปหมดแล้ว เหลืออีกไม่กี่อย่างที่ต้องดำเนินการ และที่น่าจับตาที่สุดน่าจะเป็นเรื่องการล้มคดีให้บริษัท คิงส์เกตฯ ว่าสุดท้ายแล้วมันจะเป็นอย่างไร
หากท้ายที่สุด การเจรจานำมาซึ่งข้อยุติ บริษัท คิงส์เกตฯ ถอนฟ้อง รัฐบาลทำตามเงื่อนไข ประเทศไทยจะได้และเสียอะไรบ้าง
ผลของคดีนี้อาจจะออกมา 3 แนวทาง คือ หนึ่ง – ตัดสินชี้ขาดว่าใครถูกใครผิด ไม่มีการประนีประนอมอะไรกันทั้งนั้น
สอง – คู่กรณีทั้งสองฝ่ายอาจขอยื่นอนุญาโตตุลาการว่า จะขอเจรจาในระหว่างที่ยังไม่มีคำชี้ขาดออกมา แล้วถ้าเจรจาจนเสร็จสิ้นกระบวนความ ก็สามารถขอยกเลิกคดีนี้ไปเสีย ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบอะไร ข้อสังเกตคือ ถ้าไทยดำเนินการข้อนี้อยู่เพื่อนำไปสู่การถอนฟ้อง ข้อตกลงเจรจากันทั้ง 11 ข้อ มันเกินกว่าข้อพิพาทหรือไม่ เพราะว่าข้อพิพาทของบริษัท คิงส์เกตฯ กับประเทศไทย ต้องตัดสินว่าการใช้มาตรา 44 ถูกหรือผิด ใครต้องรับผิดชอบ แต่นี่มันเป็นการเจรจาไปถึงเรื่องการให้สิทธิประโยชน์คืน ให้สิทธิ์สำรวจแร่เพิ่ม ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่ม ให้สิทธิ์ต่างๆ เพิ่ม ให้ล้มคดี คือมันไม่ได้อยู่ในข้อพิพาทแต่แรก เพราะฉะนั้น นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่จะเป็นประเด็นใหญ่ต่อไป หากทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้แล้วนำไปสู่การถอนฟ้องจริงๆ
สาม – คำตัดสินอาจออกมาบางส่วน ตัดสินส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเก็บเอาไว้หลังจากมีรัฐบาลใหม่ ก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นจะมี 2-3 แนวทางหลักๆ ที่คำตัดสินจะออกมา ประเด็นคือ หากสุดท้ายแล้วไทยกับคิงส์เกตฯ สามารถประนีประนอมยอมความกันจนนำไปสู่การถอนฟ้องได้จริงๆ ไม่ต้องเสียเป็นตัวเงิน แต่ความเสียหายหลักๆ เลยคือ ค่าทนาย 731,130,000 ล้านบาท จะใช้เงินคลังแผ่นดินไปต่อสู้หรือ ในเมื่อคนที่ต้องเริ่มต้นคดีนี้ และเป็นจุดศูนย์กลางของคดีนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วคุณก็ใช้เงินภาษีของประชาชนไปต่อสู้คดี ถ้าสุดท้ายคุณเจรจาได้ เงินก้อนนี้ประชาชนต้องจ่ายหรือ?
แล้วความเสียหายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการเจรจา เช่น การให้สิทธิสำรวจเพิ่มเติม การให้สิทธิประโยชน์ทาง BOI ในการยกเว้นภาษี นั่นหมายความว่าเงินที่จะเข้าคลังย่อมลดลง ประโยชน์เหล่านี้ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถใช้มติของคณะรัฐมนตรีตัดสินใจได้เอง เพื่อลบล้างความผิดของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองพ้นจากความผิดเลยหรือ? ประเทศต้องมาแบกรับความเสียหายที่เราไม่ได้ก่อ แบบนี้มันทำได้หรือ?
หากประยุทธ์หลุดจากตำแหน่งนายกฯ ภาระรับผิดชอบกรณีเหมืองทองอัคราฯ จะเป็นอย่างไรต่อไป
ตอนนี้องค์ประกอบความผิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จากพยานหลักฐานที่เรามีมันครบถ้วนพอที่จะยื่นแก่องค์กรอิสระเพื่อเอาผิดได้แล้ว องค์ประกอบความผิดคือ กฎหมายให้อำนาจ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ทำตามที่กฎหมายให้อำนาจในการระงับยับยั้งความเสียหาย และมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว อย่างที่เรียนไปว่า พอปิดเหมือง ประชาชนได้รับผลกระทบ สูญเสียเงินภาษีที่ต้องเข้าคลัง ใช้เงินภาษีของประเทศไปต่อสู้คดี แล้วไหนจะเรื่องภาพลักษณ์ประเทศที่เสียหาย รวมถึงมีการพยายามนำผลประโยชน์ของประเทศชาติไปเจรจาต่อรองเพื่อแลกกับความผิด องค์ประกอบความผิดมันครบแล้ว
ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ หลุดจากตำแหน่งเมื่อไหร่ ก็จะเป็นโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะยื่นต่อองค์กรอิสระ ดำเนินคดีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องเหมืองทองอัคราฯ ทันที ข้อมูลพร้อมหมดแล้ว เรารอแค่เวลา
แล้วเมื่อไหร่ที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล อำนาจรัฐอยู่ในมือของพรรคเพื่อไทย เราจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนที่มาที่ไปของการใช้มาตรา 44 กรณีเหมืองทองอัคราฯ ด้วยพยานหลักฐานที่มีอยู่ จะนำไปสู่การฟ้องร้อง พล.อ.ประยุทธ์ ในวันนั้น
ขณะที่จับประเด็นนี้ คุณกลัวไหม หรือมีสัญญาณคุกคามอะไรที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยหรือไม่
น้ำเป็นไม้สามที่เข้ามารับช่วงต่อ อภิปรายครั้งแรกปี 2564 ณ วันที่ขึ้นอภิปราย ไม่มีใครรู้ว่าจะพูดเรื่องเหมืองทองอัคราฯ ปิดเป็นความลับมาก น้ำทำงานอยู่กับไม่กี่คน เนื้อหาอภิปรายทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ มีแค่น้ำกับน้องสาวที่เห็นเอกสาร เราระมัดระวังมากในการรักษาความลับ เพราะฉะนั้นในวันที่ขึ้นอภิปราย เขายังนึกว่าเราจะพูดเรื่องเศรษฐกิจที่เคยอภิปรายไว้ตอนปี 2563 พอเราเปิดเผยข้อมูลเรื่องเหมืองทองอัคราฯ หลายท่านก็ดีใจที่เห็นว่า มีเรื่องที่อาจนำไปสู่การล้ม พล.อ.ประยุทธ์ ได้ เอา พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากการเมืองไทยได้
แต่ก็มีหลายท่านเป็นห่วงเรา ในเชิงที่ว่ามันเป็นเรื่องที่กระทบ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีทั้งคณะโดยตรง ก็จะมีฟีดแบ็คในเชิงห่วงความปลอดภัย แต่ในวันที่น้ำทำหน้าที่ เราไม่กังวลเรื่องนี้เลย เรารู้สึกแค่ว่า พอเราหาข้อมูล แล้วยิ่งอยากหาไปเรื่อยๆ อยากจะเปิดเผยข้อมูลจริงให้ประชาชนได้รู้ว่า ประเทศไทยกำลังมีเรื่องเลวร้ายขนาดนี้นะ เบื้องลึกของ พล.อ.ประยุทธ์ มันทำร้ายประเทศไทยขนาดไหน แล้วจะทำยังไงให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับผลกรรมในสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่ใช่ให้ประชาชนและประเทศต้องแบกรับแทน นี่คือสิ่งที่คิดในใจตลอดเวลา
พอเริ่มอภิปรายแต่ละครั้งๆ เริ่มมีผู้ใหญ่ที่หวังดีบางท่านมาเตือนว่า ช่วงนี้ระวังนะ เดินทางไปไหนให้ระวังนะ มีข่าวว่าจะมีคนมาตามเรานะ ตัวเราก็ระมัดระวังอยู่แล้ว พยายามอยู่ในที่แจ้งให้มากที่สุด แล้วเราทำเพื่อประชาชน จึงไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องบั่นทอนจิตใจแล้วทำให้เราต้องทำหน้าที่น้อยลง ไม่เลย
คุณโตมาในสภาพแวดล้อมแบบไหน เห็นอะไรบ้างในครอบครัวที่ทำงานทางการเมืองทั้งพ่อและแม่
น้ำเป็นเด็กต่างจังหวัด เกิดที่อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เรียนอยู่ต่างจังหวัดมาโดยตลอดจนถึง ม.ต้น คุณพ่อคุณแม่เป็นครูทั้งสองท่าน คุณพ่อเป็นครูก็จริง แต่เป็นคนที่ไม่เคยนิ่งดูดายกับปัญหาในพื้นที่ ทุกครั้งที่พี่น้องประชาชนมาขอความช่วยเหลือในด้านต่างๆ คุณพ่อจะเป็นแกนนำสำคัญในการช่วยเรียกร้องประโยชน์ให้ประชาชน
อย่างตอนเป็นครู คุณพ่อก็เป็นหนึ่งในแกนนำครูทั่วประเทศในการเรียกร้องเรื่องนมโรงเรียนบูด และเรียกร้องอาหารกลางวันที่มีคุณภาพให้เด็กๆ ร่วมกับครูทั่วประเทศ เป็นที่มาของการทบทวนนโยบายในด้านนี้ นักเรียนได้นมที่มีคุณภาพมากขึ้น มีอาหารกลางวันทาน
ส่วนปัญหาในพื้นที่ มีทั้งเรื่องป่าไม้ ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนต่างๆ ที่ประชาชนโดนเอารัดเอาเปรียบ คุณพ่อจะเป็นหนึ่งในแกนนำเรียกร้องสิทธิ์คืนเสมอ ทำให้น้ำกับน้องสาวอยู่ในแวดวงการเดินขบวน คุณพ่อจะพาไปด้วยเสมอ ครอบครัวเรามี 4 คน เมื่อคุณพ่อไป คุณแม่เป็นฝ่ายสนับสนุน ทำให้ไม่มีใครดูลูก คุณพ่อคุณแม่ก็เลยต้องกระเตงเราไปด้วย ติดสอยห้อยตามไปทุกที อย่างตอนที่มีการเรียกร้องเรื่องนมโรงเรียนบูด น้ำจำความไม่ได้หรอก แต่คุณพ่อเล่าว่า น้ำกับน้องสาวไปช่วยแจกใบปลิวให้กับผู้ชุมนุมในตอนนั้น หรือตอนที่มีปัญหาเรื่องป่าดงเค็ง ซึ่งเป็นป่าสาธารณะ แล้วเกิดปัญหาว่ามีการเอาต้นยูคาลิปตัสไปปลูกตามนโยบายรัฐบาล แล้วมันทำลายป่า จากที่เขาสามารถเข้าไปเก็บเห็ด เก็บผลไม้ป่าได้ ป่ามันก็เริ่มเสื่อมโทรม ทำให้เกิดการเรียกร้องในพื้นที่ชุมชน คุณพ่อก็เป็นหนึ่งในแกนนำที่คอยช่วยดูแลให้ประชาชนได้รับสิทธิ์คืนในการที่จะเข้าไปบริหารจัดการป่า เพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้
ตอนนั้นมีการตั้งเวทีปราศรัยทุกๆ วันหยุด เพราะคุณพ่อเป็นครู ต้องไปร่วมกิจกรรมนอกเวลาราชการ พอวันหยุดเราก็จะขี่มอเตอร์ไซค์กันไป น้ำกับน้องสาวนั่งซ้อนท้าย แล้วนั่งรอจนกว่าคุณพ่อจะปราศรัยเสร็จแล้วจึงกลับบ้าน เป็นอย่างนี้ตลอด จนชุมชนชนะการต่อสู้ในครั้งนั้น
ชีวิตเราจึงวนเวียนอยู่กับการต่อสู้ของคุณพ่อ เขาไม่เคยนิ่งเฉยกับปัญหาต่างๆ พอมาระยะหนึ่ง คุณพ่อเป็นครูที่ได้รับการยอมรับทั้งจากสังคมครูด้วยกันเองและคนในชุมชน เขาจึงได้รับเลือกตั้งเป็นเหมือนผู้นำครูในจังหวัด แล้วก็เคยเป็นผู้นำครูในภาคอีสาน จนกระทั่งคุณพ่ออยากเข้าทำงานการเมือง คุณพ่อจะบอกเราว่า “พ่อเป็นนักการเมืองก็จริง แต่พ่อไม่ได้เป็นแค่คนเดียว คุณแม่ก็เป็นด้วย ลูกๆ ก็เป็นด้วย เพราะทุกคนในครอบครัวจะมีส่วนรับผิดชอบในการทำงานของพ่อ” เราจึงได้ลงพื้นที่ด้วยตลอด คุณพ่อไปไหนเราไปด้วย เช่น การเอาแพทย์มาตรวจโรคให้ประชาชน เราก็ตามไป ลงพื้นที่ปราศรัย เราก็ไปด้วย หรือกระทั่งว่า ที่บ้านเปิดสำนักงานไปในตัว เราเปิด 24 ชั่วโมงเลย สมัยก่อนตี 4 ตี 5 ก็จะมีประชาชนมานั่งรอแล้ว มีเรื่องมาร้องเรียนตั้งแต่เช้า น้ำกับน้องสาวมีหน้าที่เสิร์ฟน้ำ เสิร์ฟกาแฟ แล้วก็นั่งฟังด้วยว่าเขาพูดเรื่องอะไร เราซึมซับตั้งแต่ตอนนั้น
ตอนที่ได้ยินพ่อบอกว่า ทุกคนในครอบครัวเป็นนักการเมือง รู้สึกอย่างไร คุณในวัยนั้นเข้าใจประโยคนี้อย่างไร
ตอนนั้นไม่ได้เข้าใจถึงแก่นทั้งหมด แต่เราเข้าใจโดยสถานการณ์ อย่างพอมีแขกมาบ้าน คุณพ่อก็จะบอกว่า “น้ำ ไปเสิร์ฟน้ำ ไปเสิร์ฟกาแฟ ดูแลแขกนะ เดินไปส่งแขกหน่อย” เราก็เข้าใจว่า ที่บอกว่าทุกคนในบ้านเป็นนักการเมือง คือให้เราไปช่วยล้างจาน ไปเสิร์ฟน้ำ ไปเสิร์ฟกาแฟนี่แหละ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานการเมืองของคุณพ่อ
หรือช่วงที่คุณพ่อเริ่มหาเสียงและต้องปราศรัย คุณพ่อออกจากบ้านตี 4 ตี 5 ทุกวันเลย เช้ามืดตอนออกไปเรายังไม่ตื่น พอคุณพ่อกลับมา เราหลับไปแล้ว ไม่ได้สนทนากันเลยเป็นหนึ่งเดือนเต็มๆ เราเข้าใจประโยคนั้นของคุณพ่อตอนนั้นว่า อ๋อ เราต้องเสียสละเวลาบางส่วน จากปกติที่คุณพ่อต้องมาพูดคุยดูแลเรา เรารู้สึกว่า นี่คือการเสียสละอย่างหนึ่งในฐานะลูกนักการเมือง เราต้องให้เวลาคุณพ่อทำงานเพื่อประชาชน ไม่งอแงเวลาคุณพ่อต้องไปทำงาน นี่คือความเข้าใจของเราในตอนนั้น พอโตมาถึงรู้ว่า ที่เราเข้าใจน่ะถูกแล้ว (หัวเราะ)
พอเราโตขึ้นมาในวันที่คุณพ่อมีคดีทางการเมืองเยอะมาก เข้าเรือนจำไม่ต่ำกว่า 5 ครั้งได้ ตอนนี้ก็ยังมีคดีติดค้างอีกหลายคดี สิ่งที่คุณพ่อเคยต่อสู้ไว้จนถึงวันที่เขาไม่สามารถทำงานการเมืองของเขาได้อย่างปกติแล้ว ด้วยคดีความที่มีอยู่ แล้วมันเป็นช่วงเวลาที่เราต้องตัดสินใจขอรับไม้ต่อจากคุณพ่อ สานต่อภารกิจที่เขาทำไว้ในเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เรารู้สึกว่า งานการเมืองของเรามันใหญ่ขึ้น ยากขึ้น ท้าทายมากขึ้น
ตัดสินใจยากไหมตอนที่จะลงสนามการเมือง
ตอนเด็กๆ ที่ได้ลงพื้นที่และคลุกคลีการเมืองกับคุณพ่อ เราอยากเป็นนักการเมืองเลย รู้สึกชอบจังเลยที่ได้อยู่กับประชาชนแล้วเห็นคุณพ่อเวลาลงพื้นที่ มีประชาชนมาปรึกษาปัญหาต่างๆ แล้วคุณพ่อสามารถแก้ปัญหาให้ได้ เรารู้สึกว่า มันเป็นอาชีพที่น่าจะทำประโยชน์ให้คนได้เยอะ เราเลยชื่นชอบ อยากเป็นนักการเมือง
แต่พอช่วงหนึ่ง เรารู้ว่าเรามีข้อจำกัด คือเราขี้อาย พูดน้อย ไม่ค่อยจะเข้าสังคมเท่าไหร่ เรามีเพื่อนๆ แต่เราไม่ค่อยพูด (หัวเราะ) เรารู้ว่าการเป็นนักการเมืองต้องสื่อสารเก่ง พูดในที่สาธารณะเก่ง มันเลยเป็นข้อจำกัดเดียวเลยที่ทำให้เราตัดสินใจยากมาก
ส่วนคนอื่นๆ ก็จะกังวล เพราะเคยเห็นคุณพ่อเป็นนักการเมือง เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีคดีความเยอะแยะ เขาก็กังวลว่า เราที่เป็นลูกสาวจะต้องมาเจอสถานการณ์เดียวกับคุณพ่อหรือเปล่า แต่เราไม่กังวลเลย เราพร้อมมาก กังวลแค่เรื่องการพูด (หัวเราะ) จริงๆ นะ พูดกับใครเขาก็จะขำทุกคนว่า ทำไมเราไม่กลัวเรื่องคดีความ แต่กลัวเรื่องว่าจะไปพูดกับคนยังไงเพราะเราขี้อาย (หัวเราะ)
พอเราพร้อมระดับหนึ่ง เราก็พูดคุยกับครอบครัวว่า น้ำขออาสาทำงานต่อจากคุณพ่อ ขอนำเสนอตัวเองให้ประชาชนพิจารณา เบื้องหลังเราก็ต้องหารือกับทีมงาน เพราะคุณพ่อเป็น ส.ส. ตั้งแต่ปี 2544 ทีมงานก็เป็นทีมฝั่งประชาธิปไตย อยู่ด้วยกันมาตลอด พอใครที่จะขันอาสา ก็ต้องพูดคุยกับทีมงาน เราก็ไปถามทุกคนว่า “ถ้าน้ำขออาสาทำงาน ประชาชนจะตอบรับว่าอย่างไร”
ทีมงานทุกคนไม่เห็นด้วย (หัวเราะ) เพราะบุคลิกน้ำตั้งแต่เด็กเป็นคนพูดน้อย ขี้อาย แล้วพื้นที่ของเราชอบฟังการปราศรัยที่เข้มข้น คุณพ่อก็ทำงานการเมืองที่เน้นการสื่อสารกับประชาชน ทีมก็มองว่าเราคงสื่อสารไม่ได้หรอก จะไปสู้คุณพ่อได้ยังไง คุณพ่อเป็นถึงแกนนำ นปช. เป็นเสื้อแดง ติดคุกมาตั้งหลายครั้ง การต่อสู้เข้มข้นมาก แต่ลูกสาวยังดูละอ่อนมาก แถมพูดไม่เก่ง
สุดท้ายเราก็พิสูจน์ตัวเอง ในพื้นที่น้ำมี 384 หมู่บ้าน น้ำไปปราศรัยครบทุกหมู่บ้าน เข้าหาหมดเลย คนเยอะคนน้อย ปราศรัยหมด กลายเป็นว่าคนเห็นเราพูดนำเสนอวิสัยทัศน์ เขาก็เริ่มมั่นใจ ทำให้ทีมงานเริ่มมีกำลังใจ (หัวเราะ) สุดท้ายก็ชนะการเลือกตั้งค่ะ
บางคนจะถามว่า ถ้าย้อนเวลากลับไป เราจะยังตัดสินใจลง ส.ส. หรือเปล่า… เราไม่เคยคิดมาก่อนว่า เราจะเหมาะกับอาชีพนี้ขนาดนี้ (หัวเราะ)
ฝากอะไรถึงประชาชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ติดตามคุณน้ำ เห็นคุณน้ำเป็นต้นแบบ เป็นนักการเมืองผู้หญิงที่กล้าชน กล้าอภิปราย และทำงานกับข้อมูลเยอะขนาดนี้
น้ำรู้สึกว่า เพศสภาพไม่ใช่ข้อจำกัดในการทำงานทางการเมืองเลย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นว่า ผู้หญิงหรือผู้มีความหลากหลายทางเพศเองสามารถทำงานการเมืองได้ดีเหมือนทุกเพศสภาพ สำคัญคืออุดมการณ์ทางการเมืองของคุณเป็นอย่างไร มีความตั้งใจมากน้อยแค่ไหน หากมีอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยก็จะช่วยเติมเต็มการเมืองไทย สามารถผลักดันประชาธิปไตยให้เต็มใบได้ในอนาคต
สุดท้ายแล้ว อยากฝากอะไรถึงคุณประยุทธ์และคณะรัฐมนตรี ในกรณีเหมืองทองอัคราฯ
สำหรับคุณประยุทธ์ ความผิดมันสำเร็จแล้วนะคะ เอกสารหลักฐานทุกอย่าง องค์ประกอบความผิดชัดเจน เราพร้อมจะยื่นดำเนินคดีเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณลงจากตำแหน่ง
สำหรับคณะรัฐมนตรี คุณมีอำนาจระงับยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ แต่ถ้าคณะรัฐมนตรียังนิ่งเฉย จะขออนุญาตยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรีทั้งคณะด้วยค่ะ (ยิ้ม)