คำพอง เทพาคำ: มันเป็นเรื่องศักดิ์ศรีผู้แทนฯ

ร้องเรียนในเฟซบุ๊ค ถูกเสนอให้รับเงินจำนวน 80 ล้านบาท พ่วงด้วยรถหรู ท่ามกลางกระแสการ ‘ซื้อตัวงูเห่า’ และความระส่ำระสายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่

เขาชื่อ คำพอง เทพาคำ สส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันคือหนึ่งในรองเลขาธิการ พรรคก้าวไกล ชายคาแห่งใหม่ของพรรคการเมืองสีส้ม บทสัมภาษณ์นี้เปิดเผยเรื่องราวร้อนๆ ทั้งก่อนและหลังการยุบพรรคการเมืองที่สดใหม่บนสังเวียนการเลือกตั้งปี 2562 เรื่องราวชีวิตของเขาที่เติบโตมากับเสียงแคนและดอก ‘สะเลเต’ ความปรารถนาทางการเมืองที่ถึงราก รวมถึงลึกสุดใจลงไปหลังฉากการทำงานในสภา

การต่อสู้ของเขาไม่หอมหวนดั่งกลิ่นดอกสะเลเต หากแต่รสชาติเค็มเหมือนเกลือ และถ้าเผื่อหลงกลืนลงคอไป ก็อาจจะถึงขั้น ‘อกไหม้ไส้ขม’ อยู่ไม่น้อย

ที่ว่ามา – เป็นเพียงบางส่วนจากการสนทนายาวๆ ถึงการเดินทางครั้งใหม่ของคำพองและพรรคก้าวไกลเท่านั้น

หลังจากเพื่อนร่วมอุดมการณ์จำนวนหนึ่งหล่นหายไปจากสภาด้วยคำตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ WAY คุยกับคำพองในวันที่่สภาผู้แทนราษฎรปิดประชุมสภาสมัยสามัญไปแล้ว ท่ามกลางสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิดที่ลุกลามบานปลาย ไม่รู้จุดหมายปลายทาง

ขอเชิญท่านผู้มีเกียรติอ่านทัศนะที่มีตัวโน้ตจากผู้แทนฯ คนนี้

ก่อนที่จะมาทำงานการเมือง คุณทำงานเกี่ยวกับอะไร สนใจประเด็นอะไรเป็นพิเศษ

ผมทำงานอยู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในตำแหน่งพนักงานเทศบาล ตำแหน่งสุดท้ายก่อนลงผู้แทนฯ เป็นผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม ที่เทศบาลตำบลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ทำงานนี้มาตั้งแต่ปี 2531 แต่ก่อนหน้านั้นทำงานด้านงานพัฒนาองค์กรชุมชนมาโดยตลอด

เหตุผลที่เลือกทำงานสายนี้ เพราะผมเรียนมาทางรัฐศาสตร์ เชื่อว่าอำนาจของท้องถิ่นสำคัญ ฝ่ายบริหารจะเป็นผู้ที่ชาวบ้านเลือกมา และได้ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า จึงเลือกทำงานท้องถิ่นมากกว่ากลไกของราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค

ในแต่ละวันผมจะทำงานเครือข่ายชาวบ้าน พัฒนาผู้นำชุมชน จัดระเบียบชุมชน พักหลังมีการคิดค้นงานใหม่ๆ ขึ้นมา ตั้งแต่ประมาณปี 2539 เป็นต้นมา เมื่องานพัฒนาเมืองขยับเพียงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือทางจังหวัดอาจจะติดขัด จึงได้มีการกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ใหม่ให้เป็น ‘พหุภาคี’ ร่วมมือกันหลายฝ่าย ทั้งเทศบาล องค์กรชาวบ้าน และมีองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอเข้ามาทำด้วย งานที่เพิ่มเข้ามาจึงมีลักษณะของการเชื่อมเครือข่ายนอกเขตเทศบาลมากขึ้น ทั้งเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย สิทธิชุมชน แม้กระทั่งการเมืองภาคประชาชน อย่างการรณรงค์การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540

คำพองในวัยเยาว์เป็นอย่างไร คิดว่าเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะมาเป็นนักการเมืองไหม

ผมเติบโตในชนบทของจังหวัดยโสธร แต่รับรู้และติดตามความเป็นไปทางการเมืองมาโดยตลอด ครั้งแรกที่จำได้คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขณะนั้นผมอยู่ชั้น ป.5 คุณครูที่โรงเรียนพาให้เราติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เป็นการติดตามผ่านเอกสารที่ส่งมาถึงโรงเรียน และยังมีบทเพลงของวงคาราวานที่เราได้ฟัง เช่น เพลง ‘จดหมายจากชาวนา’ ‘คนกับควาย’ รวมถึงเพลง ‘เซิ้งอีสาน’ เวลานั้นจะเป็นการฟังจากเทปคาสเซ็ท ที่ตัวเทปเป็นทรงสี่เหลี่ยม ก็ชื่นชอบการร้องเพลงเพื่อชีวิตเรื่อยมา

จากนั้นก็ติดตามการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่มากับหนังสือพิมพ์จากการแนะนำของคุณครู แม้กระทั่งเหตุการณ์สังหารโหด ดร.บุญสนอง (ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย) หรือการชุมนุมขับไล่ฐานทัพอเมริกัน รวมถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการถ่ายทอดผ่านวิทยุคลื่นสั้นของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพปลดแอกฯ

เมื่ออายุ 14-15 ก็บวชเรียน เพราะในสมัยนั้นหากคุณเป็นเด็กบ้านนอกและต้องการเรียนต่อ มีไม่กี่ทางที่จะไปต่อ ต้องบวชเรียน หลังจากเรียนจบชั้น ป.7 ไปเรียนต่อที่วัดบ้านโพธิ์ศรี อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร โดยมี ‘ญาครูมาก’ หรือหลวงพ่อธรรมชาติเป็นครู จนจบ ม.ศ.3 จึงไปเรียนต่อที่วัดทุ่งศรีเมือง เมื่อจบ ม.ศ.5 ได้นักธรรมเอกมา ก็ใฝ่ฝันอยากเรียนในระดับปริญญาจึงมาสมัครเรียนที่รามคำแหง

เวลานั้นผมต้องหาเงินไปเรียน ด้วยการไปรับจ้างแบกหามแถวบางปะกอก ทำให้เวลาเดียวกันก็ไม่ได้ทำกิจกรรมชมรมนักศึกษาแบบที่เพื่อนๆ เขาทำกัน

ส่วนเรื่องใฝ่ฝันเป็นนักการเมืองไหม ก็อาจจะบอกได้ว่าสนใจเรื่องการเมือง แต่ไม่ได้คิดเป็นนักการเมือง แม้กระทั่งปี 2524 เมื่อ คุณอุทัย พิมพ์ใจชน ตั้งพรรคก้าวหน้าขึ้นมาแล้วเราไปช่วยกิจกรรมของพรรค ก็ไม่ได้คิด

อาจจะเพราะเติบโตมากับพ่อซึ่งเป็นชาวนา ก่อนนอนถ้าพ่อไม่เล่านิทานก็มักจะเล่าเรื่องราวของนักการเมืองอีสานให้ฟัง เช่น จำลอง ดาวเรือง, ถวิล อุดล, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, เตียง ศิริขันธ์ (4 รัฐมนตรีอีสานที่มีความใกล้ชิดกับ ปรีดี พนมยงค์) และเมื่อโตขึ้นมาหน่อย จะมีนักการเมืองที่ผมติดตามการอภิปรายมาตลอดคือ นายแคล้ว นรปติ (สส.ขอนแก่น หลายสมัย) ในยุคที่มีการเลือกตั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เราก็จะชอบติดตามผู้แทนฯ อย่าง อุดร ทองน้อย, ประยงค์ มูลสาร หรือ ยงค์ ยโสธร ที่เขาเรียกว่า ‘เป็นผู้แทนบ้าน’ หรือผู้แทนยโสธร จากพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ซึ่งถือว่าก้าวหน้ามาก

ด้วยเหตุนี้หรือเปล่า ผู้แทนฯ เหล่านี้จึงมาปรากฏตัวในเพลงที่คุณเคยเขียนมาก่อนเข้าสู่แวดวงการเมือง ช่วยเล่าความเป็นมาของวงและเพลงที่เขียนให้ฟังได้ไหม

‘วงสะเลเต’ ตั้งขึ้นระหว่างที่เราทำงานร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และมีโอกาสทำงานร่วมกับชาวบ้านแห่งหนึ่งที่เป็นหมู่บ้านลาดชันริมแม่น้ำมูล หมู่บ้านนี้ต่างออกไป หากเรายืนอยู่ข้างบนแนวพื้นดินทั่วไปจะมองไม่เห็นหมู่บ้านหรอก แต่หากเดินลงไปข้างล่างจะเห็นหมู่บ้านชื่อ ‘บ้านลับแล’ หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านน้ำซับ หมายถึงจะมีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา ชาวบ้านจะปลูกบ้านกันที่ริมตลิ่ง โดยมีต้น ‘สะเลเต’ (ภาษาอีสาน) เป็นพืชประเภทว่านเต็มไปหมด เวลาออกดอกจะเป็นช่อบานสีขาวคล้ายหงส์ ซึ่งภาคกลางเรียกว่า ‘ต้นมหาหงส์’ เอาไปกินเป็นอาหารก็ได้ อีกทั้งกลิ่นก็หอมตลบอบอวล จึงเอามาตั้งเป็นชื่อวงดนตรี

ช่วงแรกๆ จะเล่นเพลงเพื่อชีวิตทั่วไป ของหงาบ้าง (หงา คาราวาน) ของแอ๊ดบ้าง (แอ๊ด คาราบาว) จนกระทั่งผมได้ไปพบ พงษ์ศักดิ์ สายวรรณ ซึ่งเขามีความสามารถในการเล่นเครื่องสายเกือบทุกชนิด ทำให้เพลงมีสีสันมากขึ้น และเพลงแรกที่บันทึกเสียงก็มาจากการทำงานร่วมกับชาวบ้านคนจนเมือง เราได้เจอคนเก็บของเก่า สังเกตว่าทุกๆ วันเขาจะได้มะพร้าว ตาชั่งโบราณ เตารีดโบราณ กระดาษ ถุงพลาสติกกลับบ้าน แล้วชาวบ้านละแวกนั้นก็จะเรียกเขาว่า ‘พ่อใหญ่ขยะ’ เพลงแรกของเราจึงเกิดขึ้น ชื่อเพลงว่า ‘รถซุก’ (หมายถึงรถเข็น) ส่วนวิธีการแต่งเพลง ผมจะทำหน้าที่ขึ้นโครงเพลง และสมาชิกวงจะช่วยเข้ามาเติมในด้านต่างๆ เราเรียกวิธีนี้กันว่า ‘ผ่าเพลง’

‘เพลงอาลัยการเมือง’ ซึ่งมีเนื้อหาทั้งเชียร์ผู้แทนฯ ที่โดดเด่นในอดีต และวิจารณ์นักการเมืองยุคหลังอย่างเผ็ดร้อนมาเขียนขึ้นเมื่อไหร่

เพลงนี้เราแต่งตอนปี 2543 เป็นปีที่ครบรอบ 100 ปีชาตกาลของ ท่านปรีดี พนมยงค์ ผมได้อ่านเอกสารเล็กๆ ที่มีชื่อของปรีดี และนักการเมืองใกล้ชิดของท่านอีก 4-5 คน และเอกสารของ ครูครอง จันดาวงศ์ และ รวม วงศ์พันธ์ (ทั้งสองเป็นเสรีไทยสายอีสานและนักโทษประหารในยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) เป็นพ็อคเก็ตบุ๊ค อ่านแล้วเราก็อยากเขียนเพลงขึ้นมา ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาดังกล่าวสภาผู้แทนฯ มักจะถูกโจมตีเรื่องซื้อเสียง ซื้อขายตำแหน่ง จึงเขียนออกมาเป็นอาลัยการเมือง ที่พูดถึงการอาลัยการเมืองแบบเก่า

ความคิดอีกส่วนหนึ่งมาจากการอ่านหนังสือที่บันทึกเรื่องราวของกองทัพญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกไทยตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 หนังสือเล่มนั้นจะเล่าถึงคนร่วมยุคกับท่านปรีดี ที่ไปหาท่านเพื่อหารือกัน เนื้อเพลงจึงเป็นการเอาชื่อของนักการเมืองเหล่านั้นมาเขียน

เมื่อเขียนเสร็จ อาจารย์ไผท ภูธา (นักเขียนคนสำคัญของภาคอีสาน) ก็เห็นว่าเนื้อเพลงอาลัยการเมืองเป็นภาพนิ่งเกินไป ต้องทำให้เป็นภาพเคลื่อนไหวด้วย ตอนนั้นอาจจะเพราะพวกผมไม่ค่อยมีความรู้เรื่องการเขียนเพลงเท่าไหร่ด้วย พอถึงกระแสเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 จึงนำเพลงนี้มาใช้รณรงค์

ดูเหมือนว่าอาชีพนักการเมืองจะถูกทำให้เป็นภาพที่เลวร้าย?

ช่วงเวลานั้นภาพลักษณ์นักการเมืองจะเป็นแบบนั้น ถูกกล่าวหาว่าเข้าไปสภาแล้วก็จะไปโกงไปกิน เกิดเป็นกระแสร่วมกันหลายฝ่าย แม้กระทั่งเราเองก็เข้าใจไปอย่างนั้น แต่ทางออกของเราคือ ‘การเมืองภาคประชาชน’ วรรคสุดท้ายของเพลงอาลัยการเมือง จึงเขียนว่า

ทุกคน ให้เรานั้นหวังพึ่งตนอย่าหวังพึ่งใครให้เขาดูแคลน อย่าหวังพึ่งเลยไอ้ที่ชื่อว่าผู้แทน พลังชาวนาเป็นล้านเป็นแสนหวังพึ่งผู้แทน…ทำไม…

หมายความว่าพวกเราในขบวนชาวบ้าน ขบวนนักพัฒนา จะต้องเลิกหวังกับผู้แทนฯ เราต้องเล่นการเมืองทางตรงคือการเมืองภาคประชาชน คิดว่าเราจะสถาปนาการเมืองภาคประชาชนกัน

จากวันนั้นผ่านมาร่วมสองทศวรรษแล้ว ทำไมวันนี้จึงเลือกเดินเข้าสู่เวทีผู้แทนฯ

จริงๆ ผมและเพื่อนก็ทำงานการเมืองกันมาโดยตลอด พร้อมๆ กับเขียนเพลงกันมาต่อเนื่องเพื่อสะท้อนความเป็นไปของบ้านเมือง ทั้งเรื่องที่ดิน เขื่อนปากมูล คนจนถูกจับกุมคุมขัง ความรุนแรงของเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 หลายต่อหลายเพลงก็ทำต่อ งานพัฒนาก็ยังทำต่อ

จนกระทั่งมีการก่อรัฐประหารขึ้นเมื่อปี 2557 เราก็ยังเล่นดนตรีรณรงค์การเมืองกันไปตามโอกาส รวมถึงการรณรงค์ประชามติปี 2559 วันนั้นน่าจะเป็นวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 นักศึกษาชวนเราไปเล่นดนตรีในงานรณรงค์ประชามติ ปรากฏว่าเครื่องเสียงถูกเจ้าหน้าที่มหา’ลัยเก็บไปหมด แต่เราก็บอกนักศึกษาว่าเรายินดีเล่นต่อแม้ไม่มีเครื่องเสียง พอเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาล้อมงาน ผมอยู่บนเวทีก็ตะโกนใส่ไมค์ว่า “หัวหน้าเอ้ย” ปรากฏว่าพี่น้อง 200 กว่าคนก็ร้องรับว่า “เอ้ย” เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเขาก็ถอยออกไปสังเกตการณ์รอบนอกแทน

เราก็ร้องเพลง ‘อาลัยการเมือง’ เพลง ‘ครอง จันดาวงศ์’ และทุกเพลงที่เราเขียน สักพักนักศึกษาก็บอกว่า “พวกพี่อาจจะโดนจับนะ” เราก็บอกว่าไม่เป็นไร งั้นเรามาร้องเพลง พอเรากลับ นักศึกษาก็ถูกจับถูกดำเนินคดีไปหลายคน

เราเข้าไปแตะการต่อต้านรัฐประหารเต็มๆ ก็ครั้งนั้นเอง

ต่อมาปลายปี 2559 ได้ไปสนทนากับผู้อาวุโสที่เคารพนับถือ ท่านบอกว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วจะต้องมีเลือกตั้งตามมา ถ้าหากจำกันได้ ประมาณพฤศจิกายน 2559 คสช. จะถ่วงเวลาออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญประกาศใช้ในเดือนพฤษภาคม 2560 ก็มีคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันจากกรุงเทพฯ เช่น คุณชัยธวัช ตุลาธน (เลขาธิการพรรคก้าวไกล) มาสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับเราที่อีสาน และเห็นร่วมกันว่าต้องการสร้างพรรค ‘mass party’ (พรรคการเมืองที่มีฐานจากประชาชนที่มีเจตจำนงร่วมกัน)

ทำไมพรรคการเมืองที่มีอยู่จึงยังไม่เพียงพอ จนคิดจะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่

เราคิดว่าพรรคเก่าๆ ทำงานมาอย่างต่อเนื่องก็ทำงานได้ดี แต่เราคิดว่าพรรคที่ผ่านมายังสร้างเพียงนักการเมือง ยังไม่ได้สร้างพรรคที่มีลักษณะพื้นฐาน หมายความว่ามีความคิดทางการเมือง มีอุดมการณ์ตรงกันจริงๆ ทั้งที่จริงผมก็เคยผ่านการช่วยเหลือพรรคการเมืองต่างๆ มา ตั้งแต่พรรคก้าวหน้าของคุณอุทัย รวมถึงพรรคไทยรักไทย ประมาณปี 2542-2543 ผมชวนพี่น้องไปฟังการแสดงวิสัยทัศน์ของคุณทักษิณที่อีสาน ตอนนั้นชาวบ้านยังไม่รู้จักคุณทักษิณ พอชาวบ้านไปฟังก็ได้รู้จักแล้วก็รู้สึกโอเค และมีอาจารย์ที่เราเคารพนับถือจะลงสมัครผู้แทนฯ ในนามพรรคไทยรักไทย ต่อมาก็หลุดโผไป เราซึ่งเป็นทีมทำงานแรกๆ ก็หลุดออกไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าพรรคไทยรักไทยสามารถนำเสนอนโยบายที่จับต้องได้ นำนโยบายมาให้ชาวบ้านตัดสินใจ นับเป็นเรื่องที่ใหม่มากในเวลานั้น เวลาเดียวกับที่ผมทำงานกับกองทุนซิฟ (กองทุนสวัสดิการชุมชนในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์) เมื่อพรรคไทยรักไทยตั้งรัฐบาลได้ ก็มีคนมาชวนพวกเราไปช่วยขับเคลื่อนนโยบายกองทุนหมู่บ้าน เรียกกันว่าทีมประชารัฐ ประกอบไปด้วยฝ่ายนโยบาย ข้าราชการ ชาวบ้าน และเอ็นจีโอ เพราะองค์กรชาวบ้านที่ผ่านงานกับกองทุนซิฟสามารถเข้าไปทำกองทุนหมู่บ้านได้เลย เราจึงเสนอว่าให้ใช้กลุ่มที่มีประสบการณ์สามารถทำได้ทันที และค่อยทยอยให้ที่อื่นๆ ทำต่อไป

แต่เขามองว่าไม่ได้ เพราะจำกัดเฉพาะกลุ่มเกินไป นั่นเป็นเรื่องที่ผ่านมา

แต่พอหลังหลังรัฐประหาร 2557 พรรคการเมืองก่อนหน้านี้อาจจะดีจริง แต่อาจจะไม่ตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชนได้พอ เพราะหลายปีที่ผ่านมาประชาชนเป็นฝ่ายตั้งรับมาตลอด จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองที่เข้าไปเช็ดไปล้างผลพวงของการก่อรัฐประหาร มีพรรคการเมืองที่เข้าไปเป็นตัวเลือกหลักของประเทศ ต้องมีพรรคการเมืองที่ไม่ต้องการให้กองทัพแทรกแซงการเมือง สร้างทหารอาชีพ มีกองทัพที่แข็งแกร่ง ไม่มามั่วสุมกับนักการเมือง การเมืองต้องให้เป็นเรื่องของประชาชนกับนักการเมือง

เราคิดว่าพรรคการเมืองต้องสร้างนักการเมืองที่จะไม่ถูกกวาดต้อนได้ง่าย สร้างนักการเมืองที่มีอุดมการณ์รับใช้ประชาชนจริงๆ ไม่ใช่แสวงหาผลประโยชน์ แสวงหาตำแหน่ง

เมื่อได้คุยแลกเปลี่ยนกันหลายต่อหลายเรื่อง ผมจึงคิดว่ามีพรรคการเมืองที่ฉีกแนวออกมาน่าจะดี ความคิดจึงตรงกัน

คุณเห็นด้วยกับการตั้งพรรค แต่ตั้งใจสมัคร สส.อนาคตใหม่ ทันทีไหม

ไม่ได้ตั้งใจ (ตอบสวน) จนกระทั่งคนหนุ่มคนสาวมาชวนในวันที่ผมใกล้เกษียณแล้ว เพราะผมเหลือเพียงแค่ 2 ปี หนี้ที่เหลือประมาณ 1 ล้านกว่าบาทก็จะหมด ผมจะต้องอยู่รับราชการเพื่อที่จะใช้หนี้สวัสดิการให้หมด กำหนดเดิมคือเมื่อถึงเดือนพฤษภาคม 2564 ผมจะรับเงินเดือนเต็มประมาณ 63,000 บาท หักไปแล้วจะเหลือเครดิตที่นำเงินไปใช้ได้ประมาณ 1 หมื่นกว่าบาท นั่นคือความตั้งใจ

แต่เมื่อมีคนมาชวนผมจริงจัง ก็คิดว่าต้องทำ เพราะมองหาผู้แทนฯ ก็ไม่มี เราไปชักชวนบางคนเขาก็จะถามว่าเงินอยู่ไหนล่ะ ก็ไม่มี การระดมทุนของพรรคก็ยาก กฎหมายเลือกตั้งก็บีบ คนที่น่าจะเป็นหัวหน้าพรรคในเวลานั้นอย่างคุณธนาธร ก็ยึดหลักการว่าพรรคจะไม่มีนายทุน เขาก็ชัดเจน ความเป็นไปได้ของพรรคจึงเป็นไปไม่ได้เลย

โอกาสที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แล้วจุดชี้ขาดที่อนุญาตให้ตัวเองลงสมัครผู้แทนฯ ในนามพรรคอนาคตใหม่มาเกิดเอาตอนไหน

อย่างที่บอกว่าคนที่มีแววจะเป็นนักการเมืองเขาก็ไปสมัครพรรคอื่น เวลาเดียวกันเราก็ควานหาคน พรรคอื่นเขาก็ควานหาคน ช่วงที่ตั้งพรรคใหม่จึงไปได้คนหนุ่มคนสาวมาร่วมตั้งพรรค สุดท้ายก็มีท่านผู้แทนฯ อภิชาติ ศิริสุนทร (สส.บัญชีรายชื่อ) ท่านรับราชการเป็นปลัดอยู่ ส่วนผมเป็น ผอ. ก็มาปรึกษากันว่าเอาไงดี จนตกลงกันว่าเมื่อไม่มีใครลง พวกเราก็ต้องลงเองนะ ผมก็ถามว่า เอ้า! จะไปได้ยังไง หนี้ผมยังเหลืออีกตั้งเป็นล้าน ท่านก็บอกว่าลงไปเลย เป็นหนี้มันไม่ตายหรอก (หัวเราะ) ผมก็เลยอาสาเพื่อนมา

บรรยากาศการหาเสียงในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เป็นยังไง เพราะพรรคก็ใหม่ ผู้สมัครก็ใหม่

เราเดินทางไปทั่วภาคอีสาน หาผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ จนครบ และไปหา สส.เขต แต่ก็ยังได้ไม่ครบ ตามด้วยหาสมาชิกพรรค และเริ่มทำ primary vote (การคัดเลือกผู้สมัครขั้นต้นของพรรคการเมือง) จนได้ผู้สมัครเขตครบ เราจึงมาประเมินคะแนนกัน ช่วงแรกคาดการณ์ว่าน่าจะได้เขตละ 1,000 คะแนน เมื่อรวมทุกเขตในภาคอีสานจะได้ 300,000 คะแนน คิดเป็น สส.บัญชีรายชื่อ น่าจะได้ 5 คน สักพักเราประเมินกันอีกครั้ง คราวนี้เพิ่มมาเป็น 3,000 คะแนนต่อเขต ขณะที่ผู้แทนฯ เขตเราไม่ได้หวังเลย เราก็ทำงานกันต่อไป

การหาเสียงยังเป็นการระดมปัญหาที่ดิน ชุมชนในเมือง ปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ จากรัฐ พร้อมกับประเมินคะแนนไปเรื่อยๆ รวมถึงการตั้งเวทีปราศรัยที่สมาชิกบางคนมีประสบการณ์ในการอภิปราย พูดตรงๆ เคยขึ้นเวทีม็อบกันหลายคน บางคนอาจจะมีมุกเยอะ ขณะที่บางทีมุกก็แป้ก

ตัวอย่างเช่น ตอนเดินหาเสียงในพื้นที่อีสานใต้ครั้งหนึ่ง ผมเป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่อ ก็จะเดินช่วยผู้สมัครเขตบางพื้นที่ ด้วยเหตุผลอะไรไม่รู้ ป้ายผู้สมัครที่ถ่ายคู่กับคุณธนาธรก็ไปอยู่บนต้นไม้สูง เราก็แซวกันว่าตกลงป้ายนั่นเป็นผู้สมัครเรากับคุณธนาธรหรือพระเยซู (ขำยาว)

อาจจะเพราะป้ายมีจำนวนจำกัด คนติดเลยเอาไปติดไว้ที่สูงๆ แทนมั้ง

หรือบางพื้นที่เราก็รู้ว่าแต่ละเขตมันคนละเบอร์ ก็จะหาเสียงลำบากหน่อย ผู้สมัครบางคนก็จะคิดรูปแบบหาเสียงเพื่อให้คนจำได้ เช่น ที่ยโสธรผู้สมัครเราเป็น ‘มหา’ (สมณศักดิ์ที่ใช้นำหน้าชื่อภิกษุผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม 3 ประโยคขึ้นไป) ส่วนผมบวชเรียนสามเณรมาก่อน ภาคอีสานก็จะเรียกว่า ‘เซียง’ เราก็เดินหาเสียงด้วยการบอกว่า “ถ้าพี่น้องเลือกมหาจะได้เซียงไปด้วย”

ระหว่างหาเสียงไปนั้นเราต้องยอมรับว่ากระแสพรรคดีขึ้นเรื่อยๆ คุณธนาธรเป็นคนที่ได้รับการยอมรับว่าโดดเด่น ประสบความสำเร็จทางธุรกิจระดับโลก รวมถึงความคิดความอ่าน อุดมการณ์และความทุ่มเท นโยบายเราก็จับต้องได้

ตอนที่คุณธนาธรลงพื้นที่อีสาน คนอีสานชื่นชอบเขาแค่ไหน

ชอบ! (เน้นเสียง) เวลาคุณธนาธรลงพื้นที่ หรืออาจารย์ปิยบุตรลงพื้นแต่ละครั้งนี่ถูกหอมแก้มช้ำหมดแหละ คือพอผู้นำพรรคไปปราศรัยหรือพบปะผู้คน มันจะตรงใจ ถูกใจกับคนอีสาน ไม่เฉพาะคนรุ่นใหม่นะ รวมถึงคนเฒ่าคนแก่ คนวัยทำงาน เขาจะมองเห็นสิ่งใหม่ ถึงกระนั้นเราก็ไม่คิดว่ากระแสพรรคอนาคตใหม่จะขึ้นเร็วขนาดนั้นทั้งในสื่อโซเชียล และในหมู่บ้านเอง

บางครั้งลูกๆ ที่ทำงานอยู่ต่างถิ่นหรือต่างประเทศก็จะโทรมาบอกพ่อแม่ให้เลือกพรรคอนาคตใหม่ เมื่อผลคะแนนออกมาเราก็จะเห็นว่าประสบความสำเร็จ 1,500,000 คะแนน ไม่ใช่เรื่องเล็ก และบางหน่วยที่เป็นหน่วยเล็กๆ ในชนบทเราชนะขาด ไม่น่าเชื่อ

ถ้าต้องเคาะเอาปัจจัยหลักที่ทำให้อนาคตใหม่ได้คะแนนที่ดีในภาคอีสาน คิดว่ามาจากอะไร

ผมคิดว่าเป็นเรื่องของความอยากเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านเชื่อว่าสวัสดิการต้องดีขึ้น สวัสดิการถ้วนหน้าตั้งแต่แรกเกิดจนตายจากกันต้องมี เพราะพรรคเราแจงไว้ชัดเจนว่าจะเอาเงินจากไหนมาทำสวัสดิการและจะทำอย่างไร

อีกนโยบายที่ถูกใจคือนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เพราะเราต้องการสร้างกองทัพที่มีประสิทธิภาพสูง โดยทหารจะมาจากการสมัครใจ บางคนก็จะถามว่าสมัครใจมันจะได้ทหารมาพอเหรอ เราก็บอกว่าให้ไปดูจำนวนคนที่สอบเข้าโรงเรียนนายสิบสิ คนสอบหลักหมื่นเอาแค่หลักพัน อธิบายให้เขาเข้าใจว่าถ้าคุณเป็นทหารเกณฑ์แล้วอยากเป็นทหารประจำการ ที่มีหน้าที่ฝึกรบ ฝึกใช้อาวุธยุทโธปกรณ์จนเชี่ยวชาญ ก็ใช้เวลา 5 ปี สมัครเป็นทหารประจำการต่อได้ และคุณก็จะมีสวัสดิการที่ดีพอ คนที่อยากให้ลูกเป็นทหารก็สามารถให้ลูกไปสมัครได้เลย

ในแง่นี้นโยบายที่เราเสนอไปจึงใกล้กับวิถีชีวิต ชาวบ้านจะชอบ นโยบายจึงมีส่วนมาก และในส่วนผู้นำของพรรคเองจะมีประเด็นใหม่ๆ มานำเสนอตลอด ทั้งคุณธนาธร คุณปิยบุตร คุณช่อที่โดดเด่น (พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่) คนก็จะตามบทบาทผ่านสื่อโซเชียล โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นเขตเมืองที่กระแสพรรคดี กระแสของคนหนุ่มสาว กระแสของคนที่อยากเห็นประเทศมีความเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าก็ทำให้เราได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ

กรณีการซื้อตัว สส.อนาคตใหม่ ที่เรียกว่า ‘งูเห่า’ เริ่มขึ้นตอนไหน

ตั้งแต่เปิดสภา ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งการคำนวณคะแนนผู้แทนบัญชีรายชื่อยังไม่นิ่ง ตามหลักคณิตศาสตร์แล้วพรรคเราคำนวณไว้ว่าน่าจะได้ถึง 88 ที่นั่ง รวมกับฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งเพื่อไทยซึ่งได้ผู้แทนเขตมาเยอะมากก็ถูกตัดบัญชีรายชื่อ บวกกับพรรคร่วมอุดมการณ์น่าจะได้ถึง 255 ที่นั่ง ในแง่นี้พรรคที่ยังไม่ตัดสินใจจะต้องกลับมาหาอนาคตใหม่และเพื่อไทย เพื่อโหวตสู้กับ สว. แต่งตั้ง 250 เสียง

ผมเห็นว่าวิธีการคำนวณของ กกต. ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกข้างของพรรคการเมืองที่ยังไม่ตัดสินใจ เพราะขณะที่ กกต. ตัดที่นั่งอนาคตใหม่จนเหลือ 80 ที่ ชักเริ่มยุ่งแล้ว ฝ่ายที่ยังไม่ตัดสินใจก็มองว่าสู้ยาก

เหตุการณ์มาเกิดขึ้นในจังหวะที่จะโหวตนายกฯ เมื่อพรรคพลังประชารัฐรวบรวมเสียงที่จะโหวตเกินครึ่งสภาได้ ตอนนั้นชัดเจนแล้วว่าคุณประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯ แต่ว่าคนที่ร่วมรัฐบาลก็ต้องต่อรองเอาเก้าอี้ด้วย วิธีการคือหา สส. ไปอยู่ในมือให้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้

ตัวผมเองมีคนที่ถูกมอบหมายให้มาเจรจาบอกว่าจะให้ผม 30 ล้านบาท พร้อมเงินเดือน อีกเดือนละ 2 แสนบาท พร้อมกับให้เป็นผู้นำคุมภาคอีสาน วันนั้นครอบครัวผมก็นั่งอยู่ด้วย เพื่อนที่อยู่สำนักงานพรรคก็นั่งอยู่ด้วย เขาพูดไม่ถนัด ผมก็บอกให้เขาพูดได้เลย เขาจึงพูดออกมา ก่อนที่ผมจะบอกกับเขาว่าผมรับไม่ได้หรอก ผมตั้งพรรคกับอาจารย์ปิยบุตร กับคุณเอก-ธนาธร ถ้าผมไป ผมก็เป็นคนไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีสัจจะ

เพื่อนที่ถูกชวนให้ย้ายพรรคเจอรูปแบบไหนกันบ้าง

บางคนได้รับข้อเสนอทางโทรศัพท์เป็นจำนวนเงิน 30 ล้านบ้าง 50 ล้านบ้าง นัดให้ไปรับเงินที่โน่นที่นี่บ้าง หรือเพื่อนบางคนมีคนมาอุ้มพาตัวหายไปทั้งคืน ตอนนั้นผมกำลังทำกับข้าวอยู่ด้วย หายไปนานเกินไปจนทุกคนโทรตามแต่ก็ติดต่อไม่ได้ กระทั่งเขาหนีมาได้ บอกว่าไปเจอบุคคลกลุ่มหนึ่งมาและหนีออกมา เขาทิ้งโทรศัพท์ไว้ที่นั่นเลย การต่อรองก็จะมีทั้งแบบตอนที่จะโหวตไม่ต้องเข้าสภาก็ได้ หรือหากอยากลาป่วย จะป่วยที่ไหนก็ได้เลือกโรงพยาบาลได้เลย

การต่อรองแบบนี้เกิดขึ้นในเวลาที่ฝ่ายหนุนคุณประยุทธ์มีเสียงครบแล้ว พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำไปแล้ว ยังไงก็ได้นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงแต่มีการต่อรองเก้าอี้ ตรงนี้เป็นความคิดของผมนะ

ตั้งแต่วันนั้นผมก็ไม่ได้รับการติดต่ออีกเลย จนกระทั่งกระแสว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่จะเกิดขึ้นแน่

ช่วงเวลาที่เกิดกระแสยุบพรรคอนาคตใหม่ บรรยากาศการซื้อเป็นยังไง

หนักหน่อย มีการคุยกันในวงประชุมเล็กๆ พวกเราก็ระแวงกันว่า ใครจะไป ใครจะใจอ่อน ใครจะยืนหยัด สังเกตได้ง่ายว่า จะมีการเตรียมการ เช่น มีการออกข่าวว่าผึ้งแตกรัง มีบางพรรคบอกว่าจะได้รัฐมนตรีเบอร์หนึ่งในกระทรวงใหญ่ เรื่องนี้เกิดก่อนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ (วันนัดฟังคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่)

หลังจากยุบพรรคไม่นาน ก็มีคนมาชวนผม ผมปฏิเสธไปว่าถ้าผมย้ายไป ผมจะกลับอีสานไม่ได้ ผมไม่กลัวอะไรหรอกผมกลัวกลับบ้านไม่ได้ พี่น้องอีสานไม่เอาผมไว้แน่นอน จะพรรคไหนผมก็ไปไม่ได้ ขออยู่กับเพื่อน

เราสังเกตง่ายๆ ว่าพอยุบพรรคแล้วเราประชุมเตรียมที่จะไปต่อ เพื่อนเราก็ทยอยหายไป ตอนนั้นรู้สึกว่ามี 9 คนยกโขยงไปเลย กวักมือเรียก เพื่อนก็ไม่หันมาแล้ว

แล้วกรณีที่อ้างว่ามีคนเสนอให้คุณถึง 80 ล้าน เกิดขึ้นช่วงไหน ช่วยเล่าถึงเหตุการณ์นั้นได้ไหม

หลังจากยุบพรรคเพื่อนเราส่วนหนึ่งก็หายไป และก็มีการทำคลิปโต้ตอบกัน ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไปร่วมแถลงข่าว ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นกุ๊ย ก็ไม่เป็นไร

คนที่เหลือก็พยายามเกาะกลุ่มกันให้เหนียวแน่น เงียบไปสักพักผมจึงโดนชวนอีกครั้งในวันที่ 2 มีนาคม ช่วงเช้าหลังจากประชุมพรรค ก็กลับมานอน แล้วตื่นขึ้นมากำลังไปซื้อของมาทำกับข้าว

ขณะที่แกะกระป๋องเหรียญที่สะสมไว้มานั่งนับ ก็มีรถเก๋งคันหนึ่งมาจอดหน้าบ้าน แล้วลงจากรถมาถามว่า เป็นยังไง อยู่ยังไง ผมก็บอกว่าผมอยู่บ้านเพื่อนที่ซื้อไว้เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ผมเช่าเขาอยู่ ผมก็รู้แล้วว่าเขาจะมาทำอะไร เพราะจำได้ว่าคนนี้เคยมาตอนที่อุ้มเพื่อนผมไปทั้งคืน

เริ่มต้นเขาพยายามชวนคุยเรื่องอื่น ก่อนจะเข้าเรื่องว่า “พูดตรงๆ นะคุณอา ที่ผมมานี่ ผมมีเงินสดๆ มาให้คุณอา 60 ล้าน” (หยุดเล่าชั่วครู่) “เอาไหม คุณอาไม่ต้องย้ายพรรคก็ได้ อยู่กับเพื่อนต่อได้”

ผมก็ถามว่า “อ้าว ไม่ให้ย้ายพรรคด้วยแล้วจะให้อยู่ยังไง” เขาก็ตอบว่า “คุณอาก็อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร แต่คุณอาเอาเงินไป”

ต่อจากนั้นเขาบอกว่าถ้ารับ เขาจะได้ค่าเปอร์เซ็นต์ด้วย ถึงตรงนี้ผมก็เลยคิดว่า “เออ ถ้าเราไม่เอาเงิน หมอนี่ก็จะไม่ได้เปอร์เซ็นต์นะ เริ่มใจอ่อน เริ่มสงสารแล้ว”

ผมก็เลยตอบว่า “ไม่เอา”

เขาถามต่ออีกว่า “เอาไหม 80 ล้าน ตอนนี้ผมมีเงินอยู่ 200 ล้าน คุณอาเอาไป 80 กับรถหนึ่งคัน”

เงินไม่ได้วางตรงหน้าหรอกนะ เขาเปิดให้ดูรูปรถจากโทรศัพท์ ชี้ให้เห็นว่ามีกระเป๋าเงินอยู่ในรถ 10 ใบ ใบละ 20 ล้าน “เป็นของคุณอา 4 ใบ” เขาบอก

พร้อมรถเบนซ์ SUV หรือเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจคล้ายๆ กับรถสปอร์ต เขาบอกว่าให้ผมขับกลับบ้านได้เลย

ผมบอกว่า “ถ้าผมได้ 80 ล้าน ชีวิตผมก็เปลี่ยนไปเลยสิ” เขาก็ตอบว่า “ใช่! ชีวิตของคุณอาจะเปลี่ยนไปเลย” ตอนนั้นเขามองมาที่กระป๋องเหรียญของผม

ผมบอกเขาว่า “ชีวิตผมเปลี่ยนแน่นอน ถ้าผมขับรถกลับบ้านพร้อมกับกระเป๋าตังค์ ผมก็ไม่รู้จะเอาไว้ไหน ผมรับไว้ไม่ได้” เขาก็บอกว่า “คุณอาก็อย่าเอาไปบอกใคร” ผมถามเขาว่า “ไม่บอกใครได้ยังไงรถเบนซ์คันหนึ่งจะเอาไปจอดที่ไหน”

เขาเค้นอยู่อย่างนั้น ก่อนที่ผมจะบอกว่า “มันเหมือนการกินเกลือนะครับอาจารย์ ผมเรียกเขาอย่างนั้นเพราะเขาจบดอกเตอร์ ถ้าผมอมเกลือไว้มันเค็ม คนอื่นเขาไม่เค็มหรอกแต่ผมเค็ม ยิ่งถ้าผมกลืนลงไปไส้ผมขาดแน่ ผมจะกลับบ้านมือเปล่าจนวันที่ผมหมดหน้าที่ผู้แทนราษฎร”

ก่อนกลับเขาก็บอกว่า “คิดดูให้ดีนะ ตอนนี้ผมกำลังติดต่อคนอีกพรรคหนึ่งอยู่ แต่ไม่มีเวลารอเขาถึงวันศุกร์ ผมรอไม่ได้ ผมมีเวลาถึงบ่ายโมง คุณอาก็มีเวลาถึงบ่ายโมง”

และกล่าวต่ออีกว่า “คุณอาเป็นคนดีจริงๆ นะ”

ผมบอกเขาไปว่า “ไม่หรอกทุกคนก็หวังดีกับประเทศชาติ คุณประยุทธ์ก็เช่นกัน แต่แค่คนละแนวทางกัน”

ตอนกลับเขายังทิ้งท้ายอีกว่า “คุณอาคิดดูให้ดีนะ อีกไม่นานก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถ้าเขาทำรัฐประหารคุณอาจะทำยังไง” ผมก็พูดตั้งแต่ต้นแล้วว่าถ้าทำผมก็จะต่อต้านจนสุดชีวิต”

สุดท้ายเขาก็ขับรถออกไป

ผู้แทนฯ บางคนอธิบายว่าการย้ายพรรคจะทำประโยชน์ได้มากกว่า คุณคิดอย่างไร มีการกลับมาคุยกันบ้างไหม

ตั้งแต่ที่ออกจากพรรคไป ก็ยังไม่มีนะ คือทุกคนหันหลังให้เราแล้ว เรากวักมือเรียกก็ไม่มา เคยกินลาบกินก้อยด้วยกันก็ไม่มาเลย ตอนนี้ก็ยังไม่มีกลับมาคุยกัน ทุกคนก็เก็บตัวเงียบ มีบางกรณี เช่น คุณศรีนวล (สส.เชียงใหม่) เราขับเขาออกจากพรรคไปตั้งแต่ต้น เพราะช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้งซ่อมนครปฐม แทนที่จะไปช่วยกันหาเสียงก็กลับไปหารัฐมนตรีบอกว่าไปของบประมาณ

เราเข้าใจว่าวิธีการทำงานของฝ่ายค้าน คือการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในสภา ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี หน้าที่หลักของเราก็คือการพิจารณากฎหมาย ส่วนเรื่องพื้นที่ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านก็เอามาเสนอในสภาได้ หลายพื้นที่พี่น้องก็มีการสะท้อนเข้ามาที่ผม ลุ่มน้ำภาคกลางก็ติดต่อเข้ามา ผมเป็นกรรมาธิการก็หารือในสภาว่า ชาวบ้านอยากทำนาแต่ไม่มีน้ำทำนา ก็หารือกับท่านประธาน รุ่งเช้าวันสองวันรัฐมนตรีของรัฐบาลก็สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดู รัฐมนตรีก็โทรมาบอกว่าท่าน สส. น้ำมาจากไหน ก็อย่าไปบอกว่าเป็นเพราะใคร

กรณีนี้แสดงให้เห็นว่างานหลักคือการตรวจสอบการทำงาน ส่วนการประสานดูแลประชาชนก็ยังสามารถทำได้

ตอนนี้เป็นกรรมาธิการเรื่องอะไรอยู่ พอใจกับการทำหน้าที่ของตัวเองแค่ไหน

ผมเป็นกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ฯ และก็กรรมาธิการวิสามัญการบริหารจัดการลุ่มน้ำฯ และเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการอื่น การทำงานของเราจะเป็นการไปลงพื้นที่หลายพื้นที่ ทั้งพื้นที่พี่น้องชาติพันธุ์ หรือพี่น้องภาคตะวันตก เช่น เรื่องชาติพันธุ์หรือคนชายขอบต้องถูกกำหนดให้สละให้คนส่วนใหญ่ เราก็คิดว่าสะท้อนเป็นปากเสียงให้เขาได้

อาจจะด้วยว่าพ่อผมเป็นชาวนาจนๆ คนหนึ่ง เมื่อผมมีโอกาสได้เรียนหนังสือ ได้ทำงานกับชาวบ้านและมาเป็นผู้แทนฯ แต่ละช่วงของผมก็จะเห็นปัญหาของพี่น้อง ที่ดิน ที่อยู่อาศัย พี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ ดังนั้นเมื่อถามว่าพอใจไหม ก็พอใจที่ได้ทำงาน แต่ถามว่าพอใจกับสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นกับประชาชนไหม ก็ยังไม่พอใจ ประชาชนต้องได้รับการดูแลมากกว่านี้ เพราะชาวบ้านยังวิตกกังวลกับโครงการพัฒนาของรัฐ การบริหารจัดการน้ำก็ยังไม่ได้มีความมั่นใจว่าชีวิตของเขาจะดีขึ้น

การทำงานของผมคงเป็นอย่างที่เลขาธิการอดีตพรรคอนาคตใหม่ท่านบอกว่า “ทำงานให้ทุกๆ วันสนุก”

มาสู่ชายคาหลังใหม่ มี สส. 54 คน ที่ขนข้าวของมาด้วยกัน น้อยหรือมากจากที่ประมาณการไว้ และอยากให้เล่าถึงบางคนที่ทั้งมาและไม่มาด้วยกัน

ตอนนี้ที่มาด้วยกันน่าจะ 54 คน และเลือกคณะกรรมาธิการบริหารพรรคชุดใหม่ สำหรับคนที่ไม่มา บางคนก็ไปเตะบอลกับชาวบ้านแล้วเส้นเอ็นร้อยหวายขาด บางคนเพิ่งกลับจากฟิลิปปินส์ บางคนยังลงพื้นที่อยู่

ส่วนกรณีคุณคารมที่เป็นข่าวว่าท่านจะย้ายพรรค (คารม พลพรกลาง สส.บัญชีรายชื่อ) ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ในพรรค ถือเป็นกำลังหลักให้พรรค ทางพรรคก็คาดหวังกับท่านทนายคารมมาก เพราะเป็นผู้ที่ร่วมทำงานสร้างพรรคมาด้วยกันจนแข็งแกร่ง พวกเราก็คิดว่าการเดินทางใหม่เที่ยวนี้จะต้องมีกำลังหลักไปด้วย ในสถานการณ์ที่พรรคเราต้องสูญเสียกำลังหลักไปหมด ทั้งกรรมการพรรคที่เป็นมันสมองให้พวกเรา

ท่านก็ขอเวลาไปทบทวน เราก็บอกว่าจะทบทวนก็ขอให้ท่านทบทวนกับเพื่อนได้ไหม ทำไมต้องไปทบทวนคนเดียว ก็เกิดความไม่สบายใจกัน เพราะเราจะสูญเสียกำลังหลักไปอีกไม่ได้ ด้านหนึ่งเครดิตก็จะเสียไป สื่อก็จะลงข่าว คนที่รอเยาะเย้ยถากถางก็มาเรื่อยๆ ด้านหนึ่งก็เลยเป็นข่าวออกมาว่าเราไปพูดให้ทนายท่านเสียหาย แต่ว่าสุดท้ายท่านคงชั่งใจแล้วว่าทิ้งมิตรสหายคนรุ่นใหม่ไปไม่ได้ ต้องยืนหยัดไปด้วยกัน ต้องรักษาน้ำใจเพื่อนไว้ให้ครบทุกคน จึงได้ขอโทษขออภัยกันไป

อีกคนคือคุณจุลพันธ์ (จุลพันธ์ โนนศรีชัย สส.บัญชีรายชื่อ) ท่านก็บอกว่า ถ้าไม่เข้าถ้ำเสือก็ไม่ได้ลูกเสือ ท่านอยากจะรู้ว่าเขาทำอะไรกัน ท่านก็ไปเห็นว่าเขาทำงานกันอย่างไร ผมก็บอกว่า “เรื่องของเราคือทำงานให้มันสนุกต่อไป ชาวบ้านก็รอฟังเราอยู่” ท่านก็บอกว่ายังไม่ได้เซ็นอะไร พักหลังบอกว่าเซ็นแล้วแต่เป็นหมึกที่มันระเหยได้ น่าจะเป็นวันที่ 11 มีนาคม แล้ว ซึ่งเป็นวันที่เราจะไปบ้านใหม่พอดี ผมจึงคิดว่าแกโดนแม่เสือขย้ำคอเข้าให้แล้ว

ถึงวันที่ 12 มีนาคม โฆษกของพรรคคือ คุณวิโรจน์ (ลักขณาอดิศร) จึงแถลงว่า หุ้นของพรรคก้าวไกลอยู่ที่ 54 จุด ไม่เปลี่ยนอีกแล้ว

พรรคก้าวไกลจะยังทำหน้าที่แข็งขันแบบที่อนาคตใหม่ทำแค่ไหน หรือจะเบนเข็มไปจากเส้นทางเดิม

นโยบายไหนของเราที่ได้รับการยอมรับก็ต้องเอามาเดินหน้าต่อ ส่วนรายละเอียดจะแตกต่างจากพรรคเก่าหรือไม่ ก็ต้องดูว่าถ้ากฎหมายไม่ได้ห้ามเราก็จะเอามาเดินหน้าต่อ ส่วนแนวทางการทำงานพรรคคงจะใช้แนวทางเดิมคือเรื่องของการที่ทำให้เป็นพรรค mass party ที่เป็นปากเสียงให้คนทุกกลุ่มให้ได้

ส่วนยุทธศาสตร์อาจจะมีการปรับเปลี่ยน ผมไม่อยากใช้คำว่า “ลดความร้อนแรงลง” สังคมสาธารณะมักจะบอกว่าพรรคเราเร่าร้อน เพราะถ้าเราไปบอกว่าลดลงก็คงไม่ใช่ ผมคิดว่าถ้าเราไม่พร้อมที่จะสร้างความเข้มข้นให้กับการเมือง มันจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของอำนาจจริงๆ

งั้นนโยบายหรือทิศทางที่จะเดินไป แบบที่สังคมอธิบายกันว่า “เร่าร้อน” ผมอยากจะใช้คำนี้แทนว่า “เราจะไม่ลดความเข้มข้น” เรื่องเจ้าของอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เราก็ต้องยืนยัน

การเมืองท้องถิ่น ยังเป็นพื้นที่ที่พรรคก้าวไกลจะไปเขย่าอยู่ไหม

ยังเป็นงานที่เราจะต้องเดินหน้าต่อ เพื่อนเราที่เตรียมตัวเขย่าท้องถิ่นก็พร้อม ชาวบ้านก็รออยู่ ไม่ว่าจะเป็นว่าที่ผู้สมัคร อบจ. ซึ่งตอนนี้ยังเท่าเดิมกับที่เราประกาศไปแล้ว 20 จังหวัด เฉพาะนายก อบจ. นะครับ ส่วนสมาชิก อบจ. ยังอยู่ในช่วงของการสรรหา ส่วนเทศบาลก็ต้องรอดูว่าสัญญาณมาเมื่อไหร่ เราก็จะต้องไปเคาะ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร

เคยอธิบายว่าจะกลับบ้านมือเปล่าโดยไม่มีเงินหรือผลประโยชน์กลับบ้าน แต่ก็อยากถามอีกว่า อย่างน้อยที่สุดในอาชีพผู้แทนฯ คำพองควรจะได้อะไรกลับบ้านบ้าง

คงหวังได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น ได้เห็นท้องถิ่นสักแห่งสองแห่ง นำนโยบายที่เราได้ประกาศร่วมกันกับเพื่อนไปทำ ท้องถิ่นที่เราไปเขย่าอาจจะมีนโยบายของพรรคสักชิ้นหนึ่งปรากฏ

ส่วนโครงสร้างใหญ่ๆ ยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ถ้าท้องถิ่นเราได้เข้าไปทำงาน ได้บริหาร ก็แสดงว่าพี่น้องประชาชนไว้วางใจให้ทีมงานของคนอนาคตใหม่ เมื่อได้ไปทำงานด้านกระจายอำนาจ ก็ถือว่าได้ติดไม้ติดมือกลับบ้านแล้ว

หรือได้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ปฏิรูปกองทัพ ได้เห็นกองทัพกลับไปทำหน้าที่กองทัพจริงๆ เห็นผู้บัญชาการเหล่าทัพกลับไปฝึกลูกน้องให้เป็นทหารอาชีพจริง ซ้อมรบเคียงบ่าเคียงไหล่จริงๆ มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ไม่มายุ่งกับการเมือง

สุดท้ายถ้าเราสามารถยุติมรดกบาปของ คสช. ได้ ก็คิดว่าได้อะไรติดไม้ติดมือกลับบ้านบ้างแล้ว

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า