นับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง 2562 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม หนึ่งตัวแปรสำคัญที่ถูกสปอร์ตไลท์ส่องฉายจากสื่อและนักวิชาการ คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ First Time Voter พวกเขาคือกลุ่มประชากรจำนวนกว่า 7 ล้านคนของสังคมไทย คิดเป็น 1 ใน 8 ของประชากรทั้งหมด เป็นครั้งแรกของคนกลุ่มนี้ที่จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งในรอบ 8 ปี อายุของพวกเขาอยู่ที่ 18 ถึง 26 ปี
ขอบฟ้าที่กว้างไกล ความคิดความอ่านที่เชื่อมั่นในพลังของตน ได้หล่อหลอมให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นพลเมืองที่กระหายในความอยากเปลี่ยนแปลงโลกใบใหม่ พลังของพวกเขาจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ และมีข้อที่น่าสังเกตอย่างไร WAY คุยกับ ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความสำคัญของกลุ่มวัยรุ่น หรือ First Time Voter มีมากน้อยแค่ไหน?
ความสำคัญของคนกลุ่มวัยรุ่น หรือ First Time Voter เราสามารถแบ่งได้ 3 ประเด็นใหญ่
หนึ่ง ความสำคัญในฐานะฐานเสียงผู้กำหนดชัยชนะของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี คนกลุ่มนี้มีความสำคัญมาก เพราะเรากำลังพูดถึงคนจำนวน 7 ล้านคน เมื่อหารคะแนนออกมาแล้ว จะได้ สส. กว่า 100 ที่นั่ง การเลือกตั้งที่จะได้ สส. จำนวน 500 คน ไม่รวม สว. เพราะเรากำหนดไม่ได้ ซึ่งก็หมายความว่า เสียงของพวกเขาคิดเป็น 1 ใน 5 ของที่นั่ง สส. ถ้าแปลงคะแนนเป็นจำนวนที่นั่ง สส. ว่าพรรคไหนจะได้กี่ที่นั่ง นั่นหมายถึงพรรคประชาธิปัตย์ทั้งพรรค หมายถึงพรรคเพื่อไทยครึ่งพรรค ถ้าพรรคไหนได้ฐานเสียงของคนกลุ่มนี้ไป เท่ากับการกำหนดจำนวน สส. ที่จะชี้ขาดที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
สอง การกำหนดนโยบายและทิศทางของประเทศในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ผู้ที่กำหนดนโยบาย ออกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำลังจะหายไปในเวลาข้างหน้า ขณะที่ First Time Voter ซึ่งกำลังจะกลายเป็น Active Citizen ในเชิงเศรษฐกิจ คนกลุ่มนี้สำคัญมากในการกำหนดทิศทางของประเทศในอนาคต และเราไม่ได้มีการเลือกตั้งกันมา 8 ปีเลยทำให้คนกลุ่มนี้มีอายุระหว่าง 18-26 ปี คือคน 7 ล้านคน นับเป็น 1 ใน 8 ของประเทศ
สาม ในฐานะฐานการผลิต มันทำให้คนกลุ่ม First Time Voter เป็นคนกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อนโยบายของพรรคการเมือง ทำให้เกิดภาพนโยบายแบบใหม่ๆ ถ้าไม่มีคนกลุ่มนี้ เราก็คงไม่มีโอกาสได้เห็นนโยบายที่เข้าถึงคนกลุ่มใหม่ๆ อย่างพรรคอนาคตใหม่ก็ส่วนหนึ่ง มีแพ็คเกจของคนรุ่นใหม่ติดมากับนโยบาย พรรคเศรษฐกิจใหม่ก็ด้วยเหมือนกันนะ แม้ว่าฐานเสียงของเขาจะไม่ได้เป็นคนรุ่นใหม่ แต่นโยบายทางเศรษฐกิจของเขาคือความพยายามเสนอนโยบายที่แตกต่างจากในอดีต เพื่อจะได้เอาฐานเสียงใหม่ๆ เข้าไปในทางนโยบาย
ความสำคัญของคนกลุ่มนี้ มีความสำคัญต่อฐานคิดของคนที่จัดการการเลือกตั้งด้วย
การกำหนดรูปแบบการเลือกตั้งในครั้งนี้ มีความพยายามกำหนดรูปแบบที่ไม่ทำให้ฐานเสียงของคนกลุ่มนี้ไม่เทไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เนื่องจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่รู้จักคนกลุ่มนี้เลย ไม่รู้ว่าแท้จริงพวกเขาเป็นอย่างไร สนใจหรือไม่สนใจการเมือง พวกเขาเป็นคนแบบไหน ก็เลยมีความสำคัญต่อการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา
โดยไม่ได้คิดว่าพวกเขาคือฐานเสียงเท่านั้น แต่ต้องคิดว่าพวกเขาคือผู้กำหนดให้เห็นแนวนโยบาย รวมถึงแพทเทิร์นการเลือกตั้งแบบใหม่
เมื่อเห็นความสำคัญของคนกลุ่มนี้แล้ว ทำไมถึงไม่มีพรรคไหนพยายามที่จะดึงคนกลุ่มนี้ไปเป็นฐานเสียงเลย เห็นจะมีก็แต่พรรคอนาคตใหม่
มีอยู่สองประเด็น พรรคต่างๆ ไม่ได้มองเห็นความสำคัญของคนกลุ่มนี้จริงๆ และอีกข้อคือ มีความพยายามในการทำแล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
ประเด็นแรกดิฉันมองว่าการที่พรรคการเมืองต่างๆ มองไม่เห็นถึงความสำคัญของคนกลุ่มนี้ มีเหตุผลมาจากคนรุ่นเก่าประเมินคนรุ่นใหม่ต่ำ พวกเขาเชื่อว่าคนรุ่นใหม่เป็นปัจเจกนิยม เป็นบริโภคนิยม ไม่ตื่นตัวทางการเมือง ก็เลยมองว่าคนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับกลุ่ม Swing voter ก็เลยคิดว่าทำนโยบายทั่วไปก็น่าจะดึงคนกลุ่มนี้มาเป็นคะแนนกับพรรคเขาได้ โดยที่ไม่ได้มองว่าคนกลุ่มนี้พิเศษกว่ากลุ่มไหน
ประเด็นที่สอง พรรคส่วนใหญ่ มีฐานมวลชนเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรรคเฉดสี พันธมิตร กปปส. กลุ่มอนุรักษนิยม ชาตินิยม ศาสนา การที่พรรคจะสร้างแรงจูงใจในการผลิตนโยบายใหม่เพื่อดึงคนรุ่นใหม่ ผลิตสื่อแบบใหม่ มันเป็นการออกแรงค่อนข้างมาก พรรคส่วนใหญ่จึงดำเนินนโยบายที่ค่อนข้างปลอดภัย รักษาฐานมวลชนของตนเอง โดยไม่ไปแตะต้องกับฐานมวลชนของตัวเอง ลองนึกดูนะ การรณรงค์เรื่อง LGBT พรรคก็ต้องเริ่มคิดแล้วว่า กลุ่มอนุรักษนิยมที่เป็นฐานเสียงก็จะไม่โอเคกับนโยบายแบบนี้ หรือ ถ้าออกนโยบายไม่เกณฑ์ทหาร ไม่เคารพธงชาติ ฯลฯ ถ้าจะดึงคนรุ่นใหม่มาแต่ไปกระทบกับฐานมวลชนเดิมที่เลือกเขา สิ่งเหล่านี้เสี่ยงมาก
โค้งสุดท้ายนี้ พรรคเพื่อไทยออกนโยบายหวยบำเหน็จ ถามจริงๆ คุณคิดว่ามันจะดึงดูดคนรุ่นใหม่ไหม คำตอบคือ ไม่ (เสียงหนักแน่น) แล้วทำไมพรรคเพื่อไทยถึงได้ออกนโยบายนี้มาล่ะ สำหรับดิฉัน ดิฉันมองว่ามันเป็นนโยบายที่ brilliant มาก สุดยอดในแง่การจับตลาดล่าง เหมาะกับคนจน เหมาะกับคนที่เล่นหวยอยู่แล้ว โดยการทำให้มันถูกต้อง ประหยัดงบประมาณ ขนาดโค้งสุดท้ายแล้วเพื่อไทยก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่เลยนะ เพื่อไทยรู้ทั้งรู้ว่า เขาไม่มีฐานเสียงตรงนี้ ฐานเสียงจากคนรุ่นใหม่มันก็ถูกเทคไปโดยอนาคตใหม่ เขาก็พยายามรักษาฐานมวลชนของตัวเองเอาไว้ให้ได้ เขาพยายามไม่ทำอะไรที่จะกระทบกับฐานมวลชนของตัวเอง การที่ไม่เลือกลงทุนทั้งในเชิงนโยบายหรือการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่ว่าพรรคเขาไม่สนใจ แต่เขามีเป้าหมายที่ชัดเจนมากกว่าคือ การรักษาฐานมวลชนของเขา
ถ้าคุณต้องการผลักดันคนรุ่นใหม่ นโยบายที่สำคัญมากคือการยกเลิกการอุดหนุนภาคเกษตร ทั้งประกันราคาข้าว จำนำข้าวก็ดี เพราะนโยบายเหล่านี้มีปัญหาว่ารัฐกำลังทุ่มงบประมาณลงไปในภาคการผลิตที่ไม่ทำกำไร
สำหรับคนรุ่นใหม่เขาสามารถเข้าไปอยู่ในภาคเศรษฐกิจใหม่ได้ ดิฉันก็ถามพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา ว่าถ้ามีคนรุ่นใหม่ไปลงทุนสร้าง R&D (การวิจัยและพัฒนา) ในภาคเศรษฐกิจใหม่ เอาคนออกจากภาคการเกษตร แล้วคนจากภาคเกษตรก็ย้ายออกไปทำงานในภาคเศรษฐกิจที่ทำกำไร ได้ดอกได้ผลจริง อยากจะทำไหม พรรคอย่างสองพรรคนี้ก็บอกว่า เห็นด้วย แต่เขาไม่สามารถทำได้ในเวลาอันใกล้นี้ อย่างฐานเสียงภาคกลางของเขา ส่วนใหญ่ก็ปลูกข้าวซึ่งไม่สามารถนำนโยบายแบบนี้มาหาเสียงได้แน่นอน เพราะฉะนั้นการผลักดันนโยบายที่เป็นผลประโยชน์กับคนรุ่นใหม่ ทำนโยบายที่มองอนาคตอย่างจริงจัง พรรคที่มีฐานมวลชนเดิมเขาไม่กล้าทำหรอก
บางพรรคก็ทำนะ New Dem ของประชาธิปัตย์ แต่เอามาห่อให้เห็นภาพรวมเฉยๆ แต่ข้างในก็เหมือนเดิม เขาก็เอาลูก สส. ของคนในพรรคมาเป็นคนรุ่นใหม่ ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับ Summer camp ของลูกคนรวย ขบวนการ Youth wing มันไม่เกิด
สรุปสั้นๆ ว่าเสี่ยงไม่ทำกับทำแค่ให้รู้ว่าทำ
กลุ่มคนรุ่นใหม่เสียงดัง แต่คะแนนเสียงที่ไปลงคะแนนจะมากตามกระแสของพวกเขาหรือเปล่า
การเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ที่ไปลงทะเบียนและใช้สิทธิล่วงหน้าจะเป็นพวก First Time Voter ครั้งนี้ไม่เหมือนทุกครั้งนะ เพราะเงื่อนไขทางการเมืองแตกต่างจากคนรุ่นเก่า คนรุ่นนี้ ‘รู้ความ’ และ ‘มีสำนึกทางการเมือง’ ในช่วงของรัฐบาลทหาร พวกเขาเกิดไม่ทันที่จะประสากับรัฐบาลของทักษิณ ตลอด 5 ปีที่ทหารอยู่ในอำนาจ ปัญหาต่างๆ มันออกมาในช่วงนี้และกระทบต่อพวกเขา ทางออกทางเดียวของพวกเขาก็คือ ต้องออกไปเลือกตั้ง
แตกต่างกับคนรุ่นก่อนหน้านี้ที่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย มีพรรคการเมืองที่พวกเขาทั้งชอบและไม่ชอบ เขารู้สึกว่าเสียงของเขาไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จะถูกกำหนดโดยพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง โดยเฉพาะ 10 กว่าปีภายใต้รัฐบาลทักษิณ ก็เลยทำให้คนรู้สึกว่า เสียงของพวกเขาไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้
ขณะที่ในทศวรรษ 2530 ยุคนั้นเป็นยุคของรัฐบาลผสม เลือกตั้งอย่างไรก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน พรรคไหนก็เหมือนกันหมด ความตื่นตัวทางการเมืองก็ไม่เกิดขึ้น เพราะเลือกอย่างไรก็ได้รัฐบาลพรรคผสม พอมาอยู่ภายใต้ทักษิณ เลือกยังไงก็มีแต่ทักษิณชนะ คนจำนวนมากรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์อะไรเลย
แต่วัยรุ่นส่วนใหญ่ที่รู้สึกอึดอัดกับระบอบทหาร อึดอัดกับรัฐบาลที่เขาไม่ได้เลือก สิ่งที่เดียวที่เขาจะทำได้คือ การเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นการตื่นตัวสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้มันพิเศษ ทั้งวัยรุ่นและคนธรรมดา เขามีคำพูดกันเลยว่า เสียงของเรา มีค่ายิ่งกว่าทองคำ เขาไปทำสำรวจ คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเสียงตัวเองสำคัญจริงๆ ซึ่งไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาก่อนหน้านี้เลย เพราะคนส่วนใหญ่จะเชื่อว่าเสียงเราไม่ค่อยเปลี่ยนอะไรได้ ด้วยโครงสร้างทางการเมือง
ยุคทศวรรษ 2530 ออกแบบมาให้เป็น 1 เขต 1 เบอร์ เราก็จะได้พรรคขนาดกลางจัดตั้งเป็นรัฐบาลพรรคผสม ทศวรรษ 2540 ก็เป็นระบบพรรคใหญ่สองพรรค คนเลือกให้ตายอย่างไรก็ไม่ได้พรรคขนาดเล็กที่เขาต้องการได้ แต่ครั้งนี้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้คนเชื่อว่า พรรคเล็กก็เข้าวินได้ เพราะมันถูกออกแบบมาแบบนี้ ปรากฏว่ามันดันไปเข้าทางเสียงของของคนรุ่นใหม่ เป็นการลงโทษพรรคใหญ่ถ้าคุณได้ สส.เขต เยอะ คุณก็ได้ปาร์ตี้ลิสต์น้อย แต่ถ้าคุณไม่มี สส.เขต เลย คุณก็ยังได้ปาร์ตี้ลิสต์อยู่ คนรุ่นใหม่เลยเชื่อว่า เสียงตัวเองมีพลัง พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีตัวตนในทางการเมือง สื่อออกทุกวันเรื่อง First Time Voter ถึงพวกเขาไม่เชื่อ พวกเขาก็ต้องเชื่อ ว่าเสียงพวกเขาเปลี่ยนโลกได้ ประชากร 7 ล้านคนต่อ สส. 100 ที่นั่ง ก็เลยทำให้พวกเขาเชื่อ และมีสำนึกทางการเมืองที่แตกต่างจากคนรุ่นที่แล้วมา
เงื่อนของรัฐธรรมนูญปี 2560 จะทำให้เงื่อนไขทางการเมืองกลับไปเป็นเหมือนช่วงทศวรรษ 2530 ที่เป็นภาพของรัฐบาลพรรคผสมที่ไร้เสถียรภาพไหม และหลังจากการเกิดรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพจะทำให้ First Time Voter ไม่เชื่อมั่น เบื่อ หรืออึดอัดกับระบบการเลือกตั้งหรือเปล่า
บอกตรงๆ ว่าภาพทางการเมืองตอนนี้ ไม่ใช่รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ แต่มันยิ่งกว่านั้น เพราะเป็นเดดล็อคทางการเมือง ไม่สามารถแม้แต่จะตั้งรัฐบาลได้ บอกตรงๆ ดิฉันยังมองไม่เห็นว่า เราจะมีรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพในระยะยาวที่จะทำให้ First Time Voter รู้สึกไม่เชื่อมั่น อึดอัดกับระบบได้ยังไง ในเมื่อแม้แต่จะจัดตั้งรัฐบาลในเงื่อนไขนี้ยังยากมากๆ เลย จะไม่เกิดรัฐบาลตั้งแต่แรกเลยมากกว่า และคนที่จะต้องลงมาแก้รัฐธรรมนูญ ท้ายที่สุดก็จะเป็นรัฐบาลทหารเองนั่นแหละ เพราะมันไปต่อไม่ได้
การออกแบบการเลือกตั้งในครั้งนี้ ทำขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจว่าฝ่ายตรงข้ามตัวเองจะไม่มีอำนาจ แต่ผลลัพธ์ตรงกันข้ามเลย เพราะกลายเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีพื้นที่ในระบบสองพรรคใหญ่ได้เติบโตและเกิดได้ ยกตัวอย่าง พรรคอนาคตใหม่และพรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเศรษฐกิจใหม่ยิ่งน่าสนใจ เพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้ แต่กลับมีกระแสไวรัลขึ้นมายกใหญ่ อย่างไรก็ตามสุดท้ายรัฐบาลอำนาจนิยมจะเป็นคนแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง ถ้าถามว่าวัยรุ่นจะเบื่อกับรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพไหม พวกเขาก็คงอึดอัดขึ้น เพราะอย่างไรก็ตามพรรคฝ่ายอำนาจนิยมคงได้จัดตั้งรัฐบาล หรือได้นายกฯ ที่มาจากอำนาจนิยม ในระยะสั้นคนรุ่นใหม่คงไม่ได้อึดอัดกับระบอบประชาธิปไตยหรอก แต่จะอึดอัดกับการที่ประชาธิปไตยยังไม่สามารถลงหลักปักฐานได้มากกว่า เพราะ First Time Voter เชื่อว่าประชาธิปไตยจะเป็นเครื่องมือเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกในแบบที่เขาต้องการ
ความเปราะบาง / อุดมการณ์ / กระแส อะไรคือสิ่งที่ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้
ดิฉันมองว่ามันมีความปะปนกันของทั้งสามอย่าง ในอดีตของทั้งสามสิ่งนี้เคยทำให้คนรุ่นใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองทั่วโลก ลุกขึ้นมามีบทบาททางการเมือง ดิฉันจะลองยกตัวอย่าง เหตุการณ์ 2475 คณะราษฎรทั้งหมดอายุไม่เกิน 30 เลย
ในเชิงความเปราะบาง พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนในเส้นทางอาชีพ มีความอึดอัดต่อปัญหาที่คนรุ่นเขาไม่สามารถเข้าถึงอำนาจของรัฐได้ ถ้าจำได้มีการปลดคนเนื่องจากงบประมาณของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีไม่พอจะจ้างคนรุ่นใหม่ ลดเบี้ยหวัด ฯลฯ ทำให้เกิดความเปราะบาง และนำไปสู่การปฏิวัติ 2475
อุดมการณ์เองก็มีส่วน คนกลุ่มนี้ได้ไปศึกษาในต่างประเทศ ปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พวกเขาเติบโตในโลกอุดมการณ์ในสังคมตะวันตก เติบโตท่ามกลางกระแสประชาธิปไตย สังคมนิยม ฟาสซิสต์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อคนกลุ่มนี้ในการที่ทำให้อยากกลับมาเพื่อสร้างสังคมที่พวกเขาต้องการ
กระแสเองก็มีส่วน ต้องบอกว่ามันเป็นเรื่องในระดับนานาชาติ (International) ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั่วโลกมีกระแสการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ต่างๆ และการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ ไม่เว้นแม้แต่พรรคนาซีก็ยังเป็นพรรคที่มีการโปรโมทคนรุ่นใหม่เลย ตอนนั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจคนรุ่นใหม่นี่แหละ เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เลือกพรรคนาซี
เพราะฉะนั้นปัจจัยทั้งสามอย่างนี้มันล้อกันไปด้วยกัน มีบทบาทร่วมกันหมด เหตุการณ์ 14 ตุลา ก็เหมือนกัน
ความเปราะบางที่เกิดมาจากการถอนตัวของกองทัพสหรัฐ ทำให้งบประมาณทางการทหารลดน้อยลง และการหดตัวลงของระบบราชการ ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มเห็นปัญหาว่าตัวเองอาจจะขาดโอกาสในการเข้าถึงอำนาจของรัฐ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่หดตัวลงหลังจากที่สหรัฐถอนตัวออกจากไทย มีความเปราะบางในเชิงเศรษฐกิจในเรื่องอย่างนี้ และความเปราะบางทางการเมืองก็คือ มันมีการเลือกตั้ง แต่เสียงของพวกเขากลับไม่มีความหมายใดๆ
เรื่องของอุดมการณ์ไม่ต้องพูดถึงเลย ยุคนั้นเป็นช่วงการเติบโตของกระแสฝ่ายซ้ายทั่วโลก มีขบวนการต่อต้านสงคราม ขบวนการของฝ่ายซ้ายใหม่ ทั้งหมดนี้มีผลต่อการตื่นตัวของคนยุค 14 ตุลา
เมื่อหันมาดูยุคของ First Time Voter เราจะเห็นได้ว่า ปัจจัยทั้งหมดนี้มีผล ความเปราะบางมีผลอย่างมาก มีงานออกมาเยอะแยะ เรื่องจนกระจุกรวยกระจาย
คนรุ่นใหม่คือคนที่ติดกับดักในการเข้าถึงโอกาส แต่คนรวยโดยเฉพาะยุค Baby Boomer กลายเป็น Establishment มากที่สุด ขณะที่คนรุ่นใหม่มีปัญหาในการแข่งในตลาดการจ้างงาน คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องอยู่แบบ above average เพื่อให้เข้าถึงทรัพยากรต่างๆ มันไม่ใช่เพราะรัฐบาลชุดนี้หรอก แต่เป็นเพราะสังคมมันยากขึ้น
แล้วพอรวมกับนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ก็ทำให้โอกาสทางเศรษฐกิจของคนรุ่นนี้น้อยลง ยังไม่รวมความเปราะบางทางการเมืองที่พวกเขาไม่เคยมีสิทธิเลยนะ
แต่เรื่องอุดมการณ์ในรอบนี้ เราไม่ค่อยเห็นภาพมากนัก เราไม่เห็นการเติบโตของอุดมการณ์ที่เป็นอุดมการณ์กระแสหลัก ดิฉันมองเห็นแต่สิ่งที่เรียกว่า การเลือกตั้ง ดิฉันเห็นแต่คำว่า ประชาธิปไตย ซึ่งไม่มีดีเบตในเชิงอุดมการณ์ พวกเขามองประชาธิปไตยเป็นเพียงเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงอย่างเดียว การเลือกตั้งก็จะยิ่งมีพลังสำหรับคนกลุ่มนี้ เพราะไม่มีกระแสการเติบโตของเยาวชนทั่วโลก ไม่เห็นกระแสของอุดมการณ์ที่หลากหลายในการจะขับเคลื่อนมวลชน เราจะไม่มีทางเห็นวัยรุ่นออกมาเดินบนท้องถนนหรอก เพราะการเติบโตของมวลชนแบบ 14 ตุลา ต้องมีฐานอุดมการณ์ที่ค่อนข้างซับซ้อน อะไรคือที่มา อะไรคือฐานคิดเพื่อที่จะจัดการกับมวลชนที่ออกมาแสดงพลังจนมีจำนวนมาก ตอนนี้มีเพียงเครื่องมือทางการเมืองอย่างเดียวคือ ‘ปากกา’ เพื่อไปเลือกตั้ง
ถ้าถามว่าอะไรทำให้พวกเขามีบทบาทที่สุดในการเลือกตั้งรอบนี้ น่าจะเป็นเรื่องของความเปราะบาง
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นใหม่ไม่มีอุดมการณ์นะ มันอาจจะมาถึงจุดที่ประชาธิปไตยเป็นระบบที่เชื่อได้ มันไม่ต้องมาดีเบตกันว่า เราจะเอาสังคมนิยม หรือเราจะเอาเหมาอิสต์ หรือจะเอาซ้ายใหม่ ตรงนี้อาจจะมองในแง่ดีว่าสังคมเราไม่ต้องมาเถียงกันแบบนั้นแล้ว คอนเซ็ปต์ง่ายๆ แค่ว่า ถ้าไปเลือกตั้งก็เปลี่ยนรัฐบาลได้ มันพิสูจน์มาจากชัยชนะของระบอบทักษิณ ประสบการณ์ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้ทำให้เราเรียนรู้ว่า พลังของการเลือกตั้งเปลี่ยนอะไรได้บ้าง อย่างหนึ่งคือการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นเงื่อนไขที่สำคัญในสังคมไทย เพราะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับท้องถิ่นได้ คนชนบทวัยรุ่นในชนบท เขาก็ได้เห็นแล้วว่าชีวิตพวกเขาเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ
การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ทำไมไม่เห็นพลังของคนรุ่นใหม่เลย
สาเหตุที่ไม่เป็นกระแสมีอยู่ 3 ข้อ หนึ่ง ทั้งสองปีกก็ไม่ได้รณรงค์ในการดึงฐานเสียงของประชาชนอย่างจริงจัง มนุษย์ที่ไปเลือกตั้งส่วนใหญ่เป็น Rational man ก่อนการทำประชามติจะต้องมีการทำแคมเปญของจากทั้งสองปีก แต่การทำประชามติที่ผ่านมา ฝ่ายไหนก็ไม่มั่นใจ จะรับหรือไม่รับดี เสื้อแดงบางส่วนก็บอกว่ารับไปก่อนจะได้เลือกตั้งเสียที สอง การทำประชามติครั้งที่ผ่านมา คือ ไม่มีการทำการรณรงค์ที่ให้ความสำคัญกับ First Time Voter และมันก็ไม่ได้มีส่วนร่วมระหว่างพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่รณรงค์และเชื่อมตัวเองกับคนรุ่นใหม่ สาม คือความอึดอัดกับรัฐบาลทหาร กระแสคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเรื่อง เสือดำ นาฬิกา เพลงประเทศกูมี มันเป็นพลังของคนรุ่นใหม่ และทำให้พวกเขามั่นใจว่า เมสเซจของพวกเขา มันเวิร์ค พวกเขาเลยเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อว่าเสียงของพวกเขาเปลี่ยนแปลงอะไรได้
ใครจะไปเชื่อว่า เนติวิทย์ใส่นาฬิกาจะกลายเป็นข่าว เพนกวินไปทำกิจกรรมง่ายๆ จะมีทหารมาคุมตัว หรือแม้แต่โนเนมซิงเกอร์ เจ้าของเพลงประเทศกูมีจะกลายเป็นเพลงที่มียอดวิว 50 กว่าล้านวิว ความอึดอัดและพลังตรงนี้เลยไปสร้างพลังให้กับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่เปลี่ยนโลกได้ สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลได้ เลยทำให้คนรุ่นใหม่ค่อยๆ เริ่มมั่นใจในตัวเองได้ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น 1-2 ปี ก่อนจะมาถึงกระแส #ฟ้ารักพ่อ แบบนี้เขาเรียกว่า Politicized Active Citizen พลเมืองที่ผ่านการขัดเกลาทางการเมือง และกลายเป็นคนที่เชื่อในพลังของตัวเอง
การขัดเกลาทางสังคม มีผลอย่างไรกับคนรุ่นใหม่บ้าง
ดิฉันได้ทำการค้นคว้ามา พบว่าในสังคมอเมริกามีการตั้งคำถามกับคนยุคมิลเลนเนียล ซึ่งคนกลุ่มนี้ตรงกับคน Gen Z ของบ้านเรา คำถามคือทำไมคนรุ่นใหม่จึงเสรีนิยมมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า ทั้งที่สหรัฐเองก็มีความเสรีอยู่แล้ว หรือประเทศไทยก่อนหน้านี้ก็มีประชาธิปไตยอยู่แล้ว ทำไมปัจจุบันถึงต้องการประชาธิปไตยมากกว่าคนรุ่นก่อน
การขัดเกลาทางสังคม มีอยู่ 4 อย่างที่มีอิทธิพลต่อคนแต่ละรุ่น ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว การศึกษา สื่อ และความหลากหลายทางสังคม
คนยุค Baby Boomer เกิดมาในครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นคนในยุคสงคราม คนเหล่านี้จึงเติบโตในครอบครัวที่เป็นอนุรักษนิยม เกิดขึ้นมาในกระแสของความเป็นชาติพุ่งขึ้นสูงถึงขีดสุด
เพราะมันพูดถึงความรอด ความเป็นความตายของประเทศ ตรงข้ามกับเด็กรุ่นนี้ พ่อแม่ของเด็กรุ่นนี้คือรุ่นดิฉัน คนรุ่นอายุ 40 ถามว่าฟังเพลงอะไร อ่านหนังสืออะไร คิดต่ออีกทีพ่อแม่ของรุ่นดิฉันก็คือ Baby Boomer รุ่นดิฉันก็เลยเป็นคนที่หลุดออกมาและเริ่มจะขบถกับสังคม แต่ก็ยังอยู่ภายใต้โครงสร้างอนุรักษนิยม เพราะฉะนั้น พ่อแม่ของเด็กรุ่นใหม่ก็มีความเปิดกว้างมากขึ้น มีค่านิยมแบบอนุรักษนิยมน้อยลง คนรุ่นนี้ก็จะโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีการถกเถียง การปะทะกันระหว่างอนุรักษนิยมและเสรีนิยม
ในแง่ของการศึกษา คนรุ่นใหม่เป็นรุ่นที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางวิกฤติการศึกษาของคนทั่วโลก เกิดความพยายามจะปรับปรุงการศึกษา แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ตาม คนรุ่นใหม่นี่แหละเป็นคนกลุ่มที่ได้รับการปฏิบัติจากนโยบายแบบ Child Centre มีการลดชั่วโมงเรียน มีการเพิ่มชั้นเรียนริเริ่มสร้างสรรค์ แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จแต่ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีแรงขับในการที่อยากจะมีการศึกษาที่ดีกว่าเดิม เขาอยากได้เสรีภาพในโรงเรียน มันมีช่องว่างระหว่างโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนระดับกลาง ระดับล่าง ก็ทำให้คนรุ่นใหม่อยากจะได้รับการศึกษาที่ดีกว่านี้
ดิฉันขอยกตัวอย่างคลาสเรียนที่สอน เด็กเตรียมฯ นี่เด็กท้ายห้องนะ ต้นห้องคือลูกคนรวยที่มาจากโรงเรียนนานาชาติ เพราะฉะนั้นในแง่ของขอบฟ้าของโลกของคนรุ่นนี้ต่างจากคนในอดีตโดยสิ้นเชิง คนที่ไม่ได้มีการศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติแบบนั้นก็มีแรงปรารถนาที่อยากจะมีโลกที่เสรี โลกที่ดีกว่า พวกเขาแตกต่างจากคนรุ่นพ่อแม่ เลยทำให้คนรุ่นนี้เป็นคนอีกแบบหนึ่ง
ขณะที่เรื่องของสื่อ ดิฉันจะยกตัวอย่าง เรื่องนิทานของสหรัฐ คนยุค Baby Boomer เขาอ่านเรื่อง บ้านเล็กในป่าใหญ่ กัน เกลียดอินเดียน (Native American) เกลียดคนดำ มีลัทธิชายเป็นใหญ่อยู่ในเรื่อง เชื่อมั่นประชาธิปไตยแบบชนชั้นสูง มันให้ความสำคัญกับคนที่มีการศึกษา คนที่เป็น Upper Class มันซ่อนคุณค่าแบบนี้เอาไว้ในนิทาน
ในทางกลับกันเด็กรุ่นนี้เขาเสพวรรณกรรมอย่างแฮร์รี พอตเตอร์ ที่พระเอกเป็นคนชายขอบของสังคม มีอาจารย์ใหญ่ที่เป็นเกย์ การพูดถึงคนขาวที่มีทัศนคติไม่ดี การพูดถึงข้อดีของการให้พื้นที่กับคนที่เป็นไฮบริด เพราะในเรื่องจะมีชนชั้นที่เป็น พ่อมดแม่มด มักเกิล (มนุษย์ธรรมดา) และเลือดผสม ทำให้เกิดการสร้าง New normal ของสังคมตะวันตก สังคมไทย การให้พื้นที่กับคนชายขอบเป็นเรื่องกระแสหลักไปแล้ว
ละครหลังข่าวของไทยไปไกลถึงขนาดว่า แม่พูดกับลูกชายว่า “แม่ยอมรับได้ ถ้าลูกจะมีแฟนเป็นผู้ชาย” ละครแบบนี้กลายมาเป็นละครในสื่อกระแสหลักได้ มีคอนเทนต์มากมายที่ทำให้คนรุ่นใหม่ยอมรับความหลากหลาย
ความหลากหลายก็น่าสนใจเพราะช่วงที่ผ่านมา สหรัฐเป็นสังคมที่เปิดรับผู้อพยพมากที่สุด แล้วก็มีงานวิจัยถามว่า คุณเชื่อหรือไม่ว่าแรงงานอพยพเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของคนอเมริกัน คนในยุคมิลเลนเนียลบอกว่า ใช่ เชื่อว่าคนกลุ่มนี้สำคัญกับระบบเศรษฐกิจ สำหรับสังคมไทยก็ไม่น่าจะต่าง คนรุ่นใหม่มีความรังเกียจแรงงานพม่าน้อยกว่ารุ่น Baby Boomer แน่นอน คนรุ่นใหม่รู้สึกโรแมนติกไปกับเรื่องท้องถิ่น ชนบท ซึ่งเป็นการมองโลกอีกแบบหนึ่ง ต่างจากคนรุ่นก่อน ซึ่งถอยหลังกลับไปแล้วมันคือ New normal ถ้า Baby Boomer ไม่ยอมปรับตัว คนรุ่นใหม่นี่แหละจะเปลี่ยนคุณเอง
เราจัดการกับการปะทะกันของคนระหว่างรุ่นได้หรือไม่ และจะอยู่ด้วยกันต่อไปอย่างไร
ถ้าเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของประเทศอื่นนะ ฝรั่งเศสก็สู้รบกันอยู่ 200 ปี กว่าจะเข้าที่เข้าทาง จีนก็ไม่ต่าง มีการสู้กัน ซึ่งท้ายที่สุดผลลัพธ์มันจะออกมาอยู่สามแบบ
หนึ่ง ถ้าพลังทั้งสองปีกมีจำนวนพอๆ กัน ก็หนีไม่พ้นกับการต่อสู้ระหว่างกัน
สอง ถ้าคนรุ่น Baby Boomer มองว่ายังเอาชนะคนรุ่นใหม่ได้ ในระยะเวลาไม่ไกลเราจะพบกับความอึดอัดของคนรุ่นนี้ เราปฏิเสธไม่ได้หรอก อีก 10 ปีที่จะถึงนี้ คนกลุ่ม Baby Boomer จะยังคงมีบทบาทในการกำหนดนโยบายและทิศทางของประเทศอยู่ คนรุ่นใหม่ก็จะอึดอัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สาม ในหลายประเทศ คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมายึดอำนาจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ดิฉันเองมองว่าผลลัพธ์ทั้งสามแบบนี้ ไม่ดีทั้งสามแบบเลย เราควรจะเรียนรู้และสร้างทางออกที่สี่ คนแก่ คนที่มีอำนาจ (Baby Boomer, Silent Generation) ควรจะต้องยอมรับกับความเปลี่ยนแปลง เพราะการหยุดพลังของรุ่นใหม่ไม่ให้เปลี่ยนโลกมันเป็นไปไม่ได้ เพราะพวกเขากำลังพยายามสร้างความมั่นคงชีวิตของพวกเขาในอีก 20-30 ปีข้างหน้า การจะหยุดความกระหายในการส่งเสียงของ First Time Voter มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับดิฉัน