90 กว่าปีมาแล้ว ที่คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เหตุการณ์ในเช้าวันนั้นพลิกชีวิตผู้คนทั่วทั้งแผ่นดินสยาม ไม่เพียงแต่ชีวิตของชาวไทยเท่านั้นที่เปลี่ยนไป แต่ชีวิตของชาวจีนที่อยู่ในสยามมานานกว่าศตวรรษก็เปลี่ยนไปเช่นกัน
การอภิวัฒน์สยามส่งผลต่อชีวิตของพวกเขามากแค่ไหน และเปลี่ยนไปในมิติไหนบ้าง ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
ในมุมหนึ่ง นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ในฐานะนักเขียน นักวิชาการอิสระ ที่เต็มไปด้วยคลังข้อมูลจากหนังสือและเอกสารเก่าแก่ที่เขาเก็บรวมรวบไว้เป็นจำนวนมาก ตลอดหลายปีมานี้ เขาอาศัยกรุหนังสือเหล่านี้ในการขยับเพดานองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรให้สูงขึ้นอยู่เสมอ
และในอีกมุมหนึ่ง เขาก็เป็นลูกจีน เติบโตในครอบครัวและวัฒนธรรมจีน เป็นอัตลักษณ์ที่เขาภาคภูมิใจและสามารถเรียกตัวเองว่า ‘ลูกเจ๊ก’ ได้อย่างเต็มปาก เมื่อผสานความเป็นลูกจีนและความสนใจในเรื่องราวคณะราษฎร เขาจึงสามารถฉายภาพชีวิตของชาวจีนที่เปลี่ยนไปหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ได้เห็นในหลายแง่มุม รวมไปเรื่องจีนๆ ในแต่ละมิติที่วนเวียนอยู่ตลอดในยุคสมัยของคณะราษฎรเช่นกัน
ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภาพรวมของชุมชนจีนในสยามเป็นอย่างไร
แต่เดิมประเทศไทยมีชาวจีนอยู่สักประมาณ 12.2 เปอร์เซ็นต์ ชุมชนจีนดั้งเดิมที่ใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นที่ตลาดพลู ในช่วงยุคต้นรัตนโกสินทร์ เป็นชุมชนจีนที่เกิดขึ้นหลังกรุงศรีอยุธยาแตก ตลาดพลูจึงเป็นเหมือนชุมชนจีนเก่าแก่ ถ้าคุณไปนั่งกินข้าวตอนกลางคืนแถวนั้นก็จะเห็นว่าที่นั่นเต็มไปด้วยอาหารจีนแบบดั้งเดิม
หลังจากนั้นพอมีการสร้างพระบรมมหาราชวัง ชุมชนจีนก็โยกย้ายข้ามไปฝั่งพระนคร ไปอยู่แถบเยาวราช สำเพ็ง อย่างที่เห็นทุกวันนี้
แต่ถ้าเราพูดถึงชาวจีนใหม่ที่เริ่มเข้ามายุคหลังสงครามโลก จะเป็นชาวจีนที่ไม่ค่อยมีตังค์มาก คนกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่แถวสามย่าน คลองเตย เพราะพวกเขาไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงพื้นที่เศรษฐกิจอย่างเยาวราชหรือสำเพ็ง ซึ่งเป็นชาวจีนที่เข้ามาปักหลักก่อนหน้าและค่อนข้างมีฐานะ อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าถึงจะดูเป็นจีนเหมือนกัน แต่ก็มีความหลากหลายต่างกัน การได้อยู่ตรงนั้นก็คือความเป็น elite (ชนชั้นนำ) ของเจ๊กสยาม จะว่าแบบนั้นก็ได้
ในช่วงเวลานั้น ความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างชาวจีนและชาวไทยเป็นอย่างไร
ก็ยังไม่ถึงกับหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันเสียทีเดียว แต่ถ้าในสมัยปัจจุบันเราจะแยกไม่ออกแล้วว่าคนนี้สาแหรกเป็นจีน เป็นลูกเจ๊ก เด็กในปัจจุบันเองก็จะมองไม่เห็นแล้วว่าพ่อแม่เขามาจากจีน เพราะว่าจีนปิดประเทศ พ.ศ. 2492 ในช่วงที่เหมา เจ๋อตง (Máo Zédōng) และพรรคคอมมิวนิสต์จีนกุมชัยชนะไว้ได้ และขับไล่ เจียง ไคเชก (Jiǎng Jiè shí) ให้ไปอยู่ที่ไต้หวัน
ถ้าเป็นเด็กรุ่นอายุสัก 20 ต้นๆ ในปัจจุบันมันมีกรณีที่เป็นไปได้อย่างเดียวคือ เจ๊กใหม่ คือพ่อแม่เป็นชาวจีนที่เพิ่งเข้ามาปักหลังเมื่อจีนเปิดประเทศอีกครั้ง หลังจากปิดไปนานกว่าครึ่งศตวรรษ
ชาวจีนในสยามมีมุมมองต่อเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 อย่างไร
ความรู้สึกร่วมอาจจะไม่มากเท่าไร แต่ไม่ถึงกับขนาด ignorant (เพิกเฉย) คือความรู้สึกมีส่วนร่วมในความเป็นชาติไทยยังไม่เยอะขนาดนั้น ต่อให้เป็นจีนรุ่น 2 รุ่น 3 ก็เถอะ ตอนนั้นจีนก็เพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแค่ 20 กว่าปี สิ่งที่คนจีนต้องการเมื่อมาอยู่เมืองไทยก็คือเข้ามาหาเงิน ซึ่งเขาก็ยังมีเมียอยู่เมืองจีน ส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวที่จีน ดังนั้นในบริบทนั้นที่ยังไม่เกิดเหมา เจ๋อตง ยังไม่เกิดจีนคอมมิวนิสต์ มันยังเป็นจีนคณะชาติ เป็นจีนที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาได้แค่ 20 ปี และระบอบใหม่ก็ยังไม่สามารถเซ็ตอัพได้ด้วยซ้ำ
แล้วมีชาวจีนที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างออกหน้าออกตาบ้างไหม
ถ้าเด่นชัดสุดก็จะเป็น เซียวฮุดเส็ง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มคณะ ร.ศ. 130 เขามีส่วนในการทำหนังสือพิมพ์ไทย-จีน จีนโนสยามวารศัพท์ ที่นำเสนอข่าวการปฏิวัติของ ดร.ซุน ยัตเซ็น (Sūn Yì xiān) เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเช้าวันนั้น เขาก็รีบส่งโทรเลขแสดงความยินดีกับคณะผู้ก่อการทันทีที่ทราบข่าว
เซียวฮุดเส็งยังมีศักดิ์เป็นญาติห่างๆ กับหัวหน้าคณะราษฎร พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ด้วย สุดท้ายเมื่อเขาตายตอน พ.ศ. 2482 หนังสืออนุสรณ์งานศพของเขามีคน 3 คนเท่านั้นที่เขียนคำไว้อาลัยให้เขา สามคนนั้นก็คือ พระยาพหลฯ หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
การปฏิวัติซินไฮ่ที่ล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีน ส่งผลต่อความรู้สึกของชนชั้นนำสยามในเวลานั้นมากแค่ไหน
ในสมัย ร.6 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 2 เหตุการณ์ นั่นก็คือ เหตุการณ์ ร.ศ. 130 ซึ่งเกิดขึ้นหลังการปฏิวัติของซินไฮ่เพียงไม่กี่เดือน ก่อนหน้าที่ ซุน ยัตเซ็น จะปฏิวัติสำเร็จก็เคยเดินทางมาสยามถึง 4 ครั้ง พูดแบบหยาบๆ ก็คือมาปลุกระดมและเรี่ยไรเงินจากพวกจีนโพ้นทะเลเพื่อหาเงินไปสนับสนุนการปฏิวัติ แต่เขาไม่ได้มาแค่สยาม เขาไปประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ก่อนหน้านั้นในสังคมสยามมีการแปลหนังสือ ลัทธิไตรราษฎร์ (ซาหมิ่นจูหงี) ของซุน ยัตเซ็น ก่อนเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงแค่ 3 ปี หนังสือเล่มนี้สุดท้ายกลายเป็นของต้องห้ามในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
และอีก 5 ปีต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติรัสเซียโดยพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks) ของเลนิน (Vladimir Lenin) ราชวงศ์โรมานอฟและราชวงศ์จักรีก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน พระเจ้าซาร์ก็เคยมาวังบางปะอิน ร.5 ก็ดูแลอย่างดี ปรากฏว่าพอพรรคบอลเชวิคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ราชวงศ์โรมานอฟถูกสังหารหมู่ที่ชั้นใต้ดิน สูญสิ้นราชวงศ์ หลังจากนั้นสยามก็ตัดสัมพันธ์กับรัสเซียเลย
เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าพวกชนชั้นนำกลัวไหม ก็กลัวสิ
แต่ชนชั้นนำสยามดูจะกลัวการปฏิวัติรัสเซียมากกว่าการปฏิวัติซินไฮ่
อย่างน้อยพอจักรพรรดิปูยี (Àixīnjuéluó Pǔyí) ถูกโค่นไป เขาก็ยังไม่โดนอะไร แต่เพิ่งมารุนแรงตอนที่ญี่ปุ่นมาหนุนหลังเขาเป็นหุ่นเชิด ฉะนั้นในมุมมองของชนชั้นนำ การปฏิวัติจีนก็ไม่ได้ดูโหดเหี้ยมเท่ารัสเซีย เพราะรัสเซียมันฆ่า มันกราดยิงหมู่ ตายหมดเลย
วิถีชีวิตชาวจีนในสยามได้รับผลกระทบอย่างไรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ช่วง 5 ปีแรกที่นำโดยพระยาพหลฯ ก็มีการควบคุมชาวจีน และพยายามสร้างความเป็นไทยให้กับพวกเขา โรงเรียนจีนในสยามก็เริ่มลดลง เหลืออยู่ประมาณ 200-300 โรงเรียนทั่วประเทศ แต่กระทบหนักขึ้นมากๆ ในช่วงจอมพล ป. ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2481 จนถึงสิ้นอำนาจในช่วง พ.ศ. 2487 ก็ปิดโรงเรียนจีนกันอุตลุดเลย
เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ได้ส่งผลดีต่อชุมชนจีนนะ ชุมชนจีนอาจมีโรงเรียนจีนก็จริง แต่พวกคนจีนที่มีเงิน เขาก็เลือกที่จะส่งลูกกลับไปเรียนที่เซี่ยงไฮ้หรือที่กวางตุ้งมากกว่า หรือไม่ก็ไปจ้างครูมาสอนที่บ้าน หรือลูกหลานชาวจีนที่มาในสมัย ร.4 ร.5 เขาก็ส่งไปเรียนโรงเรียนไทยที่เขารู้สึกว่ามีคุณภาพสูงกว่า หรือพวกจีนทางภาคใต้ พวกฮกเกี้ยน เขาก็เลือกส่งลูกไปเรียนที่มลายู ไปเรียนที่ปีนัง ไปเรียนที่สิงคโปร์
เพราะฉะนั้นความเป็นโรงเรียนจีนตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนมาถึงยุคของคณะราษฎร มันก็เป็นโรงเรียนสำหรับชนชั้นกลาง หรือไม่ก็ชนชั้นล่างที่อยากให้ลูกเรียนหนังสือ ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาสถานภาพความเป็นจีนไว้อยู่
และมันไม่ใช่แค่ปิดโรงเรียนจีนนะ ในสมัยสร้างชาติ จอมพล ป. ก็ยังไปฮุบเอากิจการหลายๆ อย่างของชาวจีนด้วยซ้ำ เช่น พวกกิจการค้าข้าว ก็ทำเอากระเจิดกระเจิงเหมือนกัน
คณะราษฎรเองก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนด้วยจึงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ แล้วชุมชนชาวจีนให้ความร่วมมือกับคณะราษฎรอย่างเต็มใจไหม
ผมว่าเขาก็คงไม่เต็มใจมากนัก ถ้าเลือกได้ เขาก็เลือกเดินทางกลับจีน จอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการ ก็มีความชาตินิยม ซึ่งไม่ใช่แค่สังคมจีนที่รู้สึกนะ สังคมมุสลิมก็รู้สึก ไอ้ความเป็นชาติไทยช่วงรัฐนิยม มันทำให้ชาติพันธุ์อื่นๆ ต้องกลายเป็นอื่นไป เพราะฉะนั้นถ้าพูดในเงื่อนไขนี้ก็ไม่ใช่เฉพาะจีนหรอกที่ได้รับผลกระทบ ในคณะราษฎก็มีชาวมุสลิมอยู่ 4 คน ขนาดตัวพวกเขาเองยังมีปัญหากับรัฐนิยมที่พยายามจะสร้างความเป็นไทย
การเปรียบเทียบชาวจีนเป็น ‘ยิวแห่งบูรพาทิศ’ ของ ร.6 พอมาถึงสมัยคณะราษฎรยังมีการเปรียบเทียบในลักษณะนี้อยู่ไหม
จอมพล ป. ก็มีการใช้ชาตินิยมในลักษณะเดียวกันกับที่ ร.6 ใช้ และหลวงวิจิตรวาทการก็นำวาทกรรมชุดนี้กลับมาใช้ด้วยเหมือนกัน
การที่คณะราษฎรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีความเอนเอียงไปทางญี่ปุ่นและยึดญี่ปุ่นเป็นต้นแบบในหลายๆ อย่าง ส่งผลต่อความรู้สึกชาวจีนอย่างไร
สภาพสังคมในช่วงนั้น ส่งคนไปเรียนญี่ปุ่น มีโมเดลแบบญี่ปุ่น ต่อเรือแบบญี่ปุ่น ในเวลานั้นมีชาวจีนโพ้นทะเลอยู่ในไทยค่อนข้างเยอะ ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการอยู่ประมาณสัก 1.5 ล้าน ขณะที่ประชากรของเรามีอยู่สักประมาณ 13 ล้านต้นๆ ดังนั้นความไม่พึงพอใจของชาวจีนที่มีต่อชาวญี่ปุ่นมันก็เพิ่มสูงขึ้น จนมาสู่จุดสูงสุดช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา
บางทีเวลาเราพูดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชาวจีน ก็อาจจะไม่ส่งผลดีต่อคณะราษฎรเท่าไรนัก คณะราษฎรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเขาโปรญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นในช่วง พ.ศ. 2480 ที่มีเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่นานกิงโดยญี่ปุ่น รัฐไทยและคณะราษฎรก็ไม่ออกความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ วางตัวแบบค่อนข้างลอยตัวพอสมควร
ในวรรณกรรมที่มีฉากหลังเป็นประเทศไทยในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ที่ตัวละครชาวจีน เช่น อาแปะขายกาแฟที่จะกลัวๆ และต้องการต่อต้านญี่ปุ่น ถือว่าค่อนข้างเป็นภาพที่จริงพอสมควรใช่ไหม
ใช่ จริงๆ ชาวจีนก็มีการรวมกลุ่มกัน ชาวจีนในไทยมี 5 กลุ่มหลัก คือ แต้จิ๋ว ไหหลำ กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แคะ แต่การรวมกลุ่มของชาวจีนในช่วงนั้นก็ไม่ได้มีความสามัคคีกันมาก และในแต่ละกลุ่มเขาก็จะมีแบ่งแยกกันไปอีก
ในคณะราษฎรมีสมาชิกที่เป็นชาวจีนอยู่บ้างไหม
ถ้าสมาชิกคณะราษฎรระดับบนๆ ผมคิดถึงคนเดียวคือ สงวน ตุลารักษ์ เขาเป็นลูกเจ๊กอยู่แถวบางคล้า ที่ฉะเชิงเทรา ตอนหลังเขาได้เป็นเอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐจีนคนแรกหลังสงครามยุติ บทบาทสำคัญของเขาคือตอนเป็นเสรีไทย ตอนแรกเสรีไทยส่งคณะของจำกัด พลางกูร ไปคุยกับเจียง ไคเชก ถ้าพูดตามตรงก็คือไม่สำเร็จ ไปตาย และคณะที่ 2 นำโดย สงวน ตุลารักษ์ ซึ่งสำเร็จ
และเมื่อตอนปรีดี พนมยงค์ ลี้ภัยไปเมืองจีนในช่วง พ.ศ. 2492 ก็ได้ไปอยู่กับสงวนนี่แหละ
ดูเหมือนว่าปรีดีจะเป็นแกนนำคณะราษฎรที่มีความสัมพันธ์อันดีกับจีนมากที่สุด
ปรีดีลี้ภัย 2 ครั้ง ครั้งแรกคือ พ.ศ. 2490 พอปรีดีแพ้ก็ตรงไปที่สิงคโปร์ก่อนเลยเพื่อไปรวมสรรพกำลัง ไปขอเงินเจียง ไคเชก ซึ่งเจียง ไคเชก ก็สนับสนุน แล้วปรีดีก็ก่อตั้งขบวนการประชาธิปไตย แต่พอแพ้ก็กลายเป็นกบฏวังหลวงใน พ.ศ. 2492 ปรีดีก็ปลอมตัวเป็นชาวประมง เดินทางไปอยู่ที่สิงคโปร์สักพักหนึ่ง ปรีดีจะเลือกลี้ภัยไปหลายที่ สุดท้ายก็ไปโผล่ที่เทียนอันเหมิน ตอนที่เหมา เจ๋อตง ประกาศชัยชนะในปีเดียวกัน
จีนเขาก็เลี้ยงปรีดีไว้ดี เหมือนกับว่าเขาอาจอยากให้ปรีดีร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนรึเปล่าก็ไม่รู้นะ แต่สุดท้ายปรีดีก็ไม่ได้ร่วมมือด้วย แล้วก็ไม่ได้ร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ด้วย ก็อยู่เป็นแขกบ้านแขกเมือง
ปรีดีอยู่ที่จีนนานถึง 21 ปี โดยรัฐบาลจีนดูแลเป็นอย่างดี ทั้งให้ที่พัก ทั้งให้เงิน แต่ทำไมสุดท้ายตัดสินใจไปอยู่ฝรั่งเศส ซึ่งก็ไม่ได้มีชีวิตที่สบายเท่าไรนักหากเทียบกับตอนอยู่จีน
ตอนนั้นเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมา เจ๋อตง มีกลุ่ม Red Guards มีการเข่นฆ่ากัน ก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายถ้าอยู่ต่อ แล้วจะพลาดไปโดนอะไรมากแค่ไหน ซึ่งก็คงไม่ได้รู้สึกสบายใจนัก
ผลงานเด่นที่สุดของปรีดีตอนอยู่จีนก็คือหนังสือ ความเป็นอนิจจังของสังคม (2500) ที่เหลือก็ไม่มีอะไรมาก จะเป็นแนวปรัชญาและนิรุกติศาสตร์มากกว่า เป็นงานเขียนถึงนิยามคำว่า ‘อภิวัฒน์’ ‘ประชาธิปไตย’ คำอธิบายเรื่องรัฐประหารอะไรจำพวกนี้ ปรีดีช่วงนั้นก็จะมีความเป็นนักปรัชญา
เหตุที่งานเขียนของปรีดีออกมาในลักษณะนี้ เพราะว่าโดนจีนสอดส่องอยู่ด้วยใช่ไหม
แน่นอน เขาก็เลยไม่สามารถเขียนอะไรมากกว่านี้ได้ แต่เราก็ไม่รู้ไง ว่าสุดท้ายแล้วเขาพยายามแค่ไหน เพราะเขาเป็นนักปฏิวัติ แต่คิดว่า 21 ปี ปรีดีคงไม่ได้ไปนั่งๆ นอนๆ อยู่เฉยๆ หรอก
จนถึง พ.ศ. 2513 พอปรีดีข้ามไปฝรั่งเศสปุ๊บ กลายเป็นอีกมิติหนึ่งเลย ทั้งเรื่องการสื่อสาร มีคนบินไปพบมากขึ้น จนจอมพลประภาส จารุเสถียร ถึงกับบอกว่า ใครๆ ไปปารีสก็ต้องไปพบปรีดีกันหมด
ก่อนยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนไทยคุ้นเคยกับวัฒนธรรมจีนมากแค่ไหน
แน่นอน โดยเฉพาะวัฒนธรรมอย่างพงศาวดารจีน ถ้าเราจะพูดว่ามันฮิตแค่ไหน ก็จะเห็นว่าในสมัย ร.1 มีการแปลพงศาวดารจีน 2 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ สามก๊ก ร.2 แปล 3 เรื่อง ส่วนในสมัย ร.3 ไม่มีการแปล เพราะจะให้ความสำคัญไปที่การสร้างวัดไทยและคัมภีร์ทางศาสนา พอมาถึง ร.4 มีแปล 12 เรื่อง ร.5 มีอยู่ 13 เรื่อง ร.6 อีก 4 เรื่อง ส่วน ร.7 ไม่มีการแปล แต่มีการนำ สามก๊ก กลับมาปรับปรุงใหม่ คือฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่ปรับปรุงโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
อย่าง สามก๊ก ฉบับหมอบรัดเลย์ ร.4 ก็ซื้อเก็บไว้ให้บุตรธิดาถึง 50 ชุดเลยนะ เป็นงานที่ได้รับความนิยมมากแม้ในหมู่ชนชั้นสูง แล้วนักเขียนวรรณกรรมไทยเกือบทั้งหมดก็ต้องอ่าน สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ยาขอบ (โชติ แพร่พันธุ์) ก็อ่าน มีบันทึกในหนังสืองานศพของยาขอบเลยว่า มี สามก๊ก อยู่บนหัวเตียง
สมัยนั้นความนิยมในพงศาวดารจีนถือว่าค่อนข้างมาก จนมีเรื่องเล่าว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) ที่ตอนนั้นทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ให้กับพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ก็นัดคุยกับนักเขียน 3 คน เพื่อจะเอาชนะพงศาวดารจีน
ในที่สุดก็ได้งานเขียนออกมา 3 เรื่อง โดย สันต์ ท. โกมลบุตร (สันต์ เทวรักษ์) มาลัย ชูพินิจ และยาขอบ ปรากฏว่างานของยาขอบดังสุด ประสบความสำเร็จมากที่สุด นั่นก็คือเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ
มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีของนักเขียนชาวไทยที่ต้องการเอาชนะพงศาวดารจีน เพื่อเปิดพื้นที่ให้งานวรรณกรรมไทยมากขึ้นหรือเปล่า
ก็อาจมีลักษณะแบบนั้นนะ แต่ถ้าเอาที่เขาคุยกันเป๊ะๆ ก็คือ “เราได้ตกลงใจว่าจะทำการปฏิวัติ เลิกล้มจารีตอันเหนียวแน่นข้อหนึ่งในการหนังสือพิมพ์คือ เลิกล้มการลงพิมพ์นิยายที่เรียกกันว่าพงศาวดารจีน ซึ่งเราเห็นว่าในตอนหลังๆ นี้ ออกจะเต็มไปด้วยความไร้สาระ เราจึงตกลงบรรจุนิยายที่เราถือว่าเป็นชั้นเอกถึง 3 เรื่อง” ซึ่งก็คือ ชายชาตรี ของมาลัย ชูพินิจ บรรไดแห่งความรัก ของ สันต์ ท. โกมลบุตร และ ผู้ชนะสิบทิศ ของยาขอบ
ปิดท้ายด้วยว่า “การปฏิวัติของเราประสบความสำเร็จ นิยายทั้ง 3 เรื่องของเราประสบความสำเร็จ แต่เรื่องที่มีฤทธิ์ที่สุดในการสะกดจิตผู้อ่านให้หยุดเรียกร้องหาพงศาวดารจีนก็ต้องกล่าวกันว่าคือผู้ชนะสิบทิศ”
ความไร้สาระของพงศาวดารจีนที่กุหลาบพูดถึงคืออะไร
กุหลาบเขาตั้งกลุ่ม ‘สุภาพบุรุษ’ ตอน พ.ศ. 2472 วรรณกรรมของเขาจะเป็นลักษณะนิยายสมัยใหม่ที่พูดถึงชีวิตคน คิดดูว่าเขาแต่งเรื่อง สงครามชีวิต ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่กี่เดือน ซึ่งเขาอ่านมาจากวรรณกรรมตะวันตก ซึ่งรวมถึงรัสเซียด้วย แล้วก็มาดัดแปลงให้เข้ากับชีวิตคนไทย เพราะกุหลาบ สายประดิษฐ์ เขาก็อยู่ในเทรนด์สมัยใหม่แล้ว
แต่พงศาวดารจีนถ้าพูดกันแบบไม่คิดอะไร มันมีความเป็นงิ้ว คนก็จะชอบเรียกพงศาวดารจีนว่าเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นก็เป็นไปได้ว่ากุหลาบอาจอ่านพงศาวดารจีนแล้วไม่ชอบ ก็เลยประมาณว่างั้นเรามาปฏิวัติวรรณกรรมกันไหม ฉะนั้นการปฏิวัติ 2475 จึงไม่ใช่ปฏิวัติระบอบการปกครองอย่างเดียว แต่ยังปฏิวัติวรรณกรรมด้วย
หลังจากยาขอบเขียน ผู้ชนะสิบทิศ เพื่อจะเอาชนะพงศาวดารจีน แต่สุดท้ายยาขอบก็หันมาเขียน สามก๊ก ซึ่งก็เป็นพงศาวดารจีนอยู่ดี
ยาขอบมาเขียน สามก๊กฉบับวณิพก เรื่องแรกคือ กวนอู เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ ช่วง พ.ศ. 2480 ไล่เลี่ยกับ ข้างหลังภาพ ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ทยอยลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ซึ่งในอีก 5 ปีต่อมาก็พิมพ์รวมเล่ม ซึ่งด้วยเพราะมันขายดีหรืออะไรไม่รู้ แต่รากของคนไทยก็ต้องกลับไปอ่านพงศาวดารจีนอยู่ดี สามก๊กมันสนุกได้ขนาดนั้น
ฟังดูแล้วก็ irony (ย้อนแย้ง) ดี คือยาขอบฆ่าพงศาวดารจีน แต่ดันมา addict (คลั่งไคล้) พงศาวดารจีน จนกลับไปแต่งผู้ชนะสิบทิศไม่จบ และสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แปลด้วยสำนวนจีนฮกเกี้ยน ส่วนยาขอบนำมาเขียนให้อ่านได้สนุกขึ้น โดยเช็คสอบเพิ่มเติมกับฉบับแปลภาษาอังกฤษ
ก็คือยาขอบฆ่าพงศาวดารจีนไปแล้วรอบหนึ่ง แล้วชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ให้ดีกว่าเดิม
ใช่ๆ สามก๊กฉบับวณิพก เรื่องที่ 2 ที่ยาขอบเขียนออกมาก็คือ ขงเบ้ง ผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร พิมพ์ออกมา 3 ครั้ง มันได้รับความนิยมขนาดนั้น
พอเขียนเรื่องที่ 3 เกี่ยวกับจิวยี่ ในช่วงเวลาเดียวกัน สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ก็ถูกตีพิมพ์ออกมาอีกครั้งโดยคณะราษฎร ซึ่งออกมาในช่วงที่มีการปฏิวัติภาษา ยกเลิกพยัญชนะ 13 ตัว และสระ 5 ตัว คณะราษฎรต้องการตีพิมพ์วรรณกรรมคลาสสิกออกมา 5 เล่ม เพื่อโปรโมตภาษาใหม่ และหนึ่งในนั้นคือ สามก๊ก
แสดงว่าในช่วงการปฏิวัติภาษาของคณะราษฎร ก็มี สามก๊ก ออกมาถึง 2 ฉบับ?
ถ้าอย่างเป็นทางการก็คือฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่ตีพิมพ์โดยคณะราษฎร กับฉบับวณิพกของยาขอบ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าความนิยมในสามก๊กของยาขอบ มันส่งผลให้คณะราษฎรต้องมีการตีพิมพ์ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ออกมาหรือเปล่า
จริงๆ เราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าคุณจะต่อต้านจีน หรือจะมีความญี่ปุ่นยังไง ความเป็นเจ๊กในสังคมไทยก็ยังน่าสนใจ มันไม่สามารถที่จะแยกขาดกันได้ และทำให้สามก๊กกลายเป็นวรรณกรรมคลาสสิกของไทยไปแล้ว มันมีอัตลักษณ์ของไทยที่หากไปดูต้นฉบับก็จะมีความต่างกันอยู่
การที่ สามก๊ก ซึ่งเป็นพงศาวดารจีนได้กลายมาเป็นวรรณกรรมที่ใช้พูดเปรียบเทียบเรื่องการเมืองไทย มันเริ่มต้นขึ้นช่วงไหน
ก็ช่วงปรีดีสิ้นอำนาจ พ.ศ. 2490 จะมีเล่มที่ออกมา เช่น สามก๊กฉบับการเมือง ที่เขียนโดย ฟรีเพรส ซึ่งจะเปรียบเทียบปรีดีที่ไม่มีแผ่นดินอยู่ เหมือนกับเล่าปี่ที่มีกุนซือเก่งๆ เต็มไปหมด จอมพล ป. ก็เหมือนกับโจโฉ และเปรียบเทียงควง อภัยวงศ์ ที่ตอนนั้นไปเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ว่าเหมือนกับซุนกวน
ชวนคิดเล่นๆ ว่าถ้าต้องเปรียบเทียบสมาชิกคณะราษฎรสักคนเป็น ‘ขงเบ้ง’ คิดว่าจะเป็นใคร
ถ้าให้พูดตามตรง ปรีดีเองเขาก็มีความเป็นขงเบ้งในตัว เขามีความชาญฉลาดในการวางแผนทุกอย่าง ทั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร และขบวนการเสรีไทย เขาคือมันสมอง
อีกมุมหนึ่งที่ปรีดีถูกนำไปเปรียบเทียบกับเล่าปี่ก็เพราะดูเป็นคนมองโลกในแง่ดีด้วยหรือเปล่า
ก็ใช่ ดูเป็นคนดี๊ คนดี แต่เขามั่นใจไปหน่อย เนื่องจากเขาชนะใน 2 เกมใหญ่ คือเกม 24 มิถุนายน 2475 และเกมเสรีไทย
แล้วการเปรียบเทียบโจโฉกับจอมพล ป. ดูจะถูกฝาถูกตัวแล้วใช่ไหม เพราะในหลายๆ ฉบับก็จะเปรียบเทียบแบบนี้เหมือนกัน
เขาเป็นก๊วนที่ใหญ่ที่สุด ทรงพลังที่สุด และใช้ทหารนำ เขาใช้พลังนำมันสมอง เขาอาจมีกุนซือ แต่ก็ไม่ใช่กุนซือในระดับเดียวกับกุนซือสายปรีดี ที่เป็นนักกฎหมาย เทคโนแครต จอมพล ป. ก็มีทีมมันสมอง แต่เป็นเกรด B ไม่ใช่เป็นมันสมองเกรด A แบบของปรีดี
ก็เหมือนโจโฉที่มีกุนซือ แต่ก็งั้นๆ ไม่ได้โดดเด่นเหมือนกับขงเบ้งที่อยู่กับเล่าปี่
พูดได้ไหมว่า สามก๊ก เป็นวรรณกรรมที่โดดเด่นที่สุดในยุคคณะราษฎร
สำหรับ 15 ปีของคณะราษฎร 10 ปีแรกมันคือผู้ชนะสิบทิศ และ 5 ปีสุดท้ายก็คือสามก๊กฉบับวณิพก
หลังสงครามโลกยุติ (หลัง พ.ศ. 2488 เป็นต้นมา) สภาพความเป็นอยู่ของชาวจีนเป็นในไทยอย่างไรบ้าง
โรงเรียนจีนก็เพิ่มกลับขึ้นมาเกือบ 400 แห่ง เพราะก่อนหน้านั้นปรีดีก็พยายามฟื้นฟูชุมชนชาวจีนขึ้นมา จากที่เคยถูกจอมพล ป. ยุบไปเกือบหมด
มรดกอะไรของคณะราษฎรที่เกี่ยวข้องกับจีน และยังคงหลงเหลืออยู่มาถึงปัจจุบัน
จริงๆ ก๋วยเตี๋ยวก็ถือว่าย้อนแย้งดีนะ ทั้งที่ก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารของจีน ซึ่งจอมพล ป. พยายามส่งเสริมให้คนไทยกู้ยืมเงินโดยไม่มีดอกเบี้ยเพื่อมาขายก๋วยเตี๋ยว ซึ่งมันเป็นวัฒนธรรมของคนจีน
มันเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่เขาเลือกแล้วเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ ช่วงปลาย พ.ศ. 2485 ข้าวขาดตลาด ก๋วยเตี๋ยวก็เป็นอาหารจานด่วนมากๆ ที่น่าสนใจ เพราะก๋วยเตี๋ยวสะท้อนวัฒนธรรมการกินของเจ๊ก แต่จอมพล ป. ซึ่งชูนโยบายรัฐนิยม กลับดึงเมนูนี้เป็นเมนูหลักที่จะแก้ไขปัญหาอุทกภัยและอาหารการกิน มันเป็นนโยบายเฉพาะกิจมากๆ นะ
เพราะฉะนั้นถ้าถามว่ามรดกของคณะราษฎรที่เกี่ยวกับจีนคืออะไร ผมตอบแบบกวนๆ เลยก็คือก๋วยเตี๋ยว ทั้งที่เป็นวัฒนธรรมการกินของจีน แต่เราก็เอามาเป็นของไทยได้
เราสามารถมองในมุมนี้ได้ไหมว่า มรดกของคณะราษฎรคือการทำให้ชาวจีนและชาวไทยในประเทศนี้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างกลมกลืน
ก็มีส่วนนะ ต้องยอมรับว่าการพยายามที่จะทำลูกจีนเกิดสำนึกความเป็นชาติไทย ถ้าจะบอกว่านี่คือมรดกของคณะราษฎร อันนี้เข้าข่าย