ตุลาคม 2561 มีรายงานจาก CS Global Wealth Report 2018 ระบุออกมาว่า ไทยแซงหน้าหลายๆ ชาติขึ้นแท่นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นอันดับหนึ่ง
ต่อเนื่องตลอดปลายปี 2561 หลังมีกระแสว่าการเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้นแน่นอนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเหมือนการ ‘ซื้อเสียง’ หรือไม่ รัฐบาล คสช. ก็จัดการทุ่มเงินแสนล้านโดยจุดประสงค์เพื่อขจัดความยากจน ทั้งในรูปแบบสวัสดิการแห่งรัฐ กระทั่งกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ฯลฯ
แต่วิธีโปรยเงินแบบนี้มีประสิทธิภาพแค่ไหน มองย้อนไปถึงความเหลื่อมล้ำ วิธีช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ช่วยสมานช่องว่างทางเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่
ความยากจนกับความเหลื่อมล้ำเป็นของคู่กัน ปัจจัยหลายประการที่เบียดขับให้คนจำนวนมากตกหล่นอยู่ใต้เส้นความยากจน เช้าหาไม่ได้ ค่ำไม่ได้กิน มีเสียงกล่าวรวบรัดว่า คนเหล่านี้กำลังจมน้ำ รัฐจึงต้องมีมาตรการบางอย่างเพื่อเป็นห่วงยางให้พวกเขาลอยคอลืมตาอ้าปากหายใจได้
ภาพหนึ่งที่ถูกยกมาอธิบายความเหลื่อมล้ำ ประชาชนสามคนมีความสูงแตกต่าง พร้อมลังหลายใบ ต้องใช้วิธีการวางแบบไหนจึงจะให้ทุกคนมองข้ามรั้วไม้ได้อย่างเท่าเทียม
แนวคิด ‘ลัง’ แบบนี้คือสิ่งที่ นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ในฐานะผู้ขับเคลื่อนจากภาคประชาชนเรียกว่า ‘การต่อขา’ ซึ่งไม่ว่าจะจัดเรียงรูปแบบไหน มิติความเท่าเทียมก็ยังมีช่องโหว่ให้เกิดข้อถกเถียง เพราะการต่อขาที่ว่า อาจหมายถึงการทุ่มงบประมาณลงไปไม่มีที่สิ้นสุด
ถ้าเห็นภาพแล้วคุ้น แนวคิดช่วยคนจมน้ำของรัฐบาล คสช. คงอยู่ในข่ายวาทกรรมการสงเคราะห์ด้วยการต่อขาเช่นกัน
จากการศึกษาและขับเคลื่อน นิมิตร์ เทียนอุดม บอกว่าเรากำลังติดกับดัก ‘การต่อขา’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่รัฐหรือผู้ปกครองสร้างกรอบคิดไว้ เมื่อโจทย์ของภาพแสดงความเหลื่อมล้ำทั้งสองคือการให้ทุกคน ‘มองข้ามรั้วอย่างเท่าเทียม’ วิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายมากกว่าการป่ายปีนคือ ‘การรื้อรั้ว’ โดยใช้แนวคิด ‘รัฐสวัสดิการ’ ที่จะทำให้ทุกคนอยู่ในระนาบพื้นดินอย่างถ้วนหน้า
และถ้าจะหาเครื่องมือสักอย่างมาใช้เป็นค้อนเพื่อถอนตะปูรั้วแห่งความเหลื่อมล้ำ สิ่งนั้นคือ การประกันรายได้ หรือเรียกให้ง่ายคือ ‘บำนาญถ้วนหน้า’
เวลามีคนพูดถึงความไม่เท่าเทียม เหลื่อมล้ำ มักมีคนยกรูปนี้ขึ้นมาเปรียบเทียบว่าวิธีไหนให้ผลบวกต่อคนมากกว่ากัน สามารถอธิบายวิธีคิดนี้อย่างไร
เวลาพูดเรื่องความเท่าเทียม ความเสมอภาค คนมักชอบพูดเสมอว่า แต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน เลยแก้โดยใช้วิธีต่อขาเอา
แต่ในมุมของผมที่ทำงานเรื่องความถ้วนหน้า กลับมองว่าเราต้องไม่ตกอยู่ภายใต้วาทกรรมหรือวิธีคิดที่เขากำหนดมา เราคิดว่าความเท่าเทียมมองได้มุมเดียวคือการเอากล่องไปต่อขา แต่ทำไมเราไม่เลือกรื้อรั้ว ถ้าคุณรื้อออกไปมันก็ไม่ต้องมีใครต้องต่อขาให้ใคร ฉะนั้นแปลว่ายังมีกฎกติกา วิธีคิด หรืออะไรบางอย่าง ที่ไปกดทับทำให้คนไม่เท่ากันอยู่ แล้วพอคนมาเรียกร้องความเท่าเทียม ก็จะถามหาแต่การต่อขา ต่อกล่อง คนที่ตัวเตี้ยสุดเป็นคนยากคนจน ก็ให้มาก ต่อขาให้เขาสูงขึ้น แต่ไม่ได้ปล่อยให้สังคมเปิดกว้างและมองเห็นว่า ตอนนี้มันมีรั้วขวางอยู่ ผมคิดว่าเราต้องมองภาพใหม่ ต้องไม่ตกอยู่ภายใต้วิธีคิดที่ชนชั้นมีอำนาจตีกรอบไว้ให้เรา
สองรูปนี้ไม่ได้มีรูปไหนดีกว่ากัน เพราะความคิดเห็นผมคือการ ‘รื้อรั้ว’ เพียงอย่างเดียว ถ้าคุณเอารั้วออกไป เอาโครงสร้างที่มันกดทับความไม่เท่าเทียมออกไป คุณก็ไม่ต้องไปพูดว่าใครจะต่อขาใคร ทุกคนมีโอกาสได้รับความเสมอภาคและเท่าเทียม มีคำว่า ‘ถ้วนหน้า’ ไม่ว่าคุณอยู่ตรงไหน คุณจะสูงหรือจะเตี้ย ก็มีโอกาสเข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้เหมือนกันหมด
ตอนนี้สิ่งสำคัญสุดคือ ต้องคิดก่อนว่าเราต้องเอารั้วออก ไม่ใช่ให้มาคิดว่าจะไปเอากล่องที่ไหนมาต่อขาคน ถ้าเกิดคิดว่าจะเอากล่องมาต่อขาคน ก็เหมือนกับว่าจะไปเอาเงินที่ไหนมาทำรัฐสวัสดิการ ในขณะที่เราบอกว่าเงินที่คุณใช้อย่างอีลุ่ยฉุยแฉก ใช้คำนี้ก็ได้ ถือว่าคุณใช้แบบที่คุณอยู่ในโครงสร้างอำนาจ เป็นผู้มีส่วนกำหนดว่า ฉันจะขอเรือดำน้ำ ขอเรือรบที่กำลังจะมาใหม่ ฉันจะขอเพิ่มเงินบำนาญของข้าราชการที่ไม่ถึง 10,000 ให้ได้ถึง 10,000 ในขณะที่เราบอกว่า มันไม่ใช่วิธีคิดนี้ เอารั้วออกสิ หมายถึงว่ามันมีเงินอยู่ตรงไหน มันมีวิธีคิดหรือจัดการงบประมาณแบบไหน เรามามองแล้วจัดใหม่ด้วยกัน
หมายถึงการจัดสรรงบ คือการรื้อรั้วใช่ไหม
ความหมายก็คงประมาณว่า ไม่ต้องไปช่วยเป็นรายคน เพราะต้องมาคัดอีกว่าคนไหนสูงต่ำ เปลี่ยนวิธีคิดเป็นความถ้วนหน้า
รั้ว ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ๆ เช่น เรื่องโครงสร้างอำนาจ ที่พูดทีไรก็ร้อนทุกที?
ใช่ ถ้าคุณยังยึดมองแต่เรื่องกล่อง คุณก็จะมองว่าตอนนี้เรามีกล่องอยู่กี่กล่อง แล้วมันจะพอไหม แล้วถ้าไม่พอ จะไปหากล่องมาจากไหน ตอนนี้มันไม่มีกล่องแล้ว เพราะทุกคนเหยียบกล่องใครกล่องมันอยู่ ไม่มีกล่องเหลือพอที่จะเอามาทำ แต่ลืมมองไปว่านอกจากกล่องแล้ว มันมีรั้ว มันมีการจัดการ มีวิธีคิด มีเรื่องของการกระจายงบประมาณที่ไม่เป็นธรรม มันคืออำนาจของเขา เมื่อเขาไม่พร้อมจะกระจายอำนาจ เขาจึงใส่กรอบวิธีคิดที่เราเรียกว่า ‘โครงสร้างส่วนบน’ ครอบคุณอยู่
ในเชิงปฏิบัติก็คือ เราต้องสร้างการมีส่วนร่วม ตอนนี้ประชาชนเริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้แล้ว คนเริ่มรู้แล้วว่าสังคมไม่เท่าเทียม สังคมมีความเหลื่อมล้ำ คนเริ่มรู้ว่าตัวเองอยู่ตรงจุดไหนของความเหลื่อมล้ำนี้ โดยส่วนใหญ่เริ่มตื่นตัวมากขึ้น ดูจากเมื่อก่อนเวลาเราไปพูดเรื่องให้มาช่วยกันสร้างรัฐสวัสดิการ คนไม่ค่อยหันมามอง แต่จากปรากฏการณ์ช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมา มีคนพูดเรื่องรัฐสวัสดิการเยอะขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับที่เราเริ่มพูดเรื่องนี้ เมื่อสามปีมาแล้ว ซึ่งมันเงียบ
คำถามคือ ถ้าเราจะรื้อรั้ว เราต้องสร้างความเข้าใจมากขึ้นให้กับคน เมื่อเริ่มเข้าใจก็สร้างกระแส สร้างวิธีคิดที่ให้เห็นว่า คุณต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ มันมีความสำคัญมาก ถ้าคุณไม่ลุกขึ้นส่งเสียง เขาก็จะไม่ตอบสนองคุณ เงียบเท่ากับตาย
อย่างเรื่องบัตรคนจน ตอนที่ออกมาใหม่ๆ ถ้าทุกคนเห็นด้วยไปกับมัน คิดว่ามันดี แล้วก้มหน้ารับไป มันก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าบอกว่ามันใช้ไม่ได้ 300 บาท มันไม่พอ แถมยังต้องไปเฉพาะร้านที่กำหนดอีก เราไปกระตุ้นให้คนที่รับและส่งเสียงเห็น มันจึงเกิดการจัดการ เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนรูปแบบ เปลี่ยนอะไรใหม่ๆ ถึงขั้นต้องเติมเงินสดกัน เพราะมันใช้ไม่ได้ในชีวิตจริง ฉะนั้นต้องทำให้คนเปลี่ยนวิธีคิด ทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วมส่งเสียงหรือมีแอคชั่น
ต่อมาก็คือต้องทำงานข้อมูล ทำงานวิชาการ เพื่อดูกันว่า โครงสร้างภาษี การใช้จ่ายงบของรัฐในแต่ละส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มันอยู่ตรงไหน ยังไง แล้วรื้อมันด้วยข้อเท็จจริง เอาข้อมูลมายันว่าเงินที่คุณใช้ที่กระจายทรัพยากรไปอยู่ตรงส่วนไหนบ้างที่มันไม่มีความสำคัญกับชีวิตผู้คนเลย เช่น การใช้งบกลาโหมมากมายที่เริ่มทำให้คนเห็น ซึ่งถ้าคุณอยากให้คนรับรู้อีก ก็ต้องใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงอีก
คำตอบสุดท้ายของการรื้อก็คือ การได้รัฐที่เห็นหัวคน ได้รัฐที่เชื่อว่าการจัดสวัสดิการเป็นหน้าที่ของตัวเองที่ต้องทำ
บัตรคนจน เป็นวิธีคิดแบบใช้กล่องเลยใช่ไหม
ใช่ครับ การหยิบกล่องมาเลือกยื่นให้คนที่เตี้ยสุด นี่คือความแยบยลของการปกครอง เหมือนกับคุณแง้มฝาหม้อน้ำที่กำลังเดือดเพื่อไม่ให้หม้อมันระเบิด ถ้าคุณไม่ทำอะไรเลย คุณปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำมันไปเรื่อยๆ ให้คนทุกข์กับภาวะแบบนี้ไปเรื่อยๆ อีกหน่อยคนก็ต้องลุกขึ้นมาจัดการคุณ จึงต้องแง้มฝาเพื่อลดความกดดัน ลดความเกรี้ยวกราดของผู้คนในสังคม บวกด้วยการเติมอะไรบางอย่าง
แต่คน 11 ล้านคนที่ถูกบอกว่าตัวเองจน เป็นผู้ได้เงิน พวกเขาตั้งคำถามเลยว่า แล้วจะให้เขาต่อไหม? มันก็จะทำให้ประชาชนหันมาชนกันเอง ถ้าแบบนั้นในอนาคตมันจะไม่ใช่เรื่องคนจนอย่างเดียว แต่เป็นสวัสดิการที่จะให้หลักประกันด้านรายได้กับคน แล้วหลักประกันด้านรายได้ก็ควรจะเกิดทุกช่วงวัย เพราะไม่ว่าคุณเกิดมาอยู่วัยใดคุณจะมีรายจ่ายทันที ถ้าเราเอาเส้นความยากจน ก็เอาเลย เกิดมาก็มี 3,000 บาทแล้ว ถึงในช่วงวัยเรียนก็ได้ 3,000 พอถึงวัยทำงานคุณก็ได้ 3,000 ไปจนคุณอายุ 60 ปี ก็ได้ 3,000 แต่ละช่วงวัยคุณมีหลักประกันแน่ๆ
อย่างเด็กคนหนึ่งเกิดมาได้ 3,000 บาท คนที่ดูแลเงินก็คือพ่อแม่ พ่อแม่ก็จะมีช่องหายใจ อย่างน้อยตัวเองมีเงินหลักประกันของลูกใน 3,000 บาท รวมกับตัวเองอีก 3,000 บาท อย่างน้อยก็มีเงิน 6,000 ให้อุ่นใจแล้ว
ถ้าผมเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่กันในครอบครัว ผมอาจจะตัดสินใจว่าไม่ทำงานก็ได้ ผมพยายามอยู่ได้ในเงิน 6,000 บาท แล้วผมเลี้ยงลูก ส่วนอีกคนหนึ่งในครอบครัวก็ไปทำงานเพื่อจะเพิ่มเงิน-เพิ่มรายได้ขึ้นมา มันควรจะมีหลักประกันแบบนี้หรือเปล่า เพื่อที่จะตอบคำถามว่าบัตรคนจนจะยังอยู่ไหม บัตรคนจนอาจจะยังอยู่ แต่จะค่อยๆ ถูกพัฒนาไปกลายเป็นบัตรเพื่อหลักประกันด้านรายได้ที่มั่นคงขึ้น แต่มันก็เป็นเรื่องที่ไม่ชัด ว่าจะเริ่มทำแบบไหน จะเริ่มทำตรงไหนก่อน ถ้าเป็นเช่นนี้ เราอาจจะเริ่มที่คนอายุ 60 ปีก่อนก็ได้ นั่นคือ ‘บำนาญถ้วนหน้า’
เงิน 3,000 ต่อเดือน มันจะเป็นตัวเลขมหาศาล จะเอาเงินมาจากไหน
คุณอย่าไปคิดว่ามันต้องหาแค่ต้องหากล่องสิ ตัวเลขนี้มาจากเส้นความยากจน ที่สภาพัฒน์ฯ คิดมาแล้วว่า ตัวเลข 3,000 เป็นตัวเลขที่คนจะอยู่ได้ต่อเดือน ทุกคน ทุกวัย เขาอาจจะไม่ได้มองตั้งแต่เกิดจนตาย แต่คิดมาแล้วว่าช่วงชีวิตคนคนหนึ่งต้องได้เงินประมาณนี้ ซึ่งเราก็คิดว่ามันเหมาะสม
นี่คือสิ่งที่อยากให้เป็นสุดๆ เลย ใช่ไหม
ใช่ เอาเรื่องรัฐสวัสดิการด้านรายได้ก่อนนะ มันเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเป็นด้านสุขภาพก็คือสวัสดิการด้านสุขภาพ รักษาพยาบาล อะไรก็ว่าไป
ในสวัสดิการทั้งหมดทั้งมวล การรักษาพยาบาล สุขภาพ การศึกษา ประกันรายได้ ก้อนไหนสำคัญกว่ากัน
ด้านรายได้ใหญ่กว่า เพราะหลักประกันด้านสุขภาพมีการคิดเป็นรายปี ประมาณ 3,400-3,500 บาทต่อคน-ต่อปี แต่มันก็มีภาพลวงตาบางอย่างที่ไม่เท่ากันอยู่ เช่น ข้าราชการ 12,000 บาท อย่างที่เรามีข้อมูลกันอยู่ และก้อนหลักประกันสุขภาพมันก็ซับซ้อนกว่าด้วย เพราะมันมีเรื่องว่าเราจะจ่ายใคร-ไม่จ่ายใครจ่าย ตอนป่วยหรือไม่ป่วย แล้วมันใช้พอหรือใช้ไม่พอ กลับกัน หลักประกันด้านรายได้ ถ้าเราให้แล้วก็คือจบเลย ให้เป็นคนๆ เพียงแต่เงินมันจะเยอะขึ้นๆ เรื่อยๆ
ด้านรายได้ สมมุติครอบครัวหนึ่งมีสามคน ก็ได้ 9,000 ไปแล้ว อาจจะทำให้คนขี้เกียจขึ้นหรือเปล่า
มันก็เหมือนกันกับงานวิจัยหนึ่งที่บอกว่า การรักษาฟรีจะทำให้คนไม่ดูแลสุขภาพ คนจะแห่ไปใช้กันแบบถล่มทลาย แต่ในข้อเท็จจริงที่มันไม่เป็นอย่างนั้น สุดท้ายทุกคนใช้เพื่อความจำเป็นของชีวิต เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดที่ดูถูกคนว่าไม่รู้จักคิด คนขี้เกียจ แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ คน 10 ล้านคน มันก็อาจจะมีคนที่เป็นแบบนั้น แต่ว่าเราต้องไม่เอามันมาเป็นกรอบกำหนดแล้วมาตัดสินใคร เพราะอย่างไรก็ตาม ทุกคนก็อยากจะมีชีวิตที่ดี ดังนั้นต้องพลิกมุมมอง ชีวิตมันอาจจะไม่ได้เครียดเหมือนทุกวันนี้ อยากเรียนหนังสือ แต่คุณไม่มีหลักประกันของชีวิตเลย ถ้าคุณยังไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ผลิตได้ หรือคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ที่มีลูก ก็ต้องคิดเยอะมากว่าจะเอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงลูก แล้วคุณก็จะเครียดกับมันจนชีวิตไม่มีความสุข
เรากลับมองว่า ถ้าเราทำให้ทุกคนมันมีหลักประกัน คนก็จะสร้างสรรค์พัฒนาได้ดีขึ้น มีเวลามากพอที่จะสร้างอะไรบางอย่างโดยที่ไม่ต้องวิ่งอยู่ในกรอบเวลา กรอบเงิน ไม่กล้าทำอะไรอย่างอื่นเลย ขนาดเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองยังไม่กล้า เพราะว่ามันไม่มีหลังพิง ถ้าคุณมีหลังพิง อย่างน้อยก็ได้เดือนละ 3,000 บาท
ผมอยากยกตัวอย่างกรณี 3,000 บาทนี้ มันทำให้เราไม่ต้องไปทำประกันราคาข้าว ไม่ต้องไปทำประกันราคายาง หรือราคาข้าวโพด เราไม่ต้องทำเพราะทุกคนรู้แน่ๆ ว่าคุณมีแล้ว 3,000 บาท
สมมุติยางตอนนี้ 3 กิโล 100 ไม่คุ้มกับการกรีด คุณก็จัดการตัวเองอยู่ให้ได้บนเงินก้อนนี้ ถ้าอยู่กันสองคนผัวเมีย คุณได้ 6,000 ถ้าหยุดกรีดปุ๊บ ปริมาณยางมันก็ไม่ล้นตลาด เราสามารถจะตัดสินใจได้ ซึ่งเรื่องนี้มันมีผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจด้วย
เราต้องชี้หรือเราต้องชวนให้สังคมคิดในมุมแบบนี้ เราต้องไม่วิ่งตามวิธีคิดและวาทกรรมที่ถูกชี้นำแต่ฝ่ายรัฐเพียงอย่างเดียว บอกว่าประชาชนเอาแต่ร้องขอ ประชาชนจะขี้เกียจ เราต้องเปลี่ยนใหม่
เราต้องคิดว่านี่คือเงินกู อันนี้คือเงินของประชาชน ประชาชนขอเข้ามามีส่วนในการกำหนดการใช้จ่ายงบประมาณกลางของรัฐด้วย
แต่พอพูดแบบนี้ ก็จะเจอคำถามว่า คุณจะเอาเงินจากที่ไหน
ต้องเปลี่ยนวิธีคิดที่บอกว่าคนจนไม่ได้เสียภาษี ทุกคนในทุกระดับรายได้ล้วนมีส่วนในการจ่ายภาษีทั้งหมด แล้วถ้าโครงสร้างภาษีมันดี เงินภาษีที่ได้จากเงินรายได้มันควรจะมากกว่าภาษีที่มาจากภาษีทางอ้อมที่เกิดจากการซื้อสินค้า
แต่กลับกัน ตอนนี้ประเทศนี้ขับเคลื่อนด้วยเงินคนจนกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของภาษี ด้วยความที่คนจนมีเยอะ จึงกลายเป็นมวลรวมที่จ่ายเยอะกว่า ภาษีส่วนใหญ่มันจึงมาจากคนจนที่ซื้อสินค้าทุกชิ้น ในขณะที่เงินจากภาษีรายได้บุคคลหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมกันแล้วประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่กลุ่มนี้เสียงดัง บอกว่าตัวเองจ่ายภาษี เป็นคนทำนู่นทำนี่ คนจนจะมาร้องขออะไร ดังนั้นผมอยากให้กลับไปเปลี่ยนใหม่
แต่ก่อนคำว่า ‘ถ้วนหน้า’ เป็นเรื่องของการศึกษา สุขภาพ แต่เรื่องรายได้หรือบำนาญที่พูดและพยายามขับเคลื่อนกันถือเป็นเรื่องใหม่มากๆ หรือเปล่า
ตอนนี้รัฐใช้เงินอยู่แล้ว ทั้งจ่ายให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 10 ล้านคน จ่ายอยู่ที่ 67,000 กว่าล้าน แล้วก็จ่ายเรื่องผู้พิการ ช่วยเด็กพ่อแม่ยากจน 600 บาท ช่วยคนที่ไม่มีอาชีพจาก พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ฉะนั้นเบ็ดเสร็จมันมีเงินที่จ่ายในเชิงสงเคราะห์กระจายอยู่เยอะมาก ถ้าเราเอามารวมกัน อาจจะได้ไปถึง 200,000 ล้าน เริ่มต้นบำนาญที่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 10 ล้านคนต่อปี น่าจะใช้อยู่ประมาณเกือบๆ 800,000-900,000 ถ้าเพิ่มอีกเท่าหนึ่งก็ได้แล้ว
เปลี่ยนวิธีคิดจากการกระจาย จัดการทรัพยากรใหม่ จัดการงบประมาณแผ่นดินใหม่ แล้วทำไม คสช. หรือรัฐบาลถึงกล้าผูกพันงบประมาณ 3-5 ปี กับการซื้อเรือดำน้ำ ซื้อเครื่องบิน ซื้อเรือรบ 200,000-300,000 ล้าน เงินพวกนี้เอามาจัดการสวัสดิการได้สบายๆ เลยนะ
ถ้าไม่พูดถึงเรื่องปฏิรูปโครงสร้างภาษี เงินที่มีตอนนี้อยู่พอทำได้ไหม
พอทำได้ จากข้อมูล เราเชื่อว่าทำได้ แต่เฉพาะเรื่องบำนาญก่อน ใช้ตัวเลขประมาณ 200,000 ล้าน คนละ 3,000 ต่อเดือน เรามีคนสูงอายุประมาณ 10 ล้านคนต่อปี
แล้วภายในอนาคต?
คุณอย่าลืมนะ รายรับของรัฐก็เพิ่มขึ้นทุกปี เปรียบเทียบกับงบสุขภาพที่เราเริ่มทำบัตรทอง ปี 45 มันอยู่ที่ 40,000 ล้านเองมั้ง อยู่ที่หัวละประมาณ 1,200 กว่าบาท แล้วรายรับของรัฐก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นไปดูสัดส่วนการใช้งบเรื่องสุขภาพ จากเดิมที่เคยจ่าย 1,200 ตอนนี้ขยับมา 3,400 สัดส่วนคนแก่มากขึ้น รายรับมันก็ขยับขึ้นเหมือนกัน
ดูงบประมาณแล้ว ก้อนไหนที่ควรเอามาเกลี่ยใหม่มากที่สุด
เราต้องการรัฐที่จัดลำดับความสำคัญเรื่องงบประมาณ ยิ่งประเทศที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลก นี่ยิ่งเรื่องใหญ่ เราต้องมาจัดลำดับกันใหม่ เพื่อที่เราจะได้ใช้เงินจัดการปัญหา ยิ่งความเหลื่อมล้ำด้านรายได้กับเรื่องทรัพย์สินที่ถือครองเป็นปัญหาหลัก ก็ต้องจัดการ สวัสดิการเรื่องหลักประกันด้านรายได้จึงเป็นเครื่องมือของการกระจายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ และช่วยแก้โจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำครั้งนี้
แปลว่ารัฐจะต้องหาเงินเก่งด้วยหรือเปล่า
ทุกวันนี้รัฐก็ไม่ค่อยได้ทำอะไรอยู่แล้ว ก็ได้เงินประมาณนี้ เราหันมาจัดการเขย่าเรื่องโครงสร้างภาษี มาดูการลดหย่อนที่ไม่จำเป็นและไม่สำคัญ เช่น ลดหย่อนให้นักลงทุน ดูว่าอันไหนที่ลดแล้วมันไม่คุ้มก็ไม่ต้องไปลด ให้เป็นไปตามความเป็นธรรมที่มันจะเกิดขึ้น การเก็บภาษีก็เป็นหน้าที่ของรัฐ-จ่ายก็เป็นหน้าที่ของประชาชน ดังนั้นประชาชนควรจะมีบทบาทและมองเรื่องนี้ควบคู่กันไป
เพื่อความชัดเจน วิธีที่จะทำให้ประเทศมีเงินลักษณะนี้ คือการเก็บภาษีเพิ่ม?
การเก็บภาษีเพิ่ม กรอบวิธีคิดของนักวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นสายที่เห็นด้วยกับรัฐสวัสดิการหรือไม่เห็นด้วย มองไปที่เรื่องการเพิ่มภาษีหมด มันเป็นกรอบวิธีคิดเหมือนม้าลำปาง ที่มองไปข้างหน้าอย่างเดียว แต่อีกวิธีหนึ่งที่เรามองว่าการจัดลำดับความสำคัญในการแบ่งสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของภาษีที่จะทำให้เงินมันขยับ ผมไม่เคยได้ยินนักวิชาการคนไหนพูด มีแต่พวกภาคประชาชนกับนักเคลื่อนไหวที่มาเรียกร้องแบบนี้ ถ้าเพิ่มแล้วพบว่ามันไม่ลงตัว ก็ต้องปรับ อยากเพิ่มก็เพิ่มได้ แต่ต้องเป็นการเพิ่มบนฐานที่ชัดเจนว่าภาษีที่เพิ่มขึ้นจะถูกนำไปใช้เพื่อรัฐสวัสดิการ ควรจะต้องมีเงื่อนไขกำกับแบบนี้ด้วย
อย่าพูดว่าจะทำรัฐสวัสดิการแล้วต้องเพิ่มภาษีเป็นชอยส์แรก ชอยส์แรกคือจัดการกระจายภาษีอย่างเป็นธรรม ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตหรือการลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนควรเป็นลำดับแรกๆ แล้วมาดูว่าเราจะใช้ภาษีเพื่ออะไร
ตอนนี้เวลาพูดถึงใช้การภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมันเป็นเรื่องขนาดใหญ่ เชิญนักลงทุนมาลงทุนแล้วยังไง นักลงทุนขนาดใหญ่ได้เงิน ได้สัมปทานไปแล้วร่ำรวย เราถึงมีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นมากมาย แล้วคนธรรมดาล่ะได้อะไร เรื่องแบบนี้มันควรสะท้อนออกมาด้วย เราต้องตั้งคำถามว่าจะจัดการเรื่องแบบนี้อย่างไร กระจายทรัพยากรแบบปัจจุบันนี้มันใช่ไหม แล้วประโยชน์ไปเกิดกับใคร ประโยชน์เกินกว่าคนจนไหม?
คล้ายๆ กับแนวคิดที่ว่าควรหาวิธีที่จะดึงภาษีบางส่วนมาจากคนรวย?
เราคิดว่าใช้คำว่าบริหารจัดการภาษีอย่างเป็นธรรมที่มีประสิทธิภาพดีกว่า ถ้าเกิดว่าคนที่มีความสามารถในการหารายได้เยอะ ตามหลักภาษีแบบก้าวหน้า คือผู้มีรายได้เยอะ ก็จ่ายเยอะ โดยยึดหลักการอย่างเป็นธรรมแบบนี้ไว้ เราจะไม่พูดว่าเราจะต้องไปเก็บภาษีจากคนรวย เพียงแต่ยึดหลักการนี้ ไม่ว่าจะมีรัฐสวัสดิการหรือไม่มีก็ตาม
แต่คำถามคือทุกวันนี้ประเทศเป็นไปตามหลักการนี้หรือไม่ คนที่มีรายได้เยอะมีช่องทางที่จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายภาษีไหม ถ้ามีก็ต้องมาจัดการก่อน เราเรียกว่าการบริหารหรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีมากกว่า มันจะไม่ทำให้ใครตกเป็นโจทก์-จำเลย การที่จู่ๆ ไปเก็บภาษีคนรวยมากขึ้น ประชาชนที่ไปเรียกร้องก็จะตกเป็นจำเลย และถูกกล่าวหาว่า คุณไปรังแกคนรวย
ช่องทางที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเรียกร้องอย่างไรเสียก็ต้องผ่านตัวแทนนักการเมือง ซึ่งคือความหวังที่กำลังเคลื่อนกันอยู่?
สุดท้ายของเรื่องนี้ สิ่งที่จะเป็นตัวเคาะว่าจะเกิดรัฐสวัสดิการหรือไม่ มันก็อยู่ในอำนาจรัฐ อยู่ในมือคนที่จะมาเป็นรัฐ มันต้องการ ‘กฎหมายบำนาญแห่งชาติ’ ที่กำหนดเลยว่า แหล่งที่มาของรายได้จะมาจากไหน ในสัดส่วนเท่าไหร่ และจะกระจายให้กับประชาชนที่ได้รับบำนาญอย่างไร คนละเท่าไหร่ ยังไงสุดท้ายก็ยังต้องเป็นกฎหมายที่เกิดจากรัฐและสภา เราถึงมองว่านักการเมืองกลายเป็นตัวละครสำคัญที่จะจัดการเรื่องนี้ได้
ตอนนี้หลายพรรคก็พูดเรื่องรัฐสวัสดิการ?
นักการเมืองก็กำลังศึกษา และกำลังดูบทเรียนของการเกิดของระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อเขาจะได้รู้ว่าควรทำอย่างไรบ้าง ตอนที่ภาคประชาชนไปเสนอเรื่องหลักประกันสุขภาพให้แต่ละพรรค แล้วพรรคไหนที่ไม่เอา ตอนนี้ก็ไม่มีที่ยืนในการขับเคลื่อนนโยบายนี้เลย ส่วนพรรคที่รับเอาไปก็สามารถซื้อใจประชาชนมาได้ตลอด เขาก็กำลังมองหาว่าจะมีอะไรที่จะมีพลังเหมือนโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ผมคิดว่าหลักประกันด้านรายได้ กับบำนาญถ้วนหน้า ก็เป็นอีกเรื่องที่มาแรง เทียบกับโครงการ 30 บาทได้เลย
แต่มันก็ไม่ง่ายเหมือนตอนปี 45 เพราะเรามี คสช. มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีค้ำอยู่ ดังนั้นคนในสนามการเมืองก็กำลังปรับเรื่องนี้อยู่
พอมองเห็นบ้างไหมว่าพรรคไหนเริ่มตื่นตัวกับเรื่องรัฐสวัสดิการ
ก็เริ่มมีบ้าง เพื่อไทย ไทยรักษาชาติ ประชาธิปัตย์กลัวตกขบวนเหมือนคราวที่แล้วก็เริ่มพูด พรรคอนาคตใหม่เขาพูดอยู่แล้ว แต่ต้องไปดูในรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร สามัญชนก็ชูเรื่องนี้ พรรคที่หวังผสมรัฐบาลยังไม่เห็นพูดเท่าไร เราต้องจับตาดูสถานการณ์ให้มาก
เรากำลังคิดอยู่ว่าจะทำยังไงก็ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาทวงถามทุกพรรคการเมืองด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่มี We Fair เดินเข้าหาพรรคการเมืองอย่างเดียว แต่ประชาชนในหมู่บ้านนี้ในตำบล ในอำเภอ ต้องลุกขึ้นมา แล้วไปถามหา สส. ในพื้นที่ ว่าจะเอาไงเรื่องนี้
กลับไปสู่ฐานคิดเรื่องมีส่วนร่วม?
ใช่ ต้องกลับไปสู่แบบนั้น พอมีฐานคิดนี้ อีกหน่อยก็ต้องเกิด movement อีกแบบ แต่ก่อนหัวคะแนนเป็นคนเดินไปหาเราใช่ไหม แต่จะทำอย่างไรให้เราเดินไปหานักการเมือง แล้วถามว่าจะเอายังไงเรื่องรัฐสวัสดิการ เอาไงกับเรื่องบำนาญพื้นฐาน หวังว่าภายในตั้งแต่เดือนนี้ไปจนถึงก่อนเลือกตั้ง จะเกิด movement ขึ้นทั่วประเทศ
มีโมเดลในใจไหม ว่าระบบสวัสดิการถ้วนหน้าจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
ต้องมีสำนักงานที่ดูแลเรื่องหลักประกันด้านรายได้บำนาญพื้นฐานขึ้นมา ดูแลเรื่องรายได้ของกองทุนบำนาญพื้นฐาน ต้องจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีให้เข้ามาที่สำนักงานนี้ และต้องบริหารจัดการตั้งแต่ดูว่าใครคือคนที่มีสิทธิได้บำนาญบ้าง ณ ตอนนี้ เราเอาคนที่อายุ 60 ปีไป ไม่สนใจระดับรายได้ เอาอายุเป็นเกณฑ์ แต่ว่าในใจเราอยากให้คนที่อายุ 60 ปี ที่อยู่ในเมืองไทยควรจะได้ทุกคน คนละ 3,000 บาท และต้องมีสำนักงานบริหารจัดการขึ้นมา และสำนักงานนี้ก็ต้องลิงค์กับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. อบจ. เทศบาล เชื่อมต่อกันและหาว่าจะมีระบบการจัดการกระจายงบประมาณ จัดสรรงบประมาณ ให้ไปถึงตัวผู้สูงอายุ 60 ปีได้อย่างไร
ที่บอกว่า 60ปี ทุกคนต้องได้ จะไปซ้อนกับสิทธิอื่นๆ ที่มีอยู่ เช่น ข้าราชการหรือเปล่า
ย้อนกลับไปที่หลักการเดิม เรื่อง ‘ถ้วนหน้า’ ก็ต้องถ้วนหน้าจริงๆ มันก็คงเป็นภาพลวงตาอยู่ที่บอกว่าข้าราชการได้บำนาญอยู่แล้ว แต่มันก็มีข้าราชการจำนวนหนึ่งซึ่งเกษียณแล้วยังไม่มีบ้านอยู่ หักนู่นหักนี่แล้วก็ได้เงินบำนาญนิดเดียว เพราะว่าข้าราชการชั้นผู้น้อยรายได้ก็ไม่ได้มาก กว่าจะขยับตัวเองไปจนเกษียณ อาจจะได้แค่ 8,000-9,000 คสช. ถึงได้ออกประกาศเมื่อไม่นานมานี้ ให้เพิ่มเงินกับข้าราชการที่เกษียณแล้วเติมให้ครบ 10,000 บาท
พอเราคิดตามหลักการถ้วนหน้า การทำงานเลยอยู่ในภาพ ‘ปิ่นโตสามชั้น’ ชั้นล่างสุดหมายถึงข้าว-อาหารที่กินแล้วอิ่มและมีชีวิตอยู่ได้ เราเรียกมันว่าเป็นบำนาญพื้นฐานสำหรับคนทุกคน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะอะไรก็ตาม พอคุณอายุมากขึ้น คุณยังมีปิ่นโตชั้นล่างอยู่ เป็นพื้นที่รองรับคุณในวงจรชีวิต ไม่ให้คุณไปร้องเพลงตามรายการปลดหนี้
ส่วนชั้นที่สอง คือการได้เงินตามสถานภาพการทำงาน คุณเป็นข้าราชการนายจ้างคุณคือรัฐ รัฐให้สัญญาว่าถ้าคุณทำงานให้เขา จนคุณอายุ 60 ปี คุณก็จะได้เงินหลังจากจบงาน แต่ว่าจะมีอยู่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งปิ่นโตนี้ไม่ตอบโจทย์คือ กลุ่มนอกระบบ ชาวนา ชาวสวน หรือคนที่ไม่มีนายจ้างชัดเจน
ถ้าดูจากฐานบัตรทอง มีคนประมาณ 40 กว่าล้านคน ที่อายุ 60 ปีแล้วไม่รู้จะกินอะไร ไม่รู้จะอยู่อย่างไร เพราะว่าไม่มีสถานภาพการจ้างงาน ดังนั้นการเคลื่อนไหวคำว่าถ้วนหน้าของเราก็เพื่อทุกคน โดยไม่สนใจด้วยว่าคุณมีอยู่เท่าไหร่
ถ้ามีชั้นหนึ่งและสองเบื้องต้น มันจะส่งผลให้เกิดชั้นสามได้ สมมุติคนที่ดูแลพ่อแม่หรือคนแก่คนเฒ่าอยู่ เขาก็จะดูแลได้ด้วยเงินชั้นล่าง 3,000 ของพ่อแม่เขา ถ้าเขาอยู่ในประกันสังคม ก็น่าจะพออยู่ได้เงินที่เหลือจากการดูแลพ่อแม่เมื่อแก่เฒ่า ก็จะกลายเป็นเงินเก็บ
บำนาญถ้วนหน้าไม่ได้ช่วยเฉพาะคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป แต่มันจะมีผลกับครอบครัว กับลูกหลาน ทำให้เขาเหลือเงินเก็บ สามารถเอาไปบริหารจัดการเงินได้ อาจจะยังให้พ่อแม่ต่อ หรือว่าตัวเองเก็บไว้เป็นเงินทุนของตัวเองไปซื้อกองทุน ไปฝาก ไปทำประกันชีวิต ก็แล้วแต่ นี่แหละถึงเรียกว่าเป็นปิ่นโตสามชั้น ซึ่งเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น
มีวิธีสร้างความเข้าใจกับชุดความคิดที่สงสารคนจน มองเป็นเรื่องสงเคราะห์อย่างไร
มันไม่ง่ายหรอก แต่ว่าก็ต้องค่อยๆ ขยับไป ต้องทำให้คนเชื่อเรื่องความถ้วนหน้า พยายามยกตัวอย่างของประสบการณ์ที่เราเจอว่า ความถ้วนหน้าช่วยให้เกิดความเข้าใจต่อกันดีขึ้น ยอมรับว่าไม่ง่ายที่จะทำให้คนชั้นกลางเข้าใจว่าพวกเขาไม่ถูกสูบเงิน ต้องทำให้เห็นภาพนี้ก่อนว่า ถ้าอะไรที่เป็นเรื่องระบบของรัฐ แล้วรัฐใช้วิธีสงเคราะห์ช่วยเฉพาะคนจน ระบบนั้นมันก็จะกลายเป็นระบบที่ดูแย่ ดูต่ำ แล้วก็ไม่มีคุณภาพ เพราะว่ามันไม่มีการแข่งขันเพื่อจะทำให้มันดีขึ้น
ดูตัวอย่างเรื่องระบบสุขภาพที่ถูกแยกส่วนและทำให้ถูกมองว่าบัตรทองให้เฉพาะคนจน แต่ความจริงไม่ใช่ ทุกคนใช้ได้ทั้งหมด แต่เมื่อถูกทำให้ดูเป็นระบบที่ไม่มีมาตรฐาน เงินไม่พอ ดูจะขาดทุน คนชั้นกลางก็ไม่ไปใช้ เพราะรู้สึกว่ามันไม่ดี รอนาน ไม่มีคุณภาพ พอไม่ไปใช้ คุณก็ต้องแบกรับต้นทุนเอง เพราะวิ่งไปหาโรงพยาบาลเอกชน ถ้าคนชั้นกลางไม่ไปใช้ ไม่ไปส่งเสียง รัฐจึงไม่ได้คิดว่าจะต้องไปพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศให้ดีไปกว่านี้ ก็คิดแค่ว่ามีให้ใช้ก็ดีแล้ว ใครอยากไปจ่ายเองก็ไป แบบนี้จึงไม่ได้รู้สึกเป็นพี่เป็นน้องที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขแล้วเคลื่อนไหวด้วยกัน
แต่หากคนชั้นกลางไปใช้มากขึ้น ส่งเสียงมากขึ้นว่าระบบต้องดีกว่านี้ ต้องแข่งขัน พยายามพัฒนา ผมคิดว่าภาพของบัตรทองน่าจะดีขึ้น รัฐต้องทำให้คนเห็นได้ว่ามันช่วยพวกเขาได้ ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
ฟังดูต้องพึ่งพาเสียงคนชั้นกลางอย่างมาก?
มันต้องไปด้วยกันนะ ถ้าคนชั้นกลางไม่ลุกขึ้นมาขยับด้วย คนยาก-คนจน ก็จะถูกมองเป็นจำเลยที่กำลังจะมาเอาภาษีของคนชั้นกลางมาใช้ อย่างที่ผมบอกตั้งแต่แรกว่าเราจะรื้อรั้ว เพื่อให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องกล่องที่จะต้องไปหยิบของใครมาเหยียบ
มองว่าสิ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำขยับแคบลงคืออะไร
รัฐสวัสดิการเป็นเรื่องแรกเลย หลักประกันรายได้นี่แหละ แต่สำคัญคือมันต้องสม่ำเสมอ ถ้ารัฐสวัสดิการจะให้รายเดือนก็ต้องรายเดือน ต้องเพียงพอที่จะทำให้เขาพ้นจากความยากจน แล้วมันจะทำให้เงินมันหมุนไป ไม่ใช่ว่าไปเริ่มจากโครงการขนาดใหญ่ เงินมันก็หมุนเวียนอยู่เฉพาะเจ้าของโครงการบริษัทขนาดใหญ่ หรือหน่วยราชการที่มีส่วนในการเซ็นอนุมัติ
แต่ถ้าเป็นรัฐสวัสดิการ เอาเรื่องคนแก่ 10 ล้านคนก่อน จาก 600 ขยับขึ้นเป็น 3,000 เขาก็เริ่มวางแผนแล้วว่าจะใช้อะไร จะทำแบบไหน จะไปหมุนต่ออย่างไร โดยที่ไม่ต้องไปมีเงื่อนไขว่าห้ามไปซื้อนู่นซื้อนี่ ปล่อยให้เขาจัดการชีวิตเอง ซึ่งเราเชื่อว่าคนแก่มาขนาดนี้มันมีผ่านร้อนผ่านหนาว มีวิจารณญาณพอที่จะจัดการชีวิตได้
เงินไหลลงสู่หมู่บ้านเกิดการใช้จ่าย ครอบครัวซึ่งลูกหลานส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็ไม่ต้องส่งเงินมา เงินก็เหลือ ทำให้นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป ทำให้ช่องว่างที่หาเช้าไม่พอกินอยู่ได้กินอิ่มขึ้น อันนี้มองแบบมุมบวกเลย คิดว่าคนจะมีพัฒนาการไปเป็นแบบนั้น รัฐสวัสดิการคือคำตอบของการลดความเหลื่อมล้ำก่อน ณ ตอนนี้
กรณีบัตรทองที่เริ่มถูกมองว่าเป็นนโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองเก่า แล้วอย่างในกรณีรัฐสวัสดิการจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า
ช่างมัน เอาให้มันเกิดก่อน (หัวเราะ) ถ้าเราได้นักการเมืองที่ไม่ได้เชื่อเรื่องประชานิยม ซึ่งต่างกันนิดเดียวเอง คำว่าประชานิยมไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ แต่ถ้ามันเป็นโครงการที่ประชาชนได้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องมันจะทำให้พรรคนั้นได้รับความนิยมตลอดไป ผมว่าก็เป็นอีกเรื่อง สำคัญคือประชาชนต้องได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่อง อันนี้คือหลัก ใครทำก็ได้ แต่ให้ประชาชนเป็นตัวตั้งต้น พรรคหรือรัฐบาลมาช่วยสานต่อทำให้มันเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน และพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่ให้มันหายไป ผมว่านี่คือจุดที่เราต้องโฟกัส
สุดท้ายแล้วเรื่องนี้คนต้องมองว่า บำนาญถ้วนหน้าเป็นเรื่องของที่รัฐต้องทำ มากกว่าเป็นความใจดีของรัฐใช่ไหม
เราทำโพลจากคนกรุงเทพฯ 1,000 กว่าคน คำถามหนึ่งที่เราถามคือ ถ้ารัฐสวัสดิการเกิดขึ้น จะให้เอาเงินมาจากไหน คำตอบที่คนเลือกมาอันดับ 1 คือ รัฐจะต้องจัดการภาษีใหม่ กระจายใหม่ ถ้าเขามีข้อมูล ถ้าเขารู้เรื่องภาษี รู้เรื่องความเหลื่อมล้ำ เขาก็จะรู้เอง ซึ่งเราเอาคำถามนี้ไปถามกลุ่มเครือข่ายในต่างจังหวัด ก็ได้คำตอบเดียวกัน เชื่อเหมือนกัน คิดเหมือนกัน เชื่อว่ารัฐสวัสดิการจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราจัดสรรงบประมาณแผ่นดินใหม่อย่างเป็นธรรม
ฉะนั้นคนที่อ่านบทสัมภาษณ์นี้ต้องเห็นว่าตัวเราทุกคนมีส่วนในการจัดการภาษี แล้วถ้าเราส่งเสียงให้ดัง ผมว่าน่าจะได้ ตะโกนไปให้เป็นผีบ้าไปก่อน