“หลายปีต่อมา เมื่อเขายืนอยู่หน้าแถวทหารผู้ทำหน้าที่ประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า พันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยา หวนรำลึกไปถึงบ่ายวันหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว…”
เป็นย่อหน้าแรกของนวนิยายที่นักอ่านทั่วโลกยอมรับว่ายิ่งใหญ่และสร้างสรรค์ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เป็นงานเขียนหัวขบวนแนว Magical Realism ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ซึ่งมีการอ้างอิงคำกล่าวของ มาริโอ บาร์กัส โยซา นักเขียนเปรู ไว้ในเสมือนคำนำเล่ม ฉบับพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สามัญชนประมาณ…
มันคงต้องเป็นสังคมที่ผุกร่อนเท่านั้น จึงผลิตงานที่เร่าร้อนเช่นนี้ได้
ผุกร่อนและเร่าร้อนจนนักเขียนโนเบลละตินอเมริกันที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกวรรณกรรมลูกผสมระหว่างความจริงกับจินตนาการ จนมาออกเป็นความ ‘เหนือจริง’ ได้อย่างมีชั้นเชิงเช่นมาร์เกซ ไม่เป็นที่โปรดปรานนักในสายตารัฐบาลทหาร
ภาสกร อินทุมาร หัวหน้าสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งคนที่สนใจความ ‘ไม่สมจริง’ ที่ล้อเล่นกับ ‘ความจริง’ ชนิดหน้าตาเฉย แบบเดียวกับที่ปรากฏอยู่บนหน้ากระดาษ เขาตั้งต้นโดยการใช้ทฤษฎีจากหนังสือ The Presentation of Self in Everyday Life ของนักสังคมวิทยานาม เออร์วิง กอฟฟ์แมน (Erving Goffman) แล้วต่อยอดเพื่อ ‘อธิบาย’ พฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“ผมมั่นใจว่ามันคือการ perform” ภาสกรว่า
“สนใจในความเป็นนักการเมือง แม้เขาบอกว่าไม่ได้เป็น คงไม่มีผู้นำประเทศคนไหนในโลกนี้ที่จะพยายามแสดงหรือนำเสนอตัวตนให้คนอื่นเกลียด ให้คนอื่นขำ ไม่ใช่ขำแบบตลกด้วยนะ (หัวเราะหึหึ) ทว่าขำแบบ… (เซ็นเซอร์) เป็น… (เซ็นเซอร์) อะไรเนี่ย ผมเลยรู้สึกว่าสิ่งผิดบรรทัดฐานเหล่านี้น่าสนใจ ต่างจากผู้นำประเทศคนอื่นๆ บางทีเป็นตัวตลก บางทีก็ก้าวร้าว”
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดเผยแพร่ความรู้เรื่องมารยาทไทย โดยระบุว่า เยาวชนไทยมองข้ามวัฒนธรรมอันดีงามถูกต้อง มารยาทในสังคมไทยจึงผิดเพี้ยนไป ส่วน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน นิยาม ‘มารยาท’ ไว้ว่า คือกิริยาวาจาที่สุภาพเรียบร้อย-ถูกกาลเทศะ WAY จึงอาสาชวนภาสกรคุย และเรียบเรียงมาให้เห็นเป็นข้อๆ ว่าด้วยเหตุและผลของมารยาทอันเหนือจริงชนิดหาตัวจับยากของท่านนายพล
01
The Presentation of Self in Everyday Life เป็นการสังสรรค์กันของสังคมศาสตร์และการละคร เขียนไว้ตั้งแต่ปี 1959 เออร์วิง กอฟฟ์แมน ใช้คำว่า self-presentation โดยมองว่าการ perform ในชีวิตประจำวันของคนเรา มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมกำกับผู้อื่น
02
เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดทฤษฎีชุด symbolic interactionism (ปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์) การ perform ที่แตกต่างกันออกไป อาจคล้ายการแสดงสัญลักษณ์ เพื่อให้คนอื่นเป็นไปอย่างที่ตนอยากให้เป็น เช่น อยากให้คนมองว่าเป็นคนใฝ่ความรู้ ก็ชอบไปปรากฏตัวที่ห้องสมุด อ่านหนังสือหรือเปล่าไม่รู้ ต้องการให้เคารพก็ perform อีกแบบหนึ่ง
03
การควบคุมกำกับนั้น ไม่จำเป็นเสมอไปว่าต้องเป็นเชิงบวก แต่โดยเซนส์ทั่วไปแล้ว เป็นธรรมดาที่มนุษย์ปรารถนาให้ผู้อื่นมองตนในแง่บวก แต่เชิงลบก็ปฏิเสธมิได้ว่าอาจมี ด้วยวัตถุประสงค์บางอย่างกับคนที่มาปฏิสัมพันธ์ด้วย
04
แนวคิดของ เออร์วิง กอฟฟ์แมน จำลองศาสตร์ของละครเวที เช่น มีส่วนหน้าคือพื้นที่เวที เป็นส่วนที่เราใช้แสดงให้คนอื่นเห็น แต่ไม่ได้หมายถึงการเป็นผู้อื่นซะทีเดียว พูดให้ถูกคือการเลือกบางสิ่งในการนำเสนอนั่นเอง และอีกส่วนคือพื้นที่ด้านหลัง เปรียบเสมือนหลังฉาก หรือพื้นที่เตรียมการก่อนปรากฏตัวหน้าผู้ชม
05
ภาสกรมองว่า การเลือกของพลเอกประยุทธ์นั้นเป็นไปอย่างไม่ประทับใจ พูดบนหลักของการควบคุมกำกับคนอื่นก็ล้มเหลว ในฐานะผู้นำประเทศแล้ว ไม่ควรคอนโทรลให้ประชาชนขำ เกลียด กระทั่งสมเพช กล่าวโดยสรุปคือ เป็นการเลือกที่ผิดฝาผิดตัว ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งแห่งที่ของตน บางครั้งไม่ได้ผ่านการคิดไว้ก่อน เป็นด้นสด (improvise) ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยง
06
พลเอกประยุทธ์มี strength (พลัง) อะไรบางอย่างที่ทำให้สั่นสะเทือนอารมณ์ เมื่อกลับไปเปิดดูคลิปเก่าๆ ภาสกรถึงกับต้องกล้ำกลืนฝืนทน ดูจนจบแล้วอยากขว้างคอมพิวเตอร์ทิ้ง สงสัยว่าทนดูได้ยังไง พูดในภาษาละครคือ นายกฯ คนนี้เป็นตัวละครหลัก เป็นคู่ตรงข้าม เป็นดารานำผู้มาพร้อมอุปสรรคสู่ความขัดแย้ง
07
สำหรับคนที่เบื่อภาพลักษณ์แบบนักการเมือง จึงชื่นชมพลเอกประยุทธ์นั้น ภาสกรเห็นว่าเป็นตรรกะที่แปลกประหลาด เข้าข่ายวิบัติ ประมาณว่า ในอดีตเคยเลือกพวกหีบห่อสุภาพเรียบร้อย แต่สุดท้าย… (เซ็นเซอร์) กันหมด ถ้าอย่างนั้น เราหันมาเลือกพวกปากไม่ดีกันเถิด กักขฬะกันเถิด ผลอาจออกมาดี การมองสิ่งใดเป็นขั้วตรงข้ามเกินไปนับเป็นปัญหา ยกเว้นมีวาระซ่อนเร้นตามแต่เหตุผลของตน
08
หากเปรียบเป็นนักแสดง พลเอกประยุทธ์ไม่ใช่นักแสดงที่เก่ง แต่ที่ผู้คนให้ความสนใจ กระทั่งหงุดหงิดเมื่อพบเห็น เนื่องจาก หนึ่ง-เป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สอง-เป็นตัวละครที่ผิดรูปผิดรอยบ่อย ต่างจากนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหารคนอื่นๆ ยกตัวอย่าง พูดคำว่าเผด็จการหน่อยก็สะเทือนใจ เป็นภาวะแบบ comedy ที่มิใช่ตลกโปกฮา ทว่าคือความผิดปกติจากที่ควรเป็น
09
เราไม่อาจบอกได้ว่าละครเรื่องนี้ใครเป็นผู้กำกับการแสดง เพราะไม่เคยปรากฏตัว แต่อยู่ในพื้นที่ส่วนหลังตามทฤษฎีของกอฟฟ์แมน ยกเว้นเราต้องไปอ่านในสูจิบัตร หรือเบื้องหลังการทำงาน เราจึงจะรู้ว่าใครเป็นผู้กำกับฯ ทั้งนี้ภาสกรเชื่อว่า พลเอกประยุทธ์เล่นไปตามบทและกำกับตนเองด้วย
10
ตัวตนในรายการคืนความสุขฯ ถูกคิดและวางให้มีแบบแผน อ่านตามบท ไม่มีคู่สนทนา อาจมีแทรกหรือด้นสดความคิดเห็น สั่งสอนเทศนาประชาชนบ้างประปราย ซึ่งแตกต่างจากการปรากฏตัวในสถานการณ์ปกติ ถูกนักข่าวเอาไมโครโฟนจ่อเพื่อสัมภาษณ์ นั่นมีการเลือกอย่างชัดเจนว่าจะมีปฏิกิริยาแบบไหน
11
ส่วนการเลือกใช้เสียงของพลเอกประยุทธ์นั้นมีแบบเดียว ไม่ว่าอยู่ในการแสดงประเภทไหน นั่นคือน้ำเสียงของความเป็นทหารที่มีอำนาจมาก พูดจาไม่ยี่หระคน เปล่งเสียงแบบนักเลงที่หลายคนบอกดูจริงใจ ซึ่งการใช้เสียงนั้น ปลอมได้ยากกว่าการแสดงในด้านอื่นๆ
12
พลเอกประยุทธ์นั้นไม่มีลักษณะร่วมคล้ายคลึงผู้นำเผด็จการคนใดในอดีตของโลก ที่เมื่อมีอำนาจก็แสดงความมีอำนาจโดยมิต้องทำตลกในบางโมเมนต์ แต่นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทยแกว่งไปมาในสองรูปแบบคือ ตะโกนโหวกเหวก และพูดกับกบ กับไก่
13
การพูดคุยกับสัตว์ประหนึ่งลูกหลานเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่มีความใกล้ชิดกับสุนัขหรือแมว กระทั่งเกษตรกรที่คุยกับพืชผักเพื่อให้โตเร็ว แต่ภาสกรเชื่อว่า การคุยกับกบของพลเอกประยุทธ์นั้น เป็นเพียงการ perform เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกว่าตนน่ารัก ดูซอฟต์ มีตัวตนทั้งแบบทหารอำนาจนิยมและกุ๊กกิ๊ก
14
ส่วนการชอบขว้างของใส่ผู้อื่นกระทั่งเขกหัวคนนั้น ภาสกรยังสงสัยว่าเพราะอะไร อาจเป็นได้ว่าพลเอกประยุทธ์คิดว่าทำแล้วคนอื่นจะสนุกสนานไปด้วยกัน คล้ายคนไม่เคยปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์โลก อยู่แต่ในโลกของตนเอง หรืออาจมีปัญหาด้าน EQ ซึ่งหลุดจากทฤษฎีของกอฟฟ์แมนไปเรียบร้อยแล้ว
15
การนำ standy รูปของตนเองมาวางให้นักข่าวถาม พูดว่าจะเอาโพเดี้ยมทุ่ม กระทั่งการโยนเปลือกกล้วยใส่ เป็นการบริหารความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมถึงลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น หมายถึงตัวสำนักข่าวด้วย ในขณะกำลังลดทอนความเป็นมนุษย์ของอาชีพนักข่าว ก็ลดทอนคุณค่าของตนเอง
16
ภาสกรให้ความเห็นว่า การที่นักข่าวเซลฟี่กับนายกฯ นั้น หากมองถึงบทบาทสื่อสารมวลชนที่ต้องทำหน้าที่ตั้งคำถามหรือวิพากษ์แล้วคงไม่เหมาะ เพราะเมื่อมีการนำเสนอข่าวในเชิงบวกเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ประชาชนย่อมสามารถตั้งสมมุติฐานได้ว่า เพราะนักข่าวซี้กับนายกฯ รวมถึงอาชีพนี้มีความเป็นบุคคลสาธารณะอยู่ในที
17
ในทางการแสดงมีตัวละครมากมายที่คิดว่าตนไม่เคยผิด ทุกปัญหาล้วนเกิดโดยผู้อื่น ตัวละครอื่น คนอย่างพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถยอมรับความผิดได้ ถึงรู้ตัว ก็จะ perform ว่าไม่ผิด เพื่อมิให้เสียระบบการสั่งการ รวมถึงเพื่อกดทับประชาชนต่อไป เช่น ไม่ยอมให้มีการพูดเรื่องนาฬิกาของพี่ป้อม (ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ)
18
ถึงอย่างนั้น จะมีคนกลุ่มหนึ่งชื่นชมเสมอ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ว่าใครมีอำนาจ คนกลุ่มนี้เกาะเกี่ยวไปได้หมด เป็นเผด็จการ เป็นประชาธิปไตย เป็นอะไรก็เป็นไป แต่ขอเกาะอยู่ด้วย และได้ประโยชน์จากการเกาะเกี่ยวกับกลุ่มอำนาจ จากนั้นก็ปกป้องกันไป พอเปลี่ยนกลุ่มคนที่มีอำนาจ ก็เกาะอำนาจชุดใหม่
19
ถามว่าการแสดงของพลเอกประยุทธ์เหมาะสมกับประเทศไทยใช่หรือไม่ ภาสกรตอบทันทีว่า ไม่ สังคมอำนาจนิยมไม่เหมาะกับประเทศไหนทั้งสิ้น คำพังเพยอย่าง “สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง” ทุกวันนี้ยังมีอยู่ในดีเอ็นเอของคนไทยจำนวนหนึ่ง ส่วนชาวบ้านที่เคลื่อนไหวมาตลอดนั้น เพราะพวกเขาเผชิญกับปัญหาจากนโยบายไม่เป็นธรรม ต้องลุกขึ้นสู้เพื่อตัวเอง
20
สุดท้ายเมื่อขอให้มอบรางวัลด้านการแสดงแด่พลเอกประยุทธ์ ภาสกรลังเล คิดไม่ออก บ่นว่ายากมาก เนื่องจากไม่มีคู่แข่งเปรียบเทียบในสายตา ซ้ำยังเป็นนักแสดงที่หลุดคาแรคเตอร์บ่อย สรุปคือไม่ให้ดีกว่า นายกฯ คนนี้ซับซ้อนเกินกว่าจะมอบรางวัลใด แต่ยอมรับว่าโดดเด่นเหลือเกิน โดดเด่นจนต้องปิดทีวีหนี