ระเบิดเวลาใต้พรมสีกากี : ตั๋วช้าง ทรงผม อำนาจ ยาเสพติด และสุขภาพจิตของตำรวจไทย

ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ พ.ศ. 2556

ข้อ 1 การให้ข่าว แถลงข่าว และให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน 

ให้หัวหน้าซึ่งมียศตั้งแต่พันตำรวจตรีขึ้นไป ให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายโดยเฉพาะ หรือผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการให้ข่าว แถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง เฉพาะงานในหน้าที่รับผิดชอบเท่านั้น กรณีข้าราชการตำรวจตำแหน่งต่ำกว่าผู้บังคับการ…ให้ข้ออนุญาตต่อผู้บังคับการ

โดยห้ามให้ข่าว แถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องหรือข้อความที่ทำให้เกิดการเสียหายแก่ราชการ

“ผมอยากพูดนะ สำหรับผม มันเลยความกลัวไปแล้ว” ชายนิรนามกล่าว

แม้คำพูดของผู้ใต้บังคับบัญชาจะเปล่งออกมาด้วยความกล้าหาญเพียงใด แต่ก็ดูเหมือนว่าเบื้องบนจะไม่ได้ยิน ที่สุดจึงจำต้องปิดปากมิดชิด กลบเกลื่อนความผิดปกติอย่างหวาดหวั่น กล่อมหัวใจตนเองให้เชื่อว่า ธรรมเนียมปฏิบัติเป็นเช่นนี้ ความก้าวหน้าต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมาย การเล่นนอกกติกากลายเป็นเรื่องสามัญอันพึงรับได้ ครั้นเมื่อผู้ใดอยากเติบโตด้วยลำแข้งตนเองและกระดูกสันหลังหยัดตรง เขาผู้นั้นอาจต้องดิ้นรนสุดลิ่มทิ่มประตูเพียงเพื่อจะพบขวากหนามที่เรียกว่า ‘ตั๋วช้าง’ ‘ตั๋วเสน่หา’ การรักษาอำนาจ และการกดขี่ของเบื้องบนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

กลางดึกคืนนั้นเรื่องราวพรั่งพรูจากปากนายตำรวจนิรนามคนหนึ่ง เราต่างก็รู้ดีว่า อาชีพของเขาไม่อนุญาตให้เอ่ยปากพูดกับสื่อได้ง่ายนัก บทสนทนานี้จึงต้องดำเนินไปภายใต้ชื่อนิรนามและปกปิดตัวตนของเขาเพื่อความปลอดภัย แม้เสียงในใจจะค้านอย่างรุนแรงว่า เขาควรพูดได้ เขามีสิทธิพูด และสักวันหนึ่งก็คงจะออกมาพูดอยู่ดี

เหตุการณ์สังหารหมู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู และโศกนาฏกรรมอีกหลายครั้งในประเทศไทยมักเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของตัวละครจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร หรืออดีตข้าราชการ ทำให้ประชาชนต่างพากันสงสัยว่า เหตุใดผู้พิทักษ์สันติราษฎร์จึงกลายร่างเป็นผู้ร้ายที่ล้างผลาญชีวิตผู้บริสุทธิ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

การกระทำเหล่านี้มีเบื้องหลังและที่มาที่ไปซับซ้อนเกินกว่าจะชี้นิ้วโทษปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว กระนั้น ‘ผู้หลักผู้ใหญ่’ ในบ้านเมืองนี้ก็มักโบ้ยไปที่ตัวผู้ก่อเหตุเท่านั้น “ก็คนมันติดยา ให้ทำยังไงได้” หรือ “จ่าคลั่งเพราะขาดสติ” โดยกลบต้นตอและบริบทเชิงโครงสร้าง ให้ฝังลึกลงไปใต้เปลือกที่เรียกว่า ความผิดส่วนบุคคล 

นี่คือเรื่องเล่าจากเสียงนิรนามที่จะไม่เงียบอีกต่อไป

จากสถิติในไทย เหตุกราดยิงส่วนใหญ่มักมาจากฝีมือของทหารหรือตำรวจ ทั้งที่ยังรับราชการและออกจากราชการแล้ว คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

สิ่งแรกที่ผมคิดหลังเห็นเหตุกราดยิงคือ “อดีตตำรวจซวยแล้ว” ต้นทุนเขาต่ำอยู่แล้ว กว่าจะหาตำรวจที่ประชาชนไว้ใจได้ก็ยาก พอเกิดเหตุการณ์นี้ยิ่งแย่ไปใหญ่ เรื่องกราดยิงเป็นอะไรที่เลวร้ายมากๆ ยิ่งทำกับเด็กด้วยแล้วมันสะเทือนมาก เวลามีกรณีแบบนี้ส่วนใหญ่ตำรวจจะวิสามัญฆาตกรรมเลยหากมีการต่อสู้ขัดขืน 

ทำไมตำรวจถึงกลายเป็นคนที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนไปได้

กฎข้อแรกของตำรวจ คือไม่หันปากกระบอกปืนไปที่คนอื่น แต่กรณีกราดยิงมันไม่ใช่เหตุปกติ เบื้องลึกเบื้องหลังอย่างหนึ่งก็อาจมาจากการฝึกของพวกตำรวจที่ใช้ความรุนแรง กดขี่และกดทับกัน มันเลยส่งผลให้ออกมาอย่างนี้ 

ผมไม่เคยคิดว่าต้องเลี้ยงลูกด้วยการตี เพราะกลัวว่าโตไปแล้วเขาจะไปใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา แต่สังคมไทยมักเลี้ยงเด็กด้วยการตี แล้วยิ่งการฝึกของสังคมตำรวจและทหาร มันเป็นระบบการกดขี่ มีระบบรุ่นพี่รุ่นน้องที่เข้มข้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้น ยิ่งพวกตำรวจและทหารมีปืนติดตัว ก็ยิ่งสติแตกง่าย ถ้ามองในมุมวัฒนธรรมความรุนแรงในองค์กร ผมมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะสองอาชีพนี้ถูกกดทับและกดขี่สูงมาก แต่ตำรวจจะมีความเครียดสูงกว่าตรงที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย 

กรณีกราดยิงครั้งนี้มันพ้องกับเรื่องที่ผู้ก่อเหตุโดนไล่ออกจากราชการเพราะยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เขาไม่มีอาชีพแล้ว อีกทั้งชุมชนนั้นก็เป็นชุมชนเล็กๆ คนพูดถึงกันไปทั่ว เขาไม่มีที่ยืนในสังคม แล้วยังต้องไปขึ้นศาล ความเครียดก็ถาโถมหนักเลย 

ผมมีลูกน้องที่เคยพลาดจนต้องเข้าคุก มันเครียดมากเลยนะ เพราะตำรวจเป็นอาชีพที่จับคนเข้าคุก ดังนั้นคนที่อยู่ในคุกนั้น ‘ศัตรูกูทั้งนั้น’ แต่วันหนึ่งเมื่อตำรวจต้องเข้าคุกเอง มันคือการไปอยู่ในดงศัตรู คงถูกรับน้องหนักเลย กรณีนี้ผมว่าหลายปัจจัย ทั้งไม่มีอาชีพ ไม่มีที่ยืนในสังคม เข้าไปอยู่ในดงศัตรูด้วย ความเครียดน่าจะถาโถม 

กรณีกราดยิงหนองบัวลำภูมีประเด็นยาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้สงสัยว่าคนที่เข้ามาเป็นตำรวจจะต้องผ่านการตรวจสอบประวัติหรือคัดกรองอย่างไรบ้าง

ถ้าคนมีประวัติไม่ดี ส่วนใหญ่องค์กรจะไม่รับมาเป็นตำรวจอยู่แล้ว เรื่องยาเสพติดยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ซึ่งกรณีนี้ผมยังไม่เห็นเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเขามีประวัติหรือไม่ ถ้าเล่นยาแต่ไม่เคยโดนจับ นั่นถือว่าไม่มีประวัติ แต่เรื่องที่กล่าวกันว่าผู้ก่อเหตุเคยเสพยาถือว่ามีมูล เพราะสุดท้ายเขาก็ถูกไล่ออกจากเรื่องยาเสพติด 

ส่วนเรื่องการตรวจหาสารเสพติดในองค์กรตำรวจ หนึ่งคือ เราต้องตรวจสุขภาพกันทุกปีอยู่แล้ว สอง กรณีตรวจหาสารเสพติดมันจะมีเป็นครั้งคราวไป หรือถ้าสมมุติมีข่าวว่าลูกน้องคุณน่าจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด อีกวันก็จับตรวจกันเลย เพราะอุปกรณ์ตรวจฉี่ก็อยู่ที่หน่วยงานอยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่ามีกระบวนคัดกรองกันเป็นประจำทุกๆ 3 เดือน หรือ 6 เดือน ไหม ผมไม่เห็นนะ เพราะเอาเข้าจริง การตรวจปัสสาวะมันก็เป็นเรื่องของงบประมาณเหมือนกัน 

กระบวนการประเมินสุขภาพจิตในองค์กรตำรวจที่มีอยู่ เพียงพอไหม

ตำรวจเป็นซึมเศร้ากันเยอะนะ แต่เขามองเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ค่อยยอมรับหรอกว่าเป็น 

ในทางเอกสาร โครงการต่างๆ มันดูดีนะ มีโปรแกรมตรวจสุขภาพจิต มีสถานที่ผ่อนคลายของตำรวจ ทั้งบ้านพักตากอากาศบางปู หรือค่ายพระราม 6 แต่อะไรเหล่านี้คือเชิงทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติ โอ้โห งานห้ามพลาด ความเครียดสูง ตำรวจต้องทำงานกับเรื่องกฎหมาย ถ้าพลาดก็ติดคุกเอง ขาข้างหนึ่งอยู่ในตะรางแล้ว แล้วยังโดนผู้บังคับบัญชากดดันอีก ซึ่งการแต่งตั้งใดๆ ก็อย่างที่รู้กัน บางคนแม่งทำงานไม่เป็นห่าอะไรเลย ทักษะ ศิลปะการปกครองคนก็ไม่มี ไม่ดูแลเอาใจใส่ ลูกน้องก็เกิดภาวะเครียดสูง แต่เขารู้จักกับผู้หลักผู้ใหญ่เลยได้ตำแหน่งไป

เคยได้ยินว่า การตรวจประเมินคัดกรองด้านสุขภาพจิตของตำรวจ ส่วนมากเป็นเชิงพิธีกรรม ตำรวจไม่กล้าพูดปัญหาจริงๆ แต่พูดในสิ่งที่องค์กรอยากได้ยิน เรื่องนี้จริงเท็จอย่างไร

พวกตำรวจจะมีประโยคว่า “คำสั่งของผู้บังคับบัญชาคือพรจากสวรรค์” จริงๆ แล้วมันเป็นของทหาร แต่ตำรวจดันไปเอามาใช้ด้วย (หัวเราะ) ผมเคยดูซีรีส์ฝรั่งเศสเรื่อง Lupin (จอมโจรลูแปง) คือผู้ใต้บังคับบัญชาไปจับผู้บังคับบัญชาที่คอร์รัปชันเลยนะ แต่ถ้าเป็นองค์กรตำรวจในไทย ลูกน้องกลัวหัวหด การที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจะมารวมตัวกันเพื่องัดกับผู้บังคับบัญชาสักคน โห เด็กๆ มันกลัวมาก เขาถูกปกครองมาให้เชื่องด้วยความกลัว มันจึงไม่มีความรู้สึกว่า กูมีสิทธิมีเสียงที่จะเรียกร้องอะไรได้ 

อย่างตอนนี้ ถ้าผมให้สัมภาษณ์แบบเปิดเผยตัว เอาแล้ว โดนเรื่องระเบียบ โดนภาคทัณฑ์แล้ว ตำรวจเลยกลัวกันมาก แต่สำหรับผม มันเลยความกลัวมาแล้ว 

ผมนึกถึงตอนที่ไปสวนสนามครั้งหนึ่งสมัยจบใหม่ ความที่เคยฝึกมาก่อน ผมรู้สึกว่าบางอย่างมันไร้สาระ ผมไม่จำเป็นต้องซ้อมเดินสวนสนาม 3-4 รอบ ถ้าเดินรอบเดียวแล้วมันดี ก็น่าจะเพียงพอ หรือถ้าไม่ดีก็แก้ไขไปเป็นรายคน ผมมองว่าการได้พักเพื่อเก็บแรงเป็นเรื่องสำคัญ​กว่า วันนั้นผมได้ยินประโยคหนึ่งของตำรวจชั้นผู้น้อยว่า “นายครับ ไปพูดกับผู้บังคับบัญชาให้ผมหน่อย เพราะต่อให้ผมพูดไป มันมีเสียง แต่เขาไม่ได้ยิน” คำพูดนั้นกระแทกผมมาก มันกินใจ ผมไม่อยากเป็น ‘นาย’ แบบนั้น 

แล้วพวกกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) ลองสังเกตสิ เขาสั่งให้ทำอะไรก็ทำ คุณไม่มีหัวใจของการเป็นมนุษย์เลย เพราะความกลัว 

เรามักเห็นความเข้มงวดของตำรวจมาก ไม่ว่าจะทรงผม การแต่งกาย หรือระเบียบต่างๆ คำถามคือ เหตุใดเรื่องสุขภาพจิตจึงหย่อนยาน

มันเป็นเรื่องของการรักษาอำนาจ ยุคหลังๆ เราจะเห็นตำรวจฆ่าตัวตายกันเยอะจากความเครียด ยิ่งยุค คสช. ยิ่งหนัก หรือไอ้เรื่องทรงผมอะไรนี่ก็มาสมัย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา (อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) 

เรื่องทรงผม ถ้านายพลตัดผมเกรียนเมื่อไหร่ นายสิบก็ต้องตัด ไล่เลียงกันลงมา แล้วมันเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังตั้งแต่โรงเรียนนายร้อย พี่ปี 4 ผมสั้นขนาดไหน น้องปี 1 ต้องผมสั้นกว่านั้น พอผู้บัญชาการตัดผม รองผู้บัญชาการก็ต้องตัด แล้วผู้การก็ต้องตัดเพื่อความอยู่รอด ถ้าไม่ตัดเดี๋ยวโดนเพ่งเล็ง จนสุดท้ายถึงขั้นเซ็นคำสั่งออกมาเลยว่า ตำรวจต้องตัดผม ‘ขาว 3 ด้าน’ 

ผมพูดตรงๆ เลยนะ ตำรวจยุคนี้ไม่มีความยึดโยงใดๆ กับประชาชนทั้งสิ้น ไม่คิดถึงแม้กระทั่งคนที่ทำงานฝ่ายสืบสวน พวกเขาจะไปจับคนร้ายยังไง เมื่อก่อนคนร้ายมองไม่ออกเลยนะว่าใครตำรวจหรือไม่ตำรวจ แต่ทุกวันนี้ โอ้โห ทำงานยากมาก ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องไปตัดผมนะ แป๊บๆ ก็ยาวแล้ว 

แล้วลองคิดสภาพของตำรวจชั้นผู้น้อยที่ทำงาน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โอ้โห หนักเลย เสี่ยงมาก แต่นายเขาไม่ได้คิดถึงตรงนั้น ถ้ากูสั่ง มึงก็ต้องทำ 

ข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551-2562 พบว่า ข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย 396 นาย เฉลี่ย 18.2 นาย ต่อ 1 แสนนายต่อปี มากกว่าประชากรทั่วไปถึง 2.32 เท่า คำถามคือ วัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงในองค์กรตำรวจมีลักษณะอย่างไร โดยเฉพาะตำรวจชั้นผู้น้อย เขาต้องเจอกับอะไรบ้าง

เอาง่ายๆ นะ แค่โดนด่า คนเรามันก็รู้สึกแย่แล้ว ต่อให้ทำงานดีขนาดไหน แต่ผู้บังคับบัญชามาด่าว่า “มึงมีสมองหรือเปล่า มึงโง่หรือเปล่า มึงควายหรือเปล่า” ตบบ้างอะไรบ้าง โยนแฟ้มใส่หน้า คุณจะรู้สึกอย่างไร หรือแม้กระทั่งบางคนผิดนิดผิดหน่อยไม่ได้ มันกดดันนะ แล้วเวลาใช้งานตำรวจ ไม่ใช่ 8 ชั่วโมงต่อวัน แล้วจบ มัน unlimit ไม่มีจำกัดเลย แถมทำงานมากก็ไม่ใช่ว่าจะได้ขั้นหรือก้าวหน้านะ 

อาชีพตำรวจมีทั้งส่วนที่สบายและส่วนที่โคตรจะเหนื่อย พวกอยู่สำนักงาน หรือ ‘ลูกนาย’ สวยหล่อไปวันๆ ก็จะสบาย ไม่ต้องฝึกฝนอะไรเพราะนามสกุลถูกต้อง ส่วนไอ้พวกปฏิบัตินี่แหละลำบาก นี่คือเรื่องจริง ตั้งแต่รัฐประหารมา เด็กเส้นเด็กฝากเยอะมาก ลองไปไล่สถิติดูก็ได้ว่าลูกหลานใครเข้ามาบ้าง ซึ่ง สมัยผมเรียน ผมเหงื่อไหลไคลย้อยกว่าจะสอบได้ ความน่าเศร้าคือ มันดันเป็นเรื่องที่รับกันได้ด้วย เพราะไม่มีใครร้องเรียน หากใครร้องเรียนก็ซวย 

ในวงการตำรวจจะมีคำกล่าวว่า “ทะเลาะกับนาย ทะเลาะกับหมาดีกว่า” พอเป็นอย่างนี้ มันเลยกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนเพิกเฉย กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า ถ้าเป็นลูกหลานนายพลก็ฝากได้ แล้วมีโควตาด้วยนะ บางคนขายโควตาด้วย 

มีการหยิบยกระบบเส้นสายหรือ ‘ตั๋ว’ มาพูดถึงอยู่เสมอ เมื่อเกิดเหตุการณ์โยกย้ายหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจอย่างผิดปกติ ประเด็นนี้ส่งผลต่อสภาพจิตใจของคนในองค์กรตำรวจอย่างไรบ้าง

กว่าเราจะพิสูจน์ตัวเอง กว่าพี่ๆ เขาจะเห็นคุณค่า มันยากมากเลยนะ แต่ถ้าเป็นลูกหลานคนใหญ่คนโต มันดันง่ายมาก “ได้ขั้นหรือยังล่ะลูก” อะไรแบบนี้ ถ้าคุณนามสกุลถูกต้องในประเทศนี้นะ ทุกอย่างจบ มันเป็นอะไรที่สะเทือนมาก แล้วพวกนายสิบ ตำรวจลูกชาวบ้าน เขาจะก้าวหน้ายังไง ผมเห็นแล้วรู้สึกแย่มากๆ 

ระบบเส้นสายที่พูดมา มันก็คือ ‘ตั๋ว’ นั่นแหละ แต่หลังๆ พัฒนาเป็น ‘ตั๋วช้าง’ ซึ่งพวกตำรวจมองเรื่องปกติ อย่างผมก็มีคนมาถามว่า “ถ้าจะเลื่อนขั้น มึงมีตั๋วหรือยัง” ซึ่งมันมีทั้งตั๋วเสน่หา ตั๋วที่ต้องใช้เงินซื้อ และตั๋วช้าง ส่วนตัวไม่รู้หรอกนะว่าต้องเข้าช่องไหน เพราะผมไม่เคยใช้เงิน แล้วก็ไม่มีเงินจะจ่าย (หัวเราะ) อีกอันคือ ‘ตั๋วโควตา’ หรือเด็กนาย แต่กรณีนี้เอาจริงๆ ส่วนหนึ่งมันก็เป็นเรื่องการทำงาน เพราะเราทำงานเป็นทีม เราก็อยากได้เด็กของเรามาทำงาน เพราะเป็นงาน ใช้งานได้คล่อง ตั๋วพวกนี้ยังถือว่าไม่ค่อยร้ายแรง

แต่ถ้าตั๋วช้าง มึงผ่านทุกหลักเกณฑ์​ มันไม่มีหรอกนะขึ้นปีละชั้นยศ แต่ตั๋วช้างทำได้ โคตร Fast Track บางคนขึ้นแล้วปากดีเสียด้วย คุณลองมาเล่นตามเกมแบบพวกเราสิ คุณก็ไม่มีโอกาสหรอกเพราะนักเรียนนายร้อยก็ไม่ใช่ ทุกคนอยากเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่บ้านเรามันบ้าเรื่องยศเรื่องตำแหน่งเกินไป 

แปลว่ามีคนที่ตกขบวนเยอะพอสมควร

แน่นอน มันมีคนตกขบวนแน่นอน เพราะโครงสร้างองค์กรตำรวจมันเป็นพีระมิด ผบ.ตร. มีคนเดียวนะครับ ทีนี้ก็ต้องมามองว่า เราให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน เพราะบ้านเมืองเรามีนายพลบานเลย หัวโตขาลีบ แทบจะเดินไม่ได้กันอยู่แล้ว มียศใหญ่เพื่อเบ่ง ใช้อำนาจ ฝากเส้นลูกหลาน สังเกตสิว่าทำไมนายพลถึงรวย เพราะเขาคุมเรื่องงบประมาณในหน่วยงาน แล้วได้เงินเดือนหลายทาง บ้างก็ไปนั่งเป็นที่ปรึกษากองสลาก 

สมมุตินะ ถ้าตำรวจทุกคนมีสภาพชีวิตที่ดี อยู่ได้ ได้รับความยุติธรรม ไม่ต้องพึ่งพวกนายพล ตำรวจก็จะทำตามเฉพาะคำสั่งที่มันสมเหตุสมผล อะไรที่มันหลักขัดจริยธรรมของเขา เขาก็เลือกที่จะไม่ทำก็ได้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ต้องไปก้มหัวให้ใครขนาดนั้นก็ได้ แต่พอต้องไปพึ่งพิงเบื้องบนมากๆ ตำรวจก็เลยทำอะไรไม่ได้เลย 

องค์กรตำรวจ มีวิธีดูแลตำรวจอย่างไรบ้าง

สวัสดิการเหรอ… กู้ไง กู้เท่านั้นที่ครองโลก (หัวเราะ)

ตอนที่กู้แรกๆ เราต้องไปขอฎีกาเงินเดือน ผมตกใจมากเลยที่ลูกน้องในหน่วยงานเหลือเงินเดือนหลังจากหักนี่หักนู่น แค่ 2,000 บาท แล้วพวกมึงเอาอะไรกินกันวะเนี่ย ผมเริ่มเอะใจเลย 

ตำรวจเป็นหนี้เยอะมาก แล้วปัญหาเรื่องเงินมันทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการที่ตำรวจจะไปเรียกรับผลประโยชน์อันมิชอบได้ง่าย ผมจำได้เลย วิชาบริหารความเสี่ยง (Risk management) ยิ่งเสี่ยง ผลตอบแทนยิ่งสูง ยิ่งตำรวจมันเป็นอาชีพสีเทา อะไรที่เสี่ยงผลตอบแทนยิ่งสูง เช่น บ่อน ผับ ยาเสพติด 

อย่างเรื่องยาเสพติดนี่โคตรเสี่ยงเลย ถ้าตำรวจไปมีส่วนในเรื่องพวกนี้ ยิ่งได้เงินเยอะ ยิ่งอาชญากรรมดำดาร์กเท่าไร ผลประโยชน์ยิ่งสูง 

ในฐานะตำรวจ คุณอยากได้รับการดูแลจากองค์กรอย่างไร

ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย เรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วย รู้ไหมว่าถ้าตำรวจจะเข้าโรงพยาบาลตำรวจ ก็ต้องไปทำประวัตินะ ถามหน่อยเถอะว่า ทำไมไม่ทำสมาร์ตการ์ด หรือทำแอปพลิเคชันก็ได้ สแกนทีเดียวจบ เพราะเมื่อเราเข้าไปรายงานตัวในโรงเรียนตำรวจ มันมีการพิมพ์ลายนิ้วมือ มีประวัติในสารบบอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันควรจะเชื่อมโยงข้อมูลเป็นโครงข่ายได้แล้ว 

อีกเรื่องคือเวลาพักของตำรวจ เช่น พนักงานสอบสวนนี่ต้องเข้าเวรเป็นเครื่องจักรเลย สมมุติว่ามีพนักงานสอบสวน 30 คน เข้าเวรจริงๆ 8 คน ที่เหลือเป็นเด็กเส้น เด็กนาย ไม่ต้องมาทำงาน มันแย่และเลวร้ายมาก มันไม่เล่นตามกติกาเลย จริงๆ แล้ว กติกาของตำรวจมันดีเลยนะ เมื่อก่อนสำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย ต่อมาเปลี่ยนใหม่ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เพราะนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ตำรวจต้องรับใช้ประชาชน แล้วตัวแทนประชาชนคือนายกรัฐมนตรี นี่คือตามหลักการ แต่ปรากฏว่า นายกฯ กูมาจากการรัฐประหาร (หัวเราะ)

มันมีการเล่นนอกเกมกันเยอะ ไม่รักษาหลักเกณฑ์ในการขึ้นตำแหน่ง มันเลยเละเทะ แล้วกลายเป็นว่า มึงทำได้ กูก็ทำได้ กลายเป็นอุปทานหมู่ไปเลย 

ข้าราชการตำรวจ 200,000 กว่านาย มีหนี้รวมกันกว่า 270,000 ล้าน (ข้อมูลปี 2564) โดยมีสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ จนเกิด ‘โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจ’ ขึ้น อยากทราบว่าเหตุใดอาชีพที่ค่อนข้างมั่นคงอย่างตำรวจถึงเป็นหนี้กันเยอะ แล้วส่งผลกระทบอย่างไรต่อชีวิต การทำงาน ตลอดจนสภาพจิตใจ

พอตังค์ไม่พอใช้ แต่อยากปลดหนี้ไว ก็จะเริ่มมีการแขวนตู้แดง เฝ้าผับ เฝ้าบาร์ เฝ้าบ่อน เฝ้าร้านทอง เพื่อหารายได้เสริม 

ผมกู้เงินครั้งแรกตอนไปซื้อคอนโด เพราะแฟลตตำรวจเลวร้ายมากและไม่เพียงพอ สู้ห้องทหารไม่ได้เลย พื้นที่อะไรก็ไม่มี งบประมาณก็ห่วยแตก เพราะกินกันทั้งระบบ บางคนก็ต้องไปเช่าห้องเอง มันเลยเกิดความดิ้นรน 

ขอพูดถึงเรื่องปืนหน่อย สมัยเรียนมีปืน Glock 19 ให้ใช้ฝึกยิงนะ พอเรียนจบมาแล้ว หากผมเบิกปืนหลวงไปใช้แล้วมันเกิดเสียหายอะไรขึ้นมา ผมต้องจ่าย 80,000 บาท แต่ถ้าผมซื้อปืนส่วนตัว ราคาแค่ 20,000 กว่าบาท เพราะใช้อภิสิทธิ์ตำรวจในการซื้อ 

ซึ่งปืนที่ผู้ก่อเหตุกราดยิงใช้ มันเป็นปืนโครงการ SIG SAUER P365 ถือเป็นโครงการที่ดีนะ ข้าราชการตำรวจสามารถซื้อปืนในราคาถูก แต่สิ่งนี้มันสะท้อนว่ารัฐไม่มีความพร้อม ทำไมไม่ให้ปืนตำรวจคนละกระบอกไปเลย แล้วคุณก็สามารถรู้ได้ว่า ใครถือปืนเลขทะเบียนอะไร พอเกษียณหรือโดนไล่ออกก็ค่อยยึดปืนหลวงคืนก็จบ ตำรวจไม่ต้องกระวนกระวายขวนขวายในการซื้อ แต่ตำรวจบางคนก็สันดานเสียนะ พอไม่มีเงิน ก็เอาปืนหลวงไปจำนำ (หัวเราะ) 

สรุปคือ ส่วนมากตำรวจจะซื้อปืนเอง เพราะถ้าทำของหลวงเสียหาย ต้องจ่ายบานเลย ผมเคยเบิกปืนหลวงมาใช้ครั้งหนึ่ง เป็นปืนลูกโม่เก่าๆ ตอนพกก็ไม่สบายใจ ไม่รู้มันจะลั่นโดนขาตัวเองตอนไหน (หัวเราะ) 

อย่างในประเทศสิงคโปร์ เขาจะแจกปืนตั้งแต่เข้ามาฝึกเลยนะ แต่ไม่แจกกระสุน ให้ใช้จนชินไปเลยจนเรียนจบ ถามหน่อยว่า ถ้าเรามีปืนหลวงที่เป็นเหมือนปืนคู่ใจ เราจะไปซื้ออีกกระบอกไหม ก็ไม่จำเป็น จากนั้นก็ทำให้การเข้าถึงปืนเป็นเรื่องยากไปเลย เพราะเราไม่ซื้อก็ได้ หากเรามีปืนหลวงที่มีคุณภาพไว้ใช้ทำงานอยู่แล้ว

เหตุใดจึงไม่มีการตรวจสอบหรือทบทวนเรื่องการครอบครองอาวุธปืนของอดีตตำรวจที่พ้นราชการ ทั้งที่มีประวัติไม่ดีอย่างการยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

สมมุติผมโดนไล่ออกนะ ผู้บังคับบัญชาไม่รู้หรอกว่าผมมีปืนทั้งหมดกี่กระบอก ไม่มีใครรู้ ดังนั้น เราควรจะทำให้ปืนอยู่ในระบบ คือแจกปืนดีๆ ให้ตำรวจใช้ทำงาน ลงทะเบียนเรียบร้อย แล้วทำให้ปืนส่วนตัวเข้าถึงยากไปเลย 

จริงๆ ตำรวจมีระเบียบในการพกปืนนะ คือถ้าไม่ได้อยู่ในราชการ ห้ามพกติดตัว แต่ถ้าเป็นร้อยเอกขึ้นไปเขาถือว่ามีวุฒิภาวะ สามารถพกปืนได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ถ้ายศต่ำกว่านั้น ต้องขออนุญาตทุกกรณี แต่เอาจริงๆ มันเป็นแค่ระเบียบ ตำรวจทำงานกันหนักอยู่แล้ว มันเลยไม่เข้มงวด เหมือนอนุญาตกลายๆ ไปเลย 

กรณีอดีตตำรวจผู้ก่อเหตุ มันไม่มีระบบตรวจสอบจริงๆ นะว่า อดีตตำรวจคนนี้ที่ประวัติไม่ดี เขามีปืนกี่กระบอก จริงๆ มันต้องมาขึ้นทะเบียนเป็นประวัติเลย ซึ่งเขาคงไม่ทำกันหรอก ขนาดเรื่องรักษาพยาบาลยังไม่ทำให้เลย อะไรที่เป็นการสร้างภาระงานเพิ่ม ยิ่งไม่ทำ 

แล้วสมมุติว่าอดีตตำรวจที่โดนไล่ออกซื้อปืนมาโดยใช้ทรัพย์สินส่วนตัว การจะไปยึดปืนคืนต้องทำอย่างไร รัฐจะซื้อคืนหรือออกแบบระบบยังไง อันนี้น่าคิดนะว่า การที่ตำรวจซื้อปืนจากโครงการของรัฐโดยใช้อภิสิทธิ์วิชาชีพตำรวจ แต่เมื่อหลุดจากอาชีพแล้ว แถมมีประวัติไม่ดี มันควรจะทบทวนสิทธิในการครอบครองปืนนั้นอย่างไร นี่คือเรื่องที่ยังไม่มีใครพูดถึง จนมีเหตุการณ์นี้ขึ้นมา 

ช่วงเกิดเหตุกราดยิง ระยะเวลาที่เขาใช้ก่อเหตุเกือบ 2 ชั่วโมง สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุดคือ สภ.นากลาง ถ้าเราดูใน Google Maps ใช้เวลาเดินทางด้วยรถธรรมดาเพียง 17 นาที แต่การเดินทางของตำรวจไปยังสถานที่เกิดเหตุถือว่าช้ามาก คำถามคือ ปกติแล้วเมื่อมีเกิดเหตุแบบนี้ ตำรวจดำเนินการอย่างไร 

การรักษาความปลอดภัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมันต่างจากร้านทองนะ ร้านทองเป็นสถานที่สุ่มเสี่ยงต่อการโดนปล้น เพราะโดนปล้นจนอ่วม มันเลยมีนวัตกรรมขึ้นมา ตั้งแต่ประตูที่ออกแบบให้เจ้าของร้านต้องกดเปิดเท่านั้นจึงจะออกจากร้านได้ บางร้านมีลูกกรงด้วย เมื่อเกิดเหตุมันก็จะมีปุ่มกดเพื่อส่งสัญญาณถึงตำรวจทันที ธนาคารก็เหมือนกัน ดังนั้น ผมไม่รู้ว่าในวันที่เกิดเหตุ ตำรวจได้รับแจ้งเหตุตอนไหน อีกทั้งต่างจังหวัดไม่แออัดเหมือนกรุงเทพฯ ปลูกบ้านกันห่าง บางคนตายอยู่ในบ้านหลายวันไม่มีใครรู้ 

โดยหลักแล้ว เมื่อตำรวจได้รับแจ้งเหตุ สายตรวจจะรีบขับรถไปทันที ต่อให้อยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุ แต่โดยรวมแล้วจะไม่เกิน 20 นาที นี่คือหลักของตำรวจสายตรวจ ต้องถึงที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดความสูญเสียและรักษาที่เกิดเหตุ 

อย่างในสหรัฐอเมริกา เขามีเหตุกราดยิงในโรงเรียนบ่อย FBI จึงตั้งหลักสูตรขึ้นมาเกี่ยวกับการ ‘หนี ซ่อน สู้’ เมื่อเกิดเหตุให้หนีก่อน ไปซ่อนในที่ปลอดภัยเพื่อประวิงเวลา แล้วระหว่างซ่อนให้รีบโทรหาตำรวจ แต่ถ้าผมวิเคราะห์จากกรณีศูนย์เด็กเล็ก อารมณ์คนเวลาตกใจ มันคิดอะไรไม่ออกนะ เพราะไม่เคยถูกเตรียมให้รับมือกับสถานการณ์เช่นนี้ คนจะมีอาการช็อก เราอาจจะต้องมาทบทวนเรื่องการสอนเมื่อเกิดเหตุร้าย หรือหากต้องสู้ ต้องรวมตัวกันสู้นะ แล้วสู้อย่างไร โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ ไม่ว่าจะหนี ซ่อน หรือสู้ ก็เพื่อประวิงเวลาให้มีคนมาช่วย เพราะแน่นอนว่าลำพังครูและนักเรียน ถือเป็นเรื่องยากในการรวมกันก็สู้กับคนร้าย ยิ่งเป็นอดีตตำรวจด้วยแล้ว 

สรุปคือในกรณีนี้ ผมไม่ได้ตามข้อมูลละเอียดว่าเขาได้รับแจ้งตอนไหน ถ้าได้รับแจ้งแล้วไปทันทีโดยไม่ชักช้าก็ถือว่าโอเค แต่ถ้าได้รับแจ้งเร็วแล้วไปช้า ทั้งที่อยู่ใกล้มากหากดูจาก Google Maps ถือว่าแย่

ในฐานะตำรวจ การจัดการ ‘จุดเกิดเหตุ’ (crime scene) ในกรณีกราดยิงหนองบัวลำภู ตามหลักแล้วควรเป็นในลักษณะไหน

คนที่จะเข้าไปใน crime scene ได้ตามกฎหมายคือ พนักงานสอบสวน พนักงานสืบสวน พิสูจน์หลักฐาน นิติเวช แค่นั้นเลย ขนาดระดับผู้บังคับบัญชา กฎหมายยังไม่ให้อำนาจเลย หรืออย่างกรณีฆาตกรรมแหม่มที่เกาะเต่า (อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี) เราจะเห็นทั้งนายตำรวจ ผู้บังคับบัญชา นายพล และนายเวรก็ไปเพื่อคอยถือกระเป๋าให้ คราวนี้บานเลย เหยียบย่ำกันเละเทะ เขาอยากได้ ‘ซีน’ กัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ผบ.ตร. ได้หน้าหมด 

มีพรรคการเมืองหนึ่งพูดถึงการรื้อฟื้น ‘สงครามปราบปรามยาเสพติด’ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร 

สงครามปราบปรามยาเสพติดมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือกวาดล้างจริงๆ ผมจำได้ว่าสมัยนั้น ยาบ้าเม็ดละ 250-350 บาท เคยแพงสุดคือเม็ดละ 500 บาท แต่ตอนนี้เห็นจากข่าวว่าเม็ดละ 5 บาท ไม่รู้จริงไหม ถ้าจริงมันจะเป็นปัญหามากนะ 

ส่วนข้อเสียคือ สงครามปราบปรามยาเสพติดจะมีการฆ่าตัดตอน อันนี้ทุกคนรู้ ความซวยคือ บางคนที่โดนฆ่าไม่ใช่คนค้ายา ความรุนแรงนั้นเป็นอะไรที่สุดโต่งจนเกิดความสูญเสีย บางคนกลายเป็นแพะ เมื่อถูกฆ่าตัดตอนไปแล้ว เขาจะฟื้นมาเรียกร้องความยุติธรรมได้อย่างไร

พูดตรงๆ นะ การประกาศสงครามยาเสพติดหรือไม่ประกาศ ต่างกันอย่างเดียวคือ ฆ่ากับไม่ฆ่า ผมมองว่ามันไม่จำเป็นต้องฆ่าใคร จับตามกฎหมาย ระดมกวาดล้างก็จบแล้ว ซึ่งการระดมกวาดล้างก็คือการเอาสิ่งที่จับอยู่ทุกๆ วันมาแถลงข่าวนั่นแหละ 

ทางออกของเรื่องนี้คืออะไร ในฐานะตำรวจและคนในองค์กรตำรวจ

เรื่องยาเสพติด ตำรวจดำเนินการเป็นประจำกันอยู่แล้ว ช่วงโควิดก็อาจจะเพลาๆ กันไป อีกส่วนคือสินบนนำจับ สำคัญมาก ยิ่งจับเยอะ ยิ่งได้เงินเยอะ ใครก็ทำ แย่งกันทำด้วยซ้ำ รางวัลในการให้ขั้น เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง จริงๆ มันมีการให้ขั้นพิเศษเรื่องยาเสพติดอยู่แล้วนะ บางคนไม่ได้จับด้วยซ้ำ แต่ได้ขั้นเพราะโควตา มันก็วนมาเรื่องตั๋วอยู่ดี จริงๆ ระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีอยู่มันดีอยู่แล้วนะ มันมาเสียตอนปฏิบัติ 

คนในสังคมมองตำรวจเป็นอาชีพสีเทา ถึงขั้นว่ากันว่า การซื้อยาเสพติดจากตำรวจง่ายที่สุด คุณคิดอย่างไรกับประโยคนี้

มันมีนะ เพราะตำรวจมันมีหลากหลาย ตำรวจบางคนก็แสวงหาผลประโยชน์​ ส่วนบางคนก็อาจทำเพื่อล่อขาย ถามว่าผมมียาเสพติดไหม ผมมีนะ อยู่ที่ทำงาน เอาไว้ทำงาน แต่ผมไม่เคยเอาออกมาขายเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋า มันมีหลักจริยธรรมประจำตัวว่าผมจะไม่ทำ ผมเอาไว้ใช้ทำงาน เอาไว้ศึกษาหรือเอาไว้สอนตำรวจใหม่ ว่าประเภทยาเสพติดมีอะไรบ้าง

แต่ตำรวจบางคนที่ครอบครองไว้เยอะ แล้วอาจจะเอามาแบ่งขายก็เป็นไปได้ เรื่องนี้ผมยังไม่เคยเจอกับตัว เคยแต่ได้ยิน และเชื่อว่ามันมีจริง … คิดดูสิ ขนาดผมไม่เคยเจอ ผมยังเชื่อว่ามันมีเลย

ข่าวที่เห็นบ่อยๆ ว่า ตำรวจคือผู้ค้ายาเสียเอง อีกทั้งคนมักตั้งข้อสงสัยว่า ยาบ้าที่ยึดมานั้น ยึดแล้วเอาไปไหน ทำลายยาเสพติดจริงหรือไม่ ตรวจสอบไม่ได้ ประชาชนจะรู้ได้อย่างไร

ตามหลักแล้ว พอจับคนร้ายพร้อมยาเสพติดมาแล้ว จะต้องส่งให้พนักงานสอบสวน แล้วพนักงานสอบสวนจะเอาของกลางทั้งหมดส่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แล้ว ป.ป.ส. จะส่งตรวจว่าเป็นยาเสพติดประเภทไหน จากนั้นเขาก็จะให้กระดาษคืนมา เพราะฉะนั้นตำรวจจะได้อย่างเดียวคือ กระดาษที่ระบุว่าเป็นยาเสพติดประเภทไหน จำนวนเท่าไหร่ ไม่มีการเก็บยาเสพติดไว้ในครอบครอง 

จากนั้น ป.ป.ส. ก็จะเอายาเสพติดไปทำลายทิ้ง แต่ในกรณีทุจริต ชุดจับนี่แหละอาจจะ ‘ตอน’ ยาเสพติดไว้ เช่น จับมา 108 เม็ด ชุดจับยาเสพติดก็อาจจะส่งไปแค่ 100 เม็ด แล้วเก็บไว้ 8 เม็ด เพราะเวลาครอบครอง เขาตัดกันที่ 15 เม็ด ว่าเป็นการครอบครองเพื่อใช้เสพหรือครอบครองเพื่อจำหน่าย 

มีข้อครหาว่า อาชีพตำรวจมักเกี่ยวพันกับธุรกิจสีเทา ประเด็นเหล่านี้ส่งผลกับความเครียดในอาชีพตำรวจหรือไม่ อย่างไร

มากๆ เลย มันรู้สึกนะ แต่พอคนมารู้จักจริงๆ เขาก็จะรู้ว่าผมเป็นอย่างไร ผมก็พยายามสร้างภาพลักษณ์ในทางบวกให้ประชาชนเห็น แต่ถ้าบางคนมาแบบ “คุณรู้ไหมผมเป็นใคร” ผมก็ดำเนินคดีไปตามข้อหา ตำรวจบางคนกลัวนะ โดนขู่นิดหน่อยก็กลัวแล้ว เพราะกลัวนายด่า ซึ่งมันก็มีนะ เช่น ผมทำถูกต้องทุกอย่าง แต่นายกลับมาด่าเรา เพราะดันไปจับพรรคพวกแกก็มี แล้วจะให้ผมช่วย ผมก็ไม่ทำ เพราะผมดำเนินการไปแล้วให้ทำอย่างไรได้ สุดท้ายเขาก็ไม่กล้า เพราะถ้านายมาทำอะไร ผมก็ฟ้องมาตรา 157 เขาได้ แต่ตำรวจบางคนมันเครียดนะ เพราะความกลัวมันฝังอยู่ 

ตำรวจส่วนมากก็ยอมแลก ช่วยพรรคพวกนาย เพราะนายบอกจะให้นั่นให้นี่ แล้วการที่สังคมด่าตำรวจมากๆ หลังๆ ผมเฉยนะ เพราะนั่นไม่ใช่ผม แม้กระทั่งเรื่องม็อบ ตำรวจหลายคนก็ไม่เห็นด้วย ผมก็ด่า คฝ. นะ แต่ไม่มีใครกล้าออกมาพูด 

ที่ผมออกมาพูด เพราะมันเลยความกลัวมาแล้ว ลองสังเกตสิ คดีกราดยิงล่าสุด ที่ว่ามีนักข่าว CNN ปีนเข้าไปในที่เกิดเหตุ องค์กรเขาก็ออกมาประณามเลยนะ แต่บ้านกูปูพรมแดงเลย โอ้โห ยังไม่เห็นใครออกมาขอโทษเลยที่ทำลายหลักฐานในที่เกิดเหตุ 

อะไรทำให้คุณอยากเป็นตำรวจ 

เพราะเครื่องแบบมันสวย แล้วผมได้รับการปลูกฝังมาว่า ตำรวจคืออาชีพเจ้าคนนายคน พ่อบอกว่า ถ้าอยากเป็นตำรวจ ก็ขอให้เป็นนายตำรวจเพื่อให้คนเคารพนับถือ อีกส่วนสำคัญคือ ผมไม่ชอบโดนรังแก ผมเคยโดนรังแกมาก่อนแล้วมันฝังใจ มันเลวร้ายมาก ผมเลยอยากเป็นตำรวจ ตอนนั้นคิดแค่นั้น 

ตอนเด็กๆ อาชีพนี้เท่มาก แต่พอเข้าไปเตรียมทหาร “โอ้โห ทำไมต้องทำกับกูขนาดนี้ด้วยวะ” ผมคิดนะ เหมือนผมไม่ใช่คน แต่ผมก็อดทน เพราะถ้าลาออกพ่อแม่คงเสียใจ กว่าจะสอบแข่งขันเข้ามาได้ แม้กระทั่งตอนผมไปโดดร่ม การกระโดดร่มคือสอนให้รู้วิธีการกระโดดลงมา มันไม่จำเป็นเลยที่ต้องเอาหัวไปปักกับพื้น หรือต้องโกนหัว กระทั่งทำไมต้องไปฝึกกลางแดด ทำไมไม่ไปฝึกในร่ม ทำไมไม่มาเล่นเวทกันเพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้มันใหญ่ๆ มันไร้สาระ แล้วพอกลับไปดูธรรมเนียมสมัยก่อนที่เขาฝึกกัน เขาก็ไว้ผมยาว รองทรงด้วยซ้ำ คุณไปเอาวัฒนธรรมนี้มาจากไหน 

มันก็จริงอย่างที่เขาว่า วัฒนธรรมความรุนแรงที่ทำกันในองค์กรตำรวจ ทหาร มันก็เหมือนระเบิดเวลา คนเรามันโดนทำร้าย กดดัน เครียด สุดท้ายมันก็ระเบิดสักวัน 

อะไรทำให้คุณไม่ถูกระบบกลืนด้วยความกลัวแล้วเชื่อง 

นั่นสิ (นิ่งคิด) คงเพราะผมไม่อยากเป็นคนเลว ไม่อยากเป็นคนไม่ดี ผมอยากเป็นนายตำรวจที่ดี เป็นคนที่ลูกน้องรัก ผมชอบทำงานตำรวจนะ ชอบความท้าทายในการทำงาน แต่ผมไม่อยากดำดิ่ง

ในวงขำขันมักมีมุขที่ว่า “เป็นตำรวจทำไม อาชีพสุจริตมีตั้งเยอะตั้งแยะให้ทำ” คุณขำออกไหมเวลาได้ยินประโยคนี้

สำหรับผมเป็นเรื่องที่โคตรแย่เลย เพราะอาชีพตำรวจของผมสุจริต การที่คนมองแบบนี้แสดงว่าอาชีพตำรวจกำลังโคตรตกต่ำ ประชาชนหมดความหวังและสิ้นศรัทธา ผมเชื่อว่าประชาชนหลายคนอยากมีเพื่อนหรือพรรคพวกเป็นตำรวจนะ เพราะน่าจะพึ่งพาได้ในเวลาที่คนคนนั้นประสบปัญหา แต่ก็อย่างว่าแหละ ความเน่าเฟะมันกัดกิน เป็นโจทย์ที่ให้คิดว่าแล้วจะทำอย่างไรที่จะกู้คืนศรัทธาของประชาชน สำหรับตัวผมมองว่า แค่ตำรวจทำหน้าที่ตำรวจจริงๆ เป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้ แค่นี้ประชาชนก็ศรัทธาแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าเจ้านายจะคิดกันบ้างหรือเปล่า หรือมองเพียงแค่การไต่เต้าขึ้นสู่อำนาจและรักษาเก้าอี้อย่างเดียว มันเป็นคำตลกร้าย ที่ผมขำไม่ออกจริงๆ

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า