ปฏิบัติธรรมเท่านั้นไม่พอ: มุมมองของพุทธศาสนาต่อการฆ่าตัวตาย

โลโดร รินซเลอร์ เขียน
วิจักขณ์ พานิช แปล

ข่าวการตายของ โรบิน วิลเลียมส์ สร้างความสะเทือนใจต่อผู้คนจำนวนมากเหลือเกิน ตอนที่ทราบข่าว ผมอยู่ในบาร์กับเพื่อนคนหนึ่ง ผู้คนที่นั่นมีปฏิกิริยาต่อการสูญเสียครั้งนี้ต่างกันออกไป แต่ปฏิกิริยาอย่างหนึ่งที่เรามีร่วมกันคือความโศกเศร้าเสียใจอย่างลึกซึ้ง หลายคนแสดงความรู้สึกออกมาด้วยประโยคคล้ายๆ กันว่า “ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าคนอย่างเขาจะฆ่าตัวตาย”

การที่บอกว่า “ไม่อยากเชื่อเลยว่าคนอย่างเขาจะฆ่าตัวตาย” นั้นหมายความว่าอะไร? เราเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมคนบางคนซึ่งชีวิตดูประสบความสำเร็จ มีความสุข และฉลาดเฉลียว จะเป็นทุกข์จากปีศาจร้ายตนเดียวกับที่คนธรรมดาๆ อย่างเราต้องเผชิญกันในชีวิต ตัวเลขจากงานวิจัยพบว่า 1 ใน 10 ของคนที่ใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกาต้องทนทุกข์กับโรคซึมเศร้า โรบิน วิลเลียมส์ คือหนึ่งในคนเหล่านั้น จากปฏิกิริยาที่ผู้คนมีต่อข่าวการตายครั้งนี้ ทำให้ ฮาร์วีย์ เฟียร์สตีน เพื่อนของ โรบิน วิลเลียมส์ เขียนโต้ตอบว่า

“ได้โปรดเถิด เพื่อนๆ ทั้งหลาย อย่าเสือกทำเป็นรู้ดีกับโรคซึมเศร้ามันเป็นอะไรที่ไร้ความปรานีอย่างถึงที่สุด สิ่งเดียวที่มันต้องการคือพาคุณเข้าไปในห้องเพียงลำพังแล้วฆ่าคุณซะ ยังไงดูแลตัวเองให้ดีก็แล้วกัน”

เมื่อใครสักคนตกอยู่ในอาการซึมเศร้าหรือคิดจะฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะพยายามไปเตือนหรือสอนเขาด้วยความหวังดียังไง การดูแลตัวเองคือสิ่งสุดท้ายที่พวกเขาจะนึกถึงยามที่กำลังจมอยู่กับความทุกข์เสียขนาดนั้น ผมเป็นครูสอนภาวนาและเขียนหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการดูแลตัวเอง (self-help) ที่ผมสอน คนที่จะมาเรียนรู้การปฏิบัติภาวนาไม่ใช่คนประเภท ‘ทุกอย่างในโลกนี้ช่างเยี่ยมยอดไปหมด’ แต่พวกเขาคือผู้คนที่เริ่มตระหนักว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ และในที่สุดก็เริ่มมองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นภาวะทางอารมณ์ที่รุนแรง ความเครียดเรื้อรัง ความกังวลใจ หรืออาการซึมเศร้า คุณอาจคิดว่าการที่ผมสอนภาวนามา 13 ปี และทำงานช่วยเหลือคนมามากมายจะทำให้ผมกลายเป็นมืออาชีพเรื่อง ‘การดูแลใจตัวเอง’ อะไรทำนองนั้น แต่ในความเป็นจริงคือ ไม่เลย…ผมเคยพยายามฆ่าตัวตายเมื่อ 2 ปีก่อน

ผมไม่เคยสารภาพเรื่องนี้ในที่สาธารณะมาก่อน แต่ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่และจำเป็นต้องพูดถึง ตอนนั้นผมเขียนหนังสือธรรมะเบสต์เซลเลอร์ที่มีชื่อว่า พุทธะในบาร์ (The Buddha Walks into a Bar) และกำลังเริ่มเขียนหนังสือเล่มที่ 2 จู่ๆ พรมก็ถูกดึงจากใต้เท้าของผมในหลายๆ ทางพร้อมกัน คู่หมั้นจากผมไปโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการพาตัวเองไปสู่เส้นทางของการทำร้ายตัวเอง ซึ่งยิ่งรุนแรงหนักขึ้นไปอีก เมื่อเดือนต่อมาผมถูกเลย์ออฟจากงานเต็มเวลาที่ทำอยู่ และฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ทุกอย่างพังทลาย คือ วินาทีที่รู้ข่าวว่า เพื่อนรักที่สุดของผมเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวในวัยเพียง 29 ปีเท่านั้น

ผมรู้สึกแปลกแยกจากครอบครัวตัวเองอยู่แล้ว และคนสำคัญ 2 คนที่คอยอยู่เคียงข้าง ทั้งคู่หมั้นและเพื่อนรักต่างจากไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นผมจึงเลือกทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นในหนทางของการทำลาย แน่นอน ลึกๆ ผมรู้ดีกว่านั้นว่าควรทำตัวเช่นไร แต่ในช่วงเวลาแบบนั้นของชีวิต ความกว้างใหญ่ของอาการซึมเศร้าได้กลืนกินทุกความคิดที่เกี่ยวข้องกับการดูแลตัวเองและการภาวนาไปจนหมดสิ้น

ผมไม่อาจบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ว่าความเศร้าในช่วงเวลานั้นลึกเกินหยั่งขนาดไหน ทุกวันผมจะปีนขึ้นไปบนหลังคา และใคร่ครวญว่าจะโดดลงมาดีไหม แวบหนึ่งผมบอกกับตัวเองว่า หนังสือเล่มแรกที่ผมเขียนช่วยคนไว้มากมาย ดังนั้นผมควรเขียนเล่มที่ 2 ให้เสร็จเสียก่อน ผมจึงรวบรวมสมาธิ นั่งลงและเขียนครึ่งที่ 2 ของหนังสือจนจบ มันได้มอบเป้าหมายใหม่ให้กับชีวิต และในช่วงเวลานั้นเองที่เพื่อนๆ เริ่มสังเกตเห็นว่ามีอะไรผิดปกติบางอย่างในตัวผม…

ผมยังจำประสบการณ์ในวันนั้นได้ เป็นวันที่ผมค่อนข้างจมลึกเลยทีเดียว ลอราโทรชวนผมออกไปกินข้าวเย็นด้วยกัน และผมก็ไม่สามารถทนอยู่ในร้านอาหารซึ่งรายรอบไปด้วยผู้คนที่ดู ‘ปกติ’ ได้อีกต่อไป เราออกไปนั่งคุยกันในสวนสาธารณะใกล้ๆ ตอนนั้นฟ้าเริ่มมืดแล้ว ใกล้ๆ บริเวณที่เรานั่ง มีคนไร้บ้านเดินมาฉี่ข้างๆ หนูออกมาวิ่งกันขวักไขว่ ลอรามีความอดทนกับผมมาก เธออยู่ตรงนั้นและไม่แสดงทีท่าว่าอยากหนีไปไหน ทันใดนั้นเธอก็ถามผมว่า “นายเคยคิดทำร้ายตัวเองไหม?” ได้ยินปุ๊บ ผมน้ำตาแตก ร้องไห้ออกมาต่อหน้าเธอ และในสัปดาห์นั้นเองที่เธอและคนอื่นๆ แนะนำให้ผมไปพบกับนักจิตบำบัด สัปดาห์ต่อมา ผมจึงกลับสู่เบาะสมาธิ และอีกอาทิตย์ถัดมาจึงเริ่มทานอาหารได้ปกติ ถัดมาอีกอาทิตย์นึงก็สามารถนอนหลับได้เป็นปกติตลอดคืนในที่สุด

ผมเล่าเรื่องนี้ให้ฟังไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาเกี่ยวกับทัศนคติของชาวพุทธที่มีต่ออาการซึมเศร้าอีกด้วย ผมเคยได้ยินอาจารย์ในพุทธศาสนาพูดถึงโรคซึมเศร้าในฐานะรูปแบบหนึ่งของความทุกข์ ประมาณว่าหากเราปฏิบัติธรรม ปล่อยวาง ทำใจ แล้วทุกอย่างก็จะดีขึ้นเองอะไรทำนองนั้น เลยกลายเป็นว่าการเข้ารับการบำบัด การยื่นมือให้ความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูง หรือการใช้ยารักษาอาการนั้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับชาวพุทธ ซึ่งไม่จริงเลย…การปฏิบัติธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยรักษาอาการป่วยทางจิตได้หมดเสียทุกอย่าง พระพุทธเจ้าไม่เคยบอกว่า “ไม่ต้องช่วยตัวเอง ทนทุกข์กับภาวะเสียสมดุลทางเคมีของเธอต่อไป” หากคุณมีอาการป่วยทางจิต การภาวนาอาจเป็นประโยชน์ แต่ควรมองมันเป็นวิธีการที่มาช่วยเสริม ไม่ใช่มาทดแทนการรักษาทางการแพทย์ หรือการเข้ารับการบำบัด

ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาก็เพื่อจะบอกว่า โรบิน วิลเลียมส์ ก็เป็นคน ผมก็เป็นคน และเหมือนกับมนุษย์คนอื่นๆ เราต่างดิ้นรนกับความทุกข์หลากหลายรูปแบบนับไม่ถ้วนในโลกที่เรามีชีวิตอยู่ และบางครั้งสิ่งที่เราเจอในชีวิตมันก็หนักหนาเกินกว่าจะรับไหว แค่การที่ โรบิน วิลเลียมส์ เป็นนักแสดงตลกที่มีชื่อเสียง เป็นคนร่าเริง ฉลาด เปี่ยมด้วยรอยยิ้ม และอารมณ์ขัน แถมตลอดชั่วชีวิตของเขา ยังสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนมากมาย ไม่ได้หมายความว่าเขาจะปลอดภัยจากการต่อสู้กับปีศาจร้ายที่ไม่มีใครรู้จัก ข้อเท็จจริงที่ว่าครั้งหนึ่งผมเคยสู้กับความคิดฆ่าตัวตายมาแล้วเช่นกัน ไม่ได้หมายความว่าหลายปีของการภาวนาหรือการทำความเข้าใจคำสอนพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ล้มเหลวหรือเปล่าประโยชน์ แต่มันแสดงให้เห็นว่า ผมเป็นมนุษย์คนหนึ่งซึ่งสามารถโอนเอนไปกับความทุกข์ถาโถมได้เหมือนกับมนุษย์คนอื่นๆ คุณอาจปฏิบัติธรรมมาอย่างช่ำชอง แต่ก็สามารถประสบปัญหาแก้ไม่ตกได้เหมือนกับคนธรรมดาทั่วไป

โรบิน วิลเลียมส์ จบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย ส่วนผมโชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือและไม่ได้รู้สึกเหมือนที่เคยรู้สึกตอนนั้นอีกแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่ย้อนกลับมาอีก ประสบการณ์ครั้งนั้นยิ่งทำให้ผมรู้สึกเห็นคุณค่าของคำสอนในพุทธศาสนาและการปฏิบัติภาวนา ขณะเดียวกันก็เห็นความสำคัญของการร่วมทุกข์ร่วมสุข และการโอบอุ้มให้ความช่วยเหลือกันระหว่างเพื่อนมนุษย์ในช่วงเวลายากลำบาก

ในทางหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า ประสบการณ์ครั้งนั้นได้เปลี่ยนชีวิตผมไปโดยสิ้นเชิง จากเดิมที่คิดว่าสามารถเผชิญความทุกข์ด้วยตัวเองได้ไม่มีปัญหา ณ วินาทีที่ผมต้องการความช่วยเหลืออย่างถึงที่สุดแล้วมีมือที่พร้อมจะหยิบยื่นให้ ผมตระหนักว่าชาวพุทธไม่อาจนำเอาทุกสิ่งทุกอย่างมาสู่การปฏิบัติธรรม แล้วหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ไม่สามารถนำหลักธรรมไปสั่งสอนทุกคน แล้วหวังว่าพวกเขาจะหลุดพ้นจากความทุกข์ เมื่อสิ่งต่างๆ มาถึงจุดที่ตีบตัน มองไม่เห็นหนทาง ไม่มีจินตนาการกระทั่งว่าจะลุกจากเตียงได้ยังไงในตอนเช้า นั่นถึงเวลาแล้วที่คุณต้องได้รับการช่วยเหลือ

การขอความช่วยเหลือนั้นไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด แม้แต่ในช่วงเริ่มต้นอาการซึมเศร้าหรืออยู่ในภาวะทางอารมณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้ ทางที่ดีที่สุดคือการดูแลตัวเองโดยมองหาคำแนะนำจากมืออาชีพที่มีทักษะ แน่นอนว่าบางทีคนคนนั้นอาจเป็นครูสอนภาวนาของคุณ แต่เป็นไปได้ที่นักจิตบำบัดอาจเป็นประโยชน์กว่าในช่วงเวลาแบบนั้น การบำบัดในตัวมันเองสามารถเป็นการฝึกสติอย่างหนึ่ง เพราะมันเป็นพื้นที่ที่คุณสามารถใช้เวลา 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์พัฒนาศักยภาพในการตื่นรู้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเองอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังสามารถสื่อสารและแสดงมันออกมาทางร่างกายและจิตใจต่อหน้ามนุษย์อีกคนหนึ่ง อย่างไม่ต้องกลัว รู้สึกผิด หรือถูกตัดสิน

ความทุกข์อาจหนักหนาจนไม่มีทางออก แต่แค่ความรู้สึกของการไม่ต้องเผชิญกับมันเพียงลำพังก็อาจช่วยให้เราอยู่กับความทุกข์นั้นได้อย่างเป็นมิตร

แน่นอนว่าศาสนธรรมนั้นมีพลังในตัวมันเอง แต่หลักธรรมทางศาสนาหรือการภาวนาไม่ใช่สิ่งที่จะมาสรุป อธิบาย ตัดสิน หรือลดความสำคัญของพลังการเยียวยาด้วยการบำบัด ทั้งการปฏิบัติภาวนาและการบำบัด…ทั้งการช่วยเหลือตัวเองและยื่นมือขอความช่วยเหลือ… ต่างมีความหมายในตัวมันเอง สถานการณ์หนึ่งเราอาจเป็นผู้ให้ และอีกสถานการณ์หนึ่งเราก็อาจเป็นผู้รับ

ในขณะที่ชาวพุทธกำลังฝึกเผชิญความทุกข์ด้วยตนเองอยู่นั้น ขอให้อย่าลืมว่า โลกข้างนอกยังมีคนที่ถูกฝึกฝนมาอย่างมีทักษะ คนที่มีหัวใจและพร้อมฟังเธออย่างไม่ตัดสิน คนที่สามารถทำงานไปพร้อมๆ กับเธอในการฝ่าฟันความทุกข์อันหนักหนาไปทีละเปลาะ

….จงอย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ

  • แปลจาก: ‘Meditation Isn’t Enough: A Buddhist Perspective on Suicide’ จากบล็อกของ Lodro Rinzler จาก huffingtonpost.com
  • ตีพิมพ์ครั้งแรกใน WAY #77 กันยายน 2557

Author

วิจักขณ์ พานิช
เป็นคลื่นลูกใหม่ในหลายฐานะ ทั้งบทบาทด้านการตีความพุทธศาสนา จับสังเกตปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านแง่มุมทางจิตวิญญาณ วิพากษ์วิจารณ์ผ่านข้อเขียน ทำสำนักพิมพ์ 'ปลากระโดด' จนคลี่คลายบทบาทล่าสุดสู่ชีวิตแบบอนาล็อกบนพื้นที่ของ 'วัชรสิทธา' -- พื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า