นักวิจัยเผย PM2.5 เป็นเหตุซึมเศร้า สมองอักเสบ และอาจเพิ่มโอกาสฆ่าตัวตาย

ปัญหา PM2.5 และมลพิษทางอากาศ กลายเป็นของฝากประจำฤดูหนาวของประเทศไทยมาเป็นเวลานาน ทั้งยังทวีความรุนแรงขึ้นในทุกๆ ปี มลภาวะทางการหายใจนี้เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ในโลก และนับวันก็ยิ่งใกล้ตัวมากขึ้นทุกที เพราะฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้เป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพของมนุษย์

อนุภาคที่เล็กมากของ PM2.5 สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ผ่านการหายใจ สารประกอบที่อยู่ภายในอนุภาคของฝุ่นละอองจึงเป็นต้นเหตุของโรคทางเดินหายใจ รวมไปถึงโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ภายหลังจากที่สารประกอบเหล่านั้นเข้าสู่กระแสเลือด

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 บทความวิจัยที่มีชื่อว่า ‘Air quality and suicide’ ซึ่งเป็นผลการศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างอัตราการฆ่าตัวตายในสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2003-2010 กับระดับของปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 โดยคลอเดีย เปอร์ซิโก (Claudia Persico) และเดวิด มาร์กอตต์ (David Marcotte) อาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอเมริกัน (American University) ถูกเผยแพร่ผ่านสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติในเคมบริดจ์ (National Bureau of Economic Research)

ข้อค้นพบจากการศึกษาระบุว่า การเพิ่มขึ้นของ PM2.5 จำนวน 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในสถานที่หนึ่งๆ สอดคล้องกับอัตราการฆ่าตัวตาย (suicide) ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยในระดับต่ำกว่าร้อยละ 0.5 และหากปริมาณฝุ่นเพิ่มขึ้นในอัตราคงที่เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 1 เดือน จะมีผลให้จำนวนเคสที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยความพยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นร้อยละ 50

การศึกษาของเปอร์ซิโกและมาร์กอตต์เริ่มต้นจากการตั้งสมมุติฐานว่า คุณภาพอากาศที่แย่จะส่งผลให้อารมณ์ของผู้คนแย่ลงตามไปด้วย และนั่นอาจเพิ่มโอกาสที่นำไปสู่ความคิดที่จะฆ่าตัวตายได้ เพราะขนาดอนุภาคที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอน ทำให้ฝุ่นละอองประเภทนี้สามารถเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางปอดได้อย่างง่ายดาย หากแต่สาเหตุของการลงมือจบชีวิตนั้นมีหลายปัจจัย การศึกษาครั้งนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การหาความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลมลพิษทางอากาศทุกพื้นที่ในอเมริกากับสถิติการฆ่าตัวตายรายวันของประชากร

การวิจัยนี้ใช้ข้อมูลจากแบบสำรวจอารมณ์และสภาวะจิตใจ เทียบกับระดับมลพิษในพื้นที่ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามเคยอาศัยอยู่ในเดือนก่อนการสำรวจ พบว่า การเพิ่มขึ้นของ PM2.5 ที่สูงกว่า 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพียงวันเดียวในพื้นที่อยู่อาศัย ก็สัมพันธ์กับความถี่ที่ประชากรในพื้นที่นั้นรู้สึกหดหู่ ไม่มีความสุขในการทำสิ่งต่างๆ ทั้งยังรู้สึกเหนื่อยและขาดพลัง นอกจากนั้น ประชากรราว 1 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มนี้ยังเคยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคซึมเศร้าอีกด้วย

ข้อค้นพบดังกล่าวสอดคล้องกับผลวิจัย Air Pollution and Noncommunicable Diseases โดยองค์กรสมาคมวิชาชีพด้านระบบทางเดินหายใจระดับนานาชาติ (FIRS) ที่ถูกเผยแพร่ในปี 2018 ซึ่งระบุว่า PM2.5 ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย รวมไปถึงสมอง อาการอักเสบนั้นสามารถขัดขวางการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของมนุษย์ที่เรียกว่า ‘brain’s reward pathway’ ซึ่งทําหน้าที่รับรู้อารมณ์และความรู้สึกสุขใจ นำมาซึ่งภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมได้ 

เปอร์ซิโกและมาร์กอตต์พบอีกว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงตัวแปรที่อาจส่งผลต่ออารมณ์ของคนและทิศทางการพัดของลม แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้เป็นข้อมูลที่ค่อนข้างเสถียร อย่างไรก็ตาม อิทธิพลจากมลพิษทางอากาศที่ส่งเสริมอัตราการฆ่าตัวตาย เกิดขึ้นมากที่สุดในพื้นที่ยากจนและประชาชนมีอัตราว่างงานสูง รวมไปถึงในพื้นที่ซึ่งประชาชนสามารถครอบครองอาวุธปืนได้อย่างเสรี

การศึกษาในครั้งนี้ ได้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับข้อมูลจากงานวิจัย Association between particulate matter air pollution and risk of depression and suicide (2019) โดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งระบุว่าผู้ที่สัมผัสกับปริมาณ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา 1 ปีหรือมากกว่านั้น จะมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงขึ้นร้อยละ 10 ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งโลก แต่ผลกระทบนั้นอาจกระจายตัวในวงกว้าง เนื่องจากประชากรโลกกว่าร้อยละ 90 ยังใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีมลพิษทางอากาศที่สูงกว่าระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนด

อ้างอิง

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า