เมืองฝุ่นกับคนใต้หน้ากาก

PART 1: เมืองฝุ่น

ลาดพร้าวยามเช้าขมุกขมัวในหมอกฝุ่น

 

คนงานก่อสร้างเริ่มต้นวันใหม่ท่ามกลางฝุ่นที่มองไม่เห็น

 

ชีวิตทุกชีวิตต้องดำเนินต่อไป

 

ใครบางคนยังคงหลับใหลในเช้าสีฝุ่น

 

หน้ากาก N95 คือสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วเมือง

 

 

N95 เป็นที่ต้องการของประชาชน

 

เด็กหญิงเพลิดเพลินกับโลกส่วนตัว

 

ฝุ่นไม่มีพรมแดน ทั้งพระทั้งโยมก็ต้องป้องกันตัวเอง

 

นอกจากก้นบุหรี่ เราสามารถพบหน้ากากอนามัยเกลื่อนพื้น

 

PART2: คนในหน้ากาก

ร้านแม่เปิ้ล

หญิงวัยกลางคนนั่งขายเครื่องดื่มในซุ้มโคคา-โคล่าอยู่ห่างถนนไม่ถึง 10 เมตร เธอสวมหน้ากากอนามัยสีดำที่ลูกสาวซื้อให้ เมื่อถูกถามว่าทำไมไม่สวมหน้ากาก N95 เธอกุลีกุจอควานหาสิ่งของในกระเป๋าที่วางอยู่ใต้เก้าอี้

“มีๆ ลูกสาวฉันซื้อให้นะ หน้ากากดีๆ แต่มันแข็ง ใส่แล้วหายใจไม่ออก ก็เลยใส่อันนี้แทนไปก่อน มันหายใจไม่สะดวก” เธอว่า

“มันอันตรายเหรอลูก” แม่เปิ้ลถามเมื่อเห็นกองบรรณาธิการ WAY ถามไถ่คนเดินผ่านไปผ่านมาเรื่องฝุ่น

“ลูกสาวจะคอยเตือนให้ใส่หน้ากากตลอด ส่งข้อมูลวิธีใส่หน้ากากที่ถูกต้องให้ทางไลน์ ถ้าเราไม่ใส่มันก็ด่าเอา”

“ลูกทำงานอะไรครับ?”

“ร้านเสริมสวย”

“แล้วเขารู้ได้ไงเวลาแม่เปิ้ลไม่สวมหน้ากาก?”

แม่เปิ้ลชี้ไปที่กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่มุมบนของซุ้มขายเครื่องดื่ม

“กล้องมันจะต่อไปที่โทรศัพท์ของลูกสาว วันก่อนมันส่งภาพเรานั่งขายของโดยไม่ใส่หน้ากากมาด่า เขามองเราผ่านกล้องวงจรปิดตลอด บางทีเรากินข้าวก็ต้องถอดหน้ากาก พออิ่มแล้วก็ลืมใส่กลับเนาะ เมื่อก่อนไม่มีข่าวเรื่องฝุ่นลูกสาวก็บังคับให้ใส่หน้ากากอยู่แล้ว เพราะเราทำงานข้างถนน”

แม่เปิ้ลมีสัญญาใจกับลูกสาว ลูกจะดาวน์รถยนต์ให้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องใส่หน้ากาก

“ลูกมันส่งไลน์มาด่า อีกแล้วนะแม่ ไม่ใส่แมสก์อีกแล้วนะ หนูจะไม่ช่วยดาวน์รถนะ บอกแล้วไม่เคยฟัง ดูมันขู่แม่ บางทีแม่ก็ลืมเนาะ ว่าแต่มันอันตรายจริงเหรอหนุ่ม”

 

คนขายหน้ากากบนสะพานลอย

“ช่วงนี้ขายดีมากครับ ผมต้องไปเอาของวันต่อวัน”

คนขายหน้ากากบนสะพานลอยไม่ต้องใช้ความพยายามมากในการเรียกลูกค้า ผู้คนเดินผ่านหน้าร้านของเขาบนสะพานลอยแวะหยุดเลือกหน้ากากที่วางแบบนพลาสติกอย่างคึกคัก

หน้ากากอนามัย หน้ากากยาง หน้ากาก KN95 สนนราคาอยู่ที่ 20-35 บาท ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงสินค้าบนแผงของเขาค่อยๆ หร่อยหรอ

“สายๆ ผมต้องวิ่งไปเอาของที่สำเพ็ง มันจะมีขายที่สำเพ็งกับที่ปากเกร็ด สัปดาห์ที่ผ่านมาขายดีมาก”

“หน้ากากแบบนี้ใช้ได้กี่วัน?” ลูกค้าสตรีรายหนึ่งถาม

“ถ้าไม่เปื้อนก็ใส่ได้หลายวันครับ” เขาบอก

“มันกันฝุ่นได้จริงหรือพี่?”

“ได้ครับ แต่ต้องใส่สองอันซ้อนกัน”

 

คนขายไก่ทอด#1

“ตั้งแต่มีข่าวประกาศออกมาเรื่องฝุ่น ผมก็เป็นไข้เจ็บคอเลย”

ชาญวิทย์ ปะวะเข เป็นคนขอนแก่น ขายไก่ทอดขอนแก่นอยู่ริมถนนลาดพร้าว ทุกเช้าจะขับรถพ่วงข้างมาขายไก่ทอดตั้งแต่ 6.00 น. จนถึง 9.00 น. จากนั้นเป็นเวลาพัก เริ่มออกมาขายอีกครั้งก็ lunch time

“เมื่อวานหนักมาก (30 มกราคม) แสบจมูกไปหมด” เขาว่า “ผมเพิ่งจะมาใส่หน้ากากได้อาทิตย์เดียว มันอึดอัด หายใจไม่ออก แต่ก็กลัวก็เลยซื้อหน้ากากมาใส่แบบที่เห็นนี่แหละ”

เขาเช่าบ้านอยู่กับภรรยาและลูกชาย ทั้งสามขายไก่ทอดขอนแก่นเหมือนกัน

“สร้างบ้านไว้ที่ขอนแก่น แต่ไปอยู่ไม่ได้ ต้องหากินในกรุงเทพฯ ถ้าถูกลอตเตอรี่ผมจะกลับไปนอนสูดอากาศอยู่ขอนแก่นสักเดือนสองเดือน”

ไม่ไกลจากร้านขายไก่ทอด แผงลอตเตอรี่ตั้งอยู่ไม่ไกล พรุ่งนี้รวย – พรุ่งนี้รวย

 

คนขายไก่ทอด#2

ถัดจากร้านขายไก่ทอดของ ชาญวิทย์ ปะวะเข ไปไม่ถึง 500 เมตร จตุพงศ์ ปะวะเข กำลังนั่งดูรายการตลกในโทรศัพท์มือถือ ไก่ทอดวางเรียงอยู่บนถาด เขาคือลูกชายของชาญวิทย์ ขายไก่ทอดเช่นเดียวกับผู้เป็นพ่อ

“วันสองวันที่ผ่านมามันอึมครึมไปหมด บรรยากาศมันสลัวๆ ผมรู้สึกได้เลยว่าฝุ่นเยอะ หายใจเข้าไปแสบคอแสบจมูก ผมดูข่าวตามเฟซ ตอนแรกไม่เชื่อ แต่พอเห็นข่าวที่ผู้หญิงคนหนึ่งไปวิ่งออกกำลังกายแล้วก็เป็นผื่นเป็นแผลแดงเต็มตัว น่ากลัวมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม”

“เมื่อกี๊ได้คุยกับพ่อของคุณ เขาขายไก่ทอดไม่ไกลจากคุณเลย”

“ใช่ครับๆ พ่อผมเอง”

“เขาบอกว่าสร้างบ้านไว้ที่ขอนแก่น”

“ใช่ครับ ผมไม่อยากอยู่หรอกกรุงเทพฯ ไม่ได้อยากเข้ามาตั้งแต่แรกแล้ว มันจำเป็นครับ มันจำเป็น”

 

มอเตอร์ไซค์รับจ้าง#1

“หนักครับหนัก” ประวัติ มีคุณ หมายถึงฝุ่นที่ปกคลุมเมืองเมื่อวาน “เมื่อวาน (30 มกราคม) หนักจริง แสบคอแสบตาไปหมด แต่หน้ารามฯ หนักกว่านี้ ขาวโพลนไปหมด”

“รถเมล์ดีเซลน่ะควรจะโละได้แล้ว” เพื่อนประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างของประวัติเอ่ยแสดงความคิดเห็น “รถ ขสมก. นี่ตัวดีเลย มันเก่าแล้ว ระบบเผาไหม้มันไม่ดีแล้ว”

“การฉีดน้ำมันจะช่วยได้หรือเปล่า เพราะฝุ่นมันลอยอยู่สูง” ประวัติเสริมเพื่อน

“ผมเพิ่งจะมาใส่หน้ากากเมื่อสองสามวันก่อน แฟนผมเขาเป็นห่วง เพราะเราทำงานแบบนี้ เจอฝุ่นตรงๆ เลย มันก็ดีกว่าไม่ใส่ใช่ไหม ผมหาซื้อ N95 ไม่ได้เลย ก็เลยใส่แบบนี้ไปก่อน ของมันขาดตลาด”

“ทำงานแบบพวกผมนี่มันต้องยอมเสี่ยง เป็นอาชีพ ไม่งั้นจะเอาอะไรกิน” เพื่อนคนเดิมเสริม

“ถ้ามีเงินก็จะหนีไปต่างจังหวัดเหมือนคนอื่นๆ ที่เขามีเงิน แต่เราทำมาหากินอยู่ที่นี่ ผมมาจากอุบลราชธานี แต่คงจะปักหลักอยู่ที่นี่ ผมซื้อคอนโดไว้ที่นี่ ถ้าจะอยู่ต่างจังหวัดมันต้องมีที่มีสวน” ประวัติบอก

“หลายวันมานี้ผมไปส่งลูกค้าที่โรงพยาบาลหลายคนนะ ถามเขาว่าเป็นอะไร ส่วนใหญ่ก็จะมีอาการเดียวกัน แสบคอแสบตาแสบจมูก คนเต็มโรงพยาบาล ยิ่งใกล้เลือกตั้งรัฐบาลเหมือนไม่สนใจจะแก้ปัญหา”

“ใกล้เลือกตั้งแล้ว คุณตื่นเต้นมั้ย?”

“ผมเฉยๆ นะเลือกตั้ง สมัยก่อนตื่นเต้นอยู่ แต่ตอนนี้ใครมาเป็นก็ได้ ขอให้เศรษฐกิจดี ขอแค่นั้นก็พอ”

 

วันหยุดของโฟล์คกับฝุ่น

ฝุ่น กับ โฟล์ค กำลังเล่นเกมในโทรศัพท์ระหว่างรอเพื่อนที่นัดกันมาเที่ยวในวันที่โรงเรียนหยุด หลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดโรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัดทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล

“ครูบอกว่าให้อยู่ในบ้าน อย่าออกมาเล่นข้างนอกครับ”

“แล้ววันนี้ฝุ่นกับโฟล์คมาทำอะไรกัน”

“นัดเพื่อนมาที่ห้างครับ”

“ดีใจมั้ยโรงเรียนหยุด”

“ดีใจครับ” โฟล์คตอบเขินๆ ส่วนฝุ่นก้มหน้าไม่พูดไม่จา

 

เจ้าของร้านขายยา

มี N95 ขาย คือป้ายที่ติดแทบจะทุกร้านขายยาในกรุงเทพฯ ร้านขายยาของ กิตติพงศ์ คงคาสวรรค์ ก็เช่นกัน

“ผมสั่งมาจากเยอรมันครั้งละ 1,000 ชิ้น กระจายไปตามร้านของญาติพี่น้อง ไม่กี่วันก็หมด ผมขายของได้แบบนี้ไม่ใช่จะรู้สึกดีนะ คนต้องเสียเงินซื้อใส่ เศรษฐกิจก็ไม่ดี บางคนก็ไม่รู้ว่าต้องใส่ ก็ใส่หน่อยเถอะ ใจผมอยากจะให้มันพัดไปไวๆ ไอ้ฝุ่นนี่ ไม่ใช่ขายของได้แล้วรู้สึกดีนะ ขายของก็ต้องมีจรรยาบรรณนะ”

 

นักวิ่ง

บุญศิริ กัณหกุล วิ่งสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 10 กิโลเมตร หยุดพัก 2 วัน ฝุ่นหนาหนักปกคลุมเมืองกรุงเทพฯ ในวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา แต่บุญศิริก็ออกมาวิ่ง

“ฝุ่นมีผลต่อการวิ่ง กรณีเมื่อวาน (30 มกราคม) ผมสังเกตได้เลยว่าระบบหายใจไม่ดี เห็นได้ชัดเจนว่าหายใจติดขัด อึดอัด ก็เลยวิ่งแค่ 6 กิโล แต่วันนี้อากาศดีกว่าเมื่อวาน เมื่อวานคนมาวิ่งน้อยกว่าปกติ แต่วันนี้เริ่มหนาตาขึ้นมา”

“จริงๆ มันวิกฤตินะ แต่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการประโคมข่าว เพราะมันทำร้ายเศรษฐกิจของประเทศ มาตรการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นของต่างประเทศเขาจะไม่ประโคมข่าวที่ทำให้ประชาชนตื่นตูม เขาจะแก้ไขปัญหา ออกมาตรการ แต่ทำให้เป็นเรื่องปกติ แต่บ้านเราฝุ่นถูกใช้ไปโจมตีกันแม้กระทั่งเรื่องการเมือง ก็เลยกลายเป็นวิกฤติระดับชาติเลย

“ผมว่ารัฐบาลลงมือน้อยไปหน่อย แต่ตอนนี้ก็เริ่มตื่นตัวขึ้นมาบ้างแล้ว ผมคิดว่าทุกคนต้องช่วยกัน อย่างน้อยๆ ก็หน้าบ้านตัวเอง ล้างถนนให้สะอาดเพื่อไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย ส่วนภาครัฐก็ต้องออกมาตรการในเรื่องใหญ่ๆ เช่น มาตรฐานของโรงงานอุตสาหกรรม การจำกัดมลพิษบนท้องถนน ผมคิดว่าเมืองใหญ่ๆ ทุกเมืองในโลกนี้ก็ล้วนประสบปัญหานี้ด้วยกันทั้งนั้น ใจเย็นๆ และศึกษาจากประเทศอื่น และลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง”

มอเตอร์ไซค์รับจ้าง#2


“ N95 มันแพง”

หน้ากากอนามัยธรรมดาๆ จึงครอบปิดจมูก กิตติวัฒน์ พรรคพล แทน

“ผมว่าใส่ทับสักสองสามผืนก็ไม่แตกต่างจาก N95 ใส่แบบนี้ถูกกว่า”

อยู่กับฝุ่นตรงๆ รับฝุ่นเต็มๆ เขามองว่าวิธีการแก้ของรัฐบาลโดยการฉีดน้ำมีผลโดยตรงต่องานของเขา

“อย่าฉีดน้ำลงถนนเลย เพราะว่าพวกที่ขี่มอไซค์เขาลื่น อุบัติเหตุมันเกิดขึ้นง่าย เห็นไหมว่ามันเปียก อันนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ มันเปลืองน้ำและก็ทำให้ท่อน้ำอุดตันไม่สามารถระบายได้”

“มีอาการอะไรข้างเคียงเกิดกับร่างกายบ้างไหม?”

“ก็มีระคายเคืองคอนะ และรู้สึกว่าช่วงนี้มันเหมือนมีเสมหะด้วย” เขาพูดพลางดับก้นบุหรี่ “ถามว่ากลัวไหม พี่เป็นห่วงเด็กและผู้สูงอายุมากกว่า เพราะภูมิต้านทานเขาจะลดน้อยลง อย่างพี่ยังไม่แก่ 30 กว่าๆ เอง” 

“คนที่บ้านห่วงพี่บ้างไหมที่งานของพี่ค่อนข้างมีความเสี่ยงในเรื่องของสุขภาพ?”

“อ๋อไม่ห่วงหรอก เพราะพี่อยู่คนเดียว ลูกเมียไม่มี ไม่เป็นไรหรอก ลั้นลาๆ ไปเรื่อย” หนุ่มโสดหัวเราะทิ้งท้าย

ตำรวจจราจร

“นี่ความเห็นส่วนตัวนะ ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง” ร้อยตำรวจตรีพรเทพ ประเสริฐลาภ ย้ำกับเราแม้เขาจะอยู่ในชุดเครื่องแบบในการปฏิบัติหน้าที่เป็นนายตำรวจจราจรผู้ทำงานบนท้องถนนมากว่า 30 ปี  “ผมดูข่าวเห็นเขาบอกว่า เวลาฉีดน้ำ มันก็จับ PM2.5 ไม่ได้ มันขนาดเล็กกว่านั้น

“การพัฒนาเมือง ควรพอได้แล้วนะ ดูสิตึกสูงไปเยอะแยะไปหมด อากาศมันจะไปไหนได้ มันก็อบอยู่อย่างนี้ อนาคตคงต้องย้ายเมืองหลวงแล้ว อยู่ยากแล้ว กระจายการพัฒนาไปข้างนอก ไปต่างจังหวัดบ้าง ความเห็นส่วนตัวนะ ในฐานะประชาชน” เขาย้ำกับเราอีกรอบ

เจ้าของร้านกาแฟ

“ลูกค้าหายไปค่ะ หนึ่งเลยคือลูกค้าที่นั่ง outdoor หายไปแน่ๆ เขาไม่มาเลย ส่วนลูกค้าที่อยู่ตามคอนโดบางทีเขาก็ไม่อยากออกมาเดิน เพราะว่าฝุ่นเยอะ”

โหน่ง เจ้าของร้านกาแฟริมถนนลาดพร้าว เขตบางกะปิ วัย 56 ปี ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เธอเจอกับธุรกิจร้านกาแฟของเธอเอง ส่วนปัญหาสุขภาพที่เจอนั้นตัวเธอเองไม่ได้มีปัญหาอะไรมากนัก เป็นห่วงก็แต่สามีของเธอ

“รู้สึกว่าหายใจไม่ค่อยคล่อง แล้วก็ตัวเเฟนของพี่เองเขาเป็นภูมิแพ้ เขาจะรู้เลย เพราะว่าเขาเหมือนกับหูอื้อเลย เมื่อวานเพิ่งไปหาหมอหูมาเองเสียไปเกือบ 3,000 หูอื้อ พอมันเหมือนมีเสมหะ พอเขาไอมันทำให้ส่งผลต่อประสาทหู เขามีความรู้สึกว่าหูอื้อมาประมาณอาทิตย์กว่าๆ แล้ว ตัวเราอาจจะเเข็งเเรง แต่พอเราออกไปข้างนอกแล้วสัมผัสได้ถึงอากาศที่มันไม่ดี คือถามว่ามีผลป่วยไข้เลยไหมเรายังไม่เห็น แต่เราแค่สัมผัสได้ เห็นได้จากผื่นที่เเขน มือเริ่มสาก เรารู้สึกคันๆ” เธอยื่นมือที่เป็นผื่นมาให้ลองสัมผัส

แล้วพี่อยู่ในร้านต้องใส่หน้ากากไหมคะ?

“ตอนนี้เราก็ไม่คิดที่จะใส่อะไรหรอกเพราะว่าเราอยู่ในร้านเราก็เปิดเครื่องฟอกอากาศอยู่” พร้อมทั้งชี้ให้ดูเครื่องฟอกอากาศราคาเกือบ 20,000 บาทที่ตั้งอยู่ตรงกลางร้าน

 

หญิงกวาดถนน

“ฉันเริ่มกวาดตั้งแต่ตี 5 ถึงบ่ายโมง อากาศตอนเช้าเย็นดีนะ ชอบ” เธอชื่อ ดำ แต่ผิวขาว อายุ 52 ปี เป็นคนสระแก้ว ทำงานเป็นคนกวาดถนนกรุงเทพฯ นานหลายปี จนสามารถซื้อบ้านหลังเล็กๆ อาศัยอยู่คนเดียวในย่านลาดพร้าว

แต่เช้าที่รักของหญิงผู้ทำหน้าที่กวาดถนนมีความเข้มข้นของมลพิษสูง

“ไม่รู้นะ ฉันว่ามันเย็นดี ชอบฟังข่าว นี่ไง วิทยุอยู่ในเสื้อกับโม่ง”

ป้าไม่ใส่หน้ากากเหรอคะ?

“มันแพงนะ แล้วป้าก็ไม่ชิน หายใจไม่สะดวกเลย คลุมโม่งแบบนี้ก็คงกันได้เหมือนกัน”

นักการเมือง

“เราทำงานการเมือง ต้องลงพื้นที่ทุกวันอยู่แล้ว ทีมงานจะใส่หน้ากากทุกคน แต่ผมลำบากหน่อย เพราะต้องพูดอยู่ตลอด แต่เราทุกคนอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ผมก็ไม่เสี่ยงน้อยไปกว่าคนอื่นบนท้องถนน” พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม บอกกับเราในย่านตลาดบางกะปิ ที่ที่เขากำลังลงพื้นที่หาเสียง

“คงต้องรีบเร่งการสร้างรถไฟฟ้าให้เสร็จตามกำหนด แต่ถามว่าระหว่างนั้นเราต้องทนไปตลอดไหม ผมว่าต้องจัดการเรื่องการจราจร ปรับรถยนต์บนถนนให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ปรับรถเมล์ให้เป็น Smart Bus ไม่ให้เป็นแหล่งผลิตควันดำแล้ว คงต้องบังคับใช้กฎหมายให้มากขึ้น

“คนที่โดนเยอะที่สุดก็คือแม่ค้าตามท้องถนน จะให้เขาไม่ขายก็ไม่ได้ ลูกค้าจะน้อยลง มันส่งผลกับพวกเขามากกว่าพนักงานตามสำนักงานนะ

“ที่ได้ยินจากแม่ค้าริมถนนใหญ่ก็เรื่องควันดำ เขาก็บอกกับผมตรงๆ ว่า จะให้พี่ทำยังไง พีต้องขาย เศรษฐกิจก็ใช่ว่าดี”

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Author

ชนม์นิภา เชื้อดวงผุย
นักศึกษาฝึกงานสายเลือดอีสานผู้แบกสังขารไปเรียนไกลถึงเมืองเหนือ เรียนเอกหนังสือพิมพ์ โทการต่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ สนใจสิ่งแวดล้อม มีเพื่อนสนิทเป็นหมอนและที่นอนนุ่มๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า