Soylent Green (1973): ตอนจบของฝุ่นควันพิษ

ปัญหาฝุ่นควันมิใช่ปัญหาของภาคเหนือตอนบนเท่านั้นอีกต่อไปแล้ว

ตัวเลขฝุ่นควันประจำปีนี้ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ชายทะเลตะวันออกกับบางส่วนของภาคอีสานนำหน้าภาคเหนือตอนบนไปในโค้งแรกอย่างชัดเจน หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากทุกปีเชื่อว่าตัวเลขของภาคเหนือตอนบนน่าจะแซงในเดือนหน้า ขณะเขียนต้นฉบับนี้ภูเขารอบบ้านก็เริ่มเลือนหายไปบ้างแล้ว

รายงานข่าวว่าปัญหาของกรุงเทพมหานครและภาคกลางมาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นสัดส่วนที่มากกว่าเกษตรกรรม มีรายงานตัวเลขการตายหลายหมื่นคนต่อปีแบบที่ภาคเหนือตอนบนเคยรายงานมาตลอด

ปัญหาคือประชาชนทั่วไปไม่น่าจะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเลข PM2.5 กับความตายที่เพิ่มขึ้น อย่าว่าแต่ประชาชนไม่เห็น ผู้กำหนดนโยบายก็คงไม่เห็น เราจึงไม่เคยเห็นการดำเนินการอะไรเป็นชิ้นเป็นอันจนวันนี้   

เชื่อว่าหลังจากพบฝุ่นควันเกิน 10 ปีเช่นภาคเหนือตอนบน ประชาชนที่อยู่ในเขตภัยพิบัติจึงจะเริ่มเห็นว่าคนข้างๆ ที่รู้จักป่วยมากขึ้นผิดหูผิดตา ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งตามอวัยวะต่างๆ โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง

การพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นกระแสหลักของเศรษฐกิจโลกมาโดยตลอดและยังเป็นอยู่ คนเราจะยังบริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ การผลิตก็จะยังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การใช้เชื้อเพลิงที่เผาไหม้ไม่หมดจะยังเพิ่มต่อไป ไม่น่าจะมีหนทางหยุดควันพิษที่เกิดได้ แล้วเรื่องจะไปจบที่ตรงไหน

จบตรงนี้ครับ Soylent Green

หนังปี 1973 เรื่อง Soylent Green เคยฉายโรงในกรุงเทพฯ ใครจำชื่อภาษาไทยได้กรุณาบอกด้วย ไตเติลหนังเป็นภาพพัฒนาการความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง จากยุคคาวบอยบนทุ่งหญ้ามาจนถึงยุคสร้างบ้านแปงเมือง ผ่านยุครถไฟไอน้ำ ขุดเจาะน้ำมัน อุตสาหกรรมการก่อสร้างก้าวกระโดด เมืองใหญ่ขึ้นตึกสูงขึ้น คนมากขึ้นรถมากขึ้น เรือและเครื่องบินว่อนทั่วโลก อุตสาหกรรมสิ่งทอ อาหารและเครื่องอำนวยความสะดวกสารพัดชนิดผ่านตาไปอย่างรวดเร็ว ปิดท้ายด้วยภาพขยะล้นเมืองและน้ำเน่าเสีย ป่าไม้หายไป ฝูงสัตว์ล้มตายแล้วในที่สุดก็ถึงปี 2022

ปี 2022 นิวยอร์ก ประชาชน 40 ล้านคน

ประชาชนนิวยอร์กใหญ่นอนกันตามขั้นบันไดในอาคารต่างๆ ไม่มีอาหารจริงๆ ให้เห็นนานแล้ว ประชาชนกินอาหารแผ่นสำเร็จรูปที่ฝ่ายปกครองและบริษัทซอยเลนท์นำมาวางขายวันละสีตามสารอาหารที่มี วันนี้บริษัทมีผลิตภัณฑ์ใหม่แผ่นสีเขียวคุณค่าอาหารสูงกว่าเดิมและราคาแพงกว่าเดิม พอถึงวันวางขายมีคนมากมายมายืนรอคิว

น้ำสะอาดหาได้ยาก ประชาชนต้องถือแกลลอนมายืนตวงน้ำตามโควต้า ยังมีตำรวจยืนจัดระเบียบสังคมใหม่แต่ชุดตำรวจดูเหมือนช่างประปาเสียมากกว่า โรเบิร์ต ธอร์น เป็นตำรวจ ก็ใส่ชุดสวมหมวกเหมือนช่างประปานั่นแหละ รับบทโดย ชาร์ลสตัน เฮสตัน (Charlton Heston)

ชาร์ลส์ตัน เฮสตัน มิได้เป็นแค่โมเสส เบนเฮอร์ หรือเอลซิด เขาเล่นหลายบทบาทมากกว่าที่คนส่วนใหญ่รู้ เฉพาะนิยายวิทยาศาสตร์เขาเล่นหนังที่น่าจดจำถึง 3 เรื่องคือ พิภพวานร (1968), The Omega Man (1971) และ Soylent Green ซึ่งเคยฉายโรงหนังเมืองไทยแล้วทุกเรื่อง

นักสืบธอร์นมีห้องเล็กๆ เก่าๆ ส่วนตัวบนตึกเก่าๆ เมื่อเลิกงานกลางคืนเขาเดินจากโรงพักกลับบ้านโดยต้องก้าวข้ามผู้คนที่นอนแออัดยัดเยียดตามบันไดขึ้นไป เขามิใช่ตำรวจเลวร้าย แต่เวลาออกพื้นที่เขาหยิบอาหารสดที่พบเห็นติดไม้ติดมือกลับบ้านเสมอๆ โดยเฉพาะเวลาต้องเข้าไประงับเหตุในบ้านของพวกมีอันจะกิน เนื้อวัวแท้ๆ แอปเปิลจริงๆ ผักสดจริงๆ เนยจริงๆ ของหายากทั้งนั้น

เอ็ดเวิร์ด จี. โรบินสัน (Edward G. Robinson) นักแสดงมีชื่อเสียงสูงสุดของฮอลลีวูดยุคแรกรับบท โซโลมอน ร็อธ ในวัย 79 ปี โซโลมอน ร็อธ เป็น ‘บุ๊ก’ อดีตนักสืบฝ่ายสืบสวน เขาอายุมากและเคยมีชีวิตในยุคที่โลกยังมีท้องฟ้า ป่าไม้ สายน้ำ ชายหาด และสรรพสัตว์ นี่เป็นหนังเรื่องสุดท้ายของเอ็ดเวิร์ด จี. โรบินสัน  

เกิดคดีฆาตกรรมวิลเลียม ไซมอนสัน กรรมการบริษัทซอยเลนท์ นักสืบธอร์นไปที่เกิดเหตุ และได้รู้จัก ‘เฟอร์นิเจอร์’ สวยงามของไซมอนสัน ไซมอนสันมิใช่ผู้มีอันจะกินธรรมดา แต่มีแมนชั่นหรูหราและมีเฟอร์นิเจอร์ประจำตัว เธอชื่อเชิร์ล เป็นชื่อโดดๆ ไม่มีชื่อสกุล

ในการตรวจที่เกิดเหตุครั้งแรก เชิร์ลชวนธอร์นอาบน้ำร้อน อย่าว่าแต่น้ำร้อนเลย น้ำก๊อกสะอาดๆ ธอร์นก็ไม่เคยได้ใช้มาก่อน เขาทำตามหน้าที่ แต่ความสะดวกสบาย สะอาดสะอ้าน สบู่ใหม่ๆ กลิ่นหอมๆ และอาหารจริงๆ อิ่มท้องระหว่างงานเขาไม่เคยปฏิเสธ เฟอร์นิเจอร์ที่ยัง ‘ว่าง’ ไม่มีเจ้าของใหม่เขาก็ไม่ปฏิเสธเช่นกัน

เป็นหนังไซไฟโดยฉากหลัง เนื้อเรื่องเป็นการสืบสวนคดีฆาตกรรม โดยพระเอกถูกขัดขวางจากเจ้านายและคนใหญ่คนโตเหมือนหนังตำรวจทั่วไป อย่างไรก็ตามจะมีฉากที่เป็นที่กล่าวขวัญตลอดกาลอยู่ฉากหนึ่ง และจะมีตอนจบซึ่งเกินความคาดหมายคนดูในยุคนั้น  

เกิดเหตุจลาจลในวันขายแผ่นอาหารสีเขียวซอยเลนท์กรีน เมื่อตำรวจควบคุมฝูงชนไม่ได้แล้ว รถตักดินหลายคันจึงดาหน้าเข้ามาตักคนใส่กระบะลำเลียงออกไปทีละคันๆ เป็นฉากที่น่าสลดระคนน่าประทับใจ หนังเรื่องนี้จะมีรถหลายชนิดถูกใช้งานในลักษณะที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ รถขยะเป็นรถที่ใช้ขนศพคนตายซึ่งมีอยู่เกลื่อนเมืองออกนอกเมืองไปเป็นประจำทุกคืนๆ

ชายชราโซโลมอน ร็อธ ‘บุ๊ก’ ช่วยธอร์นสืบค้นจนได้เงื่อนงำ จึงนำหลักฐานที่ได้ไปปรึกษา ‘บุ๊ก’ อีกหลายคนที่ทำงานค้นคว้าอยู่ที่หอสมุด เมื่อพวกเขาไขปริศนาฆาตกรรมได้ โซโลมอนก็ถึงกับพอแล้วต่อชีวิตที่เหลืออยู่

เขาทิ้งจดหมายและหลักฐานไว้ให้ธอร์น จากนั้นเดินตรงไปหน่วยบริการการุณยฆาต เลือกหนังที่ชอบดู  ดนตรีที่อยากฟัง แล้วก็เข้ารับบริการได้เลย ห้องพักอย่างดีสะอาดสะอ้าน พนักงานสุภาพ บริการดีเลิศ กระบวนการทั้งหมดจบใน 20 นาที เอ็ดเวิร์ด จี. โรบินสัน ถึงแก่กรรมในปีที่หนังออกฉาย

ศพที่ตายเกลื่อนเมืองไปไหน รถตักดินที่ลุยฝูงชนขนคนไปไหน คือตอนจบของหนัง ก็น่าจะพอเดาได้นะครับว่า ซอยเลนท์กรีนมาจากไหน

ปัญหาฝุ่นควันจากภาคอุตสาหกรรมไม่มีทางออก เพราะคนเราไม่หยุดบริโภคในลักษณะเดิม โควิด-19 ที่เงียบสงัด 3 ปี มิได้ให้บทเรียนแก่ประเทศไหนเลย วันนี้พวกเราบริโภคแหลกเหมือนเดิม ไร่ข้าวโพดที่ภาคเหนือตอนบนและเพื่อนบ้าน จำเป็นต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ มิเช่นนั้นพลโลกก็อาจจะมีอาหารไม่พอกิน แต่คนเราก็บริโภคทุกอย่างที่ขวางหน้าเกินความจำเป็นไปมาก ครั้นจะลดการบริโภคและลดการผลิตก็กระทบเศรษฐกิจรุนแรง จึงไม่มีใครถอยให้ใครได้ พวกเราก็จำเป็นต้องบริโภคกันไปเรื่อยๆ จนกว่าฝุ่นพิษเต็มท้องฟ้า

รถขยะและรถตักดินสตาร์ตเครื่องรอ

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า