[On this day] วันสุขภาพจิตโลก: WHO เผยโควิด-19 ส่งผลให้ภาวะเครียด วิตกกังวล และโรคซึมเศร้าพุ่ง 25%

วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ประกาศให้เป็น ‘วันสุขภาพจิตโลก’ ทว่าสุขภาพจิตของคนทั่วโลกกลับยังคงย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง 

เอกสาร ‘World Mental Health Day 2022: Make mental health & well-being for all a global priority’ ระบุว่า สภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดความเครียดทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างต่อเนื่อง จากการคำนวณพบว่า อัตราของภาวะวิตกกังวล (Anxiety) และโรคซึมเศร้า (Depressive Disorders) เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 25 ของอัตราปกติในปีแรกของการระบาด ทว่าระบบสาธารณสุขทั่วโลกกลับมีสภาวะชะงักงันมากขึ้น เนื่องมาจากสภาพปัญหาที่ทวีคูณจากหลายสาเหตุ

ปี 2564 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 1.5 ล้านคน ขณะที่ศูนย์สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต พบว่า จากอัตราเฉลี่ยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวน 100 คน จะมีผู้เข้าถึงการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้น และมีความพยายามฆ่าตัวตาย 6 คนต่อ 1 ชั่วโมง หรือมากกว่า 53,000 คนต่อปี ทำให้ปี 2565 นี้ยังต้องจับตาอีกมากว่าตัวเลขของผู้ป่วยจะมากน้อยกว่าปีก่อนหน้าเพียงใด

ปัจจุบันมีหลายแนวคิดที่พยายามอธิบายถึงสาเหตุการเพิ่มขึ้นของสภาวะสุขภาพจิตย่ำแย่ในปัจจุบัน แนวคิดหนึ่งมาจาก ศ.สรวิศ ชัยนาม ที่ระบุว่า สภาพสังคมมีส่วนทำให้ผู้คนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ได้ง่ายมากขึ้น ซึ่ง ‘สัจนิยมแบบทุน’ ทำให้ปัจเจกโทษตัวเองมากยิ่งขึ้น เมื่อประสบปัญหาก็จะต้องหาทางพัฒนาตัวเองมากขึ้น ในขณะที่สังคมแบบทุนนิยมจะบีบให้ทุกคนต้องพยายามอย่างไม่สิ้นสุด ไม่เพียงพอ และมองว่าบาดแผลที่แต่ละคนได้รับเป็นเพราะปัญหาส่วนบุคคล ปัญหาสุขภาพจิตจึงเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกัน นอกจากปัญหาที่เกิดจากสภาพสังคมเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว WHO ยังระบุไว้เช่นเดียวกันในบทความ ‘Reshaping work environments to promote and protect mental health’ ว่า สถานที่ทำงานก็สามารถเป็นโอกาสและเป็นฝันร้ายของการรับมือปัญหาสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน โดยการสนับสนุนและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงานถูกระบุว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการและรัฐบาล ทว่านโยบายเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยครั้งที่สุดเมื่อเทียบกับนโยบายอื่นๆ 

ด้วยเหตุนี้ WHO จึงลงความเห็นว่า องค์กรที่มีความยืดหยุ่นเรื่องเวลาทำงาน สามารถรักษาความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (Work-life Balance) รวมไปถึงมีการจัดอบรมผู้บริหารให้มีทักษะและความรู้ในการสนับสนุนสภาวะสุขภาพจิตที่ดีต่อลูกจ้าง ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการรับมือกับสภาวะสุขภาพจิตย่ำแย่ของคนในสังคมทั่วโลก

วันสุขภาพจิตโลกปี 2022 นี้ จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญสำหรับการทบทวนนโยบายการรับมือปัญหาของภาครัฐและองค์กรเอกชน เพื่อร่วมกันเยียวยาปัญหาที่ย่ำแย่ลงทั้งจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 และพิษเศรษฐกิจ รวมถึงลดอัตราความสูญเสียที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า