นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์: 20 คำถามเติมพลังบวก ก่อนจะบวกกัน

หลังจากถูกบั่นทอนสุขภาพจิตทุกวันอย่างต่อเนื่องด้วยการรับฟังการแถลงประจำวันของ ศบค. กองบรรณาธิการ WAY รวบรวมคำถามเกี่ยวกับสุขภาพจิตในระดับผู้คนไปจนถึงสังคมส่งไปยัง นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน นอกจากความเชี่ยวชาญด้านจิตเวชแล้ว นพ.ประเสริฐ ยังเป็นนักเขียนและคอลัมนิสต์ในคอลัมน์ ‘จากฟรอยด์ถึง EF และทักษะศตวรรษที่ 21’

และต่อจากนี้คือ 20 คำถามจากกองบรรณาธิการ WAY และคำตอบของ นพ.ประเสริฐ ว่าด้วยความหวัง ความเศร้า ความโกรธ ในห้วงของการระบาด

1. ระบบสาธารณสุขประเทศไทยมีมาตรฐานสูงติดอันดับต้นๆ ของโลกจริงหรือไม่ ถ้าจริงอะไรเป็นตัวแปรหรือองค์ประกอบ

ถ้าพูดถึงระบบ…จริง ตัวแปรสำคัญคือโครงสร้างที่ดีและแข็งแรง 2 โครงสร้าง หนึ่ง คือการกระจายของสถานีอนามัย ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สอง คือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โครงสร้างที่แข็งแรงทั้งสองเป็นเรื่องที่หลายคนมองข้าม ที่จริงแล้วมันช่วยให้แพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลทำงานตามมาตรฐานการรักษาได้ง่ายขึ้น แม้ว่าการกระจายแพทย์จะยังไม่ดีนักและพยาบาลจะขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง แต่งานหลายอย่างได้ถูกกันออกไปและจัดระเบียบด้วยโครงสร้างหลักสองเรื่องนี้ไปแล้ว

หากจะพูดเรื่ององค์ประกอบ การทำงานของแพทย์และพยาบาลถือว่าดี สมควรได้รับคำชมเชย ที่จริงแล้ววันนี้เราดีได้เพราะแพทย์และพยาบาล ทุกโรงพยาบาลจะมีแพทย์และพยาบาลจำนวนหนึ่งที่ทำงานอยู่ตลอดเวลาโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยเสมอมา ไม่ว่าสภาพแวดล้อมการทำงานจะย่ำแย่เพียงใด เราจะพบว่ามีบุคลากรจำนวนหนึ่ง รวมทั้งบุคลากรระดับถัดมาที่สละชีวิตครอบครัวทำงานอยู่ในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องเสมอไม่ว่าโลกภายนอกจะเกิดอะไรขึ้น วัฒนธรรมนี้มีมาก่อนสถานการณ์โควิดและยังคงเป็นอยู่

2. ประชาชนควรได้รับอะไรบ้างจากการสื่อสารของ ศบค. ในแต่ละครั้ง

ข้อมูลที่เป็นจริง และถ้าสภาพสังคมมีบรรยากาศของการไม่เชื่อข้อมูลที่แถลงก็ควรยอมรับแล้วจัดการความไม่เชื่อนั้นด้วยการพิสูจน์ตัวเอง และพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของ ศบค. เอง ความข้อนี้เป็นไปตามหลักการปรับตัวต่อความเครียด คนเราไม่สามารถปรับตัวต่อความเครียดได้ถ้าไม่รู้ว่าตนเองกำลังเผชิญกับอะไร

ผมพูดเสมอว่าพ่อแม่ต้องพูดความจริงกับลูก แล้วจะพบว่าลูกปรับตัวได้ เรื่องอาจจะน่าหวั่นไหวหรือเจ็บปวดในวันแรกแต่มนุษย์มีศักยภาพพัฒนาตนเองแล้วปรับตัวได้เสมอ รัฐก็เช่นกัน

3. การให้เลือกระหว่างสุขภาพกับเสรีภาพ ใช่โจทย์ที่ถูกต้องหรือไม่

ไม่ถูกตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ให้เลือกระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจยิ่งไม่ถูกเข้าไปใหญ่ เราเลือกทั้งสองอย่างเสมอแล้วรักษาสมดุล เรื่องนี้ก็เป็นหลักการพื้นฐานทางการแพทย์อยู่ก่อนแล้ว ผมยกสองตัวอย่าง ตัวอย่างแรกเรื่ององค์รวม การแพทย์เรารักษาคนมิใช่รักษาโรค แพทย์ทุกคนพบปัญหาว่าจะรักษาโรคให้หายแล้วครอบครัวผู้ป่วยกู้หนี้ยืมสินมารักษา หมดตัว ล้มละลาย หรือจะรักษาให้เขามีความสุขกับโรคที่เป็นอย่างสมดุล ถ้าเรารักษาโรคเรามีทั้งแพ้และชนะ ถ้าเรารักษาคนเราชนะทุกรอบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะทำได้เมื่อเราต้องรู้ว่ามาตรฐานระดับสูงของการรักษาอยู่ที่ตรงไหนด้วย

ตัวอย่างคลาสสิกคือเรื่องมะเร็งระยะสุดท้าย เราจะทำแค่ไหน ตัวอย่างที่สองคือเรื่องจริยธรรม จริยธรรมเป็นการรักษาสมดุลระหว่างประโยชน์ผู้ป่วย โทษที่จะเกิดกับผู้ป่วย สิทธิผู้ป่วย และความเท่าเทียม ทั้งสี่ข้อล้วนสำคัญแม้ว่าเราจะต้อง First do no Harm กฎข้อแรกไม่ทำร้ายผู้ป่วยเสมอก็ตาม

ตัวอย่างคลาสสิกได้แก่การรักษาผู้ป่วยด้วยยาอันตรายหรือวิธีผ่าตัดอันตราย ถ้าเราไม่ทำผู้ป่วยตายแน่นอน ถ้าเราทำผู้ป่วยมีโอกาสรอด แต่วิชาชีพเอาตัวเองเข้าเสี่ยง ในกรณีเช่นนี้เราได้ให้โอกาสผู้ป่วยเลือกมากน้อยเพียงใด และเราธำรงจริยธรรมที่จะทำเหมือนกันกับผู้ป่วยทุกสถานะและชาติพันธุ์มากน้อยเพียงใด สถานการณ์โควิดพิสูจน์เรื่องนี้ได้ดี อายุรแพทย์และพยาบาลอายุรกรรมกำลังทำงานภายใต้ความเสี่ยงสูงก็เพราะสมดุลของจริยธรรม การตัดสินใจเรื่องจริยธรรมนี้ตั้งอยู่บนความรู้มาตรฐานการรักษาระดับสูงด้วยว่า เราเองมีความสามารถระดับใดเมื่อเทียบกับมาตรฐาน

คำว่าเสรีภาพมิได้ลอยอยู่อย่างเลื่อนลอย แต่เราต้องรู้ว่ามาตรฐานการจัดการโรคระบาดคืออะไร เพราะความรู้หรือมาตรฐานที่ไม่เท่ากันนี้เอง เราจึงพบความแตกต่างของวิธีจัดการเมื่อเปรียบเทียบระหว่างจีน ยุโรป สแกนดิเนเวีย เอเชียส่วนอื่น และไทย ซึ่งส่งผลต่อเสรีภาพของผู้คนที่แตกต่างกัน เสรีภาพที่พูดถึงมิได้หมายความแค่เรื่องเสรีภาพทางภูมิศาสตร์ แต่หมายรวมถึงเสรีภาพในการพูดด้วย คนอังกฤษด่ารัฐบาลทุกวันและรัฐบาลก็พยายามปรับปรุงการทำงานทุกวัน

4. สถานการณ์แบบนี้ เราควรเรียกร้องอะไรจากรัฐบาลได้บ้าง จึงจะไม่ถือว่าเรียกร้องมากเกินไป

เรียกร้องให้อธิบายแผนปฏิบัติการที่ใช้อยู่ให้ประชาชนฟังแล้วเข้าใจ เช่น ระหว่างการกักกันอย่างเข้มงวดแล้วนำไปสู่จำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่มาก เปรียบเทียบกับการกักกันในระดับพอที่แพทย์และพยาบาลจะรับมือได้ในแต่ละช่วงเวลา แล้วให้การติดเชื้อค่อยๆ แพร่กระจายไปจนกว่าจะเกิดภูมิต้านทานหมู่ ประเทศของเราเลือกวิธีไหน เพราะอะไร ประโยชน์ระยะสั้นและประโยชน์ระยะยาวต่างกันอย่างไร ที่สำคัญคือเรากำลังใช้กลไกอะไรตัดสินใจ เช่น คณะรัฐมนตรี หรือสภาผู้แทนราษฎร หรือองค์กรแพทย์ เรามีกลไกที่ควรใช้แต่ไม่ใช้หรือไม่

5. ในเชิงจิตวิทยา การสื่อสารของผู้นำท่ามกลางวิกฤติ มีผลต่อภาวะจิตใจเราอย่างไร

มีมาก หลักการเรื่องนี้คือประชาชนมีความจำเป็นต้องรู้สถานการณ์ตามที่เป็นจริง และแผนปฏิบัติการที่รัฐกำลังทำ เพราะการรู้นำไปสู่การปรับตัวที่เหมาะสม เรารู้แผน รู้อนาคต เราก็จะไม่ทำอะไรผลีผลามในวันนี้ เช่น ฆ่าตัวตาย หรือก่อจลาจล แต่ถ้าอนาคตไม่มีจะเป็นเรื่องน่าห่วงมาก การไม่รู้นำไปสู่การปรับตัวที่ผิดพลาดแล้วซ้ำเติมสังคมทั้งหมดอีกต่อหนึ่ง ใครควรเป็นคนพูดเรื่องสถานการณ์และแผนปฏิบัติการ คำตอบคือผู้นำที่มีความสามารถและน่าเชื่อถือ

6. มีข้อแนะนำสำหรับบุคลากรทางการสาธารณสุขที่ทำงานอยู่ในแนวหน้าอย่างไรบ้าง

ป้องกันตนเองและครอบครัวดีที่สุดครับ คือหลักการ safety first เราไม่อยากให้ท่านติดเชื้อหรือเสียชีวิต คำสรรเสริญที่ได้เป็นเรื่องชั่วคราวไม่คุ้มกับความโศกเศร้าของบุคคลที่รัก จะอย่างไรการติดเชื้อก็จะแพร่กระจายจนกระทั่งประชากรประมาณร้อยละ 50-60 ติดเชื้อเรื่องจึงจะสงบ ท่านยังต้องทำงานอีกนานมากและความรู้ความสามารถของท่านจะเป็นที่ต้องการในระยะยาว ดังนั้นดูแลตัวเองดีๆ ครับ

นี่มิใช่สงคราม เราไม่ควรใช้วาทกรรมสงครามตั้งแต่แรก ท่านมิใช่นักรบที่ต้องพลีชีพ ท่านเป็นแพทย์และพยาบาล รวมทั้งบุคลากรทุกระดับ ทั้งเวรเปลและ รปภ. โรงพยาบาล โครงสร้างงานของทั้งโรงพยาบาลคือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เราทำงานนี้ได้นาน

7. อะไรคือสิ่งที่ ศบค. ควรสื่อสารกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น แรงงานนอกระบบ แรงงานรับจ้าง แม่บ้าน เกษตรกร คนชรา

เรามีความรู้อยู่แล้ว 2 ข้อ ข้อแรกคือคนไทยมีจำนวนคนยากจนมาก ประชาชนที่มีรายได้รายวันมีเท่าไร รายเดือนมีเท่าไร ก่อหนี้อยู่มีเท่าไร ความข้อนี้ไม่มีใครไม่รู้ ตัวเลขก็มี ดังนั้นรัฐบาลและ ศบค. ควรรู้อยู่แล้ว ข้อสองคือคนเหล่านี้จะไม่มีเงินใช้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังตกงาน ทั้งที่ขาดเงินสดเข้าบ้านทันทีไปจนถึงจำเป็นต้องใช้เงินสดเพื่อการอื่นก่อนจนกระทั่งขาดเงินซื้ออาหาร พนักงานออฟฟิศถูกหักเงินเดือนร้อยละ 50 สามารถหมดตัวได้ในครึ่งเดือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ คนเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อย ที่จริงแล้วมีมากกว่ามาก เราไม่ค่อยรู้สึกเพราะในสภาพปกติโครงสร้างสังคมยังดีอยู่ เราจึงไม่รู้ว่าพนักงานร้านอาหาร 1 คนค้ำจุนระบบเศรษฐกิจไว้อย่างไร วันนี้พนักงานร้านอาหารไม่มีงานทำนับแสนหรือนับล้าน จะอย่างไรเศรษฐกิจระดับมหภาคก็กระทบกระเทือนแน่ รัฐมีหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนโดยตรงเป็นรายบุคคล และสื่อสารกับประชาชนที่สายป่านยังยาวแต่จะเดือดร้อนในไม่กี่เดือนนับจากนี้ว่าเราควรทำอย่างไร

8. ปัญหาสุขภาพจิตของชนชั้นกลางแตกต่างจากปัญหาสุขภาพจิตของคนข้างล่างไหมครับ ถ้าเรามีสมมุติฐานว่า ปัญหาสุขภาพจิตของชนชั้นกลางเป็นเรื่องกิจกรรม ปัญหาสุขภาพจิตของคนข้างล่างคือเรื่องรายได้

แตกต่างแน่อยู่แล้ว ปัจจัยสำคัญที่ค้ำจุนสุขภาพจิตคือปัจจัยสี่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค อาหารเป็นข้อแรก ไม่มีอาหาร ไม่เพียงสุขภาพกายเสียหาย สุขภาพจิตเสียหายด้วย ทั้งนี้ยังไม่นับถึงปัจจัยอื่น เช่น ความยากจน และสิ่งแวดล้อม การไม่มีเงินเป็นทุกข์อย่างยิ่งสำหรับคนไทยเพราะเราแทบไม่มีสวัสดิการรัฐด้านอื่นคอยค้ำจุนเท่าไรนัก เรามีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างเดียวที่ฟรี นอกจากนี้เป็นเงินเป็นทองทั้งหมด สิ่งแวดล้อมก็ขึ้นกับเงิน เช่น คนจนไม่มีแอร์ ไม่มีตู้เย็น ไม่มีเครื่องฟอกอากาศ ในขณะที่ชนชั้นกลางมีแอร์ มีตู้เย็น มีเครื่องฟอกอากาศ แต่คนชั้นกลางก็มีหลายระดับ ระดับไม่มีเงินจ่ายค่าไฟกับมีเงินจ่ายค่าไฟ แล้วก็ระดับมีเงินซื้อเครื่องฟอกอากาศตัวเล็กกับซื้อเครื่องฟอกอากาศตัวใหญ่ อากาศดี ไม่ร้อน มีน้ำเย็นกิน มีอาหารแช่แข็งรอในตู้เย็น ชีวิตดีกว่านอนในฝุ่น อากาศร้อน และไม่มีตู้เย็นแช่ของกิน ใช่ไหมครับ เงินเป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพจิตมาก กิจกรรมยามถูกกักกันสำคัญแต่เป็นรองเรื่องเงินมาก เปรียบเทียบกันมิได้เลย

9. ตอนนี้สังคมโดยรวมมีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ มีข่าวฆ่าตัวตาย แม่ไม่มีเงินซื้อนมผงให้ลูกจึงฆ่าตัวตาย ในห้วงเวลาเช่นนี้คุณหมอคิดว่า สังคมควรจะดูแลสุขภาพจิตของกันและกันอย่างไร

เมตตา คำศัพท์ทางจิตเวชศาสตร์มี 2 คำ คำแรกคือ empathy รับรู้ความทุกข์ของคนอื่น สังคมควรมีความสามารถนี้ให้มาก การรับรู้เท่ากับการแชริ่งในความหมายว่าแบ่งเบา แบ่งเบาความทุกข์ของเพื่อนร่วมสังคม อีกคำหนึ่งคือคำว่า psychological minded เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของความเป็นแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเป็นจิตแพทย์และนักจิตวิทยา คือมีจิตใจที่อ่อนโยนมากพอจะสัมผัสจิตใจของผู้อื่น เทคโนแครตมักไม่มี psychological minded เพราะใช้ความรู้ในการทำงานจนเพลิน จนกระทั่งหลงลืมไปว่าตนเองเคยมีหัวใจมาก่อน

10. ในทางจิตเวช ความโกรธกับความโศกเศร้า อะไรเป็นอันตราย ทำร้ายเราได้มากกว่ากัน

ตอบตรงคำถามคือความโศกเศร้า ความโศกเศร้าทำให้คนเราหมดแรงและหมดใจ เฉื่อยชาและตั้งรับ ความโกรธมีข้อดีคือช่วยให้เราไม่ยอมแพ้ มีไฟ และตื่นตัวอยู่เสมอ คำถามมีแค่ว่า เราจะแปรความโกรธเป็นปัญญาได้อย่างไรเท่านั้นเอง

11. การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายในช่วงนี้ อาจเป็น Trigger แก่คนที่มีแนวโน้มหรือไม่ แล้วเราควรวางกรอบอย่างไร

จากงานวิจัยนั้นมีผล ข่าวการฆ่าตัวตายโดยเฉพาะของนักแสดงหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมีผลต่ออุบัติการณ์ฆ่าตัวตายในเดือนถัดมา อย่างไรก็ตามมีข้อแตกต่างที่เราไม่ควรมองข้าม การตายของ มาริลิน มอนโร นั้นเกิดขึ้นแล้วและหวนคืนมิได้ ดังนั้นถ้าเราทำได้เราควรป้องกันมิให้ข่าวนี้ส่งผลกระทบต่อสังคมมากจนเกินไป แต่ในบางกรณีการฆ่าตัวตายอาจจะมีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ เหตุการณ์นั้นยังไม่จบสิ้น เช่น สงครามเวียดนาม หรือ สงครามอ่าว เป็นต้น เช่นนี้การเสนอข่าวมีความสำคัญในแง่สามารถยับยั้งหรือปรับปรุงนโยบายที่ผิดพลาดได้บ้าง

สถานการณ์วันนี้ก็เช่นเดียวกัน การฆ่าตัวตายอาจจะมีความสัมพันธ์กับนโยบายที่กำลังดำเนินอยู่แม้ว่าจะมิใช่สาเหตุโดยตรง เราบอกว่าโรคซึมเศร้าหรือพฤติกรรมฆ่าตัวตายถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่พันธุกรรมมิได้อยู่โดดๆ และพันธุกรรมมิใช่ฟ้าลิขิต เป็นสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้พันธุกรรมทำงาน เราจัดการพันธุกรรมไม่ได้ แต่เราจัดการสิ่งแวดล้อมได้เสมอ ความรู้ทางจิตเวชศาสตร์มีเขียนอยู่แล้ว

12. เราทุกคนล้วนติดโควิด – หมายถึง แม้เราไม่ใช่ผู้ติดเชื้อโดยตรง แต่การอยู่กับภาวะโรคระบาดที่ยาวนานเช่นนี้ ทำให้ทุกคนเกิดความเครียดได้เช่นกัน เราจะมีวิธีดูแลสุขภาพจิตใจของตัวเองอย่างไร

ควบคุมชีวิตตนเองให้ได้คือคำตอบครับ ถ้าไม่มีหน้ากาก ต้องมีให้ได้ ถ้าไม่มีแอลกอฮอล์ต้องหาให้ได้ ถ้าไม่มีข้าวต้องหามากินให้ได้แม้จะต้องไปยืนเข้าแถวก็ตาม ถ้าไม่มีเงินต้องวางแผนใช้เงินที่เหลือให้ได้ ถ้าเงินเหลือศูนย์ต้องมองหาความช่วยเหลือให้พบ หากหาความช่วยเหลือจากรัฐมิได้ต้องหาจากแหล่งอื่น ถ้าบ้านวุ่นวายมากต้องจัดระเบียบให้ได้ เช่น พ่อทำอะไร กี่โมง แม่ทำอะไร กี่โมง ลูกทำอะไร กี่โมง ถ้าต้องเรียนออนไลน์ต้องหาจอและอุปกรณ์เสริมให้ได้ บ้านนั้นจอ 43 นิ้ว บ้านเราจอ 3 นิ้ว เราต้องสู้มัน ถ้าเรียนออนไลน์แล้วลูกอาการหนักจนกระทั่งเราจัดการไม่ได้ อาจจะต้องพิจารณาหยุดเรียนออนไลน์เพื่อควบคุมชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ถ้าไม่มีเน็ตฟลิกซ์แล้วหงุดหงิดมากต้องหามาให้ได้ ถ้าการดูพอร์นฮับเป็นเรื่องจำเป็นก็ต้องดู เป็นต้น

พอจะนึกภาพออกไหมครับ ปัจจัยของชีวิตมีทั้งเรื่องที่จำเป็นและเรื่องที่ไม่จำเป็น ขึ้นอยู่กับแต่ละคนแต่ละบ้าน ถ้ามันจำเป็นก็หามา เช่น เงิน อย่าเสียเวลาพิรี้พิไร ถ้ามันไม่จำเป็นให้ตัดออกไป อย่าปล่อยให้มันรบกวนเรา เช่น เรียนหนังสือออนไลน์ เป็นต้น

13. หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เราจะเห็นปรากฏการณ์ New Normal มากขึ้นในมิติต่างๆ ของชีวิต เราจะเริ่มทำความรู้จักกับโลกใหม่ใบเดิมอย่างไร

คนส่วนใหญ่รู้จักแล้ว แม้แต่ชนชั้นแรงงาน แรงงานข้ามชาติ หรือชาติพันธุ์ก็รู้แล้ว พวกเขารู้จักใส่หน้ากาก รู้จักยืนเข้าแถว รู้จักไม่เข้าใกล้คน และรู้จักไม่ไอในที่สาธารณะ จากวันแรกๆ ที่ไม่รู้อะไรเลยวันนี้ต่างกันมาก อย่างไรก็ตามต้องทำอะไร นานเท่าไร จะอย่างไรก็ขึ้นกับความรู้ที่เป็นจริง แต่ความรู้มิได้ลอยมาให้ใครเชื่ออย่างโดดๆ มันต้องมากับบุคคลหรือองค์กรที่เชื่อถือได้ด้วย ปัญหาคือวันนี้เราไม่มีคนอย่างว่าหรือองค์กรอย่างว่า นี่จึงเป็นปัญหาที่แท้ของ new normal

14. สำหรับครอบครัว (ซึ่งอาจจะเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว / แม่เลี้ยงเดี่ยว / LGBT) ที่ต้อง Work from Home อยู่กับลูกก็ต้อง Play from Home ไหนจะต้องคอยดูลูกเรียนตามตาราง Learn from Home อีก คุณหมอมีคำแนะนำไหม ว่าจะทำอย่างไรดี

เพราะมันคือโลกใหม่ เราจึงมีโอกาสที่จะทำอะไรใหม่ๆ ได้เสมอ ไม่มีใครรู้จริงในสถานการณ์แบบนี้ ดังนั้นเป็นตัวของตัวเองให้มาก ไม่ตั้งรับสถานเดียว ลุกขึ้นควบคุมชีวิตตนเองให้ได้คือเรื่องสำคัญ จะ WFH มากเพียงใด ด้วยวิธีไหน เพื่อให้ได้ output/outcome เท่าไร เรามีหน้าที่พิสูจน์ตัวให้นายจ้างหรือองค์กรเห็น ด้วยวิธีการของเรา เรื่องการเล่นและการเรียนก็สำคัญ โลกใหม่มาแล้ว ดิสรัปชั่นการศึกษาเกิดขึ้นชั่วข้ามคืนในเดือนมีนาคม ปี 2020 เราฉีกกฎกระทรวงศึกษาธิการล้าหลังได้เลยถ้าจำเป็นต้องทำ แต่ควรหาความรู้สักนิดก่อนที่จะทำเช่นกัน ด้วยวิธีของเราและเราเป็นฝ่ายควบคุมชีวิตของเราและลูกของเรา อะไรที่ไม่มีประโยชน์ต่อลูกของเราให้เอาออกจากบ้านไปไม่ต้องกลัว โลกที่ลูกเราจะต้องอยู่ในวันหน้าไม่เหมือนวันนี้แน่นอน ตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิดแล้ว ถึงวันนี้แน่เสียยิ่งกว่าแน่ว่าการศึกษาไทยตายแล้วและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

15. ในทางจิตเวช การอยู่และใช้ชีวิตในภาวะโรคระบาดนานๆ โดยที่ยังไม่มียาหรือวัคซีนอันใกล้ อยากทราบว่าจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง

อยู่ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ ย่อมไม่ดี เช่น หวังว่าจะมีวัคซีน เป็นต้น วัคซีนจะมาเมื่อไรไม่มีใครทราบ ต่อให้เร่งกระบวนการเร็วเท่าไรก็ไม่เร็วแบบในหนัง Contagion หรือ Outbreak แน่ อย่างน้อยก็หนึ่งถึงหนึ่งปีครึ่ง ทั้งนี้ยังไม่นับว่ารัฐบาลของเรามีความสามารถเจรจาระดับประเทศมากเพียงใด เพื่อให้ได้วัคซีนพอสำหรับคนทุกคน และด้วยความเร็วเท่าไร เรามิได้มีศักยภาพเท่าจีน ความหลงดีใจกับตัวเลขวันนี้เป็นเรื่องน่ากังวลเพราะเราจะพบปัญหาระยะยาวมากกว่าที่อื่น ดังนั้นควรเตรียมตัวอยู่ยาวด้วยหลักการควบคุมชีวิตตัวเองมากที่สุดและดีที่สุด หน้ากาก แอลกอฮอล์ อาหาร น้ำ อากาศ ปัจจัย 5 อย่างนี้ควรคำนึงถึงตลอดเวลา ถ้าเราควบคุมชีวิตตนเองมิได้ ต้องเป็นฝ่ายตั้งรับตลอดเวลาเราจะเครียดเรื้อรัง

16. หนังสือฮาวทูหรือไลฟ์โค้ชต่างๆ มักให้คำแนะนำว่า “ให้กลับมาแก้ที่ตัวเอง” อาจจะเป็นการปรับจิตใจ หรือวิธีคิด อยากถามคุณหมอว่าเอาเข้าจริงแล้ว กับสถานการณ์แบบนี้ การแก้ที่ตัวเอง มันคือวิธีแก้ที่ถูกทางหรือไม่ หรือเป็นทางแก้ที่ดีที่สุดแล้วท่ามกลางความสิ้นหวัง

ผมเป็นคนไม่เคยใช้คำว่าปล่อยวางเลย ในทางตรงข้ามผมพูดและเขียนเรื่องสู้เสมอ ถ้าสู้ไม่ได้ให้วิ่งหนีให้ทัน คือ fight & flight เป็นหลักการพื้นฐานของชีวิต ในทำนองเดียวกันผมพูดและเขียนเรื่องการควบคุมชีวิตเสมอ การควบคุมชีวิตภายในมิใช่ของง่าย ใจกำลังเดือด สติกำลังแตก จิตวิญญาณกำลังสิ้นสุด เราควบคุมมิได้ง่ายๆ หากมิได้รับการฝึกมาตั้งแต่แรก แต่ที่เราควรควบคุมได้คือควบคุมสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปดั่งใจเราระดับหนึ่ง อย่ายินยอมให้สิ่งแวดล้อมควบคุมเราได้มากเกินไป

เป็นความจริงว่าสิ่งแวดล้อมแต่ละคนหฤโหดต่างๆ กัน กลับไปที่ตัวอย่างนักโทษในเรือนจำ สถานที่จำกัดก็ต้องพลิกตนเองขึ้นมาคุมสิ่งแวดล้อมที่จำกัด พูดถึงการแก้ตัวเอง การแก้ตัวเองที่ง่ายคือการทำเพื่อคนอื่น เพียงคนเรารู้จักลงมือทำเพื่อคนอื่นเราจะลืมตัวเองชั่วขณะ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง พูดง่ายๆ คือทาน และถ้าเราจะอ้างทฤษฎี ทานมาก่อนศีลและภาวนา ถ้าเราภาวนาก่อนจะมีปัญหามากนะครับ

17. เมื่อผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้จริงๆ เราควรหันกลับมามองมันอย่างไร คำเชยๆ อย่างพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ยังคงใช้ได้กับสถานการณ์แบบนี้หรือไม่

พลิกวิกฤติเป็นโอกาสเป็นคำที่ดี อยู่ที่ใครใช้ใครพูดเพื่อประโยชน์ของใครเสียมากกว่า วิกฤติวันนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะเปลี่ยนแปลงการศึกษาและการสาธารณสุข มากกว่านี้คือการเมืองการปกครอง การศึกษาแบบเดิมควรยกเลิก การสาธารณสุขควรเพิ่มความเข้มแข็งของประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประกันสังคม วันนี้ถ้าเราไม่มีสองอย่างนี้เราจะลำบากมากกว่านี้มาก การเมืองการปกครองเราควรได้บทเรียนว่ารัฐรวมศูนย์ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการคืนอำนาจการจัดการให้ส่วนท้องถิ่น และสุดท้ายคือรัฐสวัสดิการที่จะเป็นร่างแหความปลอดภัยแก่ประชาชนทุกคน มีคนเข้าใจผิดกันมากว่ารัฐสวัสดิการทำได้เมื่อรวยซึ่งไม่จริง เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องเริ่มแล้วค่อยๆ ทำเหมือนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประกันสังคม แต่ว่าที่จริงประเทศของเราไม่ใช่ไม่มีเงิน เงินอยู่ที่ไหนเสียมากกว่า

18. การพยายามใคร่ครวญหรือหาแง่งามในการระบาดครั้งนี้ จะถูกจัดว่าเป็นพวกโลกสวยหรือไม่

ใช่

19. ในช่วงการระบาด ผมใช้เวลานั่งดูหนังใน Netflix หนังส่วนใหญ่ที่เลือกดู จะเป็นแนวภัยพิบัติ โรคระบาด เช่น Train to Busan ผมวิเคราะห์ตัวเองว่าทำไมจึงเลือกดูแต่หนังแนวนี้ในช่วงการระบาด เป็นไปได้ไหมครับว่า ในหนังตัวละครสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ในชีวิตจริงเราทำแบบนั้นไม่ได้ ยิ่งโดยเฉพาะในประเทศที่ผมอาศัยอยู่

ถูกต้อง หนังที่ควรดูในช่วงนี้คือหนังซอมบี้ ส่วนหนังที่ไม่ควรดูคือหนังโรคระบาด หนังแบบหลังชวนให้เศร้าง่ายโดยเฉพาะถ้ามีบุคคลที่รักกำลังทำงานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเมื่อเรากำลังหดหู่อยู่ก่อนแล้ว เช่น Contagion หรือ Outbreak เป็นต้น ในขณะที่หนังซอมบี้แทบทุกเรื่องเป็นแฟนตาซีมากพอที่เราจะได้ระบายความเครียดได้มากกว่า ด้วยการฆ่ามันให้หมดแล้วเราก็มักจะฆ่าได้เกือบหมดจริงๆ ด้วย ประเด็นของหนังกลุ่มนี้คือเรามิได้เป็นฝ่ายตั้งรับสถานเดียว เราเป็นฝ่ายรุก คำสำคัญคือคำว่า control life ควบคุมชีวิต ชีวิตที่ควบคุมมิได้เป็นชีวิตที่เครียดและหดหู่ นักโทษการเมืองที่รอดออกมาจากเรือนจำได้เพราะเขาค้นหาวิธีควบคุมชีวิตภายใต้ข้อจำกัดได้ พวกเราก็เช่นกัน แม้ว่าจะถูกกักกันในบ้านตัวเองก็ต้องค้นหาวิธีควบคุมชีวิตตนเองให้ได้อีกครั้งหนึ่ง หากยังทำได้ไม่ดีในชีวิตจริงก็ทำในหนังซอมบี้ไปพลางๆ

20. มีภาพยนตร์ หรือหนังสือเล่มไหน ที่คุณหมออยากแนะนำให้ดูหรืออ่านในช่วงนี้บ้าง

Why the Nations Fail ของ ดารอน อาเซโมกลู, เจมส์ เอ. โรบินสัน  (Daron Acemoglu, James A. Robinson)

Collapse: How Societies Choose to Fail or Succeed ของ จาเร็ด ไดมอนด์ (Jared Diamond)

Moments of Silence ของ ธงชัย วินิจจะกูล

The Stand ของ สตีเฟน คิง (Stephen King)

หนังหรือครับ Star Wars และ The Lord of the Rings ลองดูตั้งแต่ต้นจนจบจะได้เข้าใจประเทศชาติ

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า