จากหอพักแรงงานข้ามชาติ สลัม เรือนจำ และก่อนโควิด-19 จะถึงคนไร้บ้าน

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เมื่อกรมราชทัณฑ์ออกมายอมรับว่า ภายในทัณฑสถานหญิงกลางและเรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมกันถึง 2,835 คน (วันที่ 13 พฤษภาคม 2564) ก่อนหน้านี้ก็มีรายงานตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วว่า ผู้ต้องหาคดีการเมืองทยอยการติดเชื้อโควิด ตั้งแต่ทนายอานนท์ นำภา, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่เพิ่งได้รับการประกันตัว ก็ติดเชื้อออกมาจากเรือนจำ และล่าสุดมีการยืนยันว่า ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก ก็ติดเชื้อเช่นกัน

ผมยกเรื่องนี้มาเปิดเรื่อง ไม่ใช่จะเปลี่ยนคอลัมน์ ‘บ้านเรือนก็สิทธิของเรา’ ที่หายไปนาน 🙂 มาเป็นประเด็นการเมืองหรอกครับ แต่เพื่อชี้ให้เห็นว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา เป็นการแพร่ระบาดไปสู่พื้นที่อยู่อาศัยของคนชายขอบ ไม่ใช่แค่สนามมวย สถานบันเทิง หรือสนามชนไก่เหมือนปีที่แล้ว ซึ่งคนที่ได้รับเชื้อคือคนที่ต้องพาตัวเองไปสถานที่เหล่านั้น

แต่การติดเชื้อโควิด-19 ระลอกนี้ลุกลามไปถึงหอพักแรงงานข้ามชาติ ย่านชุมชนแออัด และเรือนจำ เป็นการได้รับเชื้อในสถานที่ที่อยู่อาศัยประจำซึ่งไม่อาจหลบเลี่ยงหนีไปที่อื่นได้ 

ดังนั้น ผมจะขอพูดถึงพื้นที่อยู่อาศัยของคนชายขอบที่เสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อน 4 พื้นที่

หอพักแรงงานข้ามชาติ

พื้นที่แรกคือ ที่อยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ที่ประเทศสิงคโปร์ ในระยะแรกของการระบาดเมื่อต้นปี 2563 สิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งที่จัดการควบคุมการแพร่กระจายได้ดี แต่แล้วก็เกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 ช่วงกลางเดือนเมษายน 2563 โดยมีแรงงานชาวบังคลาเทศตรวจพบอาการไข้ แต่แพทย์กลับไม่ให้เขารักษาตัวในโรงพยาบาล ปล่อยให้กลับไปยังหอพักซึ่งมีเพื่อนร่วมห้องถึง 10 คน ใช้ห้องน้ำร่วมกันและกินอาหารร่วมกัน จนเกิดการแพร่เชื้อกลุ่มใหญ่ในหมู่หอพักของแรงงานข้ามชาติ 

ต่อมา ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ได้ออกมากล่าวถึงกรณีนี้ว่า รัฐบาลตระหนักถึงคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของแรงข้ามชาติซึ่งมีส่วนสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับสิงคโปร์ เมื่อโควิด-19 ทำให้เห็นชีวิตของแรงงานข้ามชาติที่ถูกละเลย รัฐบาลสิงคโปร์จึงถือโอกาสนี้หันมาให้ความสำคัญด้านสวัสดิการของพวกเขามากขึ้น[1]

ในไทยเราก็พบการแพร่ระบาดในหมู่แรงงานข้ามชาติเช่นกัน นั่นคือ ในการระบาดระลอก 2 ที่สมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานชาวพม่าเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมประมง และอยู่กันอย่างแออัดในที่อยู่อาศัยที่ด้อยคุณภาพ เมื่อมีผู้ติดเชื้อคนแรกแล้วจึงสามารถแพร่ไปสู่คนอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้จนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 จังหวัดสมุทรสาครมีผู้ติดเชื้อสะสมรวมถึง 19,002 คน[2] เป็นอันดับ 2 รองก็เฉพาะกรุงเทพมหานคร

สลัม

พื้นที่ที่สองคือ ชุมชนแออัด ดังที่เกิดขึ้นแล้วในการระบาดระลอกนี้ที่ย่านชุมชนคลองเตยกลายเป็นข่าวใหญ่ จากการตรวจหาเชื้อในพื้นที่ชุมชนคลองเตย ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน ถึง 12 พฤษภาคม 2564 จากจำนวนผู้ที่ทราบผลแล้ว 21,450 คน พบผู้ติดเชื้อ 1,146 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.34[3] และยังมีชุมชนอื่นๆ อีก เช่น ที่ชุมชนริมคลองสามเสน ซึ่งมีผู้ติดเชื้อในชุมชน 41 คน แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจเชิงรุก จนชุมชนและเครือข่ายต้องออกมาเคลื่อนไหวทางสาธารณะในวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา

จะว่าไปแล้ว การระบาดในย่านชุมชนแออัด ไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย ประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนมาก อย่างบราซิลและอินเดีย ก็เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่า มีสัดส่วนประชากรเมืองที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดสูงกว่าคนที่อยู่อาศัยนอกชุมชนแออัด และสัดส่วนการติดเชื้อระหว่างประชากรในสลัม กับคนที่อยู่นอกสลัมก็สูงกว่ากัน เช่น การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของประชาชนในกรุงนิวเดลี 21,387 คน ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2563 พบสัดส่วนผู้ติดเชื้อร้อยละ 23.8 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงแล้ว แต่อัตราการติดเชื้อในชุมชนแออัดบางแห่งในมุมไบยังสูงกว่านั้นคือร้อยละ 60[4] ดังนั้นรายงานของธนาคารโลกจึงชี้ว่า สลัมเป็นจุดที่ต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาด เพราะผู้คนอยู่กันอย่างหนาแน่น ชุมชนแออัดในอินเดียผู้คนหลายครอบครัวยังต้องใช้ห้องน้ำร่วมก็มี

มากกว่านั้น งานสำรวจผลกระทบของโควิด-19 ต่อคนจนเมือง โดยคณะนักวิจัยที่มี ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เป็นหัวหน้าโครงการ และผมอยู่ในทีมด้วยนั้น ระหว่างวันที่ 9-12 เมษายน ปีที่แล้ว ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า หากสมาชิกในครอบครัวในชุมชนแออัด เป็นกลุ่มเสี่ยงและต้องกักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการนั้น มีเพียงร้อยละ 29.38 ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่ตอบว่า สามารถจัดสรรพื้นที่เพื่อการกักตัวได้ ส่วนอีกร้อยละ 26.43 ตอบว่า ไม่พร้อมเสียทีเดียว แต่พอจะดัดแปลงพื้นที่เพื่อการกักตัวได้ และอีกราวครึ่งหนึ่งไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ 

อย่างไรก็ดี ความสามารถในการกักตัวของคนจนเมืองยังเกี่ยวข้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจอีกด้วย คนที่ทำงานรายวัน ไม่มีเงินออม จำเป็นต้องหารายได้เลี้ยงตัว ไม่อาจกักตัวอยู่เฉยๆ ยิ่งคนที่มีภาระต้องจ่ายค่าเช่า ยิ่งต้องดิ้นรนหาเงินมาจ่ายค่าเช่า 

ในปีนี้ที่การแพร่ระบาดลงถึงระดับชุมชน สิ่งที่ผมเห็นในชุมชนหลายแห่งก็คือ เมื่อทราบว่าบ้านใดมีผู้ติดเชื้อ ก็จะหาทางติดต่อกับโรงพยาบาลในพื้นที่ ซึ่งโดยมากมีรถมารับไปอยู่โรงพยาบาลสนาม ส่วนคนในบ้านที่ยังตรวจไม่พบเชื้อและต้องกักตัวนั้น คนในชุมชนจะช่วยกันมอบข้าวสารอาหารแห้ง หรือส่งอาหารให้กับบ้านที่มีคนกักตัว เพื่อให้อย่างน้อยครอบครัวที่แม้จะขาดรายได้เพราะไม่ได้ออกไปทำงาน ยังพออยู่ได้ 

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติพบว่า ครอบครัวที่มีเด็กเล็กจะกักตัวได้ยากมากกว่า เพราะธรรมชาติของเด็กมักจะอยากเล่นกับเพื่อน ขณะเดียวกันที่อยู่ในชุมชนแออัดมีขนาดเล็ก บางห้องไม่มีหน้าต่าง ทำให้อากาศร้อนอบอ้าวในเวลากลางวัน การออกมานั่งหน้าห้อง จึงพบเห็นบ้าง

แม้การระบาดของโควิด-19 ในปีนี้จะลงถึงระดับชุมชน แต่รัฐบาลไม่ได้ประกาศล็อคดาวน์อย่างเป็นทางการ และไม่มีความช่วยเหลือเหมือนปีที่แล้วในโครงการ ‘คนไทยไม่ทิ้งกัน’ ที่ให้เงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ทำให้ภาคประชาชนต้องช่วยเหลือกันเอง และก็พบว่า ความช่วยเหลือมีน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้นความช่วยเหลือที่มีจำกัดนี้จึงถูกจัดสรรไปให้ผู้ที่เดือดร้อนโดยตรง คือครอบครัวที่มีคนติดเชื้อหรือต้องกักตัว ทำให้คนที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจแต่ไม่ติดเชื้อ ไม่ได้รับความช่วยเหลือ อย่างคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขาดรายได้ แม่บ้านที่ต้องหยุดงาน เป็นต้น 

เรือนจำ

พื้นที่ที่สามก็คือ ในเรือนจำ ดังที่กำลังเกิดขึ้นในทัณฑสถานหญิงกลางและเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในขณะนี้ ซึ่งไม่น่าประหลาดใจ เพราะในต่างประเทศก็เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว อย่างในสหรัฐอเมริกา พื้นที่ 8 ใน 10 แห่งที่เป็นกลุ่มคลัสเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดก็คือ เรือนจำ อัตราส่วนของประชากรในเรือนจำที่ติดเชื้อ สูงกว่าประชากรชาวอเมริกันทั่วไปถึง 5.5 เท่า กล่าวคือ ประชากรในเรือนจำ 100,000 คน พบผู้ติดเชื้อ 3,251 คน แต่ในประชากรทั่วไป 100,000 คน พบผู้ติดเชื้อ 587 คน[5]

ด้วยความเป็นห่วงว่า จะเกิดการแพร่ระบาดในเรือนจำ และระบบสาธารณสุขจะดูแลไม่ไหว เรือนจำในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกาจึงต้องรีบผ่องถ่ายคนในเรือนจำที่เข้าตามหลักเกณฑ์ผ่อนปรน เช่น นักโทษที่ไม่ก่อความรุนแรง ผู้ที่รับโทษคุมขังมาเป็นเวลานานแล้ว หรือปล่อยตัวผู้ต้องหาก่อนกำหนด 30 วัน[6] เป็นต้น แต่ในบ้านเรา เดิมก็มีผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำหนาแน่นเกินกว่าศักยภาพของเรือนจำที่จะรองรับได้ เมื่อคนหนึ่งติดเชื้อ การแพร่ระบาดจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่การรับมือยังล่าช้ามาก

โลกหลังกำแพงเรือนจำ เป็นโลกที่คนภายนอกไม่ค่อยได้รับรู้ การแพร่ระบาดในเรือนจำที่กลายเป็นประเด็นก็เพราะมีนักโทษทางความคิดติดโควิด พร้อมกับคำบอกเล่าการใช้ชีวิตหลังเรือนจำของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น ต้องอาบน้ำด้วยกันพร้อมกับผู้ต้องขังคนอื่นๆ ตักน้ำอาบจากอ่างน้ำเดียวกัน และให้อาบน้ำคนละ 8 ขันเท่านั้น ส่วนพื้นที่นอนตามที่บอกเล่ากันคือ มีความกว้างที่แต่ละคนนอนได้คนละ ‘หนึ่งกระเบื้อง’ หรือ 60 เซนติเมตร เรียกได้ว่า นอนไหล่ชนไหล่ ห่างไกลมาตรฐานเว้นระยะห่างยิ่งนัก

ด้วยสภาพแวดล้อมเช่นนี้ เมื่อมีใครสักคนในเรือนจำติดโควิด โอกาสที่จะแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ จึงเป็นได้อย่างรวดเร็ว ดังตัวเลขที่ทางกรมราชทัณฑ์แถลงมาว่า มีผู้ติดเชื้อโควิดในทัณฑสถานหญิงกลาง 1,039 คน หากเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ถูกจองจำในทัณฑสถานหญิงกลางทั้งหมด 4,485 คน (อัพเดทล่าสุด โดยกรมราชทัณฑ์วันที่ 2 พฤษภาคม 2564)[7] นั่นหมายความว่า สัดส่วนผู้ติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 23.2 ที่น่าตกใจก็คือ การติดเชื้อที่เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ ที่มีผู้ติดเชื้อ 1,794 คน จากผู้ถูกคุมขังทั้งหมด 3,274 คน[8] คือสูงถึงร้อยละ 54.8 เมื่อเทียบกับอัตราการติดเชื้อทั้งประเทศ ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม คือ 64,891 คน จากประชากรทั้งประเทศ 66 ล้านคน หรือคิดเป็น 0.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 

อัตราการติดเชื้อในเรือนจำที่ร้อยละ 23.2 และ 54.8 จึงต้องถือว่า มีสัดส่วนผู้ติดเชื้อกระจุกตัวอยู่สูงมาก ห่างไกลจากที่กรมราชทัณฑ์แถลงว่า ยังสามารถควบคุมได้ ขนาดภาพรวมทั้งประเทศที่มีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด การหาเตียงในโรงพยาบาลยังต้องรอคิว เมื่ออัตราผู้ติดเชื้อในเรือนจำหญิงและชายสูงถึงร้อยละ 23.2 และ 54.8 ตามลำดับ เป็นไปได้ยากที่ระบบโรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์จะรับมือไหว แม้จะอ้างว่ามีเครือข่ายโรงพยาบาลอื่นๆ สนับสนุนอยู่ก็ตาม

ที่สำคัญคือ เราไม่ทราบว่าในหมู่ผู้ติดเชื้อนั้น มีผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงจำนวนมากน้อยขนาดไหน ซึ่งเป็นอีกตัวเลขหนึ่งที่กรมราชทัณฑ์ควรจะชี้แจง และหาแนวทางลดจำนวนผู้ติดเชื้อ เช่น การปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือนักโทษที่เข้าข่ายลดหย่อนโทษที่สามารถปล่อยตัวก่อนกำหนดโดยให้ติดกำไล EM ติดตามตัวแทน เป็นต้น

ที่อยู่ของคนไร้บ้าน

พื้นที่ที่สี่ ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนก็คือ ในหมู่คนไร้บ้าน ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส ต่างห่วงใยการแพร่ระบาดในหมู่คนไร้บ้าน โดยสหรัฐอเมริกามีรายงานสำรวจหาเชื้อในตัวคนไร้บ้าน ที่พักอาศัยในศูนย์ที่พักสำหรับคนไร้บ้าน (shelter) แห่งหนึ่งในเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียร์ พบว่า มีผู้ติดเชื้อ 101 คน จากการตรวจหาเชื้อทั้งหมด 150 คน หรือสูงถึงร้อยละ 67[9] อีกตัวอย่างหนึ่งคือการสำรวจคนไร้บ้านที่เมืองบอสตัน รัฐเมสซาชูเสส จำนวน 406 คน พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ร้อยละ 36[10] ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงทีเดียว ด้วยเหตุนี้ในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา จึงต้องหาแนวทางลดความแออัดในสถานที่ที่ให้บริการคนไร้บ้าน เช่น กระจายคนไร้บ้านไปพักอาศัยที่ hostel

สำหรับคนไร้บ้านที่อยู่ในที่สาธารณะ มีข้อจำกัดตรงที่พวกเขาไม่สามารถปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยได้ ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดและสบู่ล้างมือโดยสะดวก อีกทั้งวิถีชีวิตของคนไร้บ้านที่ต้องเดินทางไปรับบริการตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในที่เดียวกัน การเคลื่อนย้ายของพวกเขาจึงมีโอกาสที่จะสัมผัสรับเชื้อหรือแพร่เชื้อหากเขามีเชื้อโควิดอยู่ในตัว ด้วยเหตุนี้ในหลายประเทศจึงต้องสร้างสรรค์แนวทางช่วยเหลือคนไร้บ้านในสถานการณ์โควิด เช่น ในประเทศแคนาดามีการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนเปิดโรงแรมให้คนไร้บ้านได้พักอาศัย ที่ประเทศฝรั่งเศสมีการปรับเปลี่ยนศูนย์ประชุมปาเลส์เดเฟสติวัลเดอคานส์ (Palais des Festivals) สถานที่จัดงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Cannes Film Festival) เป็นที่พักของคนไร้บ้าน[11] ส่วนในสหรัฐอเมริกา บางรัฐแม้จะไม่ได้เตรียมการที่ดี แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนลานจอดรถให้เป็นที่พักของคนไร้บ้าน โดยมีการตีตารางพื้นที่เพื่อให้คนไร้บ้านไม่ต้องอยู่ใกล้ชิดกัน[12] แม้แต่ประเทศฟิลิปปินส์ที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการสังคมด้อยกว่าประเทศไทย ก็ยังมีการเตรียมที่พักชั่วคราวให้คนไร้บ้าน เช่น ใช้สนามบาสเกตบอลของมหาวิทยาลัยหรือเทศบาลท้องถิ่น โดยมีผนังชั่วคราวกั้นไม่ให้คนไร้บ้านนอนใกล้ชิดกันเกินไป[13]

หันมามองที่ประเทศไทยเรา ผมยังจำภาพเหตุการณ์ในปีที่แล้วที่ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ออกไปชักชวนให้คนไร้บ้านมาพักที่บ้านพักชั่วคราวในช่วงโควิด เพราะผมอยู่ระหว่างเก็บข้อมูลในหมู่คนไร้บ้านที่หัวลำโพงด้วย ปรากฏว่า รัฐมนตรีเดินไปทางไหนคนไร้บ้านก็แตกฮือ เดินหนี ไม่มีใครอยากคุยด้วย คนที่รัฐมนตรีสามารถคุยได้คือคนไร้บ้านที่ลุกหนีไม่ทัน ส่วนที่พักที่ พม. บอกว่าจัดให้ไว้รองรับ เช่น ที่ซอยอ่อนนุช ก็ถูกชุมชนรอบข้างประท้วงไม่อยากต้อนรับคนไร้บ้าน เพราะเกรงว่าจะนำเชื้อไปแพร่ให้ชุมชน สำหรับสายด่วน 1300 ที่ว่า ให้ประชาชนที่ตกงาน ไร้ที่อยู่อาศัย สามารถโทรไปติดต่อขอรับการช่วยเหลือ ก็มีผู้โพสต์คลิปแสดงให้เห็นว่า ได้โทรไปแล้ว แต่ไม่มีคนรับสาย ห่างไกลจากที่เรียกว่า ‘สายด่วน’ ที่ให้บริการในยามฉุกเฉินยิ่งนัก

ในช่วงที่สถานการณ์โควิดระบาดเมื่อปีที่แล้ว ผมได้ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและมูลนิธิกระจกเงา ทำการสำรวจชีวิตของคนไร้บ้านในสถานการณ์โควิดตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน ถึงวันที่ 27 เมษายน 2563 สำรวจ พูดคุยกับคนไร้บ้านจำนวน 137 คน ด้วยแบบสอบถามที่ยาวพอสมควร มีข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า ในปีที่แล้วคนไร้บ้านต่างบอกว่า ไม่พบเห็นใครที่มีอาการเป็นไข้ หรือติดเชื้อโควิด-19 (อาจจะมีคนที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และไม่ได้รับการตรวจ) แล้วก็พบว่าคนไร้บ้าน ไม่ได้เคร่งครัดกับการใส่หน้ากากอนามัยนัก พวกเขามองว่าการระบาดของโควิด-19 เป็นการระบาดของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องสัมพันธ์กับคนที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่ในหมู่พวกเขา

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในระลอกนี้ต่างจากปีที่แล้ว คือนอกจากจะมีการแพร่ระบาดในพื้นที่อยู่ของคนชายขอบ อย่างย่านแรงงานข้ามชาติ ชุมชนแออัด และในเรือนจำแล้ว จะเหลือก็แต่ในหมู่คนไร้บ้าน ซึ่งในต่างประเทศมีการแพร่ระบาด แต่ในประเทศไทยเรายังไม่มีการตรวจพบ ซึ่งก็ไม่ควรจะนิ่งนอนใจ และควรจะหาทางป้องกันมากกว่ารอให้เกิดการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน จนควบคุมได้ยาก

จากการศึกษาแนวทางที่ต่างประเทศในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหมู่คนไร้บ้าน ผมขอประมวลออกเป็น 2 ด้านใหญ่ๆ คือ ด้านการป้องกัน และ ด้านการดูแลรักษา

ในด้านป้องกัน พื้นฐานเบื้องต้นก็คือ การให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 และการป้องกันตนเอง ต้องยอมรับว่า คนไร้บ้านไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เหมือนคนทั่วไปที่สามารถรับข้อมูลข่าวสารผ่านทางโทรศัพท์มือถือที่ส่งกันทางไลน์หรือเฟซบุ๊ค การยืนดูข่าวตามโทรทัศน์หรือฟังวิทยุในที่สาธารณะอาจไม่ได้รับข่าวสารที่ครบถ้วน วิธีการง่ายๆ ที่ต่างประเทศแนะนำกันก็คือ การแจกใบปลิวให้คนไร้บ้านอย่างทั่วถึงที่สุด เพื่อให้พวกเขาได้เข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันตัวที่ถูกต้อง

ในปีที่แล้วที่ผมคลุกคลีกับคนไร้บ้านที่ไปรอรับแจกข้าวในช่วงโควิด ได้รับรู้ถึงความรู้สึกของคนไร้บ้านว่า การใส่หน้ากากอนามัยเพียงเพื่อแสดงออกว่าได้เคารพกติกาสังคม ให้คนมาแจกข้าวไม่ต้องห่วงว่า พวกเขาจะแพร่เชื้อให้คนที่มาแจกข้าว แต่ไม่ได้ทำด้วยความตระหนักว่า การใส่หน้ากากเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับป้องกันตนเอง ส่วนการล้างมือก่อนกินอาหาร พบว่า เวลาที่ผมฉีดแอลกอฮอล์ใส่มือตัวเองก่อนกินข้าวทำให้ผมเป็นคนที่แปลกแยกจากคนไร้บ้านคนอื่นๆ มาก เพราะพวกเขาส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติกัน 

ถัดมาหลังจากให้ข้อมูลแก่คนไร้บ้านจนเกิดความตระหนักแล้ว ก็ต้องสนับสนุนให้พวกเขาสามารถปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัยได้จริง คือต้องมีการแจกหน้ากากอนามัยอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ สอนวิธีการใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง หน้ากากอนามัยแบบกระดาษซึ่งควรเปลี่ยนทุกวัน ก็ต้องทำให้พวกเขาสามารถปฏิบัติได้ ไม่ใช่ให้พวกเขาต้องใส่ซ้ำ ส่วนหน้ากากผ้าแม้จะซักแล้วใส่ได้อีก แต่คนไร้บ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ซัก และมักใช้ซ้ำหลายๆ วัน จนสกปรก รวมถึงการแจกแอลกอฮอล์เพื่อให้พวกเขาสามารถล้างมือก่อนทานอาหาร เนื่องจากคนไร้บ้านไม่สะดวกที่จะล้างมือด้วยสบู่ก่อนกินอาหารในที่สาธารณะ

การป้องกันที่สำคัญอีกอย่างก็คือ จะทำอย่างไรให้พวกเขาไม่นอนกันในที่หนาแน่น ประเด็นนี้คนไร้บ้านในไทยต่างจากในสหรัฐอเมริกา เพราะคนไร้บ้านส่วนใหญ่ในไทยอยู่ในที่สาธารณะ เพราะ ‘สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง’ กลายเป็นภาพจำที่ไม่พึงประสงค์ของคนไร้บ้าน ส่วนใหญ่ไม่อยากเข้าไปอยู่ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นสถานที่ปิด เข้าไปแล้วไม่มั่นใจว่าจะมีเสรีภาพที่จะออกมาตามความต้องการของตัวเองได้หรือไม่ อีกทั้งสถานที่ตั้งก็อยู่ห่างไกล เช่น สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ธัญบุรี อยู่ถึงคลองห้า จังหวัดปทุมธานี ไม่สะดวกสำหรับการเดินทาง นอกจากนี้ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งยังมีสัดส่วนของผู้ป่วยทางจิตจำนวนมากกว่าร้อยละ 50 ทำให้ผู้ที่มีสุขภาพจิตดีไม่อยากเข้าไปอยู่ปะปนด้วย ในส่วนนี้จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างยิ่งไม่ให้เกิดการนำเชื้อเข้ามาในที่พัก มิเช่นนั้นจะเกิดการแพร่เชื้อเป็นกลุ่มใหญ่เหมือนในต่างประเทศหรือกรณีเรือนจำ

ส่วนคนไร้บ้านที่อยู่ในที่สาธารณะนั้น หากจะมีการเตรียมการหาที่พักอาศัยชั่วคราวเป็นทางเลือก ควรจะจัดเตรียมสำหรับคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่ตกงาน ไม่มีเงินเสียค่าเช่า จนต้องกลายมาเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย คนกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่ต้องการที่อยู่อาศัยชั่วคราว เพราะต่างจากกลุ่มที่เป็นคนไร้บ้านมานานและปรับตัวเข้ากับชีวิตข้างถนนได้ระดับหนึ่งแล้ว ที่อยู่อาศัยชั่วคราวในสถานการณ์เช่นนี้ ควรเป็นสถานที่ต่างหากที่ไม่ใช่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแบบเดิม เน้นให้อยู่ใกล้ สามารถเข้าถึงได้สะดวก พม. ควรจะถือโอกาสนี้เตรียมหาสถานที่รองรับผู้ไร้ที่อยู่อาศัยในช่วงโควิดแนวใหม่ ถือเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ขององค์กรไปด้วย

สถานที่ที่น่าจะเป็นไปได้ เช่น ใช้บ้านอุ่นใจของ พม. ย่านดินแดง ที่เคยเปิดให้บริการและหยุดไปแล้ว ทำนองเดียวกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็ควรเตรียมการหาสถานที่ไว้รองรับเช่นกัน ไม่ต้องเป็นสถานที่ใหญ่รวมคนมากๆ ก็ได้ อาจรวมถึงจุดเล็กๆ ตามสำนักงานเขต หรือวัด เพื่อรองรับคนไร้บ้าน

สำหรับด้านการดูแลรักษา ในกรณีที่มีคนไร้บ้านติดเชื้อ หรือสงสัยว่าติดเชื้อโควิด รัฐต้องเผยแพร่ข้อมูลให้คนไร้บ้านได้ทราบโดยทั่วถึงว่า หากเขาสงสัยว่าตัวเองเริ่มมีอาการ จะมีรถฉุกเฉินมารับพวกเขาได้ทันท่วงทีหรือไม่ หรือพวกเขาจะไปหาสถานพยาบาลที่ไหนที่พวกเขามั่นใจว่าจะไม่ถูกรังเกียจ เพราะคนไร้บ้านมักมีประสบการณ์ที่ถูกเลือกปฏิบัติจากรูปลักษณ์ภายนอก หรือบางคนไม่มีบัตรประชาชนจึงไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาล ทำให้พวกเขาไม่อยากไปโรงพยาบาลถ้าไม่จำเป็นจริงๆ แต่กรณีโควิด-19 จำเป็นที่พวกเขาจะต้องได้รับการตรวจหาเชื้ออย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปสู่คนอื่นๆ ภาครัฐจึงต้องขจัดอุปสรรคที่กล่าวไว้ข้างต้น

มากกว่านั้น ควรจะต้องมีการตระเตรียมว่า หากกรณีที่มีคนไร้บ้านติดเชื้อในวงกว้างจะทำอย่างไร จะเตรียมโรงพยาบาลสนามสำหรับพวกเขาไว้ที่ไหน จะมีสถานที่กักตัวสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง ที่คนไร้บ้านยอมรับที่จะไปอยู่ในรูปแบบใดบ้าง เท่าที่ผมเคยคุยกับคนไร้บ้านเมื่อปีที่แล้ว ได้รับฟังข้อเสนอเช่นว่า สนามกีฬาที่ถูกปิด น่าจะเปลี่ยนเป็นสถานที่ให้พวกเขาได้นอน ได้อาบน้ำ เข้าห้องน้ำ อย่างน้อยสุขอนามัยน่าจะดีกว่านอนข้างถนน คนมาแจกอาหารก็สามารถมาแจกอาหารได้สะดวก สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีการเตรียมการ หากเตรียมการไว้แล้วไม่มีคนไร้บ้านติดโควิด แล้วไม่ได้ใช้พื้นที่ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่หากเตรียมการไว้แล้วจำเป็นต้องใช้ก็จะสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที ดีกว่าไม่ได้เตรียมการใดๆ รองรับ

สุดท้ายนี้ จำเป็นต้องพูดถึงการเข้าถึงวัคซีน ผมเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องขององค์กรเครือข่ายที่ทำงานด้านคนไร้บ้านหลายมูลนิธิ ที่มีข้อเสนอตรงกันว่า คนไร้บ้านควรได้รับการจัดสรรวัคซีน เรื่องนี้ภาครัฐไม่ควรมองข้าม ในสหรัฐอเมริกาเขาไม่ต้องมาถกเถียงกันว่า คนไร้บ้านควรเข้าถึงวัคซีนหรือไม่ เพราะพวกเขาต้องเข้าถึงวัคซีนเฉกเช่นพลเมืองทุกคนอยู่แล้ว

ประเด็นของการถกเถียงอยู่ที่ว่า ควรจัดลำดับการเข้าถึงวัคซีนของคนไร้บ้านอยู่ในกลุ่มใด ยกตัวอย่างอังกฤษ มีการให้ความสำคัญกับคนไร้บ้านว่าเป็นกลุ่มที่ควรได้วัคซีนควบคู่กับกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ อีก 6 กลุ่ม เพราะถือว่าคนไร้บ้านมีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ส่วนที่สหรัฐอเมริกา บุคลากรที่ให้บริการคนไร้บ้านถือเป็นกลุ่มที่ควรเข้าถึงวัคซีนเป็นกลุ่มแรกเช่นเดียวกับแพทย์และพยาบาล ส่วนคนไร้บ้านก็จัดว่ามีความเสี่ยงที่จำเป็นต้องมีการให้บริการฉีดวัคซีนถึงที่ที่พวกเขาอยู่กัน

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัคซีนก็คือ ควรเป็นวัคซีนที่ฉีดช็อตเดียว เพราะธรรมชาติของคนไร้บ้านที่มีการเคลื่อนย้ายบ่อย พวกเขาอาจจะไม่ได้กลับมาฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตามสถานที่และเวลาที่กำหนด ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนไม่ได้ผล

มากกว่านั้น นายโรเบิร์ต เจนริค (Robert Jenrick) รัฐมนตรีกระทรวงที่อยู่อาศัย ชุมชนและท้องถิ่นของอังกฤษ ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ในช่วงโควิดภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องได้จัดหาที่พักให้กับคนไร้บ้านถึง 37,000 คน[14]

และย้ำว่า วัคซีนไม่ได้ช่วยป้องกันโรคทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญคือคนทุกคนควรเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรคำนึงถึงและมีมาตรการที่เป็นจริง ไม่ใช่มุ่งแต่เรื่องเฉพาะหน้าเท่านั้น

เชิงอรรถ

[1] https://www.straitstimes.comhttps://www.japantimes.co.jp

[2] https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/937932

[3] https://www.facebook.com/earthpongsakornk/photos

[4] von Seidlein, L., Alabaster, G., Deen, J. and Knudsen, J., 2020. Crowding has consequences: Prevention and management of COVID-19 in informal urban settlements. Building and environment, p.107472.

[5] von Seidlein, L., et.al

[7] สถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ รท 102 (ก) สำรวจ ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2564

[8] สถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ รท 102 (ก) สำรวจ ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2564

[9] Imbert, E., Kinley, P.M., Scarborough, A., Cawley, C., Sankaran, M., Cox, S.N., Kushel, M., Stoltey, J., Cohen, S. and Fuchs, J.D., 2020. Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) outbreak in a San Francisco homeless shelter. Clinical Infectious Diseases.

[10] White, Caitlin. 2021. “Lessons Learned from BMC’s COVID-19 Recuperation Unit for Patients Experiencing Homelessness.” Accessed May 14, 2021.

[11] Thai PBS. 2563. “เปลี่ยนฮอลล์เทศกาลหนังเมืองคานส์ เป็นที่พักชั่วคราว “คนไร้บ้าน”.” สืบค้นวันที่ 4 เมษายน 2563.

[12] สำนักข่าวอิศรา. 2563. “ท่ามกลางโควิด-19 ระบาด คนไร้บ้าน “อยู่บ้าน” อย่างไร เมื่อไม่มีที่อยู่ ?.” สืบค้นวันที่ 4 เมษายน 2563.

[13] Workpoint News. 2563. “ฟิลิปปินส์จัดเต็นท์รองรับคนเร่ร่อน ลดการระบาดของโควิด-19.” สืบค้นวันที่ 4 เมษายน 2563.

[14] BBC. 2021. “Covid vaccine: Homeless people to be prioritized.” Accessed May 14, 2021.

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า