สังคมไทยได้ยินคำว่า ‘สองมาตรฐาน’ มาตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2549 คำนี้เดินทางออกมาจากกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ มันได้คล้องแขนประชาชนเดินลงถนน นำไปสู่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง พวกเขาถูกปราบ และมีคนตาย บางคนตายในวัด แต่ไม่ปรากฏผู้กระทำได้รับความผิดในกระบวนการยุติธรรมไทย
ในช่วงเวลาที่คำว่า ‘สองมาตรฐาน’ ยังไม่ถูกคิดค้นขึ้นมาใช้อธิบายลักษณะความอยุติธรรมที่เกิดในสังคม ความตายในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 / 6 ตุลาคม 2519 / พฤษภา 2535 / เมษา-พฤษภา 2553 / ตากใบ-กรือเซะ / สงครามปราบปรามยาเสพติดในยุค ‘The Rise of Thaksin’ ฯลฯ ก็ล้วนไม่ปรากฏความผิดของผู้กระทำในกระบวนการยุติธรรมไทย
หลังการรัฐประหารปี 2557 ดูเหมือนว่าลักษณะ ‘สองมาตรฐาน’ ได้ลดรูปลดจำนวนเหลือเพียง ‘มาตรฐานเดียว’ – รัฐถูกเสมอ! และเราอาจเติมข้อความไปอีกเสียหน่อยก็ได้ว่า “ผิดจากนี้คือพวกชังชาติ”
นี่คือเรื่องน่าเศร้าและชวนหดหู่ที่เกิดกับสังคมไทย – ยังไม่มีทางออก
WAY พูดคุยกับ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการผู้พยายามทำให้สังคมมองเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ทั้งผ่านงานวิชาการรวมถึงบทบาทในฐานะผู้ริเริ่ม ‘โครงการบันทึก 6 ตุลา’ (Documentation of Oct 6) ที่เธอและทีมงานออกตามหาข้อมูล บันทึก และนำเสนอ แม้มันจะทำให้สังคมไทยรู้ว่าเรายังไม่รู้ ยังไม่รู้อีกหลายเร้นหลืบในเหตุการณ์ 6 ตุลา
“เราคิดว่าบทบาทในฐานะนักวิชาการ ก็คือการทำให้คนเห็นถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าการลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้น มันกระทบอย่างไรบ้างต่อผู้ที่สูญเสีย ก่อนที่มันจะกลายเป็นบทเรียนที่สังคมไทยไม่เคยเรียนรู้ และมันจะเกิดขึ้นอีก สักวันหนึ่งเราอาจนำผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความรุนแรงต่อประชาชนไม่ว่ากรณีไหนมาลงโทษในกระบวนการยุติธรรมได้”
เราใช้ดินสอขีดเส้นลงบนกระดาษ มันคือเส้นของช่วงเวลาปี 2549 และชวนอาจารย์พวงทองพินิจพิจารณาถึงสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘รัฐลอยนวลพ้นผิด’ โครงสร้างอำนาจรัฐแบบไหนที่ทำให้เกิดลักษณะรัฐที่ไม่เคยผิด ความผิดเข้าไม่ถึงตัวผู้กระทำและผู้สั่งการ ช่วงก่อนและหลังการรัฐประหาร 2549 มีความแตกต่างอย่างไร มีอะไรเข้ามาสนับสนุนหรืออุปถัมภ์ค้ำชู จนกลายเป็นลักษณะที่เธอเรียกว่าการ ‘โอบอุ้ม’
ลักษณะของการโอบอุ้มที่ทำให้เกิดสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘รัฐลอยนวลพ้นผิด’ ระหว่างก่อนและหลังการรัฐประหาร 2549 แตกต่างอย่างไร
ดิฉันคิดว่ามีทั้งความเหมือนและต่าง ความเหมือนก็คือ โครงสร้างอำนาจของกลุ่มผู้มีอำนาจนั้นสืบทอดดำเนินต่อกันมาไม่ขาดสาย เพียงแต่เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตัวละครในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้น กลุ่มองค์กรสถาบันที่มีอำนาจตั้งแต่ทศวรรษ 1970 จนถึงปัจจุบันก็เป็นกลุ่มเดิม แล้วกลุ่มเหล่านี้ยังทำหน้าที่โอบอุ้มพวกเดียวกันให้ไม่ต้องรับผิด
แต่ส่วนที่แตกต่างออกไป เราจะเห็นว่าตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา มีองค์กรที่เข้ามามีบทบาทอุปถัมภ์การลอยนวลพ้นผิดของอำนาจรัฐเพิ่มขึ้น เช่น องค์กรตุลาการ ศาล รวมถึงองค์กรอิสระ ที่เข้ามาตีความหรือบิดเบือนกฎหมาย ว่าการกระทำทั้งหลายไม่จำเป็นต้องรับผิด เราจะเห็นตั้งแต่ความขัดแย้งในปี 2549 เป็นต้นมา เราจะได้ยินเสียงวิจารณ์ว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยมีสองมาตรฐาน ภาวะสองมาตรฐานคืออะไร ก็คือการลงโทษกลุ่มการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับคุณ แล้วโอบอุ้มไม่ให้ฝ่ายเดียวกับคุณนั้นต้องรับผิดใดๆ
กรณีการสลายการชุมนุมปี 2553 ค่อนข้างชัดเจน สามเดือนหลังรัฐประหารโดย คสช. คดีที่ DSI ฟ้องร้องคุณสุเทพและคุณอภิสิทธิ์ ในที่สุดศาลบอกว่า ตนไม่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้ คดีก็ถูกโยนไปให้ ป.ป.ช. ซึ่งเราก็รู้กันอยู่ว่า ป.ป.ช. ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาทำงานกันอย่างไร หรือแม้กระทั่งองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หรือ คณะกรรมการค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ (คอป.) ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่สืบค้นความจริงกรณีปี 2553 องค์กรอิสระเหล่านี้ที่ทำหน้าที่ค้นหาความจริง ปกป้องความยุติธรรมให้กับเหยื่อ แต่ในที่สุดกลับเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้คนที่ใช้ความรุนแรงสามารถลอยนวลพ้นผิด เพราะอะไร เพราะพวกเขามีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน มีอคติทางการเมืองที่ชัดเจน อันนี้คือความแตกต่างของภาวะลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้น สรุปก็คือ นับแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา มีตัวเล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามา
อาจารย์ทำให้นึกถึงตัวเล่นที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง หลังรัฐประหารปี 2549 ประชาชนก็ทำหน้าที่อุปถัมภ์ค้ำชูความรุนแรงด้วย
ใช่ สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากช่วงก่อน 2549 ไม่ว่ากรณี 14 ตุลา กรณีพฤษภา 35 ประชาชนเป็นฝ่ายชนะ ส่วนหนึ่งเพราะประชาชน รวมถึงสื่อมวลชนเป็นหนึ่งเดียวกัน ฝ่ายตรงข้ามคือกองทัพที่ใช้อำนาจไม่ชอบธรรม แต่ปัจจุบันไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว ประชาชนแตกเป็นฝักเป็นฝ่าย แตกเป็นสีเสื้อ เวลาที่สังคมส่วนหนึ่งเรียกร้องให้มีการลงโทษกลุ่มอำนาจกลุ่มหนึ่ง ประชาชนของฝ่ายเขาก็จะออกมาปกป้อง บอกว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรม ฉะนั้น กรณีการเอาผิดคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) และอภิสิทธิ์ จึงไม่ได้มีแค่องค์กรอิสระทั้งหลายที่ทำหน้าที่ปกป้อง แต่ยังมีประชาชน พวกเขามีมวลชนมหาศาลที่จะปกป้อง ก่อนการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง มวลชนเหล่านี้ก็ส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์จัดการกับผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาด พวกเขาสนับสนุนการใช้ความรุนแรง นี่เป็นปัจจัยที่ทำให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดกลับถูกโอบอุ้มโดยประชาชนด้วยกันเอง
หลังปี 2549 เป็นต้นมา เมื่อมีองค์กรอิสระหรือองค์กรตุลาการเข้ามามีบทบาทในการอุปถัมภ์วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ก็หมายความว่า เขาไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะการออกกฎหมายนิรโทษกรรมตนเอง ด้านหนึ่งคือการประกาศว่าเขากลัวความผิด แต่เมื่อมีองค์กรอิสระเหล่านี้มาทำหน้าที่ตัดสินว่าพวกเขาไม่ผิด มันทำให้การลอยนวลพ้นผิดนั้นดูมีความชอบธรรมมากขึ้น
ช่วงก่อนรัฐประหารปี 2549 อาจารย์เคยเขียนงานชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับนโยบายปราบยาเสพติดในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร งานชิ้นนั้นชื่อว่า ‘ปฏิบัติการสงครามของการรณรงค์ปัญหายาเสพติดในประเทศไทย’ เมื่อนำกรณีนี้มาเทียบเคียงกับความรุนแรงทางการเมืองที่รัฐกระทำ มันบอกอะไรบ้าง
งานชิ้นนั้นพยายามอธิบายว่า อะไรที่ทำให้ประชาชนในขณะนั้นสนับสนุนนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณในการใช้ความรุนแรงปราบยาเสพติด ทำให้มีคนเสียชีวิต 2,000 กว่าคน ถ้าเราไปดูช่วงเวลาที่คุณทักษิณประกาศใช้นโยบายนี้ สื่อมวลชนและคนส่วนใหญ่ในสังคมต่างสนับสนุนนโยบายนี้ ผลสำรวจในช่วงนั้นพบว่า 98 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ตอบโพลเห็นด้วยกับนโยบายนี้ คุณต้องใช้มาตรการเด็ดขาด แต่เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งปีหลังจากรู้แล้วว่านโยบายนี้ทำให้คนเสียชีวิต 2,000 กว่าคน ก็มีการทำโพลอีกครั้ง ปรากฏว่าคนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ก็ยังบอกว่า ควรจะมีสงครามยาเสพติดครั้งที่ 2
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้คนสนับสนุนการใช้ความรุนแรงของรัฐ ดิฉันจึงไปดูแคมเปญหลายส่วนทั้งในสื่อมวลชน ทั้งผู้มีอิทธิพลทางการเมือง การบอกว่ายาเสพติดคือสิ่งที่ทำลายชาติ หรือว่าการเรียกร้องของประชาชนของสื่อมวลชน หรือนักวิชาการที่ออกมาให้ตัวเลขการติดยาของเยาวชนและประชาชน เป็นตัวเลขที่มีลักษณะเฟ้อมากๆ ดิฉันตรวจสอบตัวเลขแล้วพบว่า ตัวเลขเหล่านั้นไม่มีข้อมูลหรืองานวิจัยที่มีน้ำหนักรองรับได้ว่า คนไทยติดยากันมากขนาดนั้น ข้อมูลเหล่านี้ถูกเผยแพร่โดยไม่มีการตั้งคำถาม ส่งผลต่อความกลัวของคน รวมถึงปรากฏการณ์ของคนที่อยู่ในภาวะบ้าคลั่งแล้วทำร้ายผู้คนบนท้องถนน สื่อมวลชนก็ฟันธงทันทีว่าเป็นผลจากยาบ้า ทั้งที่ยังไม่มีการนำไปตรวจฉี่หรือตรวจสอบข้อเท็จจริง เกิดความรุนแรงขึ้นมาทีก็โยนไปให้ยาบ้า ทุกวันนี้เราก็มีปรากฏการณ์แบบนี้ แต่เมื่อกระแสยาบ้าลดลง เราก็ไม่โยงเข้ากับยาบ้าอีกแล้ว แต่เมื่อคุณอยู่ในกระแสของความรู้สึกว่ายาบ้ากำลังเข้ามาทำลายสังคมไทย ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใด เช่น คนกำลังจะกระโดดตึก คุณก็บอกว่าเป็นผลจากยาบ้า ฉะนั้นมันจึงเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ที่สนับสนุนให้เกิดการใช้ความรุนแรงกับประชาชน
ถามว่ากรณีนี้เกี่ยวข้องกับการลอยนวลพ้นผิดไหม…เกี่ยวข้อง หลังรัฐประหาร 2549 กลุ่มบุคคลที่ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้ประเด็นนี้ในการโจมตีคุณทักษิณ แล้วบอกว่าต้องเอาผิด ดิฉันเคยคุยกับพวกเขา ดิฉันบอกว่าอยากเห็นคุณทำแบบนี้นะ แต่เชื่อเถอะ ว่าคุณไม่ทำหรอก เพราะอะไร เพราะถ้าคุณจะเอาผิดในกรณีนี้ มันจะต้องเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารในแคมเปญนี้ด้วย ต้องไปดูทีละรายเลยว่าใครบ้างที่เป็นคนยิงหรือสั่งการ ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีการนำเจ้าหน้าที่รัฐมาดำเนินคดีด้วย ดิฉันบอกเขาว่า การเอาสงครามยาเสพติดมาต่อต้านคุณทักษิณเป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่าที่ตั้งใจจะเอาคนผิดมาลงโทษจริงๆ ดิฉันอยากเห็นการเอาผิดในกรณีนี้จริงๆ ทั้งในระดับตั้งแต่คุณทักษิณในฐานะผู้สั่งการ ในระดับปลัดกระทรวงมหาดไทยที่เซ็นเอกสารส่งไปยังเจ้าหน้าที่ระดับล่าง รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการ แต่มันจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งมันก็ไม่เกิดขึ้นจริงๆ
เราสามารถพูดได้หรือไม่ว่า ลักษณะการโอบอุ้มพวกเดียวกันของกลุ่มผู้มีอำนาจก็ยังเป็นสิ่งที่ปรากฏ แม้จะเปลี่ยนตัวผู้นำทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางการเมืองพลเรือนหรือทหาร
ถ้าในระดับโครงสร้างข้างบนมันค่อนข้างชัดเจน เช่น ในกรณีของกองทัพในเหตุการณ์ 14 ตุลา ในเหตุการณ์พฤษภา 35 กองทัพอยู่ในภาวะสูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองอย่างชัดเจน ผู้นำกองทัพต้องออกมาประกาศว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทหารจะกลับเข้ากรมกอง แต่ก็ไม่มีความพยายามจะนำผู้สั่งการในการปราบปรามประชาชนมาดำเนินคดี เพราะอะไร
เพราะหากเรามองกองทัพในฐานะส่วนหนึ่งของเครือข่ายอำนาจ และหากมีการดำเนินคดีเอาผิดกองทัพ ก็หมายความว่าคุณกำลังทำลายกลไกที่สำคัญของกลุ่มอำนาจในสังคมไทย กองทัพจะถูกใช้ในช่วงเวลาที่สำคัญ ใช้เป็นเครื่องมือในการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลไม่พึงประสงค์
ถ้ามีการเอาผิดกองทัพหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชน… ลองจินตนาการดูนะคะ มันจะไม่ส่งผลกระทบกับเฉพาะผู้นำที่สั่งการเท่านั้น แต่แนวโน้มจะนำไปสู่การรื้อถอนหรือปฏิรูปองค์กรทั้งหมด จินตนาการดูอีกสักกรณีนะคะ สมมุติว่ามีการไต่สวนดำเนินคดีในชั้นศาลกรณีปราบเสื้อแดง…สมมุตินะคะ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลในกรณี 6 ศพวัดปทุมฯ ที่เคยเผยแพร่ออกมาได้ให้รายละเอียดดีมาก พูดชัดเจนว่าภายในวัดไม่มีชายชุดดำ ไม่มีการยิงต่อสู้ออกมาจากวัด หลักฐานทั้งจากคลิปและจากคำให้การเจ้าหน้าตำรวจซึ่งเห็นเหตุการณ์ ก็เห็นได้ชัดเจนว่าทหารเป็นฝ่ายยิงเข้าไปโดยที่ไม่มีเหตุจำเป็นต้องปกป้องตัวเองจากการถูกตอบโต้ ทหารกองไหน หน่วยไหน บอกได้หมดเลยว่าอยู่จุดไหนบนรางรถไฟบ้าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้นเป็น ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ว่า อยากให้มีการพิจารณาลับ เพราะอะไร เพราะไม่ต้องการให้ข้อมูลเหล่านี้เผยแพร่ออกไป
แต่ในความเป็นจริงคดีถูกโยนทิ้งเพราะศาลอาญาบอกว่า ไม่มีอำนาจในการพิจารณา แต่ถ้าคดีดำเนินต่อไป ก็จะต้องมีการเรียกนายทหารที่เกี่ยวข้องมาให้การ รวมถึงระดับพลทหารที่เกี่ยวข้องกับการยิง ในศาลคุณต้องถูกตั้งคำถาม ทำไมถึงยิง? ทำไมใช้กระสุนจริง? เบิกกระสุนมาเท่าไหร่? ใช้จริงไปเท่าไหร่? ถามระดับพลทหารก็ได้ว่าเขาบอกคุณว่าอะไร เสื้อแดงเป็นพวกล้มเจ้าหรือไม่? ถ้าเจอการเคลื่อนไหวให้ยิงเลยหรือเปล่า? ข้อมูลเหล่านี้มันจะทำให้ประชาชนตั้งคำถาม ว่าปฏิบัติการของกองทัพชอบธรรมหรือไม่ หรือมีปัญหาอย่างไร หรือมันเต็มไปด้วยความล้าหลังหรือเต็มไปด้วยอคติต่อประชาชนอย่างไร
กรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคทักษิณ แต่ก็ดูเหมือนว่าโครงสร้างที่โอบอุ้มการลอยนวลพ้นผิดจะหนีไม่พ้นโครงสร้างอำนาจของกองทัพอีกเช่นเคย อยากชวนอาจารย์พิจารณาเรื่องนี้ผ่านกรณีตากใบหรือกรือเซะ
นี่ก็คือเรื่องเดียวกัน กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ตากใบ กรือเซะ จนกระทั่งปัจจุบัน การเสียชีวิตของคนในค่ายทหาร คนที่ถูกซ้อมทรมาน คุณจะเห็นว่าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2547 ไม่มีการนำผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงมาลงโทษเลย แม้เรื่องถึงศาลแต่ในท้ายที่สุดเรื่องก็หลุด อย่างมากที่สุดศาลก็สั่งให้กองทัพหรือรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้กับญาติ ซึ่งดิฉันคิดว่าการจ่ายเงินมันน้อยนิด และไม่สามารถตอบคำถามเรื่องความอยุติธรรมได้เลย ดิฉันคิดว่าญาติที่สูญเสียไม่เคยพอใจกับการได้รับเพียงแค่เงิน เขาต้องการความยุติธรรม เขาต้องการชีวิตของคนที่เขารักกลับคืนมา เพราะอะไรจึงไม่สามารถเอาผิดคนที่เกี่ยวข้องได้ ก็ต้องย้อนกลับไปตอบแบบเดิม ในที่สุดมันจะนำไปสู่การตั้งคำถาม การสืบเสาะหาว่ามันเกิดจากอะไร กระบวนการซ้อมทรมาน มัน operate ยังไง มันทำงานของมันยังไง ใครเกี่ยวข้อง ใครสั่งการ ใครรู้เห็นบ้าง
แต่ข้อสำคัญคือ ทัศนคติของหน่วยงานราชการ มันมีทัศนคติที่อยู่ในแวดวงข้าราชการ เขาจะมองว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำงานเพื่อประเทศชาติ อาจจะใช้ความรุนแรงไปบ้าง อาจจะหนักมือไปบ้าง ก็เป็นเรื่องที่ให้อภัยกันได้ ถ้าคุณจะเอาผิดเจ้าหน้าที่ มันจะทำลายขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่รัฐก็จะไม่กล้าทำอะไร แล้วอาจเป็นผลเสียมากกว่า ซึ่งฉันคิดว่าการคิดแบบนี้มันมีปัญหามาก สิ่งที่ควรจะคิดใหม่คือ การตระหนักว่าการใช้ความรุนแรงในลักษณะที่เกินเลยไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง และสิ่งที่เราเห็นก็คือสถานการณ์ในภาคใต้ไม่ได้ดีขึ้นเลย
อาจารย์มองเห็นอะไรในบทบาทเชิงรุกของกองทัพอย่างการนิยามภัยคุกคามของสังคมไทยตอนนี้ ถ้าปี 2519 ภัยคุกคามคือคอมมิวนิสต์ กองทัพมีไอเดียอะไรใหม่ๆ ในบทบาทลักษณะนี้
จริงๆ แล้ว การขยายขอบเขตของสิ่งที่เป็นภัยคุกคามของชาติ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคพลเอกเปรม แต่เข้มข้นมากขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 ในอดีตเวลาที่เราพูดถึงภัยคุกคามของชาติหรือของรัฐก็คือคอมมิวนิสต์ ดิฉันกลับไปอ่านเอกสารเกี่ยวกับกองทัพเกี่ยวกับ กอ.รมน.ในยุคพลเอกเปรม (ติณสูลานนท์) ก็พบว่ามีความพยายามจะขยายขอบเขตอำนาจของกองทัพด้วยการนิยามภัยคุกคามแบบใหม่ขึ้นมา เช่น บอกว่าความยากจนเป็นภัยคุกคามต่อสังคม ฉะนั้นกองทัพต้องมีบทบาทในการขจัดความยากจนด้วย ซึ่งหมายถึงว่า นี่คือบทบาททางการเมืองทางสังคมของกองทัพ
มีการนิยามว่า การแตกแยกในหมู่ประชาชนคือภัยคุกคามของชาติ ซึ่งเพิ่งถูกใส่เข้าไปหลังปี 2549 เราสามารถไปดูเอกสารยุทธศาสตร์ของกองทัพ ยุทธศาสตร์ของ กอ.รมน. จะเห็นว่าประเด็นเหล่านี้มันอยู่ในนิยามภัยคุกคามของชาติ นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นอีก เรื่องการค้ามนุษย์ ยาเสพติด การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องเหล่านี้ถูกจัดเข้าไปเป็นความมั่นคงของชาติด้วย ซึ่งหมายความว่า นี่คือการขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกองทัพ นี่คือมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งควรจะถูกจัดการโดยหน่วยงานของพลเรือนหรือภาคเอกชน ไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพ ปัญหาที่ตามมาคือเมื่อคุณนำกองทัพเข้ามาเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้การกำกับดูแลของ กอ.รมน. หมายความว่า หน่วยงานพลเรือนจะอยู่ภายใต้คำสั่งของกองทัพ มันทำให้กลไกการแก้ปัญหา วิธีการมองปัญหา วิธีการแก้ปัญหา เป็นกรอบคิดของทหาร
ถ้าคุณคิดว่าสังคมไทยแตกแยก เพราะคนไม่ยึดถือในอุดมการณ์หลักของชาติ สิ่งที่จะทำคืออะไร คุณก็เอาเขาไปอบรม คุณจับเขาไปปรับทัศนคติ ทำให้เขาเป็นแบบเดียวกับคุณ คุณเชื่อว่าถ้าคุณอบรมเขา ในที่สุดเขาจะเปลี่ยน ซึ่งไม่จริง ปัญหามันมากกว่านั้น คนไม่ได้ล้างสมองกันง่ายๆ มากที่สุดเขาก็เงียบ แต่เขาไม่ได้เชื่อตามคุณ ถ้าดื้อมากๆ ทำยังไง ก็จัดการด้วยการปราบ ขังคุก ใช้วิธีการปราบปราม นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อคุณเอาทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง วิธีการแบบทหารจะครอบงำการแก้ปัญหา และไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง ถ้าคุณไปดูเรื่องยาเสพติด วิธีที่กองทัพทำกับเยาวชนคืออะไร เขาก็เอาเยาวชนไปฝึกทหาร ไปอบรมให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เขาเชื่อว่าวิธีแบบนี้แก้ปัญหาได้ จะทำให้เยาวชนรักชาติมากขึ้นและแก้ปัญหาสังคมได้
กองทัพมองว่าตัวเองมีบทบาทในการสร้างชาติ เวลาคุณอ่านประวัติศาสตร์กองทัพ บางเล่มก็โยงกลับไปตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในยุคที่ยังไม่มีคำว่า ‘ชาติไทย’ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าขวานทองหรือประเทศ บางเล่มก็โยงไปสมัยรัชกาลที่ 5 หรือหมู่บ้านบางระจัน เขาจะเขียนว่า เรามีชาติได้อย่างนี้ก็เพราะเรามีกองทัพ เขาทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้ปกป้องชาติ ฉะนั้นเขาจะต้องมีส่วนร่วมในปัญหาอะไรก็แล้วแต่ที่ถูกนิยามว่าเป็นภัยความมั่นคงของชาติ ซึ่งถามว่าใครนิยาม ก็พวกเขากันเองนั่นแหละ สังคมไทยปกครองโดยผู้นำที่เป็นทหารมากกว่าผู้นำพลเรือน เขาก็เขียนกฎหมาย รัฐธรรมนูญ เขียนยุทธศาสตร์เหล่านี้ให้สอดคล้องกับบทบาทของกองทัพ เป็นการปูทางให้กองทัพมีพื้นที่เหนือประชาชนมากขึ้นโดยคนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว นักการเมืองก็มองข้ามประเด็นเหล่านี้ไป
ถ้าคุณไปดูยุทธศาสตร์ของกองทัพและ กอ.รมน. ความแตกแยกทางความคิดของคนในชาติก็เป็นภัยคุกคาม การเมืองเหลือง-แดงก็คือความแตกแยกในทัศนะของทหาร เพราะฉะนั้นเขาก็มองว่า ต้องทำให้คนไทยหันมารักสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่อที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงมีการจัดตั้งกลไกของรัฐที่จะสอดส่องความเคลื่อนไหวของประชาชน ในระดับพื้นที่ทั้งภาคเหนือและอีสาน ซึ่งมีหมู่บ้านเสื้อแดงเยอะ พื้นที่เหล่านี้ถูกจับตามองความเคลื่อนไหว พวกเขาไม่สามารถระดมคนเพื่อจะมาประท้วงหรือขับไล่ทหารได้อีก เพราะพวกเขาถูกจับตามอง รวมถึงในส่วนของแกนนำ นปช. ก็ถูกจับตามอง ถูกฟ้องด้วยคดีสารพัด จนเคลื่อนไหวไม่ได้
ยังมีส่วนที่เป็นกลไกสอดส่องความเคลื่อนไหวของประชาชนในโลกออนไลน์ด้วย และมีกลไกที่ใช้สื่อสารออกไป เขามีการอบรมนิสิตนักศึกษาประชาชนทั่วไปทั้งในเมืองและชนบท ว่าจะต้องจับตาดูภัยในไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครที่โพสต์ข้อความอะไรที่เป็นภัยความมั่นคงของรัฐและสถาบัน คนเหล่านี้ก็จะทำหน้าที่รายงานไปให้ กอ.รมน. รับรู้
ถ้าเรามองว่าโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ให้ประชาชนที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองได้ลงมาเล่น แต่ดูเหมือนว่าในขณะเดียวกันมันก็เป็นพื้นที่ของฝ่ายความมั่นคงลงมาเล่นด้วยเช่นกัน
พื้นที่ในไซเบอร์ก็คือพื้นที่ใหม่ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก รัฐเผด็จการทั้งหลายก็ให้ความสำคัญในการจับตามองความเคลื่อนไหวของประชาชนในโลกไซเบอร์ด้วย ในจีนคุณโพสต์อะไรที่เป็นการต่อต้าน ตั้งคำถาม หรือสนับสนุนฮ่องกง คุณก็เดือดร้อนแล้ว รัฐไทยก็เป็นแบบนี้ รัฐพม่าก็เป็นแบบนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่เขามีเหนือกว่าเรา เขาจะจับตามองเราด้วยกลไกรัฐซึ่งมีเครือข่ายทั่วประเทศ มันกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยของฝ่ายประชาชน แต่มันปลอดภัยสำหรับประชาชนที่สนับสนุนการใช้อำนาจรัฐ
ถึงวันนี้การจัดตั้งมวลชนของ กอ.รมน. มีความสลับซับซ้อนมากกว่าช่วงสงครามเย็นหรือไม่
ดิฉันมองว่าไม่ต่างกันมาก วิธีที่เขาทำเป็นวิธีการเดียวกับยุคสงครามเย็น เช่น การจับคนมาอบรม อบรมให้คล้อยตามอุดมการณ์หลักของรัฐ หรือปรับทัศนคติกลุ่มคนที่คิดแตกต่าง จับตามองความเคลื่อนไหว ฉันคิดว่าเขายังใช้วิธีการแบบเดิมในการที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งดิฉันคิดว่านี่คือปัญหา
สิ่งที่ กอ.รมน. ทำมาตลอดในช่วงสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน คือการจัดตั้งมวลชนฝ่ายขวา ซึ่งเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ถ้าลองไปเสิร์ชในยูทูบ หรือในเว็บไซต์ต่างๆ คีย์ชื่อหน่วยงานหรือองค์กรที่อยู่ภายใต้การจัดตั้งของ กอ.รมน. คุณจะเห็นกิจกรรมของเขาเยอะมากๆ
คนเหล่านั้นเป็นใคร
คนที่เข้าร่วมกับโครงการของ กอ.รมน. ก็มีจุดประสงค์ที่แตกต่างหลากหลายกันไป บางคนอาจต้องการคอนเนคชั่น บางคนจำเป็นต้องเข้าร่วมเพราะอยู่ในหมู่บ้าน ถ้าไม่แสดงตัวว่าคุณสนับสนุนการทำงานของรัฐ คุณก็จะกลายเป็นเป้า ดิฉันพบว่าคนที่ถูกเรียกไปอบรมในโครงการ กอ.รมน. จำนวนมากก็เป็นคนเสื้อแดง เขาก็จำเป็นต้องไปเพื่อไม่ตกเป็นเป้า กอ.รมน. หรือรัฐก็รู้ว่าเวลาที่คุณจัดอบรมให้คนสัก 100 คน มันไม่จำเป็นที่ทั้ง 100 คนที่เห็นด้วย ขอแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ที่พร้อมจะเอาด้วย และเป็นพลเมืองที่แข็งขันพร้อมจะสนับสนุน ออกมาเดิน ออกมาท้าทายฝ่ายตรงข้าม ก็เพียงพอแล้ว อย่างกรณี 6 ตุลา เอาเข้าจริงแล้วๆ มวลชนฝ่ายขวาที่ธรรมศาสตร์วันนั้น ตัวเลขหลักพัน ประมาณ 2,000-3,000 คนที่อยู่รอบสนามหลวง มันไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของประชาชนทั้งประเทศ แต่นั่นก็มีพลังมากพอที่จะก่อให้เกิดฆาตกรรมหมู่อย่าง 6 ตุลา และเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยในช่วงนั้น
อาจารย์มองเห็นแนวโน้มที่เราจะออกจากทางตันนี้ไหมครับ
ถามว่าเราจะออกจากความขัดแย้งนี้ได้ไหม แล้วมันจะทำลายวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดได้ไหม ดิฉันยังมองไม่เห็นในระยะอันใกล้ ดิฉันรู้สึกว่าเรากำลังเดินมาสู่ทางตัน จริงๆ เราก็มาถึงทางตันแล้วนะคะ แต่ยิ่งนานทางตันมันยิ่งแน่นหนาเสียจนทะลุทะลวงออกไปยากมาก ในขณะที่ความขัดแย้งในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ไม่ได้รับการคลี่คลาย สิ่งที่เกิดขึ้นคืออีกฝ่ายถูกกดไว้ตลอดเวลา รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง เจอกันถ้วนหน้าแล้วในขณะนี้ เราไม่เห็นความพยายามในการปรับตัวและรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เราไม่เห็นความสามารถในการมองเห็นว่าสิ่งที่เขากระทำมันไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลย ไม่ว่าจะทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ แต่มันคือการใช้อำนาจของคนกลุ่มเดียวที่ปกป้องผลประโยชน์ของพวกพ้องตัวเอง ดิฉันคิดว่าไม่มีรัฐบาลไหนอีกแล้วที่อัปลักษณ์เท่ากับรัฐบาลประยุทธ์ 2 มีคนที่ร่วมรัฐบาลมากมายที่ประชาชนส่ายหัว อิดหนาระอาใจ อยู่ในภาวะที่สิ้นหวัง แต่ดูเหมือนพวกเขาไม่เคยพิจารณาหรือปรับปรุงแก้ไข หรือประนีประนอมทางการเมืองเลย
ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราคาดหวังว่า กลุ่มอำนาจน่าจะเรียนรู้และประนีประนอม ให้พื้นที่กับฝ่ายที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น แต่ฉันคิดว่าเราไม่เห็นสัญญาณเหล่านี้เลย และนี่คือการผลักให้เราจนมุม.