รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ุ – ชื่อนี้อาจไม่คุ้นนักสำหรับคนหนุ่มคนสาวในยุค Gen Z
แต่สำหรับวงวิชาการ ปัญญาชน ในช่วงทศวรรษที่ 1960 จนถึงยุคปลายทศวรรษที่ 2000 ชื่อเดียวกันนี้คือนักวิชาการระดับตำนาน อาจารย์รังสรรค์เขียนตำราวิชาการมากมาย ซึ่งเป็นงานระดับ ‘แกรนด์’ รวมถึงงานเขียนอื่นอีกหลากหลายรูปแบบ ในบางช่วงบางตอนของชีวิต ยังเขียนบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ราว 10-13 ชิ้นต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี
นอกจากรางวัลเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติแล้ว งานเขียนของเขาล้วนให้ประโยชน์แก่วงวิชาการอย่างกว้างขวาง ทั้งการขยายพรมแดนความเข้าใจรัฐธรรมนูญใหม่จากมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ หรือการชี้ให้เห็นว่ามีความไม่เป็นธรรมจากการค้าข้าวที่ชาวนามักตกเบี้ยล่าง ไปจนถึงอธิบายเบื้องหลังการเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจในแต่ละยุคสมัย
ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ, เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยพรีเมี่ยมข้าว, กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทย: บทวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมือง พ.ศ. 2475-2530 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ‘นักแกะรอยอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ’ (สมญานามและคุณสมบัติหนึ่งที่ศาสตราจารย์อัมมาร สยามวาลา พูดถึงศาสตราจารย์รังสรรค์) ฝากไว้แก่สังคมไทยมากกว่านั้นคือการสังเคราะห์ เปิดโปง และเจาะลึกลงไปยังโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองไทย
WAY สนทนากับ อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ุ ศาสตราภิชาน แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวัยล่วง 7 ทศวรรษ ท่ามกลางสามวิกฤตการณ์ที่เดินทางมาบรรจบพบกันอย่างน่าตระหนก
ทั้งมิติทางการเมือง มิติทางเศรษฐกิจ และมิติของโรคระบาด
ทัศนะจากปัญญาชนสาธารณะที่ยังรักษา ‘พรหมจรรย์ทางวิชาการ’ ไว้ตลอดชีวิตท่านนี้ จึงยังคงคมคาย หนักแน่น และแม่นยำ
รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ อาจารย์มองว่ามีศักยภาพพอจะเปลี่ยนทิศทางเศรษฐกิจที่กำลังดิ่งลงได้บ้างหรือไม่
ใครก็ตามที่เข้ามาบริหารเศรษฐกิจตอนนี้คือ ‘ซวย’ ถ้าจัดการวิกฤติให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปีได้ ก็ถือว่าโชคดี แต่ผมคิดว่ามันเกิน 5 ปี แล้วถ้าเกิน 5 ปีเนี่ย เศรษฐกิจมันจะทรุดลงไปอีกมากนะ คุณคงไม่ทราบว่าเวลานี้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งกำลังจะล้มละลาย ผมไม่อยากเอ่ยชื่อ อย่างน้อย 3 ธนาคารกำลังจะล้ม
ตอนแรกที่ผมเห็นนายธนาคารคนหนึ่งลาออก ซึ่งเป็นธนาคารที่เป็นมรดกของเขาเอง ผมก็ไปถาม วีรพงษ์ รามางกูร (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) ว่าทำไมเขาจึงลาออก วีรพงษ์บอกให้ผมไปอ่าน financial statement จะเห็นเลยว่าหนี้เสียเยอะมาก และคนที่มาซื้อต่อนี่ก็เซ่อ ซื้อโดยไม่ดู financial statement จึงไม่รู้ว่าธนาคารนี้มีหนี้เสียเยอะ และถ้าวิกฤติยืดเยื้อไป 5 ปี เราจะมีวิกฤตการณ์สถาบันการเงินครั้งใหญ่ อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต
สำหรับการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ เราจะเห็นว่าเมื่อเวลาทหารขึ้นมาบริหารประเทศ มักจะเป็น ‘นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา’ คุณดูสิ ตอนแรกรัฐบาลก็เอา หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ขึ้นมา เสร็จแล้วก็ฆ่าทิ้งโดยการเอา สมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) มานั่งค้ำ ทีนี้พอสมคิดแก้ปัญหาไม่ได้ ซึ่งแก้ไม่ได้เพราะเศรษฐกิจโลกมันเป็นอย่างนี้ เศรษฐกิจโลกดิ่ง ใครเข้ามาก็แก้ไม่ได้ ชุดใหม่ที่เข้ามาก็แก้ไม่ได้ คุณจะเห็นได้ว่าตอนที่เขาขับสมคิดออกไป เขาไปทาบทามหลายคน เช่น วิรไท สันติประภพ หรือ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ทั้งสองคนปฏิเสธหมด เพราะเขารู้ว่ามันแก้ไม่ได้ เข้ามาก็จะทำให้ชื่อเสียงของตนเสื่อมเสีย
โควิด-19 หนักมากนะ ถือเป็นเรื่องใหญ่ ผมไม่คิดว่าใครเข้ามาแล้วจะแก้ปัญหาได้ นี่จะเป็นปัญหาใหญ่ แล้วก็มาซ้ำเติมด้วยปัญหาการเมืองอีก
สัญญาณทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคระบาดนี้ จะคล้ายกับวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 มากน้อยแค่ไหน เพราะชนวนเหตุแรกๆ ก็มาจากสถาบันทางการเงิน
วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นปัญหาการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ในตอนนั้นมีการเปิดเสรีทางการเงิน ให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ แต่ไม่เปิดเสรีทางนโยบาย กลับไปใช้วิธีตรึงดอกเบี้ยแล้วควบคุมการเคลื่อนย้ายของเงินตราต่างประเทศแทน ถ้าคุณเปิดเสรีคุณต้องเสรีทุกด้าน คุณไม่สามารถที่จะให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศเป็นไปโดยเสรี แต่ขณะเดียวกันคุณไปตรึงอัตราดอกเบี้ย
ต่อมาเมื่อต้นปี 2563 คนไทยหันไปเก็งกำไรซื้
อาจารย์มองว่าการกำหนดนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งอยู่มา 6 ปีแล้ว มีอะไรที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนที่จะรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น
ผมคิดว่าปัญหาพื้นฐานก็คือ คนที่เข้ามาบริหารนโยบายเศรษฐกิจไม่มีความรู้ เมื่อไม่มีความรู้ก็แก้ปัญหาลำบาก คนที่มีความรู้ก็ไม่กระโดดลงมา เหตุที่ไม่กระโดดลงมาก็เพราะเห็นตัวอย่างที่รัฐบาลฆ่าขุนพลเศรษฐกิจไปทีละคนสองคน ไม่มีใครกล้าเข้ามาในตอนนี้
รัฐบาลใช้วิธีการสลับเก้าอี้รัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาการเมืองภายใน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับช่วงที่รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เคยใช้ อาจารย์มองประเด็นนี้อย่างไร
ปัญหาก็คือพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต้องการตำแหน่งรัฐมนตรี เกือบจะเป็นเซ็ตเดียวกัน เช่น อยากจะได้กระทรวงพลังงาน เมื่อต้องการเก้าอี้เดียวกัน ความขัดแย้งภายในพรรคจึงสูงมาก แล้วเวลานี้เขาก็ดึงคนใหม่เข้ามา แล้วตั้งเก้าอี้ใหม่เพิ่ม แต่ผมก็มองไม่เห็นอนาคตว่าจะบริหารต่อไปยังไง มันลำบากมาก อย่างที่ผมบอกว่าบรรยากาศภายในรัฐบาลกับภายนอกคือสังคมเศรษฐกิจโลก ไม่เกื้อกูลที่จะทำให้รัฐบาลเดินต่อไปอย่างมั่นคง
ในยุคคุณเปรม ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อจะลดค่าเงินบาท คุณเปรมก็ตัดสินใจลด ถ้าจำได้เหตุการณ์ในปี 2527 เมื่อ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก (อดีตผู้บัญชาการทหารบก) ออกโทรทัศน์ด่าคุณเปรม บอกว่าอย่าให้ลดค่าเงินบาท แต่ตอนนั้น IMF (International Monetary Fund-กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) พูดกับ ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ว่าเงินบาทมีค่าสูงเกินกว่าความเป็นจริง มันต้องลด วีรพงษ์ก็พาชัยวัฒน์ไปหาคุณเปรม คุณเปรมฟังแล้วคุณเปรมก็เอาด้วย แต่อาทิตย์ไม่รู้เรื่อง กลับมาออกโทรทัศน์ คุณเปรมก็เลยเป็นนักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฟันทิ้งไปเลย เอา ชวลิต ยงใจยุทธ ขึ้นมาแทน
เป็นไปได้ไหมว่าทีมเศรษฐกิจที่อยู่ข้างหลังพลเอกเปรม หรือว่ามาจนถึงยุคทีมบ้านพิษณุโลกในสมัย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีส่วนสำคัญในการพยุงรัฐบาล แต่ในกรณีของพลเอกประยุทธ์นั้นไม่มี
ไม่มี อันนี้เป็นความแตกต่างค่อนข้างชัดเจน พลเอกประยุทธ์ไม่เคยมีขุนพลเศรษฐกิจข้างกาย ไม่มีเลยนะ อยู่มาตั้ง 6-7 ปีแล้ว ไม่เคยไว้ใจใคร ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาด แล้วทหารที่ขึ้นมาบริหารรัฐกิจ ก็รู้เฉพาะเรื่องจากทหาร คุณจะเห็นได้จากการที่เขาจัดสรรงบประมาณแผ่นดินไปใช้ในการซื้ออาวุธเป็นอันมาก ผมไม่อยากพูดว่าการซื้อขายอาวุธได้ผลประโยชน์ยังไง แต่อันนี้เป็นการทำลายผลิตภาพของสังคมเศรษฐกิจ เงินที่ใช้ไปไม่ก่อให้เพิ่มพูนประสิทธิภาพในการผลิต แล้วก็เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ มันผลาญไปกับสิ่งซึ่ง… (นิ่ง)
เป็นการใช้จ่ายที่ไม่มีคุณภาพ มันเป็นไปไม่ได้ที่เงินซื้ออาวุธจะช่วยเพิ่มพูนประสิทธิภาพการผลิตในสังคมเศรษฐกิจ
รัฐบาลทหารในยุคนี้ขาดเทคโนแครตมือดี เคยอ่านงานของอาจารย์ก็เคยเสนอว่ายุค จอมพล ป. จะมีเทคโนแครตที่ไว้วางใจได้
เทคโนแครตจริงๆ มันเริ่มยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม เทคโนแครตไม่ได้ขึ้นมามีอำนาจในการตัดสินใจในระดับรัฐบาล พวกนี้ทำงานอยู่ข้างหลัง ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่อาจารย์ป๋วย (ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในเวลานั้นดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) ต้องการจะผลักดันนโยบายให้รัฐบาลไปทำ แต่ทำไม่ได้ อาจารย์ป๋วยจะไปพูดกับเทคโนแครตของ IMF และเทคโนแครตของ World Bank (ธนาคารโลก) บอกให้ช่วยมาพูดหน่อย
มีจดหมายฉบับหนึ่งของพระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปลายรัฐบาลจอมพล ป. ตอนนั้นรัฐบาลจอมพล ป. ใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลเยอะมาก แล้วพระบริภัณฑ์ฯ ที่เป็น รมว.คลัง ของจอมพล ป. ไม่สามารถพูดกับจอมพล ป. ได้ พระบริภัณฑ์ฯ จึงเขียนจดหมายไปถึงประธานธนาคารโลก ให้ช่วยบอกจอมพล ป. ให้รัดเข็มขัด เรื่องนี้มีหลักฐานเป็นเอกสารชัดเจน
แล้วเวลาที่ IMF กับธนาคารโลกกดดันรัฐบาลไทย แล้วทำอะไรไม่ได้ IMF กับธนาคารโลกก็จะมาพูดกับเทคโนแครตไทย อันนี้เป็นวิธีการที่เขาทำเมื่อปลายทศวรรษ 2490
พอมาถึงยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งมีความเก่งในการใช้เทคโนแครต เป็นยุคซึ่งเศรษฐกิจรุดหน้า จอมพลสฤษดิ์ กับ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีลักษณะคล้ายกัน คือใช้คนเป็น คุณเปรมก็ไม่ค่อยรู้เรื่องนะ สฤษดิ์ก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่เขาจับความได้ว่าคนไหนฟังได้ คนไหนฟังไม่ได้ แล้วก็เลือกฟัง แต่คุณประยุทธ์ไม่ได้เป็นแบบนั้นนะ คุณประยุทธ์นี่มีจิตวิญญาณแบบทหารชัดเจน เอาตัวเป็นใหญ่ “ใช้อำนาจเป็นธรรม” (คำของป๋วย อึ๊งภากรณ์ หมายถึงใช้อำนาจในทางขู่เข็ญ โดยพลการ) มันก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่คนไม่ค่อยกล้าเข้าไป คนที่มีฝีมือไม่ค่อยกล้าเข้าไป คนที่มีฝีมือเห็นมาแล้วว่าคนที่มีฝีมือคือรุ่นก่อนนี้ถูกฆ่าไปอย่างไร
ปัญหาเรื่องการขาดคนที่มีความสามารถของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ถือว่าเป็นผลจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ด้วยหรือไม่
นี่เป็นโชคร้ายของคุณ ผมไม่ได้อ่านเลย ผมรู้ว่ามันแย่มาก ผมขี้เกียจอ่าน ผมอ่านรัฐธรรมนูญมาทุกฉบับนะ จนกระทั่งถึงก่อนฉบับ 2560 ผมเห็นว่าผู้ร่างก็สร้างกลไกอะไรเละเทะไปหมด ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่อ่าน เพราะในหลักการบอกว่า “สังคมการเมืองไทยเป็นสังคมมีสิทธิและเสรีภาพ” แต่ในบทเฉพาะกาลมันมีข้อยกเว้นหยุมหยิมไปหมดเลย มันซับซ้อนเกินไป ผมไม่ได้มีสมองขนาดนั้น คือคุณมาไล่ตามคนขี้โกง ไล่ลำบาก เขาไม่ตั้งใจจะให้มันมีสิทธิและเสรีภาพ เราไปเสียเวลาอ่านทำไม แล้วอันนี้กำลังจะมาทำลายรัฐบาลปัจจุบัน
หากย้อนกลับไปมองยังรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 อาจารย์มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เอื้อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร
สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ต้องการสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็ง เพราะฉะนั้นทักษิณเขาเห็นประเด็นนี้ ทักษิณใช้อำนาจเต็มที่เลย แต่บังเอิญเขาก็เป็นคนเก่งน่ะ สามารถดีไซน์นโยบายต่างๆ ออกมาที่ให้เป็นประโยชน์ ข้อเสียที่สำคัญอาจจะเป็นการโกง
ส่วนปัจจุบันรัฐบาลประยุทธ์อาจจะเข้มแข็งในด้านการทหาร แล้วใช้ทหารมาเป็นฐานทางการเมือง แต่ในทางเศรษฐกิจผมคิดว่ามันยากที่จะพูดว่าเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งในทางเศรษฐกิจ อย่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 โชคดีที่ได้ คุณอานันท์ ปันยารชุน มามีส่วนในการดีไซน์รัฐธรรมนูญออกมาในทางที่ผมคิดว่าอาจจะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง พอๆ กับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 แล้วเราก็จะเห็นนวัตกรรมในด้านนโยบายที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 จำนวนมาก
ผมยกตัวอย่างนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งดีไซน์โดยมือแพทย์ชนบทที่มหิดล พวกนี้เขาคิดเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน เขาถกกันที่สามพรานจนกระทั่งความคิดตกผลึก จึงเริ่มเอาไปขายให้รัฐบาล คนที่เดินสายไปขายให้รัฐบาลก็คือ หมอวิชัย โชควิวัฒน กับ หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หมอสงวนเป็นคนฉายสไลด์ หมอวิชัยเป็นคนพูด ตอนหมอวิชัยไปพูดให้ ทักษิณ ชินวัตร ฟัง ทักษิณฟังครึ่งชั่วโมงเอาเลย
ผมถามหมอวิชัยว่าทำไมไม่ไปเสนอ ชวน หลีกภัย เขาบอกว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคแรกที่เข้าไปเสนอ แล้วคุณชวนนั่งเฉยๆ อภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) นั่งเฉยๆ อภิสิทธิ์ยังพูดในที่ประชุมว่า ประชาธิปัตย์มีนโยบายดีกว่านี้ ตั้งแต่วันนั้นจนบัดนี้ยังไม่มีอะไรออกมาจากประชาธิปัตย์
เพราะฉะนั้นทักษิณได้ประโยชน์มากจาก 30 บาทรักษาทุกโรค ต่อมายังช่วยขยายฐานการเมืองของพรรคเพื่อไทยอย่างมหาศาล จนถึงเวลานี้ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าล้ม 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะว่าเมื่อก่อนนี้ถ้าคนจนเป็นไข้หนักๆ ก็นอนรอความตาย แต่ด้วยนโยบายนี้เขามีความมั่นคงด้านสุขภาพอนามัยในระดับหนึ่ง
อาจารย์พูดถึงรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ 2 ฉบับ คือ 2540 กับ 2517 ทั้งสองฉบับมีสาระสำคัญอะไรบ้างที่พอจะเป็นแม่แบบให้รัฐธรรมนูญฉบับต่อไป และมียุคไหนที่เคยมีการผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการบ้างไหม
รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 กับ 2517 คือการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งผมไม่ได้อ่าน ผมคิดว่ามันไม่ได้มีเรื่องเหล่านี้
แต่ความพยายามที่จะสร้างรัฐสวัสดิการก็มีมาตลอด เริ่มขึ้นในสมัยปลายรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในตอนต้นเดินตามปรัชญาเศรษฐกิจชาตินิยม มีการตั้งสำนักงานข้าว มาควบคุมการค้าข้าวระหว่างประเทศ หมายความว่าการค้าข้าวจะไม่เสรี พ่อค้าข้าวไม่สามารถส่งข้าวไปค้าขายต่างประเทศได้อย่างเสรี จะต้องเอาข้าวส่งไปให้สำนักงานข้าว แล้วสำนักงานข้าวจะเป็นคนตัดสินใจว่าจะเอาไปขายประเทศไหน
IMF พยายามที่จะกดดันรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ เพราะเมื่อไทยเป็นสมาชิก IMF กับธนาคารโลก ในปี 2492 รัฐบาลต้องปฏิบัติตามกฎกติกาของ IMF และธนาคารโลก ประเทศสมาชิกต้องยึดปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม เพราะฉะนั้น IMF จึงกดดันรัฐบาลไทยตลอด
การผูกขาดการค้าข้าวที่เป็นปรัชญาเศรษฐกิจชาตินิยม ดำเนินมาจนกระทั่งประมาณปี 2498 ก็มีการยุบสำนักงานข้าว อันนี้อาจารย์ป๋วยบอกว่าเป็นการทุบหม้อข้าวกลุ่มซอยราชครู (กลุ่มการเมืองที่มีอิทธิพลสูงในช่วงทศวรรษ 2490 นำโดย จอมพลผิน ชุณหะวัณ) เพราะกลุ่มนี้กุมสำนักงานข้าว แล้วหาเงินจากส่วนเกินที่สำนักงานข้าวได้ เมื่อก่อนนี้สำนักงานข้าวมีส่วนแบ่งกำไรเข้าไปอยู่ในงบประมาณแผ่นดินจำนวนสูงมาก
ในเวลานั้นเงินรายได้ของรัฐบาลสองเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ คือกำไรนำส่งรัฐของสำนักงานข้าว อีกอันคือกำไรจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา ซึ่งในระบบเศรษฐกิจเสรีจะต้องมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนอัตราเดียว เป็นอัตราที่กำหนดโดยกลไกราคา แต่ว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เงินเฟ้อสูงมาก ตั้งแต่ประมาณปี 2489 ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา ซึ่งมันละเมิดกติกาของ IMF
คราวนี้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คืออัตราที่กำหนดโดยตลาด กับอัตราที่กำหนดโดยรัฐ เวลารัฐบาลจะส่งเสริมกิจกรรมประเภทไหน เช่น ส่งเสริมการเพาะปลูกข้าว รัฐบาลก็จะกำหนดให้เงินตราต่างประเทศที่ได้มาจากการขายข้าวเมื่อนำมาแลกกับรัฐจะได้เงินบาทน้อยลง ซึ่งทำให้ราคาข้าวในประเทศถูกลง รัฐบาลไทยทำอย่างนี้กับสินค้าหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น ยางพารา
ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีกำไรจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา เพราะรับเงินดอลลาร์มา ซึ่งควรจะแลกได้ 30 บาท แต่กลับแลกได้ 20 บาท ก็มีกำไร 10 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ กำไรจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราจึงเป็นสัดส่วนสำคัญในโครงสร้างรายได้รัฐบาล
เรามาเลิกระบบนี้ในปี 2498 แต่สิ่งที่มาแทนมันเลวร้ายกว่าคือการเก็บพรีเมียมข้าว เพราะมันไปกดราคาข้าว คือคุณขายข้าวได้ 30 บาทต่อดอลลาร์ คุณถูกเก็บพรีเมียม สมมุติคุณถูกเก็บพรีเมียมไป 10 บาท แทนที่คุณจะได้ 30 บาท คุณได้เพียง 20 บาท ตรงนี้ก็เป็นกำไรนำส่งรัฐ
ผลประโยชน์ที่กลุ่มซอยราชครูเคยได้รับจากสำนักงานข้าวย้ายไปอยู่ตรงไหน
ผลประโยชน์กลายมาเป็นรายได้รัฐบาล เพราะเมื่อยุบสำนักงานข้าวแล้วไม่ได้ปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปโดยเสรี ยังต้องเอาเงินตราต่างประเทศไปแลกเป็นเงินบาทซึ่งยังได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น กลายเป็นกำไรจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยถ่ายไปให้รัฐบาล
เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในตอนปลายทศวรรษ 2490 จอมพล ป. รู้ว่าอำนาจกำลังจะหลุดลอยไปอยู่กับกลุ่มซอยราชครูที่มี ผิน ชุณหะวัณ เป็นผู้นำ กับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ที่มี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำ จอมพล ป. ก็เลยต้องเปิดเสรี ยกตัวอย่างเช่น เปลี่ยนแปลงกฎหมายแรงงาน อนุญาตให้มีกฎหมายสหภาพแรงงาน อนุญาตให้กรรมกรนัดหยุดงานได้ และเปิดให้มีไฮด์ปาร์คสนามหลวง เปิดให้คนขึ้นมาด่ารัฐบาลได้
เริ่มมีนโยบายรัฐสวัสดิการต่างๆ เช่น มีเงินสงเคราะห์คนมีบุตรมาก กฎหมายนิคมสร้างตนเองให้คนที่ไม่มีที่ดินสามารถมีที่ดินไปประกอบการเกษตรได้ คุณลองไปเช็คได้ จะมีกฎหมายลักษณะนี้เยอะในช่วงปลายรัฐบาลจอมพล ป.
ฟังจากอาจารย์แล้ว ดูเหมือนว่าสถานการณ์ทางการเมืองมีส่วนในการกำหนดโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อยากทราบว่าในปัจจุบันมีเสียงเรียกร้องรัฐสวัสดิการจากการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา อาจารย์มองว่านี่จะเป็นโอกาสที่เปิดไปสู่แนวทางเศรษฐกิจอื่นแค่ไหน
ก็ตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมาก็ยังไม่เกิดใช่ไหม ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากการต่อสู้ระหว่างพลัง 2 กลุ่ม คือพลังเศรษฐกิจชาตินิยมกับพลังเศรษฐกิจเสรีนิยม เวลาที่ทหารขึ้นมามีอำนาจ พลังเศรษฐกิจชาตินิยมมันก็จะขึ้นมาเป็นใหญ่ ทหารก็จะชูนโยบายชาตินิยม แต่เวลาพลเรือนขึ้นมาครองอำนาจรัฐ พลเรือนก็จะผลักดันให้เดินสายเสรีนิยม เหตุการณ์แบบนี้เป็นมาตั้งแต่ปี 2475
ในยุคพลเอกประยุทธ์ เราก็เห็นว่าสังคมเศรษฐกิจไทยมันเดินไปในเส้นทางชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ไม่ยอมเปิดเสรี หรือถ้าเปิดเสรีก็เปิดเสรีแบบก้ำๆ กึ่งๆ คุณประยุทธ์ก็ด่าทักษิณเกือบทุกอาทิตย์ แต่ว่านโยบายหลายอันก็ลอกทักษิณมา มันปฏิเสธไม่ได้
ความต่างในตอนนี้ก็คือโรคระบาดโควิดทำให้คนว่างงาน แล้วคนว่างงานส่วนใหญ่เป็นคนชั้นล่าง คนพวกนี้ไม่มีรายได้ คนพวกนี้อาจจะเป็นพลังเสริมให้กับกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่กำลังก่อม็อบขึ้นในปัจจุบัน แล้วผู้ว่าฯ กทม. ก็ดำเนินนโยบายที่ไปซ้ำเติมไม่ให้พ่อค้าแม่ค้าขายของ คุณเดินออกไปที่ท่าพระจันทร์ก็จะเห็น ว่าพ่อค้าแม่ค้าก็ด่า อัศวิน ขวัญเมือง (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร คสช.) ก็เพราะอยู่ในสภาพการณ์ที่ค่อนข้างลำบาก
สำหรับวิกฤติโควิดคงไม่จบง่ายๆ เวลานี้หลายประเทศเริ่มมีการระบาดระลอก 2 โผล่ขึ้นมาเต็มไปหมดเกือบจะเป็นรายวัน เปิดดูข่าวตอนเช้าก็จะเห็นว่ามันโผล่ขึ้นที่นู่นที่นี่ ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป เศรษฐกิจก็ต้องล่ม มันล่มแน่ๆ
ในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยที่ผลิตงานเรื่องนี้เยอะคือ National Bureau of Economic Research (NBER) มีงานเกี่ยวกับโควิดมากกว่า 100 ชิ้น มีอยู่ชิ้นหนึ่งตั้งคำถามว่า โควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงเหมือนรูปตัววี (V) หรือจะเหมือนรูปตัวแอล (L) โดยเขาศึกษาเศรษฐกิจของนครนิวยอร์ค แล้วบอกว่านิวยอร์คนิ่งแล้ว คือนิวยอร์คมันร่วงลงมาแล้ว มันนิ่งแล้ว มันมีลักษณะราบเป็นตัวแอล (L) แต่มีอีกกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่ามันเป็นตัววี คือดิ่งลงแล้วก็ฟื้นขึ้น
แต่ว่าตั้งแต่มีการระบาดรอบสอง นักเศรษฐศาสตร์เปลี่ยนความคิดเรื่องนี้ไปเยอะ เมื่อก่อนยังคิดว่าพอมันดิ่งลงรวดเร็วปุ๊บ เดี๋ยวมันผงกขึ้นรวดเร็วใช่ไหม แต่ตอนนี้ไม่ใช่ มันดิ่งลงไปเรื่อยๆ (ชี้นิ้วลงพื้น) ไม่รู้จะผงกหัวอีกเมื่อไหร่
วิกฤติโลกครั้งนี้ต่างกับ Great Depression (ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ช่วงปลายปี 1929) อย่างไร
ไม่เหมือนกัน เพราะ Great Depression เป็นปัญหาเศรษฐกิจล้วนๆ ไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพอนามัย ไม่มีปัญหาเรื่องภัยจากโรคระบาดมาฆ่าคน มาฆ่าเศรษฐกิจ Great Depression เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายผิดในสหรัฐอเมริกา คือพอมี Great Depression ดันไปรัดเข็มขัด เหมือนกับในยุคหนึ่งรัฐบาลชวน หลีกภัย รัดเข็มขัด (2540-2543) ซึ่ง IMF บงการนโยบาย ในตอนแรกบงการผิด บงการให้รัดเข็มขัดแล้ว ชวนก็เชื่อ ไปรัดเข็มขัด มันเลยยิ่งไปใหญ่
กระทั่งมีคนทักท้วงในสังคมเศรษฐกิจโลก คนหนึ่งคือ โจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Eugene Stiglitz – นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวอเมริกัน) บอกว่าเศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้จะรัดเข็มขัดไม่ได้ ยิ่งรัดเข็มขัดมันก็ยิ่งดิ่งลง ตอนนั้น สติกลิตซ์ เป็นรองประธานธนาคารโลก ตำแหน่งรองประธานธนาคารโลก ภาษาปกติคือเป็น Chief Economist (หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์) สติกลิตซ์ก็ออกมาด่า IMF ทุกวันเลยนะ จนกระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาคือ ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส (Lawrence Summers) บีบให้ สติกลิสซ์ ออกจากรองประธานธนาคารโลก เพราะว่าสหรัฐมีเสียงสูงสุดในธนาคารโลก
สหรัฐจ่ายเงินให้มากที่สุดก็มีเสียงสูงสุด ในตอนที่ตั้ง Bretton Woods (การประชุมจัดตั้งระบบจัดระเบียบระบบการเงินระหว่างประเทศ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) มีข้อตกลงที่ไม่เป็นวาจา ว่าประธานธนาคารโลกต้องเป็นอเมริกัน ส่วนผู้อำนวยการ IMF ต้องเป็นยุโรป แต่ปีนี้ไม่ใช่แล้ว ปีนี้เป็นอเมริกันทั้งคู่ มีการออกมาวิจารณ์เรื่อยๆ เช่น พอล ครุกแมน (Paul Krugman – นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ชาวอเมริกัน) ตอนวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 เขาเคยวิเคราะห์ไว้ว่าเกาหลีใต้จะเป็นประเทศที่ไปก่อน แล้วก็ไปก่อนจริงๆ ตอนนั้นคนเกาหลีใต้รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์เกาหลีใต้ก็ออกมาด่า พอล ครุกแมน แต่พอวิกฤติเกิดจริงๆ ครุกแมนไปเกาหลีใต้ คนก็ออกมาต้อนรับ (หัวเราะ)
แต่วิกฤติในปัจจุบันไม่ใช่วิกฤติที่เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจล้วนๆ มันไม่ใช่วิกฤติที่เกิดจากคนว่างงานเยอะหรือเงินเฟ้อสูง แต่วิกฤติอันนี้พื้นฐานมาจากโรคระบาด ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ไม่เคยมีระบบการวิเคราะห์ว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร
บางคนเสนอให้กลับมากระตุ้นการบริโภคภายใน ลดการพึ่งพาการท่องเที่ยว ลดการส่งออก มันพูดได้ในทางทฤษฎีนะ แต่เมื่อคนไม่มีตังค์มันจะใช้จ่ายในการบริโภคได้ยังไง คือตอนนี้มันตันไปหมดแล้ว ผมอาจจะ pessimistic มากไปหน่อย มองโลกในแง่ร้าย คือผมคิดว่ามองไปทางไหนมันก็ตันไปหมด
อาจารย์วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจมาหลายครั้ง โดยเฉพาะช่วงปี 2540 ท่าทีของรัฐบาลเป็นอย่างไร
ช่วงปี 2540 นี่ผมเขียนเยอะมากเลยนะ คุณรู้ไหมว่าตอนนั้นผมเขียนบทความ 13 เรื่องต่อสัปดาห์ (หัวเราะ) ผมเขียนจนกระทั่งพิมพ์หนังสือได้ 3 เล่ม ผมออกมาอัดแบงก์ชาติกับกระทรวงการคลังทุกอาทิตย์เลย พอกลับไปอ่าน ผมก็ยังคิดว่าผมวิพากษ์ถูกนะ ผมวิพากษ์ในเส้นทางที่ถูก คือยกตัวอย่างเช่น แบงก์ชาติจะออกมาคุยโม้ว่าระบบเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง ทั้งๆ ที่ IMF มันเตือนว่ากำลังมีปัญหานะ เงินบาทกำลังมีค่าสูงเกินกว่าความเป็นจริง แล้วไม่เชื่อใช่ไหม แล้วข้างในก็ทะเลาะกันเอง แย่งเก้าอี้กันเอง
ตอนนั้นรัฐบาลเขาซื้อไอเดียบ้างไหม
ไม่หรอก ผมไม่ได้หวังให้เขาซื้อไอเดีย ถ้าผมหวังให้เขาซื้อไอเดีย ผมต้องพูดในสิ่งที่เขาอยากฟัง