COVID-19 ดูเหมือนจะเริ่มคลี่คลาย และเป็นสัญญาณดีต้อนรับเปิดเทอมในฤดูกาลใหม่
1 กรกฎาคม 2563 เป็นจุดที่ท้าทายการจัดการของโรงเรียน คุณครู ผู้ปกครอง และเด็กนักเรียนจำนวนหลายล้านคน หนึ่งในประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาตั้งคำถามคือ ตลอดการปิดเทอมอันยาวนานที่ผ่านมา สุขภาวะทางโภชนาการของเด็กนักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หลังจากนี้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องกางแผนรับมือสถานการณ์ที่รออยู่ข้างหน้าอย่างไร
หากจะนึกถึงนักโภชนาการที่มีผลงานโดดเด่นแถวหน้าของเมืองไทย คงหนีไม่พ้นผู้เขียนหนังสือขายดีอย่างเล่มที่ชื่อ กินอยู่อย่างสง่า หรือ สง่าท้าเปลี่ยน และเล่มอื่นๆ อีกไม่น้อย
ในสถานการณ์คาบลูกคาบดอกที่ยังไม่แน่ว่าจะเกิดการระบาดรอบสองอีกหรือไม่ เราจึงมาสนทนากับ สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษาสำนักโภชนาการ กรมอนามัย
ในวัยย่างเข้า 70 แล้ว สง่ายังคงติดตามและเสนอแนะแนวทางที่ถูกที่ควรในด้านสาธารณสุขอย่างสม่ำเสมอ ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน สง่าแบ่งปันความเห็นที่น่าสนใจเพื่อมองหาโอกาสจากวิกฤติ ระหว่างทางแพร่งว่า สถานการณ์ COVID-19 จะหยุดนิ่งหรือลุกลามหลังโรงเรียนเปิดเทอมไปแล้ว และสถานการณ์โภชนาการของเด็กไทยหลังจากนี้จะเป็นไปในทิศทางไหน แล้วจะเชื่อมโยงไปยังมิติเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างไร
เชิญอ่านทัศนะรูปธรรมครบถ้วนจาก สง่า ดามาพงษ์
อยากให้อาจารย์ประเมินสถานการณ์ทางโภชนาการของเด็กนักเรียนในช่วงการระบาดของ COVID-19 มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
หากเป็นการปิดเทอมตามกำหนดการปกติ ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน และเปิดเทอมกลางเดือนพฤษภาคม ช่วงเวลาประมาณ 2 เดือนเศษนี้ เด็กนักเรียนทั่วไปที่พักอยู่บ้านจะทานอาหารที่บ้านตลอดทั้ง 3 มื้อ รวมถึงอาหารว่าง และส่วนใหญ่พ่อแม่จะไปทำงาน พอครบ 2 เดือนครึ่งปุ๊บ สิ่งที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี คือจะมีเด็ก 3 กลุ่ม
กลุ่มแรกเป็นกลุ่มเด็กที่มีการเจริญเติบโตเป็นปกติ กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ขาดสารอาหาร จะเกิดขึ้นกับเด็กฐานะยากจนโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มพ่อแม่ไม่ค่อยมีเงินทุน กลุ่มนี้จะผอมและเตี้ย แต่กลุ่มที่น่าห่วงมาก คือกลุ่มที่สามที่มีภาวะโภชนาการเกิน หรือ ‘เด็กอ้วน’ เดินตุ้มต๊ะตุ้มตุ้ยเข้าโรงเรียน เพราะอยู่บ้านนาน กลุ่มนี้มักกินขนมกรุบกรอบ กินอย่างเดียว ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
สถานการณ์ตอนนี้ที่ต่างออกไปจากภาวะปกติ คือในช่วง COVID-19 ระบาด เด็กต้องอยู่บ้านจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม หรือประมาณ 4 เดือน ซึ่งมีความเสี่ยงที่เด็กจะขาดสารอาหารและมีภาวะโภชนาการเกิน แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าก่อนเกิดการระบาดกับหลังการระบาดไปแล้ว 2-3 เดือน ภาวะโภชนาการของเด็กแตกต่างกันอย่างไร แต่จากงานวิจัยหลายชิ้นบอกได้ว่า หากถึงวันที่ 1 กรกฎาคมที่โรงเรียนเปิดเทอมแล้ว เราลองมาชั่งน้ำหนักเด็กในช่วง 2 สัปดาห์หลังเปิดเทอม โดยเอาน้ำหนัก-ส่วนสูงของเด็กมาเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ ที่ไม่มี COVID-19 ระบาด เมื่อคิดออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ มั่นใจได้เลยว่า เด็กขาดสารอาหารจะมีเยอะขึ้น คำว่าขาดสารอาหารก็คือ ผอม เตี้ย เจริญเติบโตไม่สมวัย ในขณะเดียวกันก็จะมีเด็กอ้วนจำนวนเยอะขึ้นเหมือนกัน เพราะตลอด 4 เดือน เขาจะเปิดตู้เย็นทั้งวัน กินขนมกรุบกรอบทั้งวัน ขณะที่เด็กปกติก็อาจจะมีอยู่ในระดับหนึ่ง
ฉะนั้นช่วง COVID-19 ระบาด สิ่งที่น่าห่วงมากที่สุดคือ เด็ก 2 กลุ่ม ได้แก่ เด็กขาดสารอาหาร และเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกินหรือโรคอ้วน
สำหรับผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อเด็ก ในระยะสั้น ต้องยอมรับว่ามีเด็กนักเรียนกว่า 2 ล้านคน ที่ กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ได้สำรวจออกมาแล้วว่าเป็นกลุ่มยากจน แต่ปรากฏว่าในจำนวน 2 ล้านคน หากนำรายได้ต่อเดือนเข้ามาจับ เฉพาะที่เด็กมีเงินไปโรงเรียนต่ำกว่า 1,500 บาทต่อเดือน พบว่ามีถึง 700,000 คน ครอบคลุมตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษา เด็กในส่วนนี้ไม่มีเงินไปโรงเรียน ไม่ได้กินอาหารเช้า เพราะพ่อแม่ไม่มีข้าวจะให้กิน โอกาสจะได้กินมื้อเย็นที่บ้าน ที่ครบคุณค่า ไม่มี เด็กนักเรียนกว่า 700,000 คน มาโรงเรียนเพราะอยากมากินอาหารกลางวัน ฉะนั้นจึงเป็นมื้อที่วิเศษมากสำหรับเขา
โรงเรียนซึ่งได้เงินจากรัฐบาล 20 บาทต่อวันต่อคน เพื่อมาทำอาหารกลางวันให้เด็กกิน ครูก็ทำอาหารอย่างดี มีอาหารครบ 5 หมู่ เอร็ดอร่อย ทีนี้ช่วงระหว่างยังไม่เปิดเทอม เด็กก็ภาวนาว่าเมื่อไรจะเปิดเทอม เพราะจะได้กินอาหารที่อร่อย เพราะที่บ้านอาจจะกินข้าวคลุกน้ำปลา กินข้าวกับผักจิ้มน้ำพริก ไม่มีโปรตีน ไม่มีเนื้อสัตว์ ฉะนั้น ในระยะสั้นเราจะปล่อยให้เด็กเหล่านี้หิวโหยต่อไปไม่ได้แล้ว กสศ. จึงอนุมัติเงินมาได้ 300 ล้านบาท อย่างไรก็ตามก็ยังเป็นจำนวนเงินที่จำกัด เพราะสามารถจัดสรรให้กับเด็กได้เพียง 500,000 คน แต่เด็กจนพิเศษจริงๆ คือ 700,000 คน
ทีนี้ทำไมเราจึงเอา 500,000 คนเป็นตัวตั้ง เพราะเราวิจัยออกมาแล้วว่า เด็กจำนวน 500,000 คน คือกลุ่มเด็กระดับ ป.1 ถึง ป.6 เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอนุบาลหรือกลุ่มมัธยมต้น เมื่อมีงบประมาณเพียง 300 ล้านบาท จึงเอามาช่วยเด็กระดับประถมก่อน
เด็กในชั้นประถมศึกษาแตกต่างจากเด็กอนุบาลและมัธยมต้นอย่างไร
งานวิจัยเริ่มจากการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วิเคราะห์ลักษณะของครอบครัว ดูลักษณะการกินอาหาร จึงคำนวณออกมาแล้วว่า เด็ก ป.1-6 ได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่าอนุบาลและมัธยม จริงๆ แล้ว รุนแรงพอกันในความรู้สึกของนักโภชนาการอย่างผม เมื่องบประมาณมีเท่านั้นจึงจัดสรรให้เด็กคนละ 600 บาท ถามว่าเอาไปทำอะไร ซึ่งผมได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับ กสศ. ว่าอะไรที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เด็กกินอิ่ม เด็กกินแล้วไม่ขาดสารอาหาร และอยู่ได้ยาวนานประมาณ 30 วัน
ในฐานะที่ผมเป็นนักโภชนาการ ผมฟันธงว่าเงิน 600 บาท ต้องให้โรงเรียนซื้ออาหาร 4-5 อย่างดังต่อไปนี้ หนึ่ง-ข้าวสาร ครอบครัวละ 20 กิโลกรัม เด็กไม่มีข้าวจะกรอกหม้อ ข้าวสารคืออาหารที่กินเข้าไปแล้วให้พลังงาน คาร์โบไฮเดรตเป็นอาหารหลักที่คนขาดไม่ได้ สอง-ข้าวต้องกินกับกับข้าวที่ดีที่สุด มีคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุด แล้วเก็บไว้ได้นาน ราคาไม่แพง คือ ไข่เป็ด ไข่ไก่ มีโปรตีนสูงมาก วิตามินแร่ธาตุสูง บรรเทาการขาดสารอาหารของเด็กได้ ให้ครอบครัวละประมาณ 36 ฟอง สาม-ปลากระป๋อง เอามาสลับกับไข่บ้าง ปลากระป๋องเก็บไว้ได้นาน ปลากระป๋องมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีโปรตีน มีไอโอดีน มีแคลเซียม และราคาไม่แพงมากจนเกินไป เอาไปปรุงอาหารได้หลายอย่าง เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินดี
ส่วนที่เหลือจึงเป็นผัก ผลไม้ และสิ่งที่เราต้องซื้อให้อีกอย่างก็คือ น้ำมันปรุงอาหาร น้ำมันพืช หลายคนอาจมองข้ามเรื่องนี้ น้ำมันคืออาหารอย่างหนึ่งที่ร่างกายต้องการ ถ้าเราขาดน้ำมัน เราจะมีพลังงานน้อย ไม่มีความอบอุ่นในร่างกาย และที่สำคัญที่สุดเราจะขาดวิตามินบางตัว วิตามิน A วิตามิน D วิตามิน E วิตามิน K วิตามินทั้ง 4 ตัวนี้จำเป็นต่อร่างกายและสมองของเด็กมาก เพราะละลายในน้ำไม่ได้ ต้องละลายในไขมัน พอเรากินฟักทอง มีวิตามิน A เยอะ เรากินนม มีวิตามิน D มาก เรากินอาหารที่มีวิตามิน E กับ K เยอะ แต่ถ้ากินเข้าไปแล้วไม่มีน้ำมันเข้าไปด้วย ร่างกายก็เอาวิตามินทั้ง 4 ตัว ไปใช้ไม่ได้
ดูเหมือนว่าสถานการณ์ COVID-19 ตอนนี้จะเริ่มคลี่คลาย พูดได้หรือไม่ว่าเราจัดการได้อยู่มือแล้ว
สำหรับการควบคุม COVID-19 ของประเทศไทย จะเห็นว่าทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) ต่างชื่นชมว่าไทยมีมาตรการที่ดีมาก มีการใช้ข้อมูลเชิงระบาดวิทยาเข้ามาควบคุม แล้วเราก็เหลียวซ้าย แลขวา หันหน้า แล้วก็มองไปข้างหลัง ดูประเทศเพื่อนบ้านว่าเขาทำอะไรกันอยู่ จากนั้นเอาข้อมูลเข้ามาแก้ไขปัญหา ผมมั่นใจว่าถ้าเราไม่มีการระบาดระลอกสอง เราจะกลายเป็นไทยแลนด์โมเดล เนื่องจากการทำงานของไทยไม่เหมือนประเทศอื่น ประเทศไทยมีอัตลักษณ์ของตัวเองอยู่หลายด้าน
ด้านหนึ่ง เรามีความมั่นคงทางการแพทย์และสาธารณสุข หมอเราเก่ง วางแผนเก่ง และหมอเราอุทิศให้กับประชาชน และเรายังมี อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ทำให้โครงสร้างทางด้านสาธารณสุขเข้มแข็ง เรามี อสม. กว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ เป็นคนควบคุมคนในชุมชน ไม่ให้เกิดการระบาดไปไกลกว่านั้น อีกด้านหนึ่งคือ ที่มักเข้าใจว่าคนไทยไม่มีระเบียบ แต่พอเข้าตาจน พอเห็นโลงศพลอยมา คนไทยนี่ระเบียบจัดเลย ผมไม่เคยเห็นครั้งใดที่คนไทยปฏิบัติตามที่รัฐบาลขอร้อง หรือสังคมขอร้องได้ดีเท่ากับตอน COVID-19 ระบาด วัดได้จากการใส่หน้ากากอนามัยเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ วัดได้จากการเว้นระยะห่างทางสังคม วัดได้จากการกักตัว วัดได้จากเคอร์ฟิวที่มีเปอร์เซ็นต์คนฝ่าฝืนต่ำมาก อันนี้เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งที่น่าคิด
อยากให้อาจารย์วิเคราะห์ต่อว่า การระบาดระลอกสองจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้แค่ไหน
ในส่วนที่ว่าจะมีโอกาสกลับมาระบาดไหม เหมือนเกาหลีใต้ สิงคโปร์ หรือญี่ปุ่น ผมว่ามี แต่ขณะเดียวกัน ถ้าหากมันจะไม่มี จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าหลังจากผ่อนปรนแล้ว คนไทยยังมีระเบียบวินัยต่อเนื่อง อย่างที่เราใช้คำพูดติดปากเสมอว่าการ์ดอย่าตก ถ้าการ์ดเราไม่ตก เรายังใส่แมสก์อยู่ เรายังเว้นระยะห่างอยู่ อันนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการลดการระบาดระลอกสอง
แต่สิ่งที่เหนือการควบคุมก็มี ตรงนี้แหละคือความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่น พอเปิดศูนย์การค้าปุ๊บ การ์ดตก เกิดการหละหลวม คนที่ติดเชื้อไม่รู้ตัวแล้วหลงเข้าไปในศูนย์การค้า คิดว่าตัวเองยังไม่มีไข้ถึง 37.5 อาจจะแค่ 37 หรือ 36.8 พอเข้าไปปุ๊บก็อาจจะกลายเป็น super spreader ถึงตอนนั้นแอพพลิเคชั่น ‘ไทยชนะ’ จะทำงานหนักมาก
ที่น่ากลัวมากที่สุดคือ สมมุติเปิดเทอมไปแล้ว จะมีเด็กที่รับเชื้อจากครอบครัว จากคนที่บ้าน แล้วเอามาแพร่ที่โรงเรียนหรือไม่ เพราะเด็กมีหลายล้าน แล้วก็อยู่หนาแน่นในโรงเรียน การเว้นระยะห่างทางสังคมสำหรับเด็กก็เหมือนจับปูใส่กระด้ง เพราะฉะนั้นแม้จะมีมาตรการคลายล็อค แต่เรายังเข้มงวดได้ดี ก็จะช่วยไม่ให้เกิดการระบาดรอบสองได้ รวมถึงเงื่อนไขในการเปิดประเทศที่จะให้ชาวต่างชาติไหลทะลักเข้ามา เพื่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ตรงนี้ก็น่าห่วง ฉะนั้นต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
กลับมาที่เรื่องการแก้ไขปัญหาทางโภชนาการ ดูเหมือนจะมีการเริ่มโครงการไปแล้ว ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แนวทางการแก้ไขเช่นนี้จะเดินไปอย่างไรต่อ
ในระยะสั้นที่เป็นการให้ความช่วยเหลือ อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาตรงจุดจริงๆ แต่ก็บรรเทาปัญหาได้ เพราะจะไปเอาเงินที่ไหนมาซื้ออาหารให้คนกินฟรีๆ 600 บาทต่อครอบครัวได้ตลอดไป แต่ก็อยากบอกไปยังหลายโรงเรียนว่า อย่านำเงินส่วนนี้ไปซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือขนมกรุบกรอบ เด็กจะขาดสารอาหารกันเป็นแถวเลย กรุณาเอาเงินไปซื้ออาหารตามที่ระบุไว้คือ ข้าวสาร ไข่ ปลากระป๋อง หรือปลาแห้ง หมูแห้ง แล้วแต่ที่จะดัดแปลงได้ รวมถึงผัก ผลไม้ และน้ำมัน
ในระยะกลาง กสศ. กำลังมองว่า ถ้าสมมุติ COVID-19 ยังระบาดต่อไป หรือเปิดเทอมแล้วยังระบาดอยู่บ้าง ก็จะมีการวางแผนส่งเสริมให้โรงเรียนปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ให้มากขึ้นกว่านี้ได้อย่างไร คือเป็นการส่งเสริมให้เขาพึ่งพาตนเองให้ได้ ทำให้คนเข้าถึงอาหารหรือร้านขายของชำในหมู่บ้านในราคาที่ไม่แพง ตัวอย่างเช่น อาจจะให้คูปองกับครอบครัวของเด็กที่ขาดสารอาหาร แล้วไปตกลงกับร้านขายของชำในหมู่บ้าน ในชุมชน ว่าถ้าป้าศรีเอาคูปองนี้มาแลกไข่ ให้ป้าศรีนะ แต่ถ้าป้าศรีเอาคูปองนี้ไปแลกขนมกรุบกรอบ ไปแลกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อย่าให้
ระบบนี้มีการทดลองทำในชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานครได้ผลดีมาก และที่สำคัญที่สุดก็คือดีกว่าการแจกเงิน ระบบคูปองยังกระจายเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในชุมชนด้วย
สุดท้ายคือ ในระยะยาว กสศ. มีแผนที่ชัดเจนมาก ว่าต่อไปนี้เราจะขจัดความยากจน เราจะทำให้เด็กที่ยากจนพิเศษนั้นยกระดับขึ้นมาได้อย่างไร อันนี้เป็นระยะยาว ต้องแก้ไข้ปัญหาที่ความยากจน
การระบาดระลอกสองที่อาจจะเกิดขึ้นได้หลังเปิดเทอม โรงเรียน โรงอาหาร รวมถึงแม่ครัว จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
อย่างแรกโรงเรียนควรปฏิบัติตามกฎกติกาของกรมอนามัยและกระทรวงศึกษาธิการ นั่นคือควรมีการเว้นระยะห่าง ใส่แมสก์ ล้างมือ เมื่อก่อนไม่มีที่ล้างมือในโรงเรียน ตอนนี้ต้องจัดการ เมื่อก่อนจัดห้อง ให้เด็กนักเรียนนั่งติดกัน ก็ต้องทำ social distancing แล้ว ต้องเตรียมตัวแล้ว เมื่อก่อนปล่อยให้เด็กไปวิ่งเล่นกลางสนาม ฟัดกันนัวเนีย ต้องระมัดระวังแล้ว แล้วครูต้องทำเป็นตัวอย่าง การเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพต้องเกิดขึ้น
มาถึงด้านอาหารและโภชนาการ เมื่อเปิดเทอมแล้วอย่างแรกต้องปฏิวัติโรงอาหาร ทุกอย่างต้องสะอาด จาน ช้อนกลาง กระทะ หม้อ ไห ต้องดูแลความสะอาดเป็นอย่างดี ทั้งสถานที่และอุปกรณ์เครื่องครัว อย่างที่สอง ตัวแม่ครัวต้องอบรมอย่างดี ระหว่างทำอาหาร ระหว่างเสิร์ฟอาหาร ต้องใส่แมสก์ ใส่เอี๊ยม ใส่หมวกตลอดเวลา อย่างที่สาม กับข้าวที่เด็กจะต้องกินร่วมกัน ต้องมีช้อนกลางเกิดขึ้น ฝึกให้เด็กกินช้อนกลาง และอาหารที่ปรุงนั้นต้องเป็นอาหารที่ร้อนๆ หลายโรงเรียนสั่งอาหารมาให้เด็กนักเรียนกิน เย็นชืด เมนูอาหารที่เราจะต้องทำเป็นพิเศษ จะต้องยึดตาม ‘Thai School Lunch Program’ (การจัดอาหารกลางวันเด็กที่มีคุณภาพ) ซึ่งเป็นเมนูที่โรงเรียนทั่วประเทศใช้กันอยู่ ก็คือเป็นเมนูที่ป้อนข้อมูลของนักเรียนเข้าไป แล้วตัวเมนูก็จะไหลออกมา แม่ครัวเอาเมนูนี้ไปทำกับข้าวให้เด็กกิน พอเด็กกิน เด็กก็จะได้สารอาหารครบถ้วน
ที่ผ่านมายังใช้ไม่ครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นนี่คือการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญต้องมีการประชุมผู้ปกครอง ให้ผู้ปกครองสร้างความร่วมมือกับโรงเรียนว่า เมื่อเด็กกลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่แล้ว สิ่งที่พ่อแม่ต้องปฏิบัติต่อลูกคืออะไร
อีกมิติหนึ่งที่ลึกไปกว่านั้นคือ ปัญหาทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อโรงเรียน แต่ยังส่งผลถึงครอบครัวด้วย อาจารย์มองประเด็นนี้อย่างไร
COVID-19 สร้างความเจ็บปวด และยังสอนมนุษย์ด้วยว่าเมื่อเกิดโรคระบาด โลกสะอาดขึ้น หอย ปู ปลา นกนางนวล ทะเล ปะการัง ธรรมชาติถูกฟื้นขึ้นมา บทเรียนอีกอย่างหนึ่งคือ ‘เมื่อ COVID-19 มา ปัญญาเกิด’ ตัวอย่างเช่น ‘ตู้ปันสุข’ นี่คือปัญญา การที่พระภิกษุเมื่อก่อนเคยออกบิณฑบาต แต่ตอนนี้พระภิกษุเอาอาหารไปแจกโยม เศรษฐียืนแจกเงินคนละ 500 บาท ตรงนี้คือความสวยงามที่สังคมไทยมีอยู่ เรียกว่าเรามีความมั่นคงทางวัฒนธรรมและสังคม เรามีความเกื้อกูลกัน อันนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยอยู่รอด
ทีนี้บทเรียนที่เราได้รับ คือปัญหาทางเศรษฐกิจส่งผลต่อเรื่องปากท้องและกระทบต่อเด็กมากที่สุด ถ้าเรายังไม่ปรับตัว เราจะอยู่อย่างไม่มีความสุข ทำให้เราต้องมาคิดใหม่ว่าผลกระทบครั้งนี้มันเกิดขึ้นทุกประเทศ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย และไม่ใช่เฉพาะคนยากจน เศรษฐีติดระดับโลกก็กระทบหมด ในเมื่อมันกระทบหมด แล้วจะเกิดอะไรขึ้น เศรษฐกิจอาจจะกระทบแน่นอน พอเศรษฐกิจกระทบแล้ว ก็ย่อมกระทบต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของมวลมนุษย์ด้วย
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก พอเราปิดประเทศ นักท่องเที่ยวไม่มา คนที่ทำปลาตะเพียนขายให้นักท่องเที่ยวฝรั่งเศสกับอเมริกาก็ไม่ได้ทำแล้ว คนที่มาจากอุดรธานี มาเป็นกุ๊ก มาเป็นพ่อครัวอยู่ในโรงแรมชื่อดัง พอไม่มีนักท่องเที่ยว โรงแรมปิด ก็ต้องกลับไปทำนา แต่นั่นคือผลกระทบระยะสั้น
ผลกระทบในระยะยาวที่เห็นชัดเจนที่สุด ไม่ว่าผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ วัยทำงาน เด็กนักเรียน เด็กเล็ก ผมคิดว่าคนที่กระทบกระเทือนที่สุดก็คือกลุ่มเด็ก ทำไมกลุ่มเด็กจึงได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะเด็กวัยเรียน วัยก่อนอนุบาล ประถม เป็นวัยที่ร่างกายและสมองกำลังเจริญเติบโต ผู้ใหญ่อย่างพวกเราหยุดเติบโตกันแล้ว มีแต่จะเหี่ยวลงๆ แต่การเจริญเติบโตของเด็ก ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อยู่ๆ จะเกิดขึ้นเองไม่ได้ เด็กต้องได้รับอาหารที่ถูกหลักโภชนาการครบ 5 หมู่ เข้าไปหล่อเลี้ยงเซลล์ในร่างกายให้เจริญเติบโตขึ้นมา ให้ตัวเขายาวขึ้นมา ให้สมองที่กำลังขยายอย่างรวดเร็ว เกาะเกี่ยวกัน เชื่อมโยงกันอย่างหนาแน่น
เราส่งครูในโรงเรียนไปเรียนปริญญาโท ดอกเตอร์ สร้างโรงเรียน อาคารสวยงามมาก แต่เด็กที่เดินเข้าไปในรั้วโรงเรียน ขาดสารอาหาร สมองไอคิวต่ำ ต่อให้ครูจบดอกเตอร์กี่ใบมาสอน ก็ไม่มีทางฟื้น โง่แล้วโง่เลย ถ้าเด็กขาดสารอาหาร 4 เดือน ระหว่างปิดเทอมอยู่บ้านช่วง COVID-19 ระบาด สมองฝ่อ เปิดเทอมมาเดือนกรกฎาคม อัดให้เด็กกินอาหารถูกหลัก ร่างกายอาจจะฟื้นขึ้นมา แต่สมองไม่ฟื้น ตายแล้วตายเลยสำหรับเซลล์ ยกเว้นในระยะยาวที่เราจะดูแลเด็กคนนี้ระหว่างการเติบโต แล้วให้อาหารที่ถูกหลัก เซลล์สมองที่สร้างขึ้นมาใหม่อาจจะมาทดแทนและอาจจะดีขึ้น แต่จะไม่เหมือนเด็กที่เขาไม่เคยขาดสารอาหารเลย นี่คือผลกระทบที่ยิ่งใหญ่นะครับ
อาจารย์เคยบอกว่า ถ้าจะต้องแก้ปัญหาระยะยาวต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะสภาพที่เป็นอยู่คือ คนหนุ่มสาวไปทำงานในกรุงเทพฯ ปล่อยลูกให้อยู่กับตายาย
สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้ แล้วคิดว่าน่าจะเป็นเชิงบวก ฉวยเอาวิกฤติมาเป็นโอกาสได้ ตัวอย่างเช่น พ่อแม่เคยทำงานอยู่ที่โรงงาน จังหวัดสมุทรปราการ แต่บ้านอยู่กาฬสินธุ์ พอโรงงานปิด ห้างร้านปิด ตกงาน เคยขับแท็กซี่ เคยทำงานอยู่ร้านอาหารในกรุงเทพฯ พอร้านอาหารปิด ต้องกลับบ้าน พอกลับไปบ้านคราวนี้ มีหลายคนไปเจอความเปลี่ยนแปลง
กลับไปครั้งนี้ ฝนกำลังลงพอดีเลย เรือกสวนไร่นาเขาก็พอจะมี หรือไม่ก็ไปเช่า กลับไปเจอแม่เขา ไปเจอพ่อเขา ไปเจอยายเขา ไปเจอลูกที่เคยทิ้งไว้กับยาย กินข้าวด้วยกันทั้งสามมื้อ เชื่อไหมครับ คนเหล่านี้น้ำตาไหล คนเหล่านี้เริ่มรู้ว่าการอยู่กับครอบครัว คือความสุขอันยิ่งใหญ่ ได้ป้อนข้าวลูก ได้อาบน้ำให้ลูก ได้พูดคุยกับลูก แม้ไม่มีเงิน ช่วยกันปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ คนเหล่านี้อยู่บ้าน 2 เดือนกว่า ผมมั่นใจเลยว่า พอโรงงานเปิด พอเราคลายล็อค มีคนจำนวนหนึ่งไม่กลับกรุงเทพฯ มีคนจำนวนหนึ่งไม่เดินทางเข้าเมือง คนเหล่านี้ค้นพบสัจธรรมว่า การอยู่บ้านตัวเอง แล้วหาช่องทางในการทำให้ตัวเองพออยู่พอกิน ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 มาใช้ ผมมั่นใจว่าหน้าฝนนี้ คนเหล่านี้จะมีความสุข
การเพิ่มเงินให้เขา ไปแจก 5,000 อย่างเดียวนั้นทำไม่ได้ แต่ใครที่อยู่กับบ้าน ทำการเกษตร แล้วอยู่กับครอบครัว ดูแลลูก ดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า ทำเรือกสวนไร่นา แล้วคุณอัดเงินให้เขา ส่งเสริมเขา ให้เขาพออยู่พอกิน ขายผลิตผลทางการเกษตรได้ พอพ้นหน้าฝน ถึงฤดูเก็บเกี่ยว ความสุขจะเกิดขึ้นมหาศาล แล้วที่สำคัญความแออัดในเขตเมืองก็จะไม่เกิด การควบคุมคนจะง่ายขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดคือเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นก็คือ อยู่บ้านไม่มีจะกิน ปลูกยางราคาตก อ้อย มันสำปะหลัง ราคาตก หน้าแล้งไม่มีน้ำ ไม่มีใครอยากจะหนีจากบ้านตัวเองถ้ามันไม่จำเป็น แต่ต้องออกจากบ้านเข้ามากรุงเทพฯ ขับแท็กซี่
เราจะทำอย่างไรให้คนอยู่บ้าน รัฐกล้าลงทุนไหม ธนาคารโลกออกมาตะโกนบอกคนทั้งโลกหลายปีมาแล้วว่า ประเทศใดก็ตามถ้าฉลาด กล้าเอาเงินมาลงทุนด้านอาหารและโภชนาการให้กับแม่และเด็ก รัฐบาลใดก็ตามที่เอาเงินมาลงทุนให้แม่และเด็กกินอาหารอิ่มและมีคุณค่าทางโภชนาการ ไม่ขาดสารอาหาร มีสุขภาพที่ดี ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด
ถามว่าทำไม เพราะถ้าคุณทำให้เด็กกินอิ่ม ไม่ขาดอาหาร ถ้าทำให้แม่มีสุขภาพดี เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คนในครอบครัวกินอิ่ม คุณลงทุนแค่ 1 บาท แต่คุณจะได้กำไรมาประมาณ 30 บาท เมื่อเด็กคนนั้นโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เรียนหนังสือ แล้วจบไปทำงาน เป็นวิศวกร เป็นข้าราชการ เด็กคนนั้นจะเป็นคนที่มีคุณภาพ เป็นการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องลงทุน แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลหลายประเทศมองไม่เห็นจุดนี้ ไม่ได้เอาเงินมาลงทุนสร้างคน เอาเงินไปสร้างฝายกั้นน้ำ ไปสร้างป่า ไปซื้อเครื่องบิน ไปซื้ออาวุธมาห้ำหั่นกัน มนุษย์ลืมไปว่าการลงทุนสร้างคนนั้นมันต้องลงทุน
ที่อาจารย์อธิบาย จะเห็นทั้งการจัดการทางโภชนาการ การจัดการทางรัฐศาสตร์ การจัดการทางเศรษฐกิจ แต่อีกแง่หนึ่งเรายังมีต้นทุนทางสังคมที่สำคัญคือ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน นักพัฒนา หรือนักกิจกรรมต่างๆ เราจะสร้างให้เกิดคนเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไร
บทเรียนที่เราได้รับ ตั้งแต่วาตภัย ภัยแล้ง สึนามิ น้ำท่วมใหญ่ จนถึง COVID-19 คือเราเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่ไม่เหมือนประเทศใดในโลก ทำให้เรารักประเทศไทย เพราะเราไม่เหมือนใคร คำว่าไม่เหมือนใครมันมีหลายมิติ ในมิติของผม ผมมองว่าประเทศไทยจะอยู่รอด แม้ว่า COVID-19 จะยังระบาดอยู่ แต่ประเทศไทยได้เปรียบกว่าอีกหลายประเทศ เพราะเรามีความมั่นคงอย่างน้อย 4 อย่าง ข้อที่หนึ่ง ประเทศไทยมีความมั่นคงทางด้านอาหาร อย่างสิงคโปร์เมื่อ COVID-19 ระบาด แล้วเขาจะปิดเมือง สิ่งที่เขากลัวมากที่สุดคือไม่มีอาหารจะกิน แต่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพียงไม่กี่ประเทศในโลกนี้ที่ยังสามารถผลิตอาหารเลี้ยงประชากรตัวเอง แล้วส่งออกไปขายเลี้ยงประชากรโลกได้ เราไม่เคยขาดแคลน
กรณีนี้ถึงแม้ COVID-19 จะยังไม่หยุดระบาด แต่ชาวนาไทยยังดำนาอยู่ ชาวประมงยังออกหาปลาอยู่ เล้าไก่ยังมีไก่อยู่ เรามีข้าวกิน เรามีผักกิน เรามีปลากิน เรามีความมั่นคงทางอาหาร
ข้อที่สอง เรามีความมั่นคงทางการแพทย์และสาธารณสุข และข้อที่สาม เรามีความมั่นคงทางวัฒนธรรมและสังคม เราเห็นการหยิบยื่นสิ่งของให้แก่กันคือการสร้างบุญ คนไทยชอบทำบุญ การทำบุญฝังอยู่ใน DNA ของคนไทย เพราะฉะนั้นเราช่วยเหลือกัน ผมมั่นใจว่า ความมั่นคงทางวัฒนธรรมและสังคมบ้านเราเกิดขึ้นได้ เพราะเรามีปราชญ์ชุมชน เรามีคนเก่งที่ฝังตัวอยู่ในสังคมเยอะ ฉะนั้นความมั่นคงนี้จึงเป็นทุนทางสังคมที่แข็งแกร่งมากของคนไทย
ข้อสุดท้าย เรามีความมั่นคงในแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ผมบอกเลยว่า อนาคตทุกประเทศทั่วโลกต้องใช้แนวคิดของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 คือเศรษฐกิจพอเพียง มนุษย์จะฟุ่มเฟือย เฟอะฟะ แบบนี้ต่อไปไม่ได้ มนุษย์จะทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว มนุษย์จะไปทำอะไรที่ประหลาดพิสดารไม่ได้อีกต่อไป อุบัติการณ์โรคที่ตามมา มนุษย์กำลังสร้างโรคใหม่ขึ้นมาฆ่าตัวเอง มนุษย์จะทุ่มเงินไปกับการซื้ออาวุธสงครามมาห้ำหั่นกันไม่ได้อีกแล้ว มนุษย์ต้องหันกลับมาดูว่าจะอยู่กับธรรมชาติได้อย่างไร มนุษย์จะต้องเกื้อกูลกันอย่างไร มนุษย์จะต้องทำให้ตัวเองมีความสุขมากกว่านี้ได้อย่างไร
คำถามคือ แล้วใครจะนำความมั่นคงทั้ง 4 ด้านนี้ไปสานต่อเพื่อให้เกิดมรรคผลหลังจาก COVID-19 หยุดระบาด เรากำลังพุ่งไปที่การฟื้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมาใหม่ เรากำลังถามว่าเราจะขายของได้อย่างไร เราจะถามตัวเองในเชิงเศรษฐกิจ แต่นั่นคือเศรษฐกิจ แล้วเรากำลังถามตัวเองว่า เราจะทำให้ COVID-19 หมดไปจากประเทศ จากโลกได้อย่างไร
มนุษย์จำนวนน้อยและจำนวนไม่เยอะเลยที่กำลังมองว่า แล้ว COVID-19 สอนอะไรเราบ้าง แล้วเราจะเอา new normal มาเปลี่ยน mind set ในการอยู่ร่วมกันทั้งโลกได้อย่างไร ที่ผมยกตัวอย่างจุดเล็กๆ ก็คือ คนขับแท็กซี่กลับไปอยู่อุดรฯ แล้วไม่กลับคืนกรุงเทพฯ มาขับแท็กซี่ใหม่ แต่อยู่กับครอบครัวเขาไปตลอดชีวิต นี่คือตัวอย่าง เราจะทำได้อย่างไร ใครจะเป็นคนทำ ผมขอฝากคำถามนี้ไว้
ทำไมอาจารย์จึงเชื่อมั่นว่า ทุนทางสังคมและการยกระดับทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุดในการแก้ไขคุณภาพชีวิตของคน
การที่เราจะนำเอาเรื่องโภชนาการและสุขภาพเข้ามาส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนหลัง COVID-19 หยุดระบาด ทำให้เด็กได้กินอิ่ม ทำให้เด็กมีโภชนาการที่ดี และเป็นการลงทุนเพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดความเข้มแข็ง ผมขอบอกว่าเราไม่สามารถจะเอาทฤษฎีของโภชนาการ หรือความรู้เรื่องโภชนาการเข้ามาทำอย่างเดียวได้
คำว่าโภชนาการจะต้องเข้าไปเกี่ยวโยงกับทุกมิติของมนุษย์ ก่อนที่คนจะมีภาวะโภชนาการดี คนต้องมีอาหารที่ดี คนจะมีอาหารที่ดี ดินต้องอุดมสมบูรณ์ ต้องไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ต้องไม่ทำอะไรที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม พออาหารเก็บมาจากรั้ว ต้องมีการขนส่ง เข้าไปสู่ร้านอาหาร เข้าไปสู่ครัว ระบบการตลาดก็เกิดขึ้น มีการซื้อขาย มีการแลกเปลี่ยนกัน เอาอาหารเข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรม เอาไปแปรรูป ใส่ลงในกระป๋อง บรรจุหีบห่อ เอาไปขาย เอาเข้าไปในโรงเรียน
ทั้งหมดทั้งปวงนี้คือความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้น อาหารและโภชนาการจึงเกี่ยวโยงทั้งกับการเกษตร เกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจ เกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมประเพณี เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิต เกี่ยวโยงกับสิ่งแวดล้อม เกี่ยวโยงกับธรรมชาติ เกี่ยวโยงกับความปลอดภัย เกี่ยวโยงกับรายได้ เกี่ยวโยงกับความอยู่รอดของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความเชื่อมโยงนี้เราทิ้งอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ เพราะฉะนั้นการสร้างอาหารและโภชนาการที่ดี จะต้องเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม holistic approach จะทำอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ ต้องไปด้วยกัน เพื่อจะสร้างทรัพยากรมนุษย์ด้วยโภชนาการ