วันหนึ่งระหว่างว่างจากงาน ฉันทักเพื่อนสาวสมัยเรียนไปว่า “เฮ้ยแก รู้ป่ะ ข้างๆ ที่ทำงานฉันน่ะ มีศิลปินเป็นเจ้าชาย”
เพื่อนตอบกลับมาว่า “ห้ะ?” ก่อนจะถามต่อว่า “พี แกดูซีรีส์เยอะไปป่าววะ” ฉันเลยตอบว่า “เจ้าชายจริงจริ๊งงงง” อีเพื่อนตัวดีไม่เชื่อ แต่ไม่เป็นไรหรอก ทักไปบอกใครๆ เขาก็ไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่หรอก อยู่ๆ จะมีเจ้าชายมาทำงานที่แกลเลอรีข้างๆ กันนี่ไม่ใช่ละครนะ
ฉันเริ่มงานใหม่ที่แกลเลอรีในซอยนราธิวาส 22 มีชุมชนศิลปะเรียกว่า N22 อยู่ แกลเลอรีหนึ่งในนั้นคือ Cartel Artspace กำลังจัดแสดงนิทรรศการของศิลปิน ‘เจ้าชาย’ ที่ว่าอยู่ ชื่อนิทรรศการคือ ‘สำนักงานยองห้วยพลัดถิ่น’ (Yawnghwe Office in Exile)
สว่างวงศ์ ยองห้วย เป็นศิลปินชาวไทใหญ่สัญชาติแคนาดา เกิดในกองทัพรัฐฉาน ประเทศไทย เขาเติบโตที่เชียงใหม่ก่อนจะย้ายไปเรียนที่แคนาดา และเรียนต่อศิลปะในอิตาลีเป็นเวลา 10 ปี
ที่ว่าเป็น ‘เจ้าชาย’ เพราะสว่างวงศ์เป็นหลานปู่ของ เจ้าส่วยแต้ก อดีตประธานาธิบดีแห่งสหภาพพม่าคนแรก เจ้าฟ้าพระองค์สุดท้ายของเมืองยองห้วย และ เจ้านางเฮือนคำ มหาเทวีของเจ้าส่วยแต้ก ผู้ก่อตั้งกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ แม้สว่างวงศ์จะสืบเชื้อสายมา แต่คุณปู่ของเขาก็ยกเลิก ‘ระบบเจ้าฟ้า’ ไปแล้ว
หลัง นายพลเนวิน ยึดอำนาจ เจ้าส่วยแต้กถูกสังหาร ถ้าเทียบว่าระบบเจ้าฟ้ายังอยู่ สว่างวงศ์นับเป็น ‘เจ้าของรัฐฉาน’ ทุกวันนี้เหลือเพียงตระกูลยองห้วย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการครั้งนี้ เปิดให้ผู้ชมได้เข้ามาดูสว่างวงศ์สร้างผลงาน อ่านหนังสือที่เขาใช้ค้นคว้า และพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับเขาบนโต๊ะน้ำชาได้
บ่ายวันเสาร์ ฉันและทีม WAY มานั่งคุยกับสว่างวงศ์ และ พี่แอน – อารีแอน คุปเฟอร์แมน สุทธวงษ์ ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ ใน ‘สำนักงาน’ ของสว่างวงศ์ สำนักงานที่มีผ้าใบสามผืนใหญ่แขวนอยู่บนผนังทั้งสามด้าน ผืนหนึ่งเป็นกิตติกรรมประกาศที่เขียนด้วยลายมือของศิลปิน อีกสองผืนเป็นภาพที่สว่างวงศ์วาดด้วยมือของเขาเอง มีโต๊ะทำงานไม้เก่าๆ กับเก้าอี้หนึ่งตัว ชั้นหนังสือที่เต็มไปด้วยหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พม่า และประวัติศาสตร์ศิลปะ
ถัดมาคือทีวีเครื่องหนาๆ ใหญ่ๆ ฉายสารคดีเกี่ยวกับรัฐฉาน บนพื้นมีขวดน้ำนิดหน่อย กระปุกแป้งเบบี้มายด์ ถังสี อุปกรณ์ศิลปะ ตรงกลางห้อง มีโต๊ะน้ำชา และเก้าอี้เตี้ยๆ ประมาณห้าตัว ข้างๆ มีเสื่อ กับต้นไม้ในแจกันเล็กๆ ที่สว่างวงศ์เอามาวางไว้ทุกวัน
เรานั่งรอสว่างวงศ์ที่โต๊ะน้ำชาเล็กๆ ก่อนที่เขาจะเดินเข้ามาในงานศิลปะของตัวเอง พลางบ่นๆ ว่า “หาไฟแช็คไม่เจอ” เขานั่งลงบนเก้าอี้พลาสติกตัวเล็กๆ ขนาดเดียวกับที่เราๆ ใช้นั่งซักผ้า นี่คือเก้าอี้แบบร้านน้ำชาที่พม่า – แล้วบทสนทนาก็เริ่มต้นขึ้น
คุณเริ่มทำงานในปี 2004 หลังจากที่พ่อคุณเสียชีวิต ทำไมถึงเริ่มทำ ‘สำนักงานพลัดถิ่น’ นี้คะ
สำนักงานพลัดถิ่นไม่ได้เริ่มจนกระทั่งปี 2014 แต่ผมมีเนื้อหาของงานตั้งแต่ที่พ่อผมเสียไปแล้ว ผมเริ่มทำงานชิ้นนี้เพราะผมเสียใจกับเหตุการณ์นี้มาก มันเหมือนเป็นการพยายามเข้าใกล้เขามากขึ้น สำนักงานยองห้วยพลัดถิ่นเลยเกิดขึ้นในปี 2014 เมื่อผมไปที่พิพิธภัณฑ์ Stedelijk ที่อัมสเตอร์ดัม ไอเดียแรกเริ่มของการเป็นสำนักงานก็เพื่อที่จะหาพื้นที่ทางการเมืองที่จะพูดเกี่ยวกับสถานการณ์ในรัฐฉาน หรือสถานการณ์การเมืองในพม่า
แล้วศิลปะก่อนหน้านี้ของคุณต่างจากตอนที่คุณเริ่มทำผลงานชิ้นนี้มากไหมคะ งานศิลปะก่อนหน้านี้ทำเกี่ยวกับอะไรบ้าง
ผมทำงานร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ ในนิทรรศการกลุ่มมาก่อน ส่วนใหญ่จะเป็นงานแนว conceptual เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ และก็จะเป็นงานที่วิพากษ์วิจารณ์พิพิธภัณฑ์หรือสถาบัน ไม่เคยมีผลงานเดี่ยวเลย
แล้วก็ไม่เคยมีงานเกี่ยวกับการเมืองตรงๆ เลยเหรอคะ?
ใช่ครับ
ถามได้ไหมคะว่าทำไมถึงเลือกเรียนศิลปะ
มันง่ายครับ (หัวเราะพร้อมกับทุกคนรอบวงโต๊ะน้ำชา)
ผมชอบวาดรูปแต่เด็กน่ะครับ ตอนผมอยู่เมืองไทยผมเรียนสถาปัตย์กับศิลปะ ตอนนั้นปี 1985 ผมคิดว่าศิลปะเป็นพวกงานฝีมือ คนวาดฝาผนังวัด อะไรแบบนี้ แต่พอไปแคนาดา ผมก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับปิกาสโซ เกี่ยวกับแวนโกะห์ หรือคนสำคัญๆ ในวงการศิลปะ แล้วผมก็ค้นพบว่าศิลปะก็เป็นวิชาชีพที่จริงจังพอๆ กับหมอ ทนาย หรือวิศวกรเลยนะครับ
งานของคุณชื่อ Yawnghwe Office in Exile หรือภาษาไทยก็คือ ‘สำนักงานยองห้วยพลัดถิ่น’ คำว่า office หรือสำนักงานของคุณ ถ้าหน้าที่ของมันไม่ได้มีไว้แค่ทำงาน คุณคิดว่ามันมีฟังก์ชั่นอื่นๆ อะไรอีกบ้างคะ
ผมว่ามันเป็นพื้นที่ที่คนทุกคนมารวมตัวกัน หรือสนทนาร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน ผมพยายามทำให้มันเปิดมากที่สุด
คือคุณจะทำอะไรมันก็การเมืองอยู่แล้ว คุณเลี่ยงมันไม่ได้ ถึงคุณเลือกที่จะไม่การเมือง ในทางใดทางหนึ่ง คุณก็กำลังรับใช้วาระทางการเมืองอยู่ ผมว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือคุณรู้ตัวว่ามันมีเรื่องนี้อยู่มากกว่า
แล้วคุณคิดว่าสิ่งที่คุณทำส่งผลให้คนรู้ตัวเรื่องนี้ในวงกว้างแค่ไหนคะ
เอาจริงๆ ผมก็ไม่รู้นะ ผมไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำมันส่งผลกระทบหรือเปล่า แต่ผมก็หวังว่ามันจะมีบ้าง ผมไม่ใช่นักกิจกรรมหรือนักการเมือง หรือองค์กรอย่าง Human Rights Watch หรือ Amnesty ที่ทำแล้วเห็นผลมากกว่า ผมเข้าใจว่าสิ่งที่ผมทำนั้นจำกัดอยู่แค่ในวงศิลปะ
ถ้าอย่างนั้นก็เป็นแค่กลุ่มเล็กๆ ที่สนใจศิลปะเท่านั้น?
ใช่ และแม้แต่ในวงการศิลปะเอง ก็มีทั้งคนที่สนใจและก็มีคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องนี้ด้วย สุดท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับคนดู ว่าเขาอยากจะพูดถึงหรือสนใจเรื่องนี้หรือเปล่า
คุณให้ความสำคัญกับการสื่อสารไปถึงชนกลุ่มน้อยหรือคนในวงการศิลปะมากกว่ากัน
ถึงผมกำลังทำงานอยู่ในวงการศิลปะ ผมทำเพื่อชนกลุ่มน้อย ผมหวังว่าผมจะเป็นตัวอย่างเพื่อเขาได้ อย่างเวลาที่คนเห็นสิ่งที่ผมทำ แล้วเขาบอกว่า “ดูสิ คนนี้เรียกตัวเองว่าเป็นชนกลุ่มน้อยอย่างภาคภูมิใจ มันไม่ใช่สิ่งที่ต้องปิดบัง”
การเป็นชนกลุ่มน้อยในพม่าเป็นเหมือนพลเมืองชั้นล่าง พวกเขาต้องปรับตัวให้เข้ากับคนพม่า เรียนรู้ภาษา พยายามพูดไม่ให้ติดสำเนียงจากชนเผ่าตัวเอง แล้วก็ไม่บอกว่าตัวเองเป็นมอญ เป็นคนคะฉิ่น เพื่อที่จะได้อยู่ในระดับเดียวกับคนอื่นๆ ในสังคมพม่าแบบย่างกุ้งหรือมัณฑะเลย์ ผมหวังว่าผมจะเป็นตัวอย่างที่จะบอกว่า เฮ้ย ดูสิ ผมไม่ต้องเป็นแบบคตินิยมของพม่าก็ได้ อีกอย่างคือ ผมอยากจะออกจากข้อพิพาทเรื่องชาติพันธุ์นี้ แล้วอยากให้มองว่ามันเป็นข้อพิพาทเรื่องชนชั้นซะมากกว่า
แสดงว่าคุณคิดว่ามันสำคัญกว่าที่จะสื่อสารไปในระดับโลกมากกว่าให้ข้อมูลกับชนกลุ่มน้อยเหรอคะ
ผมกำลังเป็นกระบอกเสียงให้ชนกลุ่มน้อย ผมนำเสนอสิ่งที่เขาคิดและรู้สึก ดังนั้นผมไม่น่าจะต้องสื่อสารกับพวกเขา เพราะผมก็คือพวกเขา แต่สิ่งที่สำคัญคือผมกำลังส่งสารไปหาผู้ที่มีอำนาจ ผมพยายามสื่อสารถึงชนชั้นปกครอง สร้าง ‘แรงงานที่มีความรู้’ (intellectual labor) แล้วก็นำเสนอความจริง
คุณมีเป้าหมายอื่นไหม ที่จะช่วยชนกลุ่มน้อย เพราะคุณเป็นศิลปิน และคุณก็ไม่ได้ประสบสถานการณ์ที่ชนกลุ่มน้อยจริงๆ เป็นอยู่
ถ้าผมอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขา ผมก็คงไม่ได้มาทำศิลปะ ไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษาพอ แล้วผมก็คงไม่ได้เป็นปากเสียงให้เขาหรอกครับ ในเมืองไทย เขาสามารถมีการศึกษาได้ แต่เมื่อไม่มีสถานะเป็นพลเมือง เขาก็ไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐาน ดังนั้นผมเลยคิดว่ามันต้องมีการจัดการตั้งแต่ระบบขั้นพื้นฐาน
คุณดูอย่างการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมสิ ทุกคนพยายามลดการใช้พลาสติก ลดการใช้ไฟฟ้า ทุกคนบอก “รีไซเคิลกันเถอะ” แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดเป็นผลกระทบจริงๆ คือภาคธุรกิจ คือโรงงาน ถ้าคุณต้องการจะเปลี่ยนแปลงตรงนี้จริงๆ คุณก็ต้องไปที่พวกนั้น ไปเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ระบบทั้งหมดต้องเปลี่ยน และมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
คุณเลยต้องการจะสื่อสารถึงชนชั้นปกครอง?
ผมนำเสนองานที่เสียดสี จิกกัด แต่ผมก็ไม่รู้ว่ามันส่งผลแค่ไหน มันมีขีดจำกัดที่ศิลปะจะทำได้ สิ่งที่ผมทำ ก็เป็นการวิจารณ์ศิลปะในตัวมันเอง เพราะศิลปะไม่ค่อยออกจากเจ้าห้องสี่เหลี่ยมสีขาวนี่ หรือพื้นที่ที่มันจัดแสดง ผมเลยทำงานชิ้นนี้
แอน: เพื่อเชื้อเชิญให้คนเข้ามาในห้องสี่เหลี่ยมสีขาวนี้ แล้วนำไอเดียของคุณออกไปข้างนอก
คุณมองอนาคตของรัฐฉานอย่างไรบ้างคะ
ผมว่าผมเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย และผมก็คิดว่ามันก็จะกลายเป็นอำนาจเผด็จการที่รวมตัวกับทุนนิยม ภาคธุรกิจจะขับเคลื่อนประเทศและกองกำลังติดอาวุธก็จะรวมตัวกับกลุ่มทางธุรกิจ แล้วสุดท้าย อย่างที่บอก มันก็จะวนกลับมาที่การต่อสู้ทางชนชั้น กว่าเราจะมองออก เราก็กลายเป็นแรงงานให้องค์กรใหญ่ๆ โดยที่ไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรเลย
ไม่รู้ว่าคุณสบายใจที่จะตอบหรือเปล่า แต่คุณมีสถานะเป็นหลานของอดีตประธานาธิบดีรัฐฉาน ถ้าจะให้พูดง่ายๆ คุณก็น่าจะเป็น ‘เจ้าชาย’ คนในรัฐฉานได้รับอะไรจากวาระทางการเมืองที่อยู่ในงานศิลปะของคุณหรือเปล่าคะ
(หัวเราะ) เจ้าชายยาจกมากกว่ามั้งครับ
ฉันยังคุยกับเพื่อนอยู่เลยนะ “เธอ รู้ป่าว ฉันทำงานใกล้เจ้าชาย” ทั้งที่ตัวจริงคุณไม่ได้แบบ… ‘เจ้าชาย’ ตามที่ฉันคิดไว้เลย
ผมว่าในเมืองไทย การเป็นเชื้อพระวงศ์มีความหมายอย่างหนึ่ง แต่ผมไม่ได้ถูกเลี้ยงมาเหมือนชนชั้นสูงแบบคุณลุงผมหรือคนแก่ๆ ในตระกูล แน่นอนว่าผมปฏิเสธสายเลือดไม่ได้ อย่างพ่อผมก็เป็นเจ้าฟ้า แต่หน้าที่จริงๆ ของเจ้าฟ้าก็คือดูแลคนของเขา พ่อสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล แล้วผมก็คิดว่านั่นเป็นหน้าที่จริงๆ ของเจ้าชายหรือกษัตริย์ ถ้าคุณมีทรัพย์สมบัติพอแล้ว คุณก็ต้องให้ส่วนหนึ่งกับคนอื่น ผมว่านั่นคือสิ่งที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ให้คนมารับใช้คุณ เพราะงั้นผมเลยมอบเงินที่ได้มาให้กับโรงเรียนในภาคเหนือ นั่นคือสิ่งที่ผมคิดว่าผมทำได้ แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกว่าเป็นเจ้า… หรือเจ้าชายเลย
ในเมื่อสถานการณ์ในรัฐฉานตึงเครียดมาก คุณคิดว่ามีคนได้รับผลกระทบกับสิ่งที่คุณทำไหมคะ เพราะนี่มันค่อนข้างเป็นงานที่เกี่ยวกับการเป็นนักกิจกรรมด้วย
เพราะแบบนี้ผมเลยพยายามให้งานของผมอยู่แค่ในมิติของศิลปะไงครับ ผมจะกังวลมากขึ้นถ้าผมเข้าสู่สนามทางการเมือง อย่างลุงของผม เขาเป็นลูกคนโตสุด เขาก็ได้รับการเลี้ยงดูเพื่อให้เป็นเหมือนเจ้าฟ้าคนต่อไป เขาก็จะพูดแบบเจ้า แบบเจ้าชายเลย
เขาอัพโหลดวิดีโอลงยูทูบ เป็นวิดีโอที่เขาประกาศอิสรภาพให้กับรัฐฉาน แบบมีคนในชุดดำสองคนอยู่ข้างหลังเขาเลย แต่ตัวเขาเองกลับอยู่ในแคนาดา มันก็เป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบและไร้การคำนวณมาก่อนมาก เพราะมันทำให้คนในรัฐฉานจริงๆ คนที่อยู่บนภาคพื้นดินนั้นจริงๆ โดนจับกุม
เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ผมให้สัมภาษณ์ ผมจะบอกตลอดว่า ผมเป็นศิลปินนะ ผมไม่ใช่นักกิจกรรม ผมไม่มีปัญหาเลยถ้าคุณจะลงโทษผมเพราะงานศิลปะของผม แต่อย่าเอางานศิลปะของผมมาเป็นข้ออ้างในการทำอะไรทางการเมือง
ช่วยอธิบายงานบนผนังให้หน่อยได้ไหมคะ ผนังด้านที่เป็น New York Declaration คือเราสงสัยว่าทำไมตัว A ต้องเป็นสีแดง มันมีความหมายอะไรไหม
(หัวเราะ) มันพูดถึง A for Anarchy ครับ
คือมันมาจากหนังสือของ เจมส์ ซี. สกอตต์ (James C. Scott) เขาตั้งทฤษฎีว่า การเปลี่ยนแปลงจะมาจากกระแสใต้ดิน ไม่ใช่ด้วยการจัดการของระบบที่มีการจัดการ เขาให้ตัวอย่างจากคนขับแท็กซี่ในปารีสที่ทำผิดกฎจราจรตลอดเวลา จนกระทั่งวันนึงพวกเขาก็ตกลงว่าจะทำถูกกฎทุกข้อ ปรากฏว่าวันนั้นรถในปารีสก็ติดวินาศสันตะโร ไม่มีอะไรใช้งานได้เลย เหมือนกับองค์กรหรือการปกครองที่บางครั้งก็ไม่ได้เล่นตามกฎเกณฑ์ทุกอย่าง
New York Declaration เกี่ยวอะไรกับคำประกาศของรัฐฉานคะ
เพราะพ่อผมกับผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ ส่วนหนึ่งไปนิวยอร์คเพื่อประกาศเรื่องนี้ครับ ตอนนั้นปี 1915 ขุนส่า (อดีตผู้นำเกิงทัพเมิงไต ต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพให้ชาวไทใหญ่ในพม่า ขณะเดียวกัน เขาก็เป็นผู้ผลิตและค้าเฮโรอีนและฝิ่นรายใหญ่ของโลก) เปิดไพ่ชาตินิยม ผลก็คือ ตะวันตกเลยมองกองกำลังติดอาวุธว่าจะต้องมีส่วนเกี่ยวกับยาเสพติดตลอดเวลา แต่สิ่งที่พ่อผมทำคือความพยายามที่จะสร้างมาตรฐานอย่างหนึ่งให้ผู้ลี้ภัยชาวไทใหญ่ ถึงมันจะมีเรื่องการเมืองอยู่ แต่ความจริงแล้ว มันก็ค่อนข้างเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะว่าพ่อของผมมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่
แอน: มีคนที่มาดูงานคนนึงเขาบอกว่า “ผมว่าดีนะ ที่ส่วนหนึ่งในนี้มันให้ความรู้สึกเหมือนเป็นมรดกสืบทอดของตระกูลอยู่”
อธิบายภาพวาดอีกสองชิ้นให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ คุณบอกว่าคุณเรียนศิลปะมา 10 ปี ฉันคิดว่าคุณน่าจะวาดภาพได้ดูสมจริงกว่านี้ แต่ทำไมถึงเลือกใช้วิธีการวาดแบบนี้ล่ะคะ
(หัวเราะ) มันไม่เหมือนจริงเหรอ?
ก็…ก็แบบ ฉันว่าคุณเรียนมาเยอะ ฉันเองก็เรียนศิลปะมา คิดว่ามันละเอียดได้กว่านี้ไงคะ
คือมันมีศิลปินชื่อ มลาเดน สติลิโนวิช (Mladen Stilinovic) เขาชื่นชมความขี้เกียจ และบอกว่าการทำงานเป็นเหมือนโรคภัยอย่างนึง แน่นอนว่าเขากำลังจิกกัดทุนนิยมอยู่ เอาจริงผมไม่ค่อยสนใจว่ามันจะเหมือนจริงแค่ไหนนะ ผมเชื่อว่าในอนาคตปัญญาประดิษฐ์จะวาดภาพได้เหมือนกว่าคนอยู่แล้ว แต่รูปนี้ผมเอามาจากภาพที่เด็กวัยรุ่นสองคนทำขึ้นในยุค 60s ที่เริ่มมีการต่อต้านของชาวรัฐฉานต่อนโยบายทางทหารของพม่าที่จะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยในยุคนั้น มันเลยมีความรู้สึกเหมือนวัยรุ่นสองคนนั้น อีกอย่าง ผมว่ามันให้ความรู้สึกเหมือนเซซานน์ (Paul Cézanne) ด้วยนะ
จริงด้วย เหมือนดูรูปแนว Post Impressionism อยู่เลยเนอะ
ส่วนรูปนี้ ผมอยากให้รูปมันดูจริงแต่ก็ไร้ความพยายามให้มากที่สุด แน่นอนว่าตอนที่เรียนศิลปะใหม่ๆ ทุกคนก็อยากวาดให้เหมือนจริงทั้งนั้นล่ะ แต่สุดท้าย มันก็น่าเบื่อถ้าทุกคนจะวาดเหมือนๆ กันหมด
แล้วมันมีนัยยะทางการเมืองอะไรอยู่ในนั้นบ้างไหม
อันนี้ไม่น่ามีหรอกครับ ผมพยายามจะพูดถึงสิ่งที่พูดไม่ได้ พอพูดไม่ได้ มันเลยถูกเก็บเอาไว้ในความคิด ความฝัน ออกมาจากจิตใต้สำนึก อย่างเสือกับนกยูงนี่ เสือเป็นสัญลักษณ์ของรัฐฉาน นกยูงเป็นสัญลักษณ์ของพม่า ผมไม่อยากวาดให้มันจริง หรือตรงกว่านี้ เพราะมันจะกระทบกับทางการพม่า
มันเหมือนเป็นโซนสีเทาที่งานศิลปะสามารถพูดได้โดยที่ไม่ปลุกปั่นโครงสร้างทางอำนาจจนเกินไป ผมพยายามทำให้มันมีบางส่วนที่ไม่ตรงเกินไป
ที่คุณถามเรื่องความเหมือนจริง ผมจะเล่านิทานให้ฟังละกัน เป็นนิทานกรีก มีชายสองคน พวกเขาวาดภาพเก่งทั้งคู่ ชายคนแรกเลยบอกว่า งั้นเรามาแข่งกันดีกว่า ภาพที่ฉันวาดได้เหมือนจริงกว่าภาพของคุณ ใครจะเก่งกว่ากัน ทั้งคู่ก็เลยวาดรูปแข่งกัน พอเสร็จ เขาก็เอาผ้าสีแดงมาคลุมเอาไว้ ชายคนแรกเปิดผ้าคลุมออกมา เป็นรูปองุ่นในจาน มันเหมือนจริงมากจนนกลงบินมาจิกผ้าใบ ชายคนนั้นคุยโอ่ว่า “รูปของฉันเหมือนจริงมาก ขนาดนกยังโดนหลอกเลย” ชายคนที่สองไม่พูดอะไร และเขาก็บอกว่า “นี่คือภาพของฉัน” ชายคนแรกเดินไปเปิดผ้า แต่ปรากฏว่าผ้านั่นแหละ คือรูปวาด ชายคนที่สองเลยบอกว่า “ดูสิ รูปคุณหลอกได้แค่นก แต่รูปฉันหลอกคุณได้” ผมเลยคิดตลอดว่า มันไม่ใช่แค่สิ่งที่ตาเห็น แต่มันคือสิ่งที่ภาพจะสื่อต่างหาก
แอน: ผลงานชิ้นนี้เป็นเหมือนการประกาศ (manifesto) มันเลยให้ข้อมูล ดังนั้นกระบวนการที่สว่างวงศ์อยู่ในพื้นที่ตรงนี้ และสร้างงานขึ้นมา เลยสำคัญกว่าผลที่ออกมา นอกจากนี้ฉันว่าสว่างวงศ์กำลังเล่นกับไอเดียว่า “อะไรก็ตามที่อยู่บนผนังสีขาวแบบนี้ มันมีค่าขึ้นมาทันที” ด้วย
อยากรู้ว่าคุณเรียกผลงานชิ้นนี้ว่าเป็น ศิลปะการแสดง (performance art) ไหมคะ เพราะมันก็ไม่ได้ ‘แสดง’ เสียทีเดียว มันไม่ใช่ศิลปะจัดวางด้วยซ้ำ คุณคิดว่าจะเรียกมันว่าอะไรคะ
ผมไม่รู้เหมือนกันครับ คือศิลปะสมัยนี้มันกำลังทำตามภาษาอย่างนึง อย่างในงานนิทรรศการหนึ่ง จะต้องมีภาพที่อยู่ในกรอบ มีวิดีโอ แล้วก็มีศิลปวัตถุ
แต่ผมคิดว่าศิลปะควรจะมีการรื้อสร้างระบบที่มันอยู่ เป็นวิธีที่เราจะพัฒนาวัฒนธรรม และก้าวไปข้างหน้าในฐานะมนุษย์ได้ นี่คือประชาธิปไตย คือการที่เรามีอิสระที่จะสามารถพูดต่อต้านระบบที่ควบคุมเราอยู่ได้
ดูอย่างดูชองป์ (Marcel Duchamp) สิครับ งานของดูชองป์สำคัญเพราะมันรื้อความคิดว่าศิลปะคืออะไรในยุคนั้นแทบทั้งหมดเลย ทีนี้พอคนทำตามดูชองป์ไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะมีคนมารื้อความคิดดูชองป์อีกรอบ คุณจะทำตามกระบวนการเดิมๆ ที่คนชอบทำกันบ่อยๆ ไม่ได้ คุณต้องเอาสิ่งที่มาสเตอร์สร้างขึ้นมา ทำลายมัน แล้วสร้างอะไรใหม่ๆ นี่คือวิธีที่ผมใช้ มันดีนะที่คนจะเข้ามาแล้วบอกว่า “นี่ไม่ใช่ศิลปะการแสดง” หรือ “นี่ไม่ใช่ศิลปะจัดวาง” หรือแม้แต่ “นี่ไม่ใช่ศิลปะ”
ฉันว่า คนที่มาดูไม่ได้เห็นแค่กระบวนการวาด แต่มีกระบวนการรีเสิร์ชของคุณด้วย มันไม่ใช่แค่สิ่งที่เห็นบนผนังที่สำคัญ แต่มันคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง แล้วคนที่มาดูสามารถคุย หรือถามคุณได้ เพราะหลายครั้งที่คนมาดูงานศิลปะแล้วไม่เข้าใจ แต่ไม่รู้จะหันไปถามใคร
แอน: ฉันคิดว่าสิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือมันเป็นกระบวนการที่อยู่ ณ ตอนนี้ คนสามารถมา แล้วก็รับประสบการณ์นี้จากการดูเอกสารที่ใช้ในการค้นคว้า แล้วก็คุยกับสว่างวงศ์ได้ ผลที่ได้รับกลับมา ก็คือเมื่อคนออกจากแกลเลอรีไปแล้ว เขาได้ตกตะกอนความคิด การต่อยอดความคิดนี้ต่างหาก ที่เป็นผลผลิตที่แท้จริงของผลงาน
สำนักงานที่จัดแสดงที่กรุงเทพฯ กับสำนักงานที่ประเทศอื่นๆ ต่างกันอย่างไรคะ
สำนักงานที่ผมตั้งในแต่ละประเทศจะมีรูปแบบที่ต่างกัน เพราะผมตอบสนองกับสถานการณ์การเมืองในประเทศนั้นๆ อย่างในอัมสเตอร์ดัม ผมจัดในพิพิธภัณฑ์ ผมก็ทำให้มันเหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ในยุคล่าอาณานิคม มีแผ่นไม้เป็นคำอธิบายอยู่บนผนัง เพราะผมอยากเล่าเรื่องประวัติศาสตร์พม่ากับรัฐฉาน
ในเบอร์ลินเป็นผลงานที่ทำร่วมกับ เอเดรียน เมลิส (Adrian Melis) ศิลปินชาวคิวบา ผลงานของเขาเป็นวิดีโอที่เขาสัมภาษณ์พ่อตัวเองเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ในคิวบา แต่แทนที่จะให้พ่อเขาตอบ เขาบอกให้พ่อเก็บคำตอบไว้ในใจ คำถามที่ถามล้วนเป็นคำถามหนักๆ คุณจะเห็นความรู้สึกที่สะท้อนออกมาบนสีหน้าของพ่อเขา มันก็เลยเป็นอะไรที่ขนานกับพ่อของผม
แล้วก็มีชุดภาพวาดสีดำ เป็นภาพวาดที่พูดถึงการเซนเซอร์ พวกแถบสีดำ หรือช่องว่างที่เวลาเราเสิร์ชรูปแล้วมันขึ้นมา แล้วเรามองมันไม่เห็น เหมือนกับที่รัฐบาลพม่าปฏิเสธการมีอยู่ของชาวโรฮิงญา หรือชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ เพราะพื้นที่ตรงนั้นผมสามารถพูดได้ แต่ผมเลือกที่ใช้โอกาสนี้ในการทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน
ส่วนในอินเดีย ผมเลือกที่จะวาดภาพกองศพของชาวโรฮิงญาที่มาจากบทสัมภาษณ์ที่มีคนเล่าเรื่องสิ่งที่ชาวโรฮิงญาถูกกระทำ ในอินเดียไม่มีใครอยากพูดถึงเรื่องนี้ ผมเลือกที่จะนำเสนอเรื่องนี้ เหมือนเป็นการย้อนกลับไปหาเขา ดังนั้นผมพยายามที่จะหาความคล้ายคลึงของผู้คนกับสิ่งที่ผมกำลังจัดแสดง
ที่กรุงเทพฯ แน่นอนว่ามันซับซ้อนมาก เราอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร และการเลือกตั้งก็ถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ มันควรจะมีบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ โนม ชอมสกี เคยกล่าวว่าเราจะต้องมีการขัดขืนในระดับที่ใหญ่มาก แต่ผมก็ไม่รู้ว่ามันสายเกินไปหรือยัง
แอน: ความคิดนี้ก็สะท้อนในการเอาโต๊ะน้ำชามาไว้ที่นี่นะคะ เพราะที่อื่นไม่มี ที่ต้องมีโต๊ะน้ำชาในงานที่กรุงเทพฯ เพราะเราต้องการให้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับงานได้ง่ายขึ้น ให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยน ซึ่งถ้าเป็นโต๊ะทำงานเฉยๆ สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่เกิดขึ้น
สว่างวงศ์: ในปี 1988 พม่ามีกฎหมายว่าห้ามคนชุมนุมกันเกินห้าคน
เหมือนที่ไทยเลย!
อย่างตอนนี้ เราก็มีกันห้าคน (หัวเราะ) แต่ตอนนี้เหมือนเรากำลังนั่งจิบน้ำชาอยู่ อย่างถ้วยนี่ก็เป็นสัญลักษณ์ของชา หรือกาแฟ ในย่างกุ้ง การคัดค้านต่างๆ เริ่มจากในร้านน้ำชาที่คนมารวมตัวกัน บางครั้งก็จะมีคนจิบชาอยู่ แล้วก็เริ่มมีคนมาเพิ่ม สองคนบ้าง สามคนบ้าง ทั้งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกันเลยนะ แต่เขาก็เริ่มคุยกันเรื่องการเมือง แล้วการประท้วงก็เริ่มวางแผนจากตรงนั้น ดังนั้นผมเลยเรียกว่ามันเป็นพื้นที่ที่นำมาสู่การคัดค้าน
เรื่องจิบชาคุยการเมืองนี่เหมือนในฝรั่งเศสเลยนะคะ ที่คนไปคาเฟ่ แล้วก็คุยเรื่องการเมือง เรื่องปรัชญา
แอน: แล้วนั่นก็เป็นที่ที่การปฏิวัติเริ่มเหมือนกัน
คุณคิดว่าคนไทยยังเข้าใจอะไรผิดๆ เกี่ยวกับพม่าอยู่ไหมคะ เพราะเมืองไทยเราจะมีคำพูดฝังหัวว่า “พม่าเผากรุงศรีฯ” แล้วมันก็ทำให้หลายๆ คนยังคิดว่าพม่าเป็นศัตรูอยู่ ถึงมันจะผ่านมานานมากแล้ว
คนพม่าก็ยังเรียกพวกคุณว่าโยดาญา (โยเดีย – อโยธยา) (หัวเราะ) แล้วเขาก็ต้องเลือกช่วงเวลาที่เขาได้ยึดครองพวกคุณด้วยนะ แต่ตอนนี้ผมว่ารัฐบาลพม่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลไทยแล้วนะ
ชาวไทใหญ่และชนชาติอื่นๆ ในพม่าเรียกพวกคุณว่าไทย เพราะว่ามันไม่ได้อยู่ในประวัติศาสตร์ของเขา แต่ชาวพม่า (เช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์) เลือกช่วงเวลาช่วงอยุธยาที่เขาได้เข้ามาเผา แล้วก็ปล้นไปจากพวกคุณ
คิดว่าทำไมต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์คะ มันสำคัญกับปัจจุบันและอนาคตอย่างไร
คำตอบมันง่ายมากเลยนะ เพราะประวัติศาสตร์คือสิ่งที่สร้างให้เกิดปัจจุบัน ถ้าเราไม่ย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์ สุดท้ายเราก็จะทำผิดพลาดซ้ำๆ เดิม แล้วมันก็กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกตอนนี้
ไม่ใช่แค่ในพม่าหรือในไทย?
ใช่ อย่างในเยอรมนีตอนนี้ก็เริ่มมีพวกคลั่งชาตินิยม มีฟาสซิสต์ ขึ้นมา ทั้งที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นยุคปี 1940 เอง มันไม่นานเลยนะ ผมว่าความทรงจำมันยังสดใหม่มากเลย หรือแม้แต่ในอเมริกา การเหยียดสีผิว การฆ่าคนดำก็ยังมีอยู่ ทั้งที่การเคลื่อนไหวเรื่องนี้มันเพิ่งเกิดในยุค 60s เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ประวัติศาสตร์ เรียนรู้จากมัน และไม่ลืมมัน
หลังจบการสัมภาษณ์ ฉันรู้สึกว่าผลงานของสว่างวงศ์ทำงานกับฉันจริงๆ ฉันคิดถึงทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่า ในเมืองไทย หรือแม้แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก แน่นอนว่าสว่างวงศ์และรัฐฉานเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มน้อย และไม่ใช่แค่ชนกลุ่มน้อย มีคนอีกหลายคนบนโลกที่กำลังโดนกดขี่
ฉันนั่ง BTS กลับบ้านวันนั้นด้วยคำถามมากมายว่า ทำไมนะ ทำไมเราทำอะไรไม่ได้เลยหรือยังไง? ฉันขึ้นมอเตอร์ไซค์กลับบ้าน พร้อมกุมบทสัมภาษณ์ไว้ในมือ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเล่าให้พี่วินฟังเดี๋ยวนั้นแล้ว ฉันอยากให้คนมากมายได้รับรู้บทสนทนาที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งนี้ เพราะอย่างน้อย มันก็คงสร้าง ‘แรงงานที่มีความรู้’ อย่างที่สว่างวงศ์บอก
แน่นอนว่าความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติที่พบได้ทั่วไปบนโลก ไม่มีใครอยากจะพูดถึงมัน แต่เราจะปิดปากเงียบไม่ยอมพูดแบบนี้เหรอ? เราจะเอาแต่หลับหูหลับตามีความสุขกับความไม่รู้แบบนี้เหรอ? ฉันว่า ฉันมีความหวังมากกว่านี้นะ