สุภาวดี หาญเมธี: เลี้ยงลูกให้มี EF ในประเทศที่ให้ค่ากับเรือดำน้ำมากกว่าการสร้างคน

นิตยสาร รักลูก คือจุดเริ่มต้นที่คนทั้งสองโคจรมาพบกันในงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว

คนหนึ่งคือผู้ก่อตั้งบริษัท รักลูกกรุ๊ป จำกัด สุภาวดี หาญเมธี ผู้ขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา เด็กและครอบครัวมาเกือบ 40 ปี ด้วยการยืนระยะมายาวนานเช่นนี้ เธอพบว่าเด็กไทยนับล้านคนกำลังอยู่ในอาการถูกทำให้พ่ายแพ้ ขณะเดียวกัน สังคมไม่อาจผลักความรับผิดชอบทั้งหมดไปที่ครอบครัว เพราะระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเมือง ล้วนเกี่ยวข้องกับการเติบโตของเด็กทั้งสิ้น

นั่นแปลว่า หากเราไม่แก้ที่ระบบ แล้วจะไปแก้ที่ไหน?

อีกท่านคือ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ ผู้เป็นทั้งนักคิด นักเขียน และคอลัมนิสต์ของนิตยสารฉบับดังกล่าว ซึ่งในช่วงเวลาที่เสียงส่วนใหญ่ของบ้านเมืองมองว่าการ์ตูนเป็นภัยร้าย เป็นความบันเทิงไร้สาระ และถกเถียงถึงผลร้ายที่จะเกิดกับเด็ก ทว่าจิตแพทย์ท่านนี้มองต่างออกไปในแง่ที่ว่า การ์ตูนคือหนึ่งในอาวุธที่สังคมไม่ควรด้อยค่า และเป็นได้มากกว่าเครื่องมือการเรียนรู้ หากยังเป็นปัจจัยในการพัฒนาสมองด้วย 

สำหรับ สุภาวดี หาญเมธี เธอมองว่า เศรษฐศาสตร์คือเรื่องของคน คือเรื่องของการอยู่ดีมีสุข การจัดการทรัพยากร และการกระจายความมั่งคั่งของสังคม มากกว่านั้นเศรษฐศาสตร์เกี่ยวข้องกับการเมือง และการเมืองเกี่ยวข้องกับทุกระบบในสังคม

เธอจึงไม่แปลกใจหาก ‘เลี้ยงลูกในโลกใหม่: พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตย และอนาคตใหม่ของทุกคน’ คือหัวข้อในวาระการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18 ครั้งนี้ โดยมี นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เป็นปาฐก นั่นเพราะการจะพูดเรื่องใหญ่ จำต้องเห็นมนุษย์ตัวเล็กๆ หรือทุกครั้งที่พูดเรื่องมนุษย์ตัวเล็กๆ ยิ่งต้องเชื่อมต่อไปถึงโครงสร้าง 

โครงสร้างของบ้านเมืองที่เห็นค่าการเติบโตของเด็ก น้อยกว่าการลงทุนด้านความมั่นคง ปลายทางของมันคือเรื่องน่าเศร้า เพราะโลกที่ซับซ้อน ผันผวน ไม่แน่นอน และคลุมเครือ กำลังทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลัง

หมอประเสริฐในความทรงจำของคุณเป็นอย่างไร

รู้จักคุณหมอประเสริฐครั้งแรก จากจดหมายพร้อมต้นฉบับที่คุณหมอเขียนแล้วส่งมาที่นิตยสาร Life & Family ซึ่งเปิดมาได้ประมาณ 1 ปี งานเขียนของคุณหมอจึงได้ลงฉบับที่ 1 ของปีที่ 2 ตอนนั้นเราคิดว่า จิตแพทย์คงอยากจะทำความเข้าใจกับพ่อแม่เรื่องการเลี้ยงลูกโดยใช้การ์ตูนมาเป็นตัวช่วย เพราะช่วงนั้นในปี 2540 การ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามาเยอะพอสมควร ทำให้มีกระแสว่า เด็กควรอ่านหรือไม่ควรอ่าน การ์ตูนพวกนี้ดีหรือไม่ดี 

พอช่วงหลังๆ สักฉบับที่ 4 5 6 เราเริ่มเห็นว่า คุณหมอไม่ได้เขียนเพียงเพื่อให้เรามองการ์ตูนเป็นสื่อในการเลี้ยงลูก แต่คุณหมอทำความเข้าใจกับเรื่องคอนเทนต์ในการ์ตูนโดยละเอียด งานเขียนของคุณหมอไม่ได้มาในนามของจิตแพทย์ ไม่ได้มาบอกว่าควรอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ แต่มาในรูปแบบที่ว่า หนึ่ง – ช่วยให้เรารู้จักการ์ตูนดีขึ้น สอง – ทำให้เรารู้สึกว่าการ์ตูนมีประโยชน์มากหากเด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้

ตอนที่หมอประเสริฐเขียนต้นฉบับมาให้ สถานการณ์ของสังคมกำลังถกเถียงเรื่องอะไรอยู่

หลังยุค 14 ตุลาคม 2516 เมื่อนักศึกษาออกจากป่า สังคมเรียกร้องต้องการวิธีคิดที่เปิดกว้างกว่าเดิม เพราะสังคมไทยเริ่มเชื่อมต่อกับโลกภายนอกง่ายขึ้น เพราะฉะนั้น การที่การ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามา ทั้งในรูปแบบหนังสือหรือการ์ตูนในโทรทัศน์ แล้วเด็กก็ไปทิศทางนั้นเสียส่วนใหญ่ โดยส่วนตัวแล้วในตอนนั้นก็รู้สึกว่ามันเป็นของฉาบฉวย เป็นแค่เรื่องบันเทิงไร้สาระ อี๊ แอ๊ อ๊าก เราก็บอกลูกว่า “อยู่บ้านก็อย่าไปดูเยอะนะ” นี่อาจเป็นมุมที่เราตื้นเขิน เราไม่เข้าใจ แต่คุณหมอคงจะเห็นว่าปรากฏการณ์อย่างนี้แทนที่จะปฏิเสธ เราควรทำความเข้าใจและเข้าไปหา เพราะแต่ละเรื่องจะมีมุมของมัน 

เมื่อก่อนเราคิดว่าการส่งเสริมเรื่องการอ่านให้ลูก ต้องเป็นการทำงานทางความคิดผ่านตัวหนังสือ ผ่านตัวอักษร แล้วจึงเกิดจินตนาการ แต่พอเป็นภาพ (การ์ตูน) เรารู้สึกว่ามันคงจะดาษไปมั้ง ผิวเผินไปมั้ง แต่เมื่อผ่านการเรียนรู้จากงานเขียนของคุณหมอ ทำให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วการ์ตูนก็คือ visual thinking คือกระบวนการที่ซับซ้อน เพราะการที่คนเขียนจะจินตนาการแล้วทำให้ออกมาแค่รูปเดียว มันบอกได้ ตั้งแต่นิสัยของคน ความคิดของคน บวกคำพูดอีกสองประโยค แต่บอกว่าได้เลยว่าคนคนนี้กำลังคิดอะไร กำลังคลั่งแค้นขนาดไหน กำลังฝันอะไร หรือเหงาขนาดไหน การ์ตูนมันทำหน้าที่ที่เรียกว่า conceptualization (การวางกรอบความคิด) ให้กับเราด้วย

การที่เราเข้าไป interact กับการ์ตูน ไปเรียนรู้ผ่านการ์ตูน แท้ที่จริงมันอาจทำงานกับสมองเราได้ดีกว่า หนึ่ง – เรารับภาพ เราเข้าถึงมันได้เร็ว สอง – มันสร้างคอนเซ็ปต์ไว้ให้เรา ทำให้สามารถแตกแขนงงอกงามทางปัญญาได้ ไม่ได้แปลว่าเราต้องถูกเรียงด้วยตัวอักษรไปทีละบรรทัดๆ เท่านั้น นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้ว่าพลังของอาวุธนี้ สังคมไม่ควรไปด้อยค่ามัน เพียงแต่ว่าคนเป็นพ่อแม่ก็ต้องคัดสรรได้ เพราะมันมีทั้งการ์ตูนดีและการ์ตูนที่ห่วยแตก ถ้าเราคัดได้ดี เด็กๆ ก็จะเรียนรู้ แล้วที่สำคัญคือในการ์ตูนของหลายประเทศ มันไม่ใช่แค่แสดงอารมณ์ผิวเผิน แต่มันบอกความซับซ้อนซ่อนเงื่อนหลายอย่าง เช่น การ์ตูนจาก Studio Ghibli เราเห็นวิธีอธิบาย ทำให้เกิดจินตนาการ เข้าไปถึงใจ ผ่านสมองส่วนอารมณ์แล้วเข้าไปในส่วนคิดของเราให้ทำงานได้ดีขึ้น

นอกจากการเชื่อมต่อกับหมอประเสริฐผ่านเรื่องของการ์ตูนและการเรียนรู้ มีสนามอื่นๆ อีกไหมที่ได้ข้องเกี่ยวและทำงานร่วมกัน 

ตอนแรกก็มีโอกาสตามงานคุณหมอนิดหน่อย ตอนหลังเริ่มมาเข้มข้นมากขึ้นตอนทำเรื่อง EF (Executive Function) ด้วยกัน พอเราได้รู้จัก EF ปุ๊บ มีความรู้สึกว่าตัวเองซาโตริ (ตื่นรู้) “เฮ้ย ไอ้ที่เราทำ รักลูก มาตั้ง 20-30 ปี ที่จริงจับเรื่องนี้ให้ดีเรื่องเดียว มันน่าจะเป็นทางออกได้” ก็เลยรีบโทรไปหาคุณหมอ บอกว่า “คุณหมอ พี่ได้ฟังเรื่องนี้ แล้วก็ลองไปตามอ่านเปเปอร์ เฮ้ย พี่ว่ามันสำคัญนะ”

คุณหมอก็เล่าให้ฟังว่า ท่านก็เคยเห็นคำนี้ เห็น Executive Function โผล่ขึ้นมา ก็ยังไม่ได้ไปสนใจลึก เลยชวนกันว่าคุณหมอลองดูหน่อย คุณหมอมองเรื่องนี้ยังไง มันควรจะเป็นประเด็นใจกลางของการเลี้ยงลูกไหม จากนั้นก็เลยได้มีโอกาสชวนท่านคุยหลายครั้ง แล้วสุดท้ายผ่านไปสักประมาณปีหนึ่ง คุณหมอก็กลับมาเล่าว่า คุณหมอเสนอสิ่งที่เรียกว่า ‘บันได 7 ขั้น’ ซึ่งมี EF เป็นส่วนหนึ่ง ตั้งแต่เรื่องของ self พัฒนาการทางจิตใจ ความเป็นตัวตนของมนุษย์คนหนึ่งผ่านการที่มีแม่หรือคนที่ดูแล แม่ที่มีอยู่จริง สายสัมพันธ์ที่ดี แล้วในที่สุด EF จะค่อยๆ ตามมา สอดคล้องกับความรู้ของฝั่งอาจารย์ที่เขาทำด้าน Neuroeducation ว่าด้วยการเอา self เป็นตัวตั้ง self จะเป็นฐานของการพัฒนาการคิด วิเคราะห์ และ EF

คุณหมอทำให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกัน อยู่ใน sphere เดียวกัน คุณหมอประเสริฐมักช่วยค้นคว้า อธิบาย ทำความเข้าใจ เชื่อมต่อโลกของจิตวิทยากับโลกของ Neuroscience ให้เราเข้าใจชัดเจนมากขึ้น แล้วเชื่อมต่อไปสู่โลกของการศึกษา เรารู้สึกว่าคุณหมอเป็นหลังพิงทางวิชาการที่ไว้ใจได้มาก

มองย้อนกลับไป ช่วงเริ่มทำนิตยสาร รักลูก เดาว่าคงไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพราะสถานการณ์ทางสังคมในช่วงนั้นอย่างเดียว แต่น่าจะเพราะเห็นปัญหาเรื่องเด็กและการเลี้ยงลูกประกอบด้วย? 

ช่วงที่ทำนิตยสาร รักลูก เราคิดว่าพ่อแม่รุ่นนั้นวัยสักประมาณ 25-40 เป็นวัยที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์อย่างที่ว่าไปเมื่อสักครู่ สิ่งที่เขาต้องการคือสังคมที่เปิดกว้าง แต่พอหลังจากรุ่นนั้นก็เป็นยุคโชติช่วงชัชวาล เศรษฐกิจดี เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ไปสู่เรื่องของการผลิต การซื้อ การขายมันก็ดี กระแสนี้มีแรงสูงมาก จากพ่อแม่รุ่นหนึ่งที่รู้สึกว่า ไม่ได้สนใจเงินทองอะไรมากมาย แค่อยากให้ลูกมีโอกาสพัฒนาศักยภาพเต็มที่ เรียนรู้ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ กลายเป็นว่าต้องเร่ง ต้องเอาให้ทัน ต้องแข่งขัน

เพราะฉะนั้นจึงมีอยู่สองสามเรื่องที่ปนกันอยู่ หนึ่ง – เรื่องค่านิยมพ่อแม่ที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจสังคมนั้นๆ สอง – การศึกษาเราแย่มาก ตกต่ำอย่างที่สุด ระบบการศึกษาไม่พัฒนา ประมาณปี 2540 มีการปฏิรูปการศึกษา แต่หลังจากนั้นสักสี่ห้าปีก็พับไปหมด แล้วกลับไปสู่ภาวะที่แย่กว่าเดิม สาม – ตัวระบบการเมือง สังคม ที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องพัฒนาคน พอเจอกระแสลักษณะแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กถูกยัดเยียด เรื่องใหญ่คือพ่อแม่อยากแข่งขัน ลูกคือหน้าตาของเรา มากกว่านั้นคือ “อ๋อ โลกของเด็กมันกว้าง ยัดลงไป มีอะไรก็ยัดลงไป” ยิ่งทำแบบนี้ เด็กยิ่งเสียหาย 

อันนี้เป็นข้อสังเกตส่วนตัว ไม่ใช่ในฐานะจิตแพทย์นะคะ สิ่งที่เราเจอคือ เด็กที่อยู่ในกรอบ อยู่ในครรลอง อยู่ในความคาดหวัง มักเป็นกลุ่มที่ไปหาจิตแพทย์มากที่สุด เพราะเขาถูกบีบคั้นตั้งแต่อนุบาล พออยู่ประถมก็ต้องเรียนพิเศษเสาร์-อาทิตย์ เรียนวิชาการ เรียนบัลเลต์ ฟุตบอล กีฬา เรียนทุกอย่าง จนกระทั่งเด็กไม่ค่อยมีเวลาที่จะนอนเอกเขนกสบายๆ บ้าง พอถึงช่วงมัธยม วัยที่เขาจะต้องหาตัวตน มีฮอร์โมนเพศ ในทางพัฒนาการสมองเราก็เริ่มเข้าใจว่ามันมีกระบวนการทำงานอีกแบบหนึ่ง อะไรที่สมองไม่ได้ใช้ มันจะถูกทิ้ง

การทับถมกดดันเด็กเกือบสิบปีของการเติบโต มันหนักมากๆ จนกระทั่งเวลานี้ เราเจอว่าเด็กที่อยู่ในครรลอง อยู่ในกรอบ ล้วนแล้วแต่เป็นโรคซึมเศร้า ต้องการไปหาจิตแพทย์ มีคนโทรมาบอกว่า เพื่อนมีลูกสาวอยู่ ป.4 เข้าไปดูแอพพลิเคชั่นเพื่อเช็คสุขภาพจิตตัวเอง เสร็จแล้วเดินมาบอกคุณแม่ว่า “หนูเช็คแล้ว หนูคิดว่าหนูเป็นโรคซึมเศร้า” ที่สำคัญมันมีคำถามตอนท้ายว่า “เคยคิดจะฆ่าตัวตายไหม” เขาบอกว่าเขาคิด… เด็ก ป.4 นะคะ แล้วพอเราแอบถามว่า แม่มีลักษณะยังไง เขาบอกว่า “แม่เป็นคนเข้มงวด แม่เป็น CEO บริษัทใหญ่ แม่คาดหวังกับลูกมาก มันสะท้อนว่าเด็กไม่มีความสุข ครูสอนอะไรก็ไม่รู้ ไม่ได้สอนเรื่องทักษะชีวิต ไม่ active learning นั่งทำแบบฝึกหัดอย่างเดียว ทำแล้วสอบ จดแล้วจำ จำแล้วสอบ สอบแล้วลืม วนอยู่อย่างนี้สิบปี เด็กไม่มีความสุข ไม่รู้ว่าชีวิตต้องเดินไปต่อยังไง คำพูดว่าเด็กอยากฆ่าตัวตาย เราได้ยินบ่อยมากๆ เด็กผู้ชายคนหนึ่งบอกแม่ว่า “ถ้าจะต้องเรียนแบบนี้ ตายดีกว่า” เพราะมันไม่เห็นจะมีอะไรใหม่เลย ไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจเลย แล้วจะมีชีวิตไปเพื่ออะไร แม่ฟังแล้วก็ร้องไห้น้ำตาแตก

สิ่งที่พวกเราพูดกันอยู่เรื่อยคือ พวกหมอเขาทนกันได้ยังไง เขาทนได้ยังไงกับการฟังเรื่องแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก วันหนึ่งน่าจะเป็น 10 เคส ปีหนึ่งถ้า 200 วัน ก็ 2,000 เคส คุณหมอประเสริฐทำมา 10 ปี ก็ราว 20,000 เคส คุณหมอเหมือนกับคนติดคุกหรือเปล่าเนี่ย ถ้าคุณหมอไม่ออกมาทำอะไรก็จะต้องอยู่ในวังวนเหมือนเด็กนั่นแหละ อาจจะแข็งแรงกว่าหน่อย แต่ว่าในที่สุดแล้วไม่มีใคร win เลย ทุกคน lose หมด การที่คุณหมอประเสริฐออกมาทำเรื่องแบบนี้ คุณหมอคงคิดว่าการช่วยหนึ่งชีวิตก็มีความหมาย แต่แค่นั้นไม่พอ เพราะไม่ใช่แค่เด็ก 2,000 หรือ 20,000 คน ที่ผ่านมือหมอ แต่มันเป็นล้านๆ คน เด็กไทยเป็นล้านๆ คนที่อยู่ในอาการแบบนี้ ถ้าไม่แก้ที่ระบบแล้วจะไปแก้ที่ไหน ไม่ใช่แค่ระบบการศึกษาอย่างเดียวนะ แต่ระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจก็จะต้องถูกจัดการไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะการเมือง

มีหลายเสียงที่มักพูดว่า เรื่องพวกนี้ต้องแก้ที่ครอบครัวก่อน แต่ขณะที่เราสนทนากันนี้ มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวต้องแก้ที่โครงสร้างด้วย คุณมองอย่างไร 

การเรียกร้องที่พ่อแม่และครอบครัว ถูกแค่ครึ่งเดียว เพราะโดยธรรมชาติของคนเป็นพ่อแม่แล้ว คุณต้องมีความพร้อมระดับหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าพร้อมเรื่องเงินทอง แต่ต้องพร้อมทางจิตใจด้วยว่า คุณจะเป็นพ่อเป็นแม่แล้วนะ พ่อแม่เขาเป็นกันยังไง อันนี้แน่นอนว่าคุณต้องมี 

ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคือ ไม่ว่าพ่อแม่จะมีหรือไม่มีความพร้อม สังคมต้องช่วยเขาด้วย แต่ตอนนี้มันถูกตัดขาดไปหมด พ่อแม่สมัยที่เราเป็นเด็ก เราเห็นแบบอย่างจากพวกเขา เราได้ช่วยแม่ค้าขาย เห็นพ่อแม่เจรจากับลูกค้า แม่คุยกับพ่อ หรือพ่อแม่เขาคุยกันยังไงเวลาเขาเจอปัญหา เราเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากครอบครัว แต่เวลานี้มันไม่ใช่ เด็กถูกตัดเข้ามาที่โรงเรียนอาทิตย์ละ 5 วัน เสาร์-อาทิตย์ก็ยังต้องเรียนพิเศษ เพราะฉะนั้นเขาไม่เห็น หรือเห็นแบบแวบๆ ไม่เห็นถึงความลึกของมันว่า สัมพันธภาพเกิดขึ้นได้ยังไง เพราะฉะนั้นเราทำยังไงล่ะ เราก็ต้องช่วยให้พ่อแม่เหล่านี้มีความรู้ความเข้าใจระดับหนึ่ง อย่างเช่น นิตยสาร รักลูกก็ช่วยด้านสื่อ มากกว่านั้นยังต้องมี facility อีกมากมายในโครงสร้างนี้ที่จะทำให้พ่อแม่มีโอกาสได้รู้ ได้เข้าใจ ได้ตระหนัก 

แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังไม่พอ เพราะโครงสร้างที่ว่ามันต้องมาตั้งแต่ระบบการเมือง กฎหมาย ผู้คนที่อยู่ในระดับนโยบายต้องเข้าใจว่าคุณมาบริหารประเทศ ไม่ได้มาบริหารแค่ทรัพยากร แต่ต้องบริหารคนด้วย คุณมีหน้าที่สร้างพื้นที่ให้คนในประเทศนี้เติบโตเพื่อรับภารกิจสังคมข้างหน้าต่อไป ถ้าคุณไม่คิดเรื่องนี้ กลับไปคิดแต่การจัดสรรที่ดิน ป่า ภูเขา แม่น้ำ แต่คุณไม่เห็นคน มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ในที่สุดคนของเราก็ขาดคุณภาพเป็นส่วนใหญ่ แล้วจะไปทำอะไรได้กับสภาพแวดล้อม ธรรมชาติ ในสังคมที่ซับซ้อนขนาดนี้

ฟังอย่างนี้แล้ว ระบบโครงสร้างสังคมเกี่ยวพันกันหมดเลย แล้วระบบอะไรควรถูกแก้ก่อน

ระบบที่ใกล้ตัวเด็กมากที่สุด คือระบบการศึกษาที่ไม่ flexible ยังยึดอยู่ในกรอบ การวัดระเบียบยังอยู่ที่เรื่องการตัดผม ชายกระโปรง แต่กลับไม่สนใจเลยว่าคุณกำลังพูดอะไรกับสมองเขา คุณไม่สนใจเลยว่าทุกคำพูดที่เราพูดกับเด็ก สมองเขามีปฏิกิริยาทั้งสิ้น ถ้าเป็นสมองเด็กเล็กๆ เวลาเราพูดแบบนี้มันก็งอกไป แต่จะงอกแบบคุดหรืองอกแบบอิสระ ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณพูดอะไรลงไป

เพราะฉะนั้นการศึกษาที่กำหนดว่าเป็นขั้นพื้นฐาน 12 ปี คือช่วงเวลาที่คุณกำลังทำงานกับสมองเขาทั้งหมด คุณกำลังฟอร์มบุคลิกภาพให้เด็ก คำพูดที่ว่า “เราปลูก เราฝัง เราบ่ม เราเพาะ” สะท้อนว่าเรากำลังปั้นเด็กทั้งสิ้น คำถามคือเราปั้นเขาไปสู่ทิศทางไหน ปั้นด้วยความรู้ความเข้าใจอะไร ปั้นด้วยการมองเห็นเป้าไหมว่าข้างหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้น นี่เป็นคำถามที่ต้องใส่ไปที่ระบบการศึกษา

เรื่องพ่อแม่เราปฏิเสธไม่ได้ การศึกษาก็ปฏิเสธไม่ได้ แล้วระบบโครงสร้างทั้งหมดก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราให้ความสำคัญกับมนุษย์ไม่พอ เราถึงได้เจอมนุษย์ที่กลายเป็นคนอ่อนเปลี้ยเสียขา ด้อยค่าไปหมด แล้วถ้าไม่รีบแก้ เรื่องนี้จะกลับมาซ้ำเติมสังคมเองในที่สุด

เวลาเราคุยเรื่องการจัดการป่าที่ไม่เห็นคน จัดการน้ำที่ไม่เห็นคน ทั้งที่ป่ามีคน น้ำก็มีคน ขณะเดียวกันชาติก็ประกอบไปด้วยคน ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้อยู่ หน้าตาของชาติในอนาคตจะเป็นอย่างไร

อันนี้เป็นสิ่งที่น่าห่วงมากๆ เพราะอย่างที่เรารู้ว่า การจะแก้ climate change มันก็ต้องอาศัยคน การจะสร้างเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ชีวิตข้างหน้าก็ต้องสร้างด้วยคน เพราะฉะนั้นประเทศที่เขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เขาเห็นความฝัน ความหวังของเขาชัดเจน แต่พอกลับมามองบ้านเรา เวลานี้เราเห็นเด็กซึ่งอาจมีไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ จาก 100 เปอร์เซ็นต์ที่จะแข็งแรงต่อไปได้ แล้วพวกเขาต้องมาแบกอุ้มประเทศที่หนักเกินไป เราจะกลายเป็นประเทศที่คนอื่นเขาเข้ามาลงทุน ส่วนคนไทยก็เป็นแค่แรงงานราคาถูก ไม่สามารถจะต่อรองอะไรได้ ในที่สุดกฎหมายก็จะไปเอื้อต่อผู้มีกำลังทางเศรษฐกิจ แล้วถ้าเราอยู่แบบนี้ “โอ้ เราอยู่อย่างพอเพียง เราพอกินพอใช้” มันไม่จริงหรอก เพราะเราเชื่อมต่อกับทุกอย่างในโลกไปหมดแล้ว

เราต้องบอกว่าพระสยามเทวาธิราชช่วยเราเยอะ พระสยามเทวาธิราชก็คือธรรมชาติของความเป็น tropical zone ที่ทำให้เรามีแดดทุกวัน ต้นไม้เรางอกได้ทุกวัน เพราะฉะนั้นมันเหมือนจะแย่ แต่ก็ยังดีหน่อย เพียงแต่มันก็ตอบไม่ได้ว่าจะทำให้เราแข็งแรงทนทานได้แค่ไหน เรื่องนี้เป็นเรื่องระยะยาว

ดังนั้นผู้นำในสังคมทั้งหลายต้องรีบกลับมามองเรื่องนี้ เรื่องอื่นพักไว้ก่อนบ้างก็ได้ ทางด่วน รถไฟฟ้า เรือดำน้ำ จะช้าไปหน่อยก็ได้ แต่เราต้องลงทุนเรื่องคน เราเพิ่มค่าอาหารเด็ก จาก 20 เป็น 21 บาท สู้กันแทบตายกว่าจะได้มา 1 บาท ในขณะที่เรือดำน้ำหมื่นล้าน ไอพ่นหลายหมื่นล้าน นี่คือเรื่องการเมืองล้วนๆ ถ้าเราไม่ทำ เด็กของเราจะเสียโอกาส ทั้งๆ ที่เรามักพูดอยู่เรื่อยว่า สมองเราไม่ได้แตกต่างจากมนุษย์ทั้งโลก แต่สภาพแวดล้อมในประเทศเราต่างหากที่ทำให้เราต่ำต้อย

EF สำคัญแค่ไหน แล้วหากเราโฟกัสเรื่องนี้จะสามารถขับเคลื่อนคนในชาติได้อย่างไร 

EF คือกระบวนการทำงานของเส้นใยประสาท สิ่งสำคัญคือ เมื่อมันถูกบอกซ้ำๆ ทำซ้ำๆ เส้นใยประสาทมันจะฝังตัว ฝังชิพเหมือน intel inside ในคอมพิวเตอร์ แล้วสิ่งนี้จะกำหนดพฤติกรรมถัดไปของเรา สมมุติว่า แม่สอนให้เราเป็นคนทำอะไรแล้วรู้จักเก็บ ครั้งแรกสมองเราไม่ชิน ตอนเราสองสามขวบ เราเล่นของเล่น แล้วเราก็ทิ้งไว้ แม่บอกเก็บนะลูก มา แม่ช่วยเก็บ สมองเราก็จะเรียนรู้เรื่องการเก็บ แล้วเราก็จะจำได้ว่า เล่นแล้วเก็บ เพราะฉะนั้นหากทำอย่างนี้สักเดือนหนึ่ง ในที่สุดแม่ไม่ต้องบอกอีกแล้ว เราจะเล่นแล้วเก็บด้วยตัวเอง เพราะสมองมีช่องทางของมัน นี่คือการวางโครงสร้างของสมอง เรื่องนี้สำคัญ

ประเด็นที่สองคือว่า ทุกประสบการณ์มีผลต่อเส้นใยประสาทในสมอง ในการเรียนรู้ของสมอง ดีที่สุดที่ EF จะพัฒนาคือช่วง 3-6 ขวบ หมายความว่าช่วงนี้จะสอนอะไรก็เร่งสอน หลักของสมองคือยิ่งทำยิ่งจำ ถ้าไม่ทำ พอถึงวัยหนึ่งเช่น 9 ขวบ 14 ขวบ มันก็จะถูกเล็มทิ้ง หมายความว่าเมื่อไม่ใช้ก็จะถูกทิ้งๆ ไป เหมือนรากต้นไป ไปเจอหิน มันดูดอะไรไม่ได้ มันก็จะค่อยๆ ฝ่อ ดังนั้นช่วงประถมวัย เป็นช่วงที่เราต้องปลูกฝังคุณลักษณะที่อยากเห็น อารมณ์ดี มองโลกทางบวก ไม่ได้ไข่ต้มเอาไข่เจียวก็ได้ ไม่มีรองเท้าสีนี้ก็ใส่อีกสีหนึ่งก็ได้ ทำให้เป็นคนยืดหยุ่น ทำให้เป็นคนยั้งใจ เช่น รอคอยเป็น เข้าคิวเป็น เส้นใยเหล่านี้คือการฟอร์ม คือการ shaping เส้นใยสมองแล้วแปรผลเป็น personality ของคนคนนั้น อันนี้คือหัวใจ

เมื่อเราเข้าใจว่า มนุษย์มีสมอง 3 ส่วนหลัก คือ สัญชาตญาณ อารมณ์ และความคิด สัญชาตญาณคือการเอาตัวรอด แม่ถือไม้มา จะวิ่งหรือจะสู้แม่ นี่คือสัญชาตญาณ ส่วนอารมณ์คือ แม่ไม่ให้ก็ดิ้นทันที ร้องทันที กรี๊ดทันที เราจะทำยังไงให้สมองส่วนคิดสามารถกำกับอารมณ์และสัญชาตญาณได้ นั่นก็คือกระบวนการสอน ช่วง 6 ขวบนี่แหละจะเป็นการสอนให้เขาใช้สมองส่วนคิด เช่น “ยังไม่ได้นะลูก รอพรุ่งนี้ก่อน” หรือว่า “ถ้าทำอย่างนี้ หนูโกรธใช่ไหม” โดยที่พ่อแม่ยังไม่ต้องตอบโต้นะ นิ่งๆ ก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยไปบอกเขาว่า “ทำอย่างนี้ไม่ถูก” ใช้สมองส่วนคิดกำกับสมองส่วนอารมณ์ แล้วก็ไปกำกับส่วนสัญชาตญาณ

เพราะฉะนั้น ถ้าเขาทำอย่างนี้บ่อยๆ ส่วนคิดเขาจะแข็งแรง มีงานวิจัยที่อธิบายเรื่อง EF ว่า จริงๆ แล้วไม่ได้จบแค่ปฐมวัย เพราะเด็กเหล่านี้ถ้าเขามี EF แล้ว เราก็จะเห็นว่า ทำไมเด็กบางคนว่าง่าย โตขึ้นเขาก็ยังว่าง่าย พอเป็นวัยรุ่นมันเฮี้ยวนิดๆ แต่ก็ยังกลับมาว่าง่าย แต่ทำไมบางคนตั้งแต่เล็กเป็นอย่างนี้ พอประถมก็เป็นอย่างนี้ วัยรุ่นก็เป็นอย่างนี้ ยิ่งเตลิดเปิดเปิงไปใหญ่ เพราะว่าแผนที่ในสมองหรือโครงสร้างมันฝังตัวเรียบร้อยแล้ว 

เรื่องของ EF นั้น มีงานวิจัยที่อธิบายเกี่ยวกับทุกเรื่อง ทุก aspect ของชีวิตนะ ชีวิต สังคม ตัวเอง การไปให้ถึงเป้าหมาย ถ้าเราเป็นคนที่อดทน ทำอะไรค่อยๆ เพียร จนถึงจุดหนึ่งเราทำได้แล้ว “โอ้โห ดีใจจังเลย” แม่ก็ชมว่า “ลูกมีความพยายามสูง” เราก็จะเป็นคนที่มีลักษณะของความเพียรพยายาม เพราะฉะนั้นเมื่อโตขึ้น เขาก็จะมีความเพียร “เอาวะ ยังไงก็สู้ขาดใจ ไม่แพ้หรอก ไม่ยอมแพ้” ทำนองนี้ งานวิจัยยังไม่ได้มีแค่ตอนเด็กเล็กนะ แต่ขยายไปจนถึงตอนโต มันเหมือนทำให้เราอยากพิสูจน์ 

คำว่า EF ขอให้วงเล็บไว้ว่ามันมีคำว่า self ด้วย ไม่ใช่แค่เรื่อง Neuroscience อย่างเดียว เพราะคนที่ EF ดี แต่ว่าชอบโกง หรือจิตใจเคียดแค้นก็มี ซึ่งมันไม่ใช่ มันต้องไปด้วยกันทั้ง EF กับ self อันนี้คือที่คุณหมอประเสริฐเชื่อมโยงไว้ให้ อย่างเด็กญี่ปุ่นเขาไปเรียนอนุบาล ไม่ต้องอ่านเขียนอะไรทั้งนั้น ไปหัดถูบ้าน เช็ดกระจก เก็บรองเท้า เล่นกับเพื่อน แก้ปัญหา พูดง่ายๆ คือฟอร์มสิ่งที่เป็นคุณลักษณะพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ 

พอขึ้นประถมและมัธยม แทนที่จะให้นั่งท่องแล้วจด แล้วอยู่กับตัวเองคนเดียวหรืออยู่กับการกดดันของคะแนน ทำไมไม่ให้เขาทำงานแบบโปรเจ็คต์อย่างที่เขาพูดกัน เช่น project-based learning, problem-based learning ไปแก้ปัญหา ไปถามชาวบ้านซิว่า น้ำเน่าในคลอง เขารู้สึกยังไง แล้วมาคิดดูซิว่าใช้เคมีอะไรได้บ้าง การเรียนมันต้องเป็น active learning แบบนี้ เพราะมันจะช่วยการคิด เด็กที่ได้คิดเยอะๆ คิดบ่อยๆ สมองจะมี pathway ของการคิด เช่น ชุมชนมีปัญหาอย่างนี้ ปัจจัยอย่างนี้ สาเหตุอย่างนี้ ก็ค่อยๆ คิดไป เพราะฉะนั้นการที่เราเชื่อมต่อเรื่อง EF อย่างเป็นรูปธรรมว่ามันคือ active learning คือการจิตอาสา วัยรุ่นกำลังมีความต้องการที่จะเป็นตัวของตัวเอง ต้องการมีที่ยืนของตัวเอง นี่คือสิ่งที่สำคัญ คำว่าที่ยืนแปลว่าคนอื่นยอมรับ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ให้การยอมรับเขาว่า “หนูทำงานเก่ง หนูเป็นคนมีน้ำใจดี หนูเป็นคนชอบช่วยเหลือคน” เขาก็จะไปทางตีรันฟันแทงเก่ง ไอ้นี่คุมเพื่อนอยู่ คุมแก๊งได้ มันต้องการที่ยืน

การสร้าง EF ง่ายนิดเดียว หนึ่ง – คิดอะไรก็ได้ คิดเยอะๆ แทนที่จะตอบคำถามลูกทุกครั้ง ให้ถามลูกกลับ ให้ลูกคิด สอง – ให้ทำเยอะ ทำกับข้าว ซักผ้า ถูบ้าน ล้างจาน ขุดดิน ทำอะไรก็ได้ สมองทำงานทั้งสิ้น สาม – ให้ได้วางแผนเยอะๆ จะไปตลาด ไปซื้ออะไรดี จะกินอะไรดี จะห่อของขวัญยังไงดี ต้องเตรียมอุปกรณ์ยังไง ให้เขาได้วางแผน แล้วเด็กก็ทำได้ในชีวิตประจำวัน สี่ – ท้าทาย อย่าให้ง่ายเกินไป วันนี้ให้ยกของเล่น 1 กิโล พรุ่งนี้ลอง 2 กิโล และสุดท้ายก็ทบทวน ชวนคิดบ่อยๆ ว่าที่ทำไปเมื่อกี๊รู้สึกยังไง ทำแล้วดีไหม คราวหน้าเอายังไงต่อดี

เราไม่รู้ว่าจะสู้เรื่องนี้กับค่านิยมหรืออำนาจในระบบได้มากน้อยแค่ไหน แต่เราก็คิดว่าต้องทำ อันนี้ต้องขอกลับมาที่คุณหมอประเสริฐ คุณหมอจะย้ำเรื่องหนึ่งมากๆ คือ เราต้องทำงานกับท้องถิ่น พูดง่ายๆ คือต้องไม่ไปฝันกับกระทรวง ทุกครั้งที่เราทำงานกับกระทรวงแล้วโทรไปชวนคุณหมอมาทำด้วย คุณหมอจะบอกว่า “พี่ ผมไม่ไปแล้ว ผมไม่มีความหวังกับพวกนั้น” เราเข้าใจคุณหมอนะ เพราะคนท้องถิ่นเขารักลูกรักหลานเขา คนที่กระทรวงไม่ได้รักลูกรักหลานที่ไหนหรอกนอกจากลูกของตัวเอง 

ฉะนั้นเราต้องทำงานในพื้นที่ของการกระจายอำนาจ ซึ่งคุณหมอจะชี้อยู่ตลอดเวลาว่าต้องไปเสริมแรงตรงนั้น เราไปทำงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ เอาหลักสูตร EF ไปชวนทำเรื่องสมองกับการเรียนรู้ ซึ่งทุกวันนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏเกือบทุกแห่งมีหมด แล้วที่สำคัญคือช่วยเป็นหมุดให้กับจังหวัดด้วย ตอนนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายกับอีก 9 อำเภอ กำลังสมาทาน EF แล้วทำงานด้วยกัน เราไม่ต้องสนใจว่าหน่วยเหนือจะพูดว่าอะไร แต่สาธารณสุขที่นั่น ครูที่นั่น ผู้นำชุมชนที่นั่น จะช่วยกันทำเรื่อง EF เขาจะเอาลูกหลานเขารอด 

สำหรับคนที่ชอบคิดเรื่องตัวเลขกำไร ขาดทุน ถ้าเราจะเอา EF มาผูกกับหลักเศรษฐศาสตร์ การลงทุนนี้จะตอบแทนอะไรให้กับประเทศหรือให้กับโลก

มีงานวิจัยอย่างเช่น ดร.เจมส์ เฮคแมน (James J. Heckman – นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ปี 2542) พูดว่าลงทุน 1 ได้ 7 เท่า อะไรก็ว่าไป หรืออย่างตัวเลขของประเทศไทยเรื่อง ‘เศรษฐศาสตร์ยาเสพติด’ เราเพิ่งได้ข้อมูลปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า เราใช้เงินไปมากมายกับการจัดการเรื่องยาเสพติด ตลอดจนเขาป่วย เขาติดเอดส์ เขาต้องไปบำบัด ความเสียหายจากการที่เขาทำกับครอบครัว เขาอาละวาด เขาไปอยู่ในราชทัณฑ์ ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้จ่ายให้กับอัยการ ผู้พิพากษา ทั้งหมดนี้อาจารย์เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ทำวิจัยออกมาเป็นตัวเลข 393,000 ล้านบาท 

กลับกัน ถ้าคุณลงทุนสร้าง EF ให้เด็กทุกปี เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ จากที่คุณเสียปีละ 393,000 ล้านบาท ไปกับการจัดการยาเสพติด มันจะสร้างมนุษย์ที่ยืนยันได้ว่าเขาจะไม่ติดยา หรือถ้าติดก็น้อยมาก ต้องยอมรับว่ามนุษย์มันก็มี defect (ข้อบกพร่อง) บ้าง แต่อยู่ในสเกลที่รับได้ ไม่ใช่สเกลแบบทุกวันนี้ เด็กเกือบครึ่งใช้ยาเสพติด ประเทศนี้มันบ้าไปแล้ว แต่ถ้ามี EF ดีมาตั้งแต่เด็ก ต่อให้ไปลอง เขาก็จะเลิก หรือเมื่อไปบำบัดเขาก็เลิกได้ แต่เด็ก 90 เปอร์เซ็นต์ที่บำบัดแล้วเลิกไม่ได้ เพราะว่าสมองไม่ได้ถูกวางเส้นทางที่จะพาเขาไปสู่จุดของการตัดสินใจที่ดี

หัวข้อปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในปีนี้ตั้งชื่อว่า ‘เลี้ยงลูกในโลกใหม่’ เห็นหัวข้อนี้แล้วคาดหวังอะไร

ที่ผ่านมาวงการพัฒนาเด็กมักจะจำกัดอยู่แค่พัฒนาการเด็ก ไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้แวดวงนี้มักจบแค่ความสุข ความรัก ความเมตตา กรุณา ความปรารถนาดีต่อเด็ก แต่ในโลกที่มันเป็น VUCA (ย่อมาจาก V-volatility ความผันผวน, U-uncertainty ความไม่แน่นอน, C-complexity ความซับซ้อน และ A-ambiguity ความคลุมเครือ) แบบนี้ อีกทั้งสถานการณ์ในประเทศไทยก็มีลักษณะอย่างที่เห็น ทำให้เราเห็นความชัดเจนมากขึ้นว่าเด็กโตอย่างนั้นไม่ได้หรอก เด็กโตอย่างที่เราหวังไม่ได้หรอก ถ้าสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองเรามันไม่เปลี่ยน 

ตลอดทางของการเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง สังคมต้องดูแลนะ ‘It takes a village to raise a child’ ไม่ใช่แค่ village นะ แต่มันคือ ‘It takes a country to raise a child’ ด้วย เพราะฉะนั้นทุกกระบวนการของการเลี้ยงเด็ก แน่นอนว่าสังคมต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งแค่อันแรกเราก็ทำจนตาแทบแตกแล้ว กว่าจะทำให้ทั้งประเทศมาสนใจ เรายังรู้สึกว่ามันทำยาก แต่หลังจากนี้ไปเมื่อเด็กเริ่มเป็นผู้ใหญ่ เขาจะเติบโต แล้วสร้างสังคมใหม่ที่จะทันโลก ทันกับสภาวะ VUCA 

ฉะนั้นเราต้องจัดสภาพแวดล้อมใหม่ที่ดี คือตั้งแต่โครงสร้างนั่นแหละ โครงสร้างที่เป็นประชาธิปไตย EF นี่คือเรื่องประชาธิปไตยนะคะ EF ไม่อนุญาตให้กดขี่ว่าต้องพูดอย่างนี้ สมองมนุษย์ต้องพร้อมที่จะเบ่งบานและพร้อมที่จะไปตามศักยภาพทั้งหลายทั้งปวง ไปจนถึงขั้นสูงสุดของความเป็นมนุษย์ การที่สังคมไม่เป็นประชาธิปไตยมันเป็นความเศร้าของ EF เลย วันดีคืนดีคนอาจจะพูดว่าไม่ต้องทำแล้ว ไม่ให้ทำ แล้วมันก็จะหยุดแค่นั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วมันคือธรรมชาติ มันคือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนนะที่จะได้รับการพัฒนา EF

จากนั้นถ้าเราพูดเรื่องอนาคตข้างหน้า เราจะต้องการมนุษย์ที่มีคุณสมบัติคือ หนึ่ง – จะต้องแกร่ง สอง – ต้องคิดเก่ง แก้ปัญหาเก่ง เพราะอนาคตข้างหน้าเต็มไปด้วยปัญหา ตั้งแต่โลกร้อน เทคโนโลยีดิสรัปชั่น โควิด เราต้องการการคิดที่เก่งทั้งนั้น ยังไม่รู้ว่าจะมีอะไรเข้ามาอีก ถ้าเราไม่ฝึกฝนคนของเราให้สมองมีคุณภาพ ทั้งๆ ที่เขาได้สมองมาไม่ต่างจากคนอื่น มันก็จะทำให้เราเสียโอกาสอย่างมาก เราเห็นตัวอย่างเด็กไทยที่เก่ง ที่พ่อแม่เขาดูแลมาดี self เขามี EF ดี เขาก็ไปได้สูงสุดจริงๆ แต่เราไม่ได้ต้องการแค่คนไม่กี่คน เราต้องการให้คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ได้แบบนี้ด้วย 

มีหลายคนที่พูดว่า “ประเทศอื่นไม่เห็นเขามารณรงค์เรื่อง EF” นั่นก็เพราะว่าเขาไปในรูปของ EF เรียบร้อยแล้วค่ะ เขาไม่ต้องมารณรงค์แล้ว ไอ้ของเรามันทำสิ่งที่ขัดกับธรรมชาติมนุษย์มาตลอด เราถึงต้องมารณรงค์กันเป็นบ้าเป็นหลัง แล้วก็ยังไม่เห็นหน้าเห็นหลังเท่าไหร่ เรื่องน่าเศร้ามันอยู่ตรงนี้ ซึ่งเราคิดว่าหัวข้อที่คุณหมอประเสริฐพูดจะเป็นการเชื่อมโยงที่สำคัญ

ทุกครั้งที่พูดเรื่องใหญ่ มันจะต้องเห็นมนุษย์ตัวเล็กๆ เชื่อมต่อ หรือทุกครั้งที่พูดเรื่องมนุษย์ตัวเล็กๆ มันก็ต้องเชื่อมต่อไปถึงโครงสร้างได้ หัวข้อนี้จึงน่าสนใจมาก ตอนแรกก็งงว่าคุณหมอจะมาไม้ไหนรอบนี้ แต่พอคิดจริงๆ จังๆ เอ้อ ถูกต้อง ต่อไปโลกต้องคิดอย่างนี้ เอาคนเป็นศูนย์กลางแล้วก็เชื่อมต่อกับทุกเรื่อง


บทสัมภาษณ์ชุด ‘นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18’ นี้ ประกอบด้วยการสนทนากับ 1) ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ 2) จิราภรณ์ อรุณากูร 3) เรณู ศรีสมิต 4) สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ และ 5) สุภาวดี หาญเมธี เพื่อประกอบตัวตนและความคิดของ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18 หัวข้อ ‘#เลี้ยงลูกในโลกใหม่: พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตย และอนาคตใหม่ของทุกคน’

จัดงานโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันพุธที่ 9 มีนาคม 2565 รับชมการถ่ายทอดสดออนไลน์จากห้อง ศ 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ผ่านทางเฟซบุ๊คแฟนเพจ EconTU Official และ way magazine เวลา 09.30-12.10 น.

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า