เรื่อง: รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ / อภิรดา มีเดช
ภาพ: ชลิต สภาภักดิ์
แม้จะเกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในวัยหลังเกษียณอายุราชการ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านพระราชพิธี มีโอกาสเป็นผู้บรรยายในพิธีพระบรมศพและพระศพของเจ้านายชั้นสูงมาแล้วหลายพระองค์ โดยงานบรรยายงานพระเมรุงานแรกของเขา คืองานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว
ด้วยความรู้ความเข้าใจทั้งในทางกว้างและทางลึก นอกจากจะสามารถดำเนินรายการได้อย่างราบรื่นและเป็นธรรมชาติ ธงทองยังแทรกข้อมูลน่าสนใจ เกร็ดความรู้ต่างๆ ทั้งในทางศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และประเพณี ระหว่างการบรรยายได้อย่างน่าฟัง
WAY มีโอกาสพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญงานพระราชพิธี ที่ยืนยันว่า ประสบการณ์ของคนไทยทุกคนในปี 2559 จะประทับอยู่ในหัวใจพวกเราตลอดไป
ทราบมาว่าก่อนหน้านี้ อาจารย์เคยรับหน้าที่เป็นผู้บรรยายในพิธีพระบรมศพมาบ้าง อยากทราบว่าเป็นงานใดบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าในครั้งนี้คงแตกต่างกับครั้งอื่นๆ อย่างเทียบกันไม่ได้?
งานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ไม่ใช่สิ่งซึ่งคนในยุคสมัยผมได้เคยเห็นมาก่อน ผมเองก็อายุ 60 กว่าแล้ว นี่ก็เป็นประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิตของผมที่ผ่านพบกับเหตุการณ์อย่างนี้
จริงอยู่ว่าในเวลายี่สิบสามสิบปีที่ผ่านมา ผมพอจะเป็นผู้ใหญ่แล้ว ทำงานแล้ว ผมเคยได้เห็นงานพระบรมศพมาสองงาน คือ งานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เมื่อปี 2527 และงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี 2539 อีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีงานพระศพอีกสองงาน คือ งานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อปี 2551 และงานพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อปี 2554 อีกครั้งหนึ่ง
ในรายละเอียดคงไม่เหมือนกันทุกประการ หลักบางเรื่องอาจจะใกล้เคียงกัน แต่ว่าจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป
แต่ประสบการณ์ในปี 2559 นี้ ไม่น่าจะเหมือนกับครั้งใดๆ?
สิ่งที่ผมคิดว่ามีนัยสำคัญ คือความรู้สึกโศกเศร้าสูญเสียของประชาชน ครั้งนี้ผมคิดว่าคนไทยทุกคนทราบดีว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของเรา เป็นประสบการณ์ที่เราไม่เคยผ่านไม่เคยพบมาเลย
งานพระบรมศพครั้งนี้ผมคิดว่าเป็นความตั้งใจของเราทุกคน ทั้งฝ่ายผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักพระราชวัง รัฐบาล กระทรวงทบวงกรมทั้งหลาย ที่อยากจะให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ และถูกต้องตามโบราณราชประเพณี แล้วก็งดงามสมกับพระเกียรติยศ สมกับสิ่งที่ท่านได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญและพระราชทานให้เรามาโดยตลอด
ตั้งแต่วันแรกที่อัญเชิญพระบรมศพจากโรงพยาบาลศิริราชมาที่พระบรมมหาราชวัง ที่จริงการปฏิบัติในส่วนนี้ของบ่ายวันที่ 14 ตุลาคม จะเรียกว่าพิธีก็ไม่ใช่ เพราะเป็นเพียงการอัญเชิญพระบรมศพ ไม่ได้มีพิธีกรรมอะไร ครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตนอกพระบรมมหาราชวัง
พระมหากษัตริย์อีกพระองค์ที่สวรรคตนอกพระบรมมหาราชวังคือรัชกาลใด
ในประวัติกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 6 กับรัชกาลที่ 8 ท่านสวรรคตในวังหลวงทั้งสิ้น จะมียกเว้นก็รัชกาลที่ 7 ท่านไปสวรรคตที่อังกฤษ และตอนนั้นท่านก็ไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว เพราะทรงสละราชสมบัติ ได้มีการถวายพระเพลิงที่อังกฤษในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ได้เชิญพระบรมศพกลับมาเมืองไทย ภายหลังได้อัญเชิญกลับมาก็แต่เพียงพระบรมอัฐิเท่านั้น
ถ้าพูดถึงพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคตในประเทศ ในเวลาที่ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่ และสวรรคตนอกพระบรมมหาราชวัง ก็มีพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 กับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 สวรรคตที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต มีการสรงพระบรมศพที่นั่น ประดิษฐานพระบรมศพในพระบรมโกศเสร็จเรียบร้อยจึงแห่อย่างกระบวนแบบโบราณมาบนพระยานมาศสามลำคาน คือ พระยานมาศขนาดใหญ่ที่มีคนหาม 30 กว่าคน กางกั้นพระมหาเศวตฉัตรแล้วแห่มาตามถนนราชดำเนินโดยตลอด กว่าจะถึงพระมหาปราสาท ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพ ใช้เวลาเดินแถวหรือเดินกระบวนนี้ประมาณสี่ชั่วโมง
ใครๆ คงจะนึกถึงเหตุการณ์ข้างต้นได้ ถ้าเคยอ่านหนังสือ หรือดูบันทึกของผู้หลักผู้ใหญ่มาบ้าง ตัวอย่างเช่นรายละเอียดที่ คุณชายคึกฤทธิ์ (ปราโมช) นำไปเขียนหนังสือ สี่แผ่นดิน บรรยากาศที่แม่พลอยไปเฝ้าถวายบังคมพระบรมศพอยู่ข้างทาง คนยุคปัจจุบันน่าจะเคยอ่านจากหนังสือเล่มนั้นมาแล้ว และรู้สึกว่าเรื่องราวเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ผ่านไปนานแล้ว อยู่ไกลตัวเรา ประสบการณ์ของแม่พลอยเป็นอย่างไรก็ไม่รู้จะไปหาเพิ่มเติมได้ที่ไหน แต่ใครเลยจะนึกว่าเหตุการณ์อย่างเดียวกันนั้นจะอยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุดในวันที่ 14 ตุลาคม ที่เพิ่งผ่านมา
ถึงแม้ว่ารายละเอียดหลายอย่างจะแตกต่างกัน เช่น ยังไม่มีการสรงน้ำพระบรมศพที่โรงพยาบาล เวลาก็ไม่เหมือนกัน เวลาค่ำ เวลาบ่าย พฤติกรรม เหตุการณ์ต่างๆ ไม่เหมือนกัน แต่ความรู้สึกสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของผู้คนทั้งหลาย ผมว่าไม่แตกต่างกัน
ผมคิดว่าสิ่งที่เรารู้สึกได้ ถามพรรคพวกเพื่อนฝูง ถามลูกเด็กเล็กแดงทั้งหลาย ใครๆ ก็คงจะรู้สึกว่า…อยู่บ้านไม่ได้
อาจารย์จึงออกมาถวายบังคมพระบรมศพวันนั้นด้วย
ผมเกษียณอายุราชการแล้ว จึงชวนเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันบ้าง ลูกศิษย์ลูกหาบ้าง ผู้คุ้นเคยกัน เพื่อไปถวายบังคมพระบรมศพที่ข้างทาง ไปอยู่ที่เชิงสะพานปิ่นเกล้า ทางฝั่งด้านถนนเจ้าฟ้า ไปตั้งแต่เที่ยง กว่าจะเข้านั่งประจำที่ก็บ่ายโมง อยู่ไปจนถึงใกล้ๆ บ่ายห้าโมง ที่ขบวนผ่าน
ผมเป็นคนโบราณ ก็เอาธูปเทียนไป โบราณท่านใช้ธูปไม้ระกำดอกหนึ่ง เทียนเล่มหนึ่ง จุดถวายบังคม แต่ก็เข้าใจดีว่าคนมากเหลือเกิน มากเกินกว่าจะไปจุดอะไรได้ แล้วสมัยก่อนปักกับพื้นได้ นี่ก็ไม่รู้จะปักกับพื้นถนนที่ไหน สุดท้ายได้แต่ถือธูปเทียนนั้นขึ้นถวายบังคม ใครอยู่ข้างหน้าเขากราบได้ แต่ด้านหลังคนนั่งซ้อนกันจนกราบไม่ได้ จึงได้แต่ถวายบังคมท่วมหัวเรานั่นแหละ แล้วค่อยเอาธูปเทียนนั้นกลับมาจุดที่บ้าน ถวายบังคมไปทางพระบรมมหาราชวัง
นั่นคงเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของหลายๆ คน รวมทั้งผมด้วย
อยากทราบความเป็นมาของการพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนถวายน้ำสรงพระบรมศพ ไม่ทราบว่ามีมาตั้งแต่สมัยใด
การสรงน้ำพระบรมศพในส่วนที่เป็นพระราชพิธีของหลวงนั้นต้องเป็นการภายในแน่นอน แต่ก็ยังทรงมีพระมหากรุณาให้คนทั้งหลายที่มีความรักความอาลัย ไปถวายน้ำสรงที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ศาลาสหทัยสมาคมได้
ธรรมเนียมอย่างนี้เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งงานพระบรมศพพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นคราวแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทำเช่นนั้นได้เพราะว่าด้วยความอาลัยรักภักดีเมื่อครั้งสมเด็จย่า หรือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสวรรคตนั้น ทุกคนก็อยากถวายน้ำสรง
การถวายน้ำสรงจริงในพระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นการปฏิบัติภายในพระราชวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไม่ใช่ว่าข้าราชการทุกคนจะไปถวายน้ำสรงได้ และการถวายน้ำสรงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน แต่ไหนแต่ไรมาก็ถวายน้ำสรงที่พระบาท
อยากให้อาจารย์เล่าถึงธรรมเนียมในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลว่ามีความเป็นมาหรือหลักคิดอย่างไร
โดยสาระของการปฏิบัติ ย่อมเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศล อันที่จริงแล้วธรรมเนียมของหลวงกับธรรมเนียมของประชาชนทั่วไป ตามหลักของชาวพุทธแล้วมีหลักคิดไม่ต่างกัน การจะทำบุญก็ต้องสวดพระอภิธรรม เลี้ยงพระ สดับปกรณ์ (คือราชาศัพท์สำหรับการบังสุกุล) แต่รายละเอียดของงานพระราชพิธีจะมีความยิ่งใหญ่ ต้องมีความพร้อมเพรียงเต็มที่
ถ้าเปรียบกับงานของคนธรรมดาอาจเป็นการสวดพระอภิธรรมเพียงเจ็ดวัน แต่งานพระราชพิธีอย่างนี้จะมีคนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก คนอยากมีส่วนร่วม อยากฟังพระสวดพระอภิธรรม จึงต้องมีสวดนานถึง 100 วัน หรือตามกำหนดไว้ทุกข์ สวดเฉพาะตอนค่ำก็ยังไม่พอแก่น้ำใจที่อยากสนองต่อพระเดชพระคุณ จึงต้องมีสวดตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม
โบราณท่านมีสวด 24 ชั่วโมง แต่หลังๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีแนวปฏิบัติตั้งแต่ครั้งงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพราะเจ้าหน้าที่ทำงานหนัก หากให้ทำแบบโบราณคงเป็นไปได้ยาก ส่วนการสวดพระอภิธรรม ก็จำเป็นต้องมีการผลัดกันสวด อย่างนี้เป็นต้น
นอกจากนั้นก็มีการบำเพ็ญพระราชกุศลตามวาระสำคัญ 7 วัน 15 วัน 50 วัน 100 วัน ซึ่งคนธรรมดาก็ทำแบบนี้ เพียงแต่คนธรรมดาบางครั้งก็ทำแบบย่นย่อ วันเดียวจบ เลี้ยงพระเพล สวดมนต์ มีเทศน์ เพราะกำลังคนมีแค่นั้น แต่ถ้าเป็นของหลวง ท่านยังทำเต็มแบบโบราณอยู่ พระที่สวดมนต์เย็นก็ต้องมารับพระราชทานฉันเพลในวันรุ่งขึ้น มีพระธรรมเทศนา มีพระสวดรับเทศน์ สุดท้ายแล้วก็มีสดับปกรณ์
ถ้าเป็นชาวบ้านอย่างเราๆ มีพระ 10 รูปก็ถือว่ามากแล้ว แต่นี่สดับปกรณ์เท่าพระชนมพรรษา คือ 89 จึงใช้เวลานาน ต้องแบ่งพระสงฆ์ขึ้นเป็นเที่ยว เที่ยวละประมาณ 10 รูป
นอกจากนั้นควรพูดให้ปรากฏด้วยว่า นอกจากหลวงท่านเป็นเจ้าภาพแล้ว ก็มีธรรมเนียมสองเรื่องที่น่าสนใจ เรื่องแรกคือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรดาองค์กร หน่วยงานทั้งหลาย เป็นเจ้าภาพโดยเสด็จพระราชกุศลได้หลังจากพ้น 50 วันไปแล้ว แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกเจ้าภาพจะได้เป็นเจ้าภาพเดี่ยว คงต้องมีการจัดกลุ่ม จัดลำดับให้เป็นเจ้าภาพร่วมบ้าง ต้องฟังรายละเอียดจากสำนักพระราชวัง ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติอยู่แล้ว ว่าต้องทำอย่างไรต่อไป
เรื่องที่สองเป็นเรื่องที่สำคัญและควรจะเข้าใจก็คือเรื่องของพระเมรุมาศ หรือ พระเมรุกลางเมือง เราเข้าใจตรงกันว่า งานพระบรมศพอย่างนี้ การมีส่วนร่วมของคนย่อมมากมายมหาศาล แต่ไหนแต่ไรมา สำหรับพระบรมศพ ท่านจึงออกพระเมรุที่กลางเมือง คือสนามหลวง ต้องสร้างพระเมรุมาศตามคติโบราณ การมีเมรุถาวรเพื่อใช้เป็นที่เผาศพประจำ คนไทยโบราณท่านไม่ค่อยชอบนัก อาจมีความรู้สึกว่าต้องใช้ซ้ำกับคนอื่น เกียรติยศของศพทุกศพก็ไม่เสมอกัน แต่แน่นอน ถ้าปัจจุบันยังถือคติอย่างนั้นก็ยุ่งอยู่เหมือนกัน ถ้าใครเสียชีวิตแล้วทุกคนต้องสร้างเมรุใหม่หมด ทำไม่ได้หรอก แต่สำหรับเจ้านายชั้นสูง ยังถือธรรมเนียมแบบโบราณอยู่ ไม่ใช่ความรังเกียจคนอื่น แต่เพื่อเป็นพระเกียรติยศ เราอยากจะทำถวายท่านต่างหาก
กรณีของพระเมรุในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ คำเรียกที่ถูกต้องคืออะไร
พระเมรุมาศสำหรับเจ้านายที่เป็นชั้นพระบรมศพ จะใช้ ‘พระเมรุมาศ’ (พระ-เม-รุ-มาด) แปลว่า พระเมรุทอง ถ้าเป็นเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ หรือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะใช้ว่า พระเมรุ (พระ-เมน)
สำหรับขนาด ก็จำเป็นต้องสร้างให้งดงามและใหญ่โต มีอาคารประกอบอื่นๆ อีกหลายอาคาร เป็นต้นว่า อาคารที่อยู่ตรงข้ามเบื้องหน้าพระเมรุมาศสำหรับบำเพ็ญพระราชกุศลเรียกว่า พระที่นั่งทรงธรรม ต้องมีเลี้ยงพระ มีพระธรรมเทศนา มีศาลาลูกขุน มีทิม มีซ่าง สำหรับพระนั่งสวดก่อนเวลาถวายพระเพลิง อย่างนี้เป็นต้น
ตามที่ทราบจากข่าวปรากฏทางสาธารณะแล้วว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงดูแลรับผิดชอบในส่วนของพระเมรุมาศนี้
พระเมรุมาศนี้สร้างที่สนามหลวงแน่ และน่าจะเป็นแนวที่เราเคยเห็นเคยปฏิบัติมาว่า ประชาชนคงได้ถวายดอกไม้จันทน์ตามซุ้มที่จัดไว้โดยรอบสนามหลวง ไม่ใช่ที่พระเมรุมาศ เพราะถ้าให้เข้าถึงองค์พระเมรุมาศด้วยกันทุกคนคงเป็นไปไม่ได้ และช่วงหลังทางราชการก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ตามวัด ตามเขตต่างๆ และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะจะให้คนทั้งหมดมาที่กรุงเทพฯก็เป็นการพ้นวิสัยอีกเช่นกัน
มีกำหนดหรือไม่ว่าจะจัดขึ้นในช่วงใด
ตอนนี้ยังไม่มีใครตอบได้ เพราะเท่าที่มีรายงานข่าว แบบพระเมรุมาศยังดำเนินการอยู่ การก่อสร้างต้องใช้เวลา ถ้าเป็นโบราณก็พยายามหลีกฤดูฝน เพราะเห็นว่าการปฏิบัติต้องเป็นงานกลางแจ้งหลายส่วน เช่น การแห่พระบรมศพจากพระบรมมหาราชวังไปยังพระเมรุมาศ ถ้าฝนตกก็ขัดข้องอยู่ รวมทั้งของตกแต่งพระเมรุก็เป็นเครื่องชั่วคราวเสียมาก เป็นเครื่องกระดาษ เครื่องไม้ เพราะเรารู้ว่าไม่ใช่ของที่จะต้องทำให้เป็นการถาวร ถ้าโดนฝนเข้าก็เปียกยุ่ย โบราณท่านจึงนิยมทำงานพระเมรุในเวลาที่เข้าฤดูแล้งแล้ว หรืออย่างน้อยก็ปลายฝน
ผมคิดว่างานพระเมรุครั้งนี้จะต้องมีสิ่งที่เราจะต้องตระเตรียมการอีกมาก ยกตัวอย่างเช่น จะมีเจ้านายหรือผู้แทนระดับสูงของมิตรประเทศของเรามาหรือไม่ อย่างไร เพราะไม่เหมือนกับทุกครั้งที่เราเคยมีงานที่ถือเป็นภายใน อย่างเมื่อครั้งงานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี 2539 ก็มีเจ้านายต่างประเทศสองสามประเทศเข้ามาร่วมงาน สำหรับครั้งนี้ เห็นจะมีผู้คนจากหลายประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดี และเคารพนับถือเจ้านายของเรา เขาจะแจ้งความประสงค์ประสานเข้ามา อันนี้ก็ต้องเตรียมรายละเอียดต่างๆ ให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติ
สำหรับประชาชนทั้งหลายก็เหมือนกันครับ เราจะทำอะไรที่ไหน อย่างไรได้นั้น ผมคิดว่า เรายังพอมีเวลาทำงานด้วยกัน เท่าที่ผมฟังบ้าง อ่านหนังสือพิมพ์บ้าง ในวันที่ 29 ตุลาคม ที่ประชาชนจะเข้าถวายบังคมพระบรมศพ เห็นว่าจะจัดให้ขึ้นพระมหาปราสาทได้วันละ 40,000 คน (ช่วงแรกจำกัดจำนวนที่ 10,000 คน – กองบรรณาธิการ) นี่ก็เก่งหนักหนาแล้ว เพราะพื้นที่ก็ไม่ได้มาก วันหนึ่งมีเวลา 13 ชั่วโมง และเจ้าหน้าที่ก็ต้องเตรียมการอีกหลายเรื่อง
ลำพังการเข้าถวายบังคมยังมีประชาชนท่วมท้นขนาดนี้ งานถวายพระเพลิงน่าจะเรียกร้องการจัดการที่มีประสิทธิภาพที่สุด?
บรรยากาศเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ประมาณการว่ามีผู้คนมาถวายบังคมพระบรมศพราว 500,000 คน แต่นั่นคือเหตุที่เกิดกะทันหัน ประชาชนไม่ได้เตรียมตัว แล้วถ้าเตรียมตัวได้ล่วงหน้าจะมีจำนวนแค่ไหน คงไม่มีใครอยู่บ้าน ผู้เกี่ยวข้องต้องใช้ความสามารถในการจัดการที่จะอำนวยความสะดวกให้กับคนทั้งหลายอย่างดีที่สุด
เมื่อถึงงานถวายพระเพลิงพระบรมศพจริง โดยหลักอย่างน้อยย่อมเป็นงานพระราชพิธีสี่ห้าวันต่อเนื่องกัน มีการบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ คือการทำบุญใหญ่ก่อนถวายพระเพลิงวันหนึ่ง พอถึงวันถวายพระเพลิงก็แห่อัญเชิญพระบรมโกศขึ้นพระยานมาศสามลำคานออกประตูพระบรมมหาราชวังด้านท่าราชวรดิฐ ไปขึ้นพระมหาพิชัยราชรถที่บริเวณหน้าวัดพระเชตุพนฯ แล้วเชิญพระมหาพิชัยราชรถมายังท้องสนามหลวงที่มีพระเมรุมาศ นี่คืองานช่วงเช้า พอช่วงบ่ายก็ถวายพระเพลิง เช้าวันรุ่งขึ้นก็เก็บพระบรมอัฐิ แล้วเชิญเข้าพระบรมมหาราชวัง
วันรุ่งขึ้นก็มีการฉลองพระบรมอัฐิ ทำบุญเลี้ยงพระ เป็นการออกทุกข์ แบบแผนก็เป็นเช่นนี้มาโดยตลอด อาจมีเว้นสักสองสามวันจะมีการบรรจุพระราชสรีรางคาร ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารที่ไหน อย่างไร
นี่เป็นสิ่งที่เราเห็นในประสบการณ์ แต่ไม่มีครั้งไหนที่เปรียบปานได้กับเหตุการณ์ที่เรากำลังพบอยู่ในเวลานี้
กำลังเจ้าหน้าที่จะเพียงพอไหม
ผมคิดว่าเราทำเต็มที่ทุกคนนะครับ ทุกกระทรวงด้วย แน่นอนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างสำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ ก็ต้องติดต่องานเอกสาร งานปฏิบัติ กรมการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนา เลี้ยงพระ เลี้ยงเพล ต้องรับส่งพระ รัฐบาลก็เต็มที่ กองทัพก็มาช่วยดูแลประชาชน ดูแลการเดินทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข แทบจะเป็นโรงพยาบาลสนาม เพราะมีคนเป็นลมทั้งวัน คนอ่อนเปลี้ยเพลียแรงกับการเดินทางมา ก็ต้องดูแลซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นก็มีเรื่องของสุขภาพจิต ความโศกเศร้าเสียใจที่ต้องช่วยบรรเทา
อาจารย์มองความเศร้าครั้งนี้อย่างไร
มีคนบอกว่า ถ้าเราเปลี่ยนความโศกเศร้าให้เป็นพลังที่จะทำความดีน่าจะดีกว่า ความโศกเศร้านั้นห้ามกันไม่ได้ แต่อยากให้เอาความเศร้าของเราปรับไปเป็นความตั้งใจที่จะตักบาตร ไปปลูกต้นไม้ ไปเลี้ยงเด็ก ถวายเป็นพระราชกุศล ช่วยกันเอาของไปแจกคนที่มาสนามหลวง แบบนี้ผมก็ว่าความโศกเศร้าก็จะกลายเป็นพลังอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นครอบครัวเดียวกันของประเทศไทย คนไม่เคยรู้จักกันก็รักกันได้
ขณะที่คนจำนวนหนึ่งก็น่าเป็นห่วง ใช้ความเศร้าจับผิดคนอื่น คนนี้ไม่ไว้ทุกข์ คนนี้พูดไม่ถูก คนนี้เขียนป้ายผิด พวกเราทุกคนคงอยากเห็นเราแปรเปลี่ยนความโศกเศร้าครั้งนี้เป็นพลังทำความดีมากกว่าไปไล่จับผิดกัน ซึ่งไม่ได้ทำอะไรให้เกิดขึ้นมาเลย
การไว้ทุกข์ เช่น การแต่งชุดดำ มีหลักเกณฑ์หรือความเหมาะสมอย่างไร
หลักคิดของการไว้ทุกข์คือ อารมณ์ของเราในการสูญเสียผู้เป็นที่รักและเคารพของเรา อารมณ์ในเวลาสูญเสียย่อมไม่อยากจะไปเต้นระบำรำฟ้อน ไม่อยากจะแต่งตัวให้ฉูดฉาดสวยงาม นี่คือหลักคิดของเรื่องนี้
สีที่เลือกใช้จึงเป็นสีที่สมกับเหตุการณ์ สมกับโอกาส แน่นอนว่าสีดำเป็นพื้น ส่วนสีขาว สีเทา สีน้ำเงินเข้ม สิ่งเหล่านี้ใช้ได้ทั้งสิ้น ต่อไปก็อาจจะเป็นสีนวล สีอ่อนๆ ไม่มีกติกาตายตัว แล้วก็ไม่มีกฎหมาย เรื่องนี้เป็นวัฒนธรรม แล้ววัฒนธรรมก็เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย บางทีก็ต้องตอบคำถามที่เป็นปัจจุบัน
ลองนึกดูว่า สมัยเมื่อรัชกาลเก่าๆ ท่านสวรรคต ทุกคนเป็นชาวบ้านหมด ไม่มีเครื่องแบบต้องแต่งเป็นประจำรายวัน เรื่องสีอาจไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่ แต่สมัยนี้มีบริษัทต่างๆ ใส่เครื่องแบบเสื้อสีฟ้า สีเขียว เขาติดโบว์หนึ่งชิ้นที่หัวใจเขา ก็บอกความเศร้าใจแล้วว่าเขาก็โศกตรมไม่แพ้เรา การที่จะต้องซื้อหาใหม่ หรือเอาเครื่องแบบทั้งบริษัทไปย้อม ย่อมไม่จำเป็นถึงขนาดนั้น เจ้านายท่านก็ไม่ได้มาทรงกะเกณฑ์อะไร
เรื่องสี ผมคิดว่าทุกคนใช้ดุลพินิจได้ ใจเราใจเขานะ จะเอาเสื้อสีแดง สีเขียว เราก็ไม่อยู่ในอารมณ์จะแต่งตัวอย่างนั้น แต่ใจผม นอกจากสีคือเรื่องแบบ ความพอเหมาะพอดี
การไว้ทุกข์อาจไม่จำเป็นต้องแต่งเหมือนกันทุกวัน อย่างถ้าวันนี้ตั้งใจจะมาถวายบังคมพระบรมศพในพระบรมมหาราชวัง ก็ควรหาชุดดำที่เหมาะสม แต่ถ้าไปธุระแถวบ้าน จะให้แต่งดำหมดทุกชิ้นทุกวันก็ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ผมถึงบอกว่าต้องใช้ดุลพินิจเอา อย่าไปเคร่งเครียด อย่าตึงเกินไป อย่าหย่อนเกินไป เป็นหลักธรรมดาที่คนไทยรู้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
งานพระบรมศพครั้งนี้กับครั้งที่ผ่านๆ มามีรายละเอียดแตกต่างกันอย่างไร
มีความแตกต่างอยู่ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ยกตัวอย่างเช่น การประโคมย่ำยาม ของพระศพอื่นหรือพระบรมศพอื่น จะไม่ใช้เครื่องดนตรีที่เรียกว่ากลองมโหระทึก ซึ่งเป็นกลองแบบโบราณ ตีด้วยไม้สองอัน ปลายหุ้มนวมหรือพันผ้าอยู่ กลองมโหระทึกนั้นใช้สำหรับพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น งานอื่นจะไม่มี
ส่วนฉัตรที่แขวนอยู่ด้านบนพระโกศก็ต้องเป็นฉัตรเก้าชั้น ถ้าเป็นพระศพอื่นจะไม่เคยเห็น ที่ผ่านมามีแค่ห้าชั้น เจ็ดชั้น การตั้งแต่งทั้งหลายก็มีพระเกียรติยศตามฐานะ ตามพระบรมราชอิสริยยศ
ศัพท์บางคำอาจจะแตกต่าง เช่น ไม่ใช้ว่า พระราชทานเพลิง อย่างงานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กับสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านเกียรติยศสูงกว่า ท่านพระราชทานเพลิงพระศพนั้นได้ แต่พอเป็นพระบรมศพ ต้องใช้คำว่า ‘ถวายพระเพลิง’ เพราะไม่มีใครไปพระราชทานเพลิงได้ เหมือนที่บอกว่า พระเมรุก็ไม่ใช่พระเมรุเฉยๆ แต่เป็นพระเมรุมาศ เป็นคำยกสูงขึ้นไปให้ไพเราะงดงามยิ่งขึ้น
ที่เราพูดว่า โบราณราชประเพณี นั้นต้องนับย้อนไปตั้งแต่สมัยใด
เราไม่รู้ได้หรอก เพราะว่าสิ่งที่ทำๆ อยู่เวลานี้ ผมคิดว่า ความเชื่อมโยงกับสิ่งที่เคยปฏิบัติในสมัยอยุธยา อย่างน้อยสมัยอยุธยาตอนปลายต้องเห็นได้ชัดอยู่แล้ว อย่าลืมว่าสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 บรรดาเจ้านาย ผู้หลักผู้ใหญ่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ล้วนแต่เกิดในสมัยอยุธยาทั้งสิ้น ฉะนั้น ท่านต้องเคยเห็น เคยทำมาอย่างนี้ เคยไปร่วมงาน เคยเป็นเจ้าหน้าที่ เป็นมหาดเล็ก เป็นขุนนาง เป็นพระยา
มีพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศองค์หนึ่ง คือ เจ้าฟ้าหญิงพินทวดี ทรงรอดพ้นอันตรายจากสงครามทั้งหลายมา แล้วก็เสด็จอยู่มาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นผู้ที่อธิบายตำราทั้งหลาย ว่าเคยทำอะไรมาบ้าง เพราะว่าเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ คนเห็นในมุมต่างๆ นั้นเห็นรายละเอียดไม่เหมือนกัน เจ้าฟ้าหญิงพระองค์นี้ท่านได้ทอดพระเนตรอย่างที่เป็นเจ้าฟ้า เพราะท่านอยู่ในงานใกล้ชิด บางคนเป็นขุนนาง ก็เห็นอีกมุมหนึ่งไกลๆ แต่สิ่งเหล่านี้มารวมร้อยต่อกันเข้า นั่นคือการตั้งแบบธรรมเนียมเมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะใกล้เคียงและไม่ผิดพลาดเลยจากสมัยอยุธยา
ทำนองพระที่สวดพระอภิธรรมที่เราฟังไม่รู้เรื่อง ผมว่าน่าจะมาจากสมัยอยุธยา เพราะเหตุว่า ท่านสวดต่อเนื่องกันมาแบบนั้น ทำนองการสวดก็ไม่ได้มีสำนักเดียว แต่ละวัดเขาสอนสืบทอดกันมา แล้วแต่ว่าจะได้ตำราครูคนไหนมา เพราะฉะนั้น แต่ละวัดก็สวดไม่เหมือนกัน
จะพบว่าวัดที่สวดพระอภิธรรมส่วนมาก จากจำนวนเต็มสิบวัด ผมว่าเกินครึ่งหรือเกือบๆ ทั้งหมด เป็นวัดสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะป็นวัดสุทัศนฯ วัดสระเกศฯ วัดอรุณฯ (วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร) หรือ วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) วัดเหล่านี้ท่านก็สอนกันว่า วัดเราสวดแบบนี้ ก็มีเอกลักษณ์ มีลักษณะเฉพาะ ต่างก็ภาคภูมิใจในความเป็นวัด และตำราของท่าน
คิดว่าสิ่งใดเปลี่ยนไปบ้าง จากโบราณราชประเพณีจนถึงปัจจุบัน อาจจะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าเปลี่ยนไปตามยุคสมัยแล้ว
เรื่องการเชิญพระบรมศพประดิษฐานในหีบพระศพ เพราะเจ้านายแต่ก่อนท่านลงโกศทั้งนั้น แต่เรื่องอย่างนี้ปรับเปลี่ยนได้ และปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป พระโกศก็ยังตั้งไว้เป็นพระเกียรติยศอยู่ หีบพระบรมศพก็ไปประดิษฐานอยู่ด้านหลัง เรียกว่ายังรักษาธรรมเนียมอยู่
แต่บางพระศพ อย่างกรณีเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ก็อัญเชิญพระศพประดิษฐานในพระโกศ คติเช่นนี้ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตต่อไปจนถึงขุนนางทั้งหลาย ศพจะลงโกศก็ได้ หรือจะบรรจุหีบแล้ววางไว้ด้านหลังก็ได้ โกศก็นำไปตั้งไว้ด้านหน้าเป็นเกียรติยศที่ได้รับพระราชทาน
วัฒนธรรมเป็นของซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ ไม่จำเป็นต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่การเปลี่ยนก็ต้องมีความรู้ มีเหตุผลว่า อย่างนี้ไม่ใช่การทิ้งของเดิมเสียโดยสิ้นเชิง ยังรักษาประเพณี รักษาแบบแผนอยู่ แต่ว่าถ้ามีแนวทางแบบใหม่มาผสมกลมกลืนก็มาอยู่ด้วยกันได้
พวกเครื่องใช้ต่างๆ ในพระราชพิธีเป็นของเก่ามาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์เลยหรือเปล่า
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จะใช้ตามพระบรมราชอิสริยยศหรือพระยศของท่าน ถ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เครื่องราชูปโภคท่านก็อย่างหนึ่ง ถ้าเป็นสมเด็จพระราชินี ก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง เครื่องราชูปโภคสำหรับเจ้านายฝ่ายในก็จะมีเครื่องพระสำอาง ผ้าเช็ดหน้า ราวพาดผ้า ก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง
แล้วอย่างเจ้าหน้าที่ในพระราชพิธี ที่ถวายจุดเทียน ฯลฯ ต้องฝึกมาโดยเฉพาะเลยใช่ไหม
ตลอดชีวิตของเขา เขาเป็นเจ้าหน้าที่ เป็นมาตั้งแต่ชั้นผู้น้อยจนเป็นผู้ใหญ่ เขาก็ต้องมีประสบการณ์ในการทำงานมาโดยลำดับ เห็นครูบาอาจารย์ที่เป็นรุ่นพี่รุ่นพ่อเขา โดยมากในพระราชสำนัก คนทำงานก็สืบตระกูลกัน อย่างถ้าคุณพ่อเคยทำ ลูกเห็นพ่อเคยทำ มีหน้าที่การงานเป็นเกียรติยศ ชักจูงเข้าไป หรือมีใจรักที่จะทำ ก็มีโอกาสเข้าไปทำ
ฟังที่อาจารย์บรรยายงานพระราชพิธีในโทรทัศน์ พูดถึงเชิงเทียนสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นของฝรั่ง ก็นำมาใช้ในพิธี
ผมหมายถึงเครื่องทรงธรรมสำรับใหญ่ ไม่ได้ใช้แต่เฉพาะในงานพระบรมศพเท่านั้น เราเป็นชาวบ้าน เวลาพระเทศน์ เราพนมมือก็เก่งแล้ว ถ้าอย่างหรูหราขึ้นมาหน่อยก็หาเครื่องทองน้อยมาจุด ธูปเทียนมาบูชา พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ท่านเสด็จเมืองนอก ท่านทรงนำของไทยของฝรั่งมารวมเข้าด้วยกัน ของสวยของงามทั้งหลาย ท่านก็เอามาจัดเป็นเครื่องทรงธรรมสำรับใหญ่ สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงบูชาเวลาพระเทศน์ บางชิ้นก็เป็นของไทยโบราณ บางชิ้นเป็นเชิงเทียนจากฝรั่ง เอามาผสมกันเข้า มาจัดเข้าสำรับเดียวกันแล้วสวยงาม เพราะฉะนั้น ในพระราชพิธีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการถวายเทศน์ครั้งสำคัญในงานเจ็ดวัน จะพบว่าเจ้าพนักงานได้จัดเครื่องทรงธรรมสำรับใหญ่ไปทอดอยู่หน้าพระราชอาสน์ของพระเจ้าอยู่หัวที่ปิดคลุมอยู่
ที่อาจารย์เพิ่มเติมว่า ถ้าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปสัมผัสพระราชอาสน์จะต้องตลบผ้าปูขึ้นเสมอ?
ผ้าปู คือพระสุจหนี่ เป็นผ้าทองดงามทำมาจากเมืองแขก เป็นผ้าซึ่งปูรองพระราชอาสน์สำหรับพระเกียรติยศเจ้านายชั้นสูง โบราณถือกันว่า การไปล่วงล้ำก้ำเกิน หรือไปร่วมพระราชอาสน์นั้นเป็นจัญไรสำหรับเรา เพราะฉะนั้นคนก็จะหลีกเลี่ยง เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติงานก็ต้องทบผ้าขึ้น แล้วค่อยขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ในกรณีจำเป็น
ข้อมูลต่างๆ ที่อาจารย์บรรยายในพระราชพิธีต่างๆ ต้องอาศัยการทำการบ้านหนักขนาดไหน หรือเป็นสิ่งที่จำได้อยู่แล้ว
หลักคือความทรงจำ งานราชการจริงๆ ผมอยู่จุฬาฯ ยกเว้นช่วงหลังไปอยู่ตามกระทรวง ทบวง กรม ย้ายไปย้ายมา แต่ผมสนใจในเรื่องวัฒนธรรมประเพณีทั้งหลาย และตั้งแต่งานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ผมเป็นข้าราชบริพารในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้วย ก็พลอยได้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องงานพระเมรุต่างๆ เรียกว่าเป็นความรู้สะสมมากกว่า
อีกอย่างผมมีโอกาสได้ทำหน้าที่บรรยายในงานพระเมรุมาสี่พระเมรุ ตั้งแต่งานสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นคราวแรก ผมเป็นผู้บรรยายการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์แล้วตั้งแต่ปี 2528 ผมทำมาตั้ง 30 กว่าปีแล้ว ความทรงจำและประสบการณ์จากอดีตจึงเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก
สำหรับงานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในเดือนมีนาคม 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีพระราชบัญชาว่า ประชาชนอยากจะมาดูพระเมรุ ก่อนงานถวายพระเพลิง คนเข้ามาในบริเวณพระเมรุมาศไม่ได้ ถ้าปล่อยให้คนเข้าไปเดินโน่นนี่ เดี๋ยวข้าวของบุบสลายเสียหายไป ต้องซ่อมกันใหม่ แต่ท่านรับสั่งว่า เมื่อพ้นงานพระเมรุไปแล้ว ไม่ควรจะรื้อพระเมรุมาศลงทันที ควรเปิดโอกาสให้คนมาดู แล้วก็จัดนิทรรศการเรื่องสมเด็จพระศรีฯ ด้วย เป็นนิทรรศการความรู้ทางวัฒนธรรม ผมได้รับโอกาสเป็นผู้ประสานงานการจัดนิทรรศการในคราวนั้นร่วมกับหน่วยงานต่างๆ
เมื่อหมดกำหนดเวลาที่ประกาศสำหรับงานนิทรรศการแล้วยังมีคนสนใจอยากจะดูอีกมาก แต่ตามธรรมเนียมก็มีข้อจำกัดจึงไม่ได้ต่อเวลานิทรรศการออกไปอีก เพราะการเก็บพระเมรุมาศไว้โดยไม่ได้ใช้แล้วถือว่าไม่เป็นสวัสดิมงคล ไม่ควรจะมีพระเมรุอยู่กลางเมืองโดยไม่มีเหตุใดๆ รวมทั้งในปีนั้นอีกไม่นานจะมีพระราชพิธีกาญจนาภิเษก (ครองราชย์ครบ 50 ปี) ในเดือนมิถุนายนที่อยู่ห่างกันอีกเพียงไม่กี่วัน
พอมาถึงงานเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ผมเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คือต้องรู้ทุกอย่างในงานนั้น เพราะต้องดูแลทุกสิ่งทุกอย่างในฟากของรัฐบาล ต่อด้วยประสบการณ์งานพระเมรุในงานสมเด็จพระสังฆราช ตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์ผมก็อยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ประสานงานในการเชิญพระศพจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ไปวัดบวรนิเวศ
ด้วยเหตุนี้ในการจัดงานพระศพ งานพระเมรุ ผมจึงพอทราบว่ามีอะไรต้องทำบ้าง ตรงไหนเป็นจุดที่ต้องระมัดระวัง ตรงไหนที่มีประเด็นที่ผู้คนอยากจะมีส่วนร่วม แล้วมีแนวพระราชนิยมที่ผ่านมาว่า ให้ปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้
ยกตัวอย่างเช่นหลังจากบำเพ็ญพระราชกุศล 50 วันพระบรมศพไปแล้วจะมีกงเต็กจีนญวน เป็นธรรมเนียมของนักบวชชาวจีนชาวญวน เรียกว่าพระอนัมนิกายหรือจีนนิกาย เขาอยากสนองพระเดชพระคุณ แนวปฏิบัติคือจะจัดงานอย่างนี้เมื่อพ้นงาน 50 วันไปแล้ว เพราะเขาก็ต้องไปสั่งทำ ไปประดิษฐ์คิดสร้างข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ขึ้นมาให้เหมือนจริง เป็นของที่ต้องหาข้อมูล ระหว่างนี้น่าจะกำลังเตรียมการกันอยู่ จากนั้นก็จะกำหนดวันเวลาและขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดงาน
พิธีกงเต็ก เริ่มต้นจัดตั้งแต่เมื่อไหร่
มีกงเต็กเป็นคราวแรกในรัชกาลที่ 5 งานพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หรือ ‘สมเด็จพระนางเรือล่ม’ เมื่อปี 2423 ครั้งนั้นพ่อค้าชาวจีนทั้งหลายขอพระบรมราชานุญาตทำกงเต็กถวายตามความเชื่อของเขา เป็นการอุทิศข้าวของเครื่องใช้ให้กับเจ้านายที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ตั้งแต่นั้นมา ในงานพระบรมศพ พระศพสำคัญทั้งหลาย จะมีพ่อค้าชาวจีนและชาวญวนขอพระบรมราชานุญาตเข้ามาสนองพระเดชพระคุณ
เครื่องกงเต็กเมื่อครั้งงานพระบรมศพรัชกาลที่ 5 ตั้งล้นหลามออกไปจนถึงประตูวิเศษไชยศรีข้างหน้าพระบรมมหาราชวัง เพราะทุกคนอยากทำถวายมากมาย
นอกจากชาวจีนชาวญวน ยังมีชนชาติอื่นๆ ที่มีความเชื่อในการนี้อีกไหม
เพราะเหตุว่า พิธีของเราในวังหลวงเป็นพิธีการทางพุทธศาสนาเป็นหลัก ถ้าเป็นชาวไทยที่นับถือศาสนาคริสต์ หรืออิสลาม โดยมากก็นิยมที่จะแยกไปประกอบศาสนพิธีตามความเชื่อของเขา
แล้วศาสนาพราหมณ์มีส่วนเกี่ยวข้องในพระราชพิธีอย่างไร เพราะส่วนใหญ่เราจะเห็นว่า พระราชพิธีอื่นๆ มักจะมีพิธีพราหมณ์เข้ามาร่วมด้วยเสมอๆ
สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่เจือผสมความคิดทั้งพุทธและพราหมณ์มาด้วยกัน เพราะฉะนั้น ข้าวของเครื่องตกแต่งทั้งหลายอาจจะถือคติพราหมณ์อยู่บ้าง เช่น การสร้างพระเมรุมาศ ซึ่งหมายถึงเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของพระผู้เป็นเจ้าเป็นต้น
ที่ถามเรื่องอาจารย์ทำการบ้าน เพราะตอนที่อาจารย์พูดถึงราชาศัพท์ หรือศัพท์เฉพาะต่างๆ จะพยายามไม่ให้ผิดเลยใช่ไหม
ผมหวังว่าอย่างนั้น แต่การบรรยายในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเจ็ดวัน ผมมีข้อจำกัดมากนะ ขอปรารภเลย งานมีที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง แต่ผมพูดอยู่ที่ช่อง 11 ถนนวิภาวดีรังสิต ผมจึงเห็นภาพเท่าที่คนดูเห็น แล้วไม่มีภาพอื่นให้เลือก เขาส่งภาพอะไรมา ผมก็ต้องพูดสิ่งนั้น เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ผมไม่รู้เลยว่าพระสงฆ์จะขึ้นสดัปกรณ์กี่เที่ยว เที่ยวละกี่รูป
ถ้าผมได้อยู่ในพื้นที่ ผมจะรู้ได้ว่าขบวนรถยนต์พระที่นั่งที่กำลังจะเข้ามาเป็นขบวนของพระองค์ใด เราต้องรู้ล่วงหน้า แต่วันนั้น จนรถพระที่นั่งเข้ามาในพระบรมมหาราชวังแล้ว ผมก็บรรยายว่า อีกสักครู่เราคงเห็นนะครับว่าเป็นเจ้านายพระองค์ใด เพราะผมไม่รู้จึงต้องพูดอย่างนั้น จนกว่าท่านจะทรงพระดำเนินผ่านประตูกำแพงแก้วแล้วกล้องโทรทัศน์ที่อยู่ข้างในรับภาพได้ ผมจึงจะออกพระนามได้ ถ้าผมอยู่ในพื้นที่ผมจะมีโอกาสได้ทราบข้อมูลมากกว่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอยากบรรยายเรื่องดนตรี ผมอาจจะถามทางวงว่ามาบรรเลงเพลงอะไรบ้าง ถ้าผมได้อยู่ในงาน ในพื้นที่จริง ก็คงเดินไปถามว่า วันนี้จะเล่นเพลงอะไรบ้าง เครื่องดนตรีวันนี้ต่างจากเมื่อวานยังไง
(ต่อมาในงานบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวาร หรือ 15 วัน เมื่อวันที่ 27 และ 28 ตุลาคม ได้มีการจัดสถานที่บรรยายไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายในพระบรมมหาราชวัง – กองบรรณาธิการ)
ศัพท์หรือรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ สื่อก็ควรนำเสนอให้ถูกต้อง
สื่อควรจะมีหน้าที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่แม่นยำ แต่ถ้าพลาดไป ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นความผิดฉกาจฉกรรจ์ที่ต้องไปลงโทษเขา แต่ความรับผิดชอบก็อยู่ที่คนเป็นสื่อเอง
ใครเป็นเจ้าภาพจัดทำหนังสือพระราชพิธีพระบรมศพ
นอกจากหนังสือที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานแล้ว คณะกรรมการจัดงานพระบรมศพเป็นผู้จัดพิมพ์เล่มอื่นโดยเสด็จพระราชกุศล ทุกครั้งรัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพในนามของประชาชน งานสำคัญแบบนี้ การทำหนังสือที่ระลึก โดยมากกรมศิลปากรเป็นคนดูแล แต่หนังสืออื่นที่แจกต่อเนื่องในงาน อาทิ หนังสือที่เป็นจดหมายเหตุ ก็ต้องออกหลังงาน บางทีออกหลังจากงานประมาณหนึ่งปี เพราะต้องผ่านการสอบทานความถูกต้อง มีการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบราชการ และต้องใช้เวลาในการพิมพ์พอสมควร