วิจิตรบุษบา มารมย์: ‘เมืองพลวัต’ ทางรอดของมหานครก่อนถึงวันจมบาดาล

ย้อนกลับไปในปี 2018 องค์กรกรีนพีซ ประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ประเทศไทย เอาไว้ว่า กรุงเทพมหานครจะจมอยู่ใต้บาดาลภายในเวลา 10-15 ปี หรือพูดได้คร่าวๆ ว่ากรุงเทพฯ จะจมน้ำภายในปี 2030 ซึ่งใกล้เคียงกับการทำนายของอีกหลายหน่วยงาน

สาเหตุสำคัญเกิดจากสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การวางแผนการใช้ที่ดินของเมืองที่มีข้อจำกัดในการบังคับใช้ และการสูบน้ำบาดาลเป็นจำนวนมากในอดีต ขณะเดียวกัน การที่อาคารบ้านเรือนถูกสร้างกีดขวางทางน้ำก็ทำให้มหานครแห่งนี้ต้องประสบอุทกภัยอยู่เสมออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใครที่คิดจะลงหลักปักฐานในอีกสิบปีข้างหน้าจึงไม่ควรตัดสินใจจากฐานคิดเพียงแค่ ‘ใกล้ที่ทำงาน’ หรือ ‘ใกล้ศูนย์การค้า’ อีกต่อไป แต่การมองบ้านเรือน อาคาร ไปจนถึงเมืองทั้งเมือง จำเป็นต้องมองให้รอบด้านมากขึ้นกว่าเดิม

WAY พูดคุยกับ รศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat University Research Unit in Urban Futures and Policy) และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมหาคำอธิบายของแนวคิดที่เรียกว่า ‘เมืองพลวัต’ (Resilient City) ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในทางออกสำคัญของกรุงเทพฯ และเมืองใดก็ตามในไทยที่กำลังมองหาวิธีการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

คำว่า ‘เมืองยืดหยุ่น’ หรือบางแห่งเรียก ‘เมืองพลวัต’ มีความหมายแตกต่างกันอย่างไร

‘เมืองพลวัต’ เป็นการบัญญัติในเชิงวิชาการนะคะ เพราะคำว่า ‘เมืองยืดหยุ่น’ ไม่สามารถอธิบายแนวคิด Resilient City ได้ครบถ้วน แต่คำว่าเมืองพลวัตคือเมืองที่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ ทีนี้เรื่องการเปลี่ยนแปลงก็จะมีหลายมิติ เมืองพลวัตเป็นเรื่องการพัฒนาเมืองทุกมิติที่ต้องมองระยะยาว ที่กำลังจะเจอการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อาจารย์จะใช้กรอบความคิดว่าการเปลี่ยนแปลงระดับสากล (Global Change) แบ่งได้เป็น 2 ด้านหลักๆ 

ด้านแรกคือ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมระดับโลก ความเสี่ยงต่างๆ ที่โลกจะเผชิญ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส หรือแม้กระทั่งการที่ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ สิ่งเหล่านี้เป็น Global Change ด้านที่สองคือ การเปลี่ยนแปลงของเมืองเอง เมืองก็ยังพัฒนาไปเรื่อยๆ ต่อให้ไม่มีน้ำท่วม น้ำแล้งก็ตาม ดังนั้นเมืองจะปรับตัวยังไงกับการเปลี่ยนแปลงระดับสากลในอนาคต อันนี้เราใช้คำว่าพลวัต

ทำไมต้องพลวัต ก็เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงในอนาคตนั้นไม่แน่นอน และจะยิ่งเร็วยิ่งซับซ้อนกว่าในอดีต เราจะเจอเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่อาจจะมีความรุนแรงและเกิดได้บ่อยมากขึ้น เรื่องการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับสากล และมีการเปลี่ยนแปลงภายในคือตัวเมืองเอง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของประชากร เรื่องสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เมืองควรจะพัฒนาไปทางไหน การบริโภคของคนก็เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่อาจจะไม่ได้อยากซื้ออสังหาริมทรัพย์แล้วเป็นหนี้สินไปหลายๆ สิบปี แต่อาจจะต้องการใช้จ่ายเพื่อประสบการณ์ชีวิตมากกว่า เพราะฉะนั้นเราต้องมองภาพรวมทั้งหมดว่าเมืองจะพัฒนาไปอย่างไร แล้วการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกจะกระทบอย่างไร ก็เลยใช้คำว่าเมืองพลวัต เพราะการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่แน่นอน แล้วยังเร็วขึ้นด้วย

จริงๆ แล้วแนวคิด resilience มีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมี และไม่ได้เป็นแนวคิดที่มาจากเรื่องเมืองโดยตรง แต่เป็น Resilient Society และ Resilient Ecology คือพัฒนาแนวคิดมาจากสายสังคมวิทยาและชีววิทยาที่พยายามทำให้ระบบนิเวศสามารถคงอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ แล้วก็เอามาใช้เป็นแนวคิดในเรื่องการพัฒนาเมืองด้วย

อย่างวิกฤตโควิด-19 นี่เป็นวิกฤตที่แซงโค้งมาเลย ทั้งที่จริงๆ ในสายตาอาจารย์ยังคิดว่าปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมที่รุนแรงน่าจะมาก่อน พอโควิดแซงโค้งขึ้นมาก็ทำให้เห็นเลยว่าเมืองเราไม่พร้อมรับมือความเสี่ยง ซึ่งความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ส่งผลกระทบวงกว้าง ถือเป็นเรื่องเดียวกันแต่คนละภัยเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นคำว่าเมืองยืดหยุ่นจึงอธิบายได้ไม่เพียงพอ 

ถ้าจะรับมือให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง แปลว่าแนวคิดนี้ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงผังเมืองบ่อยๆ หรือไม่ 

ควรปรับผังเมืองให้ทันกับสถานการณ์และสะท้อนความเป็นอยู่ของสังคม ซึ่งการวางผังเมืองของเราเป็นนโยบายระยะยาว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็เพื่อพัฒนาเมืองในระยะยาว แต่จริงๆ เมืองเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เป็นการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยเล็กๆ ไปจนใหญ่ อันนี้ยังไม่ต้องมองเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก็ได้นะ เช่น ตอนนี้โควิด-19 เข้ามา ย่านต่างๆ ก็เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนที่เคยคึกคัก อย่างตลาดกิมหยง อำเภอหาดใหญ่ ที่เคยเรียกว่าเป็นย่านการค้า ตอนนี้ซบเซามาก ถนนยังอยู่นะ อาคารยังอยู่นะ แต่กิจการไม่อยู่ เพราะฉะนั้นเวลาพัฒนาเมืองหรือผังเมือง เราต้องเข้าใจว่าในอนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงยังไงได้บ้าง เพราะว่าเวลาเราสร้างเมืองจะเกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะของเมืองต่างๆ ที่มีอายุการใช้งานระยะยาว เพราะฉะนั้นแนวคิดเรื่องเมืองพลวัตจึงต้องเข้ามาวิเคราะห์ในเรื่องผังเมืองใหม่พอสมควร ซึ่งที่ต่างประเทศเขาใช้แนวคิด resilience มาเป็นแนวทางการพัฒนาเมืองกันอย่างแพร่หลายแล้ว 

ทีนี้เรื่องพลวัตก็ไม่ได้แยกขาดจากเรื่องพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โลกเราทุกวันนี้ต้องการให้เมืองยั่งยืนตามหลักสากล การพัฒนา Agenda ต่างๆ ก็จะฉายภาพออกมาว่าในปี 2030 สังคมต้องยั่งยืนผ่านกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) หรือผ่าน Agenda ต่างๆ ของสหประชาชาติ (UN) ที่พูดไปถึงปี 2100 แล้วก็จะถอยมาดูปี 2030 ก่อนว่าเมืองจะยั่งยืนได้ต้องทำอย่างไร ต้อง inclusive ต้อง resilience อย่างไร

ความยั่งยืนในอดีตอาจจะหมายถึงแค่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ความยั่งยืนในอนาคตที่เรากำลังคุยกันอยู่คือคุณภาพชีวิตคนต้องดีด้วย เมืองพัฒนาไปด้วย รองรับการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวถึงตอนต้นได้ด้วย ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาต้องไปควบคู่กัน 

การปรับตัวของเมืองจะต้องแลกมาด้วยงบประมาณมหาศาลด้วยหรือไม่

การพัฒนาเมืองต้องมอง 2 อย่าง คือแผนเมืองกับผังเมือง แผนเมืองจะต้องคลุมไว้ทั้งหมด ส่วนผังเมืองเป็นกลไกหนึ่งในการวางโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะต่างๆ  ดังนั้นถ้าเราอยากให้เมืองยั่งยืนจริง เมืองมีพลวัตจริง ก็ต้องถูกฉายภาพแผนเมืองออกมาก่อน เช่น เราจะเห็นภาพว่ามีการแบ่งแต่ละโซนของกรุงเทพฯ กับปริมณฑล เราอยากเห็นภาพอย่างไรในอนาคต แล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในอนาคต เช่น ชานเมืองอย่างรังสิต ภาพในอนาคตก็คงไม่ใช่แบบสีลม 

การทำแผนเมืองก็คือการออกแบบชีวิต ว่าคุณอยากให้ตรงนั้นเป็นกิจการประเภทไหน หน้าตายังไง ใครมาอยู่อาศัย เรื่องการสร้างเมืองพลวัตก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจพื้นที่เสี่ยงในอนาคต ว่าเสี่ยงอะไร มากน้อยแค่ไหน กระทบใครบ้าง แล้วมาสร้างแนวทางการพัฒนาเมืองทุกมิติให้ลดความเสี่ยงในอนาคต สมมติถ้าพูดเรื่องน้ำท่วม บางจุดอาจจะเสี่ยงมากในอนาคต แต่มีการตั้งถิ่นฐานที่หนาแน่นมากอยู่แล้ว แล้วเราจะหามาตรการทางผังเมืองอย่างไรไปช่วยเขา เราจะอยู่ร่วมกับน้ำได้หรือไม่และอย่างไร ปัญหาน้ำท่วมไม่ควรจำกัดเพียงการจัดการเฉพาะหน้า

การปรับตัวของเมือง สำหรับกรุงเทพฯ ไม่สามารถปรับไปในภาพเดียวได้ เพราะว่ากรุงเทพฯ มีความซับซ้อน สังคมหลากหลาย ดังนั้นทั้งการพัฒนาเมืองและการลดความเสี่ยงเมืองจำเป็นต้องทำไปพร้อมๆ กัน และที่สำคัญไม่สามารถมีคำตอบเดียวได้ทั้งกรุงเทพฯ มาตรการเชิงการก่อสร้าง เช่น อุโมงค์ยักษ์ หรือการระบายน้ำขนาดใหญ่ทั้งกรุงเทพฯ เพิ่มความสามารถในการระบายน้ำได้ แต่ไม่สามารถลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาแล้วในอนาคตได้เพียงพอ ต่างประเทศก็เคยพยายามลดความเสี่ยงในอนาคตด้วยมาตรการเชิงการก่อสร้างแล้วพบข้อจำกัดจำนวนมาก เช่น ที่ลอนดอน มีการสร้างประตูระบายน้ำชื่อ ‘Thames Barrier’ ซึ่งมีการลงทุนมหาศาล ใช้ผู้เชี่ยวชาญมาออกแบบจำนวนมาก เพื่อป้องกันน้ำท่วม ปรากฏว่าเกิดวิกฤตน้ำแล้งที่รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ นี่คือตัวอย่างของความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเทศอังกฤษเลยหันมามองเรื่องผังเมือง เรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน มากกว่าเรื่องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพราะมันไม่ยืดหยุ่น เพราะฉะนั้นประเทศที่พัฒนาแล้วก็เลยลงมาจัดการเรื่องการแบ่งเขต (Zoning) เรื่องผังเมือง เรื่องระดับย่าน แทนการแก้ปัญหาแบบเดิม ศัพท์เทคนิคก็คือต้อง ‘Localize Resilience’ เช่น ย่านสีลมก็ต้องมีพลวัตแบบหนึ่ง ย่านรังสิตต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง ตอนนี้เรายังไม่มีแนวคิดนี้มาปรับใช้ในการวางแผนพัฒนาเมืองอย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังไม่สามารถถ่ายลงมาถึงระดับย่าน แต่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีภาพใหญ่แล้ว ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่พูดทั้งเรื่องการปรับตัว (adaptation) และเรื่องพลวัต (resilience) 

หลังจากลอนดอนล้มเหลวไปแล้ว เขาปรับตัวใหม่กันอย่างไร

ลอนดอนทำเยอะมากในเรื่องของการใช้ผังเมืองเข้ามาสร้างการปรับตัวให้กับเมือง อย่างเช่นการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) อย่างลอนดอนมีสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำเยอะมาก และเขารู้แล้วริมแม่น้ำเป็นพื้นที่เสี่ยงมากน้อยแค่ไหน อย่างไรในอนาคต ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง เขาจึงหันมาพัฒนาทำให้มรดกทางวัฒนธรรมอยู่ได้กับน้ำท่วมในอนาคต โดยลงทุนไปปกป้องอาคารและการปรับตัวของชุมชนเหล่านั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของสถาปัตยกรรม แต่มองไปถึงเรื่องคนด้วย 

เมืองบริสโตล (Bristol) ที่ประเทศอังกฤษก็ทำการท่องเที่ยวเพราะเขามองเห็นว่าจุดเด่นของเมืองอยู่ที่การท่องเที่ยว ขณะเดียวกันถ้าขาดแคลนน้ำเศรษฐกิจของเมืองก็จะกระทบสูงมาก จึงทำการท่องเที่ยวให้มีพลวัตไปกับน้ำท่วมและน้ำแล้ง หมายความว่าช่วงน้ำแล้งที่จะกระทบธุรกิจการท่องเที่ยวการโรงแรม รัฐได้สร้างเงือนไขให้เอกชนที่เข้ามาจัดการน้ำจะต้องดูแลเรื่องท่องเที่ยวให้ได้ในสภาวะน้ำแล้ง เอกชนก็ไปหาวิธีแก้ปัญหามา แต่รัฐต้องฉายภาพมาก่อนว่าเงือนไขคืออย่างไร

อีกตัวอย่างเช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ก็เน้นเรื่องการจัดการน้ำกับการพัฒนาเมืองมากหน่อย เพราะเนเธอร์แลนด์เขาอยู่กับน้ำมาตั้งแต่การสร้างเมืองแรกๆ แล้ว สมัยอดีตมีการป้องกันน้ำคือสร้างคันกั้นน้ำ แต่จริงๆ แนวคิดพลวัตก็ต้องพัฒนาไปด้วย ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยมาตรการเชิงการก่อสร้างเพียงอย่างเดียว เช่น พอมีชุมชนใหม่เกิดขึ้นมา เขาก็จะออกแบบพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นที่รองรับน้ำได้ รับน้ำทั้งจากอาคาร น้ำเสีย น้ำฝน เพื่อเก็บไว้ก่อนจะปล่อยลงสู่สาธารณะ 

การพัฒนาเมืองบางครั้งกลายเป็นข้ออ้างในการบีบให้คนออกไปจากย่านนั้นๆ อาจารย์มีคำอธิบายเรื่องนี้อย่างไร

วาทกรรมการพัฒนา (Development Discouse) ใช่ไหม คือถ้าพูดถึงการพัฒนา เราอิงสากลดีกว่า อันนั้นคือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  ไม่ใช่การพัฒนาแบบเอาคนเป็นตัวตั้ง ที่ดินที่ราคาสูงขึ้นก็เพราะโครงสร้างพื้นฐานของกรุงเทพฯ คือ การพัฒนากรุงเทพฯ ที่ผ่านมาไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ได้เอาคนเป็นตัวตั้ง แต่ขับเคลื่อนด้วยโครงสร้างพื้นฐาน ถ้ารถไฟฟ้าไปถึง ราคาที่ดินก็จะแพง ความเป็นย่านก็จะเปลี่ยน พอผังเมืองจะพยายามไปควบคุมการพัฒนาก็ไม่ทัน เพราะที่ดินเป็นของเอกชน แล้วผังเมืองจะไปควบคุมการพัฒนาของเอกชนเพื่อประโยชน์ของคนส่วนรวม ก็ต้องคำนึงเรื่องแนวคิดสิทธิในที่ดินของเอกชนด้วยให้สมดุลย์กัน 

ปัญหาคือเมืองของเรามักจะมีการพัฒนาไปตามกลไกตลาด และแบบ ‘Transportation Lead Development’ คือเส้นทางไปถึงไหน ราคาที่ดินก็ขึ้นตามนั้น พอเกิดย่านใหม่ คนก็ปรับตัวไม่ทัน คนที่อยู่ในย่านเดิมแม้ว่าเขาจะเป็นเจ้าของที่ดิน แล้วสักพักถ้าเขาค้าขายไม่ได้ก็ต้องย้ายออกไป สมมติว่าสถานที่ราชการต่างๆ ย้ายออกไปจากย่านเมืองเก่า มีตลาดเยอะ ของกินอร่อย ชุมชนขายได้ พอสถานที่ราชการย้ายออกไป ไม่มีคนซื้อ คนขายก็ขายไม่ได้ก็ต้องย้ายออกไป โดยที่เราไม่มีการวางแผนโดยเอาคนเป็นตัวตั้งว่าแล้วที่ตรงนี้จะเป็นย่านอย่างไรต่อไป พัฒนาโดยเอาคนเป็นตัวตั้งให้รองรับจากการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ 

ถ้ามองเรื่องน้ำท่วม จะเห็นว่าผังเมืองก็ไม่ทันการพัฒนาเช่นกัน เช่น พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่เสี่ยงในอดีต ขนาดยังไม่ต้องพูดไปถึงเรื่องพื้นที่เสี่ยงในอนาคต อย่างเช่นโซนตะวันออกของกรุงเทพฯ อยู่นอกคันกั้นน้ำคือแนวถนน ตามผังเมืองได้กำหนดให้เป็นโซนรับน้ำหลากเพื่อระบายไปลงอ่าวไทย แต่ปรากฏว่ามีช่องว่างทางกฏหมายในเรื่องการบังคับใช้ของผังเมืองทำให้คนก็ยังไปจัดสรรที่ดินได้

แนวคิดเมืองพลวัตจะแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐและเอกชนอย่างไร 

รัฐจะต้องชัดเจนก่อนว่าอยากให้เมืองเป็นยังไง คือตอนนี้มันไม่ชัด ในฐานะประชาชนทั่วไป รู้ไหมว่ากรุงเทพฯ เป็นยังไง เราอยากอยู่ไหม เราเคยถามตัวเองไหมว่าอยู่กรุงเทพฯ ไหวไหม ค่าเช่าบ้านเท่าไร ถ้าอยากอยู่ใกล้รถไฟฟ้าจะอยู่ได้ไหม ที่ที่เราอยู่จะเสี่ยงจากภัยอะไรได้บ้างในอนาคต รัฐต้องฉายภาพก่อนว่าต้องการให้เมืองนี้หรือย่านนี้เป็นอย่างไรในอนาคต มีความเสี่ยงอะไร แล้วใครจะมาอยู่ในเมืองนี้หรือย่านนี้บ้าง อยากให้ออกมาเป็นยังไง ต้องฉายภาพให้เห็น แล้วรัฐก็ค่อยย้อนกลับมาพัฒนาและลงทุนในปัจจุบันด้วยว่าจะพัฒนาเมืองให้ดีได้อย่างไร ลดความเสี่ยงพร้อมสร้างคุณภาพชีวิตคนให้ดีขึ้นได้อย่างไร เรื่องพวกนี้ต้องเตรียมการไว้ก่อนและไม่สามารถจัดการได้ในภาวะวิกฤต

เพราะฉะนั้นเมืองพวัต คือเมืองที่จะต้องดีในภาวะปกติด้วย ไม่แค่จัดการได้ในช่วงวิกฤติ ไม่ต้องรอให้มีภัยใดๆ เกิดขึ้นก่อน รัฐต้องไกด์ตรงนี้ล่วงหน้า แล้วเอกชนหรือเจ้าของที่ดินค่อยมาดูว่าพวกเขาจะหานวัตกรรมมาทำอย่างไรให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ซึ่งเครื่องมือหลักของรัฐคือผังเมือง จำเป็นต้องมีการ integrate การพัฒนาเมืองทุกมิติ และคงซึ่งประโยชน์สาธารณะ และถ่ายทอดการ integrate การพัฒนาเมืองทุกมิติลงมาสู่ผังระดับต่างๆ จนถึงระดับการสร้าง guideline ในการพัฒนาย่านให้กับเจ้าของที่ดินได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ รัฐกับเอกชนก็จะร่วมพัฒนาเมืองเมือง สร้างการเติบโตไปด้วยกันได้ 

มีตัวชี้วัดหรือไม่ ว่าเราเข้าใกล้ความเป็นเมืองพลวัตแล้วแค่ไหน อย่างไร 

ตัวชี้วัดระดับแนวคิดมีประมาณ 4 ประเด็น

หนึ่ง – เมืองที่มีความหลากหลาย การเพิ่มความหลากหลายของระบบต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของเมือง เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เมืองมีความสามารถในการอยู่รอดและฟื้นฟูกลับมาสู่สภาพปกติจากภาวะวิกฤตได้ โดยไม่เกิดภาวะล่มทั้งระบบหากระบบใดระบบหนึ่งไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ 

สอง – เมืองที่มีความซ้ำซ้อน การเพิ่มความซ้ำซ้อนของระบบโครงสร้างพื้นฐาน อันรวมถึง ระบบไฟฟ้า เชื้อเพลิง ระบบจัดการน้ำเสีย ระบบน้ำประปา และการจ่ายอาหาร จะช่วยให้มีระบบสำรองมาทดแทนในขณะที่ระบบหนึ่งเกิดความเสียหาย

สาม – เมืองที่มีขีดความสามารถในการปรับตัว สัมพันธ์กับการปรับตัวของระบบต่างๆ ของเมือง ซึ่งระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกออกแบบให้สามารถรับมือกับสภาพที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว จะเพิ่มความพลวัตให้แก่เมืองด้วย

สี่ – เมืองที่มีการบูรณาการและสอดคล้องต่อสิ่งแวดล้อม ระบบธรรมชาติ และทรัพยากรได้ คือ จะไม่เพียงช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและการดูแลรักษาโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่จะเป็นการลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบอันเนื่องมาจากวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย 

คอนเซ็ปต์เรื่อง resilience บทบาทของผู้ว่าฯ หรือพ่อเมือง ต้องทำอะไรบ้าง 

อันนี้สำคัญมาก เนื่องจากแนวคิด resilience เป็นประเด็นทางยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการให้เมืองพัฒนาอย่างยั่งยืน คุณภาพชีวิตคนดีขึ้นในทุกมิติ และควรมีการทบทวนแนวทางการพัฒนาเมืองอยู่ตลอด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น จะเห็นว่าแนวคิดนี้แตกต่างจากอดีต ซึ่งเมืองน่าอยู่อันดับต้นๆ ทั่วโลกได้ปรับใช้แนวคิด resilience มาสู่การบริหารจัดการเมืองแล้ว ดังนั้นบทบาทของผู้ว่าฯ ในฐานะผู้บริหารเมือง ควรสามารถปรับใช้กลไกต่างๆ ของภาครัฐในการบริหารจัดการเมืองเพื่อลดความเสี่ยง ให้เมืองสามารถอยู่รอด ปรับตัว รับมือผลกระทบจากภัยต่างๆ ได้ โดยไม่ลดทอนคุณภาพชีวิตของคน 

ยกตัวอย่างเช่น เมืองนิวยอร์กมี ‘One New York’ เมืองบริสตอลก็มี ‘Bristol One City’ เพราะเขาเอาคำว่าเมืองพลวัตเป็นเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนของเมือง แล้วนำนโยบายทุกมิติในการบริหารจัดการเมืองมาร่วมกันสร้าง มุ่งให้เกิดเมืองพลวัตและความยั่งยืนทั้งหมด 

ประการต่อมา ในการบริหารจัดการเมือง จำเป็นต้องมีแผนที่ความเสี่ยงในอนาคต หรือ risk map เพื่อประกอบการตัดสินใจ ซึ่งตามหลักวิชาการแผนที่ความเสี่ยงนี้จำเป็นต้องมีการทบทวนบ่อยๆ เพราะความไม่แน่นอนมีสูงและเพื่อสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มาประกอบกับวางแผนนโยบายแต่ละด้าน แล้วก็ปรับงบประมาณการลงทุนของเมืองให้คุ้มค่าที่สุด

เรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยการยอมรับจากประชาชนด้วย ว่าประชาชนพร้อมจะปรับตัวไปกับฝ่ายนโยบายมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เกิดการยอมรับความไม่แน่นอน ความแปรปรวนในอนาคตร่วมกัน ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของการบริหารจัดการเมือง ที่ผู้บริหารเมืองทั่วโลกให้ความสำคัญ

น้ำฝน น้ำหลาก น้ำทะเลหนุน ผู้ว่าฯ ควรจัดการอย่างไร 

การบริหารจัดการความเสี่ยงของเมืองเราไม่ควรคิดแยก เพราะผลกระทบของแต่ละภัยเป็นผลกระทบลูกโซ่ แล้วเวลาเกิดสาธารณภัยก็มักจะเกิดพร้อมๆ กัน ถ้าเราย้อนไปปี 2554 กรุงเทพฯ น้ำท่วมครั้งใหญ่มาจากน้ำหลากและน้ำทะเลหนุน มีพายุเข้ามา 5 ลูก เขื่อนเต็ม แม่น้ำเต็ม พอถึงช่วงปลายปีมีน้ำทะเลหนุนด้วย ทำให้ความสามารถการระบายน้ำของสู่อ่าวไทยทั้งหมดลดลงอย่างมาก น้ำเลยท่วมขังในพื้นที่เมืองจำนวนมาก

เวลาอาจารย์ศึกษาเรื่องเมืองพลวัตกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ในด้านน้ำ เราจะศึกษาภัยจากน้ำแล้งด้วย เพราะเป็นภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งผลตรงกับคุณภาพชีวิตคนเมือง การจัดการภัยจากน้ำ จะใช้คำว่า Water Resource Management แตกต่างจาก Flood Management เพราะคำว่า ‘Flood’ คือการเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำออก แต่การจัดการ ‘Water’ คือการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบครบวงจร ในภาพใหญ่ของประเทศ ประเทศเรามีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่บริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งหมด แต่ในระดับเมืองเรายังไม่เห็นแนวทางนี้อย่างชัดเจน

สำคัญคืออย่าลืมเรื่องคน ไม่ใช่เรื่องน้ำอย่างเดียว คือเมืองมีคน มีที่ดิน มีเศรษฐกิจ ก็ต้องไปทำความเข้าใจพื้นที่ด้วย แล้วต้องมีมาตรการลงไปในเชิงผังเมืองด้วย ว่าตรงไหนต้องใช้มาตรการจูงใจก็ปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพ ตรงไหนต้องใช้มาตรการเชิงบังคับก็ควรมีข้อมูลและแนวทางชัดเจน แล้วจัดการการชดเชยให้เหมาะสม สร้างการยอมรับการอยู่ร่วมการเปลี่ยนแปลงทั้งรัฐและประชาชน เมืองถึงบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในแง่ความพร้อมในการจัดการปัญหาน้ำท่วมน้ำขังของกรุงเทพฯ ตอนนี้ถือว่าเพียงพอแล้วหรือยัง

อาจารย์ว่าในเชิงวิชาการ องค์ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเรามีมากพอควร มีเครือข่าย ที่สำคัญคือเราจำเป็นต้องมีการปรับใช้ local adaptation plan เข้าไปสู่การพัฒนาทุกมิติของเมือง อย่างที่ต่างประเทศทำกัน ส่วนเรื่องงบประมาณ การบริหารจัดการความเสี่ยงของเมือง อาจจะไม่สามารถพึ่งพิงแค่งบประมาณจากภาครัฐ แต่รัฐควรสร้างแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงให้ชัดเจน และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่น ระบบประกันภัย การพัฒนานวัตกรรมทางการก่อสร้าง เป็นต้น หากร่วมกันจัดการทรัพยากรทั้งเชิงธรรมชาติ สังคม และการเงินทั้งรัฐและเอกชน เราก็จะสามารถบริหารจัดการเมืองให้มีความพลวัตและยั่งยืนได้แน่นอน

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ช่างภาพและวิดีโอที่เริ่มจากงานถ่าย food และ portrait ปัจจุบันรับงาน production ครอบคลุมหลาย segment ตั้งแต่ food, product, event, wedding, portrait, interview, travel โดยมีเป้าหมายหลักคือ personalize งานทุกชิ้นให้ได้ตรงตามความต้องการจากบรีฟของลูกค้า รับงานได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบทีมเพื่อให้ผลงานออกมาเหมาะสมกับ scale งานที่ต้องการมากที่สุด

FB : Truetone Photography
IG: truetone_photography

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า