เรื่อง: ปริชาติ หาญตนศิริสกุล
ภาพ: Seymour Glass
ผู้ใหญ่บางคนอาจจะมองนิทานเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ไม่ใช่สำหรับ ชีวัน วิสาสะ หรือที่เด็กหลายๆ คนที่รู้จักกันในชื่อ ‘ครูชีวัน’ นักเขียนหนังสือภาพสำหรับเด็กหรือนักเล่านิทานมืออาชีพ ภายนอกครูชีวันดูเป็นคุณลุงใจดี แต่มีใครรู้บ้างว่านิทานที่ครูชีวันเขียนอยู่นั้นมีบางเรื่องที่มีเนื้อหาสะท้อนปัญหาสังคม อย่างนิทานเรื่อง อีเล้งเค้งโค้ง ห่านสีขาวหน้าตาน่าเอ็นดูชอบร้องว่า “อีเล้งเค้งโค้ง”
มีใครรู้หรือไม่ว่า เจ้าห่านอีเล้งเค้งโค้งอยู่คู่ในสังคมไทยมา 21 ปีแล้ว และล่าสุดเจ้าห่านอีเล้งเค้งโค้งก็ถูกถ่ายทอดออกมาเพื่อช่วยรณรงค์เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ (แต่เป็นโครงการเฉพาะที่จังหวัดยโสธรเท่านั้น) โดยใช้ชื่อตอนว่า อีเล้งเค้งโค้ง เกษตรสุขสันต์ ขุนคันคาก ซึ่งอีเล้งเค้งโค้งก็มีจุดน่าสนใจอยู่หลายอย่าง ครูชีวันบอกเล่าประสบการณ์การวาดนิทานเล่มนี้ไว้ว่า
“เวลาไปทำงาน ผู้บริหารระดับสูงชอบถามว่า ใช่งานของคุณรึเปล่า บังเอิญโชคดีว่าผมเป็นนักเขียนอิสระก็เลยไม่มีใครถาม แต่อยากจะบอกว่าถ้าเราไม่มีคำเรียกว่า เกษตรกร ครู ทหาร ตำรวจ เราก็คือคนคนหนึ่งที่มีสิทธิ์ที่กระทำต่อกัน ผู้ใหญ่กระทำต่อผู้ใหญ่ เด็กกระทำต่อเด็ก ดังนั้นสิ่งที่เราต่อสู้กันเราต่อสู้กับอะไร และต่อสู้เพื่อใคร? … ”
และด้วยคำพูดนี้เองทำให้ WAY สนใจเบื้องหลังการทำงานและตัวตนของครูชีวัน เราจึงอยากพาคุณผู้อ่านไปรู้จักว่า ‘ด้านหลัง’ นิทานที่พวกเราเคยอ่านสมัยเรายังเป็นแค่ ‘เด็ก’ ประกอบขึ้นมาด้วยอะไรบ้าง
ในมุมมองครูชีวัน นิยามของ ‘นิทาน’ คืออะไร
ถ้าเราพูดถึงคำว่า ‘นิทาน’ เราเข้าใจนิทานในความหมายอะไรบ้าง นิทานที่มันเป็นเรื่องเล่า? นิทานที่เป็นเพลง? ลักษณะของนิทานจริงๆ มันคืออะไร ก็ต้องดูว่าคนที่พูดถึงนิทานจะเข้าใจความหมายของคำว่านิทานในรูปแบบใด เช่น นิทานต้องเป็นเรื่องสมมุตินะ แล้วก็ขึ้นต้นว่า ‘กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว’ มีการผูกปม หรือจะเป็นเรื่องเหนือจริง เรื่องสมจริง เป็นเรื่องที่มีความวิเศษ หรือตัวอย่างนิทานอีสป นิทานสัตว์ นิทานนางฟ้า นิทานพื้นบ้าน พวกนั้นก็เป็นนิทาน นิทานมันคือเนื้อหา เนื้อเรื่อง แต่พอนำลงมาแปรรูปเป็นหนังสือ บางเล่มก็เป็นหนังสือนิทาน แต่ของครูต้องเรียกเป็นหนังสือภาพ บางเล่มไม่ได้มีการเล่าเรื่องแบบนิทานแต่มี ‘เรื่อง’ อยู่ อาจจะเป็นเหตุการณ์สั้นๆ บางตอน นิทานที่ครูทำอยู่เลยเรียกว่า ‘หนังสือภาพสำหรับเด็ก’ ดังนั้นหนังสือภาพสำหรับเด็กมันกินความมากกว่านิทาน
ทำไมจึงใช้หนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กเป็นสื่อแสดงความคิดเห็น ทั้งที่มีฝีมือวาดภาพจิตรกรรม
บางทีเรื่องการวาดภาพงานจิตรกรรมเพื่อบอกเล่าความคิดของเราก็ทำได้นะ แต่ถามว่าความคิดเรามันมีความคิดเดียวหรือเปล่า ถ้ามันมีความคิดเยอะ มีเรื่องราวเยอะๆ ภาพเดียวมันไม่สามารถที่จะเล่าเรื่องได้ แล้วในแง่ความเป็นจริง ถ้าเราจะเป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงนะ จะยากมากในบ้านเรา ทำงานหนักมากๆ (หัวเราะ) เราเอาความสามารถในด้านการวาดภาพ ซึ่งเรารู้ว่ามันประมาณไหนเมื่อเอาไปเทียบกับจิตรกรใหญ่ๆ ที่มีอยู่ เราไปไม่ถึงเขา แต่เราสามารถที่จะเล่าเรื่องด้วยภาพได้ แล้วเรามีเรื่องที่อยากจะเล่าเยอะ เพราะฉะนั้นการออกแบบการทำหนังสือภาพมันก็ทำให้เราบอกเล่าเรื่องที่มันอยู่ในหัว และพอเป็นหนังสือปุ๊บ…พอไปถึงเด็ก มันก็เกิดความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า
ทดลองเปรียบเทียบเล่นๆ ว่า ภาพหนึ่งที่วาดขึ้นมา ภาพนั้นอาจจะเป็นภาพที่มีมูลค่าประมาณสัก 200,000 ก็ได้ มันจะไปอยู่ที่ไหน ใครเห็น…เศรษฐี ถ้าเราทำเป็นหนังสือมูลค่ามันไม่ถึง 200,000 หรอก แต่ว่าหนังสือหรืองานศิลปะของเราที่ไม่ได้เป็นภาพจิตรกรรมมันไปถึงเด็กกี่คน เรื่องนี้มันคือธรรมชาติความแตกต่างที่เกิดขึ้น เราไม่ได้บอกว่าอันไหนดีกว่ากัน หรือบอกว่างานเรามีคุณค่ามากกว่า เพราะมันอยู่กันคนละพื้นที่ แต่เราเปรียบเทียบให้เห็นว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นคืออะไร
อธิบายการออกแบบหนังสือภาพสำหรับเด็กแบบครูชีวัน?
การออกแบบวิธีคิด ไม่ใช่แค่วาดภาพเป็นรูปอะไรเท่านั้น แต่เรามีวิธีคิดอะไร แล้วเรามีวิธีคิดให้เด็กดูหนังสือแล้วได้มุมมมองใหม่ๆ หรือมีความคิดใหม่ๆ เราก็ต้องทำเยอะๆ
อย่าง เจ้าหนูเมืองพิสดาร เป็นนิทานภาพ แต่มีการออกแบบการเล่าเรื่องที่ไม่เหมือนหนังสือภาพอื่นๆ เพราะว่าการออกแบบการเล่าเรื่องด้วยภาพ เราต้องคิดว่าเด็กดูภาพ นอกจากรู้เรื่องราวแล้วยังให้ความคิดอื่นๆ อีกหรือเปล่า อย่างเช่น อาจจะไปจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ หรือทำให้เด็กมีมุมมองที่เปลี่ยนไปจากเดิมก็ได้ เล่นกับมุมมอง เล่นกับทฤษฎีเรื่องรูปและพื้น (Amiguos space) เป็นทฤษฎีทางศิลปะอย่างหนึ่ง
สาเหตุที่ให้เป็นขาว-ดำ จริงๆ ในขั้นตอนการออกแบบก็เคยทดลองใส่สีลงไปด้วย แต่เวลาเรามองเห็นสีต่างๆ เราก็รู้สึกว่าสีแทนอะไรหลายๆ เวลาเด็กดู เขาอาจจะคิดไม่ตรงกันกับเราก็ได้ เลยต้องลดทอนเหลือแค่ขาว-ดำ ทำให้เกิดความกำกวม เราต้องการความกำกวมในการตัดสินใจว่าเราจะมองอันไหนเป็นรูป อันไหนเป็นพื้น
ดังนั้นเรื่อง เจ้าหนูเมืองพิสดาร คือมุมมองปกติที่เรามองเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่บางคนมองเห็นแล้วไม่คิดกัน สิ่งที่อยู่ในตัวของเรา คือมุมมองมันทำให้เกิดความคิด เพราะฉะนั้นการออกแบบหนังสือภาพของครูไม่ใช่แค่วาดรูปอะไรเท่านั้น แต่ ‘วาดรูป’ หรือ ‘ออกแบบภาพ’ มีวิธีคิดอย่างไร สองคำนี้ไม่เหมือนกัน
หนังสือภาพสำหรับเด็กของครูชีวัน คิดว่ายากไหมสำหรับเด็กเล็กกับพ่อแม่ที่อาจเข้าใจไม่ตรงกัน
สำหรับเด็ก – ยากนิดหนึ่ง (หัวเราะ) ไม่คุ้นเคย แต่ว่าถ้าเขาเข้าใจมันปุ๊บจะรู้สึกสนใจ เข้าใจโดยที่ไม่ต้องมีใครมาบอก แต่เราก็ต้องออกแบบให้มันมีร่องรอยของการหาคำตอบ อย่างเรื่องนี้ (เจ้าหนูเมืองพิสดาร) ดูจริงๆ ก็มีตัวเลข… เหมือนกับอุปกรณ์เครื่องมือแท็บเล็ตทั้งหลายแหล่ เด็กอยู่กับมันเขาค้นหาเจอใช่ไหม ว่ามันต้องกดตรงไหนบ้าง ทั้งที่มันมีอะไรซ่อนอยู่มากกว่าหนังสืออีก ดังนั้นพอมันมีความยากขึ้นมานิดหนึ่งแต่มีร่องรอยให้หาคำตอบได้ เด็กก็จะหาเจอ
เพราะฉะนั้นความยากความไม่เข้าใจเบื้องต้นไม่ใช่ปัญหาสำหรับเด็กแต่เป็นปัญหาสำหรับผู้ใหญ่ (หัวเราะ) ผู้ใหญ่กลัวเด็กไม่เข้าใจ การกลัวเด็กไม่เข้าใจแล้วปิดกั้น ตรงนั้นมันคือการทำลายโอกาส เขาเรียกว่าเสียโอกาสในการรับรู้ ฝึกมุมมองสร้างความคิดหรือว่าเหตุผลตรรกะใหม่ๆ ของตัวเองขึ้นมา ความยากไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่น่ากลัวสำหรับคนทำอยู่เหมือนกันนะ ว่าจะขายไม่ออก (หัวเราะ)
เวลาผู้ใหญ่เขียนหนังสือภาพสำหรับเด็กต้องจำลองตัวเองเป็นเด็กอีกครั้งหรือเปล่า
ไม่ต้องจำลองเลย อาจจะเป็นวิธีคิดส่วนตัวก็ได้ เคยมีคนบอกว่าให้นึกย้อนกลับไปว่า ตอนที่เราจำความได้ว่าเป็นตัวเราตอนเด็กที่สุด เราจำได้ไหมว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ แล้วถ้าเรานึกถึงภาพนั้นมันจะติดตาเราตั้งแต่ตอนนั้นจนกระทั่งโตขึ้น มันจะไม่เลือนหายไปไหน แต่ถ้าไม่เคยนึกต้องลองนึกย้อนไปจุดนั้นให้ได้ แล้วจากนั้นก็ค่อยๆ ขยับมาเรื่อย ตอนที่เราจำความได้ว่าตัวเรากำลังทำอะไรอยู่คือตอนที่เราเด็กที่สุด ครูชีวันจำได้ว่ากำลังเอาสีเทียนหรือสีดินสอวาดประตู (หัวเราะ) จำได้เลยว่ามันแตกลายงา เพราะมันทับซ้อนกันหลายชั้นก็วาดรูปเป็นหน้าคน – นั่นแหละคือตัวเราที่เรารู้สึกได้
ถ้าเราลืมความเป็นเด็กมันก็ยากเราก็จะสื่อสารแบบผู้ใหญ่พูดกับเด็ก คิดถึงตอนเป็นเด็กทุกวันที่ไม่ให้ลืม เราต้องรักษาไม่ให้ความรู้สึกแบบเด็กมันหายไป คิดถึงชีวิตวัยเด็กของเราว่าเราประทับใจอะไร ก็พยายามนึกถึงความรู้สึกแบบนั้น
จริงๆ แล้วคนที่โตขึ้นจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ก็เป็นคนเดิม เด็กคนนั้นมันหายไปไหม – ไม่หาย แต่มันอาจจะนิ่ง มันอาจจะถูกกด เพราะว่าอายุที่เยอะ มันมีประสบการณ์อื่นๆ มาทับถม ด้วยเรื่องของสังคม เรื่องของความรับผิดชอบ ความเป็นผู้ใหญ่มันเข้ามาในชีวิตเยอะ จนกระทั่งความรู้สึกแบบเด็กไม่มีโอกาสผุดขึ้นมา
21 ปีที่ผ่านมาทำให้ตัวละครที่อยู่มานานอย่าง ‘ห่านอีเล้งเค้งโค้ง’ เปลี่ยนไปบ้างหรือเปล่า
เปลี่ยน ในแง่ที่ว่าความเป็นตัวละครที่มันเกิดขึ้นมาแล้วได้รับความนิยม เราต้องพยายามให้มันมีชีวิต คือในแง่ที่ว่า ชีวิตของมันเราก็ต้องรักษาเอาไว้ ไม่ใช่ว่าเล่มนี้เกิดมา แล้วพอมาเล่มสองไม่ต้องไปสนใจมันก็ได้ – ไม่ใช่ เพราะว่ามันเกิดขึ้นมาแล้วพร้อมกับเด็กยุคหนึ่ง และผ่านไปสามปีห้าปี แต่ถามว่าพอผ่านไปสามปีห้าปี มีเด็กเกิดอีกไหม ดังนั้นหนังสือเล่มนี้ก็จะใหม่อยู่ตลอดเวลาสำหรับเด็กที่เกิดใหม่ เพราะฉะนั้นบทบาทที่มันแสดงในเล่มแรก ก็โอเค มันก็มีหน้าที่ของมันแล้ว แต่เราต้องไม่ให้มันทำหน้าที่อยู่แค่นี้ เมื่อมันมีชีวิตแล้วเราต้องฉวยโอกาสให้มันไปทำอะไรอย่างอื่นบ้าง
เรามองเห็นช่องทางในการสร้างตัวละครว่ามันสามารถพาเด็กไปสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ได้ เพราะว่าถ้าเด็กชอบมันแล้วคุยกับมันรู้เรื่อง แต่การสร้างตัวละครใหม่ก็ยังจำเป็นอยู่ มันต้องมีเรื่องใหม่ๆ ท้าทายตัวเราเองด้วย
การใช้ตัวละครเดิมก็ท้าทายมากขึ้น เพราะฉะนั้นบทบาทที่มันแสดงในเล่มอื่นๆ ก็จะต่างไป เรื่องราวก็จะต่างไป แต่ว่าก็จะมีกิมมิคมีแก๊กของมัน คือการผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจหรือเกิดอุบัติเหตุบางอย่าง หรือเรื่องน้ำใจบางอย่างที่เราอยากให้มันคงอยู่เอาไว้ ดังนั้นการเล่าเรื่องมันก็จะเปลี่ยนไป มีปัญหาใหม่ๆ เข้ามา มันก็เหมือนกับการทำซีรีย์ทั่วๆ ไป พอหลังจากนั้นก็เริ่มให้มันมีบทบาททางสังคมบ้างให้ตัวละครมันมีการเจริญเติบโต
ทำไมห่านอีเล้งเค้งโค้งถึงเป็นตัวละครที่เผชิญกับปัญหาสังคมมากที่สุด
(หัวเราะ) พยายามจะให้ตัวอื่นมาช่วยแบ่งเบาด้วยเหมือนกัน อันนั้นอาจเป็นส่วนหนึ่งที่เราสัมผัสได้ว่ามันทำให้รู้สึกว่าเรื่องราวที่มันเกิดขึ้นในหนังสือเชื่อมโยงกับความเป็นจริง มันไม่ใช่เราหลุดเข้าไปในโลกของนิทานแล้วกลับออกมาคืออีกโลกหนึ่ง โลกนิทานกับโลกจริงต้องเชื่อมต่อกันให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าเราหนีความเป็นจริง ต้องให้มีอะไรจากโลกของนิทานติดมาในโลกของความเป็นจริงด้วย ไม่งั้นมันจะกลายเป็นประโลมโลก ประโลมโลกนี่มันเหมาะสำหรับผู้ใหญ่ แต่ไม่เหมาะสำหรับเด็ก
ถ้าเราทำนิทานแบบประโลมโลกสำหรับเด็ก เด็กจะไม่เรียนรู้ จะไม่แกร่ง เด็กจะติดอยู่กับความสุข
จริงๆ แล้วนิทานโบราณอย่าง นิทานกริมส์ นิทานแอนเดอร์เสน ไม่ใช่นิทานประโลมโลก แต่วอลท์ดิสนีย์เอามาปรับให้ลั้นลาไปอย่างนั้น เพราะมันคือพาณิชย์ศิลป์ แต่แบบดั้งเดิมมันทำให้เด็กแกร่ง เพราะชีวิตในยุคก่อนมันโหดร้าย แม้แต่ ปีเตอร์ แรบบิท ของ บีทริกซ์ พ็อตเตอร์ มันเป็นเรื่องค่อนข้างโหดด้วยนะ ปีเตอร์ แรบบิท เปิดฉากมาพ่อก็ตาย ถูกจับไปทำเป็นพายกระต่าย (หัวเราะ) แล้ว ปีเตอร์ แรบบิท เป็นกำพร้า แต่เด็กลืม เด็กมองข้าม
จำเป็นไหมที่เด็กต้องรู้ปัญหาสังคม
ไม่ใช่ว่าเด็กต้องรู้ แต่เด็กเกิดมาก็เจอ ถ้าเราถามว่า ‘จำเป็นต้องรู้’ แสดงว่าเราจะต้องปิดกั้นรึเปล่า…ก็ไม่ใช่ เราไม่สามารถจะปิดกั้นการรับรู้ได้ ฉะนั้นเราจะต้องสื่อสารให้เขารับรู้ ส่วนจะเข้าใจรึเปล่าก็เป็นอีกสเต็ปหนึ่ง การออกแบบให้เขารับรู้มันก็คือการสร้างการรับรู้ในขอบข่ายการทำหนังสือสำหรับเด็ก เพราะฉะนั้นปัญหาสังคมไม่ใช่ว่าให้เขารู้ไม่ได้ เขาเจอแน่นอนอยู่แล้ว
ถามว่ารถติดเป็นปัญหาสังคมไหม เด็กเจอไหม เขาเจอด้วยตัวเขาเองจริงๆ เราแค่นำมาใส่ในหนังสือแล้วถ้าเราไม่นำมาใส่เขารู้ไหม…เขาก็รู้ เขาสัมผัสเอง การนำมาใส่ในหนังสือมันเป็นตัวตอกย้ำ หรือเป็นตัวที่ทำให้เขาฉุกคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาก็ได้ เขาก็อาจจะเกิดความคิดอะไรบางอย่าง วางแผนชีวิต จินตนาการกันไปถึงทางออกในชีวิตของตัวเองว่าถ้าเขาโตขึ้นเขาจะทำยังไง คิดเอาไว้ก่อนแต่ยังไม่ต้องทำก็ได้ เด็กๆ เขาก็มีสิทธิ์ที่จะคิดอย่างนี้ เหมือนคิดว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไรนั่นแหละ
ถ้าเด็กที่อยู่ในเมืองมาอ่าน อีเล้งเค้งโค้ง เกษตรสุขสันต์ ขุนคันคาก เขาจะเข้าใจนิทานปัญหาภาคเกษตรกรในชนบทหรือเปล่า
จินตนาการมันคงมีอยู่ในตัวเด็ก แต่ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ด้วย ทีนี้ในเรื่องของหนังสือที่ทำขึ้นมาเกี่ยวข้องกับเกษตรและธรรมชาติ หน้าที่อย่างหนึ่งของหนังสือก็คือ ให้ข้อมูลให้เขาได้รับรู้ ส่วนความเข้าใจคือพื้นฐานของเขา ที่จะเข้าใจเรื่องราวตามที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ หรือเชื่อมโยงกับตัวละครที่เขาสัมผัสได้ และเขาก็จะค่อยๆ คิดตาม แต่แน่นอน เขาไม่เข้าใจทั้งหมดหรอกหากไม่มีโอกาสได้ไปสัมผัส หรือไม่มีคนที่เป็นผู้ใหญ่พอที่จะอธิบาย ชี้แนะ หรือนำเขาไปมีประสบการณ์ร่วม เพราะว่าหนังสือมันคือโลกแค่นี้ เราพยายามเปิดโลกกว้างสำหรับเด็กแต่มันก็ได้เท่านี้ ไม่ว่าจะใส่อะไรไปมากน้อยแค่ไหนมันก็อยู่เท่านี้ ความเข้าใจมันเป็นสองมิติ ยกเว้นแต่เด็กที่มีประสบการณ์มาก่อน
เพราะฉะนั้นหนังสือมันก็ทำหน้าที่แค่นี้ เราก็พยายามที่จะใส่มุมมองต่างๆ แง่คิดต่างๆ ลงในนี้ แต่จะเข้าใจมากขึ้นและรู้ได้ต้องผนวกประสบการณ์ตรงไปด้วย ซึ่งตอนนั้นต้องเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่แล้วถ้ามอบให้เป็นหน้าที่ของหนังสืออย่างเดียวมันไม่พอ แต่ถ้าเด็กมีประสบการณ์ ทั้งประสบการณ์จริง ทั้งในหนังสือ ผนวกกันแล้ว เขาก็เริ่มที่จะคิดได้ เริ่มที่จะเข้าใจ ความคิดเขาก็จะพร้อมมากขึ้นแกร่งมากขึ้น แล้วมันก็จะไม่จบเพียงแค่นี้ เขาก็จะไปต่อยอดแสวงหาความรู้เพิ่มเติมในส่วนที่เขาติดใจชอบใจจากหนังสือ หนังสือมันไม่ได้พูดแค่เรื่องเดียว มันไม่ได้มีภาพแค่ภาพเดียว มันมีส่วนที่เขาจะอ่านในรายละเอียดของภาพ
ทำไมในนิทานบางเรื่อง หรือแม้แต่นิทานรณรงค์เกษตรอินทรีย์ ก็ยังใช้โศกนาฎกรรมมาเป็นโทนหลัก
มันเป็นเรื่องสำคัญ มีประเด็นสำคัญคือเรื่อง ‘ความตาย’ ของตัวละคร ความตายในนิทานสำหรับเด็ก แต่เฉพาะเล่มนี้ (อีเล้งเค้งโค้ง เกษตรสุขสันต์ ขุนคันคาก) ต้องตายให้เห็น (หัวเราะ) เพราะในเรื่องนี้มันเป็นความตายที่มีผลจากสารเคมี และเป็นหนังสือที่เกิดขึ้นในเฉพาะถิ่นนั้น และมันได้ผลเฉพาะตรงนั้นได้ค่อนข้างรุนแรง แต่ไม่ใช่ว่าที่อื่นจะไม่ได้ผลนะ เพราะว่าที่ไหนที่ใช้เรื่องสัตว์-เกษตรเคมี มีเกษตรกรที่ตายจากสารเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มียกเว้น ตายอย่างเงียบๆ เพราะไม่มีใครไปทำข่าว
แต่ในวรรณกรรมในหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กมีการตายไหม…เยอะแยะ อย่าง นางฟ้าของปู่ เปิดฉากมาก็ตาย The Book of Bunny Suicide หมาป่ากับลูกแพะเจ็ดตัว ก็ตาย แล้วเด็กก็ชอบใจด้วย เพราะหมาป่าคือตัวร้าย
ถามว่าเด็กจะเข้าใจความตายไหม จะเข้าใจรึเปล่าก็ขึ้นอยู่กับวัยของเด็ก แต่ถามว่าในชีวิตประจำวันของเด็ก เด็กสัมผัสกับความตายไหม เด็กสัมผัสกับความตายทุกวัน เด็กกินศพปลา เด็กกินศพไก่ เด็กกิน… สารพัดซากศพ ถามว่าเป็นความตายไหม… เป็นความตายที่ผู้ใหญ่ไม่พูดถึง เป็นความตายที่เราสัมผัสกันจนกระทั่งเป็นเรื่องธรรมดา เป็นความตายที่เรามองข้าม เพราะมันเป็นความตายของคนอื่น (หัวเราะ) เป็นความตายของชีวิตหนึ่งเพื่ออีกชีวิตหนึ่งหรือเพื่อเรา แต่ว่าเราไม่ได้ให้คุณค่ากับชีวิตนั้นเต็มที่ เราให้คุณค่ากับตัวเราเอง เรากินเพื่อชีวิตเรา
ความตายมันเกิดขึ้น เด็กสัมผัสกับความตาย แต่ผู้ใหญ่ต่างหากไม่ได้บอกไม่ได้สอน ถ้ามีการบอกการสอนเมื่อไหร่ เด็กก็จะเห็นคุณค่าของชีวิต แม้กระทั่งชีวิตที่เรากินเข้าไปก็มีคุณค่าเหมือนกัน ดังนั้นเด็กสัมผัสกับความตาย แต่ไม่รู้ความหมาย และไม่เห็นคุณค่าของชีวิต เพราะว่าไม่มีใครบอก และหน้าที่ของนักเขียนคือต้องบอก
เรื่องความตายไม่ใช่เรื่องที่ต้องเลี่ยง อย่าคิดว่าใครสมควรตายบ้าง การตายเกิดขึ้นได้กับทุกคน เด็กก็ตายได้ มันต้องเข้าใจและเตรียมพร้อมที่จะรับรู้ ถ้าเตรียมพร้อมให้มีความรู้สึกสะเทือนอารมณ์เอาไว้ก่อนจากความตายของตัวละครในหนังสือในนิทาน เขาก็แค่ร้องไห้ แล้วเศร้าไปกับมัน แต่คนรอบตัวเขายังอยู่ เด็กก็จะค่อยๆ แกร่ง เข้าใจมากขึ้น
เพราะฉะนั้นความตายก็เป็นเรื่องที่เขาปรับตัวและยอมรับได้ ถ้าเขายังไม่ตายนะ (หัวเราะ)
ครูเคยมีเพื่อนๆ ลูกชายวัยอนุบาลเสียใจ ไม่เข้าใจที่ปู่เขาตาย แต่พ่อเขาหยิบหนังสือเล่มหนึ่งเรื่อง แมวน้อยร้อยหมื่นชาติ ไปอ่านให้ลูกฟัง เขาก็เริ่มจะเข้าใจ ไม่เศร้ามากนัก ไม่ฟูมฟาย ก็คือเขาเข้าใจในมิติหนึ่งที่เด็กอนุบาลพอจะเข้าใจได้
กลัวคุณสมบัติแบบไหนของเด็กยุคนี้?
กลัวการถูกหล่อหลอมด้วยสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กไม่อดทนและไม่ใช้ทักษะทางกาย คือไม่ได้มองไปที่ตัวเด็กนะ ว่าถ้าเด็กเป็นอย่างนั่นเป็นอย่างนี้แล้วจะไม่พอใจ แต่เพราะว่าเด็กถูกหล่อหลอมด้วยสภาพแวดล้อม
ย้อนกลับประมาณห้าปีหรือสิบปี เราเริ่มเห็นเด็กที่สมรรถภาพทางร่างกายลดน้อยลง ความอดทนก็ต่ำ ไปที่ไหนสามารถพูดประเด็นนี้ได้ แต่ว่าถามว่าเกิดจากตัวเด็กเองหรือเปล่า เราต้องมาช่วยกันคิดเกิดจากอะไร สุดท้ายก็ย้อนมาแตะเรื่องการศึกษาได้ไหม แตะเรื่องเทคโนโลยีได้ไหม ก็แตะได้ แตะเรื่องวิถีชีวิตได้ไหม ก็ได้อีก ถึงบอกว่าถูกหล่อหลอมด้วยสภาพแวดล้อมหลายๆ อย่าง ที่สุดท้ายก็ทำให้เขาใช้ทักษะทางร่างกายไม่เป็น ซึ่งมันเป็นเรื่องสำคัญเพราะร่างกายมันก็เชื่อมโยงไปถึงสมองแล้วก็ไม่อดทน ซึ่งปัจจุบันมันปรากฏแล้วว่าไม่ใช่เด็กหรอก ย้อนกลับมาถึงแม้กระทั่งเป็นคนในวัยทำงาน แม้แต่ระดับแรงงานเองก็ตาม
อะไรเป็นอุปสรรคในการทำงานของครูชีวัน
ปัญหาเรื่องทุน ถ้าเป็นโครงการใหญ่ๆ แต่ถ้าเป็นงานหนังสือของตัวเองโดยอาชีพไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่หรอก ไม่อยากจะคิดว่ามีปัญหา (หัวเราะ) จะมีปัญหาก็เรื่องเวลาแต่เราก็สามารถจัดการชีวิตเราได้
โครงการใหญ่ๆ ที่เราต้องการจะทำให้เด็กหลายโครงการ ที่ทำอยู่ก็จะมีโครงการหนึ่งชื่อ ‘โครงการรถนิทานเดินทาง’ ที่พยายามจะทำให้สม่ำเสมอ ก็คือไปเล่านิทานตามโรงเรียนขนาดเล็ก ชั่วโมงสองชั่วโมง แล้วก็มอบหนังสือที่เราคัดเลือกแล้วให้กับโรงเรียนสักชุดหนึ่ง ซึ่งมันก็ใช้ทุนส่วนตัว เราก็คิดว่าจังหวัดละหนึ่งโรงเรียน ถือว่าน้อยมากนะ ไม่เยอะ ก็คือทุกจังหวัด หรือไม่ก็ 89 โรงเรียน จากศูนย์กลางของจังหวัดออกไปรอบนอกประมาณ 90 กิโล
สิ่งที่เราทำเราก็มองเห็นว่าปลายทางมันคืออะไร ถึงแม้ว่ามันไม่ได้แก้ปัญหาอะไรก็ตาม แต่ว่ามันก็อาจไปจุดประกายอะไรบางอย่างในตัวเด็กที่ได้รับหนังสือ เรารู้สึกว่าเขามีความสุขในวันนี้ แล้วหนังสือที่เขาได้ไป เขาก็จะเก็บเอาไว้เป็นเครื่องเตือนใจเขา แต่เราก็จะย้ำในตอนท้ายว่าถ้าเขาโตขึ้นไปเขาเห็นหนังสือเล่มนี้ แล้วเขามีอาชีพ เขาก็ต้องรู้จักการแบ่งปัน
เราก็เชื่อในพลังของหนังสือ ของการสื่อสาร ว่าถ้ามันจับใจเขาแล้ว ส่วนหนึ่งอาจจะลืม แต่ส่วนที่ยังจดจำได้มันก็เป็นสิ่งดีๆ เราก็เชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ…แล้วก็ทำไป