เรื่อง: อาทิตย์ เคนมี / อภิรดา มีเดช
ภาพ: อนุช ยนตมุติ
“สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน เราพบว่าขบวนการประชาชนได้สร้างกระแสธารการปฏิรูปที่ก้าวหน้ามานานแล้วก่อนการรัฐประหาร และก้าวหน้ากว่าโครงสร้างอำนาจยุคใดๆ โดยเฉพาะก้าวหน้ากว่าการปฏิรูปตามโครงสร้างและกลไกของ คสช. ที่เขาจัดวางและออกแบบไว้” – นี่คือบางถ้อยคำที่ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ได้กล่าวทิ้งไว้ในวันที่เข้ารับรางวัลบุคคลเกียรติยศด้านสิ่งแวดล้อมของมูลนิธิโกมลคีมทอง ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2558
แต่ “…ความอ่อนแอในขบวนการประชาชนในยุคปฏิรูปของ คสช. นั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หรือทำให้อ่อนแอได้หรอก ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้นำความคิด นักศึกษา เอ็นจีโอ นักวิชาการ องค์กรอิสระที่ผลาญภาษีของประชาชน หรือปัญญาชนสาธารณะที่สนับสนุนรัฐประหาร กวาดต้อนประชาชนให้เข้าร่วมการปฏิรูปของ คสช. แทนที่จะสร้างพลังของปัจเจกชนและขบวนการประชาชนเพื่อต่อต้าน ตรวจสอบ การใช้อำนาจของ คสช.” – นี่คืออีกหนึ่งข้อความที่ส่งตรงจากใจของเลิศศักดิ์ ในนามของนักอนุรักษ์คนหนึ่งถึงบรรดานักอนุรักษ์อีกหลายต่อหลายคนที่สยบยอมต่ออำนาจเผด็จการไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม
เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลยว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมกับการเมืองคือเรื่องเดียวกัน ในเมื่อทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าดิน น้ำ ป่าไม้ และสินแร่ทั้งหลาย เป็นสมบัติสาธารณะที่คนทั้งประเทศต้องใช้สอยร่วมกัน รวมถึงโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่รัฐพยายามยัดเยียดลงไปในหลายพื้นที่ก็ควรต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน เพราะนั่นคือวิถีของประชาธิปไตย
ทว่าที่ผ่านมา ‘การพัฒนา’ กับ ‘การอนุรักษ์’ ยังคงเป็นสองสิ่งที่สวนทางกันเสมอ เพราะท้ายที่สุดรัฐไม่เคยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความเห็นอย่างแท้จริง และในสายตาของผู้กุมอำนาจก็ยังคงมองประชาชน ภาคประชาสังคม หรือ NGO เป็นแค่แมวเชื่องๆ หากใครคิดขัดขวางกระด้างกระเดื่องก็ถูกตราหน้าเป็น ‘จระเข้ขวางคลอง’ ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ
ในฐานะผู้ที่ทำงานเกาะติดประเด็นปัญหาเหมืองแร่และสิ่งแวดล้อมมานับสิบปี เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ มีคำอธิบายถึงรากเหง้าความขัดแย้งระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนา อันเกิดจากโครงสร้างทางการเมืองที่บิดเบี้ยวและเป็นบ่อเกิดของความไม่ลงรอยทั้งหมดทั้งมวล
ท้ายสุดบทสนทนานี้จะเผยให้เห็นโฉมหน้าของผู้อยู่เบื้องหลังความไม่เป็นธรรมในการตักตวงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติตัวจริง
จุดเริ่มต้นที่มาจับประเด็นความขัดแย้งในทรัพยากรเหมืองแร่เป็นมาอย่างไร
จริงๆ แล้วก็เป็น NGO ทำงานเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติมาตั้งแต่ต้น เริ่มตั้งแต่ปี 2539 ลงไปทำงานเชิงข้อมูลร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสงคราม จังหวัดสกลนคร นครพนม ลงพื้นที่หาข้อมูลหลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อจะต่อต้านเขื่อนแม่น้ำสงคราม อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม จากนั้นก็ทำงานด้านนี้เรื่อยมา
โครงการเขื่อนแม่น้ำสงครามเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผันน้ำ ‘โขง-ชี-มูล’ ซึ่งปัจจุบันก็กลายมาเป็นโครงการของรัฐบาล คสช. คือ ‘โขง-เลย-ชี-มูล’ แต่เขาเปลี่ยนแนวผันน้ำเดิมจากห้วยหลวง จังหวัดหนองคาย เข้าลุ่มน้ำหนองหานกุมภวาปี อุดรธานี เปลี่ยนเป็นดึงน้ำจากแม่น้ำโขงมาเข้าทางปากแม่น้ำเลยแทน แล้วค่อยเจาะทะลุลอดภูเขาไปที่เขื่อนอุบลรัตน์ อันนี้ก็เป็นโครงการชุดเดียวกัน
โครงการโขง-ชี-มูล มีข้อกังวลหนึ่งที่สำคัญมากเกี่ยวกับเรื่องการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายดินเค็มมากขึ้นในภาคอีสาน ผมก็เลยสนใจเรื่องเกลือใต้ดิน เรื่องแร่อะไรต่างๆ ในภาคอีสาน ว่าในทางธรณีวิทยามันมีความสำคัญอย่างไรต่อระบบการจัดการน้ำ ถึงขนาดว่าถ้าผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ เกลือที่อยู่ใต้ดินมันจะเกิดการแพร่กระจายที่รวดเร็วขึ้น ทำให้น้ำมีความเค็มสูงจนไม่สามารถนำน้ำที่ผันมาใช้ในระบบชลประทานได้
จากโครงการผันน้ำ เกี่ยวโยงมาถึงอุตสาหกรรมเหมืองแร่อย่างไร
จากความสนใจตรงนั้น ผมก็ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเกลืออะไรต่างๆ ก็ได้พบว่า พัฒนาการเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเกลือในภาคอีสาน มันนำมาสู่การที่รัฐบาลและบริษัทเอกชนผลักดันให้เกิดโครงการเหมืองแร่โปแตสในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเกี่ยวโยงกันหมด
หลังจากนั้นผมก็เริ่มมาทำงานที่จังหวัดอุดรฯ เกี่ยวกับเรื่องเหมืองแร่โปแตส เพราะเห็นว่าหากปล่อยให้มีโครงการนี้เกิดขึ้น คาดว่าผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศต่างๆ จะรุนแรงมหาศาล กระทบต่อวิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติในภาคอีสาน
พอมาจับงานเหมืองแร่ที่อุดรฯ ก็เลยมีโอกาสได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเหมืองแร่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี เทคนิควิธีการ เรื่องกฎหมายแร่และกฎหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมขุดเจาะทั้งหลาย ผมใช้เวลาช่วงหนึ่งอยู่ที่อุดรฯ ประมาณ 6-7 ปี ก็เห็นว่าความรู้ด้านเหมืองแร่ที่เราได้เรียนรู้จากการทำงานที่อุดรฯ มันจำเป็นต้องขยายตัวออกไป เพราะเห็นข้อมูลเกี่ยวกับการผลักดันโครงการสัมปทาน การสำรวจและทำเหมืองแร่เต็มไปหมดในภาคอีสาน และช่วงนั้นก็มีการผลักดันเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดเลย ผมจึงคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องทำอะไรบางอย่าง
อีกอย่างก็คือ ที่ผ่านมามีองค์กรพัฒนาเอกชนทำงานเรื่องน้ำ ที่ดิน ป่าไม้ เยอะแยะไปหมด แต่ไม่มีใครจับงานเรื่องเหมืองแร่ ผมจึงคิดว่ามันมีความจำเป็นอะไรบางอย่างที่สมควรจะต้องทำให้ความรู้ตรงนี้ขยายตัวออกไป ก็เลยเริ่มทำงานด้านเหมืองแร่จริงๆ จังๆ
ในสมัยนั้นอุตสาหกรรมเหมืองแร่เริ่มปรากฏผลกระทบอะไรให้เห็นบ้าง
จริงๆ ก็มีผลกระทบเกิดขึ้นหลายแห่งแล้ว ก่อนหน้าที่ผมจะลงไปทำงานเรื่องเหมืองแร่โปแตสที่อุดรธานี ช่วงปี 2542-2543 ก็มีการทำเหมืองแร่สังกะสีที่ลุ่มน้ำแม่ตาว จังหวัดตาก ที่มีแคดเมียมปนเปื้อน หรือแม้กระทั่งการปนเปื้อนของตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ กาญจนบุรี ก็เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว รวมทั้งการทำเหมืองถ่านหินกับโรงไฟฟ้าที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง ก็มีผลกระทบเยอะแยะไปหมด เพียงแต่ว่าเรายังไม่มีความรู้ด้านนั้นโดยตรง
ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่ผมเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ เริ่มจากงานเกี่ยวกับทรัพยากรลุ่มน้ำ แต่พอมาจับเรื่องโปแตสแล้วเราก็เห็นว่ากระบวนการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเหมืองแร่มันยังไม่มีระบบระเบียบ เรียกว่ายังไม่มีกระบวนการเคลื่อนไหวที่เกาะเกี่ยวกันมากนัก โดยเฉพาะเรื่องข้อกฎหมาย ทั้งกฎหมายแร่ กฎหมายปิโตรเลียม ซึ่งการคัดค้านโครงการพัฒนาเหมืองแร่ก็ยังไม่มีใครฉายภาพอะไรให้เห็นเกี่ยวกับเรื่องช่องโหว่ของกฎหมาย เพราะอำนาจกฎหมายมันสามารถเปิดช่องให้สัมปทานได้ทั่วไปหมด ส่วนมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ยังอ่อนมาก จากการกำหนดนโยบายและจากกฎหมายพวกนี้ เราก็เลยเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ
ตอนนั้น NGO ในพื้นที่อื่นๆ เคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองแร่กันอย่างไร
ก็มีครับ แต่ทำเป็นจุดๆ เป็นหย่อมๆ ไป มีทั้ง NGO นักวิชาการ นักกฎหมาย ที่เข้าไปช่วยชาวบ้านแม่เมาะ หรืออย่างเหมืองแร่สังกะสีที่มีแคดเมียมปนเปื้อนในลุ่มน้ำแม่ตาว ก็เริ่มมีการเข้าไปทำงานร่วมกับชาวบ้านบ้างแล้ว แต่ก็เป็นการทำงานในลักษณะที่ยังไม่มีการเชื่อมเครือข่ายกันมากนัก เราก็เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องชวนชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ให้มาเชื่อมเครือข่ายกันมากขึ้น
เหมือนกับพยายามส่งต่อความรู้จากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่งใช่ไหม
ครับ เพื่อจะเชื่อมเครือข่ายให้มีพลังร่วมกัน นอกจากจากต่อสู้ในพื้นที่แล้วจะได้มีพลังเพื่อผลักดันนโยบายร่วมกัน เช่น การต่อต้านนโยบายแร่ร่วมกัน หรือการผลักดันให้เกิดร่างกฎหมายแร่ฉบับประชาชนที่แตกต่างไปจากที่รัฐกำหนด คล้ายๆ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่ประชาชนช่วยกันผลักดันขึ้นมา
โปรเจ็คท์เขื่อนแม่น้ำสงครามเกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลชุดไหน
โครงการสร้างเขื่อนแม่น้ำสงครามเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโขง-ชี-มูล ซึ่งโขง-ชี-มูล ผลักดันมาตั้งแต่ช่วงปี 2530 สมัยชาติชาย (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) ต่อจากยุคเปรม (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์)
ที่มาของโครงการก็คือ หลังนโยบาย 66/23 ในสมัยเปรม เขาก็เห็นความจำเป็นว่าจะต้องต่อยอดนโยบายต้อนคนออกจากป่า เพื่อจะได้ไม่เกิดการแบ่งแยกลัทธิทางการเมือง พอต้อนคนออกมาแล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่ก็คือภาคอีสาน ภาคเหนือ และตามตะเข็บชายแดนต่างๆ ซึ่งในช่วงที่ผลักดันนโยบาย 66/23 รัฐบาลไทยและรัฐบาลสายสัมพันธมิตรกำลังกังวลว่า ทฤษฎีโดมิโนที่เกิดจากการแผ่ขยายของคอมมิวนิสต์เป็นทอดๆ มาถึงอินโดจีนและประเทศไทยจะส่งผลเสียหายมหาศาล แล้วอาจจะเลยไปถึงพม่า ไปถึงคาบสมุทรมลายู
ในช่วงที่ทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ อเมริกาจึงเร่งให้งบประมาณพัฒนาเศรษฐกิจสูงมากในภาคอีสาน เพราะเห็นว่าถ้าระดมการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครัวเรือนดีขึ้น หรือทำให้ GDP ของประเทศมันสูงขึ้น ก็จะทำให้เกิดการเปรียบเทียบให้เห็นว่าการปกครองแบบนี้มันน่าจะดีกว่า เพื่อจะดึงมวลชนมาเป็นมิตร
หลัง 66/23 พอดึงคนออกจากป่าแล้ว เขาก็เลยคิดโครงการต่อเนื่องว่า จำเป็นต้องพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนพวกนี้ให้ดีขึ้น เพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านรัฐบาลต่อไปอีก และเพื่อจะทำให้ลัทธิคอมมิวนิสต์มันหมดอิทธิพลไป สมัยชาติชายเขาก็เลยคิดนโยบาย ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ มีโครงการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การผลิตไฟฟ้าและการผลักดันโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงโครงการโขง-ชี-มูล เพื่อที่จะดึงน้ำโขงเข้ามาใช้ในภาคอีสาน เพราะถ้าจะพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมก็จำเป็นจะต้องใช้น้ำมากขึ้น โดยมีโมเดลแบบลุ่มเจ้าพระยาที่มีเครือข่ายน้ำชลประทาน
พอพัฒนาโครงการโขง-ชี-มูล ไปได้ระยะหนึ่งก็ผลักดันสร้างเขื่อนแม่น้ำสงครามต่อ ซึ่งระบบภูมินิเวศของแม่น้ำสงครามกับแม่น้ำมูล แม่น้ำชี มันคล้ายๆ กัน คือมีลักษณะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ wetland ในภาคอีสานเขาเรียกว่า ‘ป่าบุ่งป่าทาม’ พอถึงฤดูน้ำหลากก็จะท่วมพื้นที่เป็นแสนเป็นล้านไร่ เมื่อระบบภูมินิเวศคล้ายกัน เขาก็ลอก EIA มาจากโขง-ชี-มูล
โครงการโขง-ชี-มูล เกี่ยวพันกับบริบททางการเมืองอย่างไรบ้าง
โขง-ชี-มูล เป็นโครงการที่เกาะเกี่ยวการเมืองมาตลอด ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็พยายามผลักดัน แต่พอเจอข้อเท็จจริงเขาก็ไปต่อไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ เทคนิควิธีการ อาจจะรวมทั้งการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ แล้วการใช้น้ำระหว่างประเทศมันก็ไม่ใช่ง่าย ถึงแม้จะไม่มีประชาชนออกมาคัดค้าน แต่รัฐบาลลาว กัมพูชา อาจจะต่อต้านก็ได้ เพราะคุณไปดึงน้ำส่วนรวมมาใช้ ทำให้คนท้ายน้ำเดือดร้อน เหมือนที่จีนสร้างเขื่อนน้ำโขง ตอนนี้คนเวียดนามที่อยู่ตรงพื้นที่มังกรเก้าหาง กับคนกัมพูชาแถวโตนเลสาบถูกกระทบหมด เพราะระบบการขึ้นลงของน้ำไม่เป็นไปตามฤดูกาล และส่งผลกระทบมหาศาลต่อพื้นที่เกษตรกรรมนาข้าว ฉะนั้น ประเทศไทยก็ติดกับดักตัวเองว่าจะดึงน้ำเข้ามายังไง
เป้าใหญ่ของโครงการนี้อยู่ที่จุดไหน ทำไมทุกรัฐบาลจึงพยายามผลักดันมาตลอด
เขาพยายามมาตลอด แต่ก็ยังไม่สำเร็จ โครงการนี้สุดท้ายแล้วถ้าไม่กั้นเขื่อนในแม่น้ำโขง ไม่มีทางที่จะดึงน้ำเข้ามาใช้ในระบบได้ เพราะน้ำมันตื้น พอถึงหน้าแล้งจะไปดึงน้ำโขงจากจุดไหนมาใส่ในระบบ เพราะมันตื้นไปหมดแล้ว ฉะนั้นต้องสร้างเขื่อนอย่างเดียว เหมือนที่จีนสร้าง แล้วตอนนี้ลาวก็กำลังสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงที่ไซยะบุรี ซึ่งประเทศไทยก็หวังจะสร้างเขื่อนกั้นตรงแนวชายแดนระหว่างไทยกับลาวให้ได้ แต่ประเทศลาวก็ยังไม่โอเค เพราะอิทธิพลทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยก็เห็นอยู่ว่า น้ำทุกเม็ด ไฟฟ้าทุกหน่วยที่ได้จากการปั่นไฟ น่าจะใช้สำหรับประเทศไทยเป็นหลัก ประเทศลาวเขาจึงยังไม่มั่นใจนักว่าเขาจะได้ประโยชน์จากการแบ่งปันนี้หรือไม่ เขาก็เลยไปผลักดันเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นแนวแม่น้ำโขงที่อยู่บนพรมแดนของลาวประเทศเดียวโดยไม่ต้องขออนุญาตใคร แล้วเขาก็ขายไฟฟ้าได้เต็มๆ
ผมคาดเดาเอานะว่า ประเทศไทยต้องการใช้น้ำจากแม่น้ำโขงหลายวัตถุประสงค์ ไม่ได้ต้องการเพียงแค่ปั่นไฟอย่างเดียว ลาวก็ต้องการเป็นแบตเตอรีของเอเชีย เขาวางตำแหน่งตัวเองไว้แบบนั้น แต่ประเทศไทยไม่ได้คิดอย่างนั้น ประเทศไทยคิดทั้งปั่นไฟและคิดที่จะเอาน้ำมาพัฒนาพื้นที่เกษตรผ่านระบบชลประทานในภาคอีสาน ซึ่งมันต้องใช้น้ำมหาศาล แต่ไม่ว่าจะผลักดันโครงการโขง-เลย-ชี-มูล อีกสักกี่รัฐบาลก็ตาม หากไม่มีการกั้นแม่น้ำโขง ไม่มีทางสำเร็จ
ความยากง่ายในการต่อรองกับรัฐบาลแต่ละยุคต่างกันไหม
คือรัฐบาล คสช. ค่อนข้างจะอยู่ฝั่งเดียวกับจีน ซึ่งเห็นได้จากข่าวที่ว่าจะอนุญาตให้สัมปทานสำรวจแร่โปแตสแก่บริษัทจีนเพิ่มขึ้นอีกสองบริษัท อย่างนี้เป็นต้น คือถ้ามีแนวคิดแบบนี้ก็น่าจะเป็นแนวเดียวกับประเทศลาว ซึ่งลาวก็รับความช่วยเหลือจากจีนแทบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างเขื่อน การปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว การปลูกยางพารา รถไฟความเร็วสูง ลาวเอาหมด ก็ไม่แน่ว่าโครงการโขง-เลย-ชี-มูล ถ้ารัฐบาลไทยดีลกับรัฐบาลจีนและลาวได้ ก็อาจจะทำให้เกิดการผลักดันสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงตรงพรมแดนไทย-ลาว ก็อาจจะเป็นไปได้
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา มีรัฐบาลประเภทไหนบ้างที่พอจะยอมฟังเสียงคัดค้านของประชาชน
อันนี้น่าสนใจ ผมคิดว่าในระบอบการเมืองการปกครองปกติ มันอาจไม่ได้ดีพอกับชาวบ้านมากนักหรอก แต่อย่างน้อยที่สุดชาวบ้านก็มีโอกาสได้พูด ได้คิด ได้คัดค้าน ได้แสดงออก สามารถชุมนุมได้เต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น ร่างกฎหมายแร่ ก็ผลักดันกันมาทุกรัฐบาล ทั้งอภิสิทธิ์ ทั้งยิ่งลักษณ์ ชาวบ้านก็มีสิทธิ์มีเสียงที่จะพูด สามารถทำหนังสือแสดงความเห็นอะไรต่างๆ ก็เป็นเหตุเป็นผลถึงขนาดที่ทำให้รัฐบาลไม่ผลักดันร่างกฎหมายแร่ต่อ เพราะยังเห็นข้อบกพร่องของมัน ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลที่รับใช้ทุนก็ตาม แต่ก็ยังมองเห็นข้อบกพร่องของมันอยู่
เพราะการเมืองในระบบปกติต้องยึดโยงกับประชาชน มันก็เลยต้องคำนึงถึงเสียงประชาชนอยู่บ้าง การผลักดันโครงการอะไรที่ไม่ยึดโยงกับความคิดเห็นของประชาชนมากนัก เขาก็ต้องชะลอ แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่แม้แต่จะฟัง
จะเห็นว่าหลายโครงการที่ผ่านมา เช่น กฎหมายแร่นี่ชัดมาก จากยุคอภิสิทธิ์ ยุคยิ่งลักษณ์ ไม่ผ่าน แต่ยุคนี้ผ่าน ผ่านโดยให้รัฐมนตรีได้อ่านร่างกฎหมายแร่ตอน 4 ทุ่มกว่าๆ ของวันจันทร์ เพื่อมาประชุม ครม. เช้าวันอังคาร ถามว่ารัฐมนตรีคนไหนจะอ่านทัน รัฐมนตรีแทบทุกกระทรวงไม่คิดจะอ่านอยู่แล้ว เช้ามาก็บอกว่า โอเค เห็นชอบ ทั้งๆ ที่สาระสำคัญของร่างกฎหมายแร่ตัวนี้ก็เป็นสาระสำคัญเดียวกันกับตอนที่เสนอในรัฐบาลชุดก่อนๆ ในเมื่อยังติดข้อโต้แย้งของประชาชนอยู่ แต่รัฐบาลก็เลือกที่จะไม่สนใจข้อขัดแย้งที่ประชาชนได้เสนอไป โดยผลักดันร่างกฎหมายแร่ต่อไป และร่างกฎหมายปิโตรเลียมก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน ซึ่งรัฐบาลในรูปแบบรัฐประหารแบบนี้มันผลักดันโครงการได้เร็ว
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลังรัฐประหารใหม่ๆ รัฐบาลได้เสนอโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ แล้วก็บอกว่า โครงการพัฒนาอะไรต่างๆ ที่ติดขัดกฎหมายสิ่งแวดล้อม ติดขัด EIA เขาก็จะใช้ระบบ fast track คือจะตัดขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญในการพิจารณา EIA ทิ้ง เพื่อทำให้เวลามันสั้นที่สุดเท่าที่จะมากได้ พูดง่ายๆ คือจะไม่ได้รับการกลั่นกรอง ไม่ได้รับการเสนอความเห็นว่าโครงการนี้ดีไม่ดีอย่างไร สมควรมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างไร สมควรมีมาตรการติดตามตรวจสอบและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างไร
หมายความว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เดิมไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลยใช่ไหม
เขาทำได้เลย ไม่ขึ้นกับกฎหมายสิ่งแวดล้อม ไม่ขึ้นกับกฎหมายใดทั้งสิ้น เพราะเขาใช้กฎอัยการศึกในการพัฒนาประเทศ แล้วตอนนี้ก็ขยับมาใช้มาตรา 44 เพื่อจัดทำโซนนิ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษในหลายจังหวัด แล้วก็ประกาศว่าจะเปลี่ยนระบบการทำ EIA จาก fast track มาเป็น by-pass ก็คือเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ต้องทำ EIA โดยจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นๆ สามารถมีดุลยพินิจหรือให้ความเห็นได้เลยว่า โครงการนี้มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับใด เรียกได้ว่าโครงสร้างของกระบวนการจัดทำ EIA จากเดิมต้องให้หลายหน่วยงานหลายกระทรวงให้ความเห็นชอบ และต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ถูกตัดทิ้งหมด โดยให้เป็นดุลยพินิจของผู้ว่าฯ กับรัฐบาล คสช. เท่านั้นที่จะละเว้นการทำ EIA ได้ อย่างนี้ก็เป็นอะไรที่มันทำลายเครื่องมือการมีส่วนร่วมของประชาชนทิ้งไปเลย
เรื่องขั้นตอน EIA ขั้นตอนการขอประทานบัตรเหมืองแร่ต่างๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับประชาชน และประชาชนในพื้นที่ต่างๆ สามารถเอาความเห็นของตัวเองเข้าไปแทรกได้ เราจึงเห็นภาพของกลุ่มดาวดินที่ไปนั่งกราบกรานพวกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และรวมทั้งอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ในวันที่เขาทำกระบวนการ public scoping ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการจัดทำรายงานการวิเคราะก์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA เพื่อขอประทานบัตรเหมืองแร่ ซึ่งประชาชนสามารถใช้สองมือสองแขนสองขาของตัวเองเข้าไปขอแสดงความคิดเห็นได้ แต่พอเขาไม่ยอมให้ประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็น นักศึกษากลุ่มดาวดินจึงต้องเข้าไปกราบอ้อนวอนว่าขอให้ชาวบ้านได้เข้าไปเถอะ
โอเค…เราไม่ได้บอกว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หรือพลังประชาชนจะล้มโครงการได้หรือไม่ แต่เราต้องการแค่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาทุกขั้นตอน ซึ่งก็คือขั้นตอนหนึ่งของ EIA แต่ขั้นตอนพวกนี้มันถูกตัดทิ้งไปหมด เราจะทำหนังสือ ทำจดหมาย หรือจะเดินขบวนไปแสดงความเห็น แบบนี้ก็ทำไม่ได้ เพราะทหารบอกว่าอย่าทำ ถ้าทำคุณเจอมาตรา 44 แน่
การที่รัฐบาลตัดสินใจได้รวดเร็วฉับไว น่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศไม่ใช่หรือ
ใช่ครับ แต่ประเด็นก็คือว่า ถ้าคุณพูดถึงการพัฒนา คุณก็ต้องพูดถึงการปฏิรูปประเทศควบคู่ไปด้วย คำถามง่ายๆ ก็คือ ตกลงคุณจะปฏิรูปประเทศหรือคุณจะพัฒนาประเทศ ถ้าคุณคิดว่าการพัฒนาประเทศเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูป คุณก็ต้องเอาโครงการนโยบายการพัฒนาประเทศทั้งหมดเข้าไปอยู่ในกระบวนการปฏิรูปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันแผนแม่บทป่าไม้ที่ตอนนี้กำลังไล่คนออกจากป่า โดยใช้ปฏิบัติการพิเศษในการบุกตัดโค่นยางพาราของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านไม่มีที่อยู่อาศัยไม่รู้กี่หมื่นกี่พันครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นโครงการเหมืองแร่อะไรต่างๆ และโครงการบริหารจัดการน้ำ จากเดิมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งงบ 3.5 แสนล้านบาท ตอนนี้เพิ่มโครงการโขง-เลย-ชี-มูล เข้าไปด้วยเป็น 2.2 ล้านล้านบาท หรือจะเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโครงการรถไฟความเร็วสูง สมัยยิ่งลักษณ์ 2 ล้านล้านบาท ตอนนี้เป็น 2.4 ล้านล้านบาท
ในขณะที่คุณบอกจะปฏิรูปประเทศ ทำไมคุณไม่เอาโครงการเหล่านี้เข้าไปอยู่ในกระบวนการปฏิรูปประเทศด้วย ทำไมคุณถึงแยกกันทำ พวก สปช. ที่กำลังทำประเด็นปฏิรูปประเทศอยู่ก็ไม่สนใจอะไรเลย ว่ารัฐบาลกำลังผลักดันโครงการพัฒนาต่างๆ เต็มไปหมด คุณบอกว่าขอปฏิรูปประเทศก่อน แต่คุณปล่อยให้รัฐบาลพัฒนาประเทศไปได้อย่างไร โดยที่ไม่เอาโครงการพัฒนาเหล่านั้นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศ
ในขณะที่คุณต้องการปฏิรูปประเทศ แต่คุณกลับผลักดันแผนแม่บทป่าไม้ เพื่อไล่คนออกจากป่า คุณบ้าหรือเปล่า นี่ประชาชนของคุณนะ เป็นประชาชนที่สมควรจะเข้าไปสู่กระบวนการปฏิรูปประเทศด้วย แล้วคุณทำแบบนี้กับประชาชนของคุณได้อย่างไร มันย้อนแย้งสุดขั้ว
ถ้าเปรียบเทียบระหว่างรัฐบาลในภาวะปกติที่อาจเป็นทุนสามานย์ กับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร อะไรเลวร้ายน้อยกว่ากัน
เวลาคนมันมีอำนาจมากมักไม่เข้าใจ มองไม่เห็นเรื่องเหล่านี้ แต่รัฐบาลที่ประชาชนยังสามารถด่าได้ ตรวจสอบได้ ถึงแม้จะมีอำนาจใหญ่โต พอถูกตรวจสอบทุกวัน โดนด่าทุกวันจากโลกสังคมออนไลน์ มันก็สะเทือนนะ มันก็มีความรู้สึกรู้สา แต่คนพวกนี้ไม่มีความรู้สึก เพราะอำนาจใหญ่มาก ใหญ่เสียจนรู้สึกว่า เฮ้ย! กูจะเอาอำนาจนี้ไปใช้อะไรดีวะ แล้วทำไมกูต้องฟังเสียงพวกมึงด้วย
ถ้าจะพูดในเชิงวิเคราะห์สักหน่อย ผมก็รู้สึกว่าเวลาที่เราพูดถึงโลกใบนี้ที่กำลังขับเคลื่อนด้วยลัทธิเสรีนิยมใหม่อะไรแบบนี้ ความจริงแล้วการเป็นรัฐทหารก็คือการลอกคราบลัทธิเสรีนิยมใหม่ด้วยซ้ำ ความหมายก็คือ ไอ้เสรีนิยมใหม่มันทำงานไม่ได้ดีหรอกในรัฐบาลประชาธิปไตย เพราะมันถูกประชาชนตรวจสอบสูง แต่อำนาจเผด็จการทหารไม่สนใจเสียงของประชาชน จึงผลักดันทุกสิ่งทุกอย่างได้ภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่โดยไม่ต้องฟังเสียงใคร และทำได้อย่างเห็นผลกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยด้วยซ้ำ
มันเหมือนย้อนแย้งว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่สมควรพัฒนาควบคู่ไปกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่เอาเข้าจริงประชาธิปไตยภายใต้เสรีนิยมใหม่มันผลักดันประเทศไปได้ไม่ดีพอ เชื่องช้ากว่ารัฐบาลเผด็จการทหารด้วยซ้ำ เพราะมันติดขัดเรื่องความยึดโยงกับประชาชน ติดขัดการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ติดขัดการถูกตรวจสอบ การปรึกษาหารือ การมีส่วนร่วม การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ขณะที่รัฐบาลทหารไม่ต้องสนใจเรื่องเหล่านี้ ตัดทิ้งหมด โดยเอาเรื่องความมั่นคงของชาติมากดหัวประชาชนไว้ ทำให้ประชาชนกลัวว่าการเคลื่อนไหวทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงของชาติ อย่าได้แหลมเข้ามานะ ไม่งั้นคุณจะซวย
แต่ถ้าเป็นการเมืองในระบบปกติมันตรวจสอบได้ เพราะต้องคิดแล้วว่า สมัยหน้าฉันจะเป็นรัฐบาลได้อย่างไรถ้าหักหลังประชาชนบ่อยๆ การเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยมันก็ดีอย่างตรงที่ว่า ตอนหาเสียงมันต้องชูนโยบายในการบริหารพัฒนาประเทศ ต้องบอกประชาชน พวกเราก็รู้ว่าคุณพูดอะไรไว้บ้าง ถ้าคุณไม่ทำตามนั้นคุณก็โดนวิพากษ์วิจารณ์ โดนตรวจสอบ อย่างน้อยมันก็ดีตรงนี้ เหมือนเป็นการมีส่วนร่วมอย่างหนึ่งที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ แต่รัฐบาลทหารไม่ต้องทำ ไม่ต้องอะไรเลยทั้งสิ้น
ถ้านี่คือการลอกคราบเสรีนิยม แล้วในส่วนของขบวนการภาคประชาชนเองถูกปอกเปลือกด้วยไหม เพราะที่ผ่านมาก็เคยประท้วงตรวจสอบมาทุกรัฐบาล แต่พอมาถึงยุคหนึ่งกลับหยุดชะงักไป
(หัวเราะ) จริงๆ ผมไม่อยากพูดประเด็นนี้เลย กลัวพูดไปแล้วโดนด่าจากพวกเดียวกันเอง คือผมก็ไม่รู้เป็นเพราะอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่นะ เป็นเรื่องสำคัญมากๆ
ในขบวนการประชาชนที่เห็นๆ กันอยู่ทุกวันนี้ก็มีความขัดแย้งสูง มีรอยปริแยกทางความคิดที่ชัดเจนมาก มีการวิพากษ์วิจารณ์กันแบบเข้มข้นมากว่า แท้จริงแล้วคนอย่างพวกเราที่อ้างตัวเองว่าทำงานเป็นนักกิจกรรมทางสังคม เป็นนักพัฒนาเอกชน เป็นนักวิชาการอิสระ เป็นปัญญาชนต่างๆ ที่ทำงานร่วมกับประชาชนเพื่อให้การเคลื่อนไหวของประชาชนมีพลัง แท้จริงแล้วพวกเราเองคิดอะไรอยู่
โดยพื้นฐานเราพยายามพูดตลอดเวลาว่า เราต้องการการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศชาติ เราต้องการประชาธิปไตยอีกส่วนหนึ่ง นอกจากประชาธิปไตยในระบบเลือกตั้ง ระบบรัฐสภาแล้ว เราต้องการประชาธิปไตยมวลชน ประชาธิปไตยนอกสภา เพื่อจะได้ถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คุณเองต้องการ แต่คุณต้องการสิ่งเหล่านี้โดยการแลกกับการที่คุณเห็นว่ารัฐประหารคือโอกาส คือช่องทางพิเศษแบบ fast track ในขณะที่ คสช. ต้องการ fast track เรื่อง EIA องค์กรประชาชนต่างๆ ก็ต้องการช่องทางพิเศษในการเอาประเด็นปัญหาของตัวเอง เอาปัญหาในพื้นที่ที่ตัวเองทำงานอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องเด็ก สตรี ที่ดิน ป่าไม้ ไปนำเสนอให้กับช่องทางพิเศษเหล่านี้ โดยคิดว่าเป็นช่องทางลัดที่ปัญหาของตัวเองจะได้รับการแก้ไข
แท้จริงแล้วสิ่งเราพยายามพร่ำบอกกันตลอดมาเรื่องการมีส่วนร่วม เรื่องพลังของประชาชน จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น สิ่งที่เราซ่อนเร้นตัวเองอยู่ก็คือ ต้องการใช้ช่องทางพิเศษ เพราะเขาก็คงมองว่าระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่เคยเป็นมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน มันก็ล้วนแต่สามานย์อย่างที่ว่า ล้วนแต่ไม่เคยเข้าข้างประชาชนเลย เข้าข้างแต่ทุน ก็ทำให้เห็นข้อจำกัดของตัวเองว่า ไม่ว่าจะผลักดันทุกสิ่งทุกอย่างแล้วมันก็ไม่ได้รับการแก้ไข เห็นแต่ความพ่ายแพ้ ก็เลยรู้สึกว่ามันมีความจำเป็นอะไรบางอย่างที่ต้องเข้าร่วมขบวนการเพื่อล้มระบบปกติเหล่านี้ไป ด้วยหวังในช่วงเวลาพิเศษนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ฟ้าสีทองผ่องอำไพ แล้วก็เห็นช่องทางลัดใหม่ๆ ในการเสนอปัญหาเข้าไป
เราจะเห็นว่าใน สปช. สนช. มีคนขององค์กรประชาชนอยู่เต็มไปหมด แม้กระทั่งองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งใหญ่โตขึ้นจนถึงขนาดทำให้ตัวแทนภาคประชาชนได้เข้าไปอยู่ในองค์กรกึ่งรัฐแบบนั้น แล้วเขาก็เห็นว่านี่คือโอกาสที่สำคัญ แต่เอาเข้าจริง หนึ่งปีที่ผ่านมาก็เริ่มเห็นแล้วว่า สิ่งที่คุณหวังว่าจะได้อย่างนั้น จะได้อย่างนี้ มันไม่เป็นไปตามคาดหวังแบบที่คุณหวังเลย
ความคิดลักษณะนี้ในขบวนการประชาชนเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 แล้วใช่ไหม
ผมขออธิบายอย่างนี้ว่า เราสมควรมองประชาธิปไตยอย่างน้อยเป็นสามส่วน หนึ่งคือ ประชาธิปไตยตัวแทน เช่น ประชาธิปไตยที่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือระบบรัฐสภา ที่ถูกมองว่าระบบการเมืองการปกครองแบบนี้มันไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากนัก และมันรังแกประชาชน นี่คือส่วนแรกของประชาธิปไตย
แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นประชาธิปไตยนอกสภา เรียกว่า ประชาธิปไตยมวลชน ประชาธิปไตยบนท้องถนน แบบคำของอาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ) มันเป็นประชาธิปไตยที่ขบวนการประชาชนต้องสร้างตัวเอง นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องทำให้มันเติบโตขึ้น เพื่อจะได้ถ่วงดุลกับประชาธิปไตยในระบบตัวแทนได้
อีกส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นฐานรากที่สำคัญมากของประชาธิปไตยทั้งสองส่วนก็คือ เสรีภาพของคน หรือเสรีภาพของปัจเจกชน ถึงแม้มันจะไม่ได้เป็นขบวนการประชาชน ไม่ได้เป็นองค์กรหรือหน่วยงาน แต่ระดับบุคคลมันสมควรมีเสรีภาพในตัวเอง เพื่อทำให้ปัจเจกชนเหล่านี้ย้อนกลับไปรับใช้สังคมในภายหลัง
เรามองภาพสามภาพนี้ แล้วเราก็บอกว่าประชาธิปไตยในระบบเลือกตั้งมีปัญหา แล้วเราก็คิดว่าอยากจะล้มมัน ด้วยการไปเกาะเกี่ยวกับอำนาจพิเศษ เพื่อหวังจะให้อำนาจพิเศษมาล้มมัน นี่คือเราทำลายมันทิ้งไปเลยนะ แล้วเราก็คิดว่าโอเค เราประสบผลสำเร็จแล้วที่จะทำให้เกิดการจัดกติกากันใหม่ ส่วนนี้ผมเองก็เห็นด้วยนะถ้าคิดแบบนั้นจริง
แต่อำนาจพิเศษตรงนั้นมันใหญ่โตมาก คนที่คุณไปดึงเขามาร่วม คุณบอกจะให้เขามาทำลายประชาธิปไตยเลือกตั้ง แต่เขาไม่ได้ทำลายประชาธิปไตยเลือกตั้งอย่างเดียว เขาทำลายประชาธิปไตยอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งก็คือประชาธิปไตยมวลชน ทำลายทิ้งเสียจนเจ็บปวดที่สุด คือห้ามคิด ห้ามพูด ห้ามเขียน ห้ามทุกสิ่งทุกอย่างในการต่อต้าน ไม่ใช่แค่ต่อต้านรัฐอย่างเดียว แต่รวมถึงการต่อต้านโครงการพัฒนาต่างๆ ด้วย
หมายความว่าอำนาจพิเศษนี้ทำลายประชาธิปไตยทั้งสามส่วนเลยใช่ไหม
เราต้องการทำลายประชาธิปไตยเลือกตั้ง แต่ผลของมันกลับทำให้อำนาจพิเศษนี้มาทำลายประชาธิปไตยมวลชนเสียจนเละเทะไปหมด ยกตัวอย่างใกล้ตัว เช่น เหมืองแร่ทองคำ เหมืองแร่โปแตส การขุดเจาะปิโตรเลียมที่บ้านนามูล ตำบลดูนสาด จังหวัดขอนแก่น และกลับกลายเป็นว่าทหารที่อยู่ในพื้นที่ไปคุ้มกันให้บริษัทขนเครื่องจักรอุปกรณ์ในการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม โดยกันชาวบ้านออก บีบชาวบ้านว่าอย่าประท้วงคัดค้าน ถ้าคัดค้านเดี๋ยวโดนกฎอัยการศึก ตรงนี้แหละที่ผมรู้สึกเสียใจ
สิ่งที่เขาคิดว่ารัฐประหารคือโอกาส เป็นการคิดด้วยวิสัยทัศน์ตื้นๆ โดยไม่มองเลยว่าบทเรียนจากรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา มันทำลายขบวนการประชาชนเละเทะย่อยยับขนาดไหน จริงอยู่ 2549 อาจจะไม่แรงเท่า แต่ครั้งนี้ชัดเจนว่าทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานแต่ง ทุกสิ่งทุกอย่างทหารจะเข้าไปควบคุมหมด หรือแม้กระทั่งตอนที่กำลังเกิดภัยแล้ง คนที่คุมประตูน้ำก็คือทหาร มันเป็นเรื่องน่าตลกสิ้นดี ทหารเข้ามาควบคุมทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและร่างกายของเราทุกอณูขุมขน จนเกินความจำเป็นในการใช้อำนาจของเขา
ถ้าคุณหวังที่จะให้การรัฐประหารมาทำลายหรือจัดสรรกติกาใหม่ของกระบวนการประชาธิปไตยเลือกตั้ง แต่ผลของมันกลับทำลายประชาธิปไตยมวลชน รวมทั้งเสรีภาพของปัจเจกชนที่โดนกระทำเละเทะไปหมด คนที่ออกมาชูป้ายเล็กๆ น้อยๆ ระดับปัจเจกก็โดนเละเทะไปหมด นี่คือผลเสียหายที่สุดของคนที่บอกว่าเป็นนักกิจกรรมทางสังคมที่อยากจะเข้าไปเกาะเกี่ยวกับอำนาจพิเศษ คุณได้ในสิ่งที่คุณต้องการแล้ว คือทำลายประชาธิปไตยเลือกตั้ง เพื่อหวังจะจัดสรรกติกาใหม่ แต่สิ่งที่คุณทำลายไป คุณไม่ได้คิดถึง
พูดง่ายๆ คือคนอย่างพวกเราเห็นแก่ตัวที่สุด ที่ไม่มองประชาชนส่วนอื่นๆ ของสังคม เห็นแต่ปัญหาของตัวเองที่ตัวเองทำงานอยู่ กลุ่มดาวดินเองก็คงรู้สึกเช่นนี้ น้องๆ นักศึกษาไม่ได้คิดอะไรซับซับซ้อน คิดเพียงว่านี่คือความเสียหายที่มันใหญ่โตมาก เขาจึงจำเป็นต้องพูดออกไป ถ้าสังคมไทยโดยเฉพาะคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า แต่กลับทำตัวสยบยอมรัฐประหารหรือต้องการช่องทางพิเศษ ถ้ายังมีวัฒนธรรมอย่างนี้ต่อไป ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาไปไกลกว่านี้ได้แน่นอน
บทเรียนจากรัฐประหาร 2549 วิเคราะห์ได้ไหมว่า เหตุใดองค์กรภาคประชาชนส่วนหนึ่งจึงยังเชื่อมั่นในช่องทางพิเศษ
ความจริงตอนปี 2553 พวกเราน่าจะคิดได้ด้วยซ้ำ เพราะปี 2549 อำนาจทหารยังไม่เข้าไปจัดการอะไรมากนัก ก็เลยอาจรู้สึกเฉยๆ ไป ช่างมันเถอะ คงล้มเฉพาะประชาธิปไตยเลือกตั้ง ตัวมวลชนก็ยังพอจะมีพลัง หรือแม้กระทั่งการแสดงออกของคนเสื้อแดงหลัง 2549 ก็มีพลังพอสมควร คล้ายกับว่าสังคมก็ยังเปิดอยู่ ทหารก็จัดการอะไรไม่ได้มาก แม้กระทั่งตัวผมเองก็เคยร่วมต่อต้านรัฐบาลทักษิณก่อนปี 2549 ไม่ใช่ว่าผมเป็นพวกนักประชาธิปไตยอะไรมากมายนักหนา
พอปี 2553 จริงๆ เราน่าจะคิดได้ โดยเฉพาะคนที่ทำงานกับภาคประชาชน เพราะในขณะที่มีการฆ่ากันกลางถนนเป็นร้อยกว่าศพ พอวันรุ่งขึ้นแทนที่เราจะเห็นความทุกขเวทนาในความตายของประชาชนที่เกิดจากน้ำมือรัฐ แต่กลับไปอุ้มชูรัฐบาลอภิสิทธิ์ด้วยการกระโดดเข้าไปปฏิรูปประเทศ แสดงว่าเราตั้งใจชัดเจนมากว่าเราต้องการค้ำจุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ให้อยู่ต่อ เพราะกลัวผีทักษิณหลอกหลอนเสียจนวุ่นวายไปหมด ทั้งๆ ที่คนอย่างพวกเราสิ่งที่สมควรจะตั้งคำถามมากที่สุดก็คือ ความตายร้อยกว่าศพ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนฝ่ายไหนก็ตาม แต่ความตายแบบนี้มันไม่ได้เป็นการตายโดยธรรมชาติ มันเป็นการตายที่เกิดจากการจงใจกระทำอะไรต่างๆ แต่ด้วยข้อมูลข่าวสารที่มันวิ่งวุ่นวายไปหมด เกิดการกล่าวหากันไปมาเสียจนกล่อมประสาทคนให้คลั่งหรือหวาดกลัวได้ ถึงขนาดยอมเข้าไปอยู่ในกระบวนการปฏิรูปประเทศ
กระทั่งมาถึงตอนที่ กปปส. ออกมาบอกว่าจะปฏิรูปประเทศ และตอนที่ คสช. ยึดอำนาจบอกจะปฏิรูปประเทศ คำถามง่ายๆ ก็คือ ทำไมไม่ปฏิรูปตั้งแต่ปี 2553 แล้วคุณปล่อยเวลาให้เนิ่นนานมาถึงตอนนี้ได้อย่างไร เอกสารเรื่องการปฏิรูปประเทศตั้งแต่สมัยอานันท์ (ปันยารชุน) และหมอประเวศ (วะสี) มีเป็นปึกๆ แล้วทำไมไม่ปฏิรูปสักอย่าง แล้วคุณเอาการปฏิรูปมาอ้างในการเคลื่อนไหวของ กปปส. ได้อย่างไร เอาการปฏิรูปประเทศมาอ้างในการยึดอำนาจได้อย่างไร
ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ไม่มีความหวังที่จะปฏิรูปได้เลยหรือ
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกี่ยวเนื่องกับทัศนคติเรื่องคนโง่กับคนไร้การศึกษา เกี่ยวเนื่องกันตรงทฤษฎีเรื่องพลเมือง ที่เห็นว่าหน้าที่พลเมืองสำคัญกว่าสิทธิเสรีภาพ คนทุกคนต้องต้องมีหน้าที่ก่อนที่จะคิดเรื่องเสรีภาพ แล้วคนที่มีการศึกษาหรือคนที่มีเวลาว่างเท่านั้นถึงจะมีหน้าที่ให้กับสังคม ซึ่งทฤษฎีนี้ถูกใช้และฝังเข้าไปในร่างรัฐธรรมนูญ เขามองว่าเป็นเพราะพวกคุณเรียกร้องเสรีภาพกันเสียจนประเทศไทยวุ่นวาย ต่อไปก่อนจะเรียกร้องเสรีภาพ คุณต้องมีหน้าที่กันก่อน ประชาชนทั้งหลายเอ๋ย จงทำหน้าที่ของตัวเองก่อน ฉะนั้นจึงเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ดูถูกประชาชนมากที่สุด
เรื่องหน้าที่พลเมืองถือเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่ไม่ดี เพียงแต่ต้องทำลายกรอบความคิดเรื่องคนไร้การศึกษากับคนมีการศึกษา เพื่อให้คนทุกคนมีส่วนร่วมได้จริง แต่ประเด็นไม่เพียงเท่านั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมีองค์กรอิสระในการกำกับควบคุมตรวจสอบความเป็นพลเมืองของคนอีกชั้นด้วย เช่น สมัชชาคุณธรรมทั้งหลาย พวกนี้จะเป็นคนชี้วัดว่าประชาชนในประเทศนี้ทำหน้าที่พลเมืองได้ดีหรือยัง และคนพวกนี้จะเป็นคนกลุ่มเดียวกับการปฏิรูปประเทศในปี 2553
การต่อสู้ในระบอบการเมืองปกติน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าใช่ไหม
ผมเห็นว่าเราสมควรพัฒนาประชาธิปไตยไปทั้งสามส่วน อย่าทิ้งส่วนใดส่วนหนึ่ง ผมไม่ได้เป็นพวกที่ต้องการประชาธิปไตยแค่ส่วนเดียวคือการเลือกตั้ง แล้วคิดว่าระบบนี้มันดีที่สุดแล้ว ผมคิดว่าระบบนี้มีปัญหาแน่นอน แต่ในระหว่างที่บ้านเมืองมีประชาธิปไตยเลือกตั้ง เราสามารถพัฒนาประชาธิปไตยมวลชนไปด้วยอีกส่วนหนึ่ง โดยที่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ และประชาธิปไตยนอกสภาต้องเข้มแข็งพอที่จะตรวจสอบถ่วงดุลคานอำนาจกับประชาธิปไตยเลือกตั้งได้ รวมทั้งเสรีภาพของประชาชนต้องพัฒนาไปพร้อมกันให้ได้ แต่ในระบบเผด็จการทหาร เราไม่สามารถทำทั้งสามส่วนนี้ได้เลย
คำว่าประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งในความหมายของคุณคืออะไร เพราะตอนนี้คนส่วนหนึ่งก็ไม่เชื่อในการเลือกตั้งแล้ว
ผมก็อยากจะบอกอย่างนี้ว่า ประชาธิปไตยเลือกตั้ง เวลาคนพูดเรื่องหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่ากันอะไรต่างๆ อีกฝั่งเขาก็พยายามบอกว่าในข้อเท็จจริงมันไม่เท่ากันหรอก เพราะคนเราสูงต่ำไม่เท่ากัน แล้วคุณจะมาเรียกร้องประชาธิปไตยเพียงแค่ขอให้มีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง มันไม่จริงหลอก มันหลอกลวง แต่จริงๆ เรื่องหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงในการเลือกตั้ง ผมคิดว่ามันเต็มไปด้วยอุดมคตินะ คือเวลาเราพูดถึงเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ อะไรต่างๆ ถ้าไม่มีพื้นฐานมาจากการเลือกตั้งมันก็ไปต่อไม่ได้ ถึงแม้การเลือกตั้งมันจะมีปัญหาเรื่องคนไม่เท่ากันก็จริง จากสภาพเศรษฐกิจและสังคมไม่เท่ากัน หรือจากวัฒนธรรมเคารพบูชาคนชั้นสูงในสังคมไทย แต่การเลือกตั้งก็ทำให้คนสามารถแสดงออกได้ว่าคุณต้องการเลือกคนไหน แล้วพอเลือกเสร็จมันก็ไม่ได้จบแค่นั้น มันยังมีประชาธิปไตยอีกส่วนหนึ่ง คือประชาธิปไตยมวลชน ซึ่งคนพวกนั้นเขาตั้งใจที่จะพัฒนาตัวเองต่ออยู่แล้ว แล้วคุณจะกลัวทำไมกับเพียงแค่การเลือกตั้ง
คำว่าการเลือกตั้ง ผมว่าเป็นพื้นฐานเล็กๆ แต่เต็มไปด้วยอุดมคติมากๆ ไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่โตอะไรเลยกับการที่มีคนพูดกันว่า ถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้ง รับรองว่าต้องมีการโกงกินอีก ทำอย่างกับว่าถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากรูปแบบอื่นจะไม่มีการโกงกินอย่างนั้นหรือ เพียงแต่มันไม่ถูกตรวจสอบเท่านั้นเอง แต่ไอ้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถึงแม้จะไม่ดีพอก็ยังถูกตรวจสอบได้
ถึงที่สุดแล้ว การต่อต้านโครงการพัฒนาของรัฐกับการต่อต้านรัฐประหารก็ควรเป็นเรื่องเดียวกันใช่ไหม
ถ้าดูจากแถลงการณ์ของชาวบ้านกลุ่มคนรักบ้านเกิด ที่ต่อต้านเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย เขาแถลงการณ์ออกมาเลยว่า การต่อต้านเหมืองทองกับการต่อต้านรัฐประหารเป็นเรื่องเดียวกัน เขาอยากจะทำให้เห็น แต่เขาก็เสี่ยงนะ เป็นชาวบ้านตัวเล็กๆ ที่โดนคุกคามทุกวัน ณ วันนี้ก็ยังโดนบีบ แต่เขายอมเสี่ยง เพื่อจะทำให้เห็นว่าการเรียกร้องภายใต้รัฐบาลทหารกับการเรียกร้องในสมัยอภิสิทธิ์ ยิ่งลักษณ์ มันก็ไม่ได้มีความแตกต่าง เพราะคุณก็เป็นทุนสามานย์ทั้งคู่ มิหนำซ้ำคุณยังใช้กลไกของรัฐที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากกว่าด้วยซ้ำไป
ความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย เกี่ยวโยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไร
เรื่องสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้องของประชาชน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ เวลาคุณทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายระบบนิเวศ ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ มันเกี่ยวข้องกับปากท้องของเขา การหาอยู่หากิน ทำให้เขายากจนลง และเราก็เห็นว่าสิ่งแวดล้อมที่พูดๆ กันมันไม่ได้เป็นอะไรที่อยู่โดดๆ แต่เป็นผลจากนโยบายที่ถูกผลักดันลงมาโดยกลไกของรัฐทั้งสิ้น
เวลาเราพูดถึงสิ่งแวดล้อม ถ้าเราจะเพียงแค่อยากเห็นภาพสวยงามโดยไม่คิดจะลงมือเปลี่ยนแปลง หรือสลักภาพเหล่านั้นไว้ในใจแล้วก็จบ แค่นั้นไม่ได้ มันต้องทำให้เห็นว่ามีใครบ้างอยู่เบื้องหลังในการกำหนดนโยบายทำลายสิ่งแวดล้อม เราอยากไปให้ถึงตรงนั้น อยากไปให้ถึงกลไกในเชิงนโยบายและโครงสร้างในการกำหนดควบคุมสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น เพื่อให้เห็นว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเมืองเชื่อมโยงกัน
กรณีกลุ่มดาวดิน โดยส่วนตัวได้สัมผัสคลุกคลีมากน้อยแค่ไหน เพราะเคลื่อนไหวเรื่องเหมืองแร่เหมือนกัน
เด็กพวกนี้ที่ถูกโจมตีว่ามีเบื้องหลัง จริงๆ ก็ไม่มีอะไรหรอก เต็มที่ก็มีพ่อแม่เขานั่นแหละที่อยู่เบื้องหลัง ส่วนระดับองค์กร ระดับบุคคลที่อยู่เบื้องหลังทางความคิด ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีตรงไหน ถ้าจะบอกว่าเบื้องหลังนักศึกษาพวกนี้คือใคร ก็อาจจะเป็นบุคคลในตำรา บุคคลในหนังสือที่เขาได้พร่ำเรียนเขียนอ่าน รวมทั้งได้เรียนรู้จากชาวบ้านในชีวิตจริง เขาก็เห็นถึงปัญหาที่ชาวบ้านเผชิญอยู่และได้เข้าไปร่วมคลุกคลี ผมคิดว่าประเด็นดาวดินก็มีอยู่เท่านี้ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ก็ในเมื่อรัฐบาลทหารเป็นคนให้สัมปทาน เขาจึงต้องต่อต้าน แล้วสื่อสารปัญหาชาวบ้านออกมาง่ายๆ แบบนี้
แต่อีกด้านก็มีกระบวนการดิสเครดิตดาวดินอยู่?
เรื่องนี้ไม่สะทกสะเทือนเท่าไหร่ อย่างที่เหมืองทองวังสะพุง จังหวัดเลย เขาก็มีการจัดตั้งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านออกมาคัดค้าน ประเด็นก็คือทหารกำลังปั่นหัวประชาชน คือยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว อาศัยสถานการณ์ที่ดาวดินเป็นกระแสสังคม โดยบอกว่าดาวดินมีเบื้องหลังแอบแฝง แล้วก็เอาประเด็นความมั่นคงมาเล่นงานดาวดิน เพื่อจะทำให้โครงสร้างข้าราชการระดับท้องถิ่นเกลียดพวกดาวดิน และอีกส่วนหนึ่งเขาก็ต้องการจะได้มวลชนไปสนับสนุนเหมืองทอง เพื่อจะเปิดเหมืองใหม่อีกครั้ง
ทำไมยุคนี้แร่จึงเป็นที่ต้องการมาก เห็นได้จากการที่รัฐพยายามหาวิธีที่จะขุดแร่ออกมาใช้ให้ได้
ก็มันหมดตูดแล้วนี่ รัฐบาลมันสิ้นเนื้อประดาตัวแล้ว GDP ก็ต่ำมากๆ สิ่งที่จะกระตุ้น GDP ได้ก็คือ การขายสัมปทานในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแร่ ซึ่งต้องเอามาใช้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานเต็มไปหมด รวมถึงปิโตรเลียมด้วย
ผมคิดว่าไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแต่ว่าอำนาจมันมากจนถึงขนาดว่าไม่ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการไหน ก็เลยทำให้การสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติง่ายขึ้น เพราะรัฐบาลก็ถังแตกแล้วตอนนี้ อันนี้ก็เป็นความท้าทายของเขาว่า การรัฐประหารจะไม่ทำให้เศรษฐกิจทรุดหรืออะไรทำนองนั้นใช่หรือไม่ แต่ตอนนี้มันก็ทรุดไปแล้ว ทรุดเสียจนการท่องเที่ยวก็หายหมด การกระตุ้นการลงทุนภาครัฐก็ยาก เพราะไม่มีเงินคงคลังเหลือ ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน หรือไม่ก็ขายสัมปทาน รวมถึงเรื่อง Mining Zone ถ้าทำได้จริง เขาก็คิดว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่จะส่งเสริมให้ GDP สูงขึ้นได้มาก โดยเฉพาะเหมืองทองคำที่จะสามารถกระตุ้นได้มากทีเดียว
วันที่คุณประกาศจุดยืนขณะไปรับรางวัลมูลนิธิโกมลคีมทอง อะไรคือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ต้องออกมาพูด
ผมรู้สึกอึดอัดกับความเป็น NGO ในประเทศไทย คือรับไม่ได้กับบางอย่าง สิ่งที่เราสมควรทำมากที่สุดคือ การทำให้ประชาชนที่เราทำงานด้วยมีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งในพื้นที่ทางการเมืองและสังคม แต่คุณกลับปิดกั้นไว้
อีกข้อคือ คุณเห็นแก่ตัวเพียงแค่จะผลักดันประเด็นปัญหาของตัวเองเข้าไปอยู่ในช่องทางพิเศษแบบนั้น โดยคุณละทิ้งประเด็นปัญหาอื่นๆ ทิ้งไปหมด ไม่ได้มองภาพรวมที่คนอื่นๆ ถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพอย่างไร มันถูกตอกย้ำอย่างน้อยก็สองครั้ง ไม่ว่า 2549 จนถึง 2557 จนรู้สึกทนไม่ไหวกับวัฒนธรรมแบบนี้ มันอึดอัด
สิ่งที่อยากเห็นมากๆ ก็คือ เราน่าจะต่อต้านรัฐประหารโดยเริ่มจากปัญหาของชาวบ้านได้ หรือยกระดับปัญหาชาวบ้านมาต่อต้านรัฐประหาร เพราะมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีตัวละครเดียวกัน กลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์ก็แทบจะซ้อนเป็นกลุ่มเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนหน้าเล่น ทำไมในรัฐบาลประชาธิปไตยเราถึงกล้าวิพากษ์วิจารณ์ แต่ทำไมรัฐบาลรัฐประหารเราถึงต้องสยบยอมกับสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหล่านั้น มันเกิดการพูดคุยกันหลายครั้งหลายหนเสียจนรู้สึกเหนื่อยและอึดอัด ก็เลยรู้สึกว่าไม่อยากทนอยู่ในวัฒนธรรมเดิมๆ อีกต่อไป
หมายเหตุ: ปรับปรุงจากคอลัมน์ Interview เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับที่ 88 เดือนกรกฎาคม 2558