ไม่นำพา: บทบันทึกช่วงเวลาดีที่สุดของ ทนายอานนท์ นำภา

“ผมสำรวจความคิดของผมแล้ว ผมยังเป็นผมอยู่” ไผ่พูด ใบหน้าไม่มีรอยยิ้ม ก่อนหน้าประโยคนี้สองชั่วโมง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นั่งในชุดสีน้ำตาล บนเก้าอี้จำเลย ผมสั้นเกรียน หนวดเพิ่งหมาดมีดโกน ใบหน้าของเขาซูบแต่ไม่เซียว เขายิ้ม ส่งยิ้มมาให้เหมือนเด็กถูกลงโทษแม้ไม่ได้ทำผิด แต่แอบยิ้มซนให้เพื่อน

บทที่ 1: ชีวิตครึ่งแรกของจำเลย

21 สิงหาคม 2560

18 ชั่วโมงก่อนหน้าที่ ไผ่-จตุภัทร์ จะพูดประโยคข้างต้น ทนายอู๊ด-วิบูลย์ บุญภัทรรักษา เล่ารายละเอียดการต่อสู้คดีของลูกชายให้พวกเราฟัง หลายเรื่องเล่าไม่ได้ บางเรื่องไม่ควรเล่า แต่บางประโยคสะท้อนตัวตนผู้พูดและลูกชายของเขาเหมือนเงาของแดด “ผมให้เขาตัดสินใจ” “สันดานแบบมัน ผมรู้มันไม่ยอม” “ผมถูกสร้างมาให้เป็นแบบนี้”

อานนท์ นำภา นั่งหมุนแก้วไวน์แดงข้างทนายอู๊ด เพื่อให้เนื้อไวน์สัมผัสอากาศและหายใจ สายตาเหม่อมองขาไวน์ที่เกาะผิวแก้ว ขาไวน์บนผิวแก้วเหมือนคราบน้ำตาบนใบหน้าของคนที่กำลังฟังเพลงเศร้า

14 ชั่วโมงก่อนที่จะมานั่งหมุนแก้วไวน์ในห้องอาหารของโรงแรมเมืองขอนแก่น อานนท์ นำภา เป็นทั้งจำเลยและทนายฝ่ายจำเลยที่ศาลทหารกรุงเทพฯ ในคดีฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 จากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ รำลึกถึงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ถูกขัดขวางโดยประชาชนในนาม กปปส. ก่อน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

หลังจากพยานฝ่ายโจทก์ไม่มาศาล เขานั่งรถแวนติดมิเตอร์ของ พันศักดิ์ ศรีเทพ หนึ่งในจำเลยคดีเดียวกัน มาขอนแก่น เพื่อเป็นทนายฝ่ายจำเลยในคดีที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) นัดสืบพยานคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร หมายเลขคดีดำที่ 61/2559 ไผ่-จตุภัทร์ เป็นจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ไผ่-จตุภัทร์ ให้การรับสารภาพในคดีที่ถูกอัยการจังหวัดขอนแก่น ยื่นฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เขาต้องโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน

เด็กหนุ่มเหลืออีกสี่คดี รอการตัดสิน

22 สิงหาคม 2560

ขอนแก่นกำลังตื่น ร้านอาหารเริ่มเปิดให้บริการ รถบนถนนกลางเมืองยังบางตา ใครบางคนสวมเสื้อยืดพิมพ์ข้อความ ‘เราคือประชาชนผู้ไม่มีเจ้าของ’ ข้อความนี้อ่านได้สองนัยยะ หนึ่ง-เขาคืออิสรชนผู้มีวิจารณญาณ ไม่ต้องพึ่งพาการชี้นำจากใคร สอง-เขาคือพลเมืองในประเทศที่ไม่เคยเหลียวแล ความยุติธรรมหมางเมินพวกเขา ใครหลายคนเดินทางมาขอนแก่นเพื่อให้กำลังใจ ไผ่-จตุภัทร์ ในศาลทหารบ่ายนี้

ชายคนหนึ่งผู้มาสังเกตการณ์การพิจารณาคดีในชั้นศาลเหมือนนักศึกษาเข้าเรียนวิชาที่ตนสนใจ เขาเคยฟังการพิจารณาคดีและการว่าความของทนายอานนท์ “คุณอานนท์ซักจนหมดจด แน่จริงๆ อานนท์”

ในห้องพักหมายเลข 532 อานนท์ นำภา กำลังเตรียมตัวเพื่อว่าความในคดีที่ ไผ่-จตุภัทร์ เป็นจำเลย อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า

“ผมรู้จักไผ่พร้อมกับดาวดิน” เขาเปิดหน้าต่างห้องพัก กระเป๋าเดินทางวางบนเตียง แฟ้มเอกสารสำหรับคดีความวางอยู่ข้างๆ

“แต่ต้องนับถือมันนะ…ไอ้ไผ่ ถ้าโดนขังแบบนั้นเราจะอยู่ได้หรือเปล่า เพราะเราอยู่สบาย นอนสบาย กินสบาย มีเสรีภาพ ลองบุหรี่ไหมครับ เป็นบุหรี่ที่ทำจากใบซิก้า ลูกความซื้อมาให้จากเชียงราย ผมไปทำคดี 112 ที่เชียงราย แต่ถ้าดูดบุหรี่รสเย็นจะไม่ค่อยชอบ ถ้าพื้นฐานคือกรองทิพย์ คุณจะชอบ”

14 กุมภาพันธ์ 2558

กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์เลือกตั้งที่ถูกประชาชนในนาม กปปส. ขัดขวาง ก่อนศาลตัดสินให้เป็นโมฆะ อานนท์บอกว่า “เป็นงานทางการเมือง” เขาไปกับจำเลยอีกสามคน และนักศึกษาอีกหลายคน แต่ “ถูกจับไปแค่สี่คน”

สองเดือนต่อมา พฤษภาคม 2558 นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเมืองขอนแก่น พวกเขาถือป้ายต่อต้านรัฐประหาร นั่งเรียงกันบนพื้น ปากก็ตะโกนถึงเหตุผลคัดค้านการรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ยืนล้อมรอบ แต่เด็กหนุ่มทั้งหมดไม่นำพาต่อความกลัว

หนึ่งในนั้นคือลูกความของ อานนท์ นำภา เขาชื่อ ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เด็กหนุ่มทั้งหมดตกเป็นจำเลย

ในช่วงเวลาเดียวกัน นักศึกษาในนามกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ จัดกิจกรรมรำลึกรัฐประหารที่บริเวณหอศิลป์ กทม. แน่นอนว่าพวกเขาโดนเจ้าหน้าที่ตั้งข้อกล่าวหา และดำเนินคดี

ห้องหมายเลข 532 

อานนท์ปล่อยควันบุหรี่ลอยออกนอกหน้าต่าง ลอยออกไปไกล

“ไม่กลัวบ้างเหรอ?”

“ไม่กลัว แต่ไม่อยากเสียอิสรภาพ ถามว่ากลัวไหม มันไม่ใช่ความกลัวที่ห้ามไม่ให้เราทำอะไร แต่แน่นอนเราไม่อยากสูญเสียมันไป ถึงวันหนึ่งถ้ามันต้องติดก็ต้องติด ติดก็หล่ออะ ไม่ได้ซับซ้อนเรื่องอุดมการณ์เหี้ยอะไรหรอก ติดแล้วมันหล่อ ถ้าไปคิดอะไรกับมันมากๆ มันทำให้เรากลัวนะ ก็ไปกันแบบนี้แหละ”

เขาหมายถึงติดคุก ความหล่อไม่ใช่เรื่องสากล ความหล่อคือชุดความรู้ที่ได้รับมาทั้งชีวิต เรียงต่อและถมทับกัน ผ่านการเลือกและไม่เลือก จนกลายเป็นรสนิยม ใช่ ความรู้และความหล่อคือรสนิยม

“ในเดือนแรกของการรัฐประหาร คนแม่งโดนจับกันฉิบหาย เรานัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยฯ จำได้ว่าเขาปิดรถไฟฟ้าไม่ให้จอดที่สถานีอนุสาวรีย์ชัยฯ คนไปเป็นพัน แล้วก็โดนจับกัน…คนก็กลัว ผมคุยกับพี่เหน่ง (พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ) ได้ข้อสรุปว่า เราจะทำพลเมืองโต้กลับ”

‘พลเมืองโต้กลับ’ เป็นกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น กินข้าวเฉยๆ ยืนเฉยๆ “เป็นกิจกรรมแบบนี้ ทำคลิปวิดีโอ ทำเพลงแปลง เราทำกิจกรรมให้คนไม่กลัวอำนาจทหาร ก็แบ่งกันทำ พอแบ่งกันทำก็โดนจับ พอโดนจับก็เกิดคดี นักศึกษาก็เริ่มซัพพอร์ต นักศึกษาเริ่มเคลื่อนไหว มันก็รวมๆ กันขึ้นมา เป็นขบวนที่ไม่ค่อยเป็นขบวน เราพยายามทำลายความกลัวในสังคมลง

“สักพักก็มีกลุ่มดาวดินโผล่ไปชูสามนิ้วต่อต้านประยุทธ์ การชูสามนิ้วของไผ่ เป็นซีนที่ปลุกคนขึ้นมาอีกซีนนะ หนึ่งปีของการรัฐประหารมันคือความล้มเหลว พลเมืองโต้กลับไปกินลาบถูกเจ้าหน้าที่ล้อม ก็แค่เป็นข่าวเล็กๆ แล้วก็จบ แต่การที่ไอ้ไผ่ลุกขึ้นมา ดาวดินทั้งกลุ่ม มันคือการจุดเทียนกลางสายลม”

19 พฤศจิกายน 2557

นักศึกษาชายห้าคน สวมเสื้อยืดสีดำ เสื้อดำแต่ละตัวสกรีนข้อความต่างกัน ดังนี้

เอา / ไม่ / ประ / หาร / รัฐ

แต่เมื่อนักศึกษาทั้งห้าคน ยืนเรียงกันในตำแหน่งที่ถูกต้อง ข้อความบนเสื้อจะอ่านได้ว่า: ‘ไม่เอารัฐประหาร’

พวกเขาถูกจับกุมหลังจากลักลอบแต่งกายด้วยเสื้อยืดดังกล่าว เดินไปชูสามนิ้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการต่อต้านรัฐประหาร พวกเขากระทำการซึ่งหน้า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ขณะมอบนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน บริเวณศาลากลาง จังหวัดขอนแก่น

รายชื่อนักศึกษาที่ถูกจับกุมในวันนั้น ได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, วสันต์ เสตสิทธิ์, เจตษฤษติ์ นามโคตร, พายุ บุญโสภณ และ วิชชากร อนุชน

รอยยิ้มข่มความหวาดหวั่นบางอย่างบนใบหน้าไผ่ขณะแข็งขืนร่างกายเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวในวันนั้น ค่อยผลิบานฉายชัดเป็นยิ้มเย้ยหยันและยิ้มไม่กลัวในเวลาต่อมา

กลุ่มดาวดินแนะนำตัวต่อสังคมวงกว้างด้วยการกระทำครั้งนั้น พวกเขาเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเผยแพร่ และให้ความรู้ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมก่อนหน้านั้นหลายปี กลุ่มดาวดินดำเนินการในรูปแบบอาสาสมัครและสานต่อกันแบบรุ่นสู่รุ่น ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

พวกเขาเป็นคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นต่อต้านรัฐประหารเมื่อปี 2557 การกระทำในวันนั้นส่งผลให้พวกเขาถูกนำตัวไป ‘ปรับทัศนคติ’ ตามศัพท์ของรัฐบาล ก่อนที่อะไรหลายๆ อย่างจะเลวร้ายยิ่งขึ้น

22 สิงหาคม 2560

“เป็นแบบนั้นแหละ” อานนท์ว่า “ถ้าให้ผมไปยืนชูสามนิ้วต่อหน้าประยุทธ์ ผมก็ไม่กล้านะ พวกนี้มันมีความห่าม ซึ่งจะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น อายุมากมันก็ไม่ค่อยห้าว มันคือเรื่องความกล้าและบ้าบิ่นที่จะออกมาทำ”

จากการเป็นทนายความ อานนท์พาตัวเองมาสู่การเป็นจำเลยเหมือนทนายสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ ในช่วงเวลานี้

“มันจำเป็น” อานนท์บอก “ช่วงนั้นไม่ค่อยมีผู้เล่น มี แต่น้อย เราไม่จำเป็นต้องเป็นทนาย 24 ชั่วโมงนี่หว่า โดยอุดมการณ์ของวิชาชีพ ทนายทำงานเรื่องความยุติธรรมอยู่แล้ว เมื่อเราเห็นอะไรที่ไม่ยุติธรรม เราก็ออกมาทำ เหมือนกับเป็นสื่อมวลชน เป็นนักเขียน เมื่อมีชุมนุมก็ต้องไป ถามว่าไปที่ชุมนุมในฐานะนักเขียนรึเปล่า มันก็ไม่เชิงใช่ไหม ก็ไปในฐานะพลเมืองด้วยใช่ไหม”

ราว 11.30 น. เขาลากกระเป๋าเดินทางไปขึ้นรถแวนสีเขียวคาดเหลือง รถแท็กซี่ของ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ที่นั่งข้างคนขับคือ พริ้ม บุญภัทรรักษา อีกไม่กี่นาทีเธอจะได้เจอกับลูกชาย

พูดไปไม่กี่ประโยค เธอก็ร้องไห้ ลูกชายติดคุก 2 ปี 6 เดือน เพราะแชร์ข่าวเหมือนคนอีกจำนวนกว่า 3,000 คน เหลือสี่คดี รอการตัดสิน

พูดไปก็ร้องไห้ไป “ไม่ได้อยู่กับลูกนาน ไม่รู้ไผ่มันชอบกินอะไร” เธอว่า ขณะรถกำลังเลี้ยวเข้าไปจอดหน้าร้านกาแฟ

“กาแฟเย็นสิ คนมันกำลังร้อน” พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ แนะนำ

“ถ้าจะให้ดี เอาแก้วกาแฟใส่เบียร์เย็นๆ ถ้ามันจะชอบกินอะไรก็คงเป็นเบียร์นี่แหละ” ทนายอานนท์เผยลักษณะนิสัยลูกชายให้แม่ของเขาฟัง

เธออาจยิ้มได้บ้าง

เมื่อเรามาถึงค่ายศรีพัชรินทร์ ตามกฎแล้ว เจ้าของรถจะต้องแลกบัตรไว้กับเจ้าหน้าที่ที่ประตูทางเข้า แต่วันนี้ทุกคนที่เดินทางเข้าไปในค่าย จะต้องแลกบัตรประจำตัวประชาชนไว้กับเจ้าหน้าที่…ทุกคน ไม่มีเว้น

อานนท์หอบชุดครุยสีดำและแฟ้มเอกสาร เดินไปเตรียมตัวที่ม้าหินอ่อนด้านข้างศาล ก่อนที่รถคันหนึ่งจะถอยหลังแล่นเข้ามา

“ให้ผมทักทายลูกผมก่อน” ทนายอู๊ดตวาดเสียงแข็ง มือไม้ก็ป้องปรามไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าใกล้ “ให้ผมทักทายลูกผมก่อน” เจ้าหน้าที่ปล่อยให้พ่อแม่ลูกโผกอดกัน สายตาคนเป็นพ่อกร้าวแข็งพุ่งตรงไปยังเจ้าหน้าที่รอบกาย แสงแดดร้อนหน้าศาลทหาร และไม่ควรจ้องมองนาน ไม่ว่าดวงอาทิตย์หรือภาพพ่อแม่ลูกยืนกอดกัน

ไผ่-จตุภัทร์ ถูกนำตัวไปที่ห้องขังก่อนการพิจารณาคดีจะเริ่ม เพื่อให้ญาติหรือผู้ต้องการเยี่ยมได้เข้าเยี่ยม กลุ่มละห้าคนต่อห้านาที ห้องที่ควบคุมตัวเขาอยู่ในห้องที่มีหน้าต่างเปิดออกสู่ด้านนอก ถ้าเรามองจากช่องหน้าต่างด้านนอกอาคาร จะเห็นเขายืนอยู่ในห้องขัง พูดคุยกับผู้มาให้กำลังใจทีละกลุ่ม ผมชะเง้อมองเขาจากจุดนี้ และเหลียวไปเห็นแก้วใส นักดนตรีแห่งวงสามัญชน เพื่อนยืนชะเง้อมองเพื่อนในห้องขัง นาทีหนึ่ง ไผ่-จตุภัทร์ ยกแก้วกาแฟเย็นที่แม่ของเขาเพิ่งซื้อให้ขึ้นจิบ ก่อนจะผละสายตามาเห็นแก้วใสที่ยืนด้านนอกอาคาร “เฮ้ย” ไผ่ทักเพื่อนเหมือนบังเอิญเจอกันในมหาวิทยาลัย ร้านถ่ายเอกสาร ห้องสมุด หรือแม้แต่ร้านเหล้า

แก้วใส มองเพื่อนไม่วางตา เขาไม่ได้ร้องทักเพื่อนกลับ – เพียงมอง

ประโยคในเพลงที่เขาแต่งร่วมกับเพื่อนลอยมาจากไหนไม่รู้ “กี่ลมฝันที่พัดละอองโปรยอ่อนมาในกรงขัง” ลมเย็นไม่รู้ชื่อลูบทั้งตัวแม้อากาศร้อน

“ผมสำรวจความคิดของผมแล้ว ผมยังเป็นผมอยู่” ไผ่พูด ใบหน้าไม่มีรอยยิ้ม ก่อนหน้าประโยคนี้สองชั่วโมง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นั่งในชุดสีน้ำตาล บนเก้าอี้จำเลย ผมสั้นเกรียน หนวดเพิ่งหมาดมีดโกน ใบหน้าของเขาซูบแต่ไม่เซียว

สองชั่วโมงต่อมา เขากลับขึ้นไปนั่งในรถคันเดิม ก่อนขึ้นไป ผมแน่ใจว่าเขาได้กอดคนที่รักครบทุกคน

บทที่ 2: ชีวิตครึ่งหลังของทนาย

“หน้าที่เราคือทำให้ศาล ศาลในที่นี้หมายถึงสังคมด้วยนะ ทำให้สังคมเห็นว่า เรื่องนี้ไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่ยุติธรรม” อานนท์อธิบายถึงบทบาทหน้าที่ของเขาในชุดครุยสีดำ

“ในเกมการแข่งฟุตบอล ถ้าคุณโดนมัดเท้า จำต้องเขย่งๆ ไปเตะลูกบอล แล้วคุณแพ้ 1-0 คุณคิดว่าคุณแพ้หรือเปล่า ถ้าสังคมเห็นว่าเกมนี้คุณโดนทุกอย่าง แต่สุดท้ายแพ้ นั่นก็คือคุณชนะ ไผ่มันโดนทุกเม็ด ถ้าเราทำให้สังคมเห็นว่าไผ่ถูกรังแก พวกเขาก็แพ้แล้ว”

ตั้งแต่เป็นทนายว่าความมาจนวันนี้ บรรยากาศของสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรมต่างกันไหม

ทัศนคติของศาลสำคัญ ห้วงเวลาในการตัดสินสำคัญ ปี 53 คดีชุมนุมทางการเมือง ศาลตัดสินจำคุกหมดเลย ขังเหมือนขู่ ไม่ให้พวกเสื้อแดงไปชุมนุม แต่หลังจากนั้นหลายคดีก็รอลงอาญา บางคดีศาลยก อย่างคดีสมบัติ (บุญงามอนงค์) ชุมนุมการเมือง ศาลยกบอกว่าเป็นเสรีภาพการชุมนุม มันอยู่ที่ห้วงเวลาการตัดสินด้วย จะเห็นได้ว่าก่อนและหลังวันที่ 13 ตุลาคม คดี 112 มีเยอะมาก แต่ตอนนี้คลี่คลายลง

เป็นทนายความว่าความในคดีหลายคดี ทั้งยังเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นจำเลยเสียเอง ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะไหม

สุขภาพแย่ลง ไขมันพอกตับ กินเหล้าเยอะ ไม่ค่อยออกกำลังกาย หลังๆ พยายามไปวิ่งไปเดิน สุขภาพกายลดลง เหนื่อยง่าย แต่สิ่งที่ดีขึ้นคือทักษะในวิชาชีพ ถ้าว่าความ 10 ปียังเท่าเดิมก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว ไม่ได้ถึงขนาดว่าเก่ง แต่พอไปได้ อันนี้ถ่อมตัวหน่อย ข้อดีคือ เราเข้าใจในสิ่งที่เราทำ เพราะเราพูดได้เต็มปาก เราเชื่อเรื่องนี้จริงๆ เราต่อต้านรัฐประหาร มันทำให้เราเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำมากขึ้น คดีพลเมืองโต้กลับเหมือนกัน พอเราเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ เราไม่กลัว

ผมมีคดีในมือเป็นสิบ มันกลายเป็นงานประจำไปแล้ว เป็นรายได้ถ้าพูดในแง่ธุรกิจ เวลาขึ้นศาลก็มีเบี้ยเลี้ยง ผมไม่มีเงินเดือน งานประจำของผมก็คือฟรีแลนซ์ ผมไปว่าความคดีไอ้ไผ่ ผมได้ 2,000 กินเบียร์ไป 2,700 ผมไม่มีเงินเก็บ ไม่มีทรัพย์สิน ไม่มีอะไรเลย ใช้ชีวิตปกติ ไม่เดือดร้อน เป็นความสุขของชีวิต เรื่องเงินเป็นเรื่องรอง อยู่ได้ แต่ไม่ได้ร่ำรวย

คดีหลักๆ คือคดีการเมือง โชคดีเหมือนเราทำงานการเมืองไปด้วยแล้วเราก็ดำรงชีพได้ด้วย หลายคนมีงานประจำ จึงไม่สะดวกและไม่มีเวลามาทำงานการเมือง แต่เรามีอาชีพทนายและทำงานการเมืองด้วย

คุณมองว่าตัวเองโชคดี?

โชคดี เหมือนนักร้องที่ได้ร้องเพลงที่เขารักและได้เงินดำรงชีพด้วย

เป็นชีวิตช่วงหนึ่งที่สนุกดี ผมใช้ชีวิตแบบนี้มา 10 ปีแล้ว ตั้งแต่เรียนจบก็เริ่มทำคดีเกี่ยวกับชาวบ้าน พอทำบ่อยๆ มันกลายเป็นทักษะ ไม่ได้รู้สึกว่ายาก ช่วงทำงานใหม่ๆ เราก็ทำคดีชุมนุมทางสิทธิของชุมชน ปกป้องสิ่งแวดล้อมของชุมชน พอปี 53 เราก็ทำคดีชุมนุม ปี 57 ก็คดีชุมนุม คดีไอ้ไผ่วันนี้ก็คดีชุมนุม

เคสไหนที่คุณรู้สึกเหมือนหมอรู้สึกผิดที่น่าจะรักษาคนไข้ได้ดีกว่านี้

หลายคนหลายเคส มันเป็นเรื่องเสียดายมากกว่า ช่วงปี 53 คดีเยอะแต่ทนายน้อย ผมบอกตัวเองเสมอว่า ตอนนั้นประสบการณ์ไม่เหมือนตอนนี้ ถ้าอานนท์ปี 60 กลับไปทำปี 53 ใหม่ ผมคิดว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเยอะ ผมจบกฎหมายปี 49 ได้ใบอนุญาตปี 51 ปี 53 ผมว่าความคดีใหญ่ๆ มีทั้งความเสียดายและโทษตัวเองระดับหนึ่งว่า ถ้าเรามีประสบการณ์มากกว่านี้ หลายเรื่องน่าจะทำได้ดีกว่านี้ แต่ในความไม่มีประสบการณ์มันก็มีความสดความกล้าความบ้าบิ่นทดแทน ซึ่งตอนนี้ถ้าให้กลับไปทำ ก็ไม่กล้าแล้ว

อย่างคดีอากงที่เสียชีวิตในเรือนจำก็เป็นเคสที่เสียใจ เพราะอีกนิดเดียวแกก็ได้ออกแล้ว แกเสียชีวิตเดือนพฤษภาคม

วันที่ผมฟังคำพิพากษาคดี หนุ่ม เรดนนท์ ตัดสินวันเดียวกับอีกคดีที่ผมต้องไปว่าความ เป็นคดีชาวบ้าน ในขณะที่เราต้องว่าความคดีชาวบ้าน ถ้าเราพลาดเขาจะถูกจำคุกตลอดชีวิต เราต้องบอกตัวเองให้มีสมาธิกับการว่าความ แล้วมันทำได้ดีด้วย เหมือนหมอ ถ้าคุณรักษาคนไข้แล้วเขาตาย คุณก็ต้องเดินไปอีกห้องเพื่อทำคลอดให้คนอีกห้องหนึ่ง มันต้องคิดแบบนั้น แต่มันเฮิร์ท คนติดคุก 10 ปี คนเป็นหมอน่าจะรู้สึกผิดอยู่แล้วเวลารักษาคนไข้ไว้ไม่ได้ แต่มันต้องไปต่อ ผมก็ไปต่อ

ถ้าเอาอานนท์ปี 53 มาทำคดีปี 60 ก็ไม่ดีเหมือนตอนนี้

อานนท์ตอนปี 53 เป็นคนแบบไหน

มันเป็นวีรชนเอกชน ถ้าให้วิจารณ์ตัวเองคือแม่งมันหล่อ อารมณ์แบบจะทำอะไรที่มันหล่อๆ รับคดีเกินตัว มีความเป็นวีรชนเอกชนสูงมาก ตอนนี้ก็ยังมีอยู่ ผมพยายามลด แต่บางเรื่องก็ต้องมีความเป็นวีรชนเอกชน หลังรัฐประหารปี 2557 ผมโดนจับ และมีคนโดนจับจำนวนมาก ผมประกาศระดมทุนช่วยประกันตัว อันนี้แม่งวีรชนเอกชน เพราะทำในนามอานนท์ ประกาศรับเงินช่วยประกันตัว แต่มีคนเชื่อมั่นในเราเยอะ มีคนโอนเข้ามาเยอะ ตอนนี้เงินวางในศาล 3-4 ล้าน เป็นเงินบริจาค คนบริจาคเข้ามาคนละ 100-200 มากสุด 1,000 บาท เป็นเงินไม่เยอะ แต่มันรวมได้ 3-4 ล้าน กลายเป็นว่าเราเป็นวีรชนเอกชน อย่างที่ผมบอกแต่ครั้งก่อน มันหล่อ ทำแล้วรู้สึกดี แต่เราต้องระวังเรื่องพวกนี้

ก็เป็นที่รู้กันว่า ถ้าไม่มีเงินประกันก็มาหาอานนท์ ให้อานนท์ช่วยระดมให้ ซึ่งก็เป็นอะไรที่ค้ำคออยู่เหมือนกัน ผมจะไปหาเงินมาจากไหน บางคดี 5-6 แสนบาท เราไม่รู้จะหายังไง แต่โชคดีที่หลายคนไว้ใจผม

เคยคำนวณไหมว่า เงินที่จ่ายประกันตัวไป ทั้งหมดยอดเท่าไหร่

สามล้านกว่าบาท ก็ร่วมกันทำกับเพื่อน ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา และ วีรนันท์ ฮวดศรี เราร่วมกันทำ เพราะสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังเรื่องเงินคือต้องโปร่งใส อย่าไปทำคนเดียว โอนเข้าบัญชีผมคนเดียว กินเบียร์ก็หมดแล้ว แทงแมนฯ ยูฯ ก็หมดแล้ว แต่เราใช้วิธีสามคนรับรู้ร่วมกัน บอกให้สาธารณะรับรู้ร่วมกัน คุยกันอยู่ว่า ถ้าคดีการเมืองจบ เราจะตั้งเป็นกองทุนไว้ประกันตัวให้กับนักเคลื่อนไหวหรือนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพหรือชาวบ้านที่ต่อสู้เรื่องเสรีภาพ ไม่มีเงินประกันก็มาใช้กองทุนนี้ เงินจำนวนนี้อาจให้สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนดูแล เราก็ถอยออกมา เราก็หล่อแล้วไง เราก็วางมือ เป็นจอมยุทธ์ที่ล้างมือในอ่างทองคำ คิดกันไว้แบบนี้นะ

คดีแบบไหนท้าทายคุณ

คดีการเมืองท้าทาย แต่มันยาก ผมไม่ใช่คนอ่านหนังสือเยอะ อย่างคดี 112 ที่ทำให้ สิรภพ ตอนนี้ เขาโพสต์เรื่องกบฏบวรเดช เราก็ต้องไปค้นไปอ่านเรื่องกบฏบวรเดช ว่าโพสต์นี้มันเกี่ยวอะไร แต่สิ่งที่ท้าทายคือการต่อสู้กับทัศนคติของคนในกระบวนการยุติธรรม

จริงๆ ผมคิดว่าชีวิตผมก็หล่อนะ แต่สาวไม่มอง

นี่อำหรือเรื่องจริง?

เรื่องจริง มันมีพวกป้าๆ มาแซว แต่สาวจริงๆ ไม่มีเลยนะ เราอยากได้ฉิบหาย แต่ไม่มี ยิ่งช่วงปี 56-57 ผมอกหัก คบมาตั้งแต่เรียนรามฯ เลิกกันปี 53 แล้วมาชอบผู้หญิงอีกคนปี 55-56 ก็อกหัก ชอบใครก็อกหัก

ถ้าคุณชอบเขา แต่เขาชอบรัฐประหาร เป็นอุปสรรคกับความรักไหม

ไม่ๆ เราจัดการได้

มันเป็นชีวิตครึ่งหลังแล้ว เราไม่ได้มีชีวิตเพื่อสร้างตัว เราผ่านช่วงนั้นมาแล้ว ตอนนี้เป็นชีวิตครึ่งหลังแล้ว ไม่ใช่เรื่องคนหนุ่มสร้างตัวแต่งงาน ผมคิดอีกแบบเลย ผมไม่คิดเก็บเงินแต่งงาน แต่เป็นชีวิตครึ่งหลังที่ต้องทำอะไรบางอย่าง ชีวิตครึ่งหลังผมอาจเป็นเรื่องศิลปะ คดีความที่อยากทำก็เป็นคดีชาวบ้าน ชีวิตผ่านช่วงตั้งหลักมาแล้ว ผมไม่มีทรัพย์สิน คิดดู รถไม่มี บ้านไม่มี

อะไรคือสิ่งฟุ่มเฟือยในชีวิต

อันดับหนึ่งคือเบียร์ อันดับสอง ผมซื้อหวย ผมอยากรวยเหมือนกันแหละ หมดกับอบายมุข ยกเว้นอย่างเดียวไม่เที่ยวผู้หญิง

เวลาเราไปกินกับเพื่อนๆ พี่ๆ ที่มีรายจ่ายเยอะ เราก็ช่วยแชร์ ไปกินกับนักศึกษาไม่ต้องพูดเลย เราต้องเลี้ยงเขา ไปกินกับพวกนักศึกษาทำกิจกรรมกินลาบโต๊ะหนึ่ง 2,000 ออกมาบางที 3,500 ผมก็ต้องสะกิดพี่เหน่ง มันเปลืองนะ ทำกิจกรรม

ผมเคยทำคดีลูกชายให้แก ผมไปฟ้องคดีแพ่งให้ แกเป็นคนกวนตีน ไม่ค่อยมีใครชอบแกหรอก ผมก็ไม่ค่อยชอบ แต่มันเป็นคนตรงๆ ไม่ซับซ้อน ก็ทำคดีให้แก เคลื่อนไหวกับแก เป็นจำเลยร่วมกัน เสร็จจากจำเลย ก็นั่งรถไปขอนแก่น ถึงร้านชำก็ซื้อเบียร์นั่งกินกันไป ชีวิตแกกับผมเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือแกอยู่ในชีวิตครึ่งหลังแล้ว ลูกแกตาย แกไม่เหลืออะไรแล้ว ชีวิตก็เหลือแค่นี้อยู่สองคนกับเมีย ชีวิตครึ่งหลังของแกคงถวายชีวิตให้เรื่องนี้ ทหารยิงลูกแกตายน่ะ

แต่คุณเพิ่งจะ 30 ต้นๆ

ในทางสังคม ผมว่าเราพอแล้ว เป็นกำไรชีวิตแล้ว มันก็ย้อนกลับไปเป็นเด็กชายอานนท์ เป็นลูกชาวนา ไต่เต้ามาเป็นประธานนักเรียนโรงเรียนประจำจังหวัด เข้าธรรมศาสตร์ ซิ่วออกมาเรียนรามฯ เป็นทนาย ไม่รู้ดังหรือเปล่า แต่ก็เป็นเซเลบ ชีวิตครึ่งหลังคือ…เอาดิ ยิ่งทหารจับผมเข้าคุกตอนนี้นะ ยิ่งเป็นชีวิตครึ่งหลังที่บันเทิง ยิ่งหล่อ คุณว่าจะหล่อไหม

ถ้าเล่นบอล คุณจะเล่นตำแหน่งอะไร

ตัวยิง ผมต้องเป็นตัวจบเกม

คุณเติบโตมาในครอบครัวแบบไหน

ผมเป็นลูกชาวนา จำความได้ก็ทำนา ทำมาถึงช่วง ม.ต้น ตอนนี้ก็ยังทำอยู่ แต่เทคโนโลยีเปลี่ยน เป็นลูกชาวนาธรรมดา แต่เป็นคนเรียนเก่งตั้งแต่ประถม พอไปเรียนโรงเรียนประจำจังหวัด มีปมด้อยเลย เพื่อนครึ่งห้องเป็นลูกครู อีกครึ่งหนึ่งเป็นลูกคหบดีในร้อยเอ็ด

ผมเป็นคนโรแมนติก ผมชอบทำนา การที่เราได้เดินผ่านทุ่งนามันโรแมนติก เราไม่รู้สึกข้นแค้นมาก แต่มันก็ข้นแค้นตอนไปขายข้าว แต่ไม่ใช่เรื่องลำบากที่ต้องไปอาย

พอ ม.ปลาย ก็มาอยู่ห้องท้าย มีเพื่อนกลุ่มเกเร นักเลง ซึ่งสนุก ก็ไม่มีใครกล้ามาตีเรา เพราะเรามีเพื่อนเป็นนักเลง เลิกเรียนไปเล่นปั่นแปะ เขย่าไฮโล ผมก็ไปเป็นเจ้ามือ ตอน ม.5 เราก็ไปตอบปัญหากฎหมายแข่งกับโรงเรียนอื่น เป็นตัวแทนมาประชุมกรุงเทพฯ เป็นยุวชนประชาธิปไตย เราสนใจกฎหมาย ผมก็ซื้อหนังสือประมวลกฎหมายมาอ่านเล่นตอน ม.5 มันสนุก ไปตอบกฎหมายเราก็ชนะ เราก็รู้ว่าเราอยากเรียนอะไร ม.6 สมัครประธานนักเรียนก็ได้เป็นประธานนักเรียน บทบาทประธานนักเรียนก็ทำให้เรามีภาวะผู้นำขึ้นมาโดยปริยาย การพูดต่อหน้าคนเยอะๆ ทำให้เรากล้าพูด นำมาสู่ว่าทำไมเราสนใจเรื่องพวกนี้

การกล้าทำอะไรบางอย่างมันทำให้ผมประทับใจ ผมรู้สึกประทับใจการต่อต้านสิ่งไม่ยุติธรรม ผมจำได้เลยว่าตอนนั้นอายุ 4-5 ขวบ ที่นาของคุณตาจะมีคลองดิน เขาหาปูหาปลา มีต้นไม้ริมคลอง ตอนนั้นมีโครงการพัฒนาลงมา ผู้ใหญ่บ้านจะถมคลองนี้เพื่อทำชลประทานคลองปูน ผมจำได้ว่าตาผมนี่แหละ ถือสมุดไปให้ชาวบ้านลงชื่อ ไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ เพื่อบอกว่ามีคนไม่เห็นด้วย ตอนนั้นผมเป็นคนถือสมุด แล้วเดินตาม มันเท่ มันเป็นมุมเล็กๆ ที่สอนเราว่า อะไรที่ไม่ถูกต้องเราสามารถลุกขึ้นมาส่งเสียงได้ ตอนประถมอาจารย์ลงคะแนนผิด ผมทักท้วงเลย มันค่อยๆ ก่อเราขึ้นมา

ปี 49 คุณเรียนจบ แล้วฝึกทนายคดีแบบไหน

ทำคดีชาวบ้าน บ่อนอก บ้านกรูด ทำหนักหน่วง คดีมันเยอะ เป็นคดีอาญา เราสนใจการเป็นทนาย เราไม่วอกแวก เราจะไม่สอบเป็นอัยการหรือผู้พิพากษา มันมุ่งมั่น เราไปด้วยความตั้งใจ จดจำเทคนิควิธีการว่าความของรุ่นพี่ ลูกล่อลูกชน ต่างกับทนายใหม่ที่ว่าความเก็บคดีเพื่อไปสอบอัยการผู้พิพากษา เราไม่ใช่ ผมไม่เก็บคดีเลย ไม่เอาใบรับรองให้ผู้พิพากษาเซ็นว่าเราผ่านคดี ไม่มีเลย ทำแล้วทำเลย จริงจัง มันทำให้เรามีความสุขกับการว่าความ

แต่การไต่ขึ้นไปเป็นอัยการ เป็นผู้พิพากษา ยกระดับรายได้และสถานะของเราไม่ใช่เหรอ

ใช่ อัพสถานะทางสังคมด้วย แต่ผู้พิพากษาไม่ใช่พระเอก คุณรู้สึกเหมือนกันไหม มันไม่หล่อนะ นั่งอยู่ข้างบน นี่เหตุผลเดียวเลย มันไม่หล่อ ก็ว่าความคดีชาวบ้านตลอด ชาวบ้านก็ชอบ ผมเป็นคนตลกและชอบกวนพยาน ชาวบ้านก็ชอบ บางครั้งชาวบ้านเผลอปรบมือ ศาลด่า คดีส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีคนเข้าไปฟังหรอก ก็มีอัยการ ผู้พิพากษา จำเลย แต่คดีมวลชนคนเต็มห้อง บางคดีนั่งพื้น ทำให้เราสนุกในการทำงาน ว่าความเสร็จชาวบ้านเอากับข้าวมาเลี้ยงมากินกัน รุ่นพี่ก็สอนว่า เราต้องสรุปคดีให้ชาวบ้านฟังนะ ก็ฝึกการเป็นสปีกเกอร์ให้เราด้วย

ผมไม่ได้คิดว่าผมมีอุดมการณ์อะไร โดยรวมๆ ผมคิดว่ามันหล่อมันเท่ผมเลยทำ ตอนว่าความผมรู้สึกหล่อ ผมเป็นพระเอกคนเดียวในห้อง เป็นพระเอกจริงๆ นะ ศาลกับอัยการไม่ใช่พระเอก แต่พระเอกคือคนเดินเรื่อง มันคือเรา ก่อนว่าความผมหน้ามืดจะเป็นลมต้องดมยาดม มันเครียด แต่พอเราลุกขึ้นยืนในเวทีนั้น สวมชุดครุยเข้าไป ความมั่นใจไม่รู้มาจากไหน เหมือน โน้ต-อุดม แต่เราต้องเอาพยานให้อยู่

ว่าความในศาลคดีการเมือง ปะทะตรงๆ กับฝ่ายตรงข้าม ทั้งในฐานะทนายและนักกิจกรรม คุณคิดว่าฝ่ายตรงข้ามเขามองคุณเป็นคนแบบไหน

เขามองว่าผมเป็นคนต้านรัฐประหาร เขามองว่าเราไม่ใช่คนที่รับผลประโยชน์ เขารู้ เราค่อนข้างที่จะแหลม เราปะทะตรง ล่าสุดผมขอให้ศาลเปิดเผยชื่อผู้พิพากษาในศาลทหาร เราวิพากษ์วิจารณ์ทหารวิพากษ์ความยุติธรรม ถ้าวันหนึ่งเรารู้ว่าเขาจะเล่นเรา แล้วเราก๊อกแก๊ก มันเหมือนเรากลัวไง เราต้อง… เคยเล่นไพ่เกไหม เราก็ต้องยันเชือกขู่กัน

ไพ่ในมือคุณใหญ่แค่ไหน

ไพ่ไม่ต้องใหญ่ก็ชนะ คุณไพ่ 3 แต้มก็ได้กินไพ่ 8 แต้ม ถ้าใจถึง แล้วทำให้เขารู้สึกว่าเรามีไพ่ตองหรือ 3 เหลือง

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Photographer

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า