สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 เมื่อนักการเมืองรุ่นเก๋าอย่าง พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เอ่ยปากตำหนินักเคลื่อนไหวที่บุกเข้าไปในพื้นที่ทำการของพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงกลุ่มผู้ปราศรัยที่ออกมาชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งยังกล่าวถึงนักกิจกรรมรุ่นเยาว์อย่าง ‘หยก’ ถึงขนาดมีคำพูดออกมาว่า “ถ้าเป็นลูกผม ผมฆ่าทิ้งเลย เด็กแบบนี้เอาไว้ได้ที่ไหน ถ้าเป็นลูกผม ผมไม่เอาหรอก”
คำพูดนี้ได้กลายมาเป็นประเด็นใหญ่ในโลกออนไลน์ มีผู้วิจารณ์จำนวนมากถึงความเหมาะสมในการวางตัวของนักการเมืองดัง ทั้งในฐานะตัวแทนประชาชน และในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่ง
ผู้คนจำนวนมากเห็นแย้งกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานโดยที่ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากภาครัฐ ไม่เช่นนั้นก็ไม่นับว่าเป็นบรรยากาศของประชาธิปไตย รวมไปถึงสิทธิในการเรียกร้องกับพรรคการเมือง การจัดกิจกรรมที่อาจดูน่ากลัวไปบ้างอย่างการสาดสี เผาหุ่นในที่ทำการพรรคเพื่อไทย อันเป็นสถาบันการเมืองที่มีที่มายึดโยงกับเสียงของประชาชน ควรนับว่าเป็นการเรียกร้องในรูปแบบสันติวิธี เนื่องจากไม่ได้ทำให้ใครบาดเจ็บ และหากมันดูมีความน่ากลัวโหดร้ายไปบ้าง ก็ย่อมเป็นเจตจำนงในการแสดงออกของผู้เรียกร้องเพื่อให้ผู้ถูกเรียกร้อง ในที่นี่คือผู้มีอำนาจ ได้รับรู้ถึงความโกรธของผู้คน ไม่ใช่เรื่องที่นักการเมืองจะมาห้ามได้
“ถ้าเป็นลูกผม ผมฆ่าไปแล้ว” สังคมถาม พูดแบบนี้ดีแล้วเหรอ
ถึงอย่างไร ประเด็นเหล่านี้ดูจะเป็นเรื่องเล็กไปเลย เมื่อสังเกตกระแสของสื่อสังคมออนไลน์ที่ไปสะดุดเข้ากับประโยคอันดุเดือดของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เมื่อกล่าวถึงนักกิจกรรมรุ่นเยาว์อย่าง ‘หยก’ ที่อายุเพียงราว 15 ปี โดยใช้คำพูดที่มีคำว่า ‘ฆ่า’ อยู่ในนั้น
สิ่งนี้สร้างแรงสะเทือนให้กับสังคม และเกิดเป็นประเด็นยิบย่อยให้เราถอดความออกมา
ประเด็นที่ 1 นี่เป็นเรื่องที่ไม่ควรถือเป็นเรื่องปกติหรือไม่ เมื่อนักการเมือง โดยเฉพาะผู้มีอำนาจที่อยู่ในแวดวงการเมืองมายาวนานอย่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้กล่าวถึงประชาชน โดยใช้คำว่า ‘ฆ่า’ เข้ามาอยู่ในบทสนทนา เราแทบไม่เคยเห็นพฤติกรรมเช่นนี้จากนักการเมืองที่ควรถือว่าตัวเองได้อำนาจมาจากประชาชน และไม่พึงหวังว่าจะได้เห็นพฤติกรรมลักษณะนี้เลยด้วยรึเปล่า ซ้ำร้ายเมื่อประชาชนที่ว่านั้น เป็นเพียงเด็กอายุใกล้ 15 ย่างสู่ความเป็นเยาวชน
ประเด็นที่ 2 เราจะไม่ลงรายละเอียดถึงการตีความนิยามของคำว่า hate speech เพื่อไม่แตกเป็นประเด็นย่อยไปกว่านี้ แต่ไม่ว่าสิ่งนี้จะเรียกว่าเป็น hate speech หรือไม่ สิ่งที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ พูดนั้น เชื่อว่าเป็นใครที่ได้ยิน ย่อมตั้งคำถามได้โดยง่ายว่า นั่นนับเป็นคำขู่คุกคามหรือไม่ และเพราะอะไรจึงตัดสินใจพูดคำนี้ออกมา สิ่งที่เด็กหญิงหยกทำ เป็นเรื่องที่เลวร้ายมากถึงขนาดมองว่า ความตายเป็นสิ่งสมควรแก่การกระทำของเขาเชียวหรือ
ประเด็นย่อยต่อมาคือ หากคำพูดนี้เข้าข่ายข่มขู่คุกคาม ย่อมมีความผิดทางอาญาตามมา อย่างมาตรา 392 แห่งประมวลกฎหมายอาญา “ผู้ใดทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือความตกใจ โดยการขู่เข็ญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ประเด็นที่ 3 บางความเห็นอาจมองว่า เพราะ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อาจมองเด็กหญิงหยกในฐานะเสมือนพ่อและลูก เนื่องด้วยวัยวุฒิที่เข้าเค้า และจึงตีความไปว่า เป็นวิถีการสอนสั่งลูกของตนตามแบบฉบับอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งย่อมมีความเคร่งครัด ดุดัน ลักษณะนี้ แต่ไม่ใช่เจตนาร้ายหรอก
ถึงเช่นนั้น ก็ดูเหมือนเราคงจะต้องกลับมาตั้งคำถามถึงวิธีคิดที่ดูเหมือนมาจากยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ว่าอะไรทำให้พวกเขาคิดว่า วิธีคิดเช่นนี้ดีแล้ว เป็นสากลแล้ว หรือเป็นวิธีคิดที่สังคมควรเจริญรอยตาม ท่านเชื่อว่าผู้เป็นพ่อมีสิทธิเหนือชีวิตของลูกเช่นนั้นหรือ
การถือสิทธิความเป็น ‘เจ้าชีวิต’ ของพ่อที่มีต่อลูก ดูเป็นความคิดที่น่ากลัวและอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเหตุปัจจัยสำคัญก็คือ ความต่างเชิงอำนาจ (power dynamic) ผู้เป็นพ่อทั้งมีพละกำลังที่เหนือกว่า มีอำนาจ และเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่า การตั้งองศาความคิดบนหลักเช่นนี้ อาจนำไปสู่การหาผลประโยชน์จากความเหนือกว่าทางอำนาจที่มีต่อลูก จนถึงเห็นลูกเป็นแรงงานทาสก็ได้ และมันเคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
สังคมควรรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร
ต่อมาในวันเดียวกัน กลุ่มทะลุวังก็มีปฏิกิริยาตอบโต้ ด้วยการโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์ว่า “ถือว่าพวกกูลั่นวาจาแล้ว มึง ‘เสือก’ มึงล้ำเส้น ข่มขู่เด็กอายุ 15 ปี กูไม่ปล่อยให้มึงเห่าได้อีกนานแน่นอน ไม่ต้องสงสารคุณแม่ของหยกหรอก สงสารลูกสาว 2 คนของมึงเถอะ ที่มีพ่อเฮงซวยแบบนี้” และ “ก่อนหน้านี้พวกกูไม่เคยคิดไปพรรคมึง เพราะมึงมันไร้ค่า เกินกว่าที่พวกกูจะลดตัวลงไปเล่นด้วย แต่ต่อจากนี้ไป ถ้าพวกกูเจอมึงที่ไหน กูจะเอาขี้ละเลงยอดหน้ามึงให้สมกับความคิดชั่วๆ ที่มึงพ่นออกมา ระวังส้นตีนไว้ จะไม่ได้แก่ตายนะไอแก่เสรีพิศุทธ์”
และนี่คือบรรยากาศของสังคมไทยเราในวันนี้ ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะคิดเห็นเช่นไร เรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ คนทุกคนคือผลผลิตของสังคม และเด็กทุกคนคือลูกหลานของทุกคน
วันพรุ่งนี้สังคมจะเป็นเช่นไร คือ สิ่งที่สมาชิกสังคมทุกคนมีส่วนร่วมกันไม่มากก็น้อยเสมอไป