ชุมนุมอิหร่าน หลังรัฐตัดอินเทอร์เน็ต 5 วัน คลิปเจ้าหน้าที่ยิงประชาชน ลากศพ ถูกเผยแพร่ออนไลน์

ต่างจากการชุมนุมที่ฮ่องกอง ภาพนิ่งและคลิปวิดีโอถูกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ข่าวสารออนไลน์ข้ามพรมแดนให้โลกได้รับรู้เรื่องราวจากสถานการณ์จริง แต่ไม่ใช่ที่อิหร่าน เมื่อการชุมนุมครั้งรุนแรงเกิดขึ้นขณะที่รัฐบาล ‘ตัดอินเทอร์เน็ต’

ข้อมูลจากสำนักข่าวต่างๆ ปรากฏเพียงว่า เกิดการประท้วงใหญ่ แต่รายละเอียดนั้นกลับหายไปในโลกมืด เมื่อข่าวสารจากภายในถูกควบคุมเบ็ดเสร็จ สายตาจากภายนอกก็ยากจะมองเข้าไป

Netblocks กลุ่มเก็บข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตแบบ real-time บอกว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว 2 ใน 3 ของสัญญาณโทรศัพท์มือถือในอิหร่านไม่สามารถใช้การได้ มีเพียง MTN Irancell ที่ถูกควบคุมผู้ใช้และการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ อย่างเข้มงวดเท่านั้นที่ยังออนไลน์ภายในประเทศได้

หลังรัฐบาลยกเลิกมาตรการปิดประเทศจากโลกออนไลน์ยาวนาน 5 วัน ล่าสุดมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอออกมาหลายชิ้นทางทวิตเตอร์ โดย ไมค์ ปอมเปโอ (Mike Pompeo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ อ้างว่า เขาได้รับคลิปวิดีโอเกือบ 20,000 คลิป

กองกำลังตำรวจพิเศษของรัฐบาลจาก Basij หนึ่งในกองกำลังปฏิวัติ Islamic Revolutionary Guard Corps (IRGC) ถูกเรียกเข้ามาควบคุมสถานการณ์ ในช่วงที่โลกไม่รับรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

เมื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มใช้งานได้ในวันอังคารที่ผ่านมา คลิปขนาดสั้นเริ่มถูกเผยแพร่ ภาพนั้นแสดงให้เห็นความรุนแรงของการสลายการชุมนุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เปิดฉากด้วยการยิงใส่ฝูงชน ตีด้วยท่อนเหล็ก ลากศพไปตามถนน ขณะที่อีกคลิปเป็นภาพเจ้าหน้าที่ยิงผู้ชุมนุมจากดาดฟ้า

แหล่งข่าวจากในประเทศบอกว่ามีผู้บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน และคลิปชุดดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลของ Amnesty International ที่อ้างตัวเลขผู้เสียชีวิตว่าสูงถึง 143 ราย โดยเกือบทั้งหมดถูกยิงด้วยอาวุธปืน บางแหล่งบอกว่าตัวเลขอาจสูงถึง 350 ราย

ศูนย์สิทธิมนุษยชน The Center for Human Rights ในอิหร่าน ประมาณตัวเลขผู้ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมด้วยข้อหาก่อการจลาจลว่ามีอย่างน้อย 4,000 คน

ทางการอิหร่านยังคงไม่สนเสียงวิจารณ์จากภายนอก โดยให้เหตุผลว่า พวกเขากำลังใช้ความอดทนกับการรุกรานของสหรัฐ อิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย โดย นายพลฮุสเซน ซาลามี (Gen. Hossein Salami) หัวหน้ากองกำลังปฏิวัติบอกว่า “ถ้าพวกคุณล้ำเส้นเข้ามา เราจะทำลายพวกคุณ”

15 พฤศจิกายน การชุมนุมใน 21 เมืองทั่วประเทศเริ่มต้นขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังรัฐบาลปรับขึ้นราคาเชื้อเพลิง 300 เปอร์เซ็นต์ โดยรัฐบาลอ้างว่าเป็นการตอบโต้พวกลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนไปขายนอกประเทศ จากนั้นจะนำเงินมาช่วยเหลือคนจน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอันดับแรกคือค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความไร้ประสิทธิภาพและการคอร์รัปชันของรัฐบาล ทำให้ไม่มีใครเชื่อคำสัญญาของรัฐบาล โดยเฉพาะการนำเงินที่ได้จากการขึ้นราคาเชื้อเพลิงมา ‘ช่วยเหลือคนจน’

ขบวนผู้ชุมนุมครั้งนี้ปราศจากแกนนำ เป็นเหยื่อจากวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นคนจน ต้วเลขโดยประมาณคือ 87,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนตกงาน ต่างจากผู้ชุมนุมที่มาจากชนชั้นกลางในปี 2009 และการชุมนุมครั้งนี้ Amnesty International คาดการณ์ว่าอาจใหญ่โตและรุนแรงกว่าการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
vice.com
theguardian.com
nytimes.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า