สงวน คุ้มรุ่งโรจน์: ส่องปรากฏการณ์การลุกฮือของชาวฮ่องกงผ่านสายตานักข่าวลูกจีน

“ทุกวันนี้เราสนุกกับข่าวของเรา ถ้าไม่ได้เขียน ก็เท่ากับว่าเราไม่ได้ลับสมอง”

สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ พูดพลางหัวเราะ ระหว่างให้สัมภาษณ์ สงวน นักข่าวอาวุโส ‘ลูกจีน’ ผู้อยู่ในแนวหน้าทุกสนามข่าวการเมือง อดีตนักข่าวของสำนักข่าวสิงคโปร์และฮ่องกง แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ได้สังกัดสำนักข่าวใด แต่ยังคงทำข่าวเพื่อความสุขและลับสมองตน

การทำงานข่าวในแนวหน้า โดยเฉพาะเหตุการณ์การเมืองทั้งไทยและเทศ จนทำให้สงวน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘เฮียหงวน’ หรือ ‘ลุงหงวน’ ที่มักลงบายไลน์ท้ายรายงานข่าวสั้นผ่านโซเชียลมีเดียว่า ‘สำนักข่าวหงวน จัดให้’ ได้รับข้อหาจากการทำข่าวอยู่หลายคราว แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขาหยุดบทบาทตัวเองในฐานะนักข่าวลงได้

ด้วยความสามารถทางภาษาที่แตกฉาน สงวนจึงได้ถ่ายทอดเรื่องราวและมุมมองในฐานะสื่อมวลชนที่ติดตามการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอย่างเข้มข้น เพื่อตอบคำถามที่น่าสนใจว่า อะไรคือรากฐานที่ทำให้ ‘คนฮ่องกง’ ไม่ยอมรับความเป็นจีน การมีส่วนร่วมและตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นหลังปี 1997 และภาพรวมของจีนที่กำลังถูกท้าทายด้วยการดื้อแพ่งของประชาชนคนธรรมดาทว่าจำนวนนับแสนล้าน

แม้เหตุการณ์การประท้วงใหญ่เพื่อต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน (Extradition Law) ในฮ่องกงจะยังไม่จบ แต่หลังจากการรวมตัวของประชาชนที่มีตัวเลขอ้างอิงถึงหลักล้านที่ว่านไจ๋ (Wan Chai) กว่าสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สะท้อนเรื่องราวสำคัญในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองที่ซับซ้อนของความสัมพันธ์แบบ ‘หนึ่งประเทศสองระบบ’ การปกครองภายใต้ ‘กฎหมายพื้นฐาน’ (Basic Law) หรือสำนึกของผู้คนใน 22 ปีให้หลัง นับจากวันที่อังกฤษคืนเกาะฮ่องกงให้เป็นเขตปกครองพิเศษของจีนในปี 1997 แม้แต่รูปแบบการทำงานของสื่อและการสื่อสารระหว่างผู้ชุมนุมและโลกแบบ ‘global’ ทั้งหมดเหล่านี้ได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญให้ได้ถกเถียงพูดคุยถึงเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น

หลังจักรวรรดิอังกฤษเริ่มเสื่อมอำนาจในปี 1997 เกิดอะไรขึ้นกับฮ่องกง

ในอดีตฮ่องกงถูกปกครองภายใต้อาณานิคมของอังกฤษนานเกือบ 153 ปี วันที่ 1 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ก็จะครบรอบ 22 ปี ที่อังกฤษคืนฮ่องกงให้กับจีน เมื่อ 22 ปีที่แล้ว (ปี 1997) ตอนนั้นแธตเชอร์ (มาการ์เรต แธตเชอร์ – อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ) กับ เติ้งเสี่ยวผิง เซ็นสัญญาคืนเกาะฮ่องกง มีการระบุว่า ภายในระยะเวลา 50 ปีเต็ม จีนจะไม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรในฮ่องกงทั้งนั้น แต่กลายเป็นว่าเพิ่งจะ 22 ปี เปลี่ยนอะไรไปไม่รู้เท่าไหร่

ตอน 1997 คนฮ่องกงเขาก็รู้สึกผิดหวังนั่นแหละ เพราะการตกลงกับจีนมันไม่ได้เปิดเผยให้สาธารณะรับรู้ สัญญาของเขาก็เขียนคล้ายๆ บทเฉพาะกาลของเรา คือเขียนให้เข้าใจยากๆ เข้าไว้ ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนกับคนฮ่องกงถูกขาย

แต่ยังไม่ถึง 50 ปี แค่ 22 ปีเท่านั้น เราก็เห็นแล้วว่า จีนพยายามจะเปลี่ยนอะไรฮ่องกงบ้าง เห็นได้ง่ายๆ จากการปฏิวัติร่มของ โจชัว หว่อง ในปี 2014

เมื่อคราวปี 1997 คนฮ่องกงมองความเป็นจีนว่าเป็นอย่างไร

คนฮ่องกงบางคนย้ายไปอยู่อังกฤษ เอาสัญชาติอังกฤษตั้งแต่ปี 1997 จริงๆ ตอนนั้นเขามีให้เลือกด้วยว่าจะเอาพาสปอร์ตสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือพาสปอร์ตฮ่องกง บางคนเขาไม่ยอมทิ้งสัญชาติอังกฤษ ถ้าถือพาสปอร์ตฮ่องกงก็จะได้สิทธิพิเศษเหนือกว่าพาสปอร์ตจีน เช่น ถ้ามาไทย หรือไปในหลายๆ ประเทศก็ไม่ต้องของวีซ่า แต่ถ้าถือพาสปอร์ตจีนก็จะลำบากกว่า

แต่ขณะเดียวกัน อังกฤษเขาก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งกับคนฮ่องกงขนาดนั้น เขาก็บอกว่าคนฮ่องกงต้องรู้ภาษาอังกฤษนะ แต่ว่ายุคนั้นคนที่ได้รับการศึกษาสูงมันน้อย คนฮ่องกง พวกคนแก่ๆ ไม่รู้ภาษาอังกฤษเลย

จริงๆ แล้วคนฮ่องกงมีลักษณะเป็นอย่างไร

มันมีความซับซ้อนอยู่ อย่างเช่นคนแก่ๆ รักเมืองจีน รักบรรพบุรุษ แต่เกลียดคอมมิวนิสต์ ถ้าเธอมีเชื้อสายจีน เธอก็ต้องไหว้เจ้า มันเป็นเรื่องความกตัญญูด้วย

เรารู้สึกว่าคนฮ่องกงมีความคล้ายคนสิงคโปร์ คือมีความขี้คุย และมีความขี้ขลาด และเห็นแก่ตัว เพราะว่าทรัพยากรเขาน้อย คนมันเยอะ ก็ต้องแย่งกัน ใครเคยไปฮ่องกงจะเห็นสภาพ ก็คล้ายๆ กับรังหนู เตียงสองสามชั้นซ้อนๆ กันขึ้นไปก็เป็นบ้านหลังนึงแล้ว

การชุมนุมต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งมีการอ้างถึงความเป็น ‘คนฮ่องกง’ เหตุการณ์ครั้งนี้มันเริ่มต้นได้อย่างไร

แคร์รี หลั่ม (Carry Lam) เขาไปอ้างคดีเมื่อหลายเดือนก่อน ที่ผู้ชายฮ่องกงฆ่าเมียที่ไต้หวัน และผู้ชายก็กลับมาอยู่ฮ่องกง ทำให้จำเป็นต้องมีกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อไม่ให้ฮ่องกงเป็นสวรรค์ของนักโทษ แต่อย่างลืมว่า แคร์รี หลั่ม เขาทำตามใบสั่ง เพราะ แคร์รี หลั่ม เองก็ถูกเลือกโดยจีน

แต่ถ้าไปดูประวัติของ แคร์รี หลั่ม ก็จะเห็นว่าเขาทำงานรับใช้ฝั่งอังกฤษมาแต่ไหนแต่ไร พอเปลี่ยนเป็นจีนปกครอง มันก็ต้องมีการเปลี่ยนสี ก็เหมือนข้าราชการไทยยุค คสช. ภาพเป็นแบบนั้น

และไม่ใช่แค่เรื่องฆ่าเมีย ยังมีกรณีพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ล่าสุดมีการส่งคนไต้หวันที่ก่อเหตุแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับไปขึ้นโรงขึ้นศาลที่เมืองจีน เคสคอลเซ็นเตอร์แถวห้วยขวางบ้านเราก็มีนะ ส่งกลับจีน กลับปักกิ่งหมด

คือมันมีความสับสนเหมือนกัน คนจีนก็มีหลายจีน จีนแดง หรือว่าจีนไต้หวัน หรือจีนฮ่องกง เพราะว่าบางทีทุกคนก็มาเหมาเอาคนเชื้อสายจีนเป็นจีนไปหมด มันไม่เคลียร์

ถ้าเกี่ยวกับจีน ก็ต้องส่งคนกลับไปให้จีนปักกิ่งลูกเดียว พอเป็นแบบนี้คนเลยกลัวกัน เพราะมีเรื่องของการกลั่นแกล้งด้วย ถ้าส่งกลับไปที่จีนมันก็ไม่ได้ต่างอะไรจากเกาหลีเหนือเลยนะ ตายลูกเดียว

จากเหตุการณ์ประท้วงในครั้งนี้ เท่าที่เรารู้ จีนเองก็กลัวเสียหน้าด้วยที่คนออกมาเยอะขนาดนี้ แต่ก็ไม่ประกาศใช้คำว่า ‘ถอน’ กฎหมายฉบับนี้ เพราะเขาเคยบอกว่าเป็นหนึ่งประเทศสองระบบ แต่นี่ดันจะเปลี่ยนเป็นหนึ่งประเทศหนึ่งระบบ

จริงๆ แล้วจีนต้องการอะไรจากฮ่องกง หนึ่งประเทศหนึ่งระบบ?

เขาเคยพยายามจะเปลี่ยนระบบในฮ่องกง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะคนออกมาเยอะ

เหตุการณ์แรกเลยคือไปเปลี่ยนหนังสือเรียนเมื่อปี 2014 ที่ โจชัว หว่อง ออกมาประท้วง เขาก็กลายเป็นผู้นำม็อบที่ออกมาสร้างปรากฏการณ์ในตอนนั้น

เหตุการณ์ที่ 2 ก็มีกฎหมายเกี่ยวกับธงชาติ ในหนังสือเรียนมีเขียนว่า เมื่อเห็นธงชาติจีนแล้วน้ำตาจะไหล มีเรื่องเพลงชาติด้วย และการชุมนุมครั้งนี้ ที่เขาชุมนุมมันเป็นย่านธุรกิจ ว่านไจ๋ เป็นเขตที่ตั้งของสำนักงานหลักของจีน เป็นอะไรที่ท้าทายมาก คราวของ โจชัว หว่อง เมื่อห้าปีที่แล้ว ทำจนยึดเกาลูน ยึดมองก็อกได้

ตอนนี้เหลืออีก 28 ปี จาก 50 ปีตามสัญญาของจีน ต้องรอดูต่อ ฟากไต้หวันก็เหมือนกัน ปีหน้าไต้หวันมีเลือกตั้ง พรรคก๊กมินตั๋งที่โปรจีน อยากเป็นจีน คิดว่าไม่น่าจะได้รับเลือก น่าจะเป็นพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของ ไช่อิงหงวน (Tsai Ing-wen) มากกว่า จีนตอนนี้ค่อนข้างเพลี่ยงพล้ำ

การชุมนุมรอบนี้ เห็นมีแต่เด็กๆ คนแก่หายไปไหนหมด ยังคงโปรจีน อยากอยู่กับจีนหรือ

ส่วนหนึ่งก็โปรจีนไง จริงๆ ไม่ใช่ส่วนหนึ่ง แต่เห็นจะเป็นส่วนมากด้วยแหละ แล้วคนแก่ๆ ในฮ่องกงเขาต้องทำงาน อีกอย่างคนแก่ฮ่องกงส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้ และไม่ค่อยอินเตอร์เท่าไหร่

ทั้งๆ ที่คนแก่ในประเทศส่วนใหญ่โตมากับระบบแบบอังกฤษ การที่จีนพยายามครอบงำแบบนี้ไม่รู้สึกกลัวบ้างหรือ

ก็เหมือนคนไทยเชื้อสายจีน เอาง่ายๆ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือพวกลูกจีนแบบเรา ก็เป็นคนไทยเชื้อสายจีน โปรจีน ประเทศนี้จริงๆ ก็ไม่ต่างจากมณฑลหนึ่งของจีนหรอก มีแต่คนจีนทั้งนั้น เหมือนพรรคพลังประชารัฐ พรรคจีนชัดๆ ทุกวัน 90 เปอร์เซ็นต์ปกครองด้วยคนไทยเชื้อสายจีน แต่เขาบอกว่าเป็นคนไทย ประเทศนี้โกหก มันเป็นเรื่องที่ฉันต้องเล่า ต้องพูดถึง

การรุกคืบของจีนน่ากลัวแค่ไหน

มันไม่ใช่แค่ความพยายามในฮ่องกง ไต้หวัน แต่ยังรวมถึงไทยด้วย ไทยเองก็เป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจของจีน กัมพูชาก็ใช่ ลาวก็ใช่ ผ่านการผลักดันโครงการ One Belt One Road ที่เชื่อมโลกทั้งโลก เป็นเส้นทางสายไหมทางบก ปัญหาคือไม่ได้ขายผ้าไหม แต่เป็นการขนทหาร ขนสินค้า ขายทุกอย่าง เอาทุกอย่าง เราก็ไม่เข้าใจ มันไม่เหมือนปี 1975 มิตรภาพมาเป็นที่หนึ่ง การแข่งขันเป็นรอง ตอนนี้ไม่ได้เป็นรองนะ แต่แข่งกันอย่างเอาเป็นเอาตาย และคนจีนก็เปลี่ยนไป โอเค เราอาจจะต้องพึ่งพาด้านการท่องเที่ยว แต่กลายเป็นว่าเรายอมทุกอย่าง

อิทธิพลตะวันตกก็หายไปเยอะ เหลือแค่ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ที่ยังต้องพึ่งพาอิทธิพลของตะวันตก เพราะมีเรื่องจีน เรื่องเกาหลีเหนืออะไรด้วย เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ญี่ปุ่นเป็นพี่เบิ้มทางเศรษฐกิจ แม้กระทั่งเรื่องของวัฒนธรรม มันเป็นเรื่องตลกมาก โรงงานญี่ปุ่นในประเทศไทยเยอะ พอวันหยุดก็ต้องพูดเป็นภาษาญี่ปุ่น ที่มันแปลกคือโรงเรียนจีนเรียนไม่ได้ ภาษาญี่ปุ่นเรียนได้ ตอนนี้ไม่ใช่ ภาษาจีนนี่นำโลด

ความน่าสนใจของการชุมนุมครั้งนี้อยู่ตรงไหน

คนฮ่องกงเขาไม่มีพิธีรีตอง คนฮ่องกงเขานัดเป็นนัด มันต่างจากการชุมนุมของเรา แล้วประเด็นคือเขาเป็นอินเตอร์ เขาพูดได้หลายภาษา เวลามีนักข่าวมาทำข่าวมันก็ง่าย แต่ขบวนการเคลื่อนไหวของเราไม่ใช่แบบนั้นเลย ไม่เข้มแข็ง แล้วก็สะเปะสะปะ ม็อบเราชุมนุมแล้วก็เซลฟี่ เอาง่ายๆ ไม่มีอะไร เจี๊ยะป้าบ่อสื่อ กินอิ่มแล้วไม่มีอะไรทำ แต่ของฮ่องกงไม่ใช่นะ เขามีอะไรทำ อุปกรณ์ของฮ่องกงก็ทันสมัยกว่า ฉายให้คนดูได้ทั่วโลก

ถ้าสังเกตการชุมนุมจะเห็นว่า คนตื่นตัวทางการเมืองเยอะมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆ

เขามีการโกงการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมาไง เป็นการเลือกตั้งซ่อม แถมยังมีการดูถูกพวกเด็กๆ จากคราวปฏิวัติร่มด้วย โจชัว หว่อง ก็โดนจับ

แต่ โจชัว หว่อง เขาเขียนหนังสือในคุก เข้าคุกวันแรกเป็นยังไง พอออกมาก็มีเขียนความรู้สึกหลังออกจากคุก แล้ว CNN ก็มาสัมภาษณ์ นักโทษในฮ่องกงเขารับรู้เรื่องข้างนอกนะ เขาไม่ได้ล่ามโซ่แบบของไทย ที่ไทย พอออกไปหน่อย ไม่เป็นระเบียบก็เรียกการจลาจลแล้ว แต่ของฮ่องกง เขาสามารถเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่บนสะพานลอยได้มากถึง 8 ชั่วโมง ตะโกน ถอน ถอน ถอน! ได้

อีกหนึ่งปัญหาคือ ถ้า แคร์รี หลั่ม ออกไปตอนนี้ จะให้ใครมาเป็นต่อ ตำแหน่งนี้แต่งตั้งอย่างเดียว ถึงจะบอกว่าเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่เลือกตั้งตรงๆ ก็มีคณะกรรมการสรรหา ไม่ต่างกับ สว. บ้านเรานี่แหละ จีนอ้างว่ามันเป็นการเลือกตั้ง แคร์รี หลั่ม ก็พูดว่าตัวเองมาจากการเลือกตั้ง คนเขาก็คิดตรงนี้กันด้วย

ปรากฏการณ์ชุมนุมแบบนี้ มองสื่อฮ่องกงแล้วมองย้อนสื่อไทย ความแตกต่างคืออะไร

คิดว่าสื่อฮ่องกงเขาคงเส้นคงวา กี่ปีๆ ก็แบบนี้แหละ เพราะสื่อเขาแข่งกันเสรี ฮ่องกงเขาไม่ปิดข่าว แต่เขาเป็นกระบอกเสียงให้กันหมด ยกเว้นสื่อของปักกิ่งในฮ่องกง อย่าง ต้ากงเป้า และในจีน ตอนหลังปักกิ่งเขาก็ไม่พูด ปิดข่าว คอมเมนต์อะไรต่างๆ มาจากฟากตะวันตกหมด แต่ฝั่งจีนเงียบ

นักข่าวที่ซัฟเฟอร์ครั้งนี้คือนักข่าวแนวหน้า ไม่ใช่ผู้ชุมนุมนะ คนที่ได้รับบาดเจ็บครั้งนี้คือนักข่าว เพราะทางฝั่งทางการของฮ่องกงต้องการปิดปาก เห็นได้ในคลิปที่นักข่าวต่างประเทศตะโกนด่าตำรวจที่ยิงเข้ามา จนในการแถลงข่าวนักข่าวใส่หมวกกันน็อคมาทำข่าวเพื่อประท้วง

ส่วนสื่อไทย ต้องถามว่าสื่อไทยรอบนี้เกี่ยวอะไรกับเขาด้วย ส่งคนไปทำข่าวตั้งหลายช่อง ส่งคนไปรายงานทุกชั่วโมง พอเรื่องของไทยคนชุมนุมอะไร ไม่เห็นจะมีเลย

สำนักข่าวของเรา (สำนักข่าวหงวน จัดให้) ก็ได้มาจากไลฟ์เฟซบุ๊ค เราจะเห็นว่ากลุ่มเด็ก กลุ่มอาชีพต่างๆ 80 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 16-25 ปี ไม่ค่อยมีอาซิ้ม อาแปะ เหมือนบ้านเราหรอก ข่าวเขาก็ทรงพลัง เวลาไลฟ์ก็เห็นทุกอย่าง

ครั้งนี้มันไม่ได้มีแค่คนฮ่องกงนะที่ตื่นตัว ยังมีแรงงานข้ามชาติในฮ่องกงด้วย เพราะกฎหมายที่เป็นปัญหาอย่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนมันส่งผลกระทบกับทุกคน และเขียนไม่เคลียร์ด้วย พูดแค่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เราก็เข้าใจว่า ถ้าทำผิดในฮ่องกง จะเป็นใครก็ตาม ส่งกลับเมืองจีนหมด

แต่นักข่าวฮ่องกงเขาไม่เป็นนะ ต่างจากนักข่าวไทย เขาเป็นอิสระ หลายครั้งจีนพยายามจัดการกับสื่อฮ่องกง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ตอนหลังจีนก็เอา CCTV (สถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน) เข้าไป แต่คนฮ่องกงเขาไม่ดู เขาก็ดูเฉพาะสื่อของเขา CCTV พูดแมนดาริน พูดจีนกลาง แต่คนฮ่องกงเขาพูดกวางตุ้ง ภาษาท้องถิ่นนี่สำคัญมาก ชนชั้นปกครองจากปักกิ่งก็ฟังไม่รู้เรื่องว่าชาวบ้านด่าแม่ด่าพ่อยังไง

ฟากการทูตไทย การทูตไม่ดี เพราะจากเหตุการณ์นี้ ไทยควรจะมีบทบาทเรื่องฮ่องกงเยอะกว่านี้ เช่นว่า ถ้ามีเหตุการณ์ไม่สงบ ก็ต้องแสดงภาวะความเป็นผู้นำ เรียกร้องให้เกิดความสงบ แต่ยุคนี้ก็ไม่กล้า

คืออย่างน้อยเราจะได้ผลประโยชน์จากฮ่องกงและจีน มันขึ้นอยู่กับลีลาทางการทูต แต่ครั้งนี้กลับปล่อย ไม่มีอะไรเลย ก็น่าคิด

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า