ฮิญาบสีเลือด จุดชนวนมุสลิมปลดแอกในรัฐอิสลาม

กรณี ‘ตำรวจศีลธรรม’ หรือ ‘กัชตีเอร์ชาด’ (Gasht-e Ershad) ในประเทศอิหร่าน จับกุมนางสาวมาห์ซา อามินี (Mahsa Amini) วัย 22 ปี ด้วยข้อหาสวมฮิญาบไม่ถูกวิธี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2022 จนอามินีเสียชีวิตในอีก 3 วันถัดมา ก่อให้เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ในอิหร่านชนิดถึงขั้นมีผู้ชุมนุมนำฮิญาบออกมาเผา ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องของหนุ่มสาวอีกหลายร้อยหลายพันคน

บรรยากาศการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยตนเองของชาวอิหร่านครั้งนี้นับว่าสวนทางกับระบอบการเมืองที่ไม่แยกศาสนาออกจากรัฐ หรือที่เรียกว่า ‘รัฐศาสนา’ ในหลายประเทศ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าโลกเรากำลังหมุนไปข้างหน้ามากขึ้น ทำให้กฎ ข้อบังคับ หรือการใช้อำนาจของรัฐโดยอ้างหลักศาสนาเป็นสิ่งล้าสมัย อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกมุสลิมเกิดกระแสการ ‘ปฏิรูป’ (reform) ‘การทำให้ทันสมัย’ (modernization) ไปจนถึงการพยายาม ‘ปฏิวัติ’ (revolution) แต่เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจะพบว่า สายธารการต่อต้านเพื่อการปลดปล่อยนั้นมีมาอย่างยาวนานแล้ว

บทความชิ้นนี้จึงต้องการพาผู้อ่านย้อนกลับไปดูร่องรอยการต่อสู้ของคนมุสลิมกับระบอบการเมืองต่างๆ ตั้งแต่มุสลิมฝ่ายซ้ายที่พยายามปลดแอกตนเองจากเจ้าอาณานิคม มุสลิมหัวก้าวหน้าที่พยายามก้าวให้ทันสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ตลอดจนการต่อสู้อื่นๆ ที่เป็นหลักฐานยืนยันถึงความรักในมนุษย์และสันติภาพของเหล่าศาสนิกชนมุสลิมทั่วโลก

ปลดปล่อยจากผู้กดขี่: บทเรียนจากอินโดนีเซียยุคอาณานิคม

จุดเริ่มต้นที่ดีในการย้อนกลับไปมองการต่อสู้เพื่อปลดแอกทางการเมืองของโลกมุสลิมสมัยใหม่คือ การต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมเนเธอร์แลนด์ของกลุ่มฝ่ายซ้ายในประเทศอินโดนีเซีย ช่วงปี 1920 ซึ่งเป็นความร่วมมือของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (Partai Komunis Indonesia: PKI) กับองค์การอิสลามอย่าง Sarekat Islam จนกลายเป็นหนึ่งในรากฐานความเป็นชาตินิยมของอินโดนีเซียในปัจจุบัน

แม้ความพยายามในการต่อต้านเจ้าอาณานิคมในปี 1927 จะล้มเหลว และทำให้เนเธอร์แลนด์ปราบปรามผู้ลุกฮือและกดข่มสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของชาวอินโดนีเซียอย่างหนัก แต่งานศึกษา Experiments with Marxism-Leninism in Cold War Southeast Asia (2022) ของ Matthew Galway และ Marc H. Opper ระบุว่า ภายหลังจากเหตุการณ์ในปี 1927 ชาวอินโดนีเซียรุ่นใหม่เรียนรู้จากความล้มเหลวในการต่อสู้ของคนรุ่นก่อน และเริ่มจับกลุ่มสร้าง ‘กลุ่มเรียนรู้’ (The Pendidikan) ไปจนถึงองค์การนักศึกษาต่างๆ โดยมีวัฒนธรรมการอ่านที่กำลังเบ่งบานในหมู่คนอินโดนีเซียเป็นแรงสนับสนุนสำคัญ ทำให้หนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายอย่าง Kedaulatan Ra’jat (The Sovereignty of the People) ยังคงสามารถเผยแพร่ได้ แม้วงการหนังสือพิมพ์จะถูกไล่ปราบปรามอย่างหนักก็ตาม

ในภายหลัง กลุ่มต่อต้านเจ้าอาณานิคมอย่าง The Pendidikan ที่เคยอิงแอบอยู่กับพรรคชาตินิยมอินโดนีเซีย หรือ Indonesian National Party (PNI) ของอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน (Sukarno) ก็แยกตัวออกมาเพื่อสร้างแนวร่วมการเคลื่อนไหวในระดับชาติ โดยเฉพาะหลังจากที่พรรค PNI ถูกยุบ แม้ว่าเมื่อซูการ์โนพ้นโทษจำคุกในเวลาต่อมา เขากลับไม่ได้ให้การสนับสนุนกลุ่ม The Pendidikan มากเท่าพรรค Partindo ซึ่งถูก The Pendidikan วิจารณ์ว่าเป็นพวก ‘ชนชั้นสูง’ ก็ตาม

ความสำเร็จของ The Pendidikan คือการผสานระหว่างความเป็น ‘สังคมนิยม’ ที่รับเอาแนวคิดและใช้ภาษาบางส่วนของอุดมการณ์มาร์กซิสม์ ขณะเดียวกันก็ยังโอบรับคุณลักษณะของความเป็นอิสลาม แต่กระนั้นก็ไม่ได้ประกาศตัวชัดแจ้งว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และก็ไม่ได้โอบรับแนวคิดแบบลัทธิบอลเชวิค (Bolshevism) แต่เคลื่อนไหวด้วยความรักชาติตามอุดมการณ์ชาตินิยม

คำพูดของ Tan Malaka นักสังคมนิยมอินโดนีเซียคนสำคัญ อาจเป็นภาพสะท้อนที่สำคัญของการเริ่มเชื่อมโยงศาสนาอิสลามเข้ากับการปลดแอก ซึ่งเขากล่าวเอาไว้ว่า

“ปัจจุบัน อุดมการณ์รวมกลุ่มอิสลาม (Pan-Islamism) หมายถึงการดิ้นรนเพื่อการปลดปล่อยระดับชาติ เพราะมุสลิมหมายถึงทุกอย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องศาสนา แต่ยังหมายถึงรัฐ เศรษฐกิจ อาหาร และเรื่องอื่นๆ ดังนั้นอุดมการณ์รวมกลุ่มอิสลามจึงหมายถึงภราดรภาพมุสลิมทุกคน ไม่ใช่แค่การพยายามปลดแอกในภูมิภาคอาหรับ แต่ยังหมายถึงกลุ่มคนในอินเดีย ชวา และเหล่ามุสลิมผู้ถูกกดขี่ทั่วโลก

“ภราดรภาพมุสลิมนี้จึงหมายถึงการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อปลดแอกตนเองแบบจับต้องได้ ไม่ใช่แค่ต่อต้านพวกดัตช์ (เนเธอร์แลนด์) แต่ยังต้องต่อต้านพวกทุนนิยมอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี ดังนั้นเราจึงต้องต่อต้านทุนนิยมโลกทั้งหมดทั้งปวง” 

มุสลิมหัวก้าวหน้า กับการปรับตัวสู่โลกสมัยใหม่

เนื่องจากประวัติศาสตร์สมัยใหม่ (modern history) มักถูกผูกขาดไว้กับประวัติศาสตร์ยุโรป ซึ่งจัดวางตนเองอยู่ในฐานะ ‘ทายาทของยุคเรืองปัญญา’ และมีความเป็นรัฐฆราวาส (secular state) อันเป็นอุดมการณ์ขั้วตรงข้ามกับกลุ่มประเทศอิสลามที่ถูกจัดวางว่าต้อง ‘ปฏิเสธ’ สมัยใหม่ไปเสียหมด แต่การมองโลกแบบสองขั้วเช่นนี้อาจทำให้เรามองข้ามปรากฏการณ์สำคัญอย่าง ‘มุสลิมสมัยใหม่’ (Muslim Modernism) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ไปอย่างสิ้นเชิง

กลุ่มแนวคิดมุสลิมสมัยใหม่นี้พยายามแพร่อิทธิพลเหนืออาณาเขตเดิมของจักรวรรดิออตโตมัน บริติชอินเดีย (British Raj) และประเทศในภูมิภาคเอเชียกลางอีกหลายประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อปลดแอกตนเองจากเจ้าอาณานิคมไม่ต่างจากกลุ่มมุสลิมฝ่ายซ้ายในอินโดนีเซีย ทว่าพวกเขาเลือกแนวทางการปฏิรูปประเทศของตนเองผ่านกลุ่มปัญญาชนและนักกฎหมายมากกว่า โดยพยายามหยิบยืมศาสตร์และองค์ความรู้เกี่ยวกับระบอบการเมืองการปกครองของอารยธรรมยุโรปมาปรับใช้ให้เข้ากับความเป็นอิสลาม

ทั้งนี้ คำว่า ‘ปฏิรูป’ (reform) หรือ Islah ในความหมายของอาหรับยังแปลได้ว่า ‘ทำให้ดีขึ้น’ (improvement) อีกด้วย โดยแนวคิดนี้มองว่า ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของศาสนาอิสลามมักเกิดการตีความคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอานและคัมภีร์ซุนนาห์ (Sunna) ผิดไปจากความหมายเดิม ซึ่งอาจยิ่งทำให้เกิดการสนับสนุนหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันของชาวมุสลิมที่ก่ออันตรายต่อคนอื่นๆ มากยิ่งขึ้น กลุ่มมุสลิมสมัยใหม่จึงเห็นว่า ความพยายามรื้อฟื้นค่านิยมอิสลามที่มีจุดแข็งด้านความสงบและสันติภาพควรกระทำผ่านการเลือกหยิบยืมความก้าวหน้าต่างๆ จากโลกตะวันตกมาใช้ ตั้งแต่ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการเมือง และด้านการใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เป็นต้น เป้าหมายอีกประการของกลุ่มมุสลิมสมัยใหม่คือ การปฏิรูปเพื่อไม่ให้วัฒนธรรมมุสลิมทั้งหมดต้องถูกแทนที่โดยวัฒนธรรมตะวันตก และเพื่อทำให้วัฒนธรรมมุสลิมมีความทันสมัย ก้าวหน้า และทัดเทียมกับวัฒนธรรมตะวันตกมากยิ่งขึ้น 

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ปรากฏชัดผ่านแนวคิดของนักเทศน์ชื่อดัง Jamāl al-Dīn al-Afghānī ผู้เผยแพร่แนวคิดต่อต้านวัฒนธรรมเจ้าอาณานิคมยุโรป ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ซึ่งในเวลาต่อมา ลูกศิษย์ลูกหาของเขาจำนวนมากจะเข้าไปทำงานเป็นคนใหญ่คนโตในรัฐบาลและองค์กรสำคัญหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาชนอียิปต์ (Egyptian People’s Party) ชื่อ Ahmad Lutfi al-Sayyid ที่ไม่ได้สนใจเพียงอุดมการณ์ทางการเมืองในศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่ยังมองไปไกลกว่านั้นว่า อิสรภาพเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ทุกคน เป็นสภาวะพื้นฐานของปัจเจกชน และเป็นสิทธิติดตัวของประชาชนที่ใครจะพรากออกไปไม่ได้

ข้อเรียกร้องสำคัญของกลุ่มมุสลิมสมัยใหม่คือ ขอให้สังคมกลับไปตีความพระคัมภีร์โดยตรงตามเนื้อหา (Ijtihad) ซึ่งจะเป็นการป้องกันการนำพระคัมภีร์ไปตีความโดยกลุ่มผู้ปกครองรัฐศาสนาตามอำเภอใจ และเปิดช่องให้มีการปฏิรูปกฎหมายให้ดีขึ้นได้ ข้อเรียกร้องเหล่านี้ถือว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ก้าวหน้าอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของมุสลิมกลุ่มนี้ยังประสบความสำเร็จในอีกหลายประเด็น แต่มักถูกมองข้ามจากงานศึกษาในช่วงหลัง เช่น การเกิดขึ้นของโรงเรียนสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะแห่งแรกในเมืองคาซาน (Kazan) แห่งจักรวรรดิรัสเซีย เมื่อปี 1897 โดยนักการศึกษาหญิงชื่อดัง Fatiha Aitova ผู้มาจากตระกูลอาหรับ-มุสลิมหัวก้าวหน้า ซึ่งเน้นการเรียนการสอนศาสนาอิสลามควบคู่ไปกับการเรียนแบบฆราวาส และสอนเป็นภาษาประจำชาติ เป็นต้น 

ทว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปครั้งใหญ่ของโลกมุสลิมที่ดำเนินมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ต้องชะงักลง มาจากการที่ชนชั้นนำของชาติอาหรับไม่ได้นำหลักการหรือระบอบการเมืองของตะวันตกมาปรับใช้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันอดีตอาณานิคมของจักรวรรดิรัสเซียต่างก็ต้องเผชิญสงครามกลางเมือง และหลายพื้นที่ก็ถูกรุกรานมากยิ่งขึ้นจากเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสที่เพิ่งชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 มาหมาดๆ ซ้ำร้ายกว่านั้น การขึ้นมามีอำนาจปกครองสหภาพโซเวียตของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ยิ่งทำให้ภูมิภาคเหล่านี้ถูกทำลายอย่างย่อยยับจนกระบวนการทำให้ทันสมัยในระดับภูมิภาคหยุดชะงักลง

สิทธิมนุษยชนในกระแสปฏิรูปอิสลาม

ไม่ว่าการเมืองภาคประชาชนของชาวมุสลิมจะพยายามก้าวให้ทันความเป็นสมัยใหม่ด้วยการก้าวไปหาฝ่ายซ้ายหรือก้าวไปทางเสรีนิยม แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ปัจจุบันนี้ศาสนาอิสลามกำลังเผชิญกับความท้าทายขนานใหญ่ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ปรับตัวมากขึ้นจากนานาชาติและโดยเฉพาะเสียงจากศาสนิกชนด้วยกันเอง

“สิทธิมนุษยชนและศาสนาไม่ใช่คู่ตรงข้ามกัน อันที่จริง มันคือการตีความของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดความตึงเครียด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาล หน่วยงานทางศาสนา และภาคประชาสังคม ต้องทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาคของประชาชนทุกคน” นางมิเชล บาเชเลต์ (Michelle Bachelet) อดีตข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อกรณีการใช้กฎหมายอาญาที่มีโทษสูงของประเทศบรูไน เมื่อปี 2019 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้มีการประหารชีวิตคนรักเพศเดียวกันด้วยก้อนหิน 

แน่นอนว่านี่เป็นภาพสะท้อนสำคัญของท่าทีองค์การสากลที่ต้องการให้รัฐศาสนาปรับตัวให้ทันกับโลก ขณะเดียวกันสิทธิมนุษยชนกับศาสนาอิสลามก็ยังสามารถเดินหน้าไปด้วยกันได้ ไม่ใช่เป็นไปในทางกลับกัน

การประท้วงฮิญาบ ในปี 1979

หากย้อนกลับไปในปี 1979 การ ‘ประท้วงฮิญาบ’ ได้เคยเกิดขึ้นในประเทศอิหร่านมาก่อนแล้ว ซึ่งปะทุขึ้นหลังจากการปฏิวัติอิสลามที่โค่นล้มกษัตริย์ชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พร้อมๆ กับการยกเลิกกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสตรี จนเกิดขบวนประท้วงต่อต้านการบังคับสวมฮิญาบที่มีผู้หญิงจำนวนมากเข้าร่วมเดินขบวน โดยมีผู้ชายจำนวนมากเกาะกลุ่มเสมือนกำแพงมนุษย์ล้อมรอบอีกที เพื่อช่วยปกป้องพวกเธอ การชุมนุมของสตรีกว่า 100,000 คน ทำให้กรุงเตหะรานต้องสั่นสะเทือน และจุดประกายให้การต่อสู้ในประเด็นเครื่องแต่งกายในอิหร่านดำเนินต่อเนื่องมานับตั้งแต่นั้นจวบจนถึงเหตุการณ์เสียชีวิตของอามินีในปัจจุบัน

ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมขบวนการประท้วงหลายพันคน ผู้หญิงเริ่มนำฮิญาบออกมาเผาไฟกลางถนนท่ามกลางเสียงสนับสนุนของผู้ชาย ประหนึ่งฉายภาพซ้ำของวินาทีที่กำแพงเบอร์ลินถูกทุบถล่มลง ขณะเดียวกันในประเทศอาหรับอื่นๆ ความเคลื่อนไหวก็กำลังกระเพื่อมตามมา ผู้หญิงสามารถเดินทาง ขับรถ และดูหนังได้แล้วในประเทศซาอุดิอาระเบีย ขณะที่การต่อสู้เพื่อค้ำยันเสรีภาพในตูนิเซียยังคงหมิ่นเหม่ และผลสำรวจเยาวชนอาหรับกว่า 3,400 คน ของ Arab Youth Survey พบว่า กว่าร้อยละ 65 ของเยาวชนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ต้องการรักษาอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมของตนเองมากกว่าสนับสนุนสังคมโลกาภิวัตน์

ในแง่ดี ผลการสำรวจเดียวกันพบว่าเยาวชนกว่าร้อยละ 63 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด รู้สึกว่าตนเองมีสิทธิและเสรีภาพที่มากขึ้นเพราะการลุกฮือของประชาชนช่วงอาหรับสปริง และกว่าร้อยละ 68 รู้สึกยินดีกับสิทธิเสรีภาพที่ได้รับมากกว่าที่เคยมีในปี 2010 

ในสายธารการพัฒนาของศาสนาอิสลาม การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยยังคงเป็นหัวใจสำคัญมาตั้งแต่เริ่มยุคการเมืองสมัยใหม่ จากการขับไล่เจ้าอาณานิคมสู่การวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นนำของตนเอง การโค่นล้มทรราชสู่การต่อสู้เพื่อสิทธิด้านเพศสภาพและการแต่งกาย 

มุสลิมกำลังต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขา ขณะเดียวกันโลกก็ต้องจับตามองความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างไม่กระพริบตา

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า