ผ่าทางตันการเมือง เมื่อไม่มีผู้ชนะในสมรภูมิเลือกตั้งอิสราเอล

  • การเลือกตั้งสภานิติบัญญัติอิสราเอลเมื่อวันอังคารที่ 17 กันยายน ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ในปี 2019 หลังการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 เมษายน แต่ เบนจามิน เนทันยาฮู ไม่สามารถตั้งรัฐบาลผสมได้ จึงต้องประกาศยุบสภา
  • เบนจามิน เนทันยาฮูู หัวหน้าพรรค Likud กลุ่มยิว Zionist ปีกขวา เป็นนายกรัฐมนตรีอิสราเอล 4 สมัย กำลังจะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด จนต้องออกมายอมรับว่า ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้
  • คู่แข่งคนสำคัญคือ เบนนีย์ กานต์ซ อดีตนายทหารผู้ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองจากพรรคสายกลาง Blue and White ที่ใครๆ เชื่อว่าเป็นขั้วตรงข้ามของเนทันยาฮู
  • ผู้กุมคะแนนสวิงโหวตในมือคือ อวิกดอร์ ลีเบอร์แมน จากพรรค Yisrael Beiteinu ที่แม้คาดว่าจะมีเพียง 9 ที่นั่งในสภา แต่หากฝั่งไหนได้ตัวลีเบอร์แมนไปก็เท่ากับได้คะแนนเสียงข้างมากไปในทันที

 

เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรี 4 สมัย ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองครั้งแรกในปี 1996-1999 และตั้งแต่ปี 2009 ถึงปัจจุบัน อิสราเอลมีนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ทำให้หัวหน้าพรรค Likud หรือ National Liberal Movement เป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด จนได้รับการขนานนามว่า ‘ราชันย์แห่งอิสราเอล’ (King of Israel)

เพราะเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของอิสราเอลยุคหลัง ไม่เคยมีใครคาดว่าเนทันยาฮูจะถูกโค่นลงจากตำแหน่ง แต่ตอนนี้สถานการณ์ทางการเมืองของเขาตกเป็นรองทุกด้าน ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองไปยังอนาคตว่า อิสราเอลที่ไม่มีเนทันยาฮูนั้นจะมีโฉมหน้าเป็นอย่างไร

หลังการเลือกตั้งเมื่อวันอังคารที่ 17 กันยายน ผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการออกมาในวันพฤหัสบดี พรรคที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 คือ Blue and White ของอดีตผู้บัญชาการทหาร เบนนีย์ กานต์ซ (ฺBenny Gantz) 33 ที่นั่ง ขณะที่พรรค Likud มี 31 ที่นั่ง จากทั้งหมด 120 ที่นั่งในสภาเนสเซ็ต (Knesset-สภานิติบัญญัติอิสราเอล) ทำให้เนทันยาฮูต้องออกมายอมรับว่า ไม่สามารถตั้งรัฐบาลปีกขวา Zionist ซึ่งนำโดยพรรค Likud ได้

นอกจากความปราชัยในสนามเลือกตั้งที่ทำให้การเมืองอิสราเอลเข้าสู่ทางตันอีกรอบ เนทันยาฮูกำลังจะต้องเข้ารับการไต่สวนคดีคอร์รัปชัน ซึ่งเดิมพันสำคัญคือ การได้เสียงข้างมากในสภาจะช่วยปกป้องเขาจากความผิดได้

ทางเลือกรัฐบาลแห่งชาติ

เช่นเดียวกับพรรค Likud ด้าน Blue and White ถึงได้ชัยชนะแต่ก็ถือว่าคะแนนเสียงปริ่มน้ำ หากเนทันยาฮูต้องการรักษาตำแหน่งของไว้ เขาต้องหาทางเข้าร่วมกับ เบนนีย์ กานต์ซ คู่แข่งคนสำคัญ จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่มีเอกภาพเพื่อผ่าทางตันทางการเมือง

เนทันยาฮูกล่าวว่า “ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ผมเรียกร้องให้ตั้งรัฐบาลปีกขวา แต่ผมเสียใจจริงๆ ที่ผลการเลือกตั้งที่ออกมาแสดงให้เห็นแล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้

“เบนนีย์ เราต้องตั้งรัฐบาลแห่งชาติให้เร็วที่สุด ประเทศคาดหวังกับเรา เราทั้งคู่ ต้องแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบ ที่เราจะร่วมมือกันต่อไป”

ด้านสมาชิกสภานิติบัญญัติของพรรค Likud เดวิด บิทาน (David Bitan) กล่าวกับสถานีวิทยุกองทัพอิสราเอลว่า “ทุกคนจะต้องเลิกเย่อหยิ่งกันเสียที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกตั้งครั้งที่ 3”

เบนนีย์ กานต์ซ ปฏิเสธข้อเสนอการร่วมรัฐบาลแห่งชาติของเนทันยาฮู โดย โมเช ยาลอน (Moshe Yaalon) ผู้นำอาวุโสจากพรรค Blue and White ประกาศว่า “เราจะไม่เข้าร่วมรัฐบาลที่นำโดยเนทันยาฮู”

นอกจากนั้น กานต์ซยังแสดงออกชัดเจนว่า เขาพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี “ผมมุ่งมั่นจะตั้งรัฐบาลเสรีนิยมที่เปิดกว้าง” กานต์ซกล่าว

ยาอีร์ ลาปิด (Yair Lapid) ผู้นำอันดับ 2 ของ Blue snd White ย้ำว่า “ถ้าเนทันยาฮูหลีกทางไป เราก็จะมีรัฐบาลที่เป็นเอกภาพ คนเดียวเท่านั้น นั่นคือจุดมุ่งหมาย

“เนทันยาฮูกำลังพยายามลากประเทศไปสู่การเลือกตั้งครั้งที่ 3 เขาดูจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง คนเดียวที่จะไม่ยอมให้เกิดการตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่เป็นเสรีนิยมได้ คนเดียวเลย นี่คือจุดประสงค์ของกลุ่มการเมืองที่ชอบข่มขู่และหัวรุนแรงที่เขาได้สร้างเอาไว้”

ประธานาธิบดี รูเวน ริฟลิน (Reuven Rivlin) มีหน้าที่ต้องตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรี โดยกระบวนการพิจารณาจะเริ่มต้นในวันอาทิตย์นี้ว่าใครจะเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล

เบนนีย์ กานต์ซ

เบนนีย์ กานต์ซ นายทหารผู้หันหลังให้ราชันย์แห่งอิสราเอล

เบนนีย์ กานต์ซ อดีตนายทหารจากกองทัพบกวัย 60 ปี ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน ด้วยความเพลี่ยงพล้ำของเนทันยาฮูจากคดีคอร์รัปชัน กานต์ซใช้จุดอ่อนนี้ประกาศจัดตั้งรัฐบาล โดยผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า กานต์ซคือขั้วตรงข้ามของเนทันยาฮู

“เขาเป็นอะไรที่ไม่ใช่เนทันยาฮู” เดวิด มาคอฟสกี (David Makovsky) จาก Washington Institute for Near East Policy กล่าว ทำให้คนมองกานต์ซว่า “เป็นคนที่ซื่อสัตย์และเห็นประเทศชาติมาก่อน”

เบนนีย์ กานต์ซ เกิดในครอบครัวผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ Holocaust เข้าร่วมกองทัพในปี 1977 ด้วยวัย 18 ปี รับใช้ชาติและร่วมภารกิจสำคัญมายาวนาน 38 ปี

ปี 2011 กานต์ซเป็นผู้บัญชาการ Israel Defense Forces (IDF) บัญชาการรบในปี 2014 จนผู้ก่อการร้ายเสียชีวิต 1,364 คน รวมถึงสมรภูมิถล่มฉนวนกาซ่าในปี 2012 และ 2014 ที่ทำให้อิสราเอลถูกนานาชาติโจมตีอย่างหนัก เพราะทำให้ชาวปาเลสไตน์ 2,251 คน เสียชีวิต โดย 65 เปอร์เซ็นต์เป็นพลเรือน

หลังเกษียณในปี 2015 กานต์ซใช้เวลาช่วงแรกทำธุรกิจก่อนจะหันมาสนใจงานการเมืองในปี 2018 โดยประกาศตั้งพรรค Israel Resilience กุมภาพันธ์ปีถัดมา เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคสายกลาง Blue and White

ในขณะที่เนทันยาฮูสนับสนุนการผนวกดินแดนฉนวนกาซ่า โยฮานนัน เพลสเนอร์ (Yohannan Pelsner) จาก Israel Democracy Institute กล่าวว่า อิสราเอลในยุคของกานต์ซนั้น “ความคิดจะรวมดินแดนแต่เพียงฝ่ายเดียวจะไม่ถูกนำมาพิจารณา” และยังเสริมว่า กานต์ซจะทำงานตามแนวทางสันติภาพ

“ในช่วงเวลาไม่ถึงปี เขามาจากผู้ที่ไม่ได้เป็นปัจจัยอะไรในระบบการเมืองเลย ตอนนี้เขาอยู่ห่างจากห้องทำงานนายกรัฐมนตรีเพียงไม่กี่ก้าวเท่านั้น” เพลสเนอร์กล่าว

อวิกดอร์ ลีเบอร์แมน

อวิกดอร์ ลีเบอร์แมน ชายหัวรุนแรงที่ทุกคนต้องการ

อวิกดอร์ ลีเบอร์แมน (Avigdor Lieberman) จากพรรคปีกขวาโลกวิสัยขนาดเล็ก Yisrael Beiteinu (Israel Our Home) มีภาพติดตัวเป็นฝ่ายหัวรุนแรง ในปี 2018 เขาลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม เนื่องจากไม่พอใจข้อตกลงหยุดยิง เพราะนั่นไม่ต่างจากการยอมแพ้ผู้ก่อการร้าย

ที่สำคัญ ลีเบอร์แบนคือต้นเหตุของการเลือกตั้งครั้งที่ 3 นี้ เพราะในการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 เมษายน เขาปฏิเสธร่วมรัฐบาล ทำให้เนทันยาฮูต้องยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่

เนื่องจากสองพรรคใหญ่ไม่สามารถรวบรวมคะแนนจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ทำให้ผู้จัดทำโพล ดาห์เลีย ชินดลิน (Dahlia Scheindlin) กล่าวย้ำว่า ตอนนี้ “ทุกคนต้องการลีเบอร์แมน”

ลีเบอร์แมน แม้เกิดในครอบครัวยิวที่พูดภาษารัสเซีย แต่เขาเป็นยิวสายชาตินิยม เคยเสนอให้ยกเลิกสถานะพลเมืองของชาวอาหรับในอิสราเอลที่ปฏิเสธการปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อรัฐยิว รวมถึงการย้ายชุมชนชาวอาหรับในอิสราเอลไปให้องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) แลกกับการให้ชาวยิวสามารถไปตั้งถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงค์

ด้วยความเป็นพวกหัวรุนแรงภาคปฏิบัติ ทำให้ลีเบอร์แมนไม่เป็นที่ชื่นชอบในสายตากลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม มีการเปรียบเทียบว่า เขาเป็นเหมือนทายาทของอดีตนายกรัฐมนตรี แอเรียล ชารอน (Ariel Sharon) ที่เป็น ‘ขวาธรรมชาติ’ ชัดเจนในจุดยืน หัวรุนแรง กล้าเสี่ยง แต่ไม่ได้ตั้งอยู่บนอุดมคติแบบยิว Zionist มากนัก

อย่างไรก็ตาม การได้ลีเบอร์แมนเข้าไปร่วมรัฐบาลถือเป็นดาบสองคม เพราะลีเบอร์แมนสามารถล้มรัฐบาลได้ หากสามารถหาจุดที่กุมความได้เปรียบมากกว่า ดังเช่นที่เคยทำกับรัฐบาลเนทันยาฮูในปี 1997 รัฐบาลชารอนปี 2004 และรัฐบาล เอฮุด โอลเมิร์ท (Ehud Olmert) ในปี 2008

อีกหนึ่งผู้ที่มีศักยภาพพอที่จะเปลี่ยนสมการการตั้งรัฐบาลได้คือ อายมัน โอเดห์ (Ayman Odeh) จากพรรคแนวร่วมอาหรับ Joint List ซึ่งมีจำนวน 13 ที่นั่ง หรือเป็นอันดับ 3 ในสภาเนสเซ็ต หากโอเดห์นำกลุ่มอาหรับเข้าร่วมรัฐบาล Zionist จะถือเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองอิสราเอลครั้งใหญ่ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ดังนั้น ไม่ว่า Likud หรือ Blue and White อยากเป็นเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพต้องชั่งน้ำหนักว่า จะยอมให้กลุ่มอาหรับมีอำนาจมากขึ้น หรือยกอำนาจต่อรองทั้งหมดให้อยู่ในมือลีเบอร์แมน

 

อนาคตการเมืองอิสราเอล

นี่คือความเป็นไปได้ 5 ประการที่ The Guardian คาดว่าจะเกิดขึ้นกับการเมืองอิสราเอลที่กำลังเดินเข้าสู่ทางตัน

  • รัฐบาลแห่งชาติ เบนจามิน เนทันยาฮู และ เบนนีย์ กานต์ซ อาจร่วมกันตั้งรัฐบาลที่เป็นเอกภาพ อย่างไรก็ตาม ทางเลือกนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดว่าใครจะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
  • เนทันยาฮูถูกขับออกจากพรรค โดย Likud ต้องสละเนทันยาฮู และเข้ามาร่วมรัฐบาลภายใต้ผู้นำคนใหม่ที่ชื่อ เบนนีย์ กานต์ซ
  • พันธมิตรอาหรับ The Joint List กลุ่มการเมืองอันดับ 3 ในสภาเนสเซ็ต สนับสนุนกานต์ซ ซึ่งแม้จะไม่ชอบอดีตนายทหารชาติที่เคยต้องสวมบทผู้บัญชาการถล่มฉนวนกาซ่า แต่พวกเขาอาจต้องเลือกทางนี้เพื่อโค่นเนทันยาฮูซึ่งมีแนวคิดต้านอาหรับจริงจัง
  • ดึงพรรคเล็กมาร่วมรัฐบาล หากเนทันยาฮูสามารถหาดีลที่ลงตัวจนสามารถรวบรวมเสียงจากพรรคเล็กได้ทั้งหมด เขาจะมีเสียงเพิ่มอีกมาก
  • จัดการเลือกตั้งใหม่เป็นครั้งที่ 3

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
vice.com
theguardian.com
dw.com
theweek.com

 

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า