สถิติการกลั่นแกล้งในโรงเรียนญี่ปุ่นสูงลิ่ว แต่แค่ไหนกัน ที่เรียกว่า ‘กลั่นแกล้ง’

หากใครเคยอ่านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง (bullying) อย่างเช่นเรื่อง Life หนังสือการ์ตูนสาวตาหวานดูสดใส แต่กลับสะท้อนสภาพสังคมญี่ปุ่นและเรื่องราวชีวิตของเด็กสาวไฮสคูลที่ถูกเพื่อนกลั่นแกล้งอย่างรุนแรงถึงขั้นควรจัดเรต 18+

ถึงจะเป็นภาพในจินตนาการสมมุติก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุดต้องมีการอ้างอิงจากความเป็นจริงบ้างไม่มากก็น้อย เกี่ยวกับความเป็นไปคร่าวๆ ของความรุนแรง โหดร้ายทารุณ และบาดลึกถึงจิตใจของเด็กญี่ปุ่นที่ถูกกลั่นแกล้ง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาแห่งชาติญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานจำนวนกรณีการกลั่นแกล้งในโรงเรียน ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา พบว่า ตัวเลขสูงกว่าเมื่อปีที่ผ่านมา กล่าวคือ เพิ่มขึ้นจากปี 2015 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ หรือ 100,000 กรณี โดยยอดรวมทั้งหมดสูงถึง 323,808 กรณี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมาจากการสำรวจผ่านแบบสอบถามและสัมภาษณ์นักเรียนจากโรงเรียนทั่วประเทศ 38,000 แห่ง

หากจำแนกแบ่งกรณีการกลั่นแกล้งในโรงเรียนตามลำดับชั้น โรงเรียนประถม ปี 2016 มีทั้งหมด 237,921 เพิ่มจากปี 2015 มา 86,229 กรณี ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นทั้งหมดอยู่ที่ 71,309 กรณี เพิ่มจากปี 2015 มา 11,807 กรณี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีทั้งหมด 12,874 คนเพิ่มขึ้นจากปี 2015 มา 210 กรณี และโรงเรียนการศึกษาพิเศษมีทั้งหมด 1,704 กรณี เพิ่มขึ้นจากปี 2015 มา 430 กรณี

ผลกระทบของการถูกกลั่นแกล้งไม่เพียงทำให้ต้องตกเป็นเหยื่อที่ยอมจำนนต่อการถูกแกล้งในแต่ละวัน แต่รวมถึงการหวาดกลัวโรงเรียนจนไม่ยอมมาเข้าเรียน ไปจนถึงการฆ่าตัวตาย

โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า นักเรียนที่ขาดเรียนเกิน 30 วันจนถึงหนึ่งปีในปีที่ผ่านมานั้น มีนักเรียนโรงเรียนประถมที่เข้าข่ายทั้งหมด 31,151 คน หรือคิดเป็นทุกๆ 1,000 คน จะต้องมีนักเรียนที่เพื่อนไม่เคยเห็นหน้าเลย 4.8 คน และโรงเรียนมัธยมศึกษาทั้งหมด 103,247 คน หรือ 30.1 คนจาก 1,000 คนที่ไม่มาโรงเรียน

นอกจากนั้นข้อมูลยังรายงานอีกว่า ปี 2016 มีนักเรียนที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด 244 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2015 มา 29 คน นับว่าเป็นจำนวนสูงที่สุดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา แต่ข้อมูลตรงนี้มีส่วนที่ผิดพลาดคือ ไม่ตรงกับสถิติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ที่ระบุว่ามีนักเรียนฆ่าตัวตายเมื่อปีที่ผ่านมาทั้งหมด 348 คน

อย่างไรก็ตาม จำนวนกรณีการกลั่นแกล้งในโรงเรียนทั่วญี่ปุ่นที่เพิ่มสูง 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งมาจากทางกระทรวงศึกษาธิการได้เพิ่มความหมายของคำว่า ‘กลั่นแกล้ง’ ให้รวมถึงการทะเลาะเบาะแว้งตั้งแต่การปะทะกันเล็กๆ จนถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล ซึ่งจุดนี้หลายคนต่างเห็นพ้องไม่ตรงกัน กล่าวคือ เราควรนับการทะเลาะกันของเด็กอายุ 6-7 ขวบว่าเป็นการกลั่นแกล้งหรือไม่

“มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนที่ฉันส่งรายงานไปให้กับทางกระทรวงฯ นั้นเคยทะเลาะกันแค่ครั้งเดียว มันสมควรถูกเหมารวมให้หมายถึงคำว่ากลั่นแกล้งเหรอ?” คุณครูระดับชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งกล่าวกับสำนักข่าว Asahi Shimbun

ยิ่งไปกว่านั้น ครูระดับหัวหน้าแผนกเคยพูดกับเธอว่า หากโรงเรียนไหนมีตัวเลขที่น้อยเกินไป ทางโรงเรียนจะถูกทางคณะกรรมาธิการกระทรวงฯ ตั้งข้อสงสัย

ผลสำรวจดังกล่าวจึงถูกกลุ่มนักวิชาการทางการศึกษาและครูอาจารย์ทั่วประเทศวิพากษ์วิจารณ์ว่าขั้นตอนในการสำรวจและวิธีการนับนั้นถูกต้องหรือไม่

มาซาโตชิ โอโนดะ (Masatoshi Onoda) อาจารย์สาขาระบบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า (Osaka University) เสนอแนะวิธีการนับให้กับทางกระทรวงฯ โดยสมมุติว่า หากมีนักเรียนคนหนึ่งถูกกลั่นแกล้งสี่ครั้งด้วยประเด็นเดิม ให้ถือเป็นหนึ่งกรณี ไม่ใช่สี่กรณี

“เพราะมองจากมุมมองทางการศึกษาแล้ว มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีวิธีการนับกรณีการกลั่นแกล้งในโรงเรียนให้สะท้อนและตรงกับความจริง” โอโนดะเน้นย้ำ


อ้างอิงข้อมูลจาก:
asahi.com

 

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า