วันนี้ (1 สิงหาคม 2565) เวลาประมาณ 10.00-10.30 น. ที่สำนักงานประธานศาลฎีกา (สนามหลวง) คณะบุคคล อาทิ บรรณาธิการ นักวิชาการ นักศึกษา นักสิทธิมนุษยชน ศิลปิน และประชาชนนำรายชื่อกว่า 13,000 คนที่ร่วมลงนามในแคมเปญ “ขอศาลยืนหยัดข้างประชาชน #ปล่อยบุ้งใบปอ และนักโทษการเมือง” บน Change.org/FreeOurFriends2022 และจดหมายเปิดผนึกยื่นต่อศาลฎีกา พร้อมทั้งแถลงข่าวเรียกร้องให้ผู้พิพากษาคุ้มครองสิทธิประชาชนให้เห็นเป็นประจักษ์อย่างกล้าหาญและปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่ ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ และบุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม สองนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวังทำโพลสำรวจความคิดเห็น ตั้งคำถาม “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?” จนเป็นเหตุให้ทั้งคู่ถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางมาแล้วตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 นับรวมแล้ว 90 วัน โดยทั้งสองคนได้แสดงจุดยืนต่อศาลที่มีคำสั่งไม่ให้สิทธิประกันตัวด้วยการอดอาหารนับถึงวันนี้รวมแล้ว 61 วัน
กระทั่งขณะนี้ร่างกายของทั้งคู่เผชิญอาการวิกฤต บุ้ง-เนติพร มีภาวะโพแทสเซียมต่ำจนอาจเป็นผลให้กล้ามเนื้อหัวใจอาจตายเฉียบพลันและหัวใจวายได้ บุ้งถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์กลางดึกถึงสองครั้งด้วยอาการหมดสติ หายใจเองปกติไม่สะดวกต้องหายใจทางปากร่วมด้วย
ส่วนใบปอ-ณัฐนิช ที่อายุเพียง 20 ปี และกำลังศึกษาอยู่ปีการศึกษาที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่สามารถประคองตัวเองเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายได้อีกแล้ว ต้องมีผู้ช่วยพยุง ปวดแสบท้องและอาเจียนอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งการถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมกว่า 3 เดือนยังส่งผลให้ใบปอต้องขาดสอบและกำลังจะพ้นสถานภาพนักศึกษา
ที่ผ่านมา คณะทนายความได้ยื่นประกันตัวทั้งสองมาแล้ว 7 ครั้ง ทว่าศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่ให้ประกัน โดยมีใจความสำคัญ เช่น
ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีสุขภาพทรุดโทรมจนอาจถึงอันตรายแก่ชีวิต, โรงพยาบาลราชทัณฑ์มีแพทย์ที่สามารถดูแลและรักษาผู้ต้องขังที่ป่วยได้อย่างดีอยู่แล้ว สุขภาพโดยรวมของจำเลยทั้งสองยังเป็นปกติตามบันทึกข้อความของแพทย์ผู้ตรวจรักษา กรณียังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงให้ยกคำร้อง ทั้งๆ ที่พยาบาลผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์เบิกความต่อศาลยืนยันว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีเครื่องมือทางการแพทย์ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมีความจำเป็นต้องส่งตัวผู้ป่วยไปตรวจรักษายังโรงพยาบาลข้างนอก
คณะบุคคลที่ยื่นรายชื่อครั้งนี้ยังระบุด้วยว่า นอกจากบุ้งและใบปอแล้ว ยังมีนักศึกษาและประชาชนไม่ต่ำกว่า 31 คนที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมในขณะนี้ คณะฯ เห็นว่าศาลพึงยึดมั่นหลักสันนิษฐานว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรค 2 และวรรค 3 ได้บัญญัติรับรองสิทธิว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”
“การใช้ดุลพินิจของศาล ไม่ว่าจะเป็นคดีใดควรเที่ยงตรงด้วยเกียรติของข้าราชการตุลาการและดำรงสถานะกลไกสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ศาลพึงยึดมั่นหลักการที่เชื่อว่าผู้ต้องหาต้องเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะถูกตัดสินว่ามีความผิด และให้สิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างเป็นธรรม ไม่สองมาตรฐานกับคดีการเมือง ไม่ละเมิดกฎหมายหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือใช้ดุลพินิจตีความกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
“พวกเราจึงขอเรียกร้องให้ศาลยืนหยัดนำพาเหล่าผู้พิพากษาคุ้มครองสิทธิประชาชนให้เห็นเป็นประจักษ์อย่างกล้าหาญและปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วยการปล่อยตัวชั่วคราวบุ้ง, ใบปอ, และนักโทษการเมืองทุกคนที่คดียังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ทุกการตัดสินใจและคำวินิจฉัยของท่านจะได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ของประเทศชาติและประวัติศาสตร์ของสถาบันตุลาการต่อไป”
สำหรับรายนามคณะบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนไปยื่นรายชื่อครั้งนี้ประกอบด้วย สุชาติ สวัสดิ์ศรี, วชิระ บัวสนธ์, อธิคม คุณาวุฒิ, รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์, รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร, อันธิฌา แสงชัย, สันติสุข กาญจนประกร, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์, วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, ทิชา ณ นคร, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง, สนานจิตต์ บางสะพาน, กลุ่มกวีราษฎร, องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.), สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และเครือข่ายประชาชน
สำหรับผู้ที่ต้องการร่วมลงนามในแคมเปญ “ขอศาลยืนหยัดข้างประชาชน #ปล่อยบุ้งใบปอ และนักโทษการเมือง” สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ Change.org/FreeOurFriends2022