ประเด็นร้อนเกี่ยวกับภัยพิบัติตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมจนถึงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา คงไม่มีเรื่องไหนที่ดุเด็ดเผ็ดมันไปกว่าการโต้เถียงเรื่องฝายแกนดินซีเมนต์ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชน และการปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นที่รัฐบาลอ้างว่าหากสร้างเสร็จจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือได้ แม้จะมีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการ นักอนุรักษ์ธรรมชาติ และชาวบ้านในพื้นที่มานานกว่า 30 ปีก็ตาม
บทความนี้ ผมอยากชวนผู้อ่านมาร่วมกันตั้งข้อสังเกตและขบคิดว่า การสร้างฝายแกนดินซีเมนต์กับเขื่อนแก่งเสือเต้นจะสามารถช่วยให้ชาวบ้านในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ เช่น เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ สุโขทัย รอดพ้นจากน้ำท่วมได้จริงหรือไม่?
ภาคเหนือน้ำท่วมเพราะไม่มีฝายแกนดินซีเมนต์?
ฝายแกนดินซีเมนต์ (soil cement weir) เป็นฝายกึ่งถาวรขนาดเล็กที่เกิดจากการผสมคลุกเคล้าระหว่างเนื้อดินและซีเมนต์ โดยฝ่ายที่สนับสนุนให้สร้างอ้างว่าฝายดังกล่าวสามารถชะลอการไหลของน้ำเพื่อสำรองน้ำไว้อุปโภค-บริโภค ทำเกษตรกรรม และลดปัญหาความยากจนของชาวบ้านในพื้นที่ได้
แม้คำโฆษณาจะดีเลิศ แต่ฝ่ายสนับสนุนกลับไม่เอ่ยถึงปัจจัยเกี่ยวกับกระบวนการธารน้ำ ระบบนิเวศธารน้ำ และวิถีชีวิตของคนในชุมชน ได้แก่ ปริมาณน้ำ อัตราการไหลของน้ำ คุณภาพน้ำ ธาตุอาหารในน้ำ การถ่ายโอนตะกอน สัตว์ในแหล่งน้ำ พืชพรรณริมน้ำ และการทำประมง ที่อาจได้รับผลกระทบหลังการสร้างฝาย อีกทั้งยังละเลยปัจจัยด้านวัสดุศาสตร์ (materials science) ที่ว่าฝายแกนดินซีเมนต์ประกอบด้วยวัสดุแบบไม่เป็นเนื้อเดียวกัน (non-homogeneous material) ซึ่งอาจทำให้ตัวฝายแตกร้าวได้ง่าย แล้วถูกกระแสน้ำพัดพาไปทำอันตรายต่อคนที่อยู่ปลายน้ำ ด้วยเหตุนี้ ฝายแกนดินซีเมนต์จึงไม่ได้วิเศษไปกว่าฝายแบบอื่นๆ เท่าไรนัก
คำถามสำคัญคือ หลายจังหวัดทางภาคเหนือถูกน้ำท่วมเพราะมีฝายน้อยเกินไปจริงหรือ?
การตอบคำถามนี้ เราต้องยอมรับความจริงว่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ภาครัฐ เอกชน เอ็นจีโอ จิตอาสา และชาวบ้าน มีการสร้างฝายจำนวนมากเป็นประจำทุกปี ปีหนึ่งอาจอยู่ในหลักหลายพันถึงหลายหมื่นแห่ง แม้จะหักลบฝายเก่าที่พังออกจากฝายที่สร้างใหม่แล้ว ประเทศไทยก็อาจมีฝายกระจายตัวอยู่ตามภูเขา ป่า ชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม และระบบชลประทาน รวมกันมากกว่า 1 ล้านแห่ง ซึ่งถือว่าเยอะมากเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนระหว่างจำนวนฝายต่อขนาดพื้นที่และจำนวนประชากร
แต่ประเทศไทยก็ยังเกิดน้ำท่วมแทบทุกปี อีกทั้งเมื่อฝายสักแห่งปริแตกก็จะเป็นต้นเหตุของน้ำท่วมฉับพลัน (flash flood) จนบางครั้งชาวบ้านเก็บข้าวของหนีน้ำแทบไม่ทัน สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะจุดประสงค์หลักของการสร้างฝายตั้งแต่ยุคโบราณ ไม่ใช่เพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่มีไว้ยกระดับน้ำหน้าฝายให้สูงขึ้นเพื่อผันน้ำเข้าคลองภายในเมืองหรือแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนการชะลอความเร็วในการไหลของน้ำหรือการกักเก็บน้ำเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น
ความเชื่อที่ว่า ‘ฝายมีหน้าที่ป้องกันน้ำท่วม’ ถูกริเริ่มโดยใครและเมื่อใด คงเป็นคำถามที่ยากจะหาคำตอบ แต่ผมคิดว่าสาเหตุที่คนไทยจำนวนมากมีความเชื่อเช่นนั้น เป็นเพราะระบบการศึกษาไทยสอนให้เรามองธรรมชาติแบบแยกส่วน โดยละเลยรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของธรรมชาติแบบองค์รวม เห็นได้ชัดจากหนังสือเรียนหลายเล่มที่ยังหยิบยก ‘ฝาย’ มาเป็นตัวเลือกอันดับแรกๆ ของการบริหารจัดการน้ำ แม้ว่าฝายจะชะลอความเร็วของน้ำได้บางส่วน แต่น้ำจำนวนมากจะสะสมอยู่ที่ด้านหน้าฝาย ขณะที่ด้านหลังฝายจะมีน้ำน้อยลง หมายความว่าฝายเพียงแค่ ‘ย้ายมวลน้ำ’ ที่ควรจะไหลผ่านด้านหลังฝายไปเอ่อท่วมด้านหน้าฝายแทน หรืออีกนัยหนึ่งคือฝายเป็นสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำให้ระบายช้าลงและเอ่อท่วมนานขึ้น ซึ่งความรุนแรงของน้ำท่วมจะยิ่งทบทวีเมื่อมีมวลน้ำปริมาณมากไหลหลากผ่านไปอย่างรวดเร็วจนฝายพังทลาย
สถานะของฝาย | พื้นที่ต้นน้ำ | พื้นที่ปลายน้ำ |
ฝายไม่แตก | ปริมาณน้ำมากขึ้น / น้ำไหลช้าลง | ปริมาณน้ำน้อยลง / น้ำไหลช้าลง |
ฝายแตก | ปริมาณน้ำน้อยลง / น้ำไหลเร็วขึ้น | ปริมาณน้ำมากขึ้น / น้ำท่วมฉับพลัน |
จากเหตุผลข้างต้น ฝายจึงเป็นโครงสร้างบริหารจัดการน้ำที่ก่อสร้างง่ายที่สุด แต่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และสุ่มเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันในระยะยาวสูงที่สุดด้วย แต่กลับเป็นเรื่องน่าฉงนที่หลายภาคส่วนยังรับมือกับปัญหาเก่าด้วยวิธีการเดิม โดยปฏิเสธที่จะมองหาวิธีการใหม่ที่ดีกว่า
สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแล้วน้ำจะไม่ท่วมภาคเหนือ?
หลังการโต้เถียงเรื่องฝายแกนดินซีเมนต์จบลงไม่นาน ประเด็นใหม่เกี่ยวกับน้ำท่วมก็ถูกจุดขึ้นอีกครั้ง เมื่อเหล่าแกนนำรัฐบาลและอดีตนักการเมืองได้ออกมาประกาศปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ โดยอ้างว่าแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลักเพียงสายเดียวที่ยังไม่มีเขื่อนกั้น และเขื่อนแก่งเสือเต้นสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือได้
คำถามคล้ายเดิมจึงวกกลับมาอีกครั้งว่า หลายจังหวัดทางภาคเหนือถูกน้ำท่วมเพราะมีเขื่อนน้อยเกินไปจริงหรือ?
ก่อนจะตอบคำถามเรื่องวิศวกรรมเขื่อน (dam engineering) ผมอยากชวนผู้อ่านมาร่วมกันพิจารณาปริมาณน้ำภายในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนทางภาคเหนือระหว่างที่เกิดน้ำท่วมก่อนครับ
ข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า เขื่อนทางภาคเหนือยังมีน้ำอยู่ไม่มากและสามารถกักเก็บน้ำได้อีกเยอะพอสมควร แต่สาเหตุที่เมืองถูกน้ำท่วมเป็นเพราะฝนตกสะสมนอกพื้นที่เขื่อน ผังเมืองระบายน้ำได้แย่ การผันน้ำออกสู่ทุ่งราบทำได้ยาก และอาจรวมถึงผลกระทบจากแม่น้ำโขงหนุน ไม่ใช่เพราะน้ำล้นออกจากเขื่อนหรือมีเขื่อนน้อยเกินไป
ใช่ครับ คำกล่าวที่ว่า ‘สร้างเขื่อนแล้วน้ำไม่ท่วม’ เป็นเรื่องเท็จ!!
กลับมาที่คำถามตั้งต้นว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือได้จริงหรือไม่?
ข้อมูลจากกรมชลประทานรายงานว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นมีความจุประมาณ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร หากก่อสร้างสำเร็จจะเกิดประโยชน์ด้านการป้องกันน้ำท่วมและน้ำแล้งเป็นบริเวณกว้าง แต่ข้อมูลคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนและน้ำผิวดินในปัจจุบันกลับพบว่า มวลน้ำที่ไหลผ่านลุ่มน้ำยมอาจมีมากกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งความจุของเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่เพียงพอต่อการรองรับมวลน้ำก้อนใหญ่ขนาดนั้นแน่นอน และยังไม่นับรวมผลกระทบด้านอื่น เช่น ความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวของรอยเลื่อนแพร่ การสูญเสียป่าสักทองผืนใหญ่ การเสื่อมโทรมของระบบนิเวศแหล่งน้ำ การขัดขวางทางไหลของตะกอน การโยกย้ายชาวบ้านจำนวนมากออกจากพื้นที่ รวมถึงข้อกังขาด้านความโปร่งใสว่าเอื้อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่มเป็นพิเศษหรือไม่
ยังมีความจริงที่สำคัญอีก 2 ประการ คือ แม่น้ำยมเต็มไปด้วยลำน้ำสาขาอีกหลายสิบสายที่อยู่นอกการควบคุมของเขื่อนแก่งเสือเต้น หากฝนตกสะสมเหนือลำน้ำสาขาเหล่านั้น เขื่อนจะไม่สามารถจัดการมวลน้ำได้ อีกทั้งลุ่มน้ำยมและพื้นที่ข้างเคียงก็ไม่ได้ปราศจากโครงสร้างบริหารจัดการน้ำเสียทีเดียว เพราะยังมีฝาย ประตูระบายน้ำ อ่างเก็บน้ำ ทุ่งรับน้ำ และแนวทางบริหารจัดการน้ำที่เรียกว่า ‘บางระกำโมเดล’ กับ ‘สะเอียบโมเดล’ รวมอยู่ด้วย ซึ่งบางโครงการยังสร้างไม่เสร็จ ขณะที่อีกหลายโครงการขาดการบริหารจัดการที่ดี แต่รัฐบาลและฝ่ายสนับสนุนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกลับละเลยทางเลือกบริหารจัดการน้ำเหล่านี้ และพูดราวกับว่า ‘เขื่อน’ เป็นคำตอบเพียงหนึ่งเดียวสำหรับบริหารจัดการน้ำ
ฝายและเขื่อนไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการบริหารจัดการน้ำยุคใหม่
เราทราบแล้วว่าฝายไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านสำหรับการบริหารจัดการน้ำ และการสร้างเขื่อนที่มีประโยชน์มากกว่าโทษก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องคำนึงถึงตัวแปรจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นลักษณะภูมิอากาศ (climate) ลุ่มน้ำ (watershed) ระบบนิเวศ (ecosystem) ธรณีสัณฐานวิทยา (geomorphology) ปัจจัยรูปร่างหุบเขา (valley shape factor) กลศาสตร์รอยเลื่อน (fault mechanics) การไหวสะเทือนจากการเหนี่ยวนำของอ่างเก็บน้ำ (reservoir-induced seismicity) และผลกระทบทางสังคมอีกหลายประการ ซึ่งผมคิดว่าประเทศไทยอาจไม่เหลือพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อีกแล้ว
คำถามสำคัญคือ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) เราจะบริหารจัดการน้ำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดและส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด?
คำตอบของคำถามอาจมาจากดินแดนที่เคยเต็มไปด้วยเขื่อนอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันหันมาให้ความสนใจการแก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions) เช่น
- ออกแบบสถาปัตยกรรมอาคาร โครงสร้างพื้นฐาน และผังเมือง ที่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม (urban resilience)
- พัฒนาโครงข่ายแหล่งกักเก็บน้ำแบบกระจายศูนย์ (distributed reservoir network) ภายในเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อรองรับการกระจายตัวของกลุ่มฝน (rainfall distribution) และความเข้มของฝน (rainfall intensity)
- ลดการสร้างเขื่อนใหม่และรื้อถอนเขื่อนเก่า (dam removal) เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศแม่น้ำลำธาร
- อนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น ป่า ลำธาร แม่น้ำ ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) พื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland)
- ปฏิรูปการทำเกษตรกรรมให้สอดคล้องกับลักษณะทางสัตวภูมิศาสตร์ (zoogeography) และพฤกษภูมิศาสตร์ (phytogeography)
- กำหนดพื้นที่รับน้ำให้ชัดเจน เพื่อหามาตรการชดเชยความเสียหายแก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำ
- ยกเลิกการผูกรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เพื่อกระจายการบริหารและงบประมาณสู่ท้องถิ่น
สิ่งสำคัญคือภาครัฐต้องยอมรับว่าไม่มีวิธีบริหารจัดการน้ำแบบใดที่สามารถ ‘แก้ปัญหา’ ได้อย่างหมดจดครบถ้วน มีเพียงการ ‘บรรเทาปัญหา’ ซึ่งจะต้องชี้แจงประชาชนตามความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา
แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐไทยยังคงหลงทางอยู่ในวังวนแห่งมายาคติ โดยไม่มีแม้กระทั่งแผนรับมือน้ำท่วมซึ่งเป็นภัยพิบัติที่มีคาบอุบัติซ้ำ (return period) ค่อนข้างคงที่ และดูเหมือนว่าภาครัฐพร้อมจะปลุกชีพเขื่อนที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ เช่น เขื่อนแม่วงก์ เขื่อนวังหีบ เขื่อนหนองตาดั้ง หรือเขื่อนอื่นๆ ขึ้นมาจากหลุมตลอดเวลา
ความจริงแล้ว ประเทศไทยอาจไม่ได้มีน้ำมากจนล้นหรือน้ำน้อยจนแล้งหรอกครับ แต่เราขาดรัฐบาลและหน่วยงานราชการที่มีความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำต่างหาก!!
อ้างอิง
- สมาธิ ธรรมศร. (2558). รู้วิทย์ พิชิตภัยพิบัติ.
- สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน). (ม.ป.ป.). การดำเนินการด้านการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล โครงการพัฒนาระบบคลังข้อมูล 25 ลุ่มน้ำ และแบบจำลองน้ำท่วมน้ำแล้ง.
- สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ. (2567). คู่มือฝายดินซีเมนต์.
- กรมชลประทาน. (ม.ป.ป.). โครงการแก่งเสือเต้น: ปฐมบทแห่งการพัฒนาลุ่มน้ำยม.
- คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ (National Hydroinformatics Data Center)
- ปัดฝุ่น 34 ปี “เขื่อนแก่งเสือเต้น” ชาวบ้านห่วงกระทบชุมชน-ป่าไม้