ประกวดคำขวัญวันเด็ก ๒๕๖๑

คำขวัญวันเด็กครั้งแรกมีขึ้นในปี 2499 สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 62 ปีมาแล้วที่เราเป็นฝ่ายรอรับ ‘คำขวัญ’ จาก ‘ทั่นผู้นำ’

แม้หลายครั้งจะมีคนค่อนขอดว่า คำขวัญวันเด็กคือลูกกวาดเคลือบยาพิษ ไวยากรณ์คล้องจอง (บ้าง…ไม่คล้องจองบ้าง) ฟังเพลินได้พอชุบชูใจ แต่มันคือคำสั่งของทั่นผู้นำที่อยากเห็นเด็กไทยว่านอนสอนง่าย ไม่ต้องมีปากมีเสียง ให้ฟังและทำตาม แค่นั้นชาติจะพ้นภัย

WAY Magazine มีภารกิจเรื่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว ทั้งเป็นผู้มีสำนึกเรื่องประชาธิปไตยและอยากเห็นชาติไปได้ไกลกว่าที่ควรเป็น เราเชิญผู้ที่มีแววตาและสำนึกเช่นนั้นส่งคำขวัญที่พวกเขาคิดว่า “เจ๋งอะ” พร้อมคำอธิบายแนบประกอบ

 

Sa-ard สะอาด
เจ้าของการ์ตูนซีรีส์ ‘ครอบครัวเจ๋งเป้ง’ คอลัมน์ประจำมติชนสุดสัปดาห์ ว่าด้วยเรื่องของครอบครัวบุคลิกแปลก และพี่น้องฝาแฝดที่นิสัยต่างกันสุดขั้ว

ไม่ต้องเชื่อผู้ใหญ่

อธิบาย: นึกคำอธิบายไม่ออก ไม่อธิบายได้ไหม 555

 

เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์
นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ปี 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / บุคคลที่ผู้ใหญ่ชอบทะเลาะด้วยคนหนึ่งของยุคนี้

กล้าคิด กล้านอกคอก เพื่อออกนอกกะลา

อธิบาย: ผู้ใหญ่เป็นเผ่าพันธุ์ที่แปลก คือชอบคาดคั้นเราให้มีความคิด มีวิจารณญาณ สร้างสรรค์ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ฯลฯ แต่พอเราใช้ความคิดจริงๆ กลับเกรี้ยวกราด แล้วบอกว่าเรา ‘นอกคอก’ อันที่จริงถ้าเราโดนหาว่านอกคอกเราควรจะดีใจ เพราะนั่นแสดงว่าเราได้ใช้ความคิดของเราแล้ว และที่สำคัญ เป็นเด็กนอกคอกแสดงว่าเป็นเด็กที่ไม่เหมือนผู้ใหญ่ ซึ่งว่าผู้ใหญ่เป็นอย่างไรนั้น ก็ให้มองดูสังคมปัจจุบันที่พวกเขาสร้างให้เราใช้ชีวิตอยู่ตอนนี้

 

พลอย วันเพ็ญ คุนนา
นักข่าวพลเมืองชั้นมัธยมปลาย จังหวัดเลย ถูกฟ้องจากการทำข่าวเรื่องสิ่งแวดล้อมในบ้านของตัวเอง

เด็กไทยยุคใหม่ ต้องมีค่า เพื่อพัฒนาชุมชน

คำอธิบาย: บ้านของหนูมีเรื่องต่อสู้กับสิ่งแวดล้อม หนูเลยคิดว่าเด็กยุคใหม่ต้องมีความขยันทำสิ่งใหม่ๆ ให้มากขึ้น เรียนรู้จากนอกห้องเรียน ปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทกับเด็กมากขึ้น หนูจึงเห็นว่าเด็กก็สามารถค้นสิ่งใหม่ๆ ได้ทางอินเทอร์เน็ตและยังต้องรักถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง หมู่บ้านเป็นห้องเรียนที่ดีแห่งหนึ่ง เพราะเราเรียนรู้จากชุมชนไปสู่สังคมที่กว้างใหญ่ เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ไปหาสิ่งใหญ่ๆ ถ้าเราขาดหมู่บ้านไปเราก็จะเหมือนขาดภูเขาไปหนึ่งลูกซึ่งเป็นสิ่งที่เรารักษาไว้ตั้งแต่เด็กจนโต แต่ถ้าพวกเรารักษาหมู่บ้านของตนเองไว้ พวกเราก็จะได้อยู่ในหมู่บ้านที่ดี พวกเราก็จะเจริญเติบโตในสังคมที่ดีในอนาคต

 

นนทวัฒน์ นำเบญจพล
ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Boundary ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง  By the River: สายน้ำติดเชื้อ  และ #BKKY สารคดีบันทึกชีวิตวัยรุ่นกรุงเทพฯ

คิดแล้วทำ คิดฟังคำวิจารณ์ คิดต่างคือการเรียนรู้

คำอธิบาย: 20-30 ปีที่ไม่ได้เป็นเด็ก พอมองย้อนกลับไปแล้วคิดว่าปัญหาหลักของประเทศไทยที่เราโตขึ้นมาคือวัฒนธรรมการวิจารณ์ ยิ่งคนที่มีวัยวุฒิหรือคุณวุฒิสูงกว่าทางสังคมยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะรับฟังคำวิจารณ์ของผู้ที่อยู่ต่ำกว่า สุดท้ายแล้วทำอะไรออกมาจะดีจะแย่ก็อวยกันไป

ซึ่งเรามองว่าการวิจารณ์คือสิ่งที่งดงามที่จะพูดถึงบาดแผลของผลลัพธ์ที่ได้คิดและทำออกไป เพื่อพัฒนา ป้องกัน และแก้ปัญหาสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต

คิดว่าน้องๆ ถ้าได้เรียนรู้วัฒนธรรมการวิจารณ์ตั้งแต่เด็ก ทั้งการรับฟังคำวิจารณ์ และวิจารณ์ยังไงให้ไม่ hate speech เชื่อว่าประเทศเราต้องพัฒนาไปได้อย่างสวยสดงดงามและสังคมอยู่ได้แบบมีความสุข

 

เนาว์-เสาวนีย์ สังขาระ
ผู้ก่อตั้ง สวนศิลป์บินสิ และ บินสิ! ฟิล์มโปรดักส์ชั่นเฮาส์ ทำเวิร์คช็อปเกี่ยวกับครอบครัว ที่สวนศิลป์บินสิ! จังหวัดลำพูน

อย่าถามเด็กว่าโตขึ้นจะเป็นอะไร ถ้าผู้ใหญ่ไม่ใช้ชีวิตให้เป็นแบบอย่างที่น่าจดจำ

คำอธิบาย: ถ้าอยากให้เด็กของเราเป็นผู้ใหญ่ที่โลกจดจำ ให้แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาทำอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองเด็กที่เติบโตอย่างมีความสุขจะเป็นผู้ใหญ่ที่แบ่งปันความสุขนั้นให้กับคนรอบข้าง

คำขวัญวันเด็กที่ผู้ใหญ่ให้มักคาดหวังขอให้เด็กเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ วันเด็กน่าจะเป็นวันที่ผู้ใหญ่ หันกลับมาทบทวนตัวเอง ให้คำขวัญวันเด็กที่มองกลับมาที่ตัวเอง ในฐานะผู้หลักผู้ใหญ่ เราได้ทำอะไรให้เด็กของเราเป็นอย่างที่เราขอให้เขาเป็นอย่างคำขวัญ เราเลี้ยงลูกหลานของเราให้เขาเป็นคนแก้ปัญหาเป็น กิน อยู่ เล่น อย่างเป็นธรรมชาติเป็นรึเปล่า

เราได้ทำตัวให้เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ของเรามีจินตนาการที่กล้าคิดต่างจากเรารึเปล่า

 

อ๋อมแอ๋ม ศิริพร พรมวงศ์
Music Sharing นักกิจกรรมที่นำดนตรีไปให้เด็กๆ บรรเลงฝัน

ปล่อยที่ว่าง ให้กับจินตนาการและการเรียนรู้ เคารพตัวเอง เคารพผู้อื่น เคารพความเป็นมนุษย์

คำอธิบาย: การให้โอกาสหรือให้พื้นที่กับเด็กๆ ไม่ใช่แค่ให้เด็กมาแสดงความสามารถ ไม่ใช่แค่มีเวทีมาให้เต้น ให้ร้อง ให้รำ นั่นคือการให้โอกาสเด็ก แต่การให้พื้นที่สำหรับเด็กคือการรับฟังเสียงของความต้องการจากภายในของเด็กจริงๆ และเด็กทุกคนต้องการการยอมรับ ไม่ใช่แค่เด็กเก่ง หรือเด็กที่มีความสามารถเท่านั้น

ผู้ใหญ่ควรจะตรวจสอบตัวเองอย่างจริงจัง ว่าการให้พื้นที่กับเด็กนั้นเป็นความต้องการที่แท้จริงของเด็ก หรือเป็นความต้องการของผู้ใหญ่

เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการช่วยค้นหาความใฝ่ฝัน ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ในการตามหาความหมายในชีวิต เพื่อสร้างความแข็งแรงทั้งภายในและภายนอกก่อนที่เขาจะเติบโตก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และประคับประคองเมื่อเขาผิดพลาด หรือต้องการความช่วยเหลือ แต่ไม่ใช่การไปกำหนดชะตาชีวิตพวกเขาว่าต้องเป็นอย่างไร ที่สำคัญคือ เด็กเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราฝึกฝนตัวเองเพื่อเป็นแบบอย่าง เพราะบางครั้งสิ่งที่เราสอนเขา อาจจะเป็นสิ่งที่เราอยากเป็น หรือเคยผิดพลาดมาก่อน เราจึงต้องฝึกฝนและขัดเกลาตัวเองอยู่เสมอ เพราะการลงมือทำให้เห็นคือการสอนที่ดีที่สุด

 

KHAE
นักวาดที่มีลายเส้นเล็กน้อยแต่เปี่ยมด้วยเรื่องเล่าและความรู้สึก

หาอะไรหนุกๆ ทำ ไม่บ้าตามผู้ใหญ่ เข้มแข็งเข้าไว้ ใส่ใจสุขภาพด้วยนะ

อธิบาย: สุขภาพสำคัญน่ะ แก่ละเพิ่งเข้าใจ พังละคือจบ จะทำที่เหลือ ที่ควรจะทำ หรืออยากก็ทำได้ไม่พลิ้วเท่าที่ควร สุขภาพคือต้นทุน และจิตใจเข้มแข็ง อย่าไปบ้าตามอะไรที่คนเค้าว่าดี เสียเว อย่าเป๋ อย่าเสียจุย

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า