แก้ปัญหาเด็กก้มหน้า

devices-1

ปัญหาใหญ่ที่พ่อแม่มักเป็นกังวลเกี่ยวกับลูกๆ ก็คือ เด็กๆ ใช้เวลาอยู่หน้าจอ ทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต รวมทั้งคอมพิวเตอร์มากเกินพอดี สำหรับไต้หวัน ถ้าผู้ปกครองปล่อยให้เด็กๆ ใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานๆ โดยไม่ตักเตือน แล้วเกิดภาวะ ‘ติด’ จนมีผลต่อร่างกายและจิตใจ ต้องเสียค่าปรับตามกฎหมาย

เนื่องจากเล็งเห็นผลที่อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมติดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ฝ่ายนิติบัญญัติไต้หวันจึงขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยการกำกับผ่านผู้ปกครอง

กฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพและสิทธิเด็กและเยาวชน (Protection of Children and Youths Welfare and Rights Act) เพิ่มเติมความผิดในกรณีที่ผู้ปกครองปล่อยให้เด็กๆ ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จนส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจ อาจต้องเสียค่าปรับ 1,600 ดอลลาร์ ขณะที่ไม่มีการระบุ ‘ระยะเวลาที่เหมาะสม’ ในการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลงไปว่าอยู่ที่เท่าไร

พฤติกรรมการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานเกินไป ถูกรวมไว้ในกลุ่มพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมของวัยรุ่น อาทิ การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล ดูภาพอนาจารหรือภาพความรุนแรง

สมาคมกุมารเวชศาสตร์สหรัฐ (American Academy of Pediatrics: AAP) แนะนำว่า เด็กๆ ไม่ควรใช้เวลาอยู่กับหน้าจอนานเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ ยังไม่แนะนำให้มีโทรทัศน์หรือเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้โดยตรงภายในห้องนอน

จากการเก็บข้อมูลพบว่า โดยเฉลี่ย เด็กอายุ 8 ขวบใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน และในกลุ่มวัยรุ่นจะใช้เวลาเสพสื่อมากกว่า 11 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ มากกว่าร้อยละ 75 ของวัยรุ่นจะมีสมาร์ทโฟนของตัวเอง

ไต้หวันไม่ใช่ประเทศเดียวที่เข้มงวดกับการกำกับดูแลการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการเล่นเกมของเด็กและเยาวชน โดยทางการจีนกำหนดให้ประชาชนสามารถเล่นเกมออนไลน์ติดต่อกันได้ไม่เกินครั้งละ 3 ชั่วโมงมาตั้งแต่ปี 2005 และปรับปรุงระดับการดูแลเพิ่มเติมอีกครั้งในปี 2010 ขณะที่เกาหลีใต้ ก็เพิ่มการกำกับดูแลการเล่นเกมออนไลน์ รวมทั้งการแข่งขันเกมของเหล่ามืออาชีพ (e-sports) ว่าอาจเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้เล่นเสพติดได้

กฎหมายดังกล่าวน่าจะช่วยป้องกันอาการ โนโมโฟเบีย (nomophobia) หรืออาการกลัวการไม่มีอุปกรณ์สื่อสารอยู่ใกล้ตัว ในการทดสอบที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of Computer-Mediated Communication ซึ่งทดสอบกับอาสาสมัครเจ้าของสมาร์ทโฟนแบรนด์หนึ่งจำนวน 40 ราย โดยให้ค้นหาคำจากแบบทดสอบ (word search puzzle) แล้วระหว่างทำ จะมีคนโทรศัพท์เข้ามา ผลการทดสอบพบว่า อาสาสมัครส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการค้นหาคำจากแบบทดสอบนานกว่าปกติ มีอาการวิตกกังวล นอกจากนั้น ยังพบอัตราการเต้นหัวใจและความดันโลหิตที่เพิ่มสูงขึ้น

 

ที่มา: qz.com

straitstimes.com

scientificamerican.com

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า