กฎหมายซ่อมได้

smartphone-fix-1

เมื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายรอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็น แล็ปท็อป เครื่องปิ้งขนมปัง โทรศัพท์มือถือ  หรือกล้องดิจิตอลพังลง บ่อยครั้งที่การซื้อของใหม่มาแทนของเก่ามีราคาถูกกว่าการเสียเงินเป็นค่าซ่อมอุปกรณ์ชิ้นเก่า ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้อุปกรณ์พวกนี้ถูกทิ้งเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 50 ล้านตันต่อปี แต่ขณะนี้ประเทศฝรั่งเศสกำลังผลักดันให้มีกฎหมายใหม่ ว่าด้วยการให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ gadgets ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐสภาฝรั่งเศสได้พิจารณาผ่านกฎหมายว่าด้วยพลังงานฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (amendment of the Law on Energy Transition) โดยมีรายละเอียดน่าสนใจอย่างการให้ผู้ผลิตติดป้ายกำกับที่ผลิตภัณฑ์ว่าสามารถใช้งานได้ถึงเมื่อไร ขณะที่วุฒิสภาฝรั่งเศสได้โหวตให้กลยุทธ์ทางการตลาดอย่าง ‘การออกแบบมาเพื่อตกรุ่น’ (Planned Obsolescence: PO) เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยผู้ฝ่าฝืนจะต้องเสียค่าปรับ 300,000 ยูโร หรือจำคุก 2 ปี แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ใดถูกออกแบบมาให้พังในช่วงเวลาที่กำหนดบ้าง

ภายใต้ข้อกำหนดใหม่ ผู้ผลิตจะต้องติดฉลากกำกับว่า อะไหล่ของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะสามารถรองรับผู้ใช้งานไปได้อีกกี่ปี และผู้ผลิตจะต้องมีบริการซ่อมหรือเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ฟรีในช่วง 2 ปีแรกหลังเริ่มใช้งาน

ตามปกติ เมื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ มีปัญหา ทางเลือกเดียวของผู้บริโภคคือการส่งอุปกรณ์ดังกล่าวไปซ่อมยังศูนย์ของบริษัทนั้นๆ ส่งผลให้การซ่อมแซมแต่ละครั้งมีราคาค่อนข้างสูง และไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ เนื่องจากมีเพียงเจ้าเดียว

ไคล์ เวียนส์ ผู้ก่อตั้ง iFixit เว็บไซต์สอนการซ่อมแซมผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ ด้วยตัวเองกล่าวว่า “การติดป้ายกำกับระยะเวลาการใช้งานและการเพิ่มช่วงอายุให้ผลิตภัณฑ์ถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ถือเป็นชัยชนะของผู้ผลิตด้วย แม้ว่าต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นก็ตาม”

ขณะนี้ ผู้ผลิตกำลังหาอุปกรณ์ที่มีราคาต่ำเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการซ่อมผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้ในราคาย่อมเยา ส่งผลให้ผู้ผลิตหลายรายเริ่มปรับเปลี่ยนวัสดุ หันมาใช้พลาสติกแทนโลหะมากขึ้น

“แนวทางนี้จะส่งผลดีต่อผู้ผลิต เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ผลิต เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ แม้ราคาของผลิตภัณฑ์จะสูงขึ้น แต่สิ่งที่ผู้บริโภคได้ทดแทนก็คือคุณภาพของผลิตภัณฑ์” เวียนส์ อธิบาย

ในสหรัฐ องค์กร Digital Right to Repair ก็มีการผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นนี้เช่นกัน อย่างกรณีของรัฐแมสซาชูเสตส์ มีกฎหมาย Right to Repair Law (Motor Vehicle Owners’ Right to Repair Act)  บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2012 โดยอนุญาตให้เจ้าของรถสามารถเลือกซ่อมรถกับอู่ซ่อมรถอิสระที่ไม่ใช่ศูนย์บริการของบริษัทได้

แนวโน้มที่ผู้บริโภคจะลดการผูกขาดการซ่อมแซมข้าวของต่างๆ ไว้ที่บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์มีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้ ผู้บริโภคไม่ต่ำกว่า 600,000 ราย เข้าร่วมชุมชน iFixit เพื่อหาทางซ่อมอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยตัวเอง เพราะบางอย่างเป็นอาการเล็กน้อยที่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องเสียเวลาส่งซ่อมกับศูนย์ของบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์

หากกฎหมายของฝรั่งเศสบังคับใช้จริง น่าจะส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตต้องพยายามสร้างผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบการใช้งานเพื่อให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้น และผู้บริโภคอย่างเราๆ อาจกำลังนึกถึงสมาร์ทโฟนที่สามารถใช้งานได้อย่างน้อย 5-10  ปีก็เป็นได้

 

ที่มา: fastcoexist.com

digitalrighttorepair.org

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า