ใครๆ ก็ทำผิดกฎหมายทั้งนั้นเพียงแต่ไม่ถูกจับได้

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

บ้านเมืองของเราวันนี้ชวนให้นึกถึงข้อความนี้อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อปี พ.ศ. 2540 เมื่อ ทักษิณ ชินวัตร ประกาศสงครามยาเสพติด มีการจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับยาบ้ามากมายเป็นประวัติการณ์ ทั้งผู้เสพ ผู้ติด และผู้ค้า

จำได้ว่าถ้าครอบครองเกินกว่า 5 เม็ดเป็นผู้ค้า หากน้อยกว่านี้เป็นผู้เสพหรือผู้ติด

ปัญหาคือจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นผู้เสพหรือผู้ติด

กรมสุขภาพจิตเวลานั้นได้วางโครงสร้างการทำงานเอาไว้ ในระดับจังหวัดให้มีคณะอนุกรรมการฯ ชุดหนึ่งเอาไว้พิจารณาตัดสินว่าใครเป็นผู้เสพหรือผู้ติด เมื่อตัดสินแล้วให้กำหนดกระบวนการรักษาซึ่งมี 3 วิธีคือ 1. คุมประพฤติ  2. ไปรักษาเป็นผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลของรัฐ หรือ 3. ไปเข้าค่ายบำบัดนาน 4 เดือน

อนุกรรมการฯ มี 7 คน ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเป็นประธานโดยตำแหน่ง นักวิชาการสำนักงานคุมประพฤติคนหนึ่งเป็นเลขานุการ 3 คนเป็นจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ อีก 2 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากในท้องถิ่น เป็นโครงสร้างที่ดี

แต่ก็เป็นเหมือนโครงสร้างที่ดีใดๆ ของบ้านเรา รวมทั้งกฎหมายที่ดีใดๆ ของบ้านเรา พอเคลื่อนเข้ามาอยู่ใต้กรอบวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของเราแล้ว เราสามารถหลีกเลี่ยง หลบหลีก เฉไฉ  หรือฉ้อฉลได้ทุกครั้งไป ทั้งที่เจตนาและไม่เจตนา แต่จนปัญญาด้วยไม่สามารถจัดการอะไรได้

เช่น ถามว่าทำไมตำรวจไม่จับเมื่อมีคนขับรถทำผิดกฎหมาย คำตอบคือทำงานไม่ทัน ถามต่อไปว่าทำไมคนขับรถถึงชอบทำผิดกฎหมาย คำตอบคือใครๆ ก็ทำไม่เห็นตำรวจจะจับ เป็นต้น จึงไม่มีใครทำอะไรได้อีก เราเป็นเช่นนี้กับทุกๆ เรื่องมิใช่เฉพาะเรื่องการใช้รถใช้ถนน แล้วเรื่องจะไปจบที่คำว่า ‘จิตสำนึก’ ทุกที

คล้ายๆ เรื่องความขาดแคลน เราจะไปจบที่การบริจาค พอถึงเรื่องกฎระเบียบ เราจะไปจบที่คำว่าจิตสำนึก 

เพื่อให้อนุกรรมการทำงานได้ว่าใครเป็นผู้เสพและใครเป็นผู้ติด หรืออีกนัยหนึ่งคือใครควรเป็นผู้เสพหรือใครควรเป็นผู้ติด โดยที่ในความเป็นจริงแล้วจิตแพทย์ทั่วไปก็อาจจะไม่มีปัญญาแยกแยะเท่าไรนัก แต่ส่วนกลางไม่เคยฟังใครอยู่ก่อนแล้ว ในที่สุดจึงได้ออก ‘แบบสอบถาม’ เพื่อคัดแยกผู้เสพและผู้ติดออกจากกันมาให้ใช้

เจ้าหน้าที่ของสำนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ใช้แบบสอบถามนี้กับผู้ถูกจับกุมทุกคน แบบสอบถามประกอบด้วยข้อคำถาม 20 ข้อ หนึ่งใน 20 ข้อนั้นคือ ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า “ใครๆ ก็ทำผิดกฎหมายทั้งนั้นเพียงแต่ไม่ถูกจับได้”

จะว่าไปข้อคำถามทั้ง 20 ข้อมีทั้งที่รัดกุมและมีทั้งที่ตลกๆ แบบข้อนี้ผสมกันไป ถ้าจำไม่ผิดข้อที่ชวนขำๆ แบบนี้มีประมาณครึ่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ที่ใช้แบบสอบถามนี้กับผู้ถูกจับกุมทำงานได้หลายวิธี

วิธีที่ 1 เมื่อผู้ถูกจับกุมมีจำนวนน้อย ภาระงานของเจ้าหน้าที่ไม่มากจนเกินไป เราสามารถค่อยๆ ถาม ค่อยๆ ติ๊กคำตอบได้อย่างตั้งใจ

วิธีที่ 2 เมื่อผู้ถูกจับกุมมีจำนวนมากขึ้น ภาระงานของเจ้าหน้าที่มิได้มีแค่งานเอกสาร แต่มีงานออกพื้นที่ที่ออกไม่ค่อยจะทันด้วย เราสามารถจัดห้องสอบแล้วแจกแบบสอบถามให้ทำพร้อมกันทั้งห้องได้

วิธีที่ 3 เมื่อพบผู้ถูกจับกุมเป็นชาติพันธุ์ซึ่งไม่รู้ภาษาไทย บ้างอ่านไม่ได้และบ้างฟังไม่ได้ พบแบบนี้เจ้าหน้าที่จะเหนื่อยหน่อยเพราะต้องนั่งแปลข้อคำถามทั้งหมด อธิบาย แล้วนั่งรอคำตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย พบแบบนี้บ่อยๆ เข้าน่าจะทำนายได้ว่าเจ้าหน้าที่จะทำอะไรต่อไป ซึ่งก็น่าเห็นใจเหตุเพราะถ้าไม่มีผลงานส่งกรมฯ ก็มีความผิดอีก

ภาคเหนือตอนบนมีจำนวนผู้ถูกจับกุมมากกว่ามาก เวลานั้นผมทำงานด้านตรวจสภาพจิตอยู่แล้วจึงรับภาระทำงานด้านตรวจร่างกายด้วย บางวันมีผู้ถูกจับกุม 400 คนหรือมากกว่า สภาพการทำงานของนายแพทย์จึงไม่ต่างอะไรกับเจ้าหน้าที่สำนักงานฯ เราสะบักสะบอมพอๆ กัน

ที่อยากเล่าให้ฟังคือเรื่องเด็กนักเรียน มีเด็กนักเรียนถูกจับกุมจำนวนพอสมควรในแต่ละวัน เด็กส่วนหนึ่งมาจากโรงเรียนมัธยมในเขตเมือง อีกจำนวนหนึ่งมาจากโรงเรียนบนภูเขาซึ่งเป็นเขตชาติพันธุ์ โดยมิได้วิจัยผมพบโดยส่วนตัวว่าเด็ก 2 กลุ่มนี้จะตอบข้อคำถามเหล่านี้ต่างๆ กัน อย่าลืมว่าเด็กนักเรียนชาติพันธุ์รู้ภาษาไทยแล้ว

คะแนนที่ได้จากแบบสอบถามนี้จะเป็นหนึ่งในเกณฑ์พิจารณาตัดสินกระบวนการรักษาของอนุกรรมการฯ ว่าจะเป็นเพียงคุมประพฤติ หรือไปรักษาที่โรงพยาบาล หรือส่งไปเข้าค่ายทหาร 4 เดือน  

เด็กนักเรียนจากในเมืองมักจะตอบข้อนี้ว่าไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ข้อความที่ว่า “ใครๆ ก็ทำผิดกฎหมายทั้งนั้นเพียงแต่ไม่ถูกจับได้” ย่อมไม่สามารถยอมรับได้ แสดงถึงความเป็นผู้มีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ ว่ายังงั้น

เด็กนักเรียนจากภูเขามักจะตอบข้อนี้ว่าเห็นด้วย ซึ่งเป็นคำตอบที่ผิด เด็กๆ จะเห็นด้วยกับข้อความที่ว่า “ใครๆ ก็ทำผิดกฎหมายทั้งนั้นเพียงแต่ไม่ถูกจับได้” ได้อย่างไร แสดงถึงจริยธรรมที่สั่นคลอน ว่าอย่างนั้น

จะว่าไป ไม่เพียงเรื่องแบบสอบถามนี้เท่านั้นที่เหมือนการทำงานไปเล่นละครไปของพวกเราข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงจะเสนออะไร แม้แต่กระบวนการรักษาทั้ง 3 แบบก็เป็นไปแบบลูบหน้าปะจมูกด้วยกันหมดทั้งสิ้น อาจจะมีจิตแพทย์สักคนพูดว่าเรารักษาได้แต่ผมเป็นคนหนึ่งที่รักษาไม่ค่อยจะได้ อาจจะรักษาได้บ้างแต่ยากเย็นเหลือกำลัง กำลังและเวลาที่ต้องใช้ไปกับการรักษาผู้ติดยาเสพติด ‘หนึ่งคน’ มิใช่น้อยๆ พบวันละ 100-400 คนจะไปเหลืออะไร

บ้านเมืองเราจัดฉากเล่นละครกันได้ทุกๆ เรื่อง มิใช่แค่เรื่องยาเสพติดหรือเรื่องการใช้รถใช้ถนน หากเราไม่ยอมรับความจริงที่น่าปวดใจข้อนี้เราก็จะยังคงอยู่กันแบบนี้คือวิพากษ์วิจารณ์กันพอหอมปากหอมคอ สร้างกระบวนการใหม่ๆ ขึ้นมาสักอย่างแล้วอวยกันไปอวยกันมา  

รอให้เรื่องเลือนหายไป (เวลาเขียนอะไรแบบนี้ จะดีใจมากนะครับถ้าทำนายผิด)

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า