เมื่อยาอันตรายปนเปื้อนชายฝั่งทะเลอังกฤษ ทั้งยาซึมเศร้า-สารเสพติด เสี่ยงกระทบชีวิตสัตว์น้ำ

ไม่นานมานี้ Clean Harbour Partnership (CHP) องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อปัญหาและความกังวลเรื่องมลพิษทางน้ำ เผยผลการศึกษาตัวอย่างน้ำจากบริเวณชายฝั่งของประเทศอังกฤษ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ปัญหาแหล่งน้ำปนเปื้อนอย่างรุนแรงจากสารเคมีที่เป็นอันตรายมากถึง 50 ชนิด

โครงการและงานศึกษาครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มอาสาสมัครท้องถิ่นกับมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ (University of Portsmouth) และมหาวิทยาลัยบรูเนล ลอนดอน (Brunel University London) ซึ่งได้ทดสอบและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำจากบริเวณท่าเรือชิเชสเตอร์ (Chichester harbour) และท่าเรือแลงก์สโตน (Langstone harbour) กว่า 288 ตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบและศึกษาคุณภาพน้ำในพื้นที่ดังกล่าว

แม้ว่าปัญหาเรื่องสารพิษหรือสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำจะไม่ใช่เรื่องใหม่นัก แต่การศึกษาในครั้งนี้ก็ได้ค้นพบการปนเปื้อนของยาหรือสารเสพติดประเภทเพื่อความสนุกสนานและความบันเทิง (recreational drugs) และยารักษาโรคซึมเศร้า (antidepressants) รวมอยู่ด้วยอย่างน่าประหลาดใจ

ศาสตราจารย์อเล็กซ์ ฟอร์ด (Alex Ford) จากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ (Institute of Marine Sciences, School of Biological Sciences, University of Portsmouth) หนึ่งในเจ้าของผลงานวิจัย The biological effects of antidepressants on the molluscs and crustaceans (2013) ได้กล่าวว่า ด้วยปริมาณของยากล่อมประสาทเพียงเล็กน้อย ก็สามารถสร้างผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเลอย่างมาก โดยอาจส่งผลต่อพฤติกรรม การแพร่พันธุ์ การเจริญเติบโต และลักษณะทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตอย่างหอยและกุ้งอีกด้วย

แม้จะไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ยาที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำดังกล่าวนี้มาจากที่ใดบ้าง แต่ทางศาสตราจารย์ฟอร์ดตั้งข้อสังเกตว่า อาจเกิดขึ้นจากการจัดการยาอย่างไม่ถูกต้องของผู้ใช้ โดยการทิ้งยาที่ไม่ใช้แล้วลงโถชักโครกในห้องน้ำ เพราะถึงแม้ว่าน้ำจะผ่านกระบวนการบำบัดของโรงบำบัดน้ำเสีย แต่ยาและสารเคมีเหล่านั้นอาจยังหลงเหลืออยู่และมีโอกาสที่จะหวนกลับคืนสู่แม่น้ำลำธารได้ 

โครงการศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะเน้นย้ำถึงอันตรายของมลพิษทางน้ำที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในบริเวณชายฝั่งของประเทศอังกฤษ ร็อบ เบย์เลย์ (Rob Bailey) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง CHP ได้กล่าวว่า “โครงการนี้ช่วยให้เราสามารถระบุได้ว่า มีสารเคมีชนิดใดปนเปื้อนอยู่ในพื้นที่น่านน้ำและชายฝั่งบ้าง เราพบทั้งยาและสารเคมีที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย รวมไปถึงยากำจัดศัตรูพืชหลายชนิดที่ดูเหมือนว่าจะสามารถคงอยู่ได้เป็นระยะเวลาหลายปี รวมไปถึงยาสำหรับรักษาโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครรู้ว่ายาเหล่านี้ส่งผลอย่างไรกับสิ่งมีชีวิตทางน้ำและแหล่งน้ำของเรา”

แน่นอนว่าการจัดการกับสิ่งแปลกปลอมและสารเคมีในระบบนิเวศทางน้ำเป็นหนึ่งปัญหาและความท้าทายระดับโลกที่ต้องการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันทำงานและสำรวจหาทางออกว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรในการบำบัดและรักษาทรัพยากรน้ำ รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตทางทะเลให้คงอยู่ต่อไป

อาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องพูดถึง ‘human waste’ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ของเสียหรือสิ่งปฏิกูลจากร่างกายมนุษย์ แต่ยังหมายรวมถึง human waste ที่เกิดจากพฤติกรรมหรือความไม่รู้เท่าทัน ซึ่งกำลังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ และห่วงโซ่อาหาร

ที่มา:

Author

ณัชชา กันเขตร
นักพิสูจน์อักษรผู้ชอบนอนดึกตื่นเช้า อดีตนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ เวลาว่างชอบอ่านเว็บตูนและวาดรูป กำลังค้นหาและทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ใช้ชีวิตอยู่เพื่อทักทายและทำความรู้จักกับแมวจร

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า