เรียนออนไลน์: คนสั่งมีทุกอย่าง คนถูกสั่งไม่มี พ่อแม่จึงต้องตั้งหลักเพื่อทำงานยาก

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ปิดเทอมยาวนาน เป็นต้นเหตุของการถดถอย (regression) เห็นการถดถอยได้ชัดเจนมากขึ้นในเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่พร้อม บ้านเมืองของเรามีหลายบ้านที่ไม่พร้อมโดยมิใช่ความผิดของพ่อแม่ สองคนออกไปทำงาน รายได้ไม่มากนัก ไอทีมีแค่ไวไฟบ้านและมือถือคนละเครื่อง หลายบ้านไม่มีเงินจ่ายค่าไวไฟรายเดือน หลายบ้านมีมือถือสองเครื่องคือพ่อกับแม่ ไม่มีจอใหญ่หรือโน้ตบุ๊คสำหรับเรียนออนไลน์ ไม่มีห้องส่วนตัวให้ลูกเรียนทางไกล ไม่มีแอร์คอนดิชั่นและเครื่องฟอกอากาศ

คนสั่งมีทุกอย่าง คนถูกสั่งจำนวนมากมายที่ไม่มี

หลายบ้านไม่พร้อมเรียนออนไลน์ และไม่มีเงินจะลงทุน หลายบ้านสายป่านด้านการเงินใกล้หมดแล้ว สายป่านด้านความมั่นคงของอารมณ์ก็หมดด้วย หมดมุก หมดปัญญา บ้านมีความตึงเครียด สภาวการณ์เช่นนี้โรงเรียนช่วยได้

ต่โรงเรียนไม่ช่วย ปล่อยลูกไปโรงเรียนก็ติดเชื้อ ไม่เห็นระบบการจัดห้อง การจัดวางเก้าอี้ การหมุนเวียนกันเรียน กติกาการล้างมือ กติกาการใส่หน้ากาก ระเบียบปฏิบัติเมื่อเด็ก 1 คนป่วย ระเบียบปฏิบัติเมื่อครู 1 คนป่วย ระเบียบปฏิบัติเมื่อพ่อแม่มาส่งมารับเด็ก

ที่สำคัญคือไปเรียนอะไร อ่าน เขียน เรียนเลข ท่อง จำ ติว สอบ เหมือนเดิม?

สภาวะจนตรอกที่ไม่มีใครช่วยเรา เราต้องช่วยตนเองอยู่ดีครับ ก่อนอื่นมาตั้งหลักกันใหม่ก่อน

ข้อ 1 อนุบาลไม่มีความจำเป็นต้องเรียนอะไร

อ่าน เขียน เรียนเลขไม่มีความจำเป็น เว้นแต่ว่าจะเรียนไปเพื่อต้องการสร้างคอนเน็คชั่นตั้งแต่ชั้นอนุบาลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ในแง่พัฒนาการ ไม่มีอะไรต้องเรียน เรื่องที่เราอยากได้ในวัยอนุบาลคือกล้ามเนื้อใหญ่ที่ต้นขาต้นแขนแข็งแรง เมื่อกล้ามเนื้อต้นแขนต้นขาแข็งแรง กล้ามเนื้อปลายแขนปลายขาจึงจะแข็งแรงเป็นอันดับถัดไปตามธรรมชาติ ปิดท้ายด้วยกล้ามเนื้อนิ้วมือที่แข็งแรง

อยากให้ลูกมีความสุขกับการเขียนและเขียนสวย จึงจำเป็นต้องรอให้กล้ามเนื้อใหญ่แข็งแรงก่อน ความแข็งแรงไหลจากต้นแขนไปที่ปลายแขน กล้ามเนื้อขาแข็งแรงแบกรับน้ำหนักตัวให้ตั้งตรงได้บนเก้าอี้ นี่เป็นกฎธรรมชาติ ไม่มีใครฝืนกฎนี้ได้

ถ้าเราลัดขั้นตอน กล้ามเนื้อต้นแขนไม่แข็งแรง การทรงตัวยังไม่ดี นึกดูว่าจะจับดินสอมั่นคงได้อย่างไร ครั้นทำไม่ได้ถูกดุด่าว่าตี การเขียนกลายเป็นความทุกข์ตั้งแต่รุ่งอรุณของชีวิต

วัยอนุบาลเราจึงให้วิ่งเล่นกลางแจ้งเป็นหลัก เดินสำรวจรอบโรงเรียน กระโดด ปีน และปา ว่ายน้ำถ้ามีงบประมาณ เพื่อให้กล้ามเนื้อใหญ่ทุกมัดแข็งแรง

เล่นดินน้ำมัน ระบายสีอิสระ เล่นทรายและโคลน ตามด้วยต่อบล็อกไม้ ฉีกกระดาษ ตัดกระดาษ ปะกระดาษ พับกระดาษ เหล่านี้ทำให้กล้ามเนื้อสิบนิ้วแข็งแรงอย่างทั่วถึงและทุกทิศทาง กล้ามเนื้อนิ้วสองมือของคนเรามี 100 มัดบวกลบเล็กน้อยแล้วแต่วิธีนับ จะเขียนหนังสือท่าเดียวนั้นมิได้ ต้องใช้ให้หมดทุกมัดจึงจะดี

ดีต่ออะไร

ดีต่อ EF หรือ Executive Function คือความสามารถของสมองส่วนหน้าที่ใช้กำหนดเป้าหมาย แล้วไปให้ถึง วิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ด้านสมองพบ เรื่องที่ มาเรีย มอนเตสเซอรี พูดไว้ก่อนแล้วนั่นคือนิ้วมือเป็นสมองที่สอง

ความหมายคือถ้านิ้วมือดี สมองจะดีตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองส่วนหน้าซึ่งรับผิดชอบ EF

EF สำคัญต่อการศึกษาอย่างไร

EF เป็นรากฐานของทักษะศตวรรษที่ 21 ซึ่งประกอบด้วยทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะไอที ซี่งทั้งสามทักษะแยกย่อยออกไปอีกเป็นหลายทักษะย่อย ดังนั้น EF เป็นรากฐานของทุกทักษะย่อย

อธิบายเฉพาะทักษะเรียนรู้ก่อน

ทักษะเรียนรู้ แยกย่อยออกเป็น 1.ทักษะการคิดวิพากษ์ 2.ทักษะสื่อสาร 3.ทักษะทำงานเป็นทีม และ 4.การคิดสร้างสรรค์หรือสร้างนวัตกรรม

อธิบายเฉพาะทักษะคิดวิพากษ์ก่อน

EF ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ส่วนควบคุมตนเอง ส่วนความจำใช้งาน และส่วนคิดยืดหยุ่น หรือคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่นก็เรียก

คิดยืดหยุ่นคืออะไร

คิดยืดหยุ่นคือความสามารถในการหยุดคิดเรื่องเก่าที่ไร้ประโยชน์ไปคิดเรื่องใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม จะเห็นว่านิยามนี้เข้าใกล้การคิดเชิงวิพากษ์มากแล้ว

การคิดเชิงวิพากษ์คืออะไร

การคิดเชิงวิพากษ์คือความสามารถที่จะไม่เชื่อสิ่งที่เชื่อต่อๆ กันมาเพียงเพราะมีคนพูดไว้ก่อนแล้ว รู้จักตั้งคำถามถึงที่มาที่ไป และความเป็นไปได้ที่จะมีหนทางอื่น

ท่องจำติวสอบที่โรงเรียนทุกวันนี้ ทำลายการคิดวิพากษ์คือทำลายทักษะศตวรรษที่ 21 โรงเรียนที่ไม่จัดการไม่ใช่ที่ที่ควรไปในสถานการณ์โรคระบาดอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นเราทำเอง

ถ้าเป็นอนุบาล เราทำเองได้เลย

ถ้าเป็นประถม เราอาจจะต้องหาหนทางรวมกลุ่มกับครอบครัวอื่นเพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้เป็นกลุ่มเล็กๆ ในละแวกบ้าน

ทั้งสองประการประกันอนาคตที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม เรายังติดอยู่ที่ไม่มีเงินและไม่มีเวลา เห็นหรือยังว่าการพูดเรื่องเลี้ยงลูกให้ได้ดีและการให้การศึกษาที่ดีแก่ลูก ทำไม่ได้ถ้าเราไม่พยายามขอให้รัฐเปลี่ยนแปลง

แพทย์มีหน้าที่รักษาผู้ป่วยแม้ว่าตัวแพทย์เองต้องรับความเสี่ยง ศัลยแพทย์ต้องผ่าตัดแม้จะรู้ว่ามีภาวะแทรกซ้อนถึงตาย สูติแพทย์มีหน้าที่ทำคลอดท่ายากหรือครรภ์เป็นพิษแม้ว่าจะรู้ว่าตัวเองกำลังเสี่ยงครั้งใหญ่ นี่คือหน้าที่ของวิชาชีพ

การเปิดโรงเรียนและทำโรงเรียนให้ปลอดภัยเป็นหน้าที่ของครู ครูใหญ่ กระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาล พ่อแม่มีหน้าที่แน่ แต่ไม่มีหน้าที่ไปเปิดโรงเรียน

ที่ให้ท่านทำเพราะมันเป็นงานยาก ถ้ามันไม่ยากไม่ต้องให้ทำก็ได้

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า